แม่น้ำโขง อธิปไตยลุ่มน้ำโขง และอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คำกล่าวโดย เดวิด อาร์. สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
เนื่องในโอกาสการประชุม Indo-Pacific Conference ผ่านระบบออนไลน์
ว่าด้วยการเสริมสร้างการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดน
15 ตุลาคม 2563
(ดังที่ปรากฏเป็นคำร่าง)
ขอบคุณครับคุณสทู ลิเม และศูนย์ East-West Center ตลอดจนผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่านจากทั่วโลก
ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้เข้าร่วมมากหน้าหลายตา ซึ่งเดิมวางแผนมาประชุมกับเราในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่โรคระบาดใหญ่จะทำให้เราต้องเลื่อนการจัดงานออกไป ขอต้อนรับทุกท่าน รวมถึงผู้เข้าร่วมใหม่หลายท่านในวันนี้ด้วย
เรามาร่วมประชุมกันด้วยตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำต่อเศรษฐกิจ การหาเลี้ยงชีพ วัฒนธรรม ไปจนถึงอารยธรรมของเรา
ด้วยแม่น้ำคือบริเวณที่บรรพบุรุษของเราในยุคแรกเริ่มมารวมตัวกันเป็นสังคม
น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต ผู้เฒ่าผู้แก่จึงได้ตระหนักและเคารพความสำคัญของแม่น้ำ
แม่น้ำมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคม เกษตรกรรม ประวัติศาสตร์ และอารยธรรมของมนุษย์ในยุคแรกเริ่ม
โลกเราจะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไรหากปราศจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งขนาบข้างด้วยแม่น้ำยูเฟรติสและไทกริสที่ยิ่งใหญ่ ดินแดนอียิปต์โบราณจะก่อกำเนิดขึ้นหรือไม่หากไม่มีความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำไนล์หล่อเลี้ยง อารยธรรมฮารัปปาได้สูญสิ้นลงเพราะแม่น้ำสุรัสวดีเหือดแห้งและหายไปใช่หรือไม่ กรุงลอนดอนจะเป็นเมืองหลวงระดับโลกได้หรือหากไม่มีแม่น้ำเทมส์ หรือนครนิวยอร์กจะเป็นอ่าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราได้หรือหากไม่มีแม่น้ำฮัดสัน
การประชุมนี้เดิมทีควรจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเหนือเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นไปอีก 100 ไมล์ บนแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีอยุธยาอันเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตเคยประทับอยู่ และในปัจจุบัน ริมฝั่งแม่น้ำสายเดียวกันนี้ก็เป็นที่ตั้งของมหานครที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
แม่น้ำทำให้บรรพบุรุษของเราแต่โบราณได้มารวมตัวกัน ทำการเกษตร และหาเลี้ยงคนกลุ่มใหญ่ สังคมยุคแรกเหล่านี้ผลิดอกออกผลเป็นภาษาและอารยธรรม ซึ่งต่อมาเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ชนชาติ และจักรวรรดิต่าง ๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
วัฏจักรของอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลืองเป็นที่มาของแนวคิดเกี่ยวกับความสมดุลในอุดมคติระหว่างหยินและหยาง แม่น้ำมิสซิสซิปปีเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนมากความสามารถอย่างมาร์ก ทเวน ในขณะที่แม่น้ำเทมส์เชื้อเชิญให้ชาวอังกฤษเดินทางออกสู่ทะเลเพื่อแสวงโชค
เหตุใดความเข้าใจนี้เกี่ยวกับแม่น้ำจึงสำคัญ เหตุใดเราจึงควรต้องตระหนักถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของแม่น้ำสายต่าง ๆ ในการหล่อเลี้ยงมนุษยชาติให้ก้าวไกล
เพราะว่าผู้ที่กีดกั้น ขัดขวาง หรือเบี่ยงเบนทรัพยากรแม่น้ำเพื่อประโยชน์ของตนนั้น นำมาซึ่งอันตรายและความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่ของหลายล้านชีวิต แม่น้ำไม่ได้เป็นเพียงภูมิประเทศ แต่ยังเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ คนนับพันล้านที่อาศัยแม่น้ำคงคา สินธุ ยมุนา และพรหมบุตรในการหล่อเลี้ยงชีพต่างก็เข้าใจความจริงข้อนี้
และเช่นเดียวกัน ประชากรในลุ่มน้ำโขงก็ยิ่งเข้าใจความจริงข้อนี้ดี เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายจากการควบคุมน้ำที่ตอนบนของแม่น้ำสายนี้ ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับหลายสิบล้านชีวิตที่ถักทอรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำ
อเมริกามีความกังวลต่อสถานการณ์เหล่านี้อย่างยิ่ง ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาพูดคุยกับทุกท่านในวันนี้
ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ
โชคดีที่เรามาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ได้แม้ว่าจะไม่สามารถพบปะกันได้จริง เพราะว่าแม่น้ำโขงนั้นสำคัญต่อพวกเราทุกคน
ความร่วมมือของสหรัฐฯ กับกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนามนั้น เติบโตขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ที่เราเริ่มมีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) เมื่อ พ.ศ. 2552 ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลอเมริกันได้มอบความช่วยเหลือให้แก่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นมูลค่าเกือบ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับเงินทุนจากรัฐบาลและการลงทุนจากภาคเอกชนของเราอีกหลายพันล้านเหรียญ
ปีนี้ ความร่วมมือระหว่างเรายกระดับสูงขึ้นอีกภายหลังการเปิดตัวความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว การดำเนินการร่วมกันของเราพัฒนากว้างขวาง เจาะลึก เป็นประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและความมุ่งมั่นของเราต่อประเทศภาคีในภูมิภาค
ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ กำหนดให้ประเด็นการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดนมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเวลานี้ ความท้าทายด้านทรัพยากรทางน้ำที่ใช้งานร่วมกันซึ่งภูมิภาคต้องเผชิญรังแต่จะรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ที่รัฐมนตรีปอมเปโอประกาศความตั้งใจที่จะจัดการประชุมนี้เมื่อ พ.ศ. 2561 ในขณะนั้น ท่านรัฐมนตรีเองมีความกังวลต่อแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเช่นเดียวกับเรา แต่ในขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างแท้จริง
ภัยแล้งทำลายชีวิต
ชุมชนและระบบนิเวศมากมายที่พึ่งพาวงจรมวลน้ำตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงมาตลอดหลายชั่วอายุคนกำลังทนทุกข์จากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบสั่นคลอนกว่า 60 ล้านชีวิต ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และอธิปไตยของชาติทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ผมทราบดีกว่าท่านทั้งหลายมาจากภาคประชาสังคมและแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ จึงเห็นผลกระทบเหล่านี้ด้วยตาตนเอง ถึงกระนั้นผมอยากจะขอเน้นย้ำบางประเด็นดังนี้
- ไร่ข้าวเกือบ 100,000 เฮกตาร์ทั่วทั้งภูมิภาคถูกทำลายเพราะการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทำให้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวครั้งอื่น ๆ ในลาว กัมพูชา และเวียดนามลดลงถึงร้อยละ 50 และยังทำให้ผลผลิตจากการประมงในกัมพูชาลดลงมากถึงร้อยละ 90
- ภาวะแล้งนี้กำลังทำให้แม่น้ำขาดตะกอนและทำให้ฤดูน้ำหลากสั้นลง อันเป็นอันตรายอย่างมาก โดยส่งผลให้ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินไม่มีตะกอนมาสะสม และทำให้พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำทรุดตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
- ตัวอย่างเช่น ในจังหวัดอานซางของเวียดนาม แต่ละวันชาวประมงจับปลาได้น้อยลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง เรายังเห็นบทความที่กล่าวว่าชาวประมงในเวียดนามส่วนอื่น ๆ จับปลาได้เพียง 10 กิโลกรัมต่อวัน จากเดิม 200 กิโลกรัมต่อวัน
- ภาวะการขาดแคลนน้ำเหล่านี้ยิ่งทำให้การรุกล้ำของน้ำเค็มภายในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำรุนแรงขึ้น โดยรุกคืบเข้ามาถึง 90 กิโลเมตรที่บนฝั่ง ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่ที่เคยวัดมา สถานการณ์นี้ยังเป็นภัยต่อผลผลิตทางการเกษตรและข้าว ซึ่งหมายถึงการหาเลี้ยงชีพของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายสิบล้านคน
เขื่อนจีนที่ต้นน้ำ
มีหลักฐานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ที่ปลายน้ำโขงทวีความรุนแรงเพราะการก่อสร้างและดำเนินการของเขื่อนบริเวณต้นน้ำในประเทศจีน การที่จีนควบคุมแม่น้ำของท่านทั้งหลายอยู่ฝ่ายเดียวนั้นขัดขวางวงจรมวลน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเข้ามาเติมเต็มแหล่งน้ำมากมาย เช่น โตนเลสาบของกัมพูชา ตลอดจนหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมประมงและการเกษตร และฟื้นฟูสภาพชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินในแหล่งน้ำจืดทั่วลุ่มน้ำโขง
รัฐบาลจีนโต้แย้งว่า การดำเนินการของเขื่อนจีนยังประโยชน์แก่ประเทศปลายน้ำ โดยทำให้น้ำหลากขึ้นในหน้าแล้ง แต่กลับยอมรับเองว่า จีนปล่อยน้ำในช่วงหน้าแล้งก็เพื่อทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจีนได้รับประโยชน์สูงสุด
ความโปร่งใสและข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ
เช่นเดียวกับความท้าทายอื่น ๆ อีกมาก ความไม่โปร่งใสเป็นส่วนสำคัญของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางการจีน ซึ่งไม่แบ่งปันข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับการดำเนินการของเขื่อนหรือสภาพการณ์ที่ต้นน้ำ การกระทำดังกล่าวจำกัดประสิทธิภาพของรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงในการเตรียมรับมือหรือบรรเทาความเสียหายจากการทำงานของเขื่อน ผู้บริหารจัดการเขื่อนของจีนยังปล่อยน้ำโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ส่งผลให้พืชผลที่ปลายน้ำเสียหายเมื่อระดับน้ำสูงขึ้นโดยฉับพลัน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนยอมรับว่าได้ควบคุมการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติจริง และให้สัญญาว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำมากขึ้น แต่เราก็ทราบกันดีว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักจะผิดคำพูดเสมอ ประเด็นทะเลจีนใต้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
เราขอชื่นชมประเทศลุ่มน้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ที่มุ่งมั่นโน้มน้าวให้ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำมากขึ้น และขอสนับสนุนท่านในการเรียกร้องให้จีนรับผิดชอบเปิดเผยข้อมูลการไหลของน้ำ รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานของเขื่อนตามเวลาจริงตลอดทั้งปี และเรายังขอให้จีนร่วมงานกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือและมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่
ข้อกังวลและปฏิกิริยาของภูมิภาค
สหรัฐฯ ส่งเสริมองค์การระหว่างภูมิภาค เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และความพยายามของภาคี เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศในสหภาพยุโรป ในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นอกจากนี้ เรายังขอยกย่องอาเซียน ซึ่งนำโดยเวียดนามในฐานะประธานปีนี้ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสำคัญต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน เช่นเดียวกับทะเลจีนใต้ เราส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาประเด็นในลุ่มน้ำโขงว่ามีความสำคัญต่อความร่วมมือและการเชื่อมประสานกันระหว่างภูมิภาคไม่แพ้ทะเล
การไหลของแม่น้ำไม่ได้เป็นปัญหาเดียวที่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องเผชิญ
ชุมชนต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคนี้เป็นกังวลเกี่ยวกับหนี้จากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน แนวปฏิบัติทางธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบและไม่โปร่งใสของหน่วยงานภายใต้รัฐบาลจีน ตลอดจนการลักลอบค้ามนุษย์ ยาเสพติด และสัตว์ป่าที่เพิ่มสูงขึ้น ประชากรในภูมิภาคก็กังวลกับท่าทีนิ่งเฉยของทางการจีนต่อการปราบปรามการทุจริต องค์กรอาชญากรรม และบริษัทที่ตักตวงประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่เกี่ยวโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมถึงการลาดตระเวนแม่น้ำนอกอาณาเขตของจีน โดยอ้างว่าเป็นปฏิบัติการด้านการบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าอาชญากรรมจะยังคงขยายวงกว้าง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ผมได้อ่านข้อมูลที่ว่า เจ้าเหว่ย อาชญากรรายใหญ่ที่ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำจากการกระทำผิด ได้วางแผนสร้างและควบคุมท่าเรือแห่งใหม่ใกล้คิงส์ โรมัน กาสิโน ในลาว ซึ่งยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด สัตว์ป่า และมนุษย์มากขึ้นในสามเหลี่ยมทองคำ
เราสนับสนุนนานาประเทศในลุ่มน้ำโขงในการเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนรับผิดชอบจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ และขอให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาที่โปร่งใสและยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศในภูมิภาคนี้ มิใช่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ
ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
มิตรสหายทุกท่านครับ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงควรค่าที่จะมีมิตรประเทศที่ดี ซึ่งยึดมั่นในความเป็นเอกราช อิสรภาพทางเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล และการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศภาคีลุ่มน้ำโขง
สหรัฐฯ ได้สนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมาหลายทศวรรษ และจะยังคงดำเนินการเช่นนี้ต่อไป โดยผ่านความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งมีหลักการของความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ธรรมาภิบาล และการเคารพในเอกราชและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องชี้นำ เรามุ่งมั่นทำงานกับท่านเพื่อประโยชน์ที่มีร่วมกัน
เราจะยังคงทำงานภายใต้โครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง (Mekong Water Data Initiative) เพื่อเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ
เราจะยังคงแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่ดี เช่น การแลกเปลี่ยนระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River Commission) รวมทั้งหน่วยทหารช่างกองทัพบกสหรัฐฯ และหน่วยงานด้านดังกล่าวในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการก่อสร้างและบริหารจัดการเขื่อน
เราจะยังคงดำรงไว้ซึ่งความร่วมมือเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
เราจะยังคงสร้างเสริมทักษะและความสามารถให้แก่คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative ที่มหาวิทยาลัย Fulbright University Vietnam ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อเดือนที่แล้ว ตลอดจนเวทีที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งโครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และช่องทางอื่น ๆ อีกมากมาย
สุดท้ายนี้ เราจะร่วมมือกับรัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินงานอย่างโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเช่นเดียวกับเราตลอดไป แน่นอนว่า ความท้าทายของการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดนไม่ได้มีเพียงแต่ในลุ่มน้ำโขงเท่านั้น ประสบการณ์ร่วมกันจากทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงการบรรเทาผลกระทบจากการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เอารัดเอาเปรียบ ทำให้เรายิ่งจะต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้และคิดหาวิธีแก้ไขร่วมกัน
และในระหว่างนี้ เราก็จะต้องตระหนักถึงความวิริยะอุตสาหะของสื่อท้องถิ่นที่รายงานข่าวเกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำและผลกระทบจากแนวปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืน เราขอชื่นชมความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ซึ่งเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใส ความยั่งยืน และภาระรับผิดชอบ
ความพยายามของเรามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ทุกท่านทราบดีกว่า การบริหารจัดการแม่น้ำและความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงไม่ได้เป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ แต่มีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรหลายสิบล้านคน
ดังนั้นผมจึงขอให้ทุกท่าน ณ ที่นี้เป็นกระบอกเสียงแสดงความกังวล ตั้งคำถามที่ท้าทาย และเสนอแนวคิดในการร่วมมือ เพื่อพิทักษ์อนาคตของแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ เราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนมากมายมา ณ ที่นี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการหาหนทางสู่ความร่วมมือที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล
ผมขอทิ้งท้ายว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นส่งเสริมประเทศลุ่มน้ำโขงในการผดุงรักษาให้แม่น้ำสายนี้อุดมสมบูรณ์และเปี่ยมด้วยพลังชีวิต เพื่อหล่อเลี้ยงลูกหลานอีกหลายชั่วอายุคนในอนาคตสืบไป
ขอบคุณครับ