ถ้อยแถลงโดยนางซามานธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ กล่าว ณ การประชุมนัดพิเศษของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559
อรุณสวัสดิ์ค่ะทุกท่าน วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนประเทศที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ จึงได้มีโอกาสกล่าวต่อทุกท่านในวาระสำคัญเช่นนี้
ในนามของสหรัฐอเมริกา ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งด้วยใจจริงยิ่งต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนชาวไทยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นมิตรและหุ้นส่วนพันธมิตรของสหรัฐอเมริกามาตลอดช่วงพระชนม์ชีพ ทั้งยังทรงมีสายสัมพันธ์ส่วนพระองค์ผูกพักลึกซึ้งกับประเทศของเรา
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพบกันที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะทั้งสองพระองค์ทรงกำลังศึกษาวิชาการแพทย์ โดยสมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาที่ฮาร์วาร์ด ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาที่วิทยาลัยซิมมอนส์ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับที่เมืองเคมบริดจ์เพียงช่วงที่ทรงพระเยาว์ กระนั้น เมืองนี้ยังคงมีบรรยากาศแห่งการเป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่โดยไม่เสื่อมคลาย
ดิฉันอยู่ในฐานะที่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้พอควร ด้วยก่อนที่ดิฉันจะได้รับเกียรติให้มาร่วมงานภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามานี้ ดิฉันเคยเป็นอาจารย์ที่ Kennedy School of Government ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเมืองเคมบริดจ์ และเมื่อเดินไปกลับมหาวิทยาลัย ดิฉันมักจะผ่านจัตุรัสภูมิพลอดุลยเดชซึ่งอยู่ติดกับ Kennedy School อยู่เป็นประจำ จตุรัสแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อรำลึกถึงการเสด็จพระราชสมภพของพระองค์
ขณะที่เดินผ่านจัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นชาวไทยมาถวายสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถ่ายภาพข้างแท่นจารึกพระนามของพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ในจตุรัสแห่งนี้ เมืองเคมบริดจ์ยังมีสถานที่ลักษณะเช่นนี้อีกหลายแห่ง ที่โรงพยาบาล Brigham and Women’s Hospital ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไปนักคือสถานที่ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยทรงงาน และแทบไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่มีชาวไทยแวะมาพร้อมของที่ระลึก ดอกไม้ หรือกระดาษเล็กๆ เขียนข้อความแสดงความรู้สึก นั่นคือความรู้สึกจงรักภักดีที่พสกนิกรไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ราวสองทศวรรษที่แล้ว นักข่าวคนหนึ่งทูลถามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่าทรงปรารถนาให้ผู้คนจดจำพระองค์อย่างไร พระองค์ตรัสตอบว่าทรงไม่สนพระทัยนักว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกถึงพระองค์เช่นไร พระองค์ตรัสว่า “หากพวกเขาอยากเขียนถึงข้าพเจ้าในแง่ดี พวกเขาควรเขียนว่าข้าพเจ้าได้ทำสิ่งที่ก่อประโยชน์อย่างไรบ้าง”
ในสายพระเนตรของพระองค์ การทำสิ่งที่มีประโยชน์หมายถึงการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่อ่อนแอและคนชายขอบ ดั่งพระราชดำริที่ว่า หนทางเดียวที่จะทำให้รู้ได้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ และหนทางเดียวที่จะเข้าใจถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่นั้น คือการออกไปลงพื้นที่จริง ไปยังพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ด้วยเหตุนื้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทยากไร้ห่างไกลความเจริญ โดยตลอดช่วงแห่งการครองราชย์ พระองค์มีพระราชดำริก่อตั้งโครงการพัฒนาหลายพันโครงการ
ทว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เพียงแค่เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่เหล่านั้นเท่านั้น ด้วยเราได้เห็นผู้นำจำนวนไม่น้อยปฏิบัติตนเช่นเดียวกันนี้ แต่ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่ว่า พระองค์เสด็จอย่างไร พระองค์ทรงพยายามพบกับผู้คนในท้องถิ่นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ชาวสวนยาง ชาวนา หรือนักเรียนชั้นประถม ในโอกาสที่ทรงพบกับข้าราชการ พระองค์ทรงเลือกพบกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในระดับฐานราก เช่น นักวิชาการเกษตร ครูหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีสายพระเนตรที่เฉียบแหลมยิ่ง การดำรงตนให้เป็นประโยชน์หมายถึงการช่วยแก้ไขปัญหาที่พระองค์ทรงพบเห็น พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพพสกนิกรไทยให้ดำเนินรอยตาม พระองค์ทรงกอปรด้วยพระปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ พร้อมวิจารณญาณสรรค์สร้างบนพื้นฐานแห่งวิทยาศาสตร์ อย่างที่พวกเราเคยได้รับฟังมา ตลอดช่วงพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเกือบ 40 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่พระองค์ทรงสร้าง ทดสอบและปรับแต่งด้วยพระองค์เอง และโดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้ยากไร้ นี่เป็นเรื่องที่พิเศษยิ่ง
ดิฉันขอยกตัวอย่างนวัตกรรมหนึ่งที่มีชื่อเล่นเรียกกันว่า “แก้มลิง” ซึ่งพระองค์ทรงออกแบบมาเพื่อรับมือปัญหาอุทกภัยที่ประเทศไทยเผชิญอยู่เป็นประจำ พระองค์ทรงระลึกถึงเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นวิธีที่ลิงเก็บกล้วยที่เคี้ยวแล้วไว้ในกระพุ้งแก้มเพื่อสำรองไว้กินภายหลัง จึงได้ทรงคิดค้นระบบอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กโดยใช้หลักการเดียวกันนั้นกักเก็บน้ำส่วนเกินจากฝนตกหนักเพื่อนำมาใช้ในระบบชลประทานภายหลัง ระบบ “แก้มลิง” นี้ยังคงมีใช้งานอยู่ทั่วประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้ สิ่งประดิษฐ์ของพระองค์หลายชิ้นเป็นไปตามแนวทางเดียวกันนี้ นั่นคือการผสานการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนามนุษย์ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลล้ำกาลเวลาหลายทศวรรษ พระองค์ทรงตระหนักว่าสิ่งที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่จำเป็นต่อประโยชน์สุขของชุมชนในระยะยาว
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังสหรัฐอเมริกาอีกครั้งตามคำกราบบังคมทูลเชิญของท่านดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาร์ ซึ่งดำรงประธานาธิบดีตำแหน่งในขณะนั้น ในโอกาสนี้ พระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานกระแสพระราชดำรัสต่อสภาคองเกรสด้วย ขณะนั้น พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเพียง 32 พรรษาเท่านั้น
ในตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สภาคองเกรส พระองค์ตรัสว่า ทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญนี้ส่วนหนึ่งเนื่องด้วย “ความปรารถนาตามปกติวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่จะได้เห็นสถานที่เกิดของตนเอง” ซึ่งคือเมืองเคมบริดจ์ที่ซึ่งพระองค์เสด็จฯ เยือนด้วยในครั้งนั้น นอกจากนี้ พระองค์ตรัสด้วยว่า การเสด็จฯ ครั้งนี้ยังเพื่อยืนยันถึงมิตรภาพอันมีความพิเศษเฉพาะและค่านิยมร่วมกันของชาติทั้งสอง ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “มิตรภาพของรัฐบาลหนึ่งที่ต่ออีกรัฐบาลหนึ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งสำคัญ กระนั้น มิตรภาพของชนชาติหนึ่งที่มีต่ออีกชนชาติหนึ่งต่างหากที่จักเป็นหลักประกันมั่นคงซึ่งสันติภาพและความเจริญก้าวหน้า”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสต่อสมาชิกสภาคองเกรสว่า ประเทศไทยมีประเพณีอย่างหนึ่งที่คนไทยยกย่องยิ่งกว่าสิ่งใด นั่นคือหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว พระองค์ตรัสว่า “ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่า สมาชิกในครอบครัวนั้นจะให้ความช่วยเหลือแก่กันและกันเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งต้องการความช่วยเหลือ การหยิบยื่นความช่วยเหลือย่อมเป็นคุณความดีอยู่ในตัวเอง ผู้ให้นั้นก็มิได้คาดหวังที่จะได้ฟังคำสรรเสริญชื่นชมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งยังมิได้ประสงค์สิ่งใดตอบแทน อย่างไรก็ดี ผู้รับก็ย่อมรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณอยู่นั่นเอง และเมื่อถึงคราวของเขา เขาก็จักทำหน้าที่ที่ตนพึงทำต่อครอบครัวเช่นกัน”
พระราชดำรัสของพระองค์ในขณะนั้นกล่าวถึงสายสัมพันธ์และน้ำใจเอื้ออารีในครอบครัวไทย ทว่า เมื่อมองย้อนกลับไป พระราชดำรัสของพระองค์นั้นสามารถบ่งบอกถึงแนวทางดำรงพระชนม์ชีพของพระองค์ได้เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงดำเนินพระชนม์ชีพเพื่อแสวงหาหนทางที่จะสร้างประโยชน์ต่อผู้ขัดสน เพื่อให้ และเพื่อดูแลพสกนิกรทุกวันเวลาโดยมิทรงปรารถนาคำสรรเสริญใดๆ มิได้ทรงหวังสิ่งใดตอบแทน ทว่า พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพียงเพราะนี่คือสิ่งที่คนในครอบครัวทำเพื่อกันและกัน พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงถือว่าพสกนิกรชาวไทยคือครอบครัวของพระองค์ ประชาชนชาวไทยโชคดียิ่งที่ได้มีพระองค์เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของตน และเป็นโชคของพวกเราเช่นกันที่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากแนวการดำรงพระชนม์ชีพของมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้
ขอบคุณค่ะ