คำกล่าวโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค ณ เวทีกรุงเทพธุรกิจ “Geopolitics: The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม”
วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566
สวัสดีครับ ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรี, ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่นกรุ๊ป, บรรณาธิการอำนวยการ เนชั่นกรุ๊ป และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้มา ณ ที่นี้ในวันนี้ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับคำเชิญ โดยเฉพาะ ขอขอบคุณกรุงเทพธุรกิจ ที่ได้จัดงานสัมมนานี้ และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ ในนามสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และผมเอง ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้อีกครั้ง
สิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ – การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความมั่งคั่ง
ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ สหรัฐฯ มุ่งมั่นต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และต่อความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับไทย เป็นเวลาเกือบสองศตวรรษที่ไทยและสหรัฐฯ มีความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนและเสาหลักที่สำคัญของสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2376 ท่านเจ้าพระยาพระคลังและผู้แทนทางการทูตเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ (Edmund Roberts) ได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างสยามและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศมาจนครบ 190 ปี ในปัจจุบันนี้ วันนี้ผมจะขอกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคและความมุ่งหวังของเราต่ออนาคตความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและสหรัฐฯ
การตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายระดับโลก
ในตอนนี้เรามีโอกาสที่ยอดเยี่ยมที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้นทั่วโลก โอกาสที่จะสร้างและแบ่งปันความมั่งคั่ง เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ยกระดับความมั่นคง ตลอดจนช่วยให้ผู้คนตัดสินใจเลือกระบบการปกครองได้ด้วยตนเอง สิ่งที่ตามมากับโอกาสเหล่านี้ก็คือ ความท้าทายที่เราต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพโลกในอนาคต การฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ การรับมือกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างอนาคตแห่งพลังงานที่สะอาดขึ้น มั่นคงขึ้น และย่อมเยาขึ้น ไม่มีประเทศใดจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้หรือรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง เราจะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อเราร่วมแรงร่วมใจกันเท่านั้น กฎระเบียบและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เรามีร่วมกันจะช่วยเป็นกรอบการดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าต่อไป
สหรัฐฯ จะทำงานกับหุ้นส่วน เพื่อน และพันธมิตรของเราเพื่อรับมือกับความท้าทายที่มีร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม หากมีประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศ เราก็จำเป็นที่จะต้องยืนหยัดร่วมกัน เหมือนอย่างที่ประชาคมโลกได้ยืนหยัดร่วมกันกับยูเครน เพื่อต่อต้านสงครามที่ปราศจากซึ่งการยั่วยุและไร้ซึ่งความชอบธรรมของประธานาธิบดีปูติน และเราได้ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเราเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและความรับผิดชอบในพม่า และเพื่อยุติการกระทำอันโหดร้ายและรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าที่มีต่อประชาชนของประเทศ อนาคตของเราขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกันและเคารพต่อกฎระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศ ความเคารพต่อกฎกติการะหว่างประเทศจะช่วยให้ผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ มีเสถียรภาพและความสามารถที่จะคาดเดาทิศทางในการลงทุนและการเติบโตต่อไป
เท่าที่ผมทราบ มีเรื่องหนึ่งที่คงอยู่ในใจของหลาย ๆ ท่านที่นี่ ผมอยากจะขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและมีผลกระทบที่สำคัญกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายมิติ ตลอดจนการแข่งขันระหว่างกัน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บลิงเคน จะเดินทางไปประเทศจีนเร็ว ๆ นี้เพื่อติดตามสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสี ได้พูดคุยกันไว้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน เรามุ่งที่จะเปิดช่องทางการสื่อสารให้กว้างอยู่เสมอ และร่วมมือกันเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้การแข่งขันระหว่างกันกลายเป็นความขัดแย้ง ผมขอให้ความมั่นใจกับท่านว่า เรามุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่สำคัญนี้อย่างมีความรับผิดชอบ
วิสัยทัศน์ของเราต่อภูมิภาค: ยุทธศาสตร์อินโด–แปซิฟิกของสหรัฐฯ
กว่า 75 ปี สหรัฐฯ และไทยได้สนับสนุนวิสัยทัศน์ของอินโด-แปซิฟิก นั่นคือ วิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมการพัฒนากฎกติกาที่โปร่งใสและนำไปใช้อย่างยุติธรรม โดยที่แต่ละประเทศต่างก็มีเสรีภาพที่จะตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับอธิปไตยของตนเอง วิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมให้สินค้า แนวคิดใหม่ ๆ และผู้คน เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนทางบก ทางอากาศ ทางไซเบอร์สเปซ และน่านน้ำเปิดได้อย่างอิสระเสรี และวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมธรรมาภิบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน ระบบนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในภูมิภาคนี้และทั่วโลก ทุกประเทศในโลกนี้และคนทุกคนในห้องนี้ต่างก็ได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าวมาแล้ว
ข้อริเริ่มระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ ล่าสุด คือ กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF เรามีความยินดีที่ไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง IPEF ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เราจำเป็นต้องมีทางออกใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายของศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่การค้าไปจนถึงห่วงโซ่อุปทาน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง IPEF จะช่วยเราค้นหาทางออกเหล่านี้ IPEF จะช่วยปลดล็อกคุณค่าทางเศรษฐกิจระดับมหาศาลสำหรับภูมิภาคนี้โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดย่อม
การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค เป็นอีกหนึ่งข้อริเริ่มที่มีความสำคัญยิ่งในการรับมือกับความท้าทายระดับภูมิภาคและช่วยให้เกิดกรอบการดำเนินงานของกลุ่มที่ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้า ผมชื่นชมไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปคเมื่อปี 2565 ได้อย่างประสบความสำเร็จ และในความพยายามที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเรื่องโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy model) ในปี 2566 นี้ สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคและเราจะพยายามสานต่องานอันยอดเยี่ยมที่ไทยได้เคยทำไว้และเป้าหมายในภาพรวมของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง ตลอดจนการเสริมสร้างการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย: แบบอย่างของความเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอนาคตของภูมิภาคนี้และอย่างที่ผมได้เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของเราในปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง พันธไมตรีระหว่างเราเปรียบเสมือนผ้าทอที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีส่วนร่วมในการถักทอ และเส้นด้ายที่ใช้ถักทอนั้นก็คือ ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเรานั้นเป็นส่วนสำคัญยิ่งของผ้าทอผืนนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจทั้งสองประเทศของเรานั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นและความสัมพันธ์ทางการค้าของเรามีความแข็งแกร่งและยังคงเติบโตต่อไป จริง ๆ แล้วการค้าระดับทวิภาคีของเราได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 50 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนหลักในเศรษฐกิจของไทยโดยมีบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เข้ามาดำเนินการอยู่ในหลายภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งรวมถึง ภาคยานยนต์ การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีขั้นสูง/ดิจิทัล ธุรกิจของสหรัฐฯ ในประเทศไทยคาดว่าก่อให้เกิดการจ้างงานชาวไทยโดยตรงเกือบ 200,000 คน และช่วยสนับสนุนการสร้างตำแหน่งงานอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเรามีความสำคัญ โดยเห็นได้จากความร่วมมือต่าง ๆ ที่เราได้มีมาตลอดปีที่แล้วและที่เราได้ขยายขอบเขตออกไป ในเดือนมีนาคมนี้ กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมทางการค้า Trade Winds ซึ่งเป็นเวทีการพัฒนาการค้าที่มีคณะผู้แทนทางการค้านำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เดินทางมาร่วมประชุม และถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ในงานนี้ ไทยถือเป็นศูนย์กลางหลักในระดับภูมิภาค และจะมีการเดินทางเยือนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีกห้าประเทศ งานประชุม Trade Winds จะมีผู้บริหารระดับสูงสุดกว่า 100 คน จากบริษัทของสหรัฐฯ เข้าร่วมเพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของภาคเอกชนอเมริกันในการมาลงทุนในไทย Trade Winds เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อไทย และความปรารถนาของเราที่จะบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงตลอดทั้งภูมิภาคนี้
สหรัฐฯ และไทยยังได้ร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ การยกระดับทักษะทางดิจิทัลให้กับแรงงานของเรา และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนนโยบายที่ส่งเสริมการค้าดิจิทัล บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง Seagate, Amazon, Tesla, Ford, Netflix และ Google ต่างก็กำลังขยายการดำเนินงานในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในระยะใกล้ร่วมหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีภาคเอกชนเหล่านี้กำลังลงทุนในอนาคตแห่งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและสหรัฐฯ และเห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
สหรัฐฯ และไทยยังทำงานกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือกับความท้าทายที่เป็นหัวใจสำคัญของเราในยุคนี้ นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราชื่นชมเป้าหมายอันมุ่งมั่นของไทยที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และสหรัฐฯ สนับสนุนความพยายามของไทยที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค การเสริมสร้างศักยภาพ รวมถึงการดำเนินงานและความร่วมมือทางการค้า
ในด้านการดูแลสุขภาพ ไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนร่วมกันมากว่า 60 ปี และด้วยการทำงานร่วมกันนั้น ส่งผลให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างของความร่วมมือนี้ ได้แก่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control) ในประเทศไทยที่มีพนักงานกว่า 100 คน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุขของไทย ความร่วมมือดังกล่าวได้ช่วยชีวิตของเด็กนับไม่ถ้วน และช่วยให้พ่อแม่สามารถไปทำงานและดูแลครอบครัวของพวกเขาได้ ในช่วงวิกฤตของการระบาดใหญ่ทั่วโลก วัคซีนของเรา รวมถึงการบริจาคอื่น ๆ ตลอดจนความร่วมมือทางเทคนิคได้ช่วยให้วัคซีนโควิดชนิด mRNA ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปถึงผู้คนในกรุงเทพฯ และทั่วทั้งประเทศไทย ตลอดจนช่วยให้ผู้คนในชุมชนคลองเตยสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่สำคัญ รวมทั้งช่วยให้โรงพยาบาลรัฐในจังหวัดกาญจนบุรีมีอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
อนาคตของความสัมพันธ์สหรัฐฯ–ไทย และโอกาสของความเป็นหุ้นส่วน
ท่านจะเห็นได้ว่า ไทยและสหรัฐฯ ต่างก็ทำงานอย่างหนักในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและครอบคลุมหลากหลายด้านมาตลอด 190 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ ขณะที่เราฉลองช่วงเวลา 190 ปี ดังกล่าว เราควรหาหนทางที่จะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อทักถอผืนผ้านี้ให้งดงามสดใสยิ่งกว่าเดิม ผมว่า ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ เราควรจะมีโครงการความร่วมมือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เราควรแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนทั้งจากไทยไปสหรัฐฯ และจากสหรัฐฯ มายังไทย และสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เราสามารถส่งเสริมความร่วมมือทางโลกดิจิทัลและอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสที่จะร่วมมือกันเพื่อยกระดับการใช้พลังงานสะอาดและการนำดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ เราควรเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาสำหรับชาวไทยที่จะไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ และสำหรับชาวอเมริกันที่จะมาศึกษาต่อที่เมืองไทย เราสามารถร่วมมือกันเพื่อเร่งเครื่องการวิจัยร่วมกันทางวิทยาศาสตร์และทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นในระดับมหาวิทยาลัยหรือบริษัท ทุกสิ่งเป็นไปได้ตามจินตนาการของเรา
โดยสรุป สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะยกระดับสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ตลอดจนความเป็นหุ้นส่วนของเรากับไทย เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วน เพื่อน และพันธมิตรของเรา เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน และนำโอกาสที่มีร่วมกันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนสนับสนุนระบบอันเป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมให้กับชาวไทย ชาวอเมริกัน และผู้คนทั่วโลกครับ
เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน!
ขอบคุณครับ