
หลายคนคงเคยเห็นคำว่า “LGBTQI” จนชินตา แต่เมื่อเป็นคำว่า “LGBTQI+” ก็อาจนึกสงสัยว่าเครื่องหมาย “+” ที่อยู่ข้างท้ายหมายถึงอะไร ภาษามีวิวัฒนาการตลอดเวลา และเครื่องหมายนี้ก็มุ่งสะท้อนและยกย่องความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ รวมทั้งลักษณะทางเพศ ซึ่งไม่ได้มีแค่เลสเบียน เกย์ คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ เควียร์ หรืออินเตอร์เซ็กส์เท่านั้น เพราะคำว่า LGBTQI+ ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ
เครื่องหมาย “+” ยังสื่อถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ระบุตัวเองว่าเป็นเพศชายหรือหญิง และหมายรวมถึงกลุ่มคนที่ชอบคนได้หลากหลายเพศสภาพ หรือชอบคนคนหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ เครื่องหมาย “+” ยังครอบคลุมกลุ่มคนที่แทบจะไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศหรือไม่รู้สึกเลย และกลุ่มคนที่ไม่ได้ชอบพอผู้อื่นในเชิงชู้สาวด้วย (ดูคำศัพท์ต่าง ๆ เกี่ยวกับ LGBTQI+ เพิ่มเติมได้ที่นี่)
เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ของกลุ่ม LGBTQI+ ซึ่งจะมีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และเดินขบวนพาเหรดมากมาย เดือนดังกล่าวเป็นโอกาสรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ในปี 2512 เมื่อตำรวจเมืองนิวยอร์กซิตีบุกเข้าตรวจค้นบาร์แห่งหนึ่งที่ชาว LGBTQI+ ชอบไปสังสรรค์กัน จนลูกค้าของบาร์ลุกขึ้นต่อต้าน เหตุการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้คนหลายล้านร่วมกันเรียกร้องให้ชาว LGBTQI+ ได้รับสิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

กลุ่ม LGBTQI+ สร้างผลงานสำคัญ ๆ ให้กับชุมชนของพวกเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มุมมองที่ผู้คนมีต่อตนเองและบทบาทของตนยังคงมีความสำคัญจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือบางกลุ่มใช้คำว่า “two-spirit” (2 จิตวิญญาณ) เรียกคนพื้นเมืองที่มีอัตลักษณ์ทั้งความเป็นชายและหญิงในคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศวิถี เพศสภาพ หรือจิตวิญญาณ
- ในวัฒนธรรมฮาวายโบราณ คำว่า “māhū” (มาฮู) เป็นคำที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณอย่างมาก โดยใช้กล่าวถึงบุคคลที่มีเพศสรีระเป็นชาย แต่มีบทบาททางสังคมแบบเพศหญิง
- ความเชื่อแบบยิวโบราณได้ระบุไว้ว่า มีเพศภาพ 6 เพศด้วยกัน และได้อธิบายถึงการใช้กฎหมายของศาสนายิวกับเพศสภาพเหล่านั้น
เจสสิกา สเติร์น ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและปกป้องการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนของชาว LGBTQI+ อย่างเท่าเทียมในทั่วโลก
“แทบจะไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบูรณาการสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQI+ เข้ากับนโยบายต่างประเทศของพวกเขา” คุณสเติร์นกล่าว “สหรัฐฯ จึงอาจเป็นทั้งความหวังและแรงบันดาลใจให้กับชาติอื่น ๆ ได้”
บทความแปลจาก ShareAmerica: What does the ‘+’ mean in LGBTQI+?