วิดีโอชุด “ฮีโร่แห่งลุ่มน้ำโขง” ของหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง–สหรัฐฯ: สร้างอนาคตสดใสให้ลุ่มน้ำโขง

วิดีโอชุด “ฮีโร่แห่งลุ่มน้ำโขง” ของหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงสหรัฐฯ: สร้างอนาคตสดใสให้ลุ่มน้ำโขง

“ครูตี๋” ครูผู้พิทักษ์และปกป้องแม่น้ำโขง

กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ส่งเสริมความมั่นคง สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านทางความร่วมมือระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม พร้อมด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โครงการต่าง ๆ ในกรอบความร่วมมือนี้ส่งผลดีต่อชีวิตของผู้คนหลายล้านชีวิตและช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงรับมือกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางน้ำ การวางแผนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสะเต็มศึกษาได้ดียิ่งขึ้น กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ต่อยอดขึ้นจากความร่วมมือระยะเวลา 11 ปี และมุ่งพัฒนากิจกรรมในโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายในภูมิภาค

วิดีโอชุด “ฮีโร่แห่งลุ่มน้ำโขง” ของหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ภูมิใจเสนอเรื่องราวของนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งลำน้ำโขงและพื้นที่โดยรอบ เรื่องราวของนิวัฒน์เป็นตอนหนึ่งของชุดวิดีโอทั้งหมด 4 ตอนที่บอกเล่าชีวิตของบุคคลจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งแสดงถึงประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ วิดีโอชุดนี้จะเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศเวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา ในวันที่ 29 มิถุนายน 2564

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นหลายแห่งอย่างรวดเร็วได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง และทำให้ผู้คนหลายล้านชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ต้องเผชิญกับความกดดันมากขึ้น นิวัฒน์เติบโตขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีความทรงจำถึงช่วงเวลายากดีมีสุขตลอดการใช้ชีวิตเคียงข้างแม่น้ำสายนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากการเป็นครูเป็นผู้ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม นิวัฒน์และคณะผู้ร่วมงานในพื้นที่ได้ดำเนินการวิจัยด้านระบบนิเวศ ตลอดจนพยายามให้ข้อมูลกับชุมชนเกี่ยวกับสิทธิของตนในยามที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเน้นย้ำถึงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศและเสริมสร้างศักยภาพในการฟื้นตัวของชุมชนผ่านโครงการวิจัยโดยชุมชนที่เรียกว่างานวิจัยไทบ้าน (หรือ “งานวิจัยจาวบ้าน” ในภาษาเหนือ)

“แม่น้ำโขงเป็นแม่ของคนทั้งโลก ไม่ใช่แม่ของเราคนเดียว แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว การจัดการทรัพยากรก็คือการจัดการเรื่องของคนทั้งโลกที่มีส่วนได้เสีย เรื่องงานวิจัยไทบ้าน มันเกิดมาจากแนวคิดที่เราใช้องค์ความรู้เป็นการขับเคลื่อนในเรื่องของการต่อสู้ในเรื่องของการปกป้องทรัพยากร” นิวัฒน์กล่าว

รับชมเรื่องราวของนิวัฒน์จากวิดีโอชุด “ฮีโร่แห่งลุ่มน้ำโขง” ได้จากหน้าเฟซบุ๊กทางการของสถานทูตสหรัฐฯ กรุงเทพฯ (@usembassybkk) และสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ (@chiangmai.usconsulate) ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ได้จาก https://mekonguspartnership.org/ และติดตามหน้าเฟซบุ๊กได้ทาง @lowermekong