รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2565

รายงานสรุป

รัฐธรรมนูญ “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” และปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นไม่เป็น “อันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” ทั้งนี้กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนา 5 กลุ่มอย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเรียกว่าเป็น 4 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศใกล้ชายแดนมาเลเซีย

ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาการกักตัวก่อนการพิจารณาคดีและขยายขอบเขตการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้ชาวมุสลิมกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การตรวจค้นยานพาหนะที่มีผู้โดยสารชาวมุสลิมมากกว่าปกติ ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ทางการปฏิบัติการบุกและตรวจค้นผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม 90 ครั้ง

เมื่อเดือนพฤษภาคม ผู้นำชุมชนมุสลิมคัดค้านการย้ายนายอำเภอชาวพุทธจากอำเภอในจังหวัดนราธิวาสไปกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวหาว่า นายอำเภอคนดังกล่าวใช้อำนาจโดยมิชอบและดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอิสลาม กลุ่มชาวพุทธเรียกร้องให้สืบสวนการย้ายดังกล่าว โดยอ้างว่า คำบอกเล่าและการกระทำของผู้นำชุมชนมุสลิมต่อนายอำเภอเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาพุทธ สื่อมวลชนและองค์กรนอกภาครัฐรายงานระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนจากประเทศจีนยังคงพำนักอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมาตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้ไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบุกตรวจค้นเพื่อควบคุมตัวผู้ลี้ภัย (รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา) ที่ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา

ยังคงมีการโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า จนถึงวันที่ 30 กันยายน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 88 ราย ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 57 ราย ชาวพุทธ 28 ราย และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 3 ราย เทียบกับผู้เสียชีวิต 86 รายในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ซึ่งประกอบไปด้วยชาวมุสลิม 59 ราย ชาวพุทธ 26 ราย และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 2 ราย ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มเดียวกันก่อเหตุวางระเบิดและวางเพลิงโจมตีร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน 17 จุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 7 รายในเหตุการณ์โจมตีที่เรียกว่ารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรอบ 4 ปี ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิมก่อเหตุโจมตีในอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ส่งผลให้หญิงชาวพุทธ 1 รายสูญเสียขาทั้ง 2 ข้างในเหตุการณ์ที่คนร้ายลอบวางทุ่นระเบิด และก่อเหตุโจมตีในอำเภอเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ส่งผลให้ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ 2 รายถูกยิงเสียชีวิต

กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธบางกลุ่มยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าชาวมุสลิมได้รับสิทธิพิเศษ เมื่อวันที่ 20 กันยายน องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ เรียกร้องให้เจ้าของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น หยุดขายสินค้าที่มีตราฮาลาล โดยโต้แย้งว่า มีชาวพุทธและชาวคริสต์ในประเทศไทยมากกว่าชาวมุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมไม่ควรต้องซื้อสินค้าราคาแพง ซึ่งมีตราฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้มีการกำหนดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เฝ้าถวายสักการะเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดในศาสนาพุทธของไทย ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และยืนยันถึงความเคารพที่สหรัฐฯ มีต่อศาสนาพุทธ ในระหว่างปี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจัดงานเลี้ยงละศีลอดสำหรับผู้นำชุมชนมุสลิมคนสำคัญ 32 คน เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนา การยอมรับความแตกต่าง และการเสวนาระหว่างความเชื่อ เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พบกับผู้นำและผู้รู้ทางศาสนา องค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรศาสนาต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับพหุนิยมทางศาสนา การยอมรับความต่างทางศาสนา และความทุกข์ยากที่ผู้ลี้ภัยจากความรุนแรงอันเป็นผลมาจากศาสนาความเชื่อต้องเผชิญ เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาในประเทศ ตลอดจนมีส่วนร่วมบ่อยครั้งในการพูดคุยกับผู้นำทางศาสนาในประเด็นเกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มอบทุนสนับสนุนจำนวนหลายทุนให้แก่ภาคีในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับโครงการที่เน้นความหลากหลายและความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของเยาวชน การสร้างชุมชน และการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล/ข้อมูลบิดเบือน เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตยังจัดให้มีการพูดคุยกันทางออนไลน์ระหว่างผู้นำทางความเชื่อ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้จัดการชุมชน และผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเยาวชนมาร่วมการพูดคุยกันทุก ๆ ไตรมาส เพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับประเด็นเสรีภาพทางศาสนา ตลอดจนพิจารณาถึงความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ยังเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงละศีลอดให้แก่ผู้นำศาสนาในท้องถิ่น ตลอดจนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยได้มีส่วนในโครงการสร้างชุมชนหลากหลายความเชื่ออีกด้วย

หมวดที่ 1. ประชากรที่นับถือศาสนา

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณไว้ (เมื่อกลางปี 2565) ว่า ประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 69.6 ล้านคน ในเดือนธันวาคม 2564 กรมการศาสนารายงานว่า ร้อยละ 92.5 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 5.4 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.2 นับถือศาสนาคริสต์ ประชากรที่เหลือเป็นกลุ่มที่นับถือภูตผี ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาฮินดู ศาสนายูดาห์ ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า

ชาวพุทธส่วนใหญ่นำพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและการนับถือภูตผีมาประกอบศาสนพิธีของตนด้วย พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแบ่งออกเป็น 2 นิกายหลักด้วยกัน ได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมหานิกายมีความเก่าแก่และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในชุมชนสงฆ์

อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดใน 3 จังหวัดจาก 4 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั่วประเทศมีทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย ข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่

ผู้ที่มีเชื้อสายจีนและเวียดนามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือเถรวาท นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อสายจีนจำนวนมากรวมทั้งชาวเมี่ยน ยังนับถือลัทธิเต๋าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย ชาวคริสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน หรือเป็นกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือ กว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

หมวดที่ 2. สถานะด้านการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของรัฐบาล

กรอบทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญ “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” อีกทั้งยังระบุว่า มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา และอนุญาตให้ทุกคนนับถือศาสนา ปฏิบัติตามหลักศาสนา หรือประกอบกิจทางศาสนาใดก็ได้ตามที่ต้องการ ตราบใดที่เสรีภาพดังกล่าวมิได้ “เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสนาอื่น ๆ แต่ก็มีบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษโดยการให้ความรู้ เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และกำหนดมาตรการและกลไก “ในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

ในปี 2559 รัฐบาลทหารในขณะนั้นมีคำสั่งพิเศษให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครอง “ทุกศาสนาอันเป็นที่รับรอง” ในประเทศ แต่ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดูแลให้มี “การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง” ตามแนวทางของศาสนาโดยไม่ “บิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน” โดยคำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลอยู่ กฎหมายห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้มีการดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศาสนาพุทธและพระสงฆ์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (580 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญาห้ามดูหมิ่นหรือก่อความรบกวนในศาสนสถานหรือศาสนพิธีของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท (580-4,100 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนาอย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญยังคงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก”

กลุ่มศาสนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ได้รับยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ และได้รับการพิจารณาวีซ่าพักอาศัยเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ทางการไม่บังคับกลุ่มศาสนาให้จดทะเบียน และกลุ่มศาสนาต่าง ๆ อาจดำเนินการได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง ไม่ว่าจะได้รับการจดทะเบียนหรือการรับรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม กรมการศาสนารับผิดชอบในการจดทะเบียนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ยกเว้นกลุ่มพุทธที่ดูแลโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี

กรมการศาสนาอาจจดทะเบียนนิกายใหม่นอกกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มเฉพาะในกรณีที่นิกายดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อไปนี้ 1. มีสาวกทั่วประเทศอย่างน้อย 5,000 คน 2. มีหลักคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ในทางศาสนศาสตร์ 3. ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ 4. ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมซึ่งกรมการศาสนาจัดขึ้น โดยมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่มศาสนาที่ประสงค์จดทะเบียนกับกรมการศาสนาจะต้องยื่นเอกสารแสดงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการ ความสัมพันธ์ใด ๆ กับต่างประเทศ บัญชีรายชื่อสมาชิกบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนที่ตั้งของสถานที่บริหาร ศาสนสถาน และสำนักสอนศาสนา อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติและด้วยนโยบายแล้ว รัฐบาลจะไม่รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ อีกนอกจาก 5 กลุ่มหลักข้างต้น

รัฐธรรมนูญห้ามนักบวช สามเณร พระสงฆ์ และพระอื่น ๆ ในศาสนาพุทธลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาระบุว่า ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 มีพระสงฆ์ 239,023 รูปซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้นักบวชในศาสนาคริสต์สวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ นอกจากจุฬาราชมนตรี (ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม) แล้ว อิหม่ามไม่ถือว่าเป็นพระหรือนักบวช ดังนั้นจึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

มหาเถรสมาคมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่ต้องคำนึงถึงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบหรือทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราช ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

ประมวลกฎหมายอาญาห้ามกระทำการใด ๆ ที่เหยียดหยามหรือดูหมิ่นศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนสถาน มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท (58-410 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายบัญญัติให้สถานศึกษาทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนากับนักเรียนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น หลักสูตรต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม นักเรียนที่ต้องการจะศึกษาศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างละเอียดอาจเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน และโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนรัฐบาลได้ โรงเรียนที่ร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนได้รับอนุญาตให้เปิดวิชาศาสนศึกษาเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันมีโรงเรียนคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านหลักสูตรและการจดทะเบียนอยู่ประมาณ 350 แห่ง มหาเถรสมาคมจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านพุทธศาสนศึกษา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ในภาคบังคับของโรงเรียนรัฐบาล

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาชิกชาวมุสลิมที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามแก่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม รวมถึงมอบเงินทุนสำหรับการก่อสร้างมัสยิดและการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีโรงเรียนอิสลามระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ นักเรียนสามารถรับการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้ 1. จากโรงเรียนที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนและเปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรระดับประเทศ 2. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนที่เปิดสอนวิชาอื่น ๆ นอกเหนือจากวิชาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น วิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล 3. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนประเภทไปกลับที่เปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรของโรงเรียนให้แก่นักเรียนทุกวัย และ 4. จากหลักสูตรศาสนาหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งมักจะจัดสอนที่มัสยิด

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก ศาลจังหวัดบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮ์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษา กฎหมายได้วางโครงสร้างบริหารของชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างเป็นทางการ รวมถึงกระบวนการในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการด้านกิจการศาสนาอิสลาม

กรมการศาสนากำหนดจำนวนผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานในประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้ ชาวคริสต์  1,357 คน ชาวมุสลิม 6 คน ชาวฮินดู 20 คน และชาวซิกข์ 41 คน การขึ้นทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น ตัวแทนของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มอาจขอวีซ่าอายุ 1 ปีแบบต่ออายุได้ ผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติจากกลุ่มศาสนาอื่น ๆ จะต้องต่ออายุวีซ่าทุก ๆ 90 วัน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แนวทางปฏิบัติของรัฐบาลไทย

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการบุกและตรวจค้นผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม จำนวน 90 ครั้ง และระหว่างช่วงรายงานนี้ มีผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบเสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย ในการปะทะกับเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง กลุ่มด้วยใจซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนอกภาครัฐ ตั้งคำถามเกี่ยวกับระดับความรุนแรงที่ใช้ในปฏิบัติการดังกล่าว องค์กรนอกภาครัฐ International Crisis Group ระบุว่า การกลับมามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเดือนมกราคมส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะหยุดยิงชั่วคราวในเดือนรอมฎอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทั่วไปที่จะลดความรุนแรง ในเวลาต่อมา รัฐบาลแถลงว่ายังคงเดินหน้าเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่องในเดือนสิงหาคมหลังเกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบหลายครั้ง

ผู้นำชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ กลุ่มด้วยใจยังคงแสดงความกังวลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจัดเก็บดีเอ็นเอจากผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบและสมาชิกครอบครัวของพวกเขา กลุ่มด้วยใจรายงานว่า จนถึงเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเก็บดีเอ็นเอได้จากผู้ต้องสงสัย 107 คน และสมาชิกครอบครัว 11 คน ซึ่งรวมถึงสตรี 1 คน และเด็ก 1 คน โฆษกประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคใต้กล่าวว่า กองทัพจะยังเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากทหารเกณฑ์ที่สมัครใจต่อไป

ผู้นำชุมชนมุสลิมคัดค้านการย้ายนายวิชาญ ชัยเศรษฐ์สัมพันธ์ ชาวพุทธและนายอำเภอรือเสาะในจังหวัดนราธิวาสชายแดนใต้ไปยังกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวหาว่า นายวิชาญใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้วาจาไม่สุภาพกับชาวมุสลิม ในวันที่ 22 เมษายน อธิบดีกรมการปกครองได้ออกคำสั่งย้ายนายวิชาญ และในวันที่ 25 พฤษภาคม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิชาญไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอในอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส โดยมีการคัดค้านจากชุมชนมุสลิม กลุ่มชาวพุทธเรียกร้องให้มีการสืบสวนเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการย้ายของนายวิชาญ โดยอ้างว่า คำบอกเล่าและการกระทำของผู้นำชุมชนมุสลิมต่อนายอำเภอเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาพุทธ จนถึงสิ้นปี ยังคงมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการโยกย้ายดังกล่าว

ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2548 และ 2547 ตามลำดับ ซึ่งให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาการกักตัวก่อนการพิจารณาคดีและขยายขอบเขตการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้ชาวมุสลิมกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การตรวจค้นยานพาหนะที่มีผู้โดยสารชาวมุสลิมบ่อยกว่าปกติ

ไครียะห์ ระหมันยะ นักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนมุสลิม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามเธอเนื่องจากให้การสนับสนุนชาวบ้านที่ถูกลิดรอนสิทธิในจังหวัดภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในปี 2564 ทางการตั้งข้อหาละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกับไครียะห์และชาวบ้านอีก 36 คน หลังจากนั่งประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนชุมชนมุสลิมทางใต้ของประเทศ ซึ่งกล่าวว่า การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะส่งผลเสียต่อที่ดินและการทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขา

รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนระบุว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทยบางคนหลบหนีการข่มเหงทางศาสนามาจากประเทศของตน UNHCR ระบุว่า ตามกฎหมายของไทยแล้ว ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เข้าประเทศโดยไม่มีวีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย จึงอาจถูกจับกุม กักตัว และส่งตัวกลับประเทศ ไม่ว่าจะได้ลงทะเบียนกับทาง UNHCR ไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม จากข้อมูลของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม เช่น UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญองค์กรภาคประชาสังคม ระบุว่า ในปีนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติการบุกตรวจค้นและจับกุมผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่พำนักในประเทศโดยผิดกฎหมายน้อยกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา

โดยปกติแล้ว ทางการจะไม่เนรเทศบุคคลที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวอยู่ได้ ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ ซึ่งรวมถึงผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา รายงานว่า ตนพักอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสภาพแออัดเป็นเวลาหลายปี ในหลายกรณี ทางการให้แม่และเด็กอยู่ในสถานพักพิง เพื่อปฏิบัติตามนโยบายลดการกักตัวผู้อพยพที่เป็นเด็ก ในทางปฏิบัติ สถานพักพิงดังกล่าวมีพื้นที่มากกว่าศูนย์กักกันฯ แต่ยังคงจำกัดเสรีภาพในการเดินทางอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ระหว่างปีมีรายงานจำนวนมากจากองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐที่ระบุว่า ทางการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กในศูนย์กักกันฯ หรือสถานีตำรวจในท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงเด็กชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนาและชาติพันธุ์มาจากพม่า

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานในระหว่างปีว่า สมาชิกของกลุ่มฝ่าหลุนกงจากจีนซึ่งมีสถานะผู้ลี้ภัย ถูกตำรวจตรวจสอบหรือจับกุมเป็นช่วง ๆ UNHCR รายงานว่า ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวจีนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ที่ถูกกักตัว ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับไปสู่อันตรายในจีน

สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนที่มาจากจีนยังคงพำนักอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมาตั้งแต่ปี 2558 รวมถึงชาวอุยกูร์ 5 คนที่ยังคงถูกคุมขังจากความผิดที่เกี่ยวข้องกับความพยายามหลบหนี องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานว่า ทางการจีนยังคงกดดันให้รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนโดยที่พวกเขาไม่ยินยอม กลุ่มที่ดำเนินงานด้านมนุษยธรรมดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้บุคคลเหล่านี้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่ปลอดภัยตามความประสงค์ของพวกเขา

รัฐบาลยังคงเดินหน้าสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พระสงฆ์อาวุโสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยักยอกทรัพย์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตำรวจจับกุมพระสิทธิวรนายก เจ้าอาวาสวัดเขาทุเรียนในข้อหายักยอกและฟอกเงิน หลังถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินวัดหลายแห่งเป็นจำนวนรวม 110,000,000 บาท (3.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในระยะเวลา 9 ปี เจ้าหน้าที่ทางการยังบุกตรวจค้นวัดอื่น ๆ อีก 11 แห่งในจังหวัดนครนายก กรุงเทพมหานคร และนนทบุรีด้วย ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศว่า ได้ชี้มูลความผิดไปแล้ว 52 สำนวน และยังคงดำเนินการสืบสวนคดีอื่น ๆ อีก 46 สำนวนที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 26.7 ล้านบาท (773,000 เหรียญสหรัฐ) ป.ป.ช. ระบุว่า ได้ส่งสำนวนคดี 24 สำนวนให้ตำรวจเพื่อสืบสวนต่อไป

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า กระทรวงวัฒนธรรมรับรองศาสนสถาน 9 แห่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 สิงหาคม ได้แก่ วัดคาทอลิก 3 แห่ง และวัดพุทธ 6 แห่ง แหล่งข่าวคาทอลิกกล่าวว่า วัดคาทอลิกทั้ง 3 แห่งรอการพิจารณารับรองมาเป็นเวลา 93 ปี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การรับรองวัดคาทอลิกดังกล่าวเป็นแนวทางส่งเสริมความสมานฉันท์ทางศาสนา

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการรับรองหรือจดทะเบียนอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย แต่กลุ่มประชาสังคมยังคงรายงานว่า กลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถดำเนินการได้อย่างเสรี และการที่รัฐบาลไม่รับรองหรือจดทะเบียนกลุ่มศาสนาเพิ่มเติมก็ไม่ได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้แต่อย่างใด สมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงยังคงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาดูสมาชิกกลุ่ม และบางครั้งก็ข่มขู่ผู้ฝึกที่แจกเอกสารของกลุ่มด้วย แม้ว่าการจดทะเบียนจะให้สิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น แต่กลุ่มศาสนารายงานว่า การไม่จดทะเบียนไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อกิจกรรมการประกาศศาสนาของครูสอนศาสนาต่างชาติ และผู้เผยแผ่ศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากทำงานในประเทศได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง

ภิกษุและคณะกรรมการวัดยังคงปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมในปี 2561 ซึ่งห้ามใช้พื้นที่ของวัดจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมือง การประชุม หรือสัมมนาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยทางสังคม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเดือนมกราคม พระภิกษุฝีปากกล้าชื่อดัง 3 รูปในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมพงษ์ รตนวํโส สมัครใจลาสิกขาจากสมณเพศภายใต้ความกดดันหลังจากที่ผู้นำชุมชนพุทธวิจารณ์ที่พวกเขาสนับสนุนการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา มีรายงานว่า พระเถรชั้นผู้ใหญ่แจ้งให้เจ้าอาวาสขับพระทั้งสามรูปออกจากวัด มิฉะนั้นจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ศาลจังหวัดยะลาได้สั่งจำคุกนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ เป็นเวลา 8 ปี หลังจากตัดสินโทษกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติซึ่งเป็นชาวมุสลิม ในเวลาต่อมา ศาลได้ลดโทษลงเหลือ 5 ปี 4 เดือน ในวันที่ 24 มีนาคม ศาลจังหวัดนราธิวาสได้สั่งจำคุกนายอัยย์ในอีกคดีหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานหมิ่นประมาทนายวันมูหะมัดนอร์เช่นเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ยังได้ฟ้องคดีแพ่งนายอัยย์ที่ศาลทั้งสองแห่งในข้อหาหมิ่นประมาทอื่น ๆ กรณีที่นายอัยย์โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์กล่าวหาว่า นักการเมืองคนนี้เป็นผู้นำขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสิ้นปี คดีอาญายังคงอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ และศาลยังไม่ได้ตัดสินความผิดในส่วนของคดีแพ่ง

กฎหมายยังคงไม่รับรองสถานะของภิกษุณีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม มหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ผู้หญิงที่ประสงค์ครองสมณเพศมักเดินทางไปเข้ารับการอุปสมบทที่ศรีลังกา จากจำนวนนักบวชในพระพุทธศาสนา 239,023 รูปทั่วประเทศ มีภิกษุณี 250-300 รูป แต่เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา” ภิกษุณีจึงไม่ได้รับการคุ้มครองด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ เจ้าหน้าที่ทางการยังคงไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเป็นทางการ และยังอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติศาสนกิจและก่อตั้งอารามและวัดได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ อารามของภิกษุณียังคงไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากรัฐบาลเหมือนที่วัดในพระพุทธศาสนาได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ได้แก่ การยกเว้นภาษี การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างและดำเนินโครงการด้านสวัสดิการสังคม ภิกษุณีไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐบาลจากการประทุษร้ายทางวาจาและทางกาย เหมือนเช่นที่ภิกษุสงฆ์ได้รับ

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเดียวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ยังคงเปิดสอนหลักสูตรพิเศษให้แก่นักเรียนชาวมุสลิม โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย อังกฤษ อาหรับ และมลายู ตลอดจนจัดให้มีวิชาสันติศึกษาเป็นวิชาบังคับ และผนวกหลักการทางศาสนาเข้ากับวิชาส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จนถึงเดือนกันยายน มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีนักศึกษา 2,987 คน และบุคลากรวิชาการ 444 คน มหาวิทยาลัยคริสเตียนของเอกชน 2 แห่ง และวิทยาลัยคาทอลิก 1 แห่ง ยังคงเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับศาสนาโดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และเปิดสอนให้แก่สาธารณชน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ศาลปกครองยะลาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัดสินให้นักเรียนมุสลิมสามารถใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียนอนุบาลปัตตานีได้ ส่งผลให้การต่อสู้กันในชั้นศาลระยะเวลา 4 ปีสิ้นสุดลง และชี้ให้เห็นว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบโดยไม่อนุโลมการแต่งกายตามหลักศาสนานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลและสั่งให้นักเรียนยังคงสวมแต่เครื่องแบบนักเรียนต่อไป นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมคนหนึ่งเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่งให้โรงเรียนดังกล่าวปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล

สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมการศาสนาสำหรับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาประมาณ 294 ล้านบาท (8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ ประมาณ 261.4 ล้านบาท (7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) จัดสรรไว้สำหรับวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้งความร่วมมือระหว่างความเชื่อ ผ่านโครงการสร้างสันติภาพต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับปีงบประมาณก่อนหน้า ในปี 2564 รัฐบาลจัดสรรงบจำนวนประมาณ 9.2 ล้านบาท (267,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กษัตริย์ในรัชกาลก่อนด้วย กรมการศาสนายังได้รับเงินจำนวน 1.1 ล้านบาท (32,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับโครงการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบจำนวน 4,190 ล้านบาท (121.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแยกต่างหากจากกรมการศาสนา เทียบกับ 2,580 ล้านบาท (74.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า

รัฐบาลยังคงให้การรับรองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประเด็นด้านศาสนาอิสลาม การตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งมัสยิด การย้ายมัสยิด การรวมมัสยิด และการยุบเลิกมัสยิด การแต่งตั้งอิหม่าม รวมทั้งการออกประกาศและการอนุมัติศาสนกิจของศาสนาอิสลาม สมาชิกคณะกรรมการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรายงานว่า คณะกรรมการบางคนให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับประเด็นชาติพันธุ์ชาตินิยมและความตึงเครียดทางศาสนาในพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล

ไทยมีพระสงฆ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศอาศัยอยู่ โดยได้รับเงินทุนบางส่วนจากรัฐบาล จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์ที่เผยแผ่ศาสนาทั่วประเทศมีจำนวน 5,243 รูป โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ตามกฎข้อบังคับของทางการ พระภิกษุต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ

ในระหว่างปี กลุ่มครูสอนศาสนาต่างชาติที่จดทะเบียนและมีวีซ่าดำเนินงานในประเทศมีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ ศาสนาคริสต์ 6 กลุ่ม ศาสนาอิสลาม 1 กลุ่ม ศาสนาฮินดู 2 กลุ่ม และศาสนาซิกข์ 2 กลุ่ม ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลรายงานว่า มีผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่จดทะเบียนจำนวน 1,357 คน กลุ่มมุสลิม ซิกข์ และฮินดูมีครูสอนศาสนาในประเทศในจำนวนที่น้อยกว่า ชาวต่างชาติบางคนเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และทำงานเผยแผ่ศาสนาหรือกิจกรรมสนับสนุนผู้เผยแพร่ศาสนา นอกจากนี้ ยังมีจำนวนหนึ่งที่เผยแผ่ศาสนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา ครูสอนศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้รับเงินทุนหรือเงินช่วยเหลือจากรัฐ

ถึงแม้ว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (มอรมอน) จะไม่ได้เป็นกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง แต่ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีผู้สอนศาสนาเต็มจำนวน 200 คนได้เป็นพิเศษ

หมวดที่ 3. สถานภาพของการให้ความเคารพทางสังคมต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

เนื่องจากศาสนาและชาติพันธุ์มักมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการยากที่จะจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิมว่ามีพื้นฐานจากอัตลักษณ์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า จนถึงวันที่ 30 กันยายน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมถึงความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 88 ราย ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 57 ราย ชาวพุทธ 28 ราย และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 3 ราย เทียบกับผู้เสียชีวิต 86 รายในปี 2564 ซึ่งประกอบไปด้วยชาวมุสลิม 59 ราย ชาวพุทธ 26 ราย และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 2 ราย ผู้สังเกตการณ์ให้เหตุผลว่า จำนวนที่ลดลงเป็นผลร่วมระหว่างการกลับมามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ การปรับปรุงการปฏิบัติการด้านความมั่นคง และผลกระทบจากโรคโควิด-19 องค์กรนอกภาครัฐในพื้นที่รายงานว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมักมองว่าครูและทหารที่อารักขาครูมีความเกี่ยวข้องกับรัฐ จึงถือเป็นเป้าโจมตีอันชอบธรรม

ในวันที่ 13 พฤษภาคม ครูชาวพุทธคนหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บขณะที่เธอขับรถอยู่ในจังหวัดยะลา เมื่อสิ้นปี ทางการกำลังดำเนินการสืบสวนหาแรงจูงใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ในวันที่ 31 มีนาคม ครูชาวมุสลิมคนหนึ่งถูกคนร้ายไม่ทราบชื่อยิงบาดเจ็บสาหัสขณะขี่รถจักรยานยนต์อยู่ในจังหวัดยะลา มีรายงานว่า ครูคนดังกล่าวเป็นน้องชายของสมาชิกแบ่งแยกดินแดนของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งถูกจับกุม 3 ครั้งในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ทางการกำลังดำเนินการสืบสวนหาแรงจูงใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ในวันที่ 10 เมษายน ครูชาวมุสลิมคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังกลับบ้านจากมัสยิดในจังหวัดปัตตานี ทางการกำลังดำเนินการสืบสวนหาแรงจูงใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิมก่อเหตุโจมตีในอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ส่งผลให้หญิงชาวพุทธ 1 รายสูญเสียขาทั้ง 2 ข้างในเหตุการณ์ที่คนร้ายลอบวางทุ่นระเบิดที่สวนยางของตน และทหารพรานเสียชีวิต 1 ราย ในเวลาต่อมา เกิดเหตุระเบิดลูกที่ 2 ขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 รายได้รับบาดเจ็บขณะกำลังสืบสวนเหตุการณ์ระเบิดครั้งแรกอยู่

ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มเดียวกันก่อเหตุวางระเบิดและวางเพลิงโจมตีร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน 17 จุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 7 รายในเหตุการณ์โจมตีที่เรียกว่ารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรอบ 4 ปี

ในวันที่ 3 สิงหาคม ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบชาวมุสลิมยิงชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธเสียชีวิต 2 รายขณะล่าหมูป่าอยู่ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อสิ้นปี ยังคงมีการสืบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีดังกล่าว

รายงานความรุนแรงต่อกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบเชื้อสายมาเลย์มุสลิมยังคงโจมตีชาวพุทธและชาวมุสลิมอยู่

กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธบางกลุ่มยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าชาวมุสลิมได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ความช่วยเหลือด้านการเงิน การจ้างงาน และการลดเกณฑ์การสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียนชาวมุสลิม

ในวันที่ 4 สิงหาคม ชาวมุสลิมประมาณ 1,000 คนในจังหวัดสงขลาคัดค้านแผนการสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอ้างว่า รูปปั้นดังกล่าวจะสร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและเป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมในพื้นที่

ในเดือนมกราคม สมาคมปกป้องพระพุทธศาสนาในจังหวัดสกลนครและภูเก็ตร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดลดความดังของเสียงเรียกละหมาดประจำวัน โดยเรียกร้องให้นำลำโพงออกและให้มัสยิดลดความดังของเสียงละหมาดประจำวัน

ในวันที่ 20 กันยายน องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ เรียกร้องให้เจ้าของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น หยุดขายสินค้าที่มีตราฮาลาล โดยโต้แย้งว่า มีชาวพุทธและชาวคริสต์ในประเทศไทยมากกว่าชาวมุสลิม และผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมไม่ควรต้องซื้อสินค้าราคาแพง ซึ่งมีตราฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นโยบายของพรรคแผ่นดินธรรม ซึ่งมีนายกรณ์ มีดี ชาวพุทธชาตินิยม เป็นหัวหน้าพรรค สนับสนุนให้กำหนดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และเรียกร้องให้มีการตั้งชุมชนชาวพุทธแยกเป็นพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ข้อมูลคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า จนถึงปี 2563 พรรคมีสมาชิก 10,357 คน และมีสำนักงานอยู่ใน 5 ภูมิภาค ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคได้รับคะแนนเสียง 21,463 คะแนน และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 170 คน แต่ไม่มีคนใดได้รับเลือก

หมวดที่ 4. นโยบายและการมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เฝ้าถวายสักการะเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และกราบทูลสนองพระดำรัสถึงความเคารพที่สหรัฐฯ มีต่อศาสนาพุทธในไทย โดยมีหัวข้อบทสนทนา ได้แก่ เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อในประเทศไทย รวมถึงบทบาทของศาสนาในการลดความขัดแย้งในโลก

เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ทุกระดับหารือกับรัฐบาลไทยอยู่เป็นประจำเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่หลบหนีจากความรุนแรงอันเป็นผลมาจากศาสนาความเชื่อ

ในวันที่ 6 เมษายน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจัดงานเลี้ยงละศีลอดสำหรับผู้นำชุมชนมุสลิมคนสำคัญ 32 คน เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนา การยอมรับความแตกต่าง และการเสวนาระหว่างความเชื่อ เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มักจะไปเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาในประเทศ และพบปะกับ UNHCR องค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรศาสนาต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับพหุนิยมทางศาสนา การยอมรับความต่างทางศาสนา และการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการข่มเหงทางศาสนา เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตมอบทุนสนับสนุนจำนวนหลายทุนให้แก่ภาคีในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับโครงการที่เน้นความหลากหลายและความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของเยาวชน การสร้างชุมชน และการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล/ข้อมูลบิดเบือน

เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จัดให้มีการประชุมทางออนไลน์กับผู้นำความเชื่อทุก ๆ ไตรมาส โดยเชิญนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้จัดการชุมชน และผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเยาวชนมาร่วมการพูดคุยเพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นเสรีภาพทางศาสนา ตลอดจนพิจารณาถึงความร่วมมือในอนาคต ในเดือนเมษายน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดงานเลี้ยงละศีลอดสำหรับผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ ตลอดจนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมีโอกาสในโครงการสร้างชุมชนระหว่างความเชื่อ