เส้นทางสู่ Trade Winds ASEAN: ประเทศไทย

เส้นทางสู่ Trade Winds ASEAN: ประเทศไทย

25 มกราคม 2566

โดย จอห์น ไบรเดนสไตน์ เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำภูมิภาคอาเซียนฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย

บทความชิ้นที่ 2 ในชุดบทความเกี่ยวกับตลาดต่าง ๆ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการประชุม Trade Winds 2023

บทความนี้มีลิงก์เชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บอื่น โปรดอ่านนโยบายการเชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บอื่น

บริษัทสหรัฐฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจของตนด้วยการส่งออกควรพิจารณาประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในระดับโลก ประเทศไทยมีความสำคัญต่ออนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นเพื่อน หุ้นส่วน และพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย โดยปีนี้ จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ

ประเทศไทยซึ่งมีการค้าระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 50 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นปลายทางการส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 26 ของสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออก 12,700 ล้านเหรียญในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 13 ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ก็เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ตามมาด้วยจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของเราทั้งสองจึงพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทของสหรัฐฯ จำนวนมากต้องการโอกาสในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

ธุรกิจขนาดย่อม กลาง และใหญ่ของสหรัฐฯ ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ภาคพลังงาน ดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ อวกาศ และการป้องกันประเทศ สามารถประสบความสำเร็จในตลาดของไทยหากเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและมีคุณภาพสูง ตลอดจนทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนจำหน่ายและหุ้นส่วนในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะทำธุรกิจด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีวัตนธรรมที่เปิด ค่าครองชีพต่ำ กลุ่มแรงงานขนาดใหญ่ที่มีทักษะและปรับตัวได้ ฐานการผลิตที่เข้มแข็งและหลากหลาย หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ จากรัฐบาล

สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Administration) จึงเห็นว่ากรุงเทพฯ ประเทศไทย เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่จัด Trade Winds Trade Mission and Business Development Forum ในปีนี้ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ซึ่งจะใช้โอกาสอันดีนี้ทำความรู้จักกัน ในเวทีดังกล่าว จะมีการจัดการประชุมกับนักการทูตด้านพาณิชย์ของสหรัฐฯ จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกว่า 20 ประเทศ การประชุมจับคู่ระหว่างธุรกิจ และการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย โดยในทุกการประชุม บริษัทสหรัฐฯ จะได้รับข้อมูลและมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโอกาสและความร่วมมือที่เป็นไปได้ในตลาดต่าง ๆ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จะมีการสัมมนา SelectUSA Tech Seminar ในวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในเอเชีย-แปซิฟิก จะได้รับข้อมูลและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นธุรกิจในสหรัฐฯ ในวันที่ 15 มีนาคม บริษัทสตาร์ตอัปจะได้นำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการเพื่อชิงโอกาสเข้าร่วมและนำเสนอผลงานที่การประชุม SelectUSA Investment Summit ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม Trade Winds Mission and Business Forum ที่กรุงเทพฯ ได้ที่นี่ โดยคลิกที่ REGISTER จากนั้นให้เลือก Business Forum Only. The registration fee is $750 per attendee.

นอกจากการประชุม Trade Winds แล้ว ยังมีการประชุมการค้าอื่น ๆ อีกมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐฯ ที่ต้องการโอกาสทางการค้าในไทย โปรดติดต่อ สำนักงานบริการการค้าในประเทศ เพื่อรับทราบข้อมูลและโอกาสในประเทศไทยและตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมการค้าอื่น ๆ ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ มีดังนี้

13-17 มีนาคม 2566: Asia-Pacific Association for International Education Conference ช่วยให้ผู้แทนการประชุมจากทั่วโลกมีโอกาสแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิถีนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิกกำลังจับมือกันทำงานภายในภูมิภาคและทั่วโลก

17-19 พฤษภาคม 2566: Future Energy Asia นำผู้นำด้านพลังงานจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแก๊ส, LNG, ไฟฟ้า หรือพลังงานหมุนเวียน มาพบปะกันในเวทีที่สำคัญที่สุดของภาคอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาค เพื่อการพูดคุยเชิงกลยุทธ์ที่จะช่วยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนผ่านและปฏิรูปด้านพลังงานในทศวรรษหน้า

24 พฤษภาคม 2566: Smart Cyber Security Summit เป็นนิทรรศการและการประชุมเฉพาะผู้ได้รับเชิญเท่านั้น โดยไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และเหมาะกับผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงและบุคลากรผู้ใช้งาน

14-17 มิถุนายน 2566: ProPak Asia เป็นการประชุมการค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคสำหรับเทคโนโลยีผลิตและบรรจุหีบห่ออาหาร เครื่องดื่ม และยา