ประเทศไทย: กลุ่มที่ 2
รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ได้พยายามดำเนินการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อศักยภาพในการปราบปรามการค้ามนุษย์ (กรณีที่ได้รับผลกระทบ) พบว่า ในภาพรวม รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่แล้ว จึงเห็นสมควรให้ประเทศไทยคงอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความพยายามเหล่านี้ประกอบไปด้วยการเพิ่มจำนวนการสืบสวนสอบสวนกรณีค้ามนุษย์ การดำเนินคดีค้ามนุษย์ และการพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด ตลอดจนการเริ่มกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 35 รายที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ในปี 2565 และตัดสินให้ 4 รายได้รับโทษจำคุก นอกจากนี้ รัฐบาลยังระบุผู้เสียหายได้มากขึ้น เริ่มนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ไปใช้งาน รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้แผนปฏิบัติการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในหลายด้านสำคัญ การสัมภาษณ์ที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายและไร้ประสิทธิผลในระหว่างการตรวจแรงงานและการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย ส่งผลให้ไม่สามารถระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจำนวนมากได้ จึงทำให้ผู้เสียหายเหล่านั้นไม่ได้รับการดูแล โดยเฉพาะผู้ถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน ทางการไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานในกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยรวมถึงพลเมืองไทยที่เข้าประเทศหลังจากถูกแสวงประโยชน์ซึ่งมักจะไม่มีสถานะทางกฎหมาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ระบุว่า บุคคลดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างชาติอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และจับกุมผู้เสียหาย (ทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองไทย) กรณีกระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการถูกค้ามนุษย์ในกิจการผิดกฎหมายเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดตามกฎหมายให้ผู้เสียหายต่างชาติส่วนใหญ่พำนักในสถานพักพิงตลอดระยะเวลาพิจารณาคดีกับนักค้ามนุษย์ จึงมีแนวโน้มทำให้ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจำนวนมากไม่รายงานเกี่ยวกับการถูกแสวงประโยชน์ หรือไม่ยินยอมที่จะเป็นพยานในคดี ซึ่งบ่อนทำลายความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองพยานโดยรวม การให้บริการต่าง ๆ แก่ผู้เสียหายโดยรัฐยังคงมีช่องว่างอย่างมาก การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงขัดขวางความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์
ข้อเสนอแนะสำคัญ:
ไทยควรสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และจัดการให้มีการลงโทษอย่างเหมาะสมแก่นักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยบทลงโทษดังกล่าวควรรวมถึงการจำคุกระยะยาว ไทยควรเพิ่มความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหายซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทยหลังจากถูกแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานในกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจนยุติการให้ผู้เสียหายพำนักในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายจะไม่ถูกลงโทษอย่างไม่เหมาะสมเนื่องจากกระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการถูกค้ามนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว ไทยควรใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ รวมถึงให้ผู้เสียหายได้มีช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองอย่างแท้จริง ตลอดจนเปิดใช้ศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย นอกจากนี้ ยังควรใช้แนวทางการดูแลโดยให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางใจ โดยรวมถึงระหว่างการสัมภาษณ์ของคณะสหวิชาชีพและการตรวจแรงงาน ไทยควรเพิ่มการใช้และจัดหาล่ามเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงในสถานพักพิงและระหว่างการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งยังควรออกวีซ่าให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถยังคงอยู่และทำงานในประเทศไทยได้หลังการพิจารณาคดีกับนักค้ามนุษย์เสร็จสิ้น ไทยควรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และตรวจสอบว่า มีการใช้แนวทางปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ ยังควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น รวมทั้งทบทวนการจัดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายจะไม่ต้องคงอยู่ในสถานพักพิงนานเกินความจำเป็น ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า สถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจอย่างเพียงพอและเฉพาะแต่ละบุคคล เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดูแลทางจิตใจ ตลอดจนใช้นโยบายการให้บริการผู้เสียหายที่เหมือนกันในสถานพักพิงทุกแห่ง ไทยควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า มีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดแรงงานและตรวจสอบคำร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวซึ่งมีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน เพื่อระบุอาชญากรรมการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงการบังคับใช้ขั้นตอนสำหรับเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีต้องสงสัยค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังคณะสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไทยควรเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหัวข้อเช่น การบีบบังคับด้วยหนี้ การบังคับใช้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป การยึดเอกสารต่าง ๆ และการไม่จ่ายค่าจ้าง ไทยควรคัดกรองแรงงานเกาหลีเหนือว่ามีลักษณะของการถูกค้ามนุษย์หรือไม่ และส่งต่อผู้เสียหายไปยังบริการที่เหมาะสม โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2397
การดำเนินคดี
รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 6 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ระบุว่า การค้ามนุษย์ทางเพศและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1,200,000 บาท (11,490-34,760 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6-20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท (17,380-57,940 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การข่มขืน พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 แยกบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ออกมาอยู่ภายใต้มาตรา 6/1 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท (1,450-11,590 เหรียญสหรัฐ) ต่อผู้เสียหาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ บทบัญญัตินี้กำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงานน้อยกว่าโทษที่มีอยู่แล้วตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2565 รัฐบาลรายงานว่า มีการสืบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ 253 คดี (เทียบกับ 188 คดีในปี 2564) ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 308 ราย (เทียบกับ 125 รายในปี 2564) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 249 ราย (เทียบกับ 82 รายในปี 2564) ศาลพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด 201 ราย โดยในจำนวนนี้ ประมาณร้อยละ 99 ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ในปีเดียวกัน ศาลออกคำสั่งริบทรัพย์มูลค่าประมาณ 80.13 ล้านบาท (2.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในคดีค้ามนุษย์ที่ฟ้องร้องโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ได้สืบสวนสอบสวนกรณีกระทำความผิดต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 41 คดีในปี 2565 (เทียบกับ 11 คดีในปี 2564) เจ้าหน้าที่ได้เริ่มการสืบสวนสอบสวนกรณีต้องสงสัยคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 47 คดี (ในจำนวนดังกล่าว เกี่ยวข้องกับภาคการประมง 1 คดี) เทียบกับ 22 คดีในปี 2564 ทั้งนี้ ศาลได้ตัดสินว่า นักค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 1 รายมีความผิดตามมาตรา 6/1 และลงโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งถือเป็นการตัดสินโทษครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในปี 2562
รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพ สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ทางการไทยยังคงแบ่งปันข้อมูลและหลักฐานกับประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ตร. ยังพบกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและพม่า เพื่อพัฒนาความร่วมมือในความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการบังคับให้กระทำผิดกฎหมายในกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต
แม้ว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะสืบสวนสอบสวนกรณีค้ามนุษย์ด้านแรงงานในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่องค์กรนอกภาครัฐประเมินว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุกรณีค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งน่าจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน การทุจริต และกระบวนการศาลที่ใช้เวลานานในคดีเหล่านี้บั่นทอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ผู้สังเกตการณ์บางรายรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักจะไม่เห็นว่าการบีบบังคับด้วยหนี้ การบังคับใช้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป หรือการไม่ให้เงินค่าจ้างเป็นข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน นอกจากนี้ ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ยังสนับสนุนให้แรงงานที่อาจเป็นผู้เสียหายไกล่เกลี่ยกับนายจ้างหรือยื่นฟ้องในข้อหาละเมิดกฎหมายแรงงาน แทนที่จะยอมรับว่าแรงงานเหล่านั้นเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และแนะนำให้ดำเนินคดีอาญากับนักค้ามนุษย์
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมักจะใช้ผลจากการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายเป็นตัวตัดสินสุดท้ายว่ามีกรณีค้ามนุษย์อยู่จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า บางครั้ง การสัมภาษณ์ดังกล่าวไร้ประสิทธิผล ในบางจังหวัด เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขาดความสามารถในการสืบสวนกรณีค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิผล และเจ้าหน้าที่รัฐบางรายไม่ต้องการระบุกรณีค้ามนุษย์เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และเนื่องจากบางจังหวัดใช้นโยบาย “ไม่ยอมรับต่อปัญหาการค้ามนุษย์” (zero tolerance) เจ้าหน้าที่จึงมีความลังเลที่จะสืบสวนคดีเหล่านี้
พนักงานอัยการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐในการเตรียมตัวผู้เสียหายเพื่อให้การต่อศาล ศาลอนุญาตให้ทนายความขององค์กรนอกภาครัฐทำหน้าที่โจทก์ร่วมได้ในบางคดีเพื่อสนับสนุนผู้เสียหายในทางกฎหมาย และสถานพักพิงของรัฐช่วยให้ผู้เสียหายสามารถใช้ศาลจำลองเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการพิจารณาคดีต่อหน้านักค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐบางแห่งรายงานว่า การทำความเข้าใจขั้นตอนทางกฎหมายเมื่อช่วยเหลือผู้เสียหายนั้นมีความยุ่งยาก และแทบจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการ นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังช่วยเหลือผู้เสียหายที่ไม่สามารถเข้าร่วมในการพิจารณาคดีด้วยตนเองเตรียมคำแถลงผลกระทบแทนคำให้การ ทางการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้ให้ข้อมูลในคดีค้ามนุษย์สามารถเข้าร่วมในโครงการคุ้มครองพยานได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายบางรายลังเลที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินคดีเพราะกลัวถูกกักตัวและต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน ขาดบริการที่เพียงพอ รวมทั้งกลัวถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น ในบางคดี ศาลไม่ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายอย่างเพียงพอเพื่อเข้าร่วมการดำเนินคดี ผู้เสียหายต่างชาติบางรายไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีได้อย่างเต็มที่เนื่องจากไม่มีล่าม แม้ว่าผู้พิพากษาบางรายจะใช้แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลักระหว่างการพิจารณาคดี แต่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลคนอื่น ๆ ขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจ ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหายระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาไม่ได้กำหนดให้ผู้พิพากษาที่เข้าทำงานใหม่ในแผนกต้องรับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ไม่ได้คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย
ทางการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประสบการณ์การทำงานในคดีค้ามนุษย์ออกจากตำแหน่ง และนำเจ้าหน้าที่ซึ่งขาดความชำนาญมาปฏิบัติหน้าที่แทนอยู่บ่อย ๆ ทางการมักจะร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่แรงงานเกี่ยวกับการระบุผู้เสียหาย การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เทคนิคการสืบสวนสอบสวนทางออนไลน์ และการถามปากคำ โรงเรียนนายร้อยตำรวจบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในหลักสูตรอบรมของโรงเรียน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 รัฐบาลได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลต่างชาติรัฐบาลหนึ่งเพื่อสร้างอาคารฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านการสืบสวนสอบสวนกรณีค้ามนุษย์ อส. ร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการอบรมด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่พนักงานอัยการในหัวข้อเกี่ยวกับการใช้แนวทางที่คำนึงถึงบาดแผลทางใจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการกับหลากหลายหน่วยงานเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ศาลยุติธรรมร่วมงานกับองค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างชาติฝึกอบรมผู้พิพากษาซึ่งดูแลคดีค้ามนุษย์ ศาลยุติธรรมยังร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐฝึกอบรมล่ามที่ทำงานในคดีค้ามนุษย์ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ อส. ยังคงจัดให้มีทีมพนักงานอัยการที่มีประสบการณ์ด้านคดีค้ามนุษย์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้คำแนะนำแก่พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่มีประสบการณ์น้อยกว่า ทางการรายงานว่า ได้ส่งทีมเหล่านี้ไปให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีการจับกุม
การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐในอาชญากรรมค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องยังคงทำให้ประเทศไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์ และส่งผลให้ไม่มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอำนวยให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย โดยผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เป็นสาเหตุที่นักค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านมากขึ้นเพื่อแสวงประโยชน์จากผู้เสียหายในเขตเศรษฐกิจพิเศษและกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ DSI จัดตั้งศูนย์ติดตามและสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่สมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ ซึ่งติดตามและสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิด DSI ยังใช้ระบบฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งช่วยให้ DSI ติดตามความคืบหน้าของคดีได้ โดยระบบดังกล่าวเริ่มนำมาใช้ในช่วงการรายงานที่ผ่านมา รัฐบาลรายงานว่า ได้เริ่มการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ 35 รายที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ในปี 2565 (เทียบกับ 17 รายในปี 2564) และเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน เจ้าหน้าที่ 24 รายยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน, 9 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ และอีก 2 รายถูกยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณา ในปี 2565 ศาลตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ที่สมรู้ร่วมคิด 4 ราย โดยได้รับโทษจำคุกแตกต่างกันไปตั้งแต่ 15-325 ปี นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตร. ได้ตั้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง 107 รายในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการออกวีซ่าโดยมิชอบให้แก่ผู้มีสัญชาติจีนที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต โดยเป็นกิจการที่บังคับให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ในจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ 129 รายที่ถูกสืบสวนสอบสวนกรณีสมรู้ร่วมคิดนับตั้งแต่ปี 2556 ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่ 10 ราย ได้ตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว 42 ราย และตัดสินให้พ้นผิด 9 ราย โดยยังมีเจ้าหน้าที่อีก 41 รายอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน, 22 รายอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ และ 5 รายหนีการจับกุม
การคุ้มครอง
รัฐบาลยังคงความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 444 รายในปี 2565 เทียบกับประมาณ 424 รายในปี 2564 ในจำนวนผู้เสียหาย 444 รายที่ทางการไทยระบุนั้น เป็นผู้เสียหายชายและเด็กชาย 165 ราย และหญิงและเด็กหญิง 279 ราย, เป็นชาวไทย 344 ราย ชาวลาว 41 ราย ชาวพม่า 25 ราย ชาวอินเดีย 10 ราย ชาวอินโดนีเซีย 7 ราย และชาติอื่น ๆ (กัมพูชา จีน ยูกันดา แทนซาเนีย อุซเบกิสถาน และเคนยา) อีก 11 ราย ไร้สัญชาติ 3 ราย และอีก 3 รายไม่มีการระบุประเทศ และเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 139 ราย และค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 229 ราย รัฐบาลรายงานว่า ได้ให้บริการกับผู้เสียหายทั้ง 444 ราย (เทียบกับ 354 รายในปี 2564) ซึ่งรวมถึงการจัดให้อยู่ในสถานพักพิง การสนับสนุนเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ การช่วยเหลือด้านกฎหมาย การช่วยเหลือด้านการเงิน และการสนับสนุนอื่น ๆ ผู้เสียหาย 170 รายได้รับความช่วยเหลือในสถานพักพิงของรัฐ ขณะที่ 32 รายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ และ 242 รายได้รับบริการนอกสถานที่พักพิง ซึ่งส่วนใหญ่ในจำนวนเหล่านั้นเป็นชาวไทย ทางการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานซึ่งถูกแสวงประโยชน์ในประเทศไทยในปี 2565 จำนวน 92 ราย โดยมี 1 รายอยู่ในภาคการประมง
แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติของไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนมีนาคม 2565 แนะนำให้เจ้าหน้าที่รัฐกำกับให้ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายพำนักอยู่ในสถานพักพิงชั่วคราว เพื่อเข้าถึงบริการพื้นฐานได้นานถึง 15 วันก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายโดยคณะสหวิชาชีพ คณะสหวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐจะสัมภาษณ์ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายเพื่อระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการและส่งตัวเข้ารับบริการต่าง ๆ คณะสหวิชาชีพจำเป็นต้องระบุว่า บุคคลนั้น ๆ เป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการก่อน จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเพื่อรับบริการอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการเข้าถึงสถานพักพิงของรัฐสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หลังจากคณะสหวิชาชีพระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการแล้ว ทางการจะให้บริการกับผู้เสียหายที่ยินยอมเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีกับนักค้ามนุษย์ หรืออนุญาตให้ผู้เสียหายมีเวลาอีก 30 วันเพื่อตัดสินใจว่า ต้องการเข้าร่วมในการดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายยังใช้แผนปฏิบัติงานเดิม ซึ่งใช้อำนาจของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อนำตัวผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาอยู่ในความคุ้มครองของรัฐได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือมากถึง 8 วันตามคำอนุญาตของศาล และในช่วงเวลานี้ คณะสหวิชาชีพจะดำเนินกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรับบริการต่าง ๆ ของผู้เสียหายบางรายที่ขาดความพร้อมทางร่างกายหรือจิตใจสำหรับกระบวนการะบุผู้เสียหาย
รัฐบาลจัดสรรเงินทุนให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อก่อตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 10 แห่งในจังหวัดที่มีความเสี่ยงเกิดการค้ามนุษย์ ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายสามารถรับบริการที่ศูนย์เหล่านี้ได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง ทางการเปิดศูนย์ 1 แห่งในช่วงการรายงานนี้ ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย 59 ราย แต่ยังไม่ได้เปิดศูนย์ที่เหลือเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน รัฐบาลรายงานก่อนหน้านี้ว่า ได้เปิดศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งแรกในพื้นที่ดอนเมืองเมื่อเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม อาคารของศูนย์ดังกล่าวยังคงสร้างไม่แล้วเสร็จเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน ทางการร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติให้แก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการนำแผนปฏิบัติการดังกล่าวไปใช้โดยทั่วถึง เจ้าหน้าที่รัฐบางคนยังคงไม่แน่ใจว่าจะใช้แผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างไร และรัฐบาลไม่ได้จัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อให้การนำแผนไปใช้มีประสิทธิผลทั่วประเทศ หรือจัดการฝึกอบรมที่เพียงพอให้แก่พนักงานตรวจแรงงาน
รัฐบาลเริ่มใช้มาตรฐานการปฏิบัติงานในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเดิมได้รับความเห็นชอบในเดือนมีนาคม 2565 ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 (มาตรา 6/1) ทางการรายงานว่า ได้ใช้มาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าวในการดำเนินการคัดกรองมากกว่า 1,000 ครั้ง และระบุผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้ 13 รายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ส่งต่อผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายไปยังคณะสหวิชาชีพเพื่อการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานดังกล่าว กระทรวงแรงงาน (รง.) ยังคงร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งเพื่อประเมินและทบทวนแก้ไขมาตรฐานการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอเกี่ยวกับการใช้มาตรฐานนั้น
เจ้าหน้าที่รัฐบางคนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และไม่ได้ใช้ขั้นตอนการระบุตัวผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิผลโดยสอดคล้องกันทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเห็นว่า หากตั้งแต่แรกแล้ว บุคคลยินยอมเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อทำงาน รวมถึงโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง บุคคลเหล่านั้นไม่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ รัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต้องเข้าร่วมการสัมภาษณ์โดยคณะสหวิชาชีพด้วย กรณีที่บุคคลดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคไม่ให้บางคนเล่าถึงประสบการณ์ของตนเนื่องจากกลัวถูกส่งตัวกลับหรือถูกกักตัว มีรายงานว่า ทางการไม่แนะนำให้คณะสหวิชาชีพเปลี่ยนผลการประเมินหลังจากสัมภาษณ์ผู้เสียหายครั้งที่ 2 แม้ว่าคณะสหวิชาชีพจะมีหน้าที่ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แต่สมาชิกซึ่งบางครั้งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ พม. ระดับจังหวัด และเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานในท้องถิ่น อาจขาดประสบการณ์ที่เพียงพอในการทำงานกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทางการจึงจัดทีมเจ้าหน้าที่ไปสนับสนุนคณะสหวิชาชีพที่ขาดประสบการณ์ในขั้นตอนการระบุผู้เสียหายเพื่อแก้ปัญหาในระดับจังหวัด
DSI ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากองค์การระหว่างประเทศ เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการคัดกรองหาข้อบ่งชี้และระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคการประมง พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่กองทัพเรือคัดกรองแรงงานต่างด้าวเพื่อระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างการตรวจแรงงาน รวมถึงการตรวจเรือประมง อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์ที่ไม่เสมอต้นเสมอปลายและไม่มีประสิทธิผลในระหว่างการตรวจแรงงานส่งผลให้ไม่อาจระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมากได้ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานไม่เข้าใจว่า ตนมีบทบาทในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บนเรือประมงที่อยู่ในขั้นตอนตรวจแรงงาน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุตัวพวกเขาว่าเป็นผู้เสียหาย
แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองไม่ให้ผู้เสียหายต้องถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลโดยตรงจากการถูกค้ามนุษย์ แต่เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มที่จะลงโทษผู้เสียหายจากการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และอาชญากรรมอื่น ๆ ที่กระทำอันเป็นผลโดยตรงจากการถูกค้ามนุษย์ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินขั้นตอนการระบุผู้เสียหายโดยครบถ้วนสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ไม่ได้คัดกรองผู้อพยพซึ่งไม่ได้เข้าเมืองตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดอย่างเสมอต้นเสมอปลายเพื่อระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่หลบหนีจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในพม่า ผู้ที่อยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือผู้ที่หลบหนีจากกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้ผู้เสียหายที่ไม่ได้รับการระบุตัวจำนวนมากถูกกักขังและไม่ได้รับบริการต่าง ๆ ผู้เสียหายต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายบางคน มีแนวโน้มที่จะไม่รายงานกับเจ้าหน้าที่ว่าตนถูกแสวงประโยชน์ เนื่องจากกลัวถูกจับกุมและส่งตัวกลับ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่บางคนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต และกล่าวว่าผู้ที่ถูกแสวงประโยชน์ไม่ใช้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แม้ในหลายพื้นที่จะมีรายงานที่บ่งชี้ว่าบุคคลส่วนใหญ่ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในกิจการเหล่านี้เผชิญกับสภาพที่แสดงถึงการบังคับใช้แรงงาน ตร. ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผู้เสียหายชาวไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงานในกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตกลับสู่ประเทศไทย แต่ทางการกลับกล่าวหาผู้เสียหายว่าละเมิดกฎหมายอาญา เนื่องจากผู้เสียหายหลอกลวงผู้อื่นตามที่นักค้ามนุษย์บังคับ
รัฐบาลยังคงส่งต่อผู้เสียหายที่คณะสหวิชาชีพระบุสถานะอย่างเป็นทางการแล้วไปยังสถานพักพิงของรัฐ เพื่อรับการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ ค่าสินไหมทดแทน ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนโอกาสการจ้างงาน แม้ว่า พม. จะรายงานว่า ได้จัดบริการบางอย่างให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมในขั้นตอนการดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะให้บริการหลายอย่างเฉพาะเมื่อผู้เสียหายเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนโดยผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น พม. บริหารจัดการสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง และสถานพักพิงระยะยาว 9 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายชายและครอบครัว 4 แห่ง สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิง 4 แห่ง และสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชาย 1 แห่ง เฉพาะผู้เสียหายต่างชาติที่มีวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุ ณ เวลาที่ระบุสถานะเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐได้ในระหว่างการพิจารณาคดีกับนักค้ามนุษย์ สถานพักพิงร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้โอกาสในการทำงานนอกสถานพักพิงแก่ผู้เสียหาย และสถานพักพิงแห่งหนึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท 5 แห่งในปี 2565 ภายใต้โครงการนำร่อง ทางการรายงานว่า มีการจ้างงานผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 42 คน เทียบกับ 17 คนในปี 2564 บางครั้งทางการกำหนดให้ผู้เสียหายต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายคงอยู่ในสถานพักพิงของรัฐระหว่างที่รัฐบาลดำเนินการออกใบอนุญาตให้พำนักและทำงานในไทยได้เป็นการชั่วคราว
สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของ พม. ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายบางราย ซึ่งรวมไปถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ออกนอกสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น เฉพาะผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงเท่านั้นจึงจะสามารถออกนอกสถานพักพิงเป็นประจำเพื่อไปทำงานได้ ผู้เสียหายมักจะต้องพำนักในสถานพักพิงจนกว่าการพิจารณาคดีของศาลหรือการให้การล่วงหน้าเกี่ยวกับนักค้ามนุษย์จะสิ้นสุดลง แม้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะออกจากระบบสถานพักพิงแล้วทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่สถานพักพิงยังจำกัดการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวของผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรกเข้ามาในสถานพักพิง อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้เสียหายต้องขออนุญาตก่อนโทรศัพท์พูดคุยเรื่องส่วนบุคคล และมักจะคอยฟังบทสนทนาของผู้เสียหายด้วย พม. จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนตุลาคม 2565 ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสถานพักพิง เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับสถานพักพิงแต่ละแห่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินทาง ตลอดจนการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ของผู้เสียหาย พม. จัดทำแนวทางดังกล่าวเสร็จสิ้นในช่วงการรายงานนี้ ในทางปฏิบัติ พม. ใช้นโยบายที่แตกต่างกันไปตามสถานพักพิงและกลุ่มประชากรในเรื่องการสื่อสารและเสรีภาพในการเดินทางของผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายและป้องกันไม่ให้พวกเขาตกเป็นผู้เสียหายอีก อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงนานเกินจำเป็น ประกอบกับการจำกัดการเดินทางและการสื่อสารของผู้เสียหายระหว่างอยู่ในสถานพักพิง อาจทำให้ผู้เสียหายบางรายได้รับความกระทบกระเทือนซ้ำและยังเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ของพวกเขาด้วย สถานพักพิงแบบที่ผู้เสียหายได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออกได้อย่างอิสระและเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้ในระยะสั้น ๆ ซึ่งองค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงการรายงานก่อนหน้านี้ปิดทำการลงในเดือนพฤษภาคม 2565 และเมื่อสิ้นช่วงการรายงานนี้ แผนการที่จะเปิดสถานพักพิงดังกล่าวขึ้นอีกครั้งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา
ทางการอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายที่พำนักอยู่ในสถานพักพิงทำงานนอกสถานพักพิงได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียหายต่างชาติบางราย รัฐบาลไม่ได้มอบโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสม และเจ้าหน้าที่สถานพักพิงบางรายกังวลว่า ผู้เสียหายจะ “หนี” ออกจากสถานพักพิง จึงเป็นเหตุผลให้จำกัดเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขา การอาศัยในสถานพักพิงในลักษณะดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างชาติในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยผู้เสียหายบางรายต้องการให้รัฐส่งตนกลับประเทศภูมิลำเนามากกว่า รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐ 3 แห่งที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐ และสามารถรับบริการต่าง ๆ จากสถานพักพิงเหล่านี้ได้ ผู้เสียหายต้องการพักอยู่ในสถานพักพิงเหล่านี้มากกว่าสถานพักพิงของรัฐ ส่วนหนึ่งเพราะมีเสรีภาพในการเดินทางมากกว่า ผู้เสียหายที่ใช้สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐยังคงมีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพักพิงเหล่านี้ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด เพื่อให้ได้รับอนุญาตช่วยเหลือผู้เสียหายที่ผ่านการระบุสถานะอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายสำหรับองค์กรนอกภาครัฐแห่งอื่นที่ต้องการขึ้นทะเบียน แม้ว่าทางการจะดำเนินการบางอย่างเพื่อร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดำเนินการที่สำคัญในการทำงานกับองค์กรเหล่านี้เพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย หรือสนับสนุนความพยายามอื่น ๆ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล
สถานพักพิงของ พม. แต่ละแห่งใช้นโยบายและให้การดูแลผู้เสียหายที่แตกต่างกัน สถานพักพิงของรัฐบาลมักจะมีจำนวนนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจไม่เพียงพอ จึงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้เสียหายในการรับการดูแลด้านจิตสังคม พม. รายงานว่า สถานพักพิงทุกแห่งสามารถรองรับผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ได้เป็นการชั่วคราว โดยมี 1 แห่งให้ที่พักอาศัยกับประชากรกลุ่มนี้ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สถานพักพิงดังกล่าวไม่มีห้องนอนและห้องน้ำแยกสำหรับผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ นอกจากนี้ ขั้นตอนการระบุผู้เสียหายยังมีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหายกลุ่ม LGBTQI+ เปิดเผยเพศสภาพของตน และเจ้าหน้าที่มักจะไม่ถามผู้เสียหายเกี่ยวกับสถานพักพิงที่ต้องการ พม. ไม่ได้เตรียมสถานพักพิงให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายที่พิการได้อย่างเพียงพอ แม้ว่า พม. จะรายงานว่าได้ทำงานร่วมกับสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีล่ามพร้อมให้ความช่วยเหลือสถานพักพิงในจำนวนเพิ่มขึ้น แต่สถานพักพิงมักจะขาดแคลนล่าม ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้เสียหายได้อย่างเหมาะสม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ล่ามที่มีส่วนในการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหาย และในการพิจารณาคดีของศาล ไม่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ พม. ร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง เกี่ยวกับการดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจ และฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และพนักงานอัยการเกี่ยวกับการดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจ
กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติพำนักและทำงานในไทยได้นานถึง 2 ปีนับจากการพิจารณาคดีค้ามนุษย์เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลได้ให้อนุญาตกับผู้เสียหายคนใดระหว่างช่วงการรายงานนี้ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมากไม่ต้องการให้ทางการระบุตัวว่าเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากไม่สามารถพำนักอยู่ในไทยและจะถูกส่งตัวกลับประเทศหลังจากเข้าร่วมการพิจารณาคดีค้ามนุษย์
ในปี 2565 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 4.96 ล้านบาท (143,680 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ผ่านกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (เทียบกับ 4.13 ล้านบาท (119,640 เหรียญสหรัฐ) เมื่อปี 2564) โดยรวมถึง 1.49 ล้านบาท (43,160 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นเงินที่จัดสรรให้ผู้เสียหายที่พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐหรือองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ค่าจ้างสำหรับการทำงานภายในสถานพักพิง การศึกษา การดูแลรักษาทางการแพทย์ การส่งกลับประเทศ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนนี้มีความซับซ้อน ทำให้มีแนวโน้มที่จะขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายบางคนได้รับการสนับสนุนทางการเงินตามที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นเพื่อให้ผู้เสียหายส่งคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนฯ และจัดให้มีคณะทำงานแก้ไขข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เข้าถึงกองทุนฯ ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดของรัฐบาลให้ผู้เสียหายต้องอยู่ในสถานพักพิงระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดี ส่งผลให้ผู้เสียหายบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ เลือกที่จะสละสิทธิ์ของตนในการรับค่าสินไหมทดแทนเพื่อลดเวลาที่ต้องพำนักอยู่ในสถานพักพิง
กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายที่แสดงความประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายโดยใช้ทรัพย์สินที่ริบได้จากนักค้ามนุษย์ รัฐบาลรายงานว่า ในปี 2564 ศาลสั่งให้ชำระค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวน 66.6 ล้านบาท (1.93 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 10.7 ล้านบาท (309,970 เหรียญสหรัฐ) พม. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายในการยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่ง อย่างไรก็ตาม มีคดีเพียง 2 คดีเท่านั้นที่ปฏิบัติตามคำสั่งชดเชยสำเร็จ
กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทของไทยยังคงเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย กลุ่มผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่รัฐที่สืบสวนสอบสวนคดี บางครั้งโดยการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่า คดีประเภทนี้ขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้เสียหายไม่ให้รายงานเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งส่งผลให้ศาลสามารถสั่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ทันทีหากพิจารณาแล้วว่า เป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาเพื่อข่มขู่จำเลย เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เสริมสร้างสิทธิของจำเลยในคดีที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รายงานว่าได้ใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อยกฟ้องกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิหรือผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาททางอาญา
การป้องกัน
รัฐบาลยังคงดำเนินการเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการประชุมกันหลายครั้งในระหว่างปี ทางการยังคงติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประจำปีต่าง ๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงรายงานดังกล่าวได้ รัฐบาลจัดสรรงบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประมาณ 441.7 ล้านบาท (12.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2565 เมื่อเทียบกับงบจำนวนประมาณ 4.46 ล้านบาท (129,200 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2564 หน่วยงานรัฐบาลจัดกิจกรรมรณรงค์จำนวนมากเพื่อสร้างความตระหนักรู้และป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงการฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้ที่มุ่งป้องกันการค้ามนุษย์ทางเพศต่อเด็กและการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์ รัฐบาลขอข้อมูลจากผู้เสียหายเพื่อผลิตแอนิเมชันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รวมถึงการค้ามนุษย์ เพื่อเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์และในโรงเรียน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาลงนามในบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินโครงการในโรงแรมเพื่อค้นหาและป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมแสดงข้อกังวลใจว่า การดำเนินงานป้องกันการค้ามนุษย์ขององค์กรนอกภาครัฐในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบหากบทบัญญัติในร่างกฎหมายที่มุ่งเพิ่มข้อบังคับควบคุมองค์กรนอกภาครัฐในประเทศมีผลบังคับใช้ บทบัญญัติดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน
พม. ยังคงใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานได้รายงานการถูกแสวงประโยชน์และขอรับบริการการคุ้มครองต่าง ๆ รวมไปถึงบริการล่าม ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 7 ภาษา มีการรายงานกรณีที่อาจเป็นการค้ามนุษย์ 19 กรณีผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวในปี 2565 เมื่อเทียบกับ 5 กรณีในปี 2564 รัฐบาลได้ปรับปรุงข้อมูลจากปี 2564 ในช่วงการรายงานปัจจุบัน และยังปรับปรุงข้อมูลจากช่วงการรายงานก่อนหน้าด้วย พม. และ รง. ได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 19 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วคอยรับสาย ในปี 2565 สายด่วนของ พม. ได้รับโทรศัพท์ 331 สายที่อาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และส่งต่อกรณีเหล่านี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการสืบสวนสอบสวน (เทียบกับ 267 สายในปี 2564)
กฎหมายอนุญาตให้สำนักงานจัดหางานคิดค่าธรรมเนียมคนไทยสำหรับการหางานในต่างประเทศ แรงงานบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินควรให้กับสำนักงานจัดหางานที่ไม่มีคุณธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กรมการจัดหางานตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 132 แห่งที่ช่วยให้คนไทยได้งานในต่างประเทศ แต่ไม่พบการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมการจัดหางานดำเนินคดีกับบุคคล 173 รายใน 123 คดีที่เป็นการจัดหางานโดยไม่มีใบอนุญาตและฉ้อโกงแรงงาน ทั้งนี้ รง. และ ตร. ร่วมกันตรวจสอบประกาศว่าจ้างคนไทยให้ไปทำงานในต่างประเทศ โดยเป็นประกาศทางออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การหลอกจ้างงาน การลักลอบขนคนเข้าเมือง และการขายบริการทางเพศ
รัฐบาลยังคงมีบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย ทางการยังคงใช้มาตรการจัดหาแรงงานต่างด้าวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานคณะหนึ่งในช่วงการรายงานก่อนหน้า ลักษณะที่ซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับทางการ รวมถึงขั้นตอนของบันทึกความเข้าใจ มักทำให้แรงงานและนายจ้างพึ่งพานายหน้าซึ่งคิดค่าธรรมเนียมเกินจากที่ทางการคิด หรือใช้ช่องทางนอกระบบในการนำแรงงานเข้าประเทศไทย แรงงานจึงเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ทางการใช้โครงการต่าง ๆ เพื่อให้แรงงานสามารถอยู่ในประเทศต่อได้หลังการขึ้นทะเบียนแรกเริ่มหมดอายุและเพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งอยู่ในประเทศอยู่แล้ว พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างมอบสำเนาสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดหางาน และค่าเดินทาง และห้ามมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และห้ามมิให้ยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารประจำตัวอื่น ๆ ของลูกจ้าง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท (290-2,900 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน รง. รายงานว่า ได้ปรับนายจ้าง 360 ราย ซึ่งละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงาน เป็นจำนวนเงินรวม 2.59 ล้านบาท (75,070 เหรียญสหรัฐ) โดยไม่มีโทษจำคุก รง. รายงานว่า ได้ดำเนินคดีละเมิดการคุ้มครองแรงงาน 15 คดี และศาลสั่งปรับ 3 คดี เป็นจำนวนเงินรวม 182,500 บาท (5,290 เหรียญสหรัฐ) และ 12 คดีที่เหลือกำลังรอการพิจารณาเมื่อสิ้นช่วงการรายงาน กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามนายจ้างและผู้จัดหางานคิดค่าใช้จ่ายบางประการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางานกับแรงงานต่างด้าว เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ทางการไม่ได้นิยามและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าธรรมเนียมการจัดหางานนี้อย่างดีพอ และสำนักงานจัดหางาน รวมถึงนายหน้า ยังคงเรียกร้องค่าธรรมเนียมการจัดหางานและค่าเดินทางจากแรงงาน กฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้นายจ้างเก็บเอกสารของแรงงานไว้ได้หากแรงงานยินยอมและสามารถเข้าถึงเอกสารของพวกเขาที่อยู่กับนายจ้างได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เนื่องจากไม่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดนี้อย่างเพียงพอ ในบางกรณีนายจ้างที่ขาดศีลธรรมอาจยึดเอกสารของแรงงานไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่แรงงานไม่เข้าใจสิทธิของตนภายใต้กฎหมายไทย รง. ฝึกอบรมแรงงานประมงและนายจ้างกว่า 48,000 คนในเรื่องสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า การให้ความรู้แก่นายจ้างในทุกภาคอุตสาหกรรมที่เสี่ยงเกิดการค้ามนุษย์ยังคงไม่เพียงพอ แม้ว่าข้อบังคับของทางการจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์เปลี่ยนนายจ้างได้ แต่นโยบายบางข้อกลับทำให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานต่างด้าวในทางปฏิบัติ และบางครั้งส่งผลให้แรงงานต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเมื่อเปลี่ยนนายจ้าง นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวยังรายงานการถูกแสวงประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐได้ยาก เนื่องจากไม่มีล่าม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานยังไม่เปิดโอกาสให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและการรับใช้ตามบ้านได้รับผลประโยชน์และการคุ้มครองต่าง ๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ มีรายงานจากองค์กรภาคประชาสังคมว่า กฎหมายแรงงานขัดขวางไม่ให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งอาจมีส่วนทำให้แรงงานต่างด้าวเสี่ยงถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าว 263 แห่ง แต่ไม่พบการละเมิดใด ๆ องค์กรนอกภาครัฐกล่าวว่า การไม่มีข้อบังคับที่เพียงพอสำหรับนายหน้าและสำนักงานจัดหางานส่งผลให้มีการดำเนินการที่ขาดศีลธรรมซึ่งส่งเสริมการค้ามนุษย์
การไม่มีแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง เพิ่มความเสี่ยงการค้ามนุษย์ในแรงงานกลุ่มนี้ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลกำหนดให้นายจ้างจัดทำสัญญาเป็นภาษาที่แรงงานประมงต่างด้าวเข้าใจได้ จัดทำเอกสารการจ่ายเงินให้แก่แรงงาน และจัดให้มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอสำหรับแรงงานบนเรือประมง นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร และจ่ายเงินส่วนแบ่งจากการจับปลาได้ให้แก่แรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลใจว่า แรงงานบางส่วนยังคงได้รับค่าจ้างเป็นเงินสดหรือไม่สามารถเข้าถึงค่าแรงของตนได้ เนื่องจากท่าเรือบางแห่งไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้ ๆ หรือแรงงานไม่ได้รับการแนะนำอย่างเพียงพอในการใช้ตู้เอทีเอ็ม ตลอดจนบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรของแรงงานอาจถูกเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้ายึดไว้
รง. ยังทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อให้บริการต่าง ๆ ในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่งอีกด้วย โดยรวมถึงรับเรื่องร้องเรียนกรณีละเมิดแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานในการเปลี่ยนนายจ้าง และปรับปรุงแก้ไขเอกสารขึ้นทะเบียนของแรงงานให้เป็นปัจจุบัน รัฐบาลรายงานว่า คณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานซึ่ง รง. จัดตั้งขึ้นในช่วงการรายงานที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบนายจ้างและสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงในการค้ามนุษย์สูง อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีค้ามนุษย์ใด ๆ ในช่วงการรายงานนี้ รง. ได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และเรือประมง และพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน 6,795 ครั้ง รง. ตรวจสอบสถานประกอบกิจการ 55,028 แห่งเพื่อระบุการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และพบว่านายจ้าง 1,093 รายฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน รง. ส่งต่อคดี 733 คดีเพื่อสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม และปรับนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนเงินรวม 2.59 ล้านบาท (75,030 เหรียญสหรัฐ) ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า บางครั้งพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบจนเสร็จสิ้นหากเจ้าของบริษัทเป็นผู้มีอิทธิพล และพนักงานตรวจแรงงานมีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานเพียงเล็กน้อย ซึ่งมักจะเป็นเพราะอุปสรรคด้านภาษา ส่งผลให้ไม่สามารถระบุข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ดำเนินการตรวจแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นทางการ เช่น การทำไร่และเกษตรกรรมตามฤดูกาล ซึ่งแรงงานต่างด้าวและเด็กมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับใช้แรงงาน ทางการมีศูนย์ตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือเพื่อยืนยันว่าเรือประมงดำเนินงานโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีรายงานว่า เรือประมง 63 ลำฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ รัฐบาลได้แก้ไขคู่มือมาตรฐานระเบียบปฏิบัติด้านการตรวจสอบสำหรับการตรวจแรงงานที่ท่าเรือ ซึ่งจัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2562 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่ และการตรวจแรงงานที่ท่าเรือยังคงขาดความสม่ำเสมอและไม่มีประสิทธิผลในการระบุกรณีต้องสงสัยการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง บ่อยครั้งเนื่องมาจากไม่ได้ใช้วิธีสัมภาษณ์ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลัก ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า เจ้าของเรือประมงบางรายและสถานประกอบกิจการบางแห่งได้รับการเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจแรงงาน อีกทั้งยังระบุว่า ไม่มีล่ามให้ความช่วยเหลือแรงงานขณะตรวจแรงงาน และมีนายจ้าง รวมทั้งไต้ก๋ง อยู่ด้วยขณะตรวจสอบแรงงาน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้แรงงานไม่รายงานทางการหากตนถูกแสวงประโยชน์ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานอีกว่า พนักงานตรวจแรงงานสั่งไม่ให้ล่ามแปลรายงานจากแรงงาน ซึ่งเป็นรายงานที่มีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับแรงงาน เช่น การให้ทำงานยาวนานเกินไปหรือการละเมิดค่าแรง คู่มือการตรวจแรงงานที่ได้รับการแก้ไขมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานกรณีแรงงานประมงสูญหาย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ศูนย์ตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือไม่ได้ใช้ขั้นตอนการส่งต่อกรณีแรงงานประมงสูญหายระหว่างออกทะเลโดยมีมาตรฐานเดียวกันในทุกกรณี รวมถึงการระบุข้อบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์บนเรือประมงก่อนที่พวกเขาจะสูญหาย ทางการตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่ง 244 ลำ แต่ไม่พบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายใด ๆ การตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่งยังไม่ได้มีการตรวจหาการละเมิดแรงงานอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการจัดหาล่ามเพื่อสัมภาษณ์ลูกเรือต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ ทางการไม่เคยรายงานว่า ได้ระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอันเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรือประมง รัฐบาลได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ เช่น การร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเข้าประเทศ
ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์:
ดังที่มีการรายงานตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย และจากผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ นักค้ามนุษย์ด้านแรงงานและทางเพศแสวงประโยชน์จากผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเด็กจากประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย ยังประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ เด็กจากประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเป็นผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล หลังจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับบาร์และสถานที่พบปะอื่น ๆ เนื่องจากโรคระบาดใหญ่ นักค้ามนุษย์ก็ใช้บ้านพักส่วนบุคคลมากขึ้น โดยรวมถึงพื้นที่นอกเขตเมือง ซึ่งทำให้ทางการตรวจพบกิจกรรมการค้ามนุษย์ได้ยากขึ้น นักค้ามนุษย์ชักจูงเด็กหญิงและเด็กชายชาวไทยให้แสดงท่าทางที่ส่อในทางเพศผ่านสื่อวีดิทัศน์และภาพถ่ายบนอินเทอร์เน็ต โดยบางครั้งขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพลามกของเด็ก นักค้ามนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันสำหรับการสนทนาหรือหาคู่ ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ล่อลวงเด็กเพื่อค้าประเวณี เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ เด็กที่ครอบครัวตกงานเพราะผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวชาวต่างด้าว เสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กชาวไทยประมาณ 177,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย ใช้แรงงานอยู่ในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเกษตร บริการร้านรับซ่อมยานยนต์และบริการอื่น ๆ การก่อสร้าง การผลิต และในงานด้านบริการ เด็กเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกบังคับใช้แรงงาน มากกว่าครึ่งของแรงงานเด็กจำนวนนี้ไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน และหลายคนต้องเผชิญสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายและมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวและไม่ปกติ และส่วนใหญ่แล้วเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ นายหน้าหรือบิดามารดาบางรายบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้หรือสินค้าอื่นตามถนน ตลอดจนให้เด็กขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตเมือง นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้สูงอายุและผู้พิการจากกัมพูชาถูกบังคับให้ขอทานในไทยด้วย มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยสรรหาและใช้เด็กในกิจกรรมก่อความไม่สงบ
นักลักลอบขนคนเข้าเมือง นายหน้า นายจ้าง และบุคคลอื่นแสวงประโยชน์จากแรงงานชาวไทยและชาวต่างด้าวด้วยการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคการประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลายโดยมีนัยสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล อ้อย และยาง สถานการณ์ความไม่สงบ ความขัดแย้ง และความยากลำบากทางเศรษฐกิจส่งผลให้พลเมืองในพม่าอพยพเข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ผ่านช่องทางที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 ผู้อพยพเหล่านี้ ตลอดจนแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการทำงานในประเทศไทย เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ในไทย การอพยพที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เครือข่ายนายหน้านอกระบบซึ่งทำงานในไทยกับพม่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเครือข่ายดังกล่าวจะจัดหางานให้กับผู้อพยพทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มและบนเรือประมง
แรงงานจำนวนมากจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงให้กับนายหน้า สำนักงานจัดหางาน และบุคคลอื่นก่อนและหลังเดินทางถึงประเทศไทย บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานผู้เสียหายเพราะติดหนี้อยู่ ตลอดจนใช้กระบวนการการจ้างงานที่หลอกหลวงแรงงาน ยึดเอกสารประจำตัวและบัตรเอทีเอ็ม หักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย และใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อบังคับใช้แรงงาน นายจ้างยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเพื่อบังคับให้พวกเขาไม่เปลี่ยนงาน นอกเหนือจากการจ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่ให้แรงงานมีวันหยุด คนงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเลและภาคการประมงต้องเผชิญกับการบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารทะเลที่สามารถเก็บรักษาโดยไม่ต้องแช่เย็นได้มากขึ้นระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ และยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยด้วย แรงงานเกาหลีเหนือในประเทศไทยอาจทำงานภายใต้สภาพการทำงานที่ถูกแสวงประโยชน์ และมีข้อบ่งชี้มากมายถึงการบังคับใช้แรงงาน
เจ้าของเรือประมง นายหน้า และลูกเรืออาวุโสบังคับใช้แรงงานชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย บนเรือจับปลาที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ บางครั้งน้อยถึงปีละหนึ่งครั้ง เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางรายข่มขู่ เฆี่ยนตี และวางยาแรงงานประมงเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น รวมทั้งขายยาให้แรงงานประมงเพื่อทำให้พวกเขาเป็นหนี้มากขึ้น เจ้าของเรือประมงยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางรายในภาคการประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย นายจ้างในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลมักจะดำเนินการหักค่าจ้างด้วยวิธีการที่สร้างความสับสน โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมเอกสาร เงินล่วงหน้า และค่าดำเนินการอื่น ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่แรงงานจะทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่ถูกต้องของตน การศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 2562 และ 2563 พบว่า ร้อยละ 14-18 ของแรงงานประมงต่างด้าวถูกแสวงประโยชน์โดยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงไทย ซึ่งบ่งชี้ว่านักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากแรงงานนับหลายพันคนบนเรือประมง
การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่แสวงประโยชน์จากผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอำนวยให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลให้นักค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านเพิ่มขึ้นเพื่อแสวงประโยชน์จากผู้เสียหายในเขตเศรษฐกิจพิเศษและกิจการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศเพื่อนบ้าน มีรายงานว่า ตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และเรียกร้องให้พวกเขาจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่น ๆ เจ้าของโรงงาน และเจ้าของเรือประมงจากการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบ และการดำเนินคดี อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นบางรายปิดบังข้อมูลจากพนักงานอัยการเพื่อปกป้องนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกและแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ