รายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทย

รายงานสรุป

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงดำรงตำแหน่งองค์พระประมุข เมื่อปี 2562 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยคณะรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี พรรคพลังประชารัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก คสช. และพรรคร่วมสนับสนุนอีก 18 พรรคชนะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และได้เลือกให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. ผู้นำคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และนายทหารชั้นยศนายพลที่เกษียณอายุแล้วดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ การเลือกตั้งโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แทบจะไม่มีรายงานความผิดปกติ แม้ว่ากรอบกฎหมายการหาเสียงการเลือกตั้งที่มีข้อจำกัดและการบังคับใช้ระเบียบเพียงบางส่วนโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐก็ตาม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการกองทัพไทยมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และกองบัญชาการกองทัพไทยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบพิเศษในพื้นที่ชายแดนเพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบ โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนกำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงใช้อำนาจโดยมิชอบในหลากหลายรูปแบบ

ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ได้แก่ รายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการทรมานและเหตุการณ์การปฏิบัติหรือลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ของทางการ, การจับกุมและคุมขังโดยพลการ, นักโทษการเมือง, การแทรกแซงทางการเมืองในกระบวนการพิจารณาคดี, การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยพลการหรือมิชอบด้วยกฎหมาย, การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสื่ออย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมไปถึงการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล การตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่ ตลอดจนการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา, การจำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอย่างเคร่งครัด, การแทรกแซงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการสมาคม, การจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง, การจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง, การทุจริตอย่างร้ายแรงในภาครัฐ, การคุกคามองค์กรสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ, การขาดการสืบสวนและตรวจสอบเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และการจำกัดเสรีภาพในการสมาคมของผู้ใช้แรงงานอย่างมีนัยสำคัญ

ทางการได้ดำเนินขั้นตอนการสืบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต อย่างไรก็ตาม การยกเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กฎอัยการศึกยังคงมีผลบังคับใช้ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลบังคับใช้ในทุกอำเภอยกเว้น 9 อำเภอในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยทั้ง 9 อำเภอนี้มีการยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินดังกล่าวในปี 2554 และใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแทน

ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนและโจมตีฝ่ายความมั่นคงของรัฐและเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ทั้งนี้ทางการได้สืบสวนและดำเนินคดีการกระทำดังกล่าว

หมวดที่ 1. การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล

ก. การสังหารตามอำเภอใจและการสังหารที่ผิดกฎหมายหรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง

ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมาย ซึ่งต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา

มีรายงานการสังหารที่กระทำโดยทั้งรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวดที่ 1.ช.)

ข. การหายสาบสูญ

ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการหายสาบสูญโดยหรือในนามของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในวันที่ 15 สิงหาคม สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คน จากเหตุฆาตกรรมนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงเมื่อปี 2557 ในข้อหากักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และอำพรางศพ ซึ่งทำให้สถานะของคดีเปลี่ยนจากบุคคลสูญหายเป็นต้องสงสัยฆาตกรรม

ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีอื่น ๆ ตลอดจนการกระทำทารุณอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญระบุว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” อย่างไรก็ดี มีรายงานที่น่าเชื่อถือว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการดังกล่าว พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ให้ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากการกระทำในระหว่างปฏิบัติตามหน้าที่ พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้บังคับใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกจังหวัด ยกเว้น 9 อำเภอใน 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโกลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตงและอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา และอำเภอไม้แก่น อำเภอยะหริ่ง และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ตุลาคม ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการยุติการยกเว้นโทษ รวมถึงเอาผิดทางอาญากับผู้กระทำการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้ว่าองค์กรนอกภาครัฐบางแห่งจะแสดงความกังวลว่า เนื้อหาล่าสุดของกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญที่หายไป แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมโดยทั่วไปถือว่าการผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและขู่กรรโชกนักโทษและผู้ต้องขัง และโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องถูกลงโทษ คำร้องเรียนแทบจะไม่นำไปสู่การลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมากที่การสอบสวนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้เวลานานหลายปีโดยที่ยังไม่มีข้อสรุป

ตัวแทนจากองค์กรนอกภาครัฐและองค์กรด้านกฎหมายรายงานว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อให้รับสารภาพ และหนังสือพิมพ์รายงานคดีหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่น ๆ ใช้ความรุนแรง

ในเดือนสิงหาคม สิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงในจังหวัดราชบุรี ถูกตั้งข้อหาจากการปฏิบัติต่อหญิงวัย 30 ปี (อดีตทหาร) เยี่ยงทาสเป็นเวลา 2 ปี รายงานข่าวระบุว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ทำร้ายร่างกายอดีตทหารคนดังกล่าว โดยใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า จุดไฟใส่ศีรษะ และเฆี่ยนตีเป็นประจำด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ ณ เดือนตุลาคม สมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งกำลังดำเนินการสอบสวนสมาชิกวุฒิสภารายหนึ่งที่มีรายงานว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์

การยกเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กฎอัยการศึกยังคงมีผลบังคับใช้ กระทรวงกลาโหมกำหนดให้ข้าราชการทหารเข้ารับการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการจัดฝึกอบรมข้าราชการในหลายระดับเป็นประจำ รวมทั้งข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ข้าราชการชั้นประทวน พลทหาร และทหารเกณฑ์ นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังกำหนดให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องลงเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน

สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน

เรือนจำและสถานกักกันต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึง สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงที่ไม่มีเอกสารประจำตัว และชาวต่างชาติที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง มีสภาพแย่และแออัดมาก ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กถูกกักตัวในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานีตำรวจในท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว แม้ว่ารัฐบาลจะขอให้ยุติการกักกันหรือหาหนทางอื่นนอกเหนือจากการกักกันก็ตาม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมบริหารงานเรือนจำ ในขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติบริหารงานศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

สภาพที่เลวร้าย: จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันสูงกว่าความสามารถรองรับได้ ณ เดือนพฤศจิกายน มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกัน 285,280 คน แต่สถานที่มีการออกแบบให้รองรับจำนวนผู้ต้องขังได้สูงสุดเพียง 210,000 ถึง 220,000 คน

ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า บริการทางการแพทย์มีไม่เพียงพอในเรือนจำหลายแห่ง บางครั้งทางการจะส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วยไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ

สภาพของศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายข้อที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป องค์กรนอกภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันบางแห่งร้องเรียนถึงสภาพที่แออัดและผิดหลักอนามัย เช่น ห้องมีอากาศถ่ายเทไม่ดี ไม่มีเวลาให้อยู่กลางแจ้ง ไม่สามารถใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ และมีบริการทางการแพทย์ไม่เพียงพอ

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บางครั้งทางการควบคุมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้องหรือดำเนินการตามขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า จนถึงเดือนสิงหาคม มีบุคคลที่ถือสถานะผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงของ UNHCR อย่างถูกต้องถูกกักขังอยู่ 21 คน

ประมาณร้อยละ 17 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี ผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป บ่อยครั้ง ทางการคุมขังผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในค่ายทหารหรือสถานีตำรวจแทนที่จะคุมขังในเรือนจำ

ตามกฎหมาย ทางการสามารถกักกันบุคคลต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้อยู่ในประเทศ รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลาหลายปีได้ เว้นแต่ว่าพวกเขาจะได้รับการประกันตัวหรือจ่ายค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศของตนเอง โดยปกติแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะควบคุมเยาวชนชายที่มีอายุมากรวมกับผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ แทนที่จะแยกไว้ในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับครอบครัว

การดำเนินการ: ทางการอนุญาตให้นักโทษหรือผู้แทนสามารถยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ แต่ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อฝ่ายตุลาการได้โดยตรง กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจสอบข้อความคำร้องเรียนและคำร้องทุกข์ต่าง ๆ ก่อนส่งเอกสารดังกล่าวไปยังองค์กรภายนอก ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถพิจารณาและตรวจสอบคำร้องเรียนและคำร้องทุกข์ที่ได้รับจากนักโทษและให้คำแนะนำแก่กรมราชทัณฑ์ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการในนามของนักโทษ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในคดี ยกเว้นแต่จะได้รับคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ไม่มีกลไกเกี่ยวกับการร้องเรียนและการควบคุมดูแลสำหรับผู้ถูกกักกันในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีการร้องทุกข์โดยเฉพาะจากชาวมุสลิมในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่ามีอาหารฮาลาลไม่เพียงพอ

การตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ: รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าเยี่ยมสังเกตการณ์เรือนจำได้ รวมถึงการเข้าเยี่ยมนักโทษโดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย และสามารถเข้าเยี่ยมได้อีกหลายครั้ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ไม่มีการตรวจสอบระบบทัณฑสถาน รวมถึงเรือนจำทหาร เช่น เรือนจำในมณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร จากหน่วยงานภายนอกหรือระหว่างประเทศ

ผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศได้รับอนุญาตอย่างจำกัดในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศเพื่อให้บริการและดำเนินการโยกย้ายถิ่นฐาน ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การเข้าถึงศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแต่ละแห่งแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด

ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ

รัฐธรรมนูญห้ามมิให้จับกุมและกักกันบุคคลใดตามอำเภอใจ รวมถึงให้สิทธิแก่บุคคลที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายเมื่อถูกจับกุมหรือกักกัน โดยทั่วไป รัฐบาลจะปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ แม้ว่าในทางปฏิบัติ จะมีการจับกุมและกักกันตามอำเภอใจในคดีความมั่นคงและการเมือง

พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่กักกันอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้นานสูงสุด 30 วัน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ (ดูหมวดที่ 1.ช.)

บทบัญญัติในพระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ยากแก่การร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งการกักขัง พระราชกำหนดฉุกเฉินระบุว่า ผู้ถูกกักขังมีสิทธิที่จะมีทนายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีหลักประกันว่าผู้ถูกกักขังจะได้พบทนายหรือญาติพี่น้องทันที และไม่มีมาตรการที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการทารุณผู้ถูกกักขัง นอกจากนี้ พระราชกำหนดฉุกเฉินยังคุ้มครองเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระราชกำหนดนี้ให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย ในหลายกรณี

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รัฐบาลยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ซึ่งมีการต่ออายุทุก ๆ เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ผู้วิจารณ์อ้างว่า พระราชกำหนดดังกล่าวถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ขั้นตอนการจับกุมและการปฏิบัติต่อบุคคลขณะถูกคุมขัง

กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุม และศาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติออกหมายจับตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กฎอัยการศึกยังคงมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอนุญาตให้คุมขังบุคคลได้นานสูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งว่าบุคคลที่ถูกจับกุมอาจถูกตั้งข้อหาอะไรบ้างในทันทีที่เข้าจับกุม และต้องอนุญาตให้บุคคลผู้นั้นสามารถแจ้งผู้ใดผู้หนึ่งถึงเรื่องที่ตนถูกจับกุม

กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหารสามารถติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวอ้างว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ให้โอกาสติดต่อทนายความ

กฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยในการขอประกันตัว และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว

การจับกุมตามอำเภอใจ: พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจทางการในการคุมขังบุคคลได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา (ดูหมวดที่ 1.ช.)

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุมนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับการเมือง โดยไม่มีหมายจับ รวมทั้งตั้งข้อหา “ได้มาซึ่งข้อความเอกสารหรือสิ่งใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ” และละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รายงานข่าวระบุว่า นายธนาพลถูกตั้งข้อหาดังกล่าวหลังจากเผยแพร่เอกสารของสภาความมั่นคงแห่งชาติทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเอกสารดังกล่าวออกคำสั่งติดตามความเคลื่อนไหวของอดีตนักการทูตไทยเกษียณอายุ ซึ่งกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อีกทั้งออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นายธนาพลซึ่งถูกบุกค้นห้องทำงานในเดือนมกราคม ได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา (ดูหมวดที่ 2.ก.)

การคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี: ผู้ต้องขังมักจะถูกคุมขังเป็นเวลานานเพื่อรอการพิจารณาคดี โดยเฉพาะในคดีการเมืองที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในระหว่างปีนี้ ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แม้ว่าผู้ต้องขังจะได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายทุกประการแล้ว ระหว่างเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัวชั่วคราวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลุ่ม “ทะลุวัง” 2 คน ได้แก่ เนติพร “บุ้ง” เสน่ห์สังคม และณัฐนิช “ใบปอ” ดวงมุสิทธิ์ จำนวน 7 ครั้ง โดยกล่าวว่า ทั้งสอง “อาจทำกิจกรรมหรือกระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ทั้งสองได้รับการประกันตัวในวันที่ 4 สิงหาคม หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 94 วัน

ทนายความแสดงความกังวลว่า มีการใช้กฎหมายหลายฉบับควบคู่กันในคดีความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยคดีการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ถูกกักขังเป็นเวลานาน

จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ และแม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะเคารพความเป็นอิสระและความเป็นธรรมของฝ่ายตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจกับรัฐบาลในการแทรกแซงเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ “ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ” กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กระบวนการตุลาการเพื่อลงโทษบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ขั้นตอนการพิจารณาคดี

รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่บุคคลในการได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระเป็นฝ่ายบังคับการให้สิทธินี้ตามกฎหมาย ยกเว้นในบางคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทางการไม่ได้จัดหาทนายให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐเสมอไป และมีการกล่าวหาว่า ทางการไม่ได้ให้สิทธิอย่างเต็มที่แก่จำเลยในระหว่างการพิจารณาคดีในศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเล็ก ๆ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล ในระหว่างปี มีรายงานว่า จำเลยถูกห้ามไม่ให้พบกับทนายความของตน หรือไม่ให้มีสมาชิกครอบครัวหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายอื่น ๆ เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของตน มีรายงานว่า บางครั้ง พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือศาลจะคัดค้านคำร้องขอหลักฐานของจำเลย

นักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง

จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ คาดประมาณว่า มีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 16 คน โดยส่วนใหญ่เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทางออนไลน์ และการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงที่นำโดยนักเรียนนักศึกษาระหว่างปี 2563-2564 ทางการอนุญาตให้องค์การด้านสิทธิมนุษยชนเข้าพบผู้ต้องขังทางการเมืองเหล่านี้ได้ และไม่มีรายงานว่า มีผู้ต้องขังทางการเมืองคนใดได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ต้องขังคนอื่น ๆ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายสมบัติ ทองย้อย อดีตนักเคลื่อนไหวเสื้อแดง ถูกตัดสินโทษจำคุก 6 ปี ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นายสมบัติถูกตั้งข้อหาหลังจากโพสต์ภาพหน้าจอบทความข่าว ซึ่งยกย่องนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ปฏิเสธเข้าร่วมในพิธีสำเร็จการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้นำการชุมนุมประท้วง 3 คน ซึ่งปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง มีเจตนาล้มล้างการปกครองและทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กรมราชทัณฑ์รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม มีผู้รอการพิจารณาคดีหรือจำคุกภายใต้กฎหมายที่ห้ามวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวดที่ 2.ก.) อย่างน้อย 74 ราย กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า บุคคลหลายรายถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีผู้ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 210 คน ซึ่งรวมถึงผู้เยาว์ 17 คน โดยส่วนใหญ่เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทางออนไลน์ และการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลระหว่างปี 2563 ถึง 2564

ขั้นตอนและการเยียวยาคดีความแพ่ง

กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลและหน่วยงานฝ่ายปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเคารพสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดฉุกเฉินที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดไว้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจถูกตรวจสอบโดยศาลปกครองหรือถูกดำเนินการทางแพ่งหรือทางอาญาได้ แต่ผู้เสียหายอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานรัฐได้

ฉ. การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการหรือมิชอบด้วยกฎหมาย

รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามการกระทำดังกล่าว ฝ่ายความมั่นคงยังคงใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉุกเฉินที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาลอย่างเป็นปกติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายอื่นที่อนุญาตให้ดำเนินการค้นหาและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล “ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” “เป็นเท็จ” หรือ “บิดเบือน” ยังคงถูกใช้อย่างกว้างขวาง (ดูหมวดที่ 2.ก.)

รัฐบาลตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงจดหมายและโทรศัพท์ โดยมีการกำกับดูแลที่จำกัด หน่วยงานรัฐบาลใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่องติดตาม รวมทั้งใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตลอดจนอุปกรณ์ดักจับการสื่อสารทางไกล การสอดส่องโดยรัฐบาลขาดกลไกการตรวจสอบและความโปร่งใส บทบัญญัติบางข้อไม่ให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลซึ่งตามจริงแล้วกำหนดไว้ในกฎหมาย อีกทั้งไม่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคล และให้อำนาจอย่างมากแก่รัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยปราศจากการพิจารณาทบทวนโดยศาลหรือการควบคุมดูแลในรูปแบบอื่น ๆ

มีรายงานจำนวนมากระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย รวมทั้งไปพบหรือสอดส่องที่บ้านหรือสถานที่ทำงานของบุคคลนั้น เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนอกเครื่องแบบ 4 คน เข้ามายังห้องพักของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตและถ่ายภาพห้องพักเอาไว้ เจ้าหน้าที่อ้างว่า กำลังติดตามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแกนนำกลุ่มชุมนุมประท้วงโดยนักเรียนนักศึกษา

ในเดือนกรกฎาคม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกับ Digital Reach และ Citizen Lab ในโตรอนโต นำเสนอข้อค้นพบที่แสดงให้เห็นว่า ทางการใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” ระหว่างปี 2563 และ 2564 เพื่อติดตามแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ จำนวน 30 คน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย ในเดือนพฤศจิกายน 2564 บริษัท Apple เตือนนักเคลื่อนไหวว่า พวกเขาเป็นเป้าหมายโจมตีของสปายแวร์

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม มีเอกสารข้อมูลรั่วแสดงรายชื่อนักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชนที่ทำข่าวการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ในการติดตามของตำรวจ เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่าย ที่อยู่ และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์

กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ระบุว่า ยังคงมีการบังคับเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จนถึงเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ทหารบังคับเก็บ DNA จากผู้ต้องสงสัย 107 ราย ซึ่งถูกคุมขังภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกครอบครัว 11 คน (ซึ่งไม่ได้ถูกคุมขัง) ของผู้ต้องสงสัย โดยมีเด็ก 1 คนรวมอยู่ด้วย

ช. การใช้อำนาจโดยมิชอบในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง

ยังคงเกิดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู การโจมตีโดยผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกิดขึ้นเป็นประจำได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและชาวไทยพุทธในพื้นที่

พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส (โดยมี 9 อำเภอได้รับการยกเว้น) ให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนบางส่วนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ตลอดจนมอบหมายอำนาจด้านการรักษาความมั่นคงภายในประเทศบางประการแก่กองทัพ พระราชกำหนดฉุกเฉินยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในปี 2549 ยังคงมีผลบังคับใช้ และให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การสังหาร: ไม่มีรายงานว่า กองกำลังของรัฐบาลกระทำการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ระบุข้อมูล ณ เดือนมิถุนายนว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงดำเนินการตรวจค้น 50 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบเสียชีวิต 7 ราย เจ้าหน้าที่รัฐยืนกรานว่า ผู้ต้องสงสัยในแต่ละคดีขัดขืนการจับกุม จึงจำเป็นต้องใช้กำลังรุนแรงจนถึงแก่ความตาย ซึ่งครอบครัวของผู้ต้องสงสัยและกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาโต้แย้งประเด็นข้ออ้างดังกล่าว ในเดือนกรกฎาคม กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานว่า มีบุคคล 14 ราย ถูกสังหารขณะปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคงระหว่างการตรวจค้นของตำรวจ

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า จนถึงเดือนมิถุนายน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 238 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 59 รายและได้รับบาดเจ็บ 86 ราย กลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบมุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงข้าราชการอำเภอและเทศบาล ทหาร และตำรวจ โดยใช้ระเบิดและการซุ่มยิง เช่นเดียวกับปีที่ผ่าน ๆ มา

เมื่อวันที่ 20 มกราคม หน่วยปฏิบัติการร่วมทหาร-ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดปัตตานี หลังได้รับรายงานว่า มีผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบหลายรายหลบซ่อนอยู่ที่บ้านหลังนั้น ในระหว่างการตรวจค้น ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบถูกสังหาร 2 ราย และเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หน่วยปฏิบัติการร่วมทหาร-ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งที่มัสยิดในจังหวัดสงขลา หลังได้รับรายงานว่า มีกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบหลบซ่อนอยู่ที่นั่นเพื่อเตรียมก่อเหตุความรุนแรง ระหว่างการตรวจค้นดังกล่าว เกิดเหตุปะทะกัน ส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยถูกสังหาร 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

ในเดือนสิงหาคม เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งที่ปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ต่าง ๆ 17 จุด ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ก่อเหตุขว้างระเบิดเพลิงไปยังตำแหน่งที่หมาย เพื่อสร้างความเสียหายให้กับร้านค้าและยานพาหนะ มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 รายและได้รับบาดเจ็บ 7 ราย

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่แฟลตตำรวจในจังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยศร้อยเอกเสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 43 ราย ในจำนวนนี้มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย

ข้าราชการทหารที่ออกปฏิบัติงานสนับสนุนการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงได้รับการอบรมพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการอบรมรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะที่อาจเกิดขึ้นได้โดยละเอียด

หมวดที่ 2. การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง 

ก. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนและสื่ออื่น 

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนและสื่ออื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายและการดำเนินงานของรัฐบาล เช่น รัฐบาลกำหนดข้อจำกัดด้านกฎหมายเกี่ยวกับการวิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ ข่มขู่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตรวจสอบสื่อและอินเทอร์เน็ต ตลอดจนปิดกั้นเว็บไซต์

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหนดว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกต่ำสุด 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ต่อความผิด 1 กระทง กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้หากพบเห็นผู้ใดกระทำการดังกล่าว

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนานุภาพ จากการปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ในปี 2563 เพื่อเรียกร้องให้ผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับการประกันตัว

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาลงโทษปรับและจำคุก นางสาวจตุพร “นิว” แซ่อึง เป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นางสาวจตุพรถูกกล่าวหาว่า สวมชุดไทยล้อเลียนสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ระหว่างการชุมนุมในปี 2563

จนถึงเดือนตุลาคม มีผู้ถูกฟ้องร้องฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวน 210 คน ใน 228 คดี โดยผู้ที่ถูกฟ้องนั้นมักจะถูกฟ้องข้อหาอื่นประกอบด้วย เช่น ยุยงปลุกปั่นและละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19

ความรุนแรงและการคุมคาม: ในเดือนมกราคม สื่อมวลชนที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเพื่อประชาธิปไตย เช่น “Live Real” และ “Friends Talk คุยกับเพื่อน” รวมถึงนายศิโรตม์ คล้ายไพบูลย์ พิธีกรช่องวอยซ์ทีวี รายงานว่า ถูกตำรวจคุกคามและติดตามความเคลื่อนไหว ตลอดจนคนในครอบครัวก็ถูกคุกคามด้วย

การตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่หรือการจำกัดเนื้อหาของสื่อมวลชนและสื่ออื่น ๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์: รัฐบาลเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงและให้ผู้ดำเนินการสื่อเอกชนเช่า ซึ่งทำให้รัฐบาลมีอิทธิพลทางอ้อมกับภูมิทัศน์สื่อได้ กฎหมายให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการระงับชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ดำเนินกิจการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถือว่าเป็นเท็จ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ ทางการเฝ้าตรวจสอบข้อมูลที่สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอ รวมทั้งสื่อต่างชาติด้วย สื่อในประเทศมีแนวโน้มที่จะตรวจสอบข้อมูลของตนเองก่อนเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่อาจวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์

พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจกับรัฐบาลในการ “ห้ามการตีพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจสร้างความตื่นตระหนก หรือมีเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูล” และยังให้อำนาจในการตรวจกรองข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอีกด้วย

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายภราดร เกตุเผือก สื่อมวลชน ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากการถ่ายทอดสดการแสดงความคิดเห็นหลังทนายความยื่นประกันตัวสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นายภราดรกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ามีข้อห้ามเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเนื่องจากเคยถ่ายทอดสดจากศาลมาหลายครั้ง ณ เดือนตุลาคม คดีของนายภราดรยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท: นอกเหนือจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา มีโทษปรับและจำคุก 2 ปี บุคคลในแวดวงทหารและนักธุรกิจฟ้องร้องนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และนักการเมือง ฐานหมิ่นประมาททางอาญาและโฆษณาหมิ่นประมาท

ในเดือนสิงหาคม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกรัฐสภาพรรคฝ่ายค้าน กรณีนำเสนอข้อมูลบิดเบือนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา เดือนกันยายน 2564 เมื่อนายรังสิมันต์กล่าวหาว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท

ความมั่นคงของชาติ: คำสั่ง คสช. หลายฉบับยังคงให้อำนาจรัฐในการจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ในเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 30 นาย ตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพื่อค้นหาหนังสือของนายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวที่ถูกคุมขังอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า หนังสือดังกล่าว ซึ่งรวบรวมคำปราศรัยในการชุมนุมประท้วงปี 2563 นั้น เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่พบหนังสือดังกล่าว แต่ก็ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ของนายธนาพล อิ๋วสกุล ผู้เป็นบรรณาธิการเอาไว้ เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงตีพิมพ์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ผลกระทบจากบุคคลนอกภาครัฐ: เมื่อวันที่ 23 เมษายน ผู้ชาย 4 คน เดินเข้ามาหานายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพสื่ออิสระ ระหว่างการชุมนุมปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากทราบว่านายณัฐพลเป็นสื่อมวลชนและเรียกดูโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายณัฐพลแล้ว ชายเหล่านั้นได้ใช้กระบองตีนายณัฐพล เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกภาพไว้ในกล้องวงจรปิดและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง คนร้ายถูกระบุตัวว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มขวาสุดโต่งที่ชื่อว่า อาชีวะปกป้องสถาบัน

เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต

รัฐบาลยังคงจำกัดเนื้อหาทางออนไลน์อย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้ที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ถือว่าเป็นเท็จเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ รัฐบาลยังเฝ้าสังเกตการณ์สื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารส่วนบุคคลเพื่อตรวจหาเนื้อหาที่เห็นว่าไม่ถูกต้องและเป็น “ข่าวปลอม” มีรายงานว่ารัฐบาลเฝ้าสังเกตการสื่อสารออนไลน์ส่วนบุคคลโดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่เหมาะสม

กฎหมายอนุญาตให้ทางการลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีและปรับเงินจำนวนมากจากผู้กระทำผิดฐานลงข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความมั่นคงของรัฐ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอิงจากคำนิยามที่คลุมเครือ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานทุกรายเป็นเวลา 90 วันเพื่อใช้ในกรณีที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น และหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นชอบหรือจงใจสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความผิดกฎหมายก็จะถูกลงโทษด้วย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ทางการต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนี้เสมอไป

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น คลับเฮาส์ (Clubhouse) และเทเลแกรม (Telegram) รวบรวมและเก็บข้อมูลผู้ใช้เพื่อใช้ในกรณีที่รัฐบาลต้องการข้อมูลเหล่านั้น โดยรวมถึงข้อมูลระบุตัวตนผู้ใช้ กิจกรรมของผู้ใช้ บันทึกเกี่ยวกับความพยายามในการเข้าถึงระบบ ไฟล์ที่เข้าถึง และบันทึกข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยสันติทางอินเทอร์เน็ต แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาหลายประการ ภาคประชาสังคมรายงานว่า รัฐบาลใช้การดำเนินคดีหรือการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ทางการมุ่งดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายหัวข้อ รวมถึงการวิจารณ์การปฏิบัติงานของรัฐบาล การรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์อื้อฉาวของรัฐบาล การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการเตือนเกี่ยวกับการสอดแนมของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี จากการโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศของตนขณะอยู่ในเรือนจำเมื่อปี 2560 ตลอดจนบรรยายโดยละเอียดถึงสภาพที่แออัดและผิดหลักอนามัยของเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลดำเนินการสอดส่องอย่างใกล้ชิดและปิดกั้นเว็บไซต์ ตลอดจนโพสต์และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หนังสือพิมพ์จำกัดการเข้าถึงพื้นที่แสดงความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นประมาท นอกจากนี้ กสทช. ยังชักจูงผู้ผลิตเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างชาติลบหรือตรวจสอบเนื้อหาของตนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายให้อำนาจแก่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการร้องขอและบังคับใช้การลบข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

ในเดือนมกราคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการทางกฎหมายกับไซต์สื่อสังคมออนไลน์ 19 ไซต์ ซึ่งละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ถึง 2 มกราคม ศาลมีคำสั่งระงับหรือลบไซต์อื่น ๆ อีก 50 ไซต์ เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ

การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม

เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาสังคม และสื่อมวลชนรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในมหาวิทยาลัยเป็นประจำเพื่อสอดส่องการบรรยายและเข้าร่วมกิจกรรมหรือการรณรงค์ทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา มีรายงานว่า ทางการจับกุมนิสิตนักศึกษาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าการจับกุมเหล่านี้มักเกิดขึ้นนอกบริเวณมหาวิทยาลัย และมีจำนวนน้อยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ มหาวิทยาลัยรายงานว่า มีการตรวจสอบเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่ นักวิชาการหลายคนรายงานถึงความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะสอดส่องการสอนของตน เนื่องจากมีการเรียนการสอนทางอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การตรวจสอบเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่มากยิ่งขึ้น

ในปี 2564 iLaw ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานว่า เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้บริหารสถานศึกษาคุกคามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยในสถาบันทั่วประเทศ 79 กรณี

โดยทั่วไป มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมประท้วงหากนิสิตนักศึกษาได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศชัดแจ้งว่า ห้ามการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นางสาวทอปัด อัฒอนันต์ ศิลปินที่แสดงออกทางการเมือง ถูกจับและตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จากการโพสต์ภาพวาดที่ถือว่าวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนางสาวทอปัดโดยไม่มีหมายจับ และยึดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ศิลปะ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเธอ นางสาวทอปัดได้รับประกันตัว แต่ต้องรายงานตัวกับตำรวจทุก ๆ 15 วัน

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ศาลอาญาตัดสินตามคำขอของรัฐบาลให้ระงับการเข้าถึงวิดีโอ YouTube ของกลุ่มดนตรีแรป “Rap Against Dictatorship” โดยเห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างของรัฐบาลว่า เพลงมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี

ข. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม

รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม โดยยังคงตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมประท้วงภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 กฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นและการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ผู้วิจารณ์กล่าวหาว่า การจับกุมเหล่านี้ถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อจำกัดที่บังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” รัฐบาลมิได้เคารพสิทธินี้และยังคงดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและบุคคลอื่น ๆ ที่นำการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ม็อบดาต้าไทยแลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม มีการประท้วง 515 ครั้งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นสำนักงานของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย และจับกุมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีปลุกปั่นและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จากการโพสต์เรียกให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่มจัดการชุมนุมประท้วงระหว่างการจัดประชุมเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก นำไปสู่การปะทะกันกับตำรวจ และส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุม 25 ราย และได้รับบาดเจ็บ 32 ราย ในจำนวนนี้ มีชายคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนยาง

เสรีภาพในการสมาคม

รัฐธรรมนูญให้บุคคลมีสิทธิในการสมาคมโดยมีข้อจำกัดของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

กฎหมายห้ามมิให้จดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามกฎหมาย

ค. เสรีภาพในการนับถือศาสนา

สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนานานาชาติ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ https:/www.state.gov/religiousfreedomreport/

ง. เสรีภาพในการเดินทางและสิทธิที่จะออกจากประเทศ

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ และการเดินทางกลับประเทศ รัฐบาลมีข้อยกเว้นบางกรณีเพื่อ “ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย[หรือ]สวัสดิภาพของประชาชน [หรือ]การผังเมือง […] หรือเพื่อสวัสดิภาพของเยาวชน”

การเดินทางภายในประเทศ: รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ถือบัตรประจำตัวที่รัฐบาลออกให้ รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนไว้ว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ทางการห้ามผู้ถือบัตรเหล่านี้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อาศัยอยู่โดยไม่มีใบอนุญาตเดินทางจากนายอำเภอ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก 45-60 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเก็บสินบนเพื่อแลกกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง

การเดินทางไปต่างประเทศ: ทางการกำหนดว่า บุคคลไร้สัญชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคน ต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทยหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ

จ. การคุ้มครองผู้ลี้ภัย

โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลร่วมมือกับ UNHCR องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กรด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติ และบุคคลในความห่วงใย (person of concern) อื่น ๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดจำนวนมากก็ตาม

ประเทศไทยให้ที่พำนักแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงกว่า 100,000 ราย และโดยทั่วไปแล้ว ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศ ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบบุคคลบางคนที่เพิ่งจะพลัดถิ่นเนื่องจากการต่อสู้หรือความรุนแรงอื่น ๆ ในพม่า ด้วยเหตุนี้ UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐต่าง ๆ จึงไม่อาจทราบได้ว่ากลุ่มคนที่เดินทางกลับประเทศเหล่านี้เต็มใจหรือไม่ ทางการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามได้

การเข้าถึงค่ายพักพิง: กฎหมายไม่มีการให้สถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัย และรัฐบาลไม่มีระบบให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย รัฐบาลยังดำเนินงานร่วมกับผู้สนับสนุนผู้ลี้ภัยในการนำ “ระบบคัดกรองระดับประเทศ”มาใช้กับบุคคลที่แสวงหาความคุ้มครองจากนานาประเทศ

UNHCR ถูกจำกัดการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยบางประเภทซึ่งอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการ การอนุญาตให้ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการสัมภาษณ์พิจารณาสถานภาพ รวมทั้งสอดส่องดูแลผู้แสวงหาที่พักพิงที่เพิ่งมาถึงนั้น มีความไม่แน่นอนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดในการเยี่ยมเยียนศูนย์กักกันฯ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ทางการได้อนุญาตให้ประเทศที่รับผู้แสวงหาที่พักพิงไปตั้งหลักแหล่งในประเทศของตนดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ที่ศูนย์กักกัน และองค์กรด้านมนุษยธรรมจัดบริการด้านสาธารณสุข อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ มีรายงานว่า การเข้าถึงผู้แสวงหาที่พักพิงบางกลุ่มแตกต่างกันไปตามความพอใจของหัวหน้าศูนย์กักกันฯ แต่ละแห่ง ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลกลางในการห้ามไม่ให้ UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐเข้าถึงกลุ่มเปราะบางทางการเมืองบางกลุ่ม

รัฐบาลอนุญาตให้ UNHCR สอดส่องการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าประมาณ 91,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่าเป็นคราว ๆ

รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกให้ชาวพม่าเกือบ 900 คนย้ายจากค่ายลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรือได้รับการอุปถัมภ์จากภาคเอกชนไปตั้งถิ่นฐานในหลายประเทศ ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการไม่มีสิทธิโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงหยุดพักการส่งตัวผู้ที่ขึ้นทะเบียนอาศัยอยู่ในค่ายซึ่งเลือกเข้าร่วมโครงการกลับประเทศโดยสมัครใจกลับไปยังประเทศพม่า เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 และรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในประเทศพม่า

การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย: หลังจากถูกจับ บุคคลจากพม่าที่ไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัยหรือเอกสารอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ตามกฎหมาย จะถูกนำตัวไปส่งที่ชายแดนพม่า บางครั้งทางการให้สิทธิพิเศษกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ชาวพม่าบางกลุ่ม ซึ่งผ่อนผันให้พวกเขาอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ

การกระทำมิชอบต่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัย: รัฐบาลยังคงอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในค่าย 9 แห่งตามแนวชายแดนพม่าคงอยู่ในประเทศได้ชั่วคราว และยังคงเรียกค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่า “ที่พักพิงชั่วคราว” แม้ว่าค่ายเหล่านี้จะดำเนินการมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงทุกคนนอกค่ายซึ่งไม่มีวีซ่าถูกต้องหรือใบอนุญาตอพยพอื่น ๆ ประหนึ่งเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลที่ถูกระบุสถานภาพว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจับ กักกัน และส่งตัวกลับประเทศ ตามเมืองใหญ่ ๆ ทางการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันได้บางประเภทเท่านั้น เช่น ผู้หญิง แม่ เด็ก และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ในปี 2564 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองผ่อนปรนหลักเกณฑ์การประกันตัวหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลายครั้งในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้มีการประกันตัวโดยไม่แน่นอน และองค์กรนอกภาครัฐ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงรายงานว่า หลายต่อหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเรียกร้องสินบนเมื่อมีการขอให้ประกันตัว

องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานข้อกังวลว่า ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงเผชิญกับสภาพที่แออัด ขาดโอกาสออกกำลังกาย มีเสรีภาพในการเดินทางที่จำกัด ไม่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์และการติดต่อสื่อสารรูปแบบอื่น ๆ ไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอ และถูกกระทำมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

บางครั้ง ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพมหานคร จับกุมและกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดจำนวนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและผู้ที่พำนักในประเทศเกินวันหมดอายุของวีซ่า

เสรีภาพในการเดินทาง: ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนพม่าไม่มีเสรีภาพในการเดินทางออกนอกค่าย องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานว่า ตลอดปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการอ้างความจำเป็นในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในการควบคุมการเดินทางเข้าออกค่ายของผู้ลี้ภัยอย่างเคร่งครัดมากขึ้น หากผู้ลี้ภัยถูกจับนอกเขตค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม ปรับ กักกันตัว ถอนทะเบียน และเนรเทศกลับประเทศ บางครั้งเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายเดินทางออกนอกค่ายได้โดยจำกัดในกรณีเช่นไปรับการดูแลด้านการแพทย์ เดินทางไปยังค่ายอื่น ๆ หรือไปรับการศึกษาและการอบรม

กฎหมายอนุญาตให้มีการออกใบอนุญาตพักพิงชั่วคราวแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติบางราย รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ขณะที่กำลังมีการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในสถานที่พักพิงแบบปิดที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ และมีเสรีภาพในการเดินทางจำกัด

ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไม่มีสิทธิเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระบวนการนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทาง สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ

การจ้างงาน: กฎหมายห้ามผู้ลี้ภัยที่ UNHCR ให้การรับรองทำงานในประเทศ รัฐบาลได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่มาจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว สามารถทำงานในภาคเศรษฐกิจบางส่วนได้อย่างถูกกฎหมายถ้าขึ้นทะเบียนกับทางการและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อขอทำเอกสารระบุสถานภาพของตน (ดูหมวดที่ 7.ง.) นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งให้ความร่วมมือกับคดีที่รออยู่ในชั้นศาลทำงานได้อย่างถูกกฎหมายเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี (โดยอาจขยายเวลาได้) หลังจากที่การพิจารณาคดีของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ ใบอนุญาตทำงานจะต้องระบุผู้ว่าจ้างโดยเฉพาะเจาะจง สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติบางราย รัฐบาลไม่ได้เปิดโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสมเพื่อที่จะมีใบอนุญาตทำงานได้ โดยอ้างว่า ไม่มีโอกาสในท้องถิ่นและไม่มีการพิจารณานโยบายการตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน การตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพ ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการว่าจ้างผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

การเข้าถึงบริการพื้นฐาน: ประชาคมนานาชาติให้การบริการขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัยที่อาศัยภายในค่ายพักพิง 9 แห่งตามแนวชายแดนพม่า ระบบการส่งต่อทางการแพทย์ทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถขอรับการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่จำเป็นนอกเหนือจากการดูแลขั้นต้นได้ สำหรับประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนยังมีน้อย องค์กรนอกภาครัฐซึ่งได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากประชาคมนานาชาติให้บริการหรืออำนวยการดูแลสุขภาพขั้นต้นและสุขภาพจิต รวมทั้งความช่วยเหลือทางกฎหมาย คณะกรรมการด้านสาธารณสุขที่นำโดย UNHCR ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่น รัฐบาลให้ทุกคน รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ตรวจโควิด-19 และรับการรักษาฟรี

ตามกฎหมายแล้ว โรงเรียนรัฐบาลจะต้องรับเด็กที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องในระดับหนึ่งเข้าศึกษา รวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยด้วย องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เด็กผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการศึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน และบ่อยครั้งขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริหารของโรงเรียนนั้น ๆ ชุมชนผู้ลี้ภัยบางแห่งจัดตั้งโรงเรียนอย่างไม่เป็นทางของชุมชนเองเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของตน บางแห่งก็ขวนขวายเรียนภาษาไทยโดยการสนับสนุนจาก UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เนื่องจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายโดยทั่วไปไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐบาลได้ องค์กรนอกภาครัฐจึงยังคงสนับสนุนองค์กรชุมชนที่ค่ายในการให้โอกาสทางการศึกษา และบางองค์กรสามารถปรับหลักสูตรการศึกษาของตนบางส่วนให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

การคุ้มครองชั่วคราว: โดยปกติแล้ว ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใยที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง รัฐบาลยังคงคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ที่ถูกทางการกักกันไม่ให้ถูกเนรเทศกลับ รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศอย่างไม่ปกติในช่วงวิกฤตผู้อพยพทางเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันเมื่อปี 2558 รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายคัดกรองเบื้องต้นในการหาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ถูกจับกุมขณะเดินทางผ่านประเทศไทย แต่การดำเนินการตามนโยบายนี้ไม่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ จนถึงเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้สถานะดังกล่าวกับชาวโรฮีนจาคนใด ทางการระบุว่า ชาวโรฮีนจา 74 คนเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย แต่ให้แม่และเด็กจำนวน 30 คนเข้าพักในสถานที่พักพิงภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แทนการกักกันที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ส่วนชาวโรฮีนจาคนอื่น ๆ ที่พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ถูกกักกันที่ศูนย์กักกันดังกล่าว UNHCR สามารถเข้าถึงสถานที่พักพิงเหล่านี้ในจังหวัดต่าง ๆ ได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดกรองอย่างเป็นทางการสำหรับผู้อพยพเข้าเกณฑ์ได้รับผลประโยชน์ในฐานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพชาวโรฮีนจาเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในสถานที่พักพิงและไม่มีเสรีภาพในการเดินทางหรือเข้าถึงใบอนุญาตทำงาน

ฉ. สถานะและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นในประเทศ

ไม่มีข้อมูล

ช. บุคคลไร้สัญชาติ

ทางการมีส่วนทำให้บุคคลไร้สัญชาติ โดยการเลือกปฏิบัติจากเหตุผลบางประการ และใช้เกณฑ์การจดทะเบียนเกิดเพื่อตัดสินการมีสัญชาติไทย

รัฐบาลยังคงดำเนินการระบุตัวบุคคลไร้สัญชาติ ออกเอกสารเพื่อแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ และเปิดทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาบางคน สามารถขอสัญชาติไทยได้ จนถึงเดือนมิถุนายน รัฐบาลขึ้นทะเบียนบุคคลราว 567,000 คนในประเทศไทยซึ่งโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือเป็นบุคคลไร้สัญชาติ อันรวมถึงชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการและผู้ที่ไม่เคยมีเอกสารมาก่อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2564 รัฐบาลให้สัญชาติแก่บุคคลไร้สัญชาติจำนวน 2,740 คน และให้สถานะผู้พำนักอาศัยถาวรแก่อีก 260 คน เจ้าหน้าที่ทางการยอมรับว่า สถิติเหล่านี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่จะลดการเป็นผู้ไร้สัญชาติสำหรับบุคคล 14,000 คนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงเดือนกันยายน 2564 โดยอ้างว่า ข้อจำกัดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการสืบสวนการฉ้อฉลซึ่งต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การกระบวนการดำเนินงานล่าช้า ทางการไม่ให้ชาวโรฮีนจาและชาวมุสลิมจากพม่า ตลอดจนบุคคลที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ในแม่สอดใกล้ชายแดนพม่าเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน เข้ากระบวนการรับรองบุคคลไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือมีเอกสารประจำตัว จึงมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการถูกกระทำมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการขู่ว่าจะเนรเทศออกนอกประเทศ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็กและชาวพื้นเมือง”)

การเกิดในประเทศไทยไม่ทำให้ได้สัญชาติโดยอัตโนมัติ กฎหมายกำหนดให้สัญชาติไทยโดยกำเนิดแก่เด็กที่มีบิดาหรือมารดาอย่างน้อยหนึ่งคนถือสัญชาติไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจขอสัญชาติได้ตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็ก”) บุคคลไร้สัญชาติเชื้อสายไทยและบุตรที่มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ชาวไทยพลัดถิ่น” สามารถขอสถานภาพ “การมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด” ได้

ตามกฎหมาย ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่แต่ในเพียงจังหวัดของตน และเนื่องจากไม่ใช่พลเมืองไทย พวกเขาจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ กฎหมายอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้ตามกฎหมาย ยกเว้นบางประเภทที่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้รับใบอนุญาต (เช่น แพทย์ วิศวกร และทนายความ) บุคคลไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการขอกู้เงินและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น บริการด้านสาธารณสุข แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้เด็กผู้อพยพและไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนร่วมกับเด็กที่มีสัญชาติไทยได้ แต่การเข้าถึงการศึกษาขาดความเท่าเทียม มีรายงานว่า ผู้บริหารโรงเรียนระบุสถานภาพ “บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย” บนประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของเด็กเหล่านี้ ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติสมัครเข้าเรียนได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ทางการศึกษาของรัฐได้

องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานว่า ผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการอำเภอเรียกร้องสินบนจากบุคคลไร้สัญชาติเป็นประจำเพื่อดำเนินการตามคำขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้สัญชาติอย่างเป็นทางการ หรือเพื่อขอสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรหรือขอสัญชาติ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเรียกร้องสินบนจากบุคคลไร้สัญชาติที่จุดตรวจในประเทศเพื่อแลกกับการอนุญาตให้พวกเขาเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งอีกด้วย

หมวดที่ 3. เสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองสามารถเลือกรัฐบาลของตนเองได้ด้วยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นคราว ๆ อย่างเสรีและยุติธรรม โดยการลงคะแนนเป็นการลับ และมีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นสากลและเท่าเทียม

การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเลือกตั้งเมื่อไม่นานนี้: มีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 หลังจากรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี ช่วงเวลาการหาเสียงส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย พรรคการเมืองจำนวนมากแข่งขันกันเพื่อให้ได้จำนวนที่นั่งในรัฐสภาและจัดให้มีการอภิปรายหาเสียงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิในการหาเสียงเลือกตั้งและการใช้ข้อบังคับเพียงบางส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง โดยเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยุติบทบาทของ คสช. อย่างเป็นทางการ

แทบไม่มีรายงานความผิดปกติระหว่างการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2562 แม้ว่าจะมีรายงานว่าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านซื้อเสียง เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียวที่รัฐบาลอนุญาตให้สังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ ตั้งข้อสังเกตว่า กิจกรรมในวันเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีหลายประการ เช่น มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก ประชาชนสามารถเข้าถึงคูหาเลือกตั้งได้โดยเสรี และมีความสงบเรียบร้อยระหว่างการรณรงค์หาเสียงและในวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการจำกัดสิทธิและใช้ข้อบังคับกฎหมายอย่างไม่เป็นกลาง ตลอดจนการขาดความโปร่งใสของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรีจึงประเมินว่าการเลือกตั้ง “เสรีบ้าง แต่ไม่เป็นธรรม”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในสามผู้ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เตรียมเสนอชื่อเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ได้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในฐานะผู้สมัครอิสระฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนกว่าร้อยละ 50 โดยทิ้งห่างคู่แข่งหลายคน การเลือกตั้งนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

พรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง: ผู้วิจารณ์ตำหนิว่า ตำรวจและศาลมุ่งดำเนินคดีกับพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อเดือนเมษายน 2564 สมาชิกพรรคไทยภักดี 2 คนฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ถูกยุบไป และนางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีตแกนนำพรรค อนค. อีกคนหนึ่ง โดยกล่าวหาทั้งสองว่าบกพร่องในการบริหารจัดการกองทุนช่วยเหลือกรณีโรคโควิด-19 นายธนาธรและอดีตสมาชิกหลักของ อนค. คนอื่น ๆ ยังมีคำสั่งฟ้องติดตัวอยู่อีกกว่า 20 คดี ซึ่งส่วนใหญ่อาจมีโทษจำคุก นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่า การตัดสินของศาลเพื่อยุบพรรค อนค. เมื่อปี 2563 มีเหตุจูงใจทางการเมือง

การมีส่วนร่วมของสตรีและชนกลุ่มน้อย: ไม่มีกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมีส่วนร่วมได้อย่างจำกัดเนื่องจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้หญิง 76 คนจากสมาชิกทั้งหมด 487 คน และสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้หญิง 26 คนจากสมาชิกทั้งหมด 250 คน มีผู้หญิง 4 คนดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 35 คน โดยทั้ง 4 คนมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ทั้งนี้ รัฐสภามีสมาชิกจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) 4 คน และจากกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 1 คน

หมวดที่ 4. การทุจริตและการขาดความโปร่งใสในวงราชการ

กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ ทว่า ในบางครั้งข้าราชการก็พัวพันกับการกระทำการทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการหลายกรณี

การทุจริต: ในเดือนสิงหาคม นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถูกให้ออกจากราชการหลังจากพบว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาของทรัพย์สินจำนวน 658 ล้านบาท (19 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีเงินฝากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 5 กันยายน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกนำตัวส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีไม่เบิกจ่ายเงินประมาณ 52 ล้านบาท (1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้แก่บริษัท พลวิศว์เทค พลัส จำกัด สำหรับค่ารถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทาง 2 คัน ขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาในปี 2556

การทุจริตและการรับสินบนเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอยู่เป็นวงกว้างในวงการตำรวจ ทั้งนี้ ตำรวจไทยจะต้องซื้อเครื่องแบบและอาวุธด้วยเงินของตนเอง ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายจากจังหวัดสมุทรสาครถูกให้ออกจากราชการหลังจากถูกกล่าวหาว่าขาย “บัตรผู้อยู่อาศัย” อย่างไม่เป็นทางการ (บัตรที่แสดงว่าผู้ถือบัตรได้จ่ายเงินให้แก่ตำรวจที่ทุจริตแล้ว) แก่แรงงานชาวพม่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายเรียกร้องให้แรงงานต่างด้าวจ่ายเงินเดือนละ 500 บาท (14 เหรียญสหรัฐ) และนำบัตรติดตัวไปทุกที่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม

หมวดที่ 5. ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลายประเภทดำเนินกิจกรรมอยู่ในไทย องค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การปฏิรูปการเมืองหรือการคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ยังคงเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะ ๆ

การแก้แค้นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน: ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีประกาศดำเนินการตรวจสอบองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) เนื่องจากให้การสนับสนุนนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล รวมถึงกรณีออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า แกนนำการชุมนุมประท้วง 3 คนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง มีเจตนาล้มล้างการปกครองและทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวดที่ 2.จ. นักโทษและผู้ถูกคุมขังทางการเมือง) จนถึงเดือนตุลาคม ยังคงมีการสอบสวนอยู่

เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสี่ยงเป็นพิเศษต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

องค์กรสิทธิมนุษยชนภาครัฐ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงวิพากษ์วิจารณ์ กสม. กรณีไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระและมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนจากประชาชน หลังจากดำเนินการสอบสวน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งเรื่องต่อไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แต่ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามคำแนะนำ

หมวดที่ 6. การเลือกปฏิบัติและการกระทำมิชอบในสังคม

สตรี

การข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว: การข่มขืนกระทำชำเราบุรุษและสตรีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเสมอไป กฎหมายให้คำจำกัดความการข่มขืนกระทำชำเราไว้อย่างแคบ ๆ ว่าเป็นการใช้อวัยวะเพศชายล่วงล้ำผู้อื่นทางกาย ส่งผลให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ทั้งนี้ กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ที่ข่มขืนคู่สมรสของตน และมีการดำเนินคดีประเภทนี้ กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับการข่มขืนหรือใช้กำลังทำร้ายทางเพศ เริ่มตั้งแต่โทษจำคุก 4 ปีจนถึงประหารชีวิต รวมถึงโทษปรับ

องค์กรนอกภาครัฐกล่าวว่า การข่มขืนเป็นปัญหาร้ายแรง และผู้เสียหายเข้าแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราและการประทุษร้ายในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีอย่างมีประสิทธิผล

องค์กรนอกภาครัฐระบุว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เพียงพอให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาดังกล่าว และผู้เสียหายมักมองว่า ตำรวจไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ในเดือนเมษายน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่งหลังถูกหญิงวัย 18 ปีกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ หลังรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดดังกล่าวได้เปิดเผยต่อสาธารณชน มีหญิงสาวอีกหลายคนออกมาร้องเรียนนายปริญญ์ ในระหว่างปีนี้ มีการยื่นร้องเรียนนายปริญญ์กรณีกระทำอนาจารทางเพศทั้งหมด 16 คดี แม้ว่าตำรวจจะระบุว่า มี 3 คดีที่หมดอายุความแล้ว และในบางคดี การกระทำผิดที่กล่าวอ้างนั้นเกิดขึ้นนอกประเทศไทย

ในเดือนกรกฎาคม นายอานุภาพ ธารทอง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถูกจับในข้อหาคุกคามทางเพศเด็กหญิงวัยรุ่น 4 คนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายอานุภาพได้รับการประกันตัวและลาออกจากพรรคก้าวไกล แต่ยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครต่อไป เมื่อสิ้นปี ทั้งในคดีของนายปริญญ์และนายอานุภาพ ไม่มีข้อกล่าวหาหรือการสืบสวนทางอาญาค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาแล้ว

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ทหารชายรายหนึ่งเข้าไปในบ้านพักของทหารหญิงรายหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีหลังจากทราบว่าสามีของทหารหญิงไม่อยู่บ้าน ทหารชายคนดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าพยายามข่มขืน กัดและถอดกางเกง รวมถึงจับอวัยวะเพศของทหารหญิง ทหารหญิงสามารถหยุดการล่วงละเมิดได้โดยอ้างว่ากำลังมีประจำเดือน และได้แจ้งความกรณีพยายามข่มขืนกับตำรวจ ซึ่งปฏิเสธที่จะยื่นคำร้อง และมีรายงานว่าได้บอกให้ทหารหญิงรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวกับนายทหารผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ดี ผู้บังคับบัญชากลับตอบว่า เธอไม่ควรทำให้กองทัพเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยการกล่าวหาดังกล่าว สุดท้าย ทหารหญิงติดต่อกับผู้มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ให้ช่วยเล่าเรื่องราวของเธอ ส่งผลให้ทหารชายถูกไล่ออกหลังเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป

การใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center: OSCC) ซึ่งให้ข้อมูลและบริการแก่ผู้เสียหายที่ประสบความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศทั่วประเทศ กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุรุนแรงในครอบครัวและการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามมิให้สื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวระหว่างที่คดียังอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรม องค์กรนอกภาครัฐแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายว่า การเน้นการส่งเสริมครอบครัวมั่นคงจะสร้างแรงกดดันต่อผู้เสียหายให้ยอมรอมชอมโดยไม่มีการแก้ปัญหาสวัสดิภาพและเป็นเหตุให้อัตราการพิพากษาลงโทษต่ำ

ทางการได้ดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดีตามบทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ซึ่งผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษที่หนักขึ้น รัฐบาลดำเนินงานศูนย์พักพิงสำหรับผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดละ 1 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย

การขริบอวัยวะเพศสตรี: ไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่ห้ามมิให้ขริบอวัยวะเพศสตรี องค์กรนอกภาครัฐและสื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการขริบอวัยวะเพศสตรีประเภทที่ 4 ในภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลทางสถิติเผยแพร่ ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลพยายามป้องกันหรือแก้ไขการปฏิบัติดังกล่าว

การคุกคามทางเพศ: การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษปรับและจำคุก 1 เดือนสำหรับการคุกคามทางเพศ ในขณะที่การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษปรับและจำคุกสูงสุด 15 ปี การคุกคามทางเพศในที่ทำงานอาจมีโทษปรับเพียงเล็กน้อย พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามมิให้คุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ 5 ระดับ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน สั่งพักราชการ และไล่ออก องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่าการคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือ และการดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล

สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์: ไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้บุคคลทำแท้งหรือทำหมัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่หัวข้อย่อย “การขริบอวัยวะเพศสตรี”)

รัฐบาลจัดให้มีบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์แก่ผู้รอดพ้นจากการใช้ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งรวมถึงการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่มีกฎหมายห้ามการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนวิธีการคุมกำเนิดต่าง ๆ อย่างไรก็ดี บุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองหรือบุคคลไร้สัญชาติไม่มีสิทธิได้รับบริการที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุน

การเลือกปฏิบัติ: รัฐธรรมนูญระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง จะกระทำมิได้” และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผล

ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลต่อความล่าช้าอย่างมากในการทบทวนข้อร้องเรียนจากผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนการขาดความตระหนักในหมู่ประชาชนและภายในสำนักงานประจำจังหวัดของกระทรวง พม.

โดยทั่วไป ผู้หญิงมีสถานะและสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม บางครั้ง ผู้หญิงก็ประสบกับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน ผู้ที่มีความผิดว่าด้วยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนหรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายห้ามมิให้เลือกปฏิบัติในการจ้างงานเนื่องจากเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภายใต้นโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ โครงการ หรือขั้นตอนใด ๆ ของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และปัจเจกชน แต่ยังคงระบุข้อยกเว้นไว้ 2 ประการซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มประชาสังคม อันได้แก่ หลักการทางศาสนาและความมั่นคงของชาติ

คู่สมรสชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยไม่สามารถขอสถานะพลเมืองได้ ซึ่งต่างจากคู่สมรสชาวต่างชาติของผู้ชายไทย

ในจำนวนกำลังพลทั่วประเทศ มีทหารหญิงประมาณร้อยละ 12 นโยบายของกระทรวงกลาโหมจำกัดจำนวนบุคลากรหญิงในหน่วยงาน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 ยกเว้นหน่วยงานด้านการแพทย์หรือการพยาบาลเฉพาะทาง งบประมาณ และการเงิน ซึ่งอนุญาตให้มีเจ้าหน้าที่หญิงได้ร้อยละ 35 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับผู้หญิงเข้าศึกษา แม้ว่าสถาบันเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นเพศหญิงอยู่จำนวนมากก็ตาม

ผู้หญิงไม่มีสิทธิสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงระบุข้อกำหนดในประกาศจ้างงานสำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนและตำแหน่งอื่น ๆ ว่า ต้องเป็น “เพศชาย”

ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเชิงระบบด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์

รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติซึ่งมุ่งคุ้มครองวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และกำหนดให้บุคคลทั้งหลายย่อมเสมอกันในกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมิได้บังคับใช้บทบัญญัติเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล ในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์

ชาวพื้นเมือง

ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทย (ประมาณร้อยละ 50) ยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะให้สิทธิแก่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะลูกจ้าง แต่นายจ้างยังคงละเมิดสิทธิเหล่านั้นบ่อยครั้งโดยจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่มีสัญชาติไทยและน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กฎหมายยังกีดกันบุคคลเหล่านี้จากสวัสดิการของรัฐ แต่กำหนดให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการรักษาฟรีที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนได้อย่างจำกัด

กฎหมายให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ (ดูหมวดที่ 2.ช.) รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการให้สัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาที่มีสิทธิขอสัญชาติเกี่ยวกับสิทธิของตน

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ดอยม่อนแจ่ม เดินเท้าจากหมู่บ้านที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหยุดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 หลังตามแผนการของกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ชาวบ้านสร้างบ้านบนพื้นที่คุ้มครองลุ่มน้ำ และโฮมสเตย์ 5 แห่งดังกล่าวจะต้องถูกรื้อถอน เนื่องจากละเมิดพระราชบัญญัติป่าไม้โดยใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์

เด็ก

การจดทะเบียนเกิด: เด็กได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเกิดหากมีบิดาหรือมารดาถือสัญชาติไทย การเกิดในประเทศไม่ได้ทำให้ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิได้รับสูติบัตร ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างจากทางการ โดยไม่สำคัญว่าถือสัญชาติใด (ดูหมวดที่ 2.ช.) กฎหมายกำหนดว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับสูติบัตรจากทางการไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร ในพื้นที่ห่างไกล บิดามารดาบางคนไม่ขอสูติบัตรให้แก่บุตรของตนเพราะขั้นตอนยุ่งยากและไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารนี้ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บางครั้งชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่น ๆ ไม่ได้แจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากข้าราชการท้องถิ่นที่มีข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่มีคุณธรรม อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทาง ทำให้การขอสูติบัตรเป็นเรื่องลำบาก

การกระทำทารุณเด็ก: กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทารุณ และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องระวางโทษจำคุก 4 ถึง 20 ปีและโทษปรับ ผู้ที่ทอดทิ้งเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีต้องระวางโทษจำคุก 3 ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหาย และผู้กระทำผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในคดีการกระทำมิชอบและคดีละเมิดทางเพศต่อเด็ก กลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิทธิรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะเพิกเฉยหรือหลีกเลี่ยงการสืบสวนสอบสวนคดีการกระทำมิชอบต่อเด็ก

การแต่งงานในวัยเด็ก การแต่งงานก่อนวัยอันควร และการบังคับแต่งงาน: กฎหมายกำหนดให้ทั้งหญิงและชายที่จะแต่งงานต้องมีอายุอย่างน้อย 17 ปี โดยผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปีต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีแต่งงานได้

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกอนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้หลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกหากได้รับการยินยอมจากบิดามารดา แม้ว่ากำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสคือ 17 ปี แต่ชาวมุสลิมที่อายุน้อยกว่า 17 ปีสามารถแต่งงานได้หากมีหนังสืออนุญาตจากศาลหรือหนังสือแสดงความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิเศษ 3 คนที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายอิสลาม โดยต้องเป็นสตรีอย่างน้อย 1 คน

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก: บุคคลอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถร่วมประเวณีได้โดยยินยอมพร้อมใจ กฎหมายกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่จัดหา ล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ค้าประเวณี และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อผู้ที่จ่ายเงินเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทางการยังอาจลงโทษบิดามารดาที่ยอมให้บุตรถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดาได้ กฎหมายห้ามมิให้ผลิต เผยแพร่ นำเข้า หรือส่งออกสื่อลามกอนาจารเด็ก นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับบุคคลที่แสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดหาผู้ค้าประเวณี การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบอื่น ๆ บทลงโทษแตกต่างกันไปตั้งแต่จำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต รวมถึงโทษปรับ

รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้าประเวณีเด็กและสื่อลามกอนาจารเด็กอย่างไม่เสมอต้นเสมอปลาย การค้ามนุษย์ในเด็กเพื่อการแสวงประโยชน์ทางเพศยังคงเป็นปัญหา และประเทศไทยก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก รวมถึงมีกรณีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์หลายกรณี อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดของโรคโควิด-19 มีรายงานว่า การท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กลดน้อยลง เด็กต่างด้าวและเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย ตลอดจนเด็กในครอบครัวยากจนยังคงเสี่ยงมากเป็นพิเศษ และมีกรณีที่ตำรวจจับกุมบิดามารดาที่บังคับให้บุตรของตนค้าประเวณี ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงก่ออาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์ทางเพศในเด็ก ตลอดจนการผลิตและการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก

ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 17 นาย ได้รับเบาะแสจากองค์กรนอกภาครัฐในต่างประเทศในปี 2563 กว่า 260,000 เรื่องเกี่ยวกับกรณีต้องสงสัยคดีเด็กถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับประมาณ 117,000 เรื่องในปี 2562 นอกจากนี้ TICAC ยังสืบสวนสอบสวนกรณีการกระทำความผิดต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 79 คดีในปี 2564 (เทียบกับ 94 คดีในปี 2563) ซึ่งรวมถึงกรณีการค้ามนุษย์ในเด็กทางอินเทอร์เน็ตเพื่อการแสวงประโยชน์ทางเพศ 11 คดี (เทียบกับ 22 คดีในปี 2563)

มีรายงานการกระทำชำเราและคุกคามทางเพศต่อเด็กหญิงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมสถานศึกษาหลายกรณี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ตำรวจจับกุมและตั้งข้อหาชาย 9 คน ซึ่งเป็นครูที่เกษียณอายุแล้ว 1 คน ครูชั้นประถม 2 คน และครูชั้นมัธยมปลาย 1 คน นักสังคมสงเคราะห์เด็ก 1 คน และอาจารย์มหาวิทยาลัย 1 คน โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจับกุมกรณีการแสวงหาทางเพศในเด็กในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาล่อลวงเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีให้กระทำการลามกโดยไม่ได้รับความยินยอม และพรากเด็กหญิงอายุ 15-18 ปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อหากำไรและวัตถุประสงค์ทางเพศ

เด็กพลัดถิ่น: โดยทั่วไป ทางการจะส่งเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนไปยังสถานพักพิงที่รัฐบาลจัดให้ในแต่ละจังหวัด แต่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นเพราะเกรงว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ในปี 2563 รัฐบาลประมาณการว่า มีเด็กข้างถนนที่แสวงหาสถานพักพิงประมาณ 20,000 คนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ 5,000 คนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานว่า มีเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนประมาณ 50,000 คน และในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กต่างด้าว 30,000 คน โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะส่งเด็กไร้บ้านที่เป็นคนไทยเข้าเรียนที่โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รัฐบาลส่งตัวเด็กข้างถนนบางคนที่มาจากประเทศอื่นกลับมาตุภูมิ

การต่อต้านยิว

ชาวยิวในไทยมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว

การค้ามนุษย์

สามารถอ่าน รายงานการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบได้ที่ https://www.state.gov/trafficking-in-persons-report/

การกระทำรุนแรง การกำหนดว่าเป็นความผิดทางอาญา และการถูกกระทำมิชอบอื่น ๆ เนื่องจากเพศวิถี อัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ

การกำหนดว่าเป็นความผิดทางอาญา: ไม่มีกฎหมายใดระบุว่า การแสดงออกซึ่งเพศวิถีหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นความผิดทางอาญา

ความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ: กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) รายงานว่า เมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป ยกเว้นในกรณีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดทางเพศมากนัก หรือไม่เห็นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องจริงจัง

การเลือกปฏิบัติ: กฎหมายห้ามมิให้รัฐและผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐเลือกปฏิบัติด้วยเหตุจากเพศวิถี อัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ กฎหมายยังยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่ชีวิตที่หลากหลายทางเพศ และครอบครัวของพวกเขา กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ “เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” และปกป้องนักศึกษาข้ามเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท UNDP ยังรายงานอีกว่า สื่อนำเสนอบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในลักษณะเหมารวมและเป็นไปในทางลบ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

องค์กรนอกภาครัฐและสหประชาชาติรายงานว่า บุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติในหลายภาคส่วน ทั้งในกระบวนการเกณฑ์ทหาร ขณะถูกคุมขัง รวมถึงในภาคการศึกษา จากนโยบายที่เคร่งครัดของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ซึ่งกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศกำเนิด บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในสถานประกอบการ (ดูหมวดที่ 7.ง.)

การรับรองเพศตามกฎหมาย: กฎหมายห้ามมิให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนแปลงเพศในเอกสารระบุตัวตนต่าง ๆ

การรักษาทางการแพทย์หรือการบำบัดทางจิตให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่สมัครใจหรือเป็นการบังคับ: ไม่มีรายงานว่า หน่วยงานรัฐพยายามบังคับให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น รับการบำบัดที่เรียกกันผิด ๆ ว่าเป็นการบำบัดแก้เพศวิถี มีรายงานว่า นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกทำโทษหรือกลั่นแกล้งโดยครูอาจารย์ บุคคลที่เป็นชายโดยกำเนิด ไม่ว่าจะระบุตนเป็นเพศใดก็ตาม ถูกบังคับให้เข้าร่วมการฝึกทหารหรือบวชเป็นพระ บุคคลที่เป็นหญิงโดยกำเนิดถูกข่มขืนหรือบังคับให้มีบุตร “เพื่อรักษาแก้ไขเพศวิถี” ข้อมูลจาก Intersex Thailand ระบุว่า บุคคลที่มีเพศกำกวมบางคนต้องรับการผ่าตัดแปลงเพศโดยไม่เต็มใจและไม่สามารถเปลี่ยนเพศคืนได้ เครือข่ายสมรสเท่าเทียมระบุว่า ผู้ที่บังคับให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศรับการบำบัดเพื่อเปลี่ยนเพศวิถี ในกรณีส่วนใหญ่แล้วคือครอบครัวหรือชุมชนศาสนา

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสมาคม หรือการชุมนุมโดยสงบ: ไม่มีรายงานว่า มีการจำกัดบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้อง

คนทุพพลภาพ

คนทุพพลภาพไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา บริการด้านสุขภาพ อาคารสาธารณะ หรือระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น กฎหมายกำหนดให้คนทุพพลภาพต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และอาคารที่สร้างใหม่ได้ แต่ทางการไม่ได้บังคับใช้บทบัญญัติเหล่านี้โดยทั่วถึง

รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษและศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความพิการหลายสิบแห่ง ตลอดจนศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความพิการ กฎหมายกำหนดให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศต้องรับนักเรียนที่มีความพิการเข้าศึกษา และในช่วงปีที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ เด็กที่มีความพิการเข้าเรียนในอัตราที่ต่ำกว่าเด็กทั่วไปร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เนื่องจากอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ เด็กที่พิการทางสายตาเข้าเรียนในอัตราที่สูงกว่าเด็กที่พิการประเภทอื่น ๆ

องค์กรเพื่อคนพิการหลายแห่งรายงานว่า การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการสาธารณะต่าง ๆ กระทำได้ยาก และการเข้าถึงบริการแตกต่างกันไประหว่างศูนย์ในเมืองและชนบท องค์กรภาคประชาสังคมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขาดทรัพยากรและทางเลือกด้านกฎหมายสำหรับผู้หญิงพิการซึ่งรอดพ้นจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น ในบางครั้ง ผู้หญิงหูหนวกและหูตึงไม่สามารถสื่อสารกับตำรวจเกี่ยวกับผู้ที่ทำร้ายตนได้ เนื่องจากตำรวจไม่รู้ภาษามือ นอกจากนี้ ตำรวจยังไม่เห็นความสำคัญของผู้หญิงตาบอดที่ไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับคนร้ายได้

หมวดที่ 7. สิทธิของคนงาน

ก. เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม

รัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์การ ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ๆ โดยกฎหมายรับรองสิทธิของพนักงานในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางส่วนในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานอิสระได้ ข้าราชการพลเรือนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มได้ ตราบใดที่การรวมกลุ่มไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของกลุ่มต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง กฎหมายกำหนดให้มีข้อบังคับเพื่อการเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มมีผลบังคับกับภาคเอกชน แต่ไม่ใช่กับข้าราชการพลเรือน ประกาศกระทรวงแรงงานปี 2563 ฉบับหนึ่ง ระงับกฎหมายซึ่งให้สิทธิในการนัดประท้วงหยุดงาน จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม

กฎหมายกำหนดว่าลูกจ้างต้องมีนายจ้างคนเดียวกันหรือต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงจะสามารถก่อตั้งเป็นสหภาพได้ แรงงานแบบจ้างเหมาช่วงไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้แม้จะทำงานในโรงงานเดียวกันและทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างเต็มเวลา เนื่องจากคนงานตามสัญญาจ้างจัดว่าเป็นพนักงานประเภทอุตสาหกรรมบริการ ในขณะที่ลูกจ้างเต็มเวลาจัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมการผลิต การที่แรงงานแบบจ้างเหมาช่วงและลูกจ้างเต็มเวลาไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพเดียวกันได้อาจลดผลประโยชน์จากการเจรจาต่อรองในฐานะกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้ คนงานตามสัญญาจ้างระยะสั้นยังมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมสหภาพน้อยกว่าลูกจ้างประเภทอื่นเพราะกลัวว่าจะถูกตอบโต้จากการต่อต้านสหภาพด้วยการไม่ต่อสัญญาจ้างงาน ผู้สนับสนุนด้านแรงงานกล่าวอ้างว่า มีบริษัทหลายแห่งที่จ้างแรงงานแบบจ้างเหมาช่วงเพื่อบั่นทอนความพยายามในการจัดตั้งสหภาพของลูกจ้าง

กฎหมายไม่ได้คุ้มครองสมาชิกสหภาพจากการกระทำของนายจ้างที่เป็นการต่อต้านสหภาพจนกว่าสหภาพนั้นจะได้รับการจดทะเบียน ในการจดทะเบียนสหภาพหนึ่ง ๆ จะต้องมีลูกจ้างอย่างน้อย 10 คนร่วมกันยื่นรายชื่อของตนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อและสถานภาพการจ้างงานกับนายจ้าง กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ลูกจ้างเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกตอบโต้จากนายจ้างก่อนที่การจดทะเบียนจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า เจ้าหน้าที่สหภาพต้องเป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามมีเจ้าหน้าที่ถาวรประจำสหภาพ ในกรณีรัฐวิสาหกิจ กฎหมายอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพได้เพียง 1 กลุ่มเท่านั้น และหากสมาชิกภาพของสหภาพรัฐวิสาหกิจใดมีจำนวนลดลงต่ำกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่มีสิทธิเข้าร่วม สหภาพนั้นจะต้องถูกยุบตามข้อบังคับด้านแรงงาน กฎหมายห้ามมิให้สหภาพรัฐวิสาหกิจกับสหภาพภาคเอกชนของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจประเภทเดียวกันเข้าอยู่ในเครือเดียวกัน เนื่องจากสหภาพทั้งสองประเภทอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับ ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการในหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ การเงิน การขนส่งทางรางและทางอากาศ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และบริการไปรษณีย์

จนถึงเดือนสิงหาคม มีการจดทะเบียนสหภาพแรงงานแล้ว 26 จังหวัดจาก 77 จังหวัด เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม รัฐบาลรายงานว่า มีสหภาพแรงงานอยู่ 1,426 กลุ่มทั่วประเทศ

กฎหมายกำหนดให้สหภาพต้องมีสมาชิกภาพจำนวนร้อยละ 20 จึงจะสามารถร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มได้ กฎหมายอนุญาตให้พนักงานในสถานประกอบการที่ไม่มีสหภาพสามารถยื่นข้อเรียกร้องร่วมได้ หากว่าพนักงานอย่างน้อยร้อยละ 15 ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว

พนักงานในบริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไปสามารถจัดตั้ง “คณะกรรมการลูกจ้าง” หรือ “คณะกรรมการสวัสดิการ” ได้ คณะกรรมการลูกจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการอาจให้ข้อเสนอแนะแก่นายจ้างในด้านสวัสดิการลูกจ้างและประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่ไม่สามารถยื่นข้อเรียกร้องด้านแรงงานหรือนัดหยุดงานได้ กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างกระทำการที่ส่งผลเสียต่อพนักงานอันเนื่องมาจากการที่พนักงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าว และห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการ ผู้นำสหภาพแรงงานจึงมักจะเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการลูกจ้างเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองนี้ตามกฎหมาย

ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับหนึ่งในปี 2563 กำหนดให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานหนึ่ง ๆ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องประกอบไปด้วยตัวแทนนายจ้าง รัฐบาล และกลุ่มแรงงาน สหภาพอาจอุทธรณ์คำตัดสินของคณะกรรมการต่อศาลแรงงาน องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าวถูกใช้ในทางการเมืองเพื่อปิดปากขบวนการแรงงาน รัฐบาลและแกนนำสหภาพบางรายมองว่าประกาศกระทรวงฉบับนี้ส่งเสริมการเจรจาต่อรองเพื่อป้องกันการปิดกิจการและการปลดคนงานจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2563 ทางการตั้งข้อหานางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้สนับสนุนจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ กรณีเรียกร้องสิทธิแรงงานระหว่างการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และละเมิดประกาศคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทที่โรงงานของบริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซึ่งเลิกจ้างงานโดยไม่ให้เงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด ในเดือนตุลาคม 2564 นางสาวธนพรถูกตั้งข้อหาภายใต้ประกาศฉบับเดียวกัน หลังจากเดินทางไปพร้อมกับแรงงานต่างด้าว 7 คนเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ กสร. ในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและสิทธิแรงงานระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา คดียังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

กฎหมายกำหนดให้สหภาพจัดให้มีการประชุมทั่วไป และหยุดงานประท้วงได้เมื่อมีสมาชิกสหภาพอย่างน้อยร้อยละ 50 ให้ความยินยอมในการหยุดงานประท้วงแต่ละครั้ง สหภาพหลายกลุ่มอ้างว่า กฎหมายดังกล่าวจำกัดการหยุดงานประท้วงเนื่องจากโรงงานหลายแห่งใช้คนงานที่ทำงานเป็นกะ ส่งผลให้ครบองค์ประชุมได้ยาก กฎหมายห้ามมิให้เลิกจ้างงานผู้ที่ประท้วงหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อนุญาตให้นายจ้างจ้างพนักงานชั่วคราวให้ทำงานแทน หรือใช้พนักงานสัญญาจ้างเพื่อทำงานแทนผู้ที่ประท้วงหยุดงานได้

รัฐบาลอาจห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วงของภาคเอกชนในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนโดยรวม กฎหมายห้ามมิให้มีการประท้วงและปิดงานในรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกาศกระทรวงแรงงานซึ่งห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ถูกยกเลิกในวันที่ 1 ตุลาคม

กฎหมายให้ความคุ้มครองพนักงานและสมาชิกสหภาพจากการดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ริเริ่มการนัดหยุดงาน จัดชุมนุมประท้วง หรืออธิบายข้อพิพาทแรงงานต่อสาธารณชน ยกเว้นในกรณีที่กิจกรรมเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทั้งนี้ มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทเพื่อข่มขู่สมาชิกสหภาพและลูกจ้าง และนายจ้างใช้การฟ้องร้องคดีเพื่อข่มขู่หรือปิดปากผู้พิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณีด้วยกัน

ศาลแรงงานหรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจตัดสินเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ออกจากงานหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมได้ และอาจเรียกร้องให้พนักงานหรือผู้นำสหภาพได้รับเงินชดเชยหรือกลับเข้าทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เหมือนเช่นที่เคยได้รับก่อนหน้านั้น แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือผู้ที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของสหภาพ แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพที่จัดตั้งขึ้นและบริหารโดยผู้มีสัญชาติไทย แต่การมีส่วนร่วมของแรงงานต่างด้าวในสหภาพต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา การขาดความเข้าใจสิทธิของตนภายใต้กฎหมาย การเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ค่าสมาชิก กฎระเบียบของสหภาพที่เข้มงวด การแบ่งแยกแรงงานไทยจากแรงงานต่างด้าวตามภาคอุตสาหกรรมและเขตพื้นที่ (โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชายฝั่งทะเล) และความกลัวว่าจะตกงานเนื่องจากการมีส่วนร่วมในสหภาพ ทั้งนี้ สมาคม องค์กรชุมชน หรือกลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนมักเป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว แต่ไม่มีสถานะทางกฎหมายในการต่อรองกับนายจ้างแทนแรงงานต่างด้าวได้ บางครั้งแรงงานต่างด้าวได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสวัสดิการหรือคณะกรรมการลูกจ้าง องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ข้อเรียกร้องแบบกลุ่มของแรงงานต่างด้าวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน

มีรายงานกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ ทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสหภาพ ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้พิพากษาและพนักงานตรวจแรงงานระดับจังหวัดพยายามไกล่เกลี่ยกรณีต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมายก็ตาม ในบางกรณี ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิม แต่นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มีรายงานจากสหภาพและองค์กรนอกภาครัฐว่า ภายหลังจากที่มีคำสั่งของศาล นายจ้างพยายามที่จะต่อรองเงื่อนไขในการรับกลับเข้าทำงานด้วยการเสนอให้สิทธิประโยชน์ชดเชยสำหรับผู้ที่สมัครใจลาออก ปฏิเสธไม่ให้ผู้นำสหภาพที่ได้รับกลับเข้าทำงานแล้วเข้ามาในสถานประกอบการ หรือลดตำแหน่งของลูกจ้างให้ไปทำงานที่มีค่าตอบแทนและผลประโยชน์น้อยลง

บางครั้งนายจ้างยื่นฟ้องต่อผู้นำสหภาพและพนักงานที่นัดหยุดงานในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ หมิ่นประมาท และทำลายทรัพย์สิน บริษัทเอกชนยังคงดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับองค์กรนอกภาครัฐ สื่อมวลชน และแรงงาน (ดูหมวดที่ 2.ก. หัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท”) ในเดือนกันยายน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตรในจังหวัดลพบุรี ยื่นฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และอดีตลูกจ้างในคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาอย่างน้อย 39 คดีตั้งแต่ปี 2559

บางครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ สมรู้ร่วมคิดกันปราบปรามการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ในเดือนสิงหาคม กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสหภาพแรงงานรายงานว่า ชายขี่จักรยานยนต์ 20-30 คน ทำร้ายนักเคลื่อนไหวด้านสหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่ง ขณะกำลังชุมนุมประท้วงร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของรัฐบาล และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หลังจากตำรวจบอกให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวนำป้ายออก ชายขี่จักรยานยนต์กลุ่มดังกล่าวทุบตีนักเคลื่อนไหวโดยตำรวจไม่ได้ขัดขวาง องค์กรนอกภาครัฐและผู้สนับสนุนด้านสิทธิแรงงานรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของตนถูกนายจ้างสะกดรอยตามหรือข่มขู่ หลังจากที่มีผู้พบเห็นพวกเขารณรงค์ส่งเสริมสิทธิแรงงาน

การบังคับใช้กฎหมายแรงงานมีความไม่สม่ำเสมอ และบางครั้งก็ไม่มีประสิทธิผลในการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ บทลงโทษรวมถึงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเทียบเท่ากับบทลงโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิเสธสิทธิพลเมือง อย่างไรก็ตาม ทางการมักจะไม่ลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน

ข. การห้ามบังคับใช้แรงงาน

กฎหมายห้ามมิให้บังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือกำลังจะเกิดภัยพิบัติสาธารณะ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระบุไว้เฉพาะเจาะจงถึง “การบังคับใช้แงงานหรือบริการ” และกำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส

รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างไร้ประสิทธิผล องค์กรนอกภาครัฐประเมินว่า การสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมีจำนวนค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน และการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายนี้ ผู้สังเกตการณ์บางรายรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักจะไม่ถือว่าการใช้แรงงานผู้เสียหายโดยบีบบังคับเพราะติดหนี้อยู่ การทำงานล่วงเวลามากเกินไป หรือการไม่ให้ค่าจ้าง เป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การผลิตเสื้อผ้า การเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน แรงงานจำนวนมากจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงให้กับนายหน้า สำนักงานจัดหางาน และบุคคลอื่น ทั้งก่อนและหลังเดินทางถึงประเทศไทย บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานผู้เสียหายโดยบีบบังคับเพราะติดหนี้อยู่ ตลอดจนใช้กระบวนการการจ้างงานที่หลอกหลวงแรงงาน การยึดเอกสารประจำตัวและบัตรเอทีเอ็ม การหักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย ความรุนแรงต่อร่างกาย และวิธีการอื่น ๆ

คนงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเลและภาคการประมงต้องเผชิญกับการบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ซึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารทะเลที่สามารถเก็บรักษาได้โดยไม่ต้องแช่เย็นเพิ่มมากขึ้นระหว่างการเกิดโรคระบาดใหญ่ คนงานยังต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (ดูหมวดที่ 7.จ.) แม้ว่าองค์กรนอกภาครัฐจะยอมรับว่า การแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดลดน้อยลงในภาคการประมง แต่ยังคงมีรายงานกรณีการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานและปัจจัยบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน อีกทั้งจำนวนลูกเรือที่สูญหายในทะเลยังคงเพิ่มมากขึ้น ในระหว่างปี 2563 และ 2564 มีชาวประมงเสียชีวิต สูญหาย หรือตกจากเรือประมง จำนวน 230 คน ในเดือนมีนาคม ชาย 18 คนได้รับการช่วยชีวิตจากเรือประมง หลังจากถูกบังคับให้ทำงานต่อหลังจากหมดอายุสัญญาการจ้างงานในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียพบชาย 2 คน ซึ่งมีรายงานว่า สูญหายไปเมื่อปี 2563 หลังจากกระโดดหนีจากเรือและลอยคออยู่ในทะเลเป็นเวลา 3 เพื่อหนีจากการถูกบังคับใช้แรงงาน

สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบได้ที่ https://www.state.gov/trafficking-in-persons-report/

ค. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน

สามารถอ่าน รายงานผลการสำรวจรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ประกอบได้ที่ https://www.dol.gov/agencies/ilab/resources/reports/child-labor/findings/ และอ่าน บัญชีรายชื่อสินค้าที่ผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ประกอบได้ที่ https://www.dol.gov/agencies/ilab/reports/child-labor/list-of-goods/ เอกสารทั้งสองฉบับจัดทำโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

ง. การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานและอาชีพ

กฎหมายกำหนดโทษจำคุกหรือโทษปรับผู้ที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจจ้างงานด้วย ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่าเป็นเพศใด บทลงโทษสำหรับความผิดฐานเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเทียบเท่ากับคดีสิทธิพลเมือง แต่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่มีขอบเขตจำกัดอย่างมีประสิทธิผล ผู้ละเมิดแทบจะไม่ถูกลงโทษ กฎหมายมิได้ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานโดยชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา มาตุภูมิ สีผิว ชาติพันธุ์ ความทุพพลภาพ อายุ เพศวิถี หรือสถานะการติดเชื้อเอชไอวี การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นกับ สตรี (ดูหมวดที่ 6 ) คนทุพพลภาพ กลุ่ม LGBTQI+ และแรงงานต่างด้าว (ดูหมวดที่ 7.จ.)

กฎหมายห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตลอดจนทำงานใต้ดิน ในเหมือง ก่อสร้างใต้น้ำ ทำงานบนนั่งร้านซึ่งสูงกว่า 33 ฟุต และผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือไวไฟ ในปี 2564 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนในไทยพบว่า ลูกจ้างเพศหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้รับค่าจ้างน้อยกว่าลูกจ้างเพศชายร้อยละ 41

กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนจ้างลูกจ้างที่มีภาวะทุพพลภาพอย่างน้อย 1 คนต่อลูกจ้างทุก ๆ 100 คน มีรายงานว่า นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐสมรู้ร่วมคิดกันยักยอกค่าจ้างหรือเงินกู้ที่ควรจ่ายให้กับลูกจ้างที่ทุพพลภาพเต็มจำนวน

กลุ่ม LGBTQI+ มักเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะอคติของคนทั่วไปและการไม่มีกฎหมายและนโยบายมารองรับเรื่องการเลือกปฏิบัติ มีรายงานว่า พนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และทำงานจำกัดอยู่ในสาขาอาชีพเพียงไม่กี่สาขา เช่น ธุรกิจความงามและความบันเทิง

จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้

กฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้างและชั่วโมงการทำงาน: ค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันตามแต่ละจังหวัด โดยมีอัตราสูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่รัฐบาลคำนวณไว้ในทุกจังหวัด และไม่ได้บังคับใช้กับลูกจ้างที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ งานรับใช้ตามบ้าน และงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล กฎกระทรวงให้ความคุ้มครองบางประการแก่แรงงานรับใช้ตามบ้านในเรื่องเกี่ยวกับวันลา อายุขั้นต่ำ และการจ่ายค่าแรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงานปกติ ประกันสังคม หรือการลาคลอด

กฎหมายกำหนดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 48 ชั่วโมง หรือ 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 6 วัน และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลูกจ้างที่ต้องทำงาน “อันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และห้ามทำงานล่วงเวลา พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน: กฎหมายกำหนดให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน (OSH) ตามความเหมาะสมในอุตสาหกรรมหลัก ๆ รวมทั้งกำหนดให้สถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่บ้าน ต้องมีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย กฎหมายห้ามสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างถึงสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายตั้งแต่ก่อนจ้างงาน ทว่า ลูกจ้างไม่มีสิทธิพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อหน้าที่การงาน

ในปี 2564 สำนักงานประกันสังคมรายงานอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน 78,245 ครั้ง และรายงานว่า อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการก่อสร้าง ในปี 2564 สื่อรายงานว่า มีคนงานประมงเสียชีวิต สูญหาย หรือตกจากเรือประมง จำนวน 230 คน ในจำนวนดังกล่าว 53 คนเสียชีวิตจากการตกจากเรือประมง 53 คนรอดชีวิตจากการตกจากเรือ และ 124 ยังคง “สูญหาย” ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปี 2563 เกือบสองเท่า

กฎกระทรวงแรงงานจัดให้มีโครงการกองทุนเงินทดแทนครอบคลุมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในสถานประกอบการ แต่ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานค้าเร่แผงลอยและแรงงานรับใช้ตามบ้าน ผู้นำสหภาพแรงงานรายงานว่า แรงงานมักไม่ได้รับเงินทดแทนสำหรับการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เนื่องจากการพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสถานประกอบการนั้นมักจะเป็นเรื่องยาก

การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน แรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจในการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมทั้งสามารถออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด พนักงานตรวจแรงงานมีหน้าที่ส่งต่อกรณีนั้น ๆ เพื่อดำเนินคดีทางอาญาต่อไป ทั้งนี้ มีพนักงานตรวจแรงงานไม่พอสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ค่าปรับสำหรับการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน เทียบเท่าค่าปรับสำหรับความผิดอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น ฉ้อโกง หรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ดี บทลงโทษทางอาญา (โทษจำคุก) อาจน้อยกว่าโทษสำหรับการฉ้อโกงหรือการประมาทเลินเล่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระบุสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย แต่จำนวนของผู้เชี่ยวชาญและการตรวจสอบด้านดังกล่าวยังไม่เพียงพอ จึงทำให้การตรวจสอบส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากการร้องเรียนเท่านั้น กระทรวงแรงงานไม่ได้ติดตามการบังคับใช้บทลงโทษผ่านทางศาล และไม่มีข้อมูลว่า มีการลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

กฎหมายกำหนดโทษปรับและโทษจำคุกหากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และค่าจ้างสำหรับวันหยุดอย่างมีประสิทธิผล ทั้งในบริษัทขนาดเล็ก พื้นที่บางแห่ง (โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทหรือบริเวณชายแดน) หรืออุตสาหกรรมบางประเภท (โดยเฉพาะภาคการเกษตร ก่อสร้าง และประมงน้ำเค็ม)

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวจำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุดในการจัดหางาน ทว่า การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิผล เนื่องจากขาดเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดหางานใต้ดิน ค่าธรรมเนียมเอกสาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเข้าเมือง รายงานของกรมการจัดหางานปี 2564 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 มีบุคคล 287 รายร้องเรียนตัวแทนหรือนายหน้าจัดหางานผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้ 223 รายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการจัดหางานกล่าวว่า มีการดำเนินคดีตัวแทนหรือนายหน้าจัดหางานผิดกฎหมายที่ล่อลวงแรงงาน 195 ราย โดยต้องจ่ายค่าเสียหายมูลค่ารวม 17 ล้านบาท (491,000 เหรียญสหรัฐ)

หลายบริษัทใช้แรงงานแบบจ้างเหมาช่วงเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ โดยคนงานจะเซ็นสัญญาจ้างกับนายหน้าจัดหาแรงงาน กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่แรงงานแบบจ้างเหมาช่วง อย่างไรก็ดี นายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างแก่แรงงานแบบจ้างเหมาช่วงน้อยกว่าและให้สวัสดิการน้อยกว่าหรือไม่ให้เลย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน รัฐบาลประกาศจัดตั้งคณะพนักงานตรวจสอบแรงงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบสภาพการทำงานของแรงงานแบบจ้างเหมาช่วง

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า การบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างไม่เสมอต้นเสมอปลาย ส่งผลให้มีกรณีต่อไปนี้โดยแพร่หลาย ได้แก่ การจ่ายเงินค่าจ้างไม่เป็นเวลาหรือล่าช้า การหักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย การคิดค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนเงินที่ผิดกฎหมาย การเก็บยึดเอกสาร และการไม่จัดทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาที่แรงงานเข้าใจ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม บริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ผู้ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นใน ตกลงจ่ายค่าชดเชย 285.2 ล้านบาท (8.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างคงค้างเมื่อโรงงานปิดตัวลงในปี 2563 เนื่องจากภาวะขาดทุนอันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศรายงานว่า จากแบบสำรวจเกี่ยวกับแรงงานประมงในประเทศไทย พบว่า มีการตรวจสอบเรือประมงที่ไม่เพียงพอต่อการระบุ รายงาน และตรวจแก้การละเมิด ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และพบว่า การสัมภาษณ์ลูกเรือประมงต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นส่วนตัวหรือมีล่าม สหพันธ์ฯ กล่าวว่า ลูกเรือประมงเผชิญกับการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อคับต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในกรณีการจ่ายค่าแรงต่ำหรือล่าช้า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ และระยะเวลาการทำงานในทะเลที่ยาวนานโดยผิดกฎหมาย

กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมประมงสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพและประกันสังคม อีกทั้งกำหนดให้เรือประมงบางประเภทต้องจัดสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมให้แก่แรงงาน จนถึงเดือนตุลาคม ระเบียบข้อบังคับหลักเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานและเกณฑ์จำกัดอายุยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ข้อกำหนดของรัฐกำหนดให้แรงงานประมงต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนต้องซื้อประกันสุขภาพ และให้เจ้าของเรือประมงสมทบเงินเข้าสู่กองทุนเงินทดแทน แรงงานประมงต่างด้าวที่ถือบัตรผ่านแดนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอุบัติเหตุ

ปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางของแรงงานประมง ได้แก่ การขาดแคลนทั้งการตรวจสอบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชุดปฐมพยาบาล ตลอดจนการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้วยภาษาของแรงงานต่างด้าว แบบสำรวจขององค์กรนอกภาครัฐพบว่า ประมาณ 9 ใน 10 ของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมงในประเทศไทย ไม่มีเอกสารสัญญาฉบับแปลหรือได้รับการอธิบายเป็นภาษาที่เข้าใจได้ แบบสำรวจลูกเรือประมงเกี่ยวกับเรือประมงในไทยของสหพันธ์ฯ รายงานว่า มีการละเมิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการทำงานในทะเลโดยผิดกฎหมาย และมีการจำกัดการเดินทางซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น

ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ: สถิติของรัฐระบุว่า ร้อยละ 54 ของแรงงาน 37.7 ล้านคนในประเทศไทย ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการในปี 2564 โดยได้รับความคุ้มครองอย่างจำกัดภายใต้กฎหมายแรงงานและระบบประกันสังคม แม้ว่าค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ยของลูกจ้างในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการจะอยู่ที่ 15,154 บาท (437 เหรียญสหรัฐ) แต่แรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการมีรายได้อยู่ที่ 6,853 บาท (198 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน ประเทศไทยมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ผู้มีสัญชาติไทยทุกคน และมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย อีกทั้งมีสิทธิประโยชน์สำหรับการตั้งครรภ์ ภาวะทุพพลภาพ การเสียชีวิต การช่วยเหลือผู้มีบุตร การว่างงาน และเกษียณอายุ

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า คนงานก่อสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างแบบจ้างเหมาหรือจ้างเหมาช่วง และแรงงานต่างด้าว ไม่มีชื่อในระบบประกันสังคม หรือไม่ได้รับการคุ้มครองจากโครงการกองทุนเงินทดแทน เพราะนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเหล่านี้หรือไม่ได้จ่ายเงินเข้าไปในระบบประกันสังคม

แรงงานของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งให้บริการส่งของ เช่น “แกร็บ” (Grab) และ “ไลน์” (Line) ไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน เพราะถือว่าเป็น “พาร์ทเนอร์” ไม่ใช่ลูกจ้าง ในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ ความต้องการแรงงานส่งของเพิ่มสูงขึ้น และอาชีพนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่เหลืออยู่สำหรับแรงงานค่าแรงต่ำ