กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย — ในระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม พ.ศ. 2559 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission Meeting – JCM) เป็นครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งลงนามเมื่อ พ.ศ. 2556
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม หรือ JCM ครั้งนี้มี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และ Judith Garber รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบสำนักงานกิจการมหาสมุทร สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ และวิทยาศาสตร์ (Bureau of Oceans and International Environmental and Scientific Affairs) เป็นประธาน และมีนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ และไทยร่วมประชุมเพื่อหารือการดำเนินความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำคัญร่วมกัน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ พลังงาน สาธารณสุข การศึกษาแบบ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) และน้ำ คณะผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความร่วมมือทางระหว่างสหรัฐฯ กับไทย การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม หรือ JCM นี้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ กับไทยในการขยายความรู้และส่งเสริมนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหล่านี้สร้างสัมพันธภาพและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์และการศึกษาของประเทศเราทั้งสอง”
คณะผู้แทนของสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม หรือ JCM ครั้งนี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายจำนวนกว่า 20 คนจากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา กระทรวงเกษตร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ Oak Ridge National Laboratories องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา กรมแพทย์ทหารบกของสหรัฐฯ และสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีศาสตราจารย์ Geraldine Richmond ทูตวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาประจำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมประชุมด้วย