โครงการ U.S.-ASEAN Health Futures

โครงการ U.S.-ASEAN Health Futures

เอกสารข้อเท็จจริง
สำนักงานโฆษก
วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563

วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ไมเคิล ปอมเปโอ เปิดตัวโครงการ U.S.-ASEAN Health Futures ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานด้านสาธารณสุขร่วมกับอาเซียนทั้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและที่ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานสำหรับความร่วมมือระยะยาวและการช่วยเหลืออย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งกลับมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรขั้นพื้นฐานที่สุดของเรา นั่นคือสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนรวมหนึ่งพันล้านคนในสหรัฐฯ และอาเซียน ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงทุนมูลค่ากว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพภายใต้การดำเนินงานร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียน แสดงถึงความร่วมมือระดับสำคัญบนแนวทางที่จริงจังและยั่งยืน เงินทุนนี้วางรากฐานสู่การสาธารณสุขที่เข้มแข็งตลอดทั่วภูมิภาคและเป็นพื้นฐานแห่งความร่วมมือของเราในอนาคต ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่ออาเซียนยังคงมุ่งตอบสนองความต้องการของภูมิภาค โดยจากข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เมษายน ความช่วยเหลือนี้รวมถึงเงินทุนฉุกเฉิน 35.3 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับช่วยเหลือชาติสมาชิกอาเซียนรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19

สหรัฐฯ กับอาเซียนรุดหน้าไปสู่เป้าหมายร่วมกันหลายประการเพื่ออนาคตที่ดีด้านสาธารณสุขในหลากหลายสาขา เช่น การควบคุมเชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดเชื้ออื่นๆ การขยายการเข้าถึงน้ำที่ปลอดภัย การปรับปรุงโภชนาการตลอดจนสุขภาพแม่และเด็ก เราทั้งสองฝ่ายร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านสาธารณสุขตลอดทั่วภูมิภาค และดำเนินงานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์รุ่นต่อไป นอกจากนี้ เรายังดำเนินการสำรวจโซลูชันด้านสุขภาพสำหรับเมืองอัจฉริยะผ่านโครงการ U.S-ASEAN Smart Cities Partnership อีกด้วย

การศึกษาวิจัย: องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสู่การทำความเข้าใจและวินิจฉัยโรค ตลอดจนการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ การศึกษาวิจัยร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่

  • โครงการวิจัยมากกว่า 1,000 โครงการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงสถานะดำเนินการอยู่กว่า 300 โครงการ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับสถาบันวิจัยมากกว่า 20 แห่งภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health)
  • ทุนวิจัยโดยตรงมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมอบให้แก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐบาล
  • การสนับสนุนการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การวิจัยสารฆ่าจุลชีพ (microbicide) การวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ ระบาดวิทยาของวัณโรค และการวิจัยทางคลินิกด้านโรคติดเชื้อ

ศักยภาพของระบบสาธารณสุข: ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งมีความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมให้พลเมืองมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ รวมถึงการรับมือภัยคุกคามและความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อุบัติขึ้นใหม่ การดำเนินงานพัฒนาศักยภาพร่วมกันในอาเซียน ได้แก่

  • ส่งเสริมระบบและบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและครอบคลุมสำหรับพลเมืองทุกคน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง
  • สนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองและการรักษาวัณโรค ทำให้ผู้ป่วยหลายพันรายทั่วอาเซียนได้รับการรักษาวัณโรคและวัณโรคดื้อยาอย่างเหมาะสม
  • ควบคุมการระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ปัจจุบัน ผู้ป่วยกว่า 150,000 คนได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral therapy) อันเป็นผลจากความพยายามร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ เวียดนามกำลังจะเป็นประเทศแรกภายใต้แผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (President’s Emergency Plan for AIDS Relief) ที่มีแนวทางบริหารจัดการรับมือกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ของตนเองภายในสิ้นปี 2563 โดยอาศัยทรัพยากรภายในประเทศและการจัดสรรเงินทุนอย่างยั่งยืน
  • สานต่อการสนับสนุนแก่อาเซียนเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคและโรคมาลาเรียในภูมิภาค ดังเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในลาวซึ่งลดลงร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี 2557-2560 เป็นต้น
  • ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างประเทศ (Global Disease Detection Operations Center) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention) ติดตามและรายงานการระบาดและความเสี่ยงของการระบาดต่อชุมชนทั่วโลก เช่น การระบาดของโรคติดเชื้อ 44 รายการในอาเซียนระหว่างปี 2557–2562 เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรค
  • USAID ร่วมกับสํานักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) พัฒนาระบบประสานงานภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Public Health Emergency Coordination System) โดยผสานรวมกลไกอาเซียนที่มีอยู่แต่เดิม เช่น เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินอาเซียน (ASEAN Emergency Operations Centre Network) ให้สามารถเตรียมพร้อมและรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอุบัติใหม่

การพัฒนาทุนมนุษย์ด้านสาธารณสุข: การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีด้านสุขภาพ โดยมีการดำเนินงานดังนี้

  • เครือข่าย U.S.-ASEAN Health Futures Alumni Network เป็นเครือข่ายใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการและอดีตผู้เข้าร่วมโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในอาเซียนกว่า 2,400 คนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและพบปะหารือกับผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ โดยตรง
  • สนับสนุนให้แพทย์ ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข และนักเรียนนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ เรียนรู้จากประสบการณ์ความชำนาญของสหรัฐฯ ผ่านโครงการศึกษาแลกเปลี่ยนฟุลไบร์ท โครงการ International Visitor Leadership Program และโครงการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนอื่นๆ
  • ฝึกอบรมนักระบาดวิทยากว่า 1,300 คนจากทั่วอาเซียนให้สามารถติดตามโรค วิจัยการระบาด และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
  • สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ระดับประเทศจำนวน 4 เครือข่ายและระดับภูมิภาค 1 เครือข่าย เพื่อเตรียมกำลังคนด้านสาธารณสุขให้พร้อมป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อ เครือข่ายดังกล่าวฝึกอบรมนักศึกษาและบุคลากรสาธารณสุขมาแล้วกว่า 10,000 คนนับตั้งแต่ปี 2557
  • ส่งเสริมการดูแลสุขภาพทางไกลและระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้องค์กรปกครองระดับเมืองและบุคลากรสาธารณสุขสามารถให้บริการและส่งต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

*การแปลนี้จัดทำขึ้นโดยความอนุเคราะห์และเฉพาะต้นฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นที่ควรถือว่าเชื่อถือได้