USTDA จับมือกับไทยในโครงการสนับสนุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ
วันนี้ องค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (USTDA) ประกาศว่าได้มอบทุนสนับสนุนแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (PSH) ที่เชื่อมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ณ เขื่อนวชิราลงกรณ ทางภาคตะวันตกของไทย โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นทางเลือกในการกักเก็บพลังงานความจุสูงระยะยาว เพื่อส่งเสริมการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในประเทศไทย
“USTDA มีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกับ กฟผ. มาเป็นเวลา 30 ปีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญ ๆ ของไทย การสนับสนุนโครงการนี้สะท้อนถึงเป้าหมายที่เรามีร่วมกันในการขยายขอบเขตการบรูณาการและเพิ่มความเชื่อถือได้ของพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน” อีโน ที. อีบอง ผู้อำนวยการ USTDA กล่าว “ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังก่อให้เกิดโอกาสที่จะมีการใช้โซลูชันของสหรัฐฯ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับด้วย”
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับมีอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งที่มีระดับแตกต่างกัน โดยจะใช้ไฟฟ้าที่เหลือจากความต้องการใช้งาน สูบน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบนจนกว่าจะต้องการใช้น้ำดังกล่าวอีกเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มในช่วงที่มีความต้องการสูง โครงการศึกษาของ USTDA จะประเมินความเป็นไปได้เชิงเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ของโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ด้านธรณีเทคนิคและธรณีวิทยาของสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การออกแบบโรงไฟฟ้า การประเมินผลกระทบเบื้องต้นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การประเมินความเสี่ยง การวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดจนแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า
“ระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้าของเรา เนื่องจากเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ลดความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงรองรับแผนการพัฒนาปรับปรุงระบบผลิต ส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ USTDA ได้เลือกที่จะสนับสนุนเราในการเดินทางครั้งนี้ และหวังว่า เราจะมีความสัมพันธ์ที่ยืนนานและต่อเนื่อง ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ USTDA กฟผ. เชื่อว่า เราจะทำงานร่วมกันในความร่วมมือระหว่างเราให้โครงการแล้วเสร็จ โดยบรรลุผลสำเร็จอันเป็นที่น่าพึงพอใจ เพื่อช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและเชื่อถือได้”
“โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ ซึ่งแสดงถึงความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เพียงแต่โดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกผ่านการใช้พลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินการเพื่อให้ไทยมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพอีกด้วย” นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว “รัฐบาลสหรัฐฯ โดยผ่านทาง USTDA ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับไทยในโซลูชันที่เป็นนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย”
โครงการนี้แสดงให้เห็นการสนับสนุนของ USTDA ภายใต้กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ในความร่วมมือกับภาคีภาครัฐและเอกชนทั่วภูมิภาค อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของโครงการ Partnership for Global Infrastructure and Investment เพื่อส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดทั่วโลก
###
องค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency) หรือ USTDA ช่วยให้เกิดการสร้างงานในบริษัทของสหรัฐฯ ผ่านทางการส่งออกสินค้าและบริการให้แก่โครงการด้านการพัฒนาที่สำคัญ ๆ ในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ USTDA เชื่อมโยงธุรกิจของสหรัฐฯ กับโอกาสการส่งออกโดยให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมการเตรียมการดำเนินงานในโครงการและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศภาคี
สื่อมวลชนสามารถสอบถามข้อมูลได้จาก Paul Marin | (703) 875-4357