คำกล่าวโดยเอกอัครราชทูตลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ระหว่างการบรรยายสรุปกับสื่อมวลชนทางโทรศัพท์
เอกอัครราชทูตโทมัส-กรีนฟิลด์: ขอบคุณค่ะ จัสติน และขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมการพูดคุยกับดิฉันที่นี่ในวันนี้ ดิฉันอยากจะเริ่มด้วยการพูดสั้น ๆ ถึงการเยือนประเทศญี่ปุ่นและไทย ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันดำเนินการในด้านการเสริมสร้างพันธไมตรีที่สำคัญยิ่ง กระชับความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และส่งเสริมโอกาสเพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ ในการสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
สุดสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้นำคณะผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปร่วมพิธี – พิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ดิฉันมีโอกาสเชียร์ทีมสหรัฐฯ และร่วมฉลองกับนักกีฬาของเรา ผู้ซึ่งแสดงถึงความเป็นที่สุดของอเมริกาอย่างแท้จริง และดิฉันต้องขอบอกทุกท่านว่า ดิฉันรู้สึกภูมิใจที่นักกีฬาเหล่านี้มีความอดทน และความมุ่งมั่นตั้งใจ และน้ำใจนักกีฬา และความเป็นผู้นำ ทั้งในและนอกสนาม
และดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทีมนักกีฬาหญิงของสหรัฐฯ นำเหรียญรางวัลกลับมาให้ประเทศเกือบร้อยละ 60 ของเหรียญที่เราได้รับ ความสำเร็จของพวกเขาเป็นความภูมิใจของอเมริกาเป็นที่สุด ความสำเร็จนั้นแสดงให้โลกเห็นว่า การที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมและได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ ทำให้ชาติต่าง ๆ – ชาติของเราแข็งแกร่งขึ้นและมีความสามารถแข่งขันมากขึ้นได้อย่างไร
นอกจากนี้ ดิฉันยังเกิดแรงบันดาลใจที่ได้พบกับสมาชิกทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยผ่านระบบออนไลน์ โดยพวกเขาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้เป็นครั้งที่สอง อาชีพการทำงานของดิฉันส่วนใหญ่คือการทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและประเด็นด้านมนุษยธรรม และดิฉันเข้าใจถึงประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดที่นักกีฬาเหล่านี้ต้องเอาชนะเพื่อจะไปถึงกรุงโตเกียวได้
นักกีฬาผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า การแข่งขันยูโดช่วยให้เธอเอาชนะความยากลำบากนั้นได้อย่างไร เธอบอกกับดิฉันว่า สิ่งแรกที่คน ๆ หนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับยูโดคือวิธีการล้ม และสิ่งต่อมาคือวิธีการลุกขึ้นมาด้วยตนเอง
ดิฉันภูมิใจในทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยเหลือเกิน และตื่นเต้นที่ได้เห็นพวกเขาเติบโตและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลกต่อไป
ขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น ดิฉันยังรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ดิฉันได้มีโอกาสยืนยันถึงพันธไมตรีที่สำคัญของเรากับญี่ปุ่น รวมทั้งขอบคุณและยินดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโดยประสบผลสำเร็จแม้ว่าจะมีความยากลำบากยิ่ง
นอกจากนี้ ดิฉันยังหวังว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกในสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึงด้วย และเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่า สุภาพบุรุษหมายเลขสอง ดั๊ก เอ็มฮอฟฟ์ จะนำคณะผู้แทนไปเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันดังกล่าว
ท่านประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะให้ชาติพันธมิตรของเราเป็นแกนในนโยบายต่างประเทศของเรา และดังนั้น ดิฉันก็รู้สึกว่า การเดินทางมาประเทศไทยมีความสำคัญยิ่ง เป็นการยืนยันและเสริมสร้างพันธไมตรีอันยาวนานระหว่างชาติของเราทั้งสอง ตลอดจนเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ต่อเนื่องของเราต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความเป็นแกนกลางของอาเซียน
พันธไมตรีระหว่างสหรัฐฯ และไทย ยังคงสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับชาติของเราทั้งสองอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งยิ่งขึ้น
วันนี้ ดิฉันมีโอกาสได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เมื่อวานนี้ได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดิฉันเชื่อว่า เราได้มีการพูดคุยที่เกิดประโยชน์ในหลายประเด็นที่สำคัญ รวมถึงความแข็งแกร่งของความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน สาธารณสุข สภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอันเป็นผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในเมียนมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิฉันได้สื่อสารถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของสหรัฐฯ ที่จะยืนเคียงข้างชาวไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 อันที่จริงแล้ว เมื่อเช้าวานนี้ ดิฉันได้ไปเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร ที่มีประชาชนกลุ่มเปราะบางและเจ้าหน้าที่ด่านหน้ามารับวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ มอบให้กับไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรายังได้ยกระดับความมุ่งมั่นดังกล่าว โดยมอบวัคซีนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในอีกไม่ช้า
ดิฉันภูมิใจที่ได้เห็นวัคซีนของเราถูกฉีดให้กับแพทย์และพยาบาลผู้เสียสละของไทย และดิฉันรู้สึกมีกำลังใจที่ได้รู้ว่า สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในทั่วโลก เพราะสหรัฐฯ ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้วหลายล้านโดส โดยปราศจากเงื่อนไข เพื่อรักษาชีวิตผู้คนและยุติการระบาดใหญ่ครั้งนี้
เมื่อวานนี้ ดิฉันยังได้ – เมื่อวานนี้ ดิฉันยังได้ประกาศความช่วยเหลือรอบใหม่ของสหรัฐฯ มูลค่า 55 ล้านเหรียญ สำหรับการดำเนินการรับมือด้านมนุษยธรรมและการระบาดใหญ่ในไทยและเมียนมา รัฐประหารในเมียนมาและสถานการณ์วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ตามมา ถูกซ้ำเติมด้วยโรคโควิด-19 และประเทศไทยเป็นด่านหน้ารับมือกับความท้าทายทั้งสองนี้
เงินช่วยเหลือที่ดิฉันประกาศเมื่อวานนี้ จะนำไปสนับสนุนการรับมือการระบาดและบรรเทาภาวะตึงตัวของไทย – ภาวะตึงตัวของระบบสาธารณสุขของไทย ถ้าจะให้เจาะจงลงไปนั้น เงินช่วยเหลือนี้ได้แก่ความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 มูลค่า 5 ล้านเหรียญให้กับไทย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีก 50 ล้านเหรียญที่จะมอบให้กับภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง
ความช่วยเหลือนี้จะนำไปใช้สำหรับอาหารช่วยชีวิต น้ำ ที่พักพิง การส่งเสริมสุขภาพ และบริการด้านสุขอนามัยต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
วันนี้ ดิฉันยังมีโอกาสได้พบปะกับองค์การระหว่างประเทศ องค์กรนอกภาครัฐ และองค์กรอื่น ๆ ในไทยและเมียนมา เพื่อหารือถึงความท้าทายทางการเมืองและมนุษยธรรมที่ประชาชนชาวเมียนมา รวมถึงผู้ลี้ภัย กำลังเผชิญอยู่ ดิฉันอยากให้พวกเขารู้ว่า เรายืนเคียงข้างพวกเขา เงินสนับสนุนที่เรามอบให้เหล่านี้จะช่วยให้องค์กรนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศ รับมือกับวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 และตอบสนองต่อความต้องการต่าง ๆ ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอกล่าวอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ยังคงมีความกังวลอย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ที่ยังคงดำเนินอยู่ในเมียนมา ด้วยความร่วมมืออันใกล้ชิดกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา เราจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการทั้งหมด ขณะเดียวกันเราจะยังคงยึดมั่นในการสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาต่อไป
ดิฉันยินดีตอบคำถามของทุกท่าน ขอบคุณมากค่ะ
อ่านคำกล่าวฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.state.gov/telephonic-press-briefing-with-ambassador-linda-thomas-greenfield-u-s-permanent-representative-to-the-united-nations/