สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอาเซียนต่อสู้โรคโควิด-19

เอกสารข้อเท็จจริง
สำนักงานโฆษก
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

ในฐานะผู้นำด้านการสาธารณสุขของโลกและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนมิตรประเทศอาเซียนของเราในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรค รัฐบาลสหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินและด้านมนุษยธรรม มูลค่าประมาณ 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2563 สหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นในด้านดังกล่าวมูลค่าเกือบ 274 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับนานาประเทศที่ขาดแคลน อันเป็นจำนวนที่นอกเหนือไปจากเงินช่วยเหลือที่เราได้มอบให้กับองค์การพหุภาคีต่างๆ เช่น องค์การอนามัยโลก และองค์การยูนิเซฟ

เงินช่วยเหลือจำนวนนี้ประกอบไปด้วยความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินมูลค่าเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านกองทุนสำรองเพื่อการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับโลก (Global Health Emergency Reserve Fund) ขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านบัญชีความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติระดับสากล (International Disaster Assistance) ของ USAID ซึ่งจะมอบให้กับประเทศต่างๆ ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงสุดจากภัยคุกคามของโรคระบาดระดับโลกนี้ เป็นจำนวนสูงถึง 64 ประเทศ นอกจากนี้แล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านสำนักงานกิจการประชากร ผู้ลี้ภัยและการโยกย้ายถิ่น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการรับมือกับภัยจากโรคโควิด-19 ในวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลกลุ่มเปราะบางที่สุดส่วนหนึ่งของโลก

เงินช่วยเหลือก้อนใหม่สำหรับอาเซียนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19

เงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 มีเป้าหมายดังต่อไปนี้

  • เตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากตัวอย่างจำนวนมาก
  • ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
  • ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารความเสี่ยง
  • ดำเนินแผนการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่จุดผ่านแดนต่างๆ
  • เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์สำหรับอาการป่วยที่มีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมด้านทักษะการสืบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสโรคให้กับบุคลากรตอบสนองเร่งด่วน
  • ปรับปรุงเอกสารการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขให้มีเนื้อหาที่ทันสมัย

หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็นแกนหลักในการตอบสนองสถานการณ์การระบาดในระดับสากล เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, USAID และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) กำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือ โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากโรคโควิด-19 และมีความเปราะบางต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประสานงานกับผู้บริจาครายอื่นเพื่อเสริมสร้างความช่วยเหลือและหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน

ความช่วยเหลือหลักในด้านสาธารณสุขที่สหรัฐฯ มอบให้กับอาเซียน

นอกไปจากความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินข้างต้นแล้ว สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนมูลค่าเกือบ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราเป็นผู้นำระดับโลกในด้านดังกล่าว โดยในปี 2562 ได้จัดสรรเงินมากกว่า 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเสริมสร้างการสาธารณสุขในต่างแดน ซึ่งรวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความช่วยเหลือจำนวนนี้รวมไปถึงเงินสนับสนุนการต่อต้านภัยคุกคามจากโรคระบาด เอชไอวี/เอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค ตลอดจนความจำเป็นด้านสาธารณสุขอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2552 ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันได้สนับสนุนความช่วยเหลือทั่วโลกในด้านสาธารณสุข 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และด้านมนุษยธรรมอีกเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศของเราจะยังคงเป็นประเทศผู้บริจาคด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุด เพื่อความพยายามในการพัฒนาระยะยาวและสร้างศักยภาพของประเทศหุ้นส่วนต่างๆ ไปจนถึงความพยายามในการรับมือฉุกเฉินยามที่เผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกด้วย เงินจำนวนนี้ได้ช่วยรักษาชีวิตผู้คน ปกป้องกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดต่อโรคภัยไข้เจ็บ สร้างสถาบันด้านสาธารณสุข อีกทั้งสร้างเสริมเสถียรภาพของชุมชนและประเทศชาติมาแล้วมากมาย

ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินด้านโรคโควิด-19 ที่สหรัฐฯ มอบให้กับอาเซียน (จนถึง 26 มีนาคม โดยจำแนกตามประเทศ)

สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการเงินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่า 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

บรูไน

  • กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประสานไปยังบริษัทในสหรัฐฯ ตามคำขอของบรูไนเพื่อจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หลังจากที่อุปกรณ์เหล่านี้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานภายในสหรัฐฯ แล้ว

กัมพูชา

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลกัมพูชาเตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ
  • CDC ให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเกี่ยวกับการจัดการการติดตามผู้สัมผัสโรค การตรวจในห้องปฏิบัติการ การเฝ้าระวัง และการควบคุมการติดเชื้อ
  • แพทย์โรคติดเชื้อจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการให้การปรึกษาทางคลินิกและพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยกับโรงพยาบาลรอยัลพนมเปญ (ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของกัมพูชา)
  • สหรัฐฯ มอบเงินช่วยเหลือให้กับกัมพูชามาเป็นเวลานาน โดยเป็นความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่ากว่า 730 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

อินโดนีเซีย

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ
  • CDC กำลังให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอินโดนีเซียขณะที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้มอบน้ำยาตรวจเพิ่มเติมอีก 500 ชุด เมื่อเดือนมีนาคม
  • สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ลาว

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าเกือบ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลลาวเตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการเพื่อส่งมอบอุปกรณ์ตรวจให้เพิ่มเติม
  • ผู้เชี่ยวชาญจาก CDC จำนวน 6 คน ได้เดินทางไปยังประเทศลาว เพื่อฝึกอบรมด้านระบาดวิทยา การเฝ้าระวัง และห้องปฏิบัติการ
  • CDC และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นำการฝึกซ้อมแผนและการฝึกซ้อมแบบเสมือนจริงเพื่อบรรเทาสถานการณ์โรคโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ของรัฐบาลลาวเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งรวมไปถึงการฝึกซ้อมแบบเสมือนจริงในการเตรียมพร้อมและรับมือโรคโควิด-19 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม
  • สำนักงานบรรเทาภัยคุกคามด้านการป้องกันประเทศ (DTRA) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมโดยเฉพาะในโครงการบรรเทาภัยคุกคามทางชีวภาพ แก่กระทรวงสาธารณสุขของลาวเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการตรวจโรคโควิด-19 อย่างมืออาชีพ
  • สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าเกือบ 92 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 348 ล้านเหรียญสหรัฐกับลาวตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

มาเลเซีย

  • กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ช่วยหาบริษัทในสหรัฐฯ ที่สามารถจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้กับรัฐบาลมาเลเซีย หลังจากที่อุปกรณ์เหล่านี้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานภายในสหรัฐฯ แล้ว
  • กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้ประสานระหว่างสถาบันเพื่อการวิจัยทางการแพทย์มาเลเซียกับบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมการตรวจแอนติเจนและการพัฒนาวัคซีน

เมียนมา

  • เงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรมมูลค่าประมาณ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปใช้สำหรับจัดหาน้ำและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย การจัดการผู้ป่วยโรคโควิด-19 การเฝ้าระวังเหตุการณ์ การประสานงาน ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ
  • CDC ช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา จัดการประชุมให้ความรู้ทางไกลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันกาลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าในพื้นที่กว่า 100 จุดทั่วเมียนมา
  • CDC ยังให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการเกี่ยวกับระบาดวิทยา การเฝ้าระวัง และการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ แก่หน่วยระบาดวิทยากลาง และห้องปฏิบัติการด้านสาธารณสุขแห่งชาติของเมียนมา ตลอดจนจัดการประชุมปรึกษาหารือด้านวิชาการรวม 2 ครั้ง
  • สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่ากว่า 176 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับเมียนมาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ฟิลิปปินส์

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าเกือบ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลฟิลิปปินส์เตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม การสื่อสารความเสี่ยง การป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ฟิลิปปินส์ เฉพาะด้านสาธารณสุขเพียงด้านเดียว มีมูลค่ามากกว่า 582 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นเกือบ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
  • สำนักงานบรรเทาภัยคุกคามด้านการป้องกันประเทศ (DTRA) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่จัดซื้อจากผู้จำหน่ายในประเทศ ตลอดจนอุปกรณ์และวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรม การฝึกซ้อม และห้องปฏิบัติการ

ประเทศไทย

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม การสื่อสารความเสี่ยง การป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ
  • CDC ในสหรัฐฯ และทีมในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ให้การสนับสนุนทางห้องปฏิบัติการและความช่วยเหลือในขั้นตอนการนำผู้ป่วยสัญชาติไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
  • CDC ได้ให้คำแนะนำด้านการสื่อสารความเสี่ยง การแปลเอกสารทางวิชาการ ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด้านการแพทย์ และขั้นตอนการคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง
  • DTRA กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ข้อมูลลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเพื่อการวินิจฉัยและเฝ้าระวังโรค รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่จัดซื้อจากผู้จำหน่ายในประเทศ ให้กับไทย
  • ความช่วยเหลือระยะยาวที่สหรัฐฯ มอบให้ไทยรวมไปถึงความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกว่า 213 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลือต่างๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

เวียดนาม

  • ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมูลค่าเกือบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยรัฐบาลเวียดนามเตรียมความพร้อมของระบบห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังเหตุการณ์ สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการรับมือและเตรียมความพร้อม การสื่อสารความเสี่ยง การป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ ตลอดจนการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ
  • CDC โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การฝึกอบรมกับโรงพยาบาล 15 แห่ง ตลอดจนช่วยฝึกอบรมเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การรายงาน และการเก็บตัวอย่างของโรคโควิด-19 ใน 63 จังหวัด ทั้งยังช่วยเหลือเวียดนามพัฒนาแนวทางการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโรคโควิด-19 ระดับประเทศ
  • รัฐบาลเวียดนามได้ร้องขอการสนับสนุนน้ำยาตรวจโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับ DTRA เพื่อจัดหาน้ำยาที่ผลิตได้ในประเทศ
  • ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกว่า 706 ล้านเหรียญสหรัฐ และความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งสิ้นรวมมูลค่ากว่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ กับเวียดนาม

อาเซียนในภาพรวม โครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ของสหรัฐฯ ช่วยเสริมสร้างความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 แพทย์กว่า 1,400 คน จากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์หลายแห่งของสหรัฐฯ นอกจากนี้ บุคลากทางการแพทย์และสาธารณสุขจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 1,000 คน ยังเป็นศิษย์เก่าของโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วย

ในระดับภูมิภาค สหรัฐฯ เดินหน้าสนับสนุนการวิจัยในประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านทาง NIH ซึ่งการวิจัยเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ รวมถึงการบำบัดรักษา วัคซีน และมาตรการรับมือทางการแพทย์ ตัวอย่างของงานวิจัยจากความร่วมมือระหว่าง NIH และหน่วยงานภาคีในอาเซียน ได้แก่ การรักษาและการป้องกันโรคมาลาเรีย การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว และงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุข

สหรัฐฯ ดำเนินโครงการต่างๆ ในระดับภูมิภาค ผ่าน USAID และ CDC เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาด และสร้างศักยภาพด้านการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ อันได้แก่

  • การปรับปรุงความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการและความปลอดภัยทางชีวภาพทั่วอาเซียนโดยCDC ด้วยการรับรองตู้ชีวนิรภัยที่มีมาตรฐานขั้นสูง
  • โครงการฝึกอบรมโดย CDC ให้กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย) เกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่อุบัติใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562
  • การสนับสนุนของ USAID มาอย่างยาวนานผ่านโครงการ One Health Workforce–Next Generation ในประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เพื่อเตรียมพร้อม ป้องกัน ตรวจหา และรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดกำลังคนในระบบสาธารณสุขและหลักสูตรสาธารณสุขในมหาวิทยาลัย โดยนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา นักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 คน ได้ผ่านการฝึกอบรมในหัวข้อโรคติดต่อต่างๆ ผ่านโครงการ Southeast Asia One Health University Network (SEAOHUN)
  • ความร่วมมือระหว่าง USAID กับกระทรวงสาธารณสุขของไทยในการก่อตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (RPHL) เพื่อแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ทั่วอาเซียน นับตั้งแต่มีการก่อตั้งเครือข่ายนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562