ปาฐกถาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมเคิล อาร์. ปอมเปโอ “สหรัฐอเมริกาในเอเชีย — ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อยังประโยชน์แก่ทุกฝ่าย”

ปาฐกถาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมเคิล อาร์. ปอมเปโอ
วันที่ 2 สิงหาคม .. 2562
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่าน ขอบคุณครับปีเตอร์ที่ช่วยแนะนำผมให้ทุกคนได้รู้จัก ขอขอบคุณสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์และท่านนายกสยามสมาคมฯ ที่กรุณาเป็นเจ้าภาพ ผมยังทราบมาว่า วันนี้มีนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาอยู่กับเราในห้องนี้

ผมขอขอบคุณ คุณเกรก แบชชัน ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ท่านจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร West Point ซึ่งน่าชื่นชมมาก

ผมขอขอบคุณเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาท่านใหม่เป็นพิเศษที่กรุณามาร่วมงานกับเราในวันนี้ ขอบคุณครับท่านที่มางานนี้

และไม่มีใครจะเป็นแขกคนพิเศษไปกว่าซูซาน ภรรยาของผม ซูซานนั่งแถวหน้าเช่นกันครับ (เสียงหัวเราะ) เอาล่ะ ผมทำแต้มได้ ดีจัง (เสียงหัวเราะ)

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ผมเคยมากรุงเทพฯ แล้วครับ ผมได้มาภูมิภาคนี้หลายครั้งแล้ว ถือเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ที่ได้มาที่นี่ ณ เวลานี้ สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ยาวนานที่มีค่ายิ่งสำหรับเรา ดังที่ท่านอุปทูตฯ กล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์นี้ยืนยาวมาถึง 200 ปี และผมก็คิดว่า เราจะยังคงเป็นมิตรที่ดีต่อกันไปอีกสองศตวรรษ

สถานที่ที่เรายืนอยู่ในวันนี้มีคติพจน์ คติพจน์ของสยามสมาคมฯ คือ “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” และเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมอยากแบ่งปันกับท่านทั้งหลายถึงมุมมองของผมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ไม่มีองค์ประกอบใดในความสัมพันธ์ของเราจะสำคัญยิ่งไปกว่าประเด็นนี้ นี่คือประวัติศาสตร์ที่บางครั้งก็ถูกลืม และบางครั้งก็เลวร้ายยิ่งกว่าถูกลืม นั่นคือ ถูกบิดเบือนโดยผู้ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ร่วมของเรา

นี่คือเรื่องราวของความเป็นหุ้นส่วนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่พวกเราขาดไม่ได้เลย

นี่คือเรื่องราวของประเทศที่แสวงหาข้อเสนอที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์

นี่คือเรื่องราวของหลักการของอเมริกาและความรุ่งเรืองของเอเชีย

ผมขอเล่าให้ฟังถึงครอบครัวคุณอนุรักษ์จากประเทศไทยนี้เอง ไม่นานมานี้ คุณอนุรักษ์เป็นหัวหน้าคนงานบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง ภรรยาเป็นพยาบาล ชีวิตชนชั้นกลางความเป็นอยู่สุขสบาย แต่ทั้งสองต้องการอะไรที่มากกว่านั้น พวกเขาอยากได้อะไรมากกว่านั้นเพื่อลูกๆ ซึ่งไม่ต่างจากความต้องการของทุกครอบครัว ทั้งสองเริ่มทำฟาร์มเลี้ยงไก่ฟาร์มเล็กๆ

ในปี 2549 Cargill บริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2511 ได้ค้นพบทั้งสองคน

บริษัท Cargill ทำงานร่วมกับครอบครัวนี้ในการพัฒนาผลผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ และช่วยพวกเขาด้วยเทคนิคการบริหารจัดการ

ความร่วมมือกับอเมริกาครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างดีทีเดียว ปัจจุบัน พวกเขาขยายกิจการจากฟาร์มแห่งเดียวเป็นห้าแห่งและมีรายได้เฉลี่ย 78,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนทุกเดือน

และเมื่อพวกเขาพร้อมที่จะเติบโตต่อไป พวกเขาก็รู้ว่าตนเองมีบริษัทอเมริกันแห่งนั้นเป็นหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้

ความมั่งคั่งอันน่าอัศจรรย์นี้แตกต่างจากความเสียหายและความไม่แน่นอนที่ปกคลุมเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนับไปแล้วก็ไม่นานมานี้เอง

ณ ช่วงเวลานั้น อินโด-แปซิฟิกเป็นสถานที่แห่งความเจริญรุ่งเรือง – ไม่ใช่สถานที่แห่งความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีอะไรคล้ายกับสิ่งที่เรารู้เห็นในปัจจุบัน เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนหาหนทาง

อินเดียได้รับอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ และจากนั้น ปากีสถานและบังกลาเทศหันหลังให้กัน สิงคโปร์และมาเลเซียแยกทางกัน ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่แตกแยกกัน อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์เดินสวนสนามบนคาบสมุทรเกาหลี ในเวียดนาม ตลอดจนในอินโดนีเซีย

แต่เวลาได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไป

กรุงโซลเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Samsung และ LG

สิงคโปร์เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของ Facebook, Microsoft, Pfizer และนักกฎหมายจำนวนมาก

กรุงฮานอยเต็มไปด้วยเสียงจักรยานยนต์และรถยนต์แล่นไปมา

เมืองบังคาลอร์เป็นแหล่งให้บริการด้านการแก้ปัญหาไอทีแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ตึกระฟ้าของกรุงไทเป – อาคารไทเป 101 เด่นตระหง่าน เป็นหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดของโลก

แม้แต่กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ก็กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

และแน่นอนคำถามที่ถูกต้องสำหรับอนาคตคือการถามว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

นี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า

ความเจริญรุ่งเรืองนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสองปัจจัยที่มิใช่สิ่งเหนือธรรมชาติเลย นั่นคือ การค้าและเสรีภาพ

เพราะผมเป็นทหารบก เลยไม่ชอบให้เครดิตอะไรกับกองทัพเรือมากนัก แต่ความจริงก็คือ – ความจริงก็คือ ทั้งในอดีตและปัจจุบันทหารเรืออเมริกันให้ความคุ้มครองเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญของอินโด-แปซิฟิก ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอาณานิคมในอดีตเรียกร้องให้ยอมจำนน อเมริกายื่นเสนอความมั่นคงให้

ในเชิงเศรษฐกิจ เป็นความจริงที่ว่ารัฐบาลสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับชาติบางแห่ง แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด การเจริญเติบโตที่นำโดยรัฐพาเราไปได้ถึงจุดๆ หนึ่งเท่านั้น

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความรุ่งเรืองของมนุษย์จะเฟื่องฟูได้อย่างแท้จริงต่อเมื่อรัฐบาลถอยห่างออกไปเท่านั้น ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเริ่มเติบโตขึ้นอย่างจริงจังเมื่อประเทศต่างๆ ประยุกต์ใช้หลักการที่ผมกล่าวไว้ในการประชุม Global Entrepreneurship Summit (GES) ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หลักการนี้ตรงไปตรงมาก นั่นคือ สิทธิ์ในทรัพย์สิน หลักนิติธรรม อัตราภาษีที่ลดลง ซึ่งเป็นการใช้กฎระเบียบของรัฐบาลควบคุมโดยรวมเพียงกว้างๆ เท่านั้น

นั่นคือเมื่อพยัคฆ์แห่งเอเชียคำรามและลูกพยัคฆ์ยืนบนลำแข้งของตนเองได้

นั่นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ในไต้หวัน และปัจจุบันเกิดขึ้นที่นี่ในประเทศไทย

บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Samsung, Honda, Taiwan Semiconductor, Mahindra & Mahindra และอีกมากมายผงาดขึ้นมา

และสหรัฐอเมริกาอยู่เคียงข้างท่านมาตลอดเส้นทาง ทั้งจะยืนหยัดเคียงข้างต่อไปเพื่อช่วยให้ท่านเติบโตและสานสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เราสร้างเอเปค เราสร้างอาเซียน รวมทั้งข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยสหรัฐฯ ดำเนินการร่วมกับท่าน เคียงข้างท่าน

สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ สหรัฐฯ ลงทุนในทุนมนุษย์ของท่าน เป็นเวลาหลายทศวรรษที่หลักสูตรการศึกษาและมหาวิทยาลัยของเราได้บ่มเพาะผู้นำในเอเชียหลายพันคน ตั้งแต่ผู้นำระดับท้องถิ่นไปจนถึงผู้นำของรัฐ

เอกอัครราชทูตที่สำคัญที่สุดบางส่วนของเรา – บริษัทเอกชน – เติบโตเคียงข้างท่านเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของเรา ผมได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ Cargill ให้ฟังแล้ว ขอให้ท่านพิจารณาการดำเนินการของ Chevron ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งที่นี่ หรือ Texas Instruments ที่เอื้อความรุ่งเรืองในฟิลิปปินส์

ปัจจุบัน บริษัทอเมริกันมากกว่า 4,200 บริษัทดำเนินงานภายในภูมิภาคอาเซียน ทำการว่าจ้าง ฝึกอบรมและลงทุนในผู้คนหลายล้านคนทั่วภูมิภาค บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ลงทุนกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคนี้ ไม่มีประเทศอื่นใดที่ลงทุนได้ใกล้เคียงเลย

มีคำกล่าวว่า อย่างน้อยในอเมริกามีคำกล่าวว่า เงินไม่ได้งอกตามต้นไม้ บางทีมันอาจจะงอกที่อื่น แต่ผมขอบอกท่านทั้งหลายว่า เงินจะหยั่งรากในภูมิภาคนี้เมื่อรัฐบาลทุ่มเทสรรค์สร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้เกิดสภาวะเช่นนั้น ผู้นำจากภาครัฐและภาคธุรกิจจะพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาความมั่งคั่งให้รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นในการประชุมที่จัดขึ้นวันนี้และการประชุม Indo-Pacific Business Forum ในเดือนพฤศจิกายนซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ

เราควรภาคภูมิใจในสิ่งนี้ นี่เป็นเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมและเป็นสิ่งที่คนไทยได้ประสบโดยตรง

อัตราความยากจนที่นี่ลดลงจากร้อยละ 67 เมื่อปี 2529 เป็นร้อยละ 7.8 ในปี 2560 ซึ่งน่าทึ่งมาก ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก ขอให้ท่านลองพิจารณาประเด็นนี้ดู

เราต้องการเห็นการเติบโตลักษณะนี้ในทุกประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ และเราทราบ – เราทราบเพราะเราได้เห็นแล้วว่า ความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคดำเนินควบคู่ไปกับนวัตกรรม ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม

ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์จึงทุ่มความพยายามในการส่งเสริมอำนาจอธิปไตย ความสามารถยืดหยุ่นในการฟื้นคืนสู่ปกติ และความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่เพียงเท่านั้น แต่สหรัฐฯ ยังต้องการกระชับและขยายความสัมพันธ์ของเราในภูมิภาคนี้ด้วย

กรุณาอย่าเชื่อใครก็ตามที่พยายามบอกท่านเป็นอย่างอื่น ราวสองปีที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดนโยบายให้สหรัฐฯ มุ่งสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และประวัติศาสตร์ก็ได้เผยให้ประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์ของหลักการสู่ความสำเร็จนี้ นี่คือสิ่งที่ผมเพิ่งอธิบายไป ท้ายที่สุดเราทราบว่า เสรีภาพคือแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของการฟื้นฟู สหรัฐฯ ต้องการเห็นภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง กอปรด้วยลักษณะเด่นแห่งหลักนิติธรรม การเปิดกว้าง ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การเคารพในอธิปไตยของแต่ละประเทศและทุกประเทศ พันธมิตรที่แท้จริง

นี่คือเหตุผลที่เราสนับสนุนกฎหมาย BUILD Act ในสภาคองเกรสของเรา ซึ่งเพิ่มความสามารถทางการเงินเพื่อการพัฒนาของอเมริกาขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายที่สุด เราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย และเราขอชมเชยเพื่อนชาวไทยของเราที่ได้กลับมาสู่ประชาธิปไตย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ เชื่อในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงในขณะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจตนารมณ์และเสียงของผู้ที่อยู่ใต้การปกครองจะมีผู้ได้ยินเสมอ

และสหรัฐฯ ต้องการการค้าเสรีและเป็นธรรม ไม่ใช่การค้าที่บ่อนทำลายการแข่งขัน

สหรัฐฯ ต้องการให้นำเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเงินทุนของภาคเอกชนทั่วโลกที่ยังไม่ได้ลงทุนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในภูมิภาคนี้ เราได้เห็นการกระทำเช่นนี้แล้ว นักลงทุนภาคเอกชนมีเงินมากกว่าที่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจะสามารถมอบให้แก่ประเทศอื่นเพื่อสร้างสะพาน ท่าเรือ หรือโครงข่ายไฟฟ้า

การลงทุนของสหรัฐฯ มิใช่เพื่อรัฐบาลใด และการลงทุนของเราที่นี่มิใช่ทำเพื่อพรรคการเมืองใด และผมขอกล่าวอย่างไปตรงมา… หรือเพื่อความทะยานอยากแห่งจักรวรรดินิยมของประเทศใด

ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่สหรัฐฯ กำลังสร้างเส้นทางที่ลาดสู่อำนาจอธิปไตยของชาติเรา สหรัฐฯ ไม่ลงเงินสร้างสะพานเพื่อปิดช่องว่างแห่งความภักดี

บริษัทของเราได้รับการส่งเสริมให้ทำงานที่มีคุณภาพสูงซึ่งยังประโยชน์แก่ผู้บริโภคและประชาชน ขอให้ท่านถามตัวเอง ถามตัวเองว่า ใครยึดถือประโยชน์ประชาชนเป็นอันดับแรกอย่างแท้จริง ขุมพลังการค้าที่เคารพอธิปไตยของท่าน หรือผู้ที่เย้ยอธิปไตย

ขอให้ท่านถามตัวเองว่า ใครสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปฏิรูปอย่างแท้จริง บริษัทในภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ

ขอให้ท่านถามตัวเองว่า ใครสนับสนุนการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงและไม่ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยผู้อื่น นักลงทุนที่ทำงานเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคของท่าน หรือผู้ที่ล่อให้ท่านติดกับหนี้สิน

สหรัฐอเมริกาในวันนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และผู้บริโภคของเรากำลังขับเคลื่อนความต้องการผลิตภัณฑ์ของท่าน ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจของจีนกำลังเข้าสู่ภาวะปกติแบบใหม่ ซึ่งเป็นความปกติแบบใหม่ของอัตราการเติบโตที่ช้าลง

ปัญหาของจีนเกิดจากสภาพภายในประเทศ แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปะทะกับแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนได้ช่วยให้พวกเขามองเห็นความจริง เราต้องการแก้ไขประเด็นการค้าของเราโดยเร็วที่สุด ทั้งหมดที่เราต้องการ ทั้งหมดที่ท่านประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องคือ ขอให้จีนแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับทุกคนไม่ใช่แค่กับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แนวทางนี้จะยังประโยชน์ไม่เพียงแต่กับสหรัฐฯ แต่ยังประโยชน์กับท่านทั้งหลายและระบบการค้าทั่วโลกด้วย

ห้วงเวลานี้เหมาะสมที่เราจะทำงานร่วมกันมากขึ้นโดยใช้แม่แบบที่ผ่านการทดสอบแห่งกาลเวลา โดยใช้หลักการที่ทำให้อเมริกาเป็นพลังที่ยังประโยชน์ในภูมิภาคนี้ – อย่างถาวร

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของสหประชาชาติประมาณการและคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียในปี 2563 จะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 อันที่จริง ชนชั้นกลางชาวเอเชียมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก เอเชียเดินทางมาถึงจุดที่เติบโตเข้มแข็งอย่างแท้จริง ตอนนี้ เราต้องปกป้องผลแห่งความก้าวหน้าเหล่านั้น

ขอให้เราธำรงไว้ซึ่งการค้าเสรีและเป็นธรรม

ขอให้เรายืนกรานเรียกร้องการลงทุนที่โปร่งใส มีมาตรฐานสูง ที่สร้างงานในท้องถิ่น

ขอให้เรายืนหยัดเพื่อสิทธิอธิปไตยของประเทศชาติและประชาชน

สุดท้ายนี้ ผมรอฟังคำถามและพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นข้องใจต่างๆ ของท่าน ในขณะที่ผมกล่าวสรุปนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่าเหมาะสมโดยแท้ที่ได้มานำเสนอความคิดเหล่านี้ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นพันธมิตรด้านสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียของสหรัฐฯ และท่านได้ธำรงซึ่งเอกราชของท่านไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ

ท่านได้ยึดมั่นในเส้นทางแห่งรัฏฐาธิปัตย์และความเป็นอิสระในการปกครองประเทศตนเอง

และอเมริกาและชาวอเมริกันภาคภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศท่านมานานกว่าสองศตวรรษ

ในปี 2378 ชายคนหนึ่งชื่อ แดน บีช แบรดลีย์ เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในฐานะหมอสอนศาสนา

หมอแบรดลีย์ (หมอบรัดเลย์) นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในไทยและรับใช้ราชสำนักสยาม เขาได้รับความไว้วางใจและมิตรภาพจากพระมหากษัตริย์ในอนาคตของสยามหลังได้รักษาความเจ็บป่วยร้ายแรงของเจ้าฟ้าชายพระองค์นั้น

นอกจากนี้ เขายังนำแท่นพิมพ์อักษรไทยเครื่องแรกเข้ามาในสยามและก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกภายใต้ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ (The Bangkok Recorder)

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เขาได้นำความรู้เข้าสู่สยามอันเป็นบ่อเกิดแห่งมิตรภาพ

มรดกของหมอแบรดลีย์ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะมรดกของท่านมิได้ยุติแค่ตรงนั้น

โซเฟีย ลูกสาวของเขาเปิดโรงเรียนเล็กๆ ในบ้านของเธอเพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันแก่เด็กผู้หญิง โรงเรียนแห่งนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ดาราวิทยาลัยเป็นโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความนับถือเป็นอย่างมากในประเทศไทย

เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ นี้บ่งชี้ว่า เป็นเวลาหลายศตวรรษที่สิ่งสืบทอดจากคนรุ่นก่อนของอเมริกาได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเรา มิใช่จากเพียงแค่ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาล

อเมริกาสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

และเราสร้างให้ยืนยง

ประธานาธิบดีทรัมป์และคณะรัฐบาลของเรามุ่งมั่นสานต่อพันธกรณีนี้

ขอให้พระผู้เป็นเจ้าประทานพรแด่ท่านทั้งหลาย และผมรอรับฟังคำถามครับ

ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในเช้านี้ (เสียงปรบมือ) 

คุณอามิน: สวัสดีค่ะท่านรัฐมนตรีปอมเปโอ ยินดีต้อนรับกลับสู่เอเชียสำหรับการเดินทางมาเอเชียครั้งที่สามของท่าน สิ่งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ดังท่านได้กล่าวมาแล้ว

ท่านกล่าวถึงการสร้างความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชีย ทั้งการกระชับความสัมพันธ์และสัมพันธภาพทางการค้า แต่เมื่อเช้านี้ เราตื่นขึ้นมาฟังข่าวประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมขึ้นอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 10 สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์เพิ่มเติมจากจำนวนเดิม ฟังดูไม่ดีกับโลกเรานะคะ ไม่ดีกับเอเชีย ไม่ดีกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยค่ะ

เกิดอะไรขึ้นระหว่างการเจรจาเหล่านั้นคะ บางคนพูดว่า มีการบรรลุผลบางประการเพราะมีแผนสำหรับการเจรจาในเดือนกันยายน การเจรจาเหล่านั้นเลวร้ายขนาดไหนคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: จะมีการเจรจาที่กรุงวอชิงตันในเดือนกันยายน แต่ขอกลับมาที่หลักการแรกก่อนนะครับ จีนได้แสวงประโยชน์จากการค้ามานานหลายทศวรรษ แสวงประโยชน์จากการค้ากับสหรัฐอเมริกา และแสวงประโยชน์จากการค้ากับประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัดนี้ ถึงเวลาที่การแสวงประโยชน์นั้นต้องยุติลง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า เราจะแก้ไขปัญหานี้ และการแก้ไขปัญหานั้นจำต้องมีความเด็ดเดี่ยว และผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่คุณเห็นเมื่อเช้านี้ ท่านประธานาธิบดีมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์นี้

สิ่งที่เราเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก อันที่จริงฝ่ายจีนก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่แล้วก็ทิ้งข้อตกลงนั้นไป

คุณอามิน: ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องคืออะไรคะ ปมปัญหาอยู่ที่บริษัท Huawei หรือเปล่าคะ สามารถประนีประนอมกันได้ไหมคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ไม่ใช่ครับ นี่ไม่ใช่เรื่องของ – เรื่องนี้ใหญ่โตกว่านั้นมาก คือเรื่องสมมุติฐานกลางว่าด้วยแนวทางดำเนินการค้าขายทั่วโลก สมควรไหมหากประเทศที่เคยอยู่ในสถานะกำลังพัฒนายังคงฉกฉวยเอาเปรียบในเมื่อไม่ได้อยู่ในสถานะนั้นอีกแล้ว สมควรไหมหากประเทศจะตั้งอัตราภาษีศุลกากรสูงลิ่วหากฝ่ายคู่ค้าในความตกลงไม่กระทำเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหมหากจะตั้งอัตราภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่อบริษัทอเมริกันที่ลงทุนในจีนโดยที่สหรัฐฯ เปิดกว้างต่อการลงทุนเช่นนี้

สิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องนั้นเรียบง่ายมาก คือสิ่งที่คุณ – คือหลักจริยธรรมนั่นเอง นี่คือสิ่งที่คุณสอนลูกของคุณนะครับ ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังเช่นที่คุณหวังให้เขาปฏิบัติต่อคุณ เราต้องการความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน เหล่านี้คือแนวคิดที่สำคัญ คือสิ่งที่ผมกล่าวถึง เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วเอเชียจะรุ่งเรือง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรุ่งเรือง ระบบการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะรุ่งเรือง แต่จะไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้หากประเทศใดประเทศหนึ่งใช้นโยบายคุ้มครองการค้าเพื่อปกป้องสินค้าของตน รวมถึงใช้กลยุทธ์ขจัดคู่แข่งขันตัดโอกาสเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอื่น

คุณอามิน: แล้วต้องแลกมาด้วยอะไรคะ เราเห็นดัชนี PMI ทั่วโลกชะลอตัวลง เราเห็นประเทศทั่วโลกปรับลดตัวเลขประมาณการการเติบโต ดิฉันหมายความว่า ใช่ค่ะ สหรัฐฯ อยู่ในจุดที่สามารถเป็นผู้นำในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้ แต่กับทรัมป์ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าจะรีดเค้นเก็บภาษีจากจีนให้ถึงที่สุด นี่ก็มีนัยเชิงลบนะคะ

 รัฐมนตรีปอมเปโอ: นัยเชิงลบจากพฤติกรรมแย่ๆ ในส่วนของจีนที่ทำมาหลายสิบปีนั่นมีอยู่แล้วครับ

คุณอามิน: ถ้าลองพิจารณาแนวทางที่สหรัฐฯ –

รัฐมนตรีปอมเปโอ: นัยที่ส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจทุกรายในห้องนี้ และสหรัฐฯ จะแก้ไขสิ่งนี้ครับ 

คุณอามิน: ตอนนี้มีการตรวจสอบบริษัทสัญชาติจีนอย่างกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะที่ดำเนินการผ่านคณะกรรมาธิการกำกับและดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States) ที่ท่านเองก็มีบทบาทสำคัญในนั้น เมื่อลองพิจารณาข้อมูลของ Bloomberg จะเห็นว่ามีบริษัทสัญชาติจีนประมาณ 173 บริษัท มูลค่าราว 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังดำเนินกิจการอยู่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา 750,000 ล้านนี้แค่บริษัทสัญชาติจีนในสหรัฐฯ เท่านั้น ท่านอาจกำลังส่งสารแง่ลบต่อบริษัทเหล่านี้ที่สนใจนำเงินเข้าประเทศของท่านหรือไม่อย่างไรคะ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ไม่ครับ เรายินดีต้อนรับเงินลงทุนที่เข้ามาในอเมริกาเสมอ สิ่งที่เราต้องการตรวจสอบให้แน่ชัดคือฐานวิถีที่เงินลงทุนเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสหรัฐฯ เราต้องการดำเนินการให้มั่นใจว่าเงินลงทุนจากอเมริกาที่ปรารถนาเข้ามายังภูมิภาคนี้ เข้าไปยังจีน จะทำเช่นนั้นได้โดยเท่าเทียมและเป็นธรรม เราอยากแน่ใจว่าเงินทุนเหล่านี้จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกา สิ่งเหล่านี้คือเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมาตรฐานขั้นพื้นฐาน คือสิ่งที่ทุกประเทศพึงกระทำเพื่อปกป้องอธิปไตยของตน

ดังนั้น ไม่ครับ สารที่เราส่งถึงพวกเขาคือ “มาเถอะ มาอเมริกา เข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาโดยยึดถือหลักกฎหมาย เข้ามาด้วยวิธีการที่โปร่งใส อย่าให้เงินอุดหนุนแก่ประเทศเหล่านั้น อย่าสร้างผู้ชนะด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง จงเปลี่ยนวัตถุประสงค์เหล่านั้นให้เป็นด้านเศรษฐกิจ หากทำเช่นนี้ บริษัทสัญชาติจีนมากมายจะเข้ามาในอเมริกา เข้ามาแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับ” 

คุณอามิน: ถึงกระนั้น (ฟังไม่ได้ยิน) บ้างกล่าวว่า ปมปัญหาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแท้จริงแล้วคือความเข้าใจผิดระดับพื้นฐานในมุมมองของสหรัฐฯ ต่อจีน ที่ว่าจีนในปัจจุบันแตกต่างจากจีนเมื่อ 20 ปีก่อน และจีนในปัจจุบันต้องการเวลาเพื่อปฏิรูปและปฏิรูปตามจังหวะเวลาของตนเอง มุมมองนี้มีตรงไหนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปไหมคะ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ผมไม่มั่นใจว่าจะตอบอย่างไรดี – เมื่อคืนก่อน – วันก่อนผมได้มีโอกาสพบกับ ดร. คิสซินเจอร์ ท่านมาเยี่ยมกระทรวงการต่างประเทศเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 230 ปีของการก่อตั้งกระทรวง เราพูดคุยถึงประเด็นนี้ด้วย นั่นคือความคิดที่ว่าหากจีนเปิดประตูเศรษฐกิจ จีนก็จะเริ่มก้าวเข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราพยายามขับเคลื่อน เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ 

คุณอามิน: จากบทสนทนานั้น หากมีสิ่งหนึ่งที่จีนจำเป็นต้องกระทำทันทีเพื่อปัดป้องภาษีศุลกากรเพิ่มเติม สิ่งนั้นคืออะไรคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ครับ – 

คุณอามิน: แค่ก้าวแรกก้าวเดียวที่ต้องดำเนินการน่ะค่ะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ขอโทษครับ ผมไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงในการเจรจาการค้า แต่มีข้อตกลงฉบับหนึ่งที่เคยเจรจากันก่อนหน้านี้ซึ่งเอื้อให้สหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่ดีมากๆ ดังนั้น ขั้นแรกจีนอาจต้องถอยกลับมาก่อน อย่างน้อยก็กลับมาอยู่ในจุดเดียวกับตอนเจรจาข้อตกลงฉบับนั้น

คุณอามิน: ก่อนหน้านี้ท่านกล่าวถึงฮ่องกงและพูดถึงการที่รัฐบาลควรรับฟัง ลือกันว่าอาจมีการเตรียมรวบรวมกำลังพลในพื้นที่พรมแดนรอจังหวะเคลื่อนไหวหากสถานการณ์แย่ลง ท่านคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไหมคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ผมคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกไว้ชัดเจนแล้ว สหรัฐฯ ขอเพียงให้จีนกระทำสิ่งที่ถูกต้อง การรับรองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิแสดงออกความรู้ผิดรู้ชอบ ความคิดเห็นของตนนั้นเป็นสิ่งที่อเมริกาถือปฏิบัติมายาวนาน เราหวังให้ทั่วโลกเป็นเช่นเดียวกันนี้ รวมทั้งในจีนด้วย

ผมหวังว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะดำเนินไปในทิศทางที่ไม่เกิดความรุนแรง ความรุนแรงไม่ก่อประโยชน์ต่อฝ่ายใดในภูมิภาคนี้ และเราหวังว่าไม่ว่าแห่งหนใดก็ตามที่พลเมืองต้องการแสดงออกความคิดเห็น ทั้งที่สนับสนุนหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ 

คุณอามิน: แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็กล่าวไว้ชัดเจนว่านี่เป็นเรื่องของจีน เป็นเรื่องของฮ่องกง หากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army) เคลื่อนกำลังข้ามชายแดนเข้าฮ่องกง ลงมายังท้องถนนของฮ่องกง สหรัฐฯ จะใช้กำลังทหารอะไรไหมคะ จะพิจารณาเคลื่อนกำลังเข้ามาปกป้องฮ่องกงไหมคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: อย่างหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำได้ดีเยี่ยมคือไม่สะเพร่าหลุดเผยว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร และผมก็ตามนั้นครับสำหรับเช้านี้

คุณอามิน: (เสียงหัวเราะ) โอเคค่ะ เข้าใจแล้ว (เสียงหัวเราะ)

มาพูดถึงเกาหลีเหนือกันบ้างค่ะ ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ให้เกียรติและให้เวลาพบปะกับเกาหลีเหนือมากทีเดียว มีการจัดการประชุมสุดยอดถึงสองครั้งแล้ว ท่านเดินทางไปยังเกาหลีเหนือ ท่านเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางไปยังเกาหลีเหนือขณะดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังเสนอว่าอาจเชิญประธานคิมเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เหมือนว่าสหรัฐฯ หยิบยื่นให้มากมายเพื่อผลตอบแทนน้อยนิด นี่เป็นเพราะเรากลับมาที่ศูนย์อีกครั้งหลังจากที่เกาหลีเหนือต้อนรับท่านเยือนเอเชียด้วยการยิงขีปนาวุธ ท่านคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้คะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ผมคิดว่าคุณกล่าวไม่ถูกต้องนัก การพบหารือกับประธานคิมไม่ได้หยิบยื่นอะไรให้ท่านทั้งนั้น หากแต่เป็นความพยายามทางการทูตต่อเกาหลีเหนือเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลมาตลอดหลายทศวรรษ เราลองมาหลายแนวทางแต่ก็ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ ผมจึงเป็น – สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง ผมเป็นคนแรกที่เดินทางไปพบประธานคิมเพื่อเปิดโอกาสนี้ เราทั้งสองฝ่ายยังมีการดำเนินการร่วมกันอยู่ สหรัฐฯ หวังว่าเกาหลีเหนือจะจัดคณะทำงานขึ้นอีกครั้งและมาพบหารือกับเราในเร็ววัน

แต่ต้องระลึกไว้ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังคงมาตรการคว่ำบาตรขั้นเข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยบังคับใช้ต่อเกาหลีเหนือไว้เต็มพิกัด เราร่วมงานกับนานาประเทศทั่วโลก หลายประเทศในภูมิภาคนี้ปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้เป็นอย่างดี โดยเป็นความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีสมรรถภาพพอผลักดันสิ่งที่ประธานคิมให้คำมั่นไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วที่สิงคโปร์ นั่นคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือโดยสมบูรณ์ แลกกับอนาคตอันสดใสกว่าสำหรับประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์บอกไว้

คุณอามิน: การยิงขีปนาวุธนี้ขัดต่อมติสหประชาชาติ สหรัฐฯ จะอดทนได้ถึงไหนคะ ถึงจุดไหนที่ท่านจะตัดสินใจกระชับมาตรการคว่ำบาตร ดำเนินการกับเรื่องนี้ และส่งสารไปยังเกาหลีเหนือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: คุณไม่ควรต้องสงสัยในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารกับฝ่ายเกาหลีเหนือเลย การเจรจาหารือดำเนินอยู่ตลอดแม้กระทั่งตอนที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ ทว่าหนทางการทูตมักเต็มไปด้วยอุปสรรคกระทบกระทั่ง การหารือซ้ำไปซ้ำมา ก้าวหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นเต็มที่ในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้ นั่นคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันโดยสมบูรณ์ อันกระทำผ่านการดำเนินการทางการทูต

คุณอามิน: ท่านมั่นใจแค่ไหนคะว่าจะไปถึงจุดนั้นได้

รัฐมนตรีปอมเปโอ: เราพยายามอยู่ครับ

คุณอามิน: (เสียงหัวเราะ) มีกรอบเวลาที่พิจารณาไว้ไหมคะ ดิฉันหมายความว่า การเจรจาไม่อาจยืดยาวตลอดไปได้ ถึงขั้นไหนที่ท่านจะเริ่มปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ผมว่าท่าทีของเราแข็งกร้าวที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้วครับ 

คุณอามิน: ท่านเคย –

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ที่คุณบอกว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น หากคุณย้อนกลับไปดูรายข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แล้วไม่ดูแค่ตัวข้อมติ แต่พิจารณาประสิทธิภาพของนานาประเทศในการบังคับใช้ข้อมติเหล่านี้ด้วย ผมว่าคงจินตนาการได้ยากว่ามีการใช้มาตรการคว่ำบาตรชุดใดที่เข้มงวดกว่านี้อีก

ให้เวลาเราได้มีโอกาสนี้ นี่คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับโลก การดำเนินความพยายามทางการทูตนี้ต่อไปคือแนวทางที่ถูกต้อง ณ วันนี้ สิ่งนี้คือแนวทางที่ถูกต้อง โดยประธานาธิบดีทรัมป์และผมรวมถึงฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติจะประเมินแนวทางนี้ต่อไปพร้อมกับคู่ความร่วมมือของเราในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จีน รัสเซีย ทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นเกาหลีเหนือปลดอาวุธจะยังคงสืบสานดำเนินงานกับชุดปัญหานี้ต่อไป 

คุณอามิน: เราจะได้เห็นการประชุมสุดยอดครั้งที่สามในเร็ววันนี้ไหมคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: รอติดตามนะครับ 

คุณอามิน: (เสียงหัวเราะ) ท่านรู้สึกผิดหวังไหมคะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือไม่ได้เดินทางมาที่นี่ เลยพลาดโอกาสเจรจาไป 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ผมหวังว่าจะมีโอกาสพูดคุยกับท่าน ผมหวังว่าทางฝ่ายนั้นจะมาที่นี่ ผมคิดว่านั่นคงเปิดโอกาสให้เราได้สนทนากันอีก หวังว่าอีกไม่นานผมจะได้มีโอกาสนั้นครับ

คุณอามิน: แต่ท่านจะคาดหวังได้อย่างไรว่ามีโอกาสเจรจาหารือหากรัฐมนตรีฝ่ายนั้นไม่ยอมมาพูดคุยด้วยคะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ขณะนี้มีการเจรจาหารือกันมากมายครับ

คุณอามิน: ท่านกังวลแค่ไหนคะกับการที่นายคิม จอง อึน ดำเนินโครงการขีปนาวุธ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ครับ ตลอดมานั้น – เรากังวลกันตลอดใช่ไหมครับ ประธานาธิบดีทรัมป์กำหนดให้การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นหัวใจของงานที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของเรากับอิหร่าน การดำเนินงานของเราในเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าใจครับว่า เรากำลังประสานงานเกี่ยวกับการหารือยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงกับรัสเซีย

ทั้งหมดนี้มีแนวคิดหลักร่วมกัน นั่นคือความเสี่ยงจากอาวุธนิวเคลียร์และการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีอยู่จริงและเป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้น ครับ ผมหวังอย่างยิ่งให้การหารือกับเกาหลีเหนือเดินหน้าต่อไป เราอยากผ่านพ้นขั้นตอนการหารือไปยังการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริงแล้ว นั่นคืองานของเรา นั่นคือภารกิจที่ท่านประธานาธิบดีมอบหมายไว้แก่ผม และเรากำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุถึงจุดนั้นโดยไวที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ 

คุณอามิน: ท่านคิดว่าจีนเข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้อย่างไรบ้างคะ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: บทบาทสำคัญเลยครับ และพวกเขาก็ได้ทำแล้ว ผมขอชื่นชมความพยายามของจีนในการบังคับใช้มาตรการตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พวกเขาเป็นปราการป้องกันที่แท้จริง พวกเขาให้ความช่วยเหลืออย่างดี ผมพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อวานนี้ เราพูดคุยกันเรื่องนี้อีกครั้ง ฝ่ายจีนเน้นย้ำเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ทางออกของปัญหานี้ด้วยการทูต ตลอดจนยืนยันว่าจะยังคงยึดมั่นปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 

คุณอามิน: ท่านรัฐมนตรีปอมเปโอคะ ดิฉันได้รับแจ้งให้เข้าบทสรุปการสนทนาแล้ว แต่ขอคำถามสุดท้ายอีกข้อนะคะ ในเมื่อท่านกล่าวถึงอิหร่านแล้ว สหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ทว่ายังมีความกังวลอยู่ว่าพันธมิตรในเอเชียของท่านอาจยังนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอยู่ ท่านคิดเห็นอย่างไรคะ ตั้งใจว่าจะดำเนินการอะไรไหม 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: คำนวณง่ายๆ นะครับ ก่อนบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร อิหร่านส่งออกน้ำมันไปทั่วโลกกว่า 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตัวเลขของเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมนั้นในเดือนหนึ่งเหลือต่ำกว่า 500,000 บาร์เรล ซึ่งน่าจะค่อนไปทางศูนย์มากกว่าทาง 500,000 ด้วย มาตรการคว่ำบาตรมีประสิทธิภาพมากครับ และเราบังคับใช้ทุกที่ เราจะบังคับใช้มาตรการเหล่านี้กับบริษัทใดหรือประเทศใดที่ยังละเมิดการคว่ำบาตรนี้ เราได้ดำเนินการคว่ำบาตรบริษัทหนึ่งในจีนแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปฏิเสธไม่ให้อญาโตลลอฮ์และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมีทรัพย์สินและทรัพยากรสำหรับสร้างโครงการนิวเคลียร์ที่สามารถคุกคามทุกคนบนโลกได้

คุณอามิน: ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะคะ ท่านรัฐมนตรีปอมเปโอ ขอบคุณที่สละเวลาในวันนี้ค่ะ

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ขอบคุณมากครับ

คุณอามิน: ขอบคุณที่แบ่งปันทัศนะของท่านค่ะ 

รัฐมนตรีปอมเปโอ: ขอบคุณครับ 

คุณอามิน: ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษคะ ขอบคุณที่ติดตามค่ะ (เสียงปรบมือ)