รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลไทย ฉลองวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมนี้ โดยกล่าวถึงโครงการสร้างความตระหนักรู้ที่ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งช่วยลดความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้างและเสือในประเทศไทยลงกว่าครึ่งหนึ่ง
จากงานวิจัยขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าสัดส่วนของผู้บริโภคที่ตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือในประเทศไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2561 อันเป็นผลจากโครงการรณรงค์การสื่อสารร่วมกันระหว่าง USAID และกรมอุทยานแห่งชาติฯ
ดร.สตีเว่น จี. โอลีฟ ผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวถึงผลลัพธ์เชิงบวกนี้ว่า “การลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าและต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของภูมิภาค คุกคามการพัฒนาเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพของโลก อีกทั้งยังเป็นประตูสู่โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน”
การสำรวจออนไลน์ที่จัดทำโดย USAID ในเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อประเมินผลของโครงการรณรงค์ พบว่าตั้งแต่ปี 2561-2563 สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างในอนาคตลดลงจากร้อยละ 79 เป็นร้อยละ 37 ในขณะที่สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์จากเสือลดลงจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 31
เพื่อลดปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ร่วมกับรัฐบาลไทยดำเนินโครงการรณรงค์ 4 โครงการ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อต่อต้านความเชื่อเกี่ยวกับงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือ ปรับมุมมองเกี่ยวกับความสวยงามของเครื่องประดับและของตกแต่งจากงาช้าง และยับยั้งการซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างและเสือผ่านช่องทางออนไลน์