ยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา
กุมภาพันธ์ 2565
ทำเนียบขาว
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
“อนาคตของเราแต่ละประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วคือทั้งโลกนั้น ขึ้นอยู่กับความยืนยงและเจริญรุ่งเรืองในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน
การประชุมผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศ
24 กันยายน 2564
สารบัญ
I. สัญญาณแห่งอนาคตที่ดีของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
II. ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ
ยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
พัฒนาสัมพันธภาพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค
ขับเคลื่อนความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
เสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
สร้างความพร้อมรับมือระดับภูมิภาคต่อภัยคุกคามข้ามชาติในศตวรรษที่ 21
III. แผนปฏิบัติการว่าด้วยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
IV. บทสรุป
สัญญาณแห่งอนาคตที่ดีของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
สหรัฐอเมริกาเป็นชาติมหาอํานาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พื้นที่ภูมิภาคนี้ทอดยาวจากชายฝั่งแปซิฟิกไปจรดมหาสมุทรอินเดียและเป็นที่อาศัยของผู้คนกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจเกือบ 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของ 7 กองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ในภูมิภาคนี้มากกว่าที่อื่นใดนอกสหรัฐฯ ภูมิภาคนี้สนับสนุนงานของอเมริกามากกว่า 3 ล้านตําแหน่งและเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหรัฐฯ เกือบ 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 2 ใน 3 ของโลก จึงย่อมจะทรงอิทธิพลมากขึ้นและมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ยิ่งขึ้นไปในอนาคต
สหรัฐฯ ได้ตระหนักมานานแล้วว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความสําคัญยิ่งต่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ ความสัมพันธ์ของเราเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนเมื่อชาวอเมริกันเดินทางมาภูมิภาคนี้เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้า และความสัมพันธ์นี้งอกงามขึ้นเมื่อชาวเอเชียอพยพมาอยู่สหรัฐฯ สงครามโลกครั้งที่ 2 เตือนสหรัฐฯ ให้ระลึกว่า ประเทศจะมั่นคงได้ต่อเมื่อเอเชียมีความมั่นคงเช่นกัน ดังนั้น ในช่วงหลังสงครามโลก สหรัฐฯ จึงกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ด้วยสนธิสัญญาพันธมิตรที่ผูกพันแน่นหนากับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ และไทย อันเป็นการวางรากฐานด้านความมั่นคงที่ช่วยให้ประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้เจริญรุ่งเรือง ความสัมพันธ์เหล่านั้นพัฒนาขึ้นมากเมื่อสหรัฐฯ สนับสนุนองค์การสำคัญ ๆ ของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ตลอดจนสานสัมพันธ์อันใกล้ชิดทางการค้าและการลงทุน รวมถึงมุ่งมั่นธำรงกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ตั้งแต่สิทธิมนุษยชนไปจนถึงเสรีภาพในการเดินเรือ
เวลาที่ผ่านไปได้ย้ำว่า บทบาทที่คงเส้นคงวาของสหรัฐฯ คือความจําเป็นทางยุทธศาสตร์ ในช่วงปลายสงครามเย็น สหรัฐฯ พิจารณาถอนทหารออกจากภูมิภาคนี้แต่ได้ยกเลิกความคิดนั้นไป ด้วยตระหนักว่า ภูมิภาคนี้มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์ที่มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นในศตวรรษที่ 21 นับแต่นั้น รัฐบาลของทั้งสองพรรคการเมืองต่างทุ่มเทใส่ใจภูมิภาคนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เข้าใจถึงความสําคัญที่เพิ่มขึ้นของเอเชียและได้กระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาเร่งเพิ่มลำดับความสําคัญของเอเชียอย่างมีนัยสําคัญโดยลงทุนในทรัพยากรใหม่ ๆ ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และการทหารในภูมิภาค และรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยอมรับว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นจุดศูนย์ถ่วงของโลก
ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดน สหรัฐฯ มุ่งมั่นยกระดับบทบาทและพันธกรณีระยะยาวต่ออินโด-แปซิฟิก เราจะให้ความสำคัญกับทุกส่วนของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้และโอเชียเนีย อันรวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกด้วย สหรัฐฯ ดำเนินการเช่นนี้ในยามที่พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราจำนวนมากรวมถึงประเทศในยุโรปกําลังหันมาให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้มากขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองฝ่ายในรัฐสภาสหรัฐฯ เห็นพ้องกันเป็นวงกว้างว่า สหรัฐฯ ก็ต้องทำเช่นนี้ด้วย ในภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ สหรัฐฯ ตระหนักดีว่า ผลประโยชน์ของชาวอเมริกันจะรุดหน้าได้ต่อเมื่อสหรัฐฯ วางหลักปักฐานในอินโด-แปซิฟิกอย่างมั่นคง รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภูมิภาคนี้ไปพร้อมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนใกล้ชิดของเรา
อเมริกามุ่งให้ความสนใจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากภูมิภาคนี้เผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนี้ จีนกําลังผสานพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร และเทคโนโลยีของตนโดยมุ่งหวังสร้างเขตอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และพยายามจะเป็นมหาอํานาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก จีนจึงวางอำนาจและรุกรานไปทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาคนี้ต้องแบกรับความเสียหายอันเกิดจากพฤติกรรมอันเป็นภัยของจีน ตั้งแต่การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ (economic coercion) ต่อออสเตรเลีย การสร้างความขัดแย้งตามแนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control) กับอินเดีย ไปจนถึงการเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน และการระรานประเทศเพื่อนบ้านในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ในการปฏิบัติการดังกล่าวนั้น จีนยังได้บ่อนทําลายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือ ตลอดจนหลักการอื่น ๆ ที่นําเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
การร่วมมือดำเนินการของเราทุกประเทศในทศวรรษหน้าจะเป็นตัวกําหนดว่า จีนจะประสบความสําเร็จในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่ยังประโยชน์แก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและโลกได้หรือไม่ ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น เราลงทุนกับการวางรากฐานความแข็งแกร่งภายในประเทศ ปรับแนวทางของเราให้สอดคล้องกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในต่างประเทศ ตลอดจนแข่งขันกับจีนเพื่อปกป้องผลประโยชน์และวิสัยทัศน์สําหรับอนาคตที่สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ มีร่วมกัน เราจะเสริมสร้างระบบสากลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งธำรงให้อยู่บนพื้นฐานค่านิยมที่นานาประเทศยึดถือร่วมกัน และพัฒนาระบบให้สามารถรับมือความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 วัตถุประสงค์ของเรามิใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงจีนแต่เพื่อปรับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่จีนดําเนินการอยู่ อันเป็นการสร้างดุลยภาพแห่งอิทธิพลในโลกซึ่งอำนวยประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ พร้อมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงผลประโยชน์และค่านิยมที่เรามีร่วมกัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะพยายามหาแนวทางจัดการการแข่งขันกับจีนอย่างมีความรับผิดชอบ เราจะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในขณะที่พยายามทํางานร่วมกับจีนในด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง เราเชื่อว่า เพื่อผลประโยชน์ทั้งของภูมิภาคและของโลก ไม่ควรมีประเทศใดยับยั้งการดำเนินการแก้ไขประเด็นข้ามชาติที่มีผลต่อชะตาของมวลมนุษยชาติเพียงเพราะความแตกต่างในระดับทวิภาคี
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ธารน้ำแข็งในเอเชียใต้ละลาย และหมู่เกาะแปซิฟิกต่อสู้กับปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบแสนสาหัสต่อผู้คนและเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียังคงขยายโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลของบรรดาประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร ความขัดแย้งภายใน และความท้าทายด้านการเมืองการปกครอง หากไม่พึงระวัง ภัยร้ายเหล่านี้เหล่านี้อาจทำลายเสถียรภาพของภูมิภาคได้
“เราจะให้ความสำคัญกับทุกส่วนของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้และโอเชียเนีย อันรวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกด้วย”
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษชี้ชะตา ซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพและอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่สําหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้จึงต้องมีประสิทธิผลและยั่งยืนกว่าเดิม เพื่อให้บรรลุผลนี้ สหรัฐฯ จะพัฒนาพันธไมตรีที่มีมาช้านานของเราให้เหมาะสมกับยุคสมัย เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนลงทุนในองค์การระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นขีดความสามารถร่วมกันที่จะเสริมพลังแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการปรับตัวเข้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 และคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่จะมาถึง ในยามที่ถูกทดสอบทั้งโดยจีน วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 นั้น สหรัฐฯ ต้องร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์เชิงบวกของเรา นั่นคือ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างซึ่งเชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือยิ่งขึ้น ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้วางกรอบแนวทางดังกล่าวและผูกพันสหรัฐฯ ให้ดำเนินการจนประสบผลสําเร็จ
————————–
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ข้อมูลตัวเลข
ประชากร
เกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งโลก รวมถึงมีจำนวนเยาวชนคิดเป็นร้อยละ 58 ของโลก
เศรษฐกิจ
คิดเป็นร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก
การเติบโตทางเศรษฐกิจ
คิดเป็น 2 ใน 3 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
ภูมิศาสตร์
ครอบคลุมร้อยละ 65 ของมหาสมุทรบนโลก และร้อยละ 25 ของพื้นที่ภาคพื้นดินของโลก
————————–
ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือ เพื่อสร้างอนาคตตามเป้าหมายนี้ สหรัฐฯ จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในบทบาทของเราเองพร้อมกับส่งเสริมภูมิภาคนี้ให้เข้มแข็งด้วย จุดสําคัญของแนวทางนี้คือ เราไม่อาจดำเนินการได้เพียงลำพัง สถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ที่ผันแปรและปัญหาท้าทายสำคัญทำให้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่สหรัฐฯ และประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีทรรศนะที่คับแคบเกินไป เรามองเอเชียเป็นเพียงเวทีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกําลังมีส่วนช่วยกำหนดสารัตถะของระเบียบระหว่างประเทศ พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ทั่วโลกต่างมีส่วนได้ส่วนเสียในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ ดังนั้น วิธีการของเราจึงมีแนวทางมาจากและสอดคล้องกับมิตรประเทศใกล้ชิดของเรา เราเชื่อเหมือนญี่ปุ่นว่า วิสัยทัศน์ต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้นต้องส่งเสริมเสรีภาพและการเปิดกว้าง ตลอดจนให้ “อัตตาณัติและทางเลือก” เราสนับสนุนอินเดียที่เข้มแข็งในฐานะหุ้นส่วนในวิสัยทัศน์เชิงบวกระดับภูมิภาคนี้ เราดำเนินการเช่นเดียวกับออสเตรเลียเพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพและปฏิเสธการใช้อํานาจบีบบังคับ เรามีเจตจำนงเฉกสาธารณรัฐเกาหลีในการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคผ่านการพัฒนาขีดความสามารถ เรามีทรรศนะเช่นเดียวกับอาเซียนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของโครงสร้างระดับภูมิภาค เรามีความพยายามเช่นเดียวกับนิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักรในการสร้างความพร้อมรับมือภายใต้ระเบียบของภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เราตระหนักเช่นเดียวกับฝรั่งเศสถึงคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสหภาพยุโรปในภูมิภาคนี้ และเช่นเดียวกับแนวทางที่สหภาพยุโรปประกาศในยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป (EU Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific) ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จะอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักการ เป็นแผนระยะยาว และยึดมั่นในความเข้มแข็งแห่งระบอบประชาธิปไตย
สหรัฐฯ จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 5 ข้อในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยทุกประการจะดำเนินการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา รวมถึงองค์การระดับภูมิภาค วัตถุประสงค์ดังกล่าว ได้แก่
- ยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
- พัฒนาสัมพันธภาพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค
- ขับเคลื่อนความมั่งคั่งของภูมิภาค
- เสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
- สร้างความพร้อมรับมือระดับภูมิภาคต่อภัยคุกคามข้ามชาติ
1. ยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
ผลประโยชน์สำคัญของเราและของบรรดาพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดจะบังเกิดได้ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยรัฐบาลต้องสามารถตัดสินใจได้เองโดยอิสระ อันเป็นไปตามพันธกรณีของประเทศภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งมีการบริหารปกครองน่านน้ำ น่านฟ้าและพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันตามหลักกฎหมาย ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของเราจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างเสริมความพร้อมรับมือของประเทศต่าง ๆ ดังที่เราทำในสหรัฐฯ การดำเนินการดังกล่าวในภูมิภาคนี้รวมถึงความพยายามของเราในการส่งเสริมสังคมเปิดและสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลของบรรดาประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกสามารถตัดสินใจเลือกดำเนินการทางการเมืองใด ๆ อย่างเป็นอิสระปราศจากการถูกบีบบังคับ เราจะดำเนินการโดยลงทุนในสถาบันประชาธิปไตย สื่อเสรี และภาคประชาสังคมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อน สหรัฐฯ จะส่งเสริมเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติด้วยการสนับสนุนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการพัฒนาสื่ออิสระและเป็นพหุนิยม ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อรับมือภัยคุกคามจากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะพัฒนาความโปร่งใสด้านการเงินการคลังในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อเปิดโปงการทุจริตและขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (Strategy on Countering Corruption) ที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก สหรัฐฯ จะเป็นหุ้นส่วนร่วมเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบผ่านการมีส่วนร่วมทางการทูต ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ รวมถึงการทํางานร่วมกับองค์การระดับภูมิภาค และสหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนยืนหยัดต่อต้านการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ
“ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกําลังมีส่วนช่วยกำหนดสารัตถะของระเบียบระหว่างประเทศ พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ทั่วโลกต่างมีส่วนได้ส่วนเสียในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนี้”
นอกเหนือเขตพรมแดนของแต่ละประเทศ สหรัฐฯ จะทำงานใกล้ชิดกับหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ภูมิภาคนี้ยังคงเปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งน่านน้ำและน่านฟ้ามีการบริหารปกครองและใช้งานตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะสร้างกลไกสนับสนุนแนวทางที่ยึดมั่นในกฎกติกาในประเด็นมิติทางทะเล ซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาแนวทางร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่ ตลอดจนอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซ เราจะเสริมสร้างระบบอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง ใช้งานร่วมกันได้ เชื่อถือได้ และปลอดภัย รวมถึงประสานงานกับหุ้นส่วนเพื่อธำรงบูรณภาพขององค์การมาตรฐานสากล และส่งเสริมมาตรฐานเทคโนโลยีที่เป็นไปตามฉันทามติและสอดคล้องกับค่านิยม อีกทั้งอํานวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวของนักวิจัยและเปิดการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อการร่วมมือทำงานที่ทันสมัย ตลอดจนดําเนินการนำกรอบพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติจริงในไซเบอร์สเปซ
2. พัฒนาสัมพันธภาพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราสร้างขีดความสามารถร่วมกันสำหรับยุคสมัยใหม่ ขณะนี้ การดำเนินการร่วมกันได้กลายเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ พันธมิตร องค์กร และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ และหุ้นส่วนได้ร่วมกันสร้างจะต้องปรับเปลี่ยน โดยเราต้องร่วมมือกันยกระดับส่วนที่จำเป็นให้ทันสมัย เราจะมุ่งดำเนินการดังกล่าวผ่านโครงข่ายแห่งความร่วมมือที่เข้มแข็งและเสริมส่งซึ่งกันและกัน
การดำเนินงานเหล่านั้นเริ่มจากพันธมิตรและหุ้นส่วนใกล้ชิดของเรา ซึ่งสหรัฐฯ กำลังใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ เรากระชับไมตรีกับพันธมิตรทางสนธิสัญญา 5 ประเทศในภูมิภาคนี้ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ และไทย อีกทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนชั้นนำในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และหมู่เกาะแปซิฟิก นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะสนับสนุนให้พันธมิตรและหุ้นส่วนของเรากระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐฯ จะสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของพันธมิตรและหุ้นส่วน เมื่อประเทศเหล่านี้รับบทบาทผู้นำของภูมิภาค และเราจะทำงานเป็นกลุ่มซึ่งจัดตั้งอย่างยืดหยุ่นและรวบรวมพลังของเราทุกประเทศเพื่อรับมือประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัยของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกลุ่มภาคี 4 ประเทศ (Quad) โดยสหรัฐฯ จะยังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือของกลุ่มภาคีในการดำเนินงานด้านสุขภาพโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่ โครงสร้างพื้นฐาน ไซเบอร์ การศึกษา และพลังงานสะอาด เราจะทำงานร่วมกันทั้งในกลุ่มและร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ เพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
“สหรัฐฯ จะพัฒนาพันธไมตรีที่มีมาช้านานของเราให้เหมาะสมกับยุคสมัย เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนลงทุนในองค์กรระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นขีดความสามารถร่วมกันที่จะเสริมพลังแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการปรับตัวเข้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 และคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่จะมาถึง”
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังยินดีที่อาเซียนเข้มแข็ง เป็นอิสระ และดำเนินบทบาทผู้นําในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ รับรองความเป็นแกนกลางของอาเซียนและสนับสนุนอาเซียนในความพยายามหาทางแก้ไขที่ยั่งยืนให้กับปัญหาท้าทายเร่งด่วนของภูมิภาค ในการนี้ สหรัฐฯ จะยกระดับความร่วมมือที่มีมายาวนานกับอาเซียนพร้อมเริ่มการประชุมหารือใหม่ ๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในด้านสุขภาพ สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พลังงาน การขนส่ง ตลอดจนความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ สหรัฐฯ จะร่วมมือกับอาเซียนเสริมสร้างความพร้อมรับมือของอาเซียนในฐานะองค์การชั้นนําระดับภูมิภาคและจะแสวงหาโอกาสที่กลุ่มภาคี 4 ประเทศ จะร่วมงานกับอาเซียน นอกจากนี้ เราจะสนับสนุนให้ประเทศหุ้นส่วนในเอเชียใต้และอาเซียนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การทำงานระหว่างสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนในเอเชียใต้ให้ความสําคัญอันดับต้น ๆ กับการสร้างกลไกเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การขาดแคลนน้ำ และการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ สหรัฐฯ พยายามเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งยวดของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกโดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกว่าครั้งใด ๆ กับหุ้นส่วนรายอื่นที่มีความมุ่งมั่นเช่นเดียวกันนี้ รวมทั้งจะขยายการดำเนินงานทางการทูตของเราอย่างจริงจังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะให้ความสําคัญกับการเจรจาความตกลง Compact of Free Association กับรัฐคู่ความตกลงดังกล่าว (Freely Associated States) ซึ่งนับเป็นรากฐานของบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคแปซิฟิก
พันธมิตรและหุ้นส่วนนอกภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่างทุ่มความสนใจมายังภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (European Union: EU) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) สหรัฐฯ จะใช้โอกาสนี้ปรับแนวทางของเราให้สอดคล้องกัน และจะประสานงานกันดำเนินโครงการริเริ่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิผล สหรัฐฯ จะร่วมมือสร้างการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคโดยเน้นที่มิติดิจิทัล รวมทั้งร่วมมือธำรงรักษากฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ทางทะเล ระหว่างดำเนินการดังกล่าว สหรัฐฯ จะสานสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกับยูโร-แอตแลนติก รวมทั้งกับภูมิภาคอื่นต่อไปให้มากขึ้น ด้วยการเป็นผู้นำในประเด็นวาระร่วมซึ่งจะขับเคลื่อนการลงมือปฏิบัติร่วมกัน เราจะดำเนินการตามวิสัยทัศน์ร่วมของเราผ่านการประสานงานอย่างใกล้ชิดที่สหประชาชาติ
พันธะผูกพันของเราไม่เพียงเชื่อมโยงในระดับรัฐบาลแต่ยังเชื่อมโยงประชาชนของเราด้วย สหรัฐฯ เป็นผู้ให้บริการการศึกษาระดับนานาชาติชั้นแนวหน้าสำหรับนักเรียนนักศึกษาจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเกือบร้อยละ 68 ของนักเรียนต่างชาติที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ มาจากภูมิภาคนี้ นับเป็นการสานสัมพันธ์ที่ช่วยสรรสร้างกำลังรุ่นใหม่ในประเทศของเราทั้งสอง สหรัฐฯ จะฟื้นฟูโครงการแลกเปลี่ยนด้านผู้นำเยาวชน การศึกษา และผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ ตลอดจนโครงการอบรมภาษาอังกฤษอันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างเรามายาวนาน ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานผ่านโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ จะส่งเสริมความร่วมมือใหม่ ๆ ด้านการวิจัยร่วมที่ทันสมัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงผ่านโครงการ Quad Fellowship ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จะสนับสนุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้แก่นักศึกษาชาวออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และอเมริกันในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) สหรัฐฯ จะยังคงลงทุนในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประชาชนรุ่นต่อไปผ่านโครงการเหล่านี้และโครงการอื่น ๆ
3. ขับเคลื่อนความมั่งคั่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ความมั่งคั่งของคนอเมริกันทั่วไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯ จะผลักดันกรอบแนวคิดใหม่เตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจของเราเพื่อช่วงเวลานี้ การดำเนินงานของเราก่อร่างขึ้นบนรากฐานอันเข้มแข็งแห่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด การค้าสองทางระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคนี้มีมูลค่ารวม 1.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ทั้งยังหล่อเลี้ยงงานมากกว่า 5 ล้านตำแหน่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมมากกว่า 969,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังคงครองสถานะหุ้นส่วนการลงทุนอันดับหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยลงทุนมากกว่าหุ้นส่วนสามอันดับรองลงมาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกัน อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นผู้ส่งออกบริการรายหลักสู่ภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลหล่อเลี้ยงการเติบโตระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ย้ำชัดว่าจำต้องมีการฟื้นฟูที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างงานที่มีรายได้ดี ฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวชนชั้นกลาง เนื่องจากประชาชน 1,500 ล้านคนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางพร้อมกับผู้คนทั่วโลกในทศวรรษนี้
สหรัฐฯ พร้อมด้วยหุ้นส่วนของเราจะเสนอกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันเป็นอีกหนึ่งกรอบความร่วมมือพหุพาคีแห่งศตวรรษที่ 21 กรอบเศรษฐกิจนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของเราสามารถใช้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วรวมถึงในภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศที่คืบใกล้เข้ามา สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเราเพื่อรับรองว่า พลเมืองทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ พร้อมทั้งกระชับการรวมกลุ่มของเราให้ยิ่งแน่นแฟ้น เราจะพัฒนาแนวทางการค้าใหม่ ๆ ให้ได้มาตรฐานสูงทั้งด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลของเราและกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนตามหลักการแบบเปิดกว้างซึ่งรวมถึงการดำเนินการผ่านกรอบงานใหม่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สหรัฐฯ จะร่วมมือกับหุ้นส่วนของเรายกระดับห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและมั่นคงให้มีความหลากหลาย เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ พร้อมกับขจัดอุปสรรค พัฒนาความโปร่งใส และปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ เราจะร่วมกันลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization) และในพลังงานสะอาด ตลอดจนดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง ในช่วงปี 2566 ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพและสืบเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ เราจะทวีความมุ่งมั่นของเราเพื่อช่วยหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกลดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค เราจะมอบโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงแก่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ผ่านโครงการ Build Back Better World ที่ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรกลุ่มประเทศ G7 ให้เศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ได้เติบโตและเจริญมั่งคั่ง พร้อมทั้งสร้างตำแหน่งงานคุณภาพบนสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ จะส่งเสริมโทรคมนาคมสากลที่ปลอดภัยและยืดหยุ่นโดยมุ่งเน้นกระจายความหลากหลายของผู้จัดหาเครือข่าย 5G และเทคโนโลยีโครงข่ายการเข้าถึงคลื่นวิทยุแบบเปิด (Open Radio Access Network) หรือ O-RAN ตลอดจนเสาะหาตลาดโทรคมนาคมที่พร้อมเปิดรับผู้จัดหารายใหม่ที่เชื่อถือได้เข้าสู่ตลาด เราจะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ดำเนินบทบาทหลักในการวางระเบียบกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 เราจะร่วมกันกำกับการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วนี้ให้เป็นโอกาสร่วมสำหรับเราทุกฝ่าย
4. เสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
เป็นเวลา 75 ปีแล้วที่สหรัฐฯ ดำรงบทบาทด้านความมั่นคงโดยหนักแน่นและสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาค สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรอันแน่วแน่ของภูมิภาคนี้เสมอมาและจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในศตวรรษที่ 21 โดยทุกวันนี้ สหรัฐฯ มุ่งขยายและปรับปรุงบทบาทนั้นให้ทันสมัยด้วยการเพิ่มความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของเรา ตลอดจนยับยั้งการรุกรานและตอบโต้การบีบบังคับที่กระทำต่อดินแดนของสหรัฐฯ รวมถึงต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา
การป้องปรามแบบบูรณาการคือเสาหลักของแนวทางของเรา สหรัฐฯ จะบูรณาการการดำเนินงานของเราให้กระชับยิ่งขึ้นตลอดทุกมิติการรบและสภาวะระดับความขัดแย้ง เพื่อรับรองว่าสหรัฐฯ พร้อมพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราจะสามารถยับยั้งหรือปราบปรามการรุกรานไม่ว่าในรูปแบบหรือมิติใด เราจะขับเคลื่อนโครงการริเริ่มที่เสริมกำลังป้องปรามและตอบโต้การบีบบังคับ เช่น คัดค้านความพยายามเปลี่ยนแปลงเส้นแบ่งเขตแดนหรือบั่นทอนสิทธิของรัฐเอกราชในทะเล
เราจะฟื้นฟูความสำคัญของนวัตกรรมเพื่อให้มั่นใจว่า กองทัพสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติการท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงด้านอวกาศ ไซเบอร์สเปซ เทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่ เรากำลังพัฒนาแนวคิดทางยุทธการใหม่ ๆ พร้อมกับสร้างระบบบัญชาการและควบคุมที่ยืดหยุ่นพร้อมรับมือยิ่งขึ้น ขยายขอบข่ายและเพิ่มความซับซ้อนของการฝึกและปฏิบัติการร่วมของเรา ตลอดจนไขว่คว้าโอกาสวางกำลังรบให้หลากหลาย ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถที่จะเดินหน้าปฏิบัติการต่อไปอย่างยืดหยุ่นยิ่งขึ้นร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน
เราจะมุ่งให้ความสำคัญกับจุดแข็งอันยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวซึ่งไม่มีอะไรเทียบเคียง นั่นคือเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของเรา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ภาพกว้างของเราด้วย สหรัฐฯ จะดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน พัฒนาขีดความสามารถในการทำสงครามขั้นสูงและนำมาใช้งาน พร้อมกับสนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในการปกป้องพลเมืองและพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ สหรัฐฯ จะยังคงพัฒนาพันธไมตรีในสนธิสัญญากับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ และไทยให้เหมาะสมกับยุคสมัย ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนหลักด้านการป้องกันประเทศ (Major Defense Partnership) กับอินเดียอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมบทบาทของอินเดียในฐานะผู้สร้างความมั่นคงในภูมิภาค (net security provider) ตลอดจนทำให้หุ้นส่วนในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิกมีขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ เราจะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งรวมถึงสนับสนุนขีดความสามารถในการป้องกันตนเองของไต้หวัน เพื่ออำนวยให้การกำหนดอนาคตของไต้หวันเป็นไปโดยสันติ ตลอดจนสอดคล้องกับความประสงค์และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในไต้หวัน ในขณะเดียวกัน แนวทางของเรายังคงสอดคล้องกับนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ซึ่งเป็นนโยบายของสหรัฐฯ ตลอดจนพันธกรณีอันยาวนานของเราภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) แถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ (Three Joint Communiqués) และหลักประกัน 6 ประการ (Six Assurances)
เราจะส่งเสริมสายสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและนอกภูมิภาค ซึ่งรวมถึงผ่านการเสาะหาโอกาสเชื่อมโยงฐานอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของเราเพิ่มเติม บูรณาการห่วงโซ่อุปทานด้านการป้องกันประเทศที่เรามี และร่วมผลิตเทคโนโลยีหลักที่จะค้ำชูความได้เปรียบทางการทหารร่วมกัน พร้อมกันนั้น เราจะประสานพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและในยุโรปเข้าหากันด้วยแนวทางใหม่ ๆ เช่น ผ่านหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียังคงพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง เราจะแสวงหาโอกาสจัดการเจรจาที่จริงจังและยั่งยืนต่อไปเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี จัดการประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังดำเนินอยู่ รวมถึงปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกัน เรากำลังเสริมกำลังป้องปรามและประสานงานอย่างครอบคลุมกับสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อตอบสนองต่อการกระทำยั่วยุโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี เตรียมพร้อมยับยั้งเหตุรุกรานและปราบปรามหากจำเป็นเมื่อเกิดการรุกรานสหรัฐฯ และพันธมิตรของเรา พร้อมกับสนับสนุนความพยายามสกัดกั้นการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ตลอดทั่วภูมิภาค สหรัฐฯ จะมุ่งดำเนินงานร่วมกับหลากหลายฝ่าย รวมทั้งคู่แข่งของเรา เพื่อป้องกันและบริหารจัดการวิกฤตการณ์ต่าง ๆ พร้อมกับเสริมกำลังป้องปรามที่ครอบคลุมในการต่อต้านระบบขีปนาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธนำวิถี รวมทั้งภัยคุกคามอุบัติใหม่อื่น ๆ ต่อเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์
นอกจากนี้ เราจะคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความท้าทายด้านความมั่นคงพลเรือน โดยขยายบทบาทของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ (U.S. Coast Guard) รวมทั้งจัดการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของหุ้นส่วนของเรา สหรัฐฯ จะร่วมรับมือและป้องกันการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ซึ่งรวมถึงระบุตัวตนและเฝ้าติดตามนักรบต่างชาติที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้ คิดค้นทางเลือกเพื่อบั่นทอนการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะยกระดับขีดความสามารถโดยรวมของภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ภัยคุกคามทางชีวภาพทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยอุบัติเหตุ หรือโดยเจตนา ตลอดจนการลักลอบค้าอาวุธ ยาเสพติด และมนุษย์ เราจะปรับปรุงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค รวมถึงความสามารถของหุ้นส่วนของเราในการปกป้องตนเอง ฟื้นฟูความเสียหาย และรับมือกับอุบัติการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
5. สร้างความพร้อมรับมือระดับภูมิภาคต่อภัยคุกคามข้ามชาติในศตวรรษที่ 21
ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีความสำคัญอย่างขาดมิได้ต่อแนวทางแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเช่นกัน ในการที่จะบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) นั้น บรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคจำเป็นต้องปรับเป้าหมายของตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านอุณหภูมิโลกของความตกลงฉบับนี้ ซึ่งรวมถึงเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาชนจีนยึดถือดำเนินการด้วยความมุมานะในระดับที่จำเป็นต่อการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การตอบสนองร่วมกันของเราต่อวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศเป็นทั้งประเด็นสำคัญทางการเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นจุดเกิดภัยธรรมชาติร้อยละ 70 ของโลก สหรัฐฯ จะร่วมกับหุ้นส่วนพัฒนาเป้าหมายปี 2573 และปี 2593 รวมถึงยุทธศาสตร์ แผนงาน และนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะมุ่งทำหน้าที่หุ้นส่วนที่ได้รับความไว้วางใจขณะที่ภูมิภาคนี้เปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero future) เราจะดำเนินการผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น โครงการ Clean EDGE เพื่อมอบสิ่งจูงใจการลงทุนและใช้งานเทคโนโลยีพลังงานสะอาด มุ่งผลักดันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงาน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สอดรับกับสภาพภูมิอากาศ สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อลดความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สนับสนุนความพร้อมรับมือของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และพิจารณาประเด็นความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้ เราจะดำเนินการรักษาสภาพความสมบูรณ์ของบรรดามหาสมุทรอันกว้างใหญ่ของภูมิภาคและมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงผ่านการใช้ทรัพยากรโดยถูกกฎหมาย พัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย ตลอดจนส่งเสริมการค้าและการคมนาคมที่ก่อเกิดประโยชน์
สหรัฐฯ จะร่วมมือกับภูมิภาคนี้เพื่อช่วยยุติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และสร้างความพร้อมรับมือต่อภัยคุกคามร่วมกัน เราจะทำงานใกล้ชิดกับหุ้นส่วนของเราเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของประเทศเหล่านี้ให้ทนทานต่อแรงกระเทือนในอนาคต ขับเคลื่อนการลงทุนในความมั่นคงด้านสุขภาพโลก และขยายเวทีการดำเนินการในภูมิภาคเพื่อป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินซึ่งรวมถึงภัยคุกคามทางชีวภาพ นอกจากนี้ เราจะดำเนินการผ่านองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กลุ่มประเทศ G7 กลุ่มประเทศ G20 และเวทีพหุภาคีอื่น ๆ เพื่อยกระดับการเตรียมพร้อมและการตอบสนองสถานการณ์ เราจะพัฒนาการเสริมความสามารถในการฟื้นตัวโดยประสานงานใกล้ชิดกับอาเซียน เอเปค องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum: PIF) และองค์การอื่น ๆ
————————–
องค์ประกอบของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
เป้าหมายยุทธศาสตร์
ยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้า งซึ่งเชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือยิ่งขึ้น
แนวทางยุทธศาสตร์
เสริมสร้างบทบาทของสหรัฐฯ และสร้างขีดความสามารถร่วมกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ตลอดจนองค์การระดับภูมิภาค
วิธีการทางยุทธศาสตร์
พัฒนาพันธไมตรีให้เหมาะสมกับยุคสมัย, สร้างความร่วมมือที่ยืดหยุ่น รวมถึงการเสริมสร้างพลังให้อาเซียน สนับสนุนอินเดียในบทบาทผู้นำ สร้างความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของยุโรปในภูมิภาค, สร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ, หนุนนำทรัพยากรใหม่ ๆ ทางการทหาร การทูต การพัฒนา และการให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อีกทั้งให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในทุกระดับของรัฐบาลสหรัฐฯ
————————–
แผนปฏิบัติการว่าด้วยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
สหรัฐฯ จะนำยุทธศาสตร์นี้มาปฏิบัติให้บังเกิดผล ภายใต้แนวทางหลัก 10 ประการในระยะเวลา 12 ถึง 24 เดือนต่อจากนี้
หนุนนำทรัพยากรใหม่สู่ภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก
สหรัฐฯ ต้องเพิ่มการลงทุนใหม่ ๆ ในภูมิภาคเพื่อสร้างขีดความสามารถร่วมกัน เราจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงเสริมความเข้มแข็งของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมในการดำเนินงานทั้งด้านสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ ความมั่นคง และการพัฒนา สหรัฐฯ จะขยายบทบาทของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ และความร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมุ่งให้คำปรึกษา ฝึกอบรม วางกำลังปฏิบัติภารกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถ สหรัฐฯ จะปรับเพิ่มความช่วยเหลือด้านความมั่นคงต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางทะเลและส่งเสริมความตระหนักรู้ภาพสถานการณ์ทางทะเล นอกจากนี้ เราจะขยายบทบาทของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รวมทั้งหน่วยสันติภาพสหรัฐฯ (Peace Corps) เราจะทำให้ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ มีศักยภาพและความรู้ความชำนาญที่จำเป็นต่อการรับมือความท้าทายของภูมิภาคนี้ เราจะทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดกระบวนการ เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและการจัดหาทรัพยากรของเราได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองหลัก ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนบทบาทที่มั่นคงเข้มแข็งของเราในภูมิภาค
นำทางกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ช่วงต้นปี 2565 เราจะเปิดตัวความร่วมมือใหม่ที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้การค้าขายที่มีมาตรฐานสูง กำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัล ปรับปรุงความพร้อมรับมือและความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน กระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่โปร่งใสและได้มาตรฐานสูง ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล ซึ่งจะกระชับสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรากับภูมิภาคนี้ให้แน่นแฟ้นเป็นทวีคูณ พร้อมกับเสริมสร้างโอกาสในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกสำหรับเราทั้งสองฝ่ายอย่างทั่วถึง
เสริมกำลังการป้องปราม
สหรัฐฯ จะปกป้องผลประโยชน์ของตน ยับยั้งการรุกรานทางทหารต่อประเทศเราเอง ต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา รวมทั้งตลอดแนวช่องแคบไต้หวัน และส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคโดยริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถ แนวคิดการปฏิบัติการทางยุทธการ กิจกรรมทางทหาร โครงการริเริ่มด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ รวมถึงจัดวางกำลังพลให้ยืดหยุ่นพร้อมรับมือยิ่งขึ้น เราจะทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่ออุดหนุนทุนแก่โครงการ Pacific Deterrence Initiative และโครงการ Maritime Security Initiative เราจะดำเนินการผ่านกรอบความร่วมมือ AUKUS หาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดเพื่อส่งมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่กองทัพเรือออสเตรเลียโดยเร็วที่สุดเท่าเป็นไปได้ นอกจากนี้ เราจะกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นและยกระดับความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันผ่านโครงการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมว่าด้วยขีดความสามารถขั้นสูง ซึ่งรวมถึงด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และขีดความสามารถใต้สมุทร
สร้างเสริมพลังและความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน
สหรัฐฯ ดำเนินการลงทุนใหม่ ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน รวมถึงผ่านบทบาทเจ้าภาพต้อนรับผู้นำชาติอาเซียนในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ (U.S.-ASEAN Special Summit) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ยึดมั่นในพันธกรณีของเราต่อเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum) ทั้งยังมุ่งสานสร้างการหารือระดับรัฐมนตรีกับอาเซียนเพิ่มเติม เราจะทุ่มทุนดำเนินโครงการริเริ่มสหรัฐฯ-อาเซียนโครงการใหม่ ๆ มูลค่ารวมมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เรายังจะขยายความร่วมมือทวิภาคีตลอดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการสร้างเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ รับมือความท้าทายทางทะเล เสริมสร้างความเชื่อมโยง และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องและความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคของอินเดีย
เราจะพัฒนาสานต่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ กับอินเดียดำเนินงานร่วมกันโดยผ่านการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในเอเชียใต้ อีกทั้งประสานการดำเนินงานในมิติใหม่ ๆ เช่น สุขภาพ อวกาศ และไซเบอร์สเปซ รวมถึงกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และร่วมสร้างเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรายอมรับอินเดียเป็นหุ้นส่วนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับเราและเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย อีกทั้งดำรงบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเชื่อมโยงกับภูมิภาคดังกล่าว อินเดียยังเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ รวมถึงเวทีระดับภูมิภาคอื่น ๆ และเป็นแรงผลักดันการเติบโตและการพัฒนาของภูมิภาค
สืบสานปณิธานกลุ่มภาคี 4 ประเทศ
เราจะเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มภาคี 4 ประเทศในฐานะการรวมกลุ่มชั้นนำระดับภูมิภาค รวมทั้งสร้างหลักประกันว่ากลุ่มนี้จะบรรลุเป้าหมายในประเด็นที่สำคัญต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กลุ่มภาคี 4 ประเทศจะดำเนินบทบาทผู้นำภูมิภาคในการรับมือโรคโควิด-19 และประเด็นความมั่นคงด้านสุขภาพโลก โดยลงทุนส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติม 1,000 ล้านโดสไปยังภูมิภาคนี้และทั่วโลกให้ลุล่วง อีกทั้งยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่ ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน นำเทคโนโลยีมาใช้งานร่วมกัน และผลักดันหลักการด้านเทคโนโลยีร่วมกัน กลุ่มภาคี 4 ประเทศจะสร้างเครือข่ายขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลดาวเทียมเพื่อปรับปรุงความตระหนักรู้ภาพสถานการณ์ทางทะเลและการรับมือสภาพภูมิอากาศ สมาชิกกลุ่มจะร่วมมือกันจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูงในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก พร้อมทั้งปรับปรุงขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของภูมิภาคเหล่านี้ด้วย โครงการ Quad Fellowship มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2565 โดยคัดเลือกนักศึกษาชุดแรกรวม 100 คนจาก 4 ประเทศสมาชิกเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาสะเต็มที่สหรัฐฯ เริ่มต้นปี 2566 นอกจากนี้ กลุ่มภาคี 4 ประเทศจะจัดประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรีเป็นประจำต่อไปด้วย
ขยายความร่วมมือสหรัฐฯ–ญี่ปุ่น–สาธารณรัฐเกาหลี
ความท้าทายใหญ่เกือบทุกประการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแนบแน่นในหมู่พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี เราจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปผ่านช่องทางไตรภาคีในประเด็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี นอกเหนือจากประเด็นความมั่นคงแล้ว เราจะร่วมกันดำเนินงานด้านการพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ด้านประเด็นเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ รวมทั้งด้านการเสริมสร้างภาวะผู้นำและบทบาทของสตรี เราจะมุ่งประสานยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคในบริบทไตรภาคีให้มากยิ่งขึ้น
ร่วมมือเพื่อสร้างความพร้อมรับมือในหมู่เกาะแปซิฟิก
สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนจัดตั้งกลุ่มยุทธศาสตร์พหุภาคีที่สนับสนุนประเทศกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก ขณะที่ประเทศเหล่านี้พัฒนาขีดความสามารถและความพร้อมรับมือของตนในฐานะตัวแสดงอิสระที่มีความมั่นคง (secure, independent actor) เราจะร่วมกันสร้างความพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศผ่านโครงการ Pacific Region Infrastructure Facility ประสานงานลดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคแปซิฟิก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม และร่วมมือยกระดับความมั่นคงทางทะเลเพื่อคุ้มครองการทำประมง เสริมสร้างความตระหนักรู้ภาพสถานการณ์ทางทะเล รวมทั้งปรับปรุงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษา นอกจากนี้ เราจะมุ่งจัดทำความตกลง Compact of Free Association ในขั้นสุดท้ายกับรัฐคู่ความตกลง
สนับสนุนธรรมาภิบาลและภาระรับผิดชอบของภาครัฐ
สหรัฐฯ จะสนับสนุนศักยภาพของรัฐบาลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้สามารถตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระด้วยการช่วยหุ้นส่วนของเราถอนรากถอนโคนการทุจริต ซึ่งรวมถึงดำเนินการผ่านนโยบายด้านความช่วยเหลือต่างประเทศและด้านการพัฒนา ผ่านบทบาทผู้นำในการประชุมกลุ่มประเทศ G7 และ G20 ตลอดจนบทบาทปรับปรุงใหม่ในภาคีความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership) นอกจากนี้ เราจะร่วมมือกับบรรดารัฐบาล ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อสนับสนุนให้ภาคส่วนเหล่านี้สามารถเปิดโปงและบรรเทาความเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร สหรัฐฯ จะยังคงยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยในพม่า โดยทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อกดดันกองทัพพม่าให้เปิดทางกลับคืนสู่ประชาธิปไตย รวมถึงผ่านการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) โดยสัตย์จริง
ส่งเสริมเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น ปลอดภัย และเชื่อถือได้
สหรัฐฯ จะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในแง่ความหลากหลายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งรวมถึงผ่านสถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายล้ำสมัย เช่น Open RAN โดยส่งเสริมการใช้งานเชิงพาณิชย์ในขนาดที่เหมาะสม ตลอดจนความร่วมมือด้านการทดสอบระบบ เช่น อำนวยการเข้าถึงเครื่องมือทดสอบร่วมกันให้สามารถพัฒนามาตรฐานร่วมได้ เราจะยกระดับความพร้อมรับมือร่วมกันของเครือข่ายภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ พร้อมกับพัฒนาโครงการใหม่ระดับภูมิภาค เพื่อปรับปรุงความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกันและตอบสนองต่ออุบัติการณ์ทางไซเบอร์อย่างฉับไว
บทสรุป
เราได้ก้าวเข้าสู่อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของนโยบายการต่างประเทศอเมริกันที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกระดับบทบาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากกว่าที่เราเคยต้องดำเนินการมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของเราในภูมิภาคนี้แจ่มชัดกว่าที่ผ่านมา และในขณะเดียวกัน การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์เหล่านั้นก็เป็นเรื่องยากลำบากขึ้น เราไม่มีอภิสิทธิ์ที่จะเลือกการเมืองเพื่อเสริมอำนาจของตนหรือการต่อกรภัยคุกคามข้ามชาติเพียงอย่างใดเดียว เราจะรับหน้าที่ผู้นำให้บรรลุผลทั้งทางด้านการทูต ความมั่นคง เศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ การตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ และเทคโนโลยี
อนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือก ณ เวลานี้ ทศวรรษข้างหน้าจะกำหนดชี้ขาดว่า ภูมิภาคนี้จะสามารถเผชิญหน้าและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่ อีกทั้งเผยให้ประจักษ์ว่าโลกจะฟื้นฟูจากโรคระบาดใหญ่ในรอบศตวรรษอย่างไร ตลอดจนตัดสินว่าเราจะธำรงหลักการแห่งความเปิดกว้าง โปร่งใส และครอบคลุม ซึ่งขับเคลื่อนความสำเร็จที่ผ่านมาของภูมิภาคนี้ได้หรือไม่ หากสหรัฐฯ พร้อมด้วยหุ้นส่วนสามารถสนับสนุนภูมิภาคนี้ให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 และคว้าโอกาสที่จะมาถึงไว้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกย่อมจะเจริญรุ่งเรือง เป็นกำลังเกื้อหนุนแก่ทั้งสหรัฐฯ และโลกใบนี้
“เมื่อเข้าสู่ทศวรรษชี้ชะตา ซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพและอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่สําหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้จึงต้องมีประสิทธิผลและยั่งยืนกว่าเดิม”
เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเราถือกำเนิดจากความเชื่อที่ว่า ไม่มีภูมิภาคใดจะส่งผลต่อโลกและประชาชนอเมริกันทั่วไปยิ่งไปกว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงความเชื่อที่ว่า สหรัฐฯ พร้อมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนล้วนยึดถือวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับภูมิภาคนี้ เมื่อดำเนินยุทธศาสตร์ที่ต่างตั้งอยู่บนเสาหลักพื้นฐานเดียวกัน และเมื่อเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคให้บรรลุตามยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้จริงแล้วนั้น สหรัฐฯ ย่อมสามารถนำทางร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ สู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือ เพื่อชนรุ่นหลังสืบต่อไป
สำนักงานบริหารงานของประธานาธิบดี
สภาความมั่นคงแห่งชาติ
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 20503