สหรัฐอเมริกามอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในการค้นหาผู้ติดเชื้อและการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับเผยแพร่ทันที
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 28 เมษายน 2563 —รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ภายใต้การประสานงานกับรัฐบาลไทย USAID จะทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าว
“เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในสัมพันธภาพที่ยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทย โดยเห็นได้ชัดเจนจากความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศที่ยาวนานถึง 70 ปี ที่เป็นรากฐานให้สหรัฐฯ เพิ่มความช่วยเหลืออย่างมีนัยสำคัญแก่ประเทศไทยในการจัดการความท้าทายจากโรคโควิด-19” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี กล่าว
จนถึงปัจจุบัน USAID ได้มอบความช่วยเหลือมากกว่า 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมในครั้งนี้ USAID จะสนับสนุนการดำเนินงานดังต่อไปนี้
· การสื่อสารผ่านโครงการรณรงค์ระดับประเทศเพื่อให้ความรู้แนวทางในการป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นไปยังชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐาน
· การเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและการป้องกันการติดเชื้อ
· การเตรียมความพร้อมระบบห้องปฏิบัติการและการสนับสนุนด้านการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
· การค้นหาผู้ติดเชี้อและการเฝ้าระวังเหตุการณ์สำหรับโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
“เราขอแสดงความขอบคุณต่อ USAID ผู้เป็นพันธมิตรที่ดีของเรา สำหรับความช่วยเหลือในครั้งนี้” นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “เรากำลังก้าวไปด้วยกันในฐานะผู้นำด้านความเป็นเอกภาพและความร่วมมือ ความร่วมมือของเราถือเป็นก้าวที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด-19”
USAID ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยในการดำเนินงานโครงการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ โดยทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และนักวิจัย เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนชาวไทย ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากโครงการการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตรชุมชนท้องถิ่นและได้รับการสนับสนุนจากแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) นอกจากนี้ โครงการพิเศษเพื่อต่อต้านโรคมาลาเรียภายใต้ความริเริ่มของประธานาธิบดี (President’s Malaria Initiative) นำโดย USAID ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย ช่วยชีวิต และขับเคลื่ิอนประเทศไทยเพื่อขจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดสิ้นไปภายในปี 2567 สหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย USAID สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medicinal Sciences – AFRIMS) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention – U.S. CDC) จะยังคงดำเนินงานบนรากฐานของพันธมิตรที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำระดับโลกในการให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีในด้านสาธารณสุขมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2552 ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันได้สนับสนุนความช่วยเหลือในด้านสาธารณสุขกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และด้านมนุษยธรรม อีกเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากภัยจากโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งสามารถกลายเป็นภัยในทุก ๆ ที่ สหรัฐฯ จึงขอความร่วมมือจากผู้บริจาครายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนความพยายามในระดับโลกในการต่อสู้กับโรคโควิด-19
ความร่วมมือด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ ในประเทศไทย
ดาวน์โหลดภาพความละเอียดสูงได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1is-scOkC1Wf456I-MCgLBMf0Xn4JTznE
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินงานของ USAID ในการรับมือกับโรคโควิด-19 กรุณาเยี่ยมชม https://www.usaid.gov/coronavirus-covid-19
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
โจเซฟ ทรัง
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการสื่อสารระดับภูมิภาค
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID/RDMA)
อีเมล: JoTruong@usaid.gov
เว็บไซต์: https://www.usaid.gov/asia-regional
วิรพร ศรีสุวรรณวัฒนา
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID/RDMA)
อีเมล: wsrisuwanwattana@usaid.gov
เว็บไซต์: https://www.usaid.gov/asia-regional