ปาฐกถาโดยเอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

นมัสการ

กราบขอบพระคุณ พระคุณท่าน ศาสตราจารย์ ดร. พระราชปริยัติกวี  สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และการพาชมสถานศึกษาอันสวยงามแห่งนี้ ตลอดจนการเชิญกระผมมาบรรยายในวันนี้

กราบขอบพระคุณ ท่านรองอธิการบดี พระอาจารย์ ไสว โชติโก และคณะ สำหรับการเตรียมการต่างๆ เพื่อต้อนรับการมาเยือนของกระผม

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประจำราชอาณาจักรไทย และได้มากล่าวบรรยายในฐานะผู้แทนของท่านประธานาธิบดีฯ ในหัวข้อเรื่องที่อยู่ในหัวใจของท่านและชาวอเมริกันหลายคน นั่นคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ในฐานะอเมริกันชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ต่างแดนและสร้างครอบครัวในต่างประเทศ กระผมจึงมีโอกาสมองเห็นประเทศของตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและซาบซึ้งในคุณค่าแห่งเสรีภาพที่เชิดชูอยู่ในรัฐธรรมนูญของเรา หนึ่งในเสรีภาพที่สำคัญที่สุดคือเสรีภาพในการนับถือศาสนา “สภาคองเกรสห้ามออกกฎหมายยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษและห้ามจำกัดสิทธิในการนับถือศาสนาของประชาชน” ข้อความนี้ไม่ใช่คำพูดของกระผมเอง หากแต่เป็นคำกล่าวของกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาของเรา ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2332 ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 กลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ได้บัญญัติเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญของเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการเบื้องต้นที่สำคัญ เฉกเช่นเดียวกับเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อจัดการเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งเป็นรากฐานของสาธารณรัฐของเรา สหรัฐฯ ได้ยืนหยัดเพื่ออิสรภาพในการนับถือศาสนามานับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศหรือแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น

ชาวอเมริกันกลุ่มแรกเดินทางมายังโลกใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 17 เพื่อแสวงหาเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามที่ตนศรัทธา โดยอพยพหนีมาจากทวีปยุโรป ซึ่งในเวลานั้น ตามประวัติศาสตร์ อยู่ภายใต้อิทธิพลของคริสตจักรและศาสนาประจำชาติต่างๆ ศรัทธาความเชื่อในตอนต้นของอเมริกันชนกลุ่มแรกเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันเราเรียกพวกเขาว่า “ผู้จาริกแสวงบุญ” ก่อให้เกิดลักษณะที่สืบทอดต่อๆ กันมาในเรื่องความเชื่อในเสรีภาพของการนับถือศาสนา ความเชื่อนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งครอบคลุมไม่เฉพาะนิกายต่างๆ ของศาสนาคริสต์แต่ยังรวมถึงศาสนาอิสลามและศาสนายูดาห์ อีกด้วย นับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 17

จากการอพยพเข้ามาของคนกลุ่มต่างๆ จากทั่วโลก สหรัฐฯ ได้ให้การต้อนรับผู้นับถือศาสนาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ามีชาวพุทธรวมอยู่ด้วย ชาวพุทธเหล่านี้เดินทางมาถึงสหรัฐฯ ในช่วง พ.ศ. 2363 โดยมีการสร้างวัดของศาสนาพุทธขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อ พ.ศ. 2396 บรรพบุรุษของกระผมเป็นชาวอูว์เกอโนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวโปรเตสแตนต์เพียงส่วนน้อยในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศคาทอลิก บรรพบุรุษของกระผมถูกข่มเหงเพราะเหตุแห่งศรัทธาของพวกเขา พวกเขาจึงตัดสินใจหนีไปเยอรมนีแทนที่จะต้องเปลี่ยนไปนับถือนิกายคาทอลิก  ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้จาริกแสวงบุญกลุ่มแรกเดินทางไปยังอาณานิคมอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บรรพบุรุษของกระผมได้อพยพไปยังสหรัฐฯ และได้เรียงร้อยเรื่องราวการอพยพของพวกเขาบนผืนผ้าแห่งประวัติศาสตร์อเมริกัน ผู้อพยพใหม่จำนวนมากที่มายังอาณานิคมต่างมุ่งหน้าไปยังโลกใหม่เพื่อก่อตั้งชุมชนความเชื่อต่างๆ ที่เคยถูกกดขี่ในประเทศบ้านเกิดของตน

สี่รัฐแรกของเรา อันได้แก่ รัฐโรดไอแลนด์ รัฐคอนเนตทิคัต รัฐนิวเจอร์ซีย์ และ รัฐเพนซิลเวเนีย จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องเสรีภาพทางศาสนา เป็นการเฉพาะ บางคนเป็นชาวคาทอลิกที่หนีมาจากรัฐโปรเตสแตนต์ ในขณะที่บางคนเป็นชาวโปรเตสแตนต์ที่หนีมาจากรัฐคาทอลิก แต่ทุกคนต่างเชื่อมั่นในศรัทธาของตนว่าพวกเขาจะสามารถนับถือศาสนาของตนได้อย่างอิสระในดินแดนที่กลายมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบการณ์แห่งอิสรภาพในการนับถือศาสนาในอดีตนี้เป็นแรงสนับสนุนให้บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ของเราทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษเหนือศาสนาอื่น และประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ตนเลือกหรือมีเสรีภาพที่จะไม่ต้องนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้เช่นกัน

ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเป็นผู้ร่าง “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” และประธานาธิบดีคนที่สามแห่งสหรัฐฯ อาจเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความลึกซึ้งละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด โดยเขากล่าวว่า “หัวข้อเรื่องศาสนา….เป็นเรื่องระหว่างมนุษย์และผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งไม่ว่าผู้ใดหรือกลุ่มใดย่อมไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาแทรกแซงได้” เขายังเสริมอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ถูกพรากสิทธิในการนับถือศาสนาแต่อย่างใด หากเพื่อนบ้านของข้าพเจ้าจะกล่าวว่ามีพระเจ้ายี่สิบองค์ หรือไม่มีพระเจ้าก็ตาม” ทอมัส เพน หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของเจฟเฟอร์สัน อธิบายว่าทำไมเรื่องนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเขียนไว้ว่า “เสรีภาพทางจิตวิญญาณเป็นรากฐานของเสรีภาพทางการเมือง…เมื่อเสรีภาพทางจิตวิญญาณและเสรีภาพทางการเมืองเป็นสิ่งคู่กันที่แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้…เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องเสรีภาพทั้งสองนี้” นับตั้งแต่นั้นมา ชาวอเมริกันได้ให้การต้อนรับผู้คนจากทุกศรัทธาสู่สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมาอาศัยและทำงานเคียงข้างกัน และเพื่อนับถือหรือไม่นับถือศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เราพยายามอยู่เสมอที่จะเจริญรอยตามอุดมคตินี้ เราได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อปกป้องทุกศรัทธา และในวันนี้สหรัฐฯ พร้อมเดินหน้านำความร่วมมือเพื่อพิทักษ์เสรีภาพในการนับถือศาสนาทั่วโลก

เราจะยังคงผลักดันเสรีภาพนี้ต่อไป เราเชื่อว่าเสรีภาพนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เราเชื่อว่าหากประเทศใดยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนา ประเทศนั้นย่อมจะมั่นคงสถาพรยิ่งขึ้นสืบไปด้วยการอนุญาตให้ประชาชนสามารถนับถือศาสนาใดก็ได้ตามความศรัทธาของตน ประเทศอย่างสหรัฐฯ และไทย ได้สร้างรากฐานแห่งการยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและปลูกฝังความไว้เนื้อเชื่อใจที่ยังคุณประโยชน์ให้แก่สังคมของพวกเขา ในสังคมดังกล่าว ความร่วมมือระหว่างกลุ่มศรัทธาต่างๆ จะเจริญงอกงามและศาสนากลุ่มต่างๆ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมสวัสดิการทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเป็นเสมือนเข็มทิศแห่งคุณธรรมที่จะช่วยนำทางประเทศชาติต่อไป

ประเทศไทยได้ต้อนรับชาวอเมริกันเป็นครั้งแรกเมื่อกลางศตวรรษที่ 19  เหล่าบุรุษและสตรีผู้มีศรัทธาทางศาสนาอย่างแรงกล้านี้ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องชาวไทยเพื่อจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจรักษาผู้ป่วยหลังจากที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด คนกลุ่มนี้ยังได้สร้างโรงเรียน อย่างเช่น โรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนสตรีแห่งแรกทางภาคเหนือของไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งได้ให้การฝึกอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์ของไทย นักกฎหมาย และ แม้กระทั่งนักบวช บุรุษและสตรีเหล่านี้ซึ่งมาจากกลุ่มศรัทธาที่แตกต่างกัน ต่างมาอยู่ร่วมกัน ด้วยความเคารพในเสรีภาพทางศาสนาและเจตนารมณ์ในการทำความดีร่วมกัน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ในพระนามของพระเจ้าและในฐานะอเมริกันชน เราไม่เพียงแต่ยอมรับในศรัทธาของผู้อื่นและความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แต่เรายังต่อต้านบุคคลที่มุ่งเป้าไปยังผู้อื่นด้วยเหตุแห่งศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือรัฐบาลที่กดขี่ศาสนาด้วยเหตุแห่งคตินิยมที่แตกต่างกัน กว่าแปดในสิบคนของประชากรบนโลกนี้อาศัยอยู่ในที่ๆ เขาไม่สามารถที่จะนับถือศาสนาของตนได้อย่างอิสระ เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันปกป้องสิทธิของประชาชนทุกแห่งหนในการนับถือศาสนาของพวกเขาได้อย่างเสรี

นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมเคิล ปอมเปโอ ได้กล่าวไว้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ว่า “การปกป้องเสรีภาพทางศาสนาเป็นแกนกลางของนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ และการปกป้องสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของความเป็นชาวอเมริกันของเรา”  การประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนั้นถือเป็นงานส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาครั้งใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นผู้นำภาคประชาสังคมและกลุ่มศาสนาต่างๆ ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมอีกกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศต่างๆ ที่ได้รับเชิญ

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สานต่อการประชุมครั้งใหญ่นี้ ด้วยการสถาปนาเครือข่ายว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาระหว่างประเทศขึ้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เพื่อประสานความร่วมมือต่างๆ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อส่งเสริมสิทธิแห่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ทุกคน รวมทั้งสิทธิที่จะไม่นับถือศาสนาหรือความเชื่อใดๆ และ 2) เพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยทางศาสนาจากการถูกข่มเหง อีกกลุ่มหนึ่งที่ดำเนินการด้านเสรีภาพทางศาสนาในแบบที่กระผมเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือ กลุ่มผู้ติดต่อระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ อันประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากเกือบ 30 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นที่จะปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ผู้เป็นเจ้าภาพร่วมของกลุ่มผู้ติดต่อระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อนี้ คือ แคนาดาและสหรัฐฯ ทางกลุ่มมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่ออภิปรายยุทธศาสตร์ในการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในระดับสากล พวกเรารอคอยที่จะได้ต้อนรับประเทศที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน ที่คำนึงถึงเสรีภาพทางศาสนา เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ติดต่อระหว่างประเทศนี้เพื่อสานต่อพันธกิจที่สำคัญของกลุ่มฯ กระผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รณรงค์สนับสนุนค่านิยมที่เป็นที่ยึดถือของทั้งชาวอเมริกันและผู้มีศรัทธาจากนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงที่นี่ แผ่นดินไทย ที่ซึ่งท่านได้เปิดประตูและหัวใจต้อนรับผู้คนจากทุกๆ ศรัทธา

ปีนี้ ประเทศไทยเฉลิมฉลองครบรอบ 142 ปีแห่งการประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2421 โดยพระบรมราชโองการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองงานของผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย ณ เวลานั้น และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนิยาม “ศาสนา” ในประเทศไทย ด้วยพระบรมราชโองการนี้ ชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทุกศรัทธาจึงสามารถดำเนินงานของพวกเขาต่อไปได้เพื่อประโยชน์ของชาวไทย ความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา กล่าวว่า “ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดจะถูกต้อง ก็ถือตามชอบใจของผู้นั้น ผิดถูกก็อยู่แก่ผู้ที่ถือศาสนานั้นเอง” แนวคิดนี้เป็นอุดมการณ์ที่ทรงพลังและล้ำสมัยในเวลานั้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงมีการรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทย การเคารพในเสรีภาพทางศาสนาและความรับผิดชอบส่วนบุคคลนี้ เป็นค่านิยมร่วมและเป็นที่เชิดชูของทั้งชาวไทยและชาวอเมริกัน และเป็นค่านิยมที่ทำให้เราทั้งสองชาติแข็งแกร่งและดีขึ้นกว่าเดิม

สำหรับทุกท่านที่มาชุมนุม ณ ที่แห่งนี้ กระผมขอแสดงความชื่นชมที่ท่านเตรียมการที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อปฏิบัติกิจในทางพระพุทธศาสนาในวัดไทยหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงวัดไทยกว่า 100 แห่งในสหรัฐฯ ภารกิจนี้ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย นอกจากท่านจะต้องเรียนรู้ภาษาใหม่แล้ว ท่านยังต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ในวัฒนธรรมใหม่ได้อีกด้วย และบางท่านอาจจะได้เห็นหิมะเป็นครั้งแรก ท่านควรที่จะภูมิใจกับการอุทิศทุ่มเทและการทำงานหนักของท่าน เจ้าหน้าที่การทูตของเราที่สถานทูตฯ คุ้นเคยกับกระบวนการในการต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ๆ เราทราบดีถึงความสุขจากการได้พบเจอคนใหม่ๆ และการได้น้อมรับความเชื่อใหม่ๆ กระผมหวังว่าท่านจะได้พบแต่สิ่งที่ดีที่สุดที่อเมริกามี รวมทั้งความใจดีและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอันเป็นคุณลักษณะเด่นของชาวอเมริกัน กระผมหวังว่าท่านจะมีโอกาสได้พบกับผู้นำกลุ่มศาสนาต่างๆ และสามารถเผยแผ่ศาสนาของท่านให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ กระผมหวังว่า นอกเหนือจากการได้ทำกิจต่างๆ ร่วมกันแล้ว ท่านจะได้มีโอกาสฉันภัตตาหารและพบปะพูดคุยกับนักบวชชาวอเมริกันอื่นๆ อีกด้วย สุดท้ายนี้กระผมหวังว่าท่านจะชอบอเมริกาเหมือนอย่างที่กระผมชอบประเทศไทยครับ

กราบขอบพระคุณและขอนมัสการด้วยความเคารพ ครับ