รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2564

รายงานสรุป

รัฐธรรมนูญ “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” และปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นไม่เป็น “อันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” ทั้งนี้กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนา 5 กลุ่มอย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเรียกว่าเป็น 4 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศใกล้ชายแดนมาเลเซีย โดยในจำนวนดังกล่าว มี 3 จังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กลุ่มก่อความไม่สงบเชื้อสายมาเลย์ยังคงโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า จนถึงวันที่ 30 กันยายน ความรุนแรงในภาคใต้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 86 ราย ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 59 คน ชาวพุทธ 26 คน และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 2 คน เทียบกับผู้เสียชีวิต 116 รายในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งประกอบไปด้วยชาวมุสลิม 83 คน ชาวพุทธ 29 คน และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 4 คน ผู้สังเกตการณ์ให้เหตุผลว่า จำนวนที่ลดลงเป็นผลร่วมระหว่างการกลับมามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ การปรับปรุงการปฏิบัติการด้านความมั่นคง และผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิมก่อเหตุโจมตีในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 เมษายน ส่งผลให้มีชาวพุทธถูกยิงเสียชีวิต 3 ราย โดยอาจเป็นการแก้แค้นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ 2 รายในวันที่ 22 เมษายน ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ กลุ่มด้วยใจซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินงานด้านการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบุกตรวจค้นเพื่อควบคุมตัวผู้ลี้ภัย (รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา) ที่ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) น้อยครั้งลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ รัฐบาลอ้างว่าปฏิบัติการลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตรวจสอบการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามปกติ สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนจากประเทศจีนยังคงพำนักอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมาตั้งแต่ปี 2558 ในระหว่างปี มีเหตุการณ์โจมตีพระภิกษุ 1 ครั้งเพื่อก่อความไม่สงบ ซึ่งมีรายงานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562

กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธบางกลุ่มยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าชาวมุสลิมได้รับสิทธิพิเศษ โดยมีกลุ่มหนึ่งประท้วงและขัดขวางการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในนครราชสีมาซึ่งเป็นจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม มีการก่อสร้างต่อหลังจากที่กลุ่มดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปแล้ว นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้มีการกำหนดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาพบกับองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรศาสนาต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับพหุนิยมทางศาสนา การยอมรับความต่างทางศาสนา และผู้ลี้ภัยจากการข่มเหงทางศาสนา เจ้าหน้าที่สถานทูตมอบทุนสนับสนุนจำนวนหลายทุนให้แก่ภาคีในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับโครงการที่เน้นทักษะความรู้และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ความหลากหลายและความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของเยาวชน รวมถึงการสร้างชุมชน เจ้าหน้าที่สถานทูตนำการฝึกอบรมทางออนไลน์ทุกไตรมาสในหัวข้อการเป็นพลเมืองดิจิทัลเพื่อสันติภาพและความหลากหลาย นอกจากนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ยังจัดให้มีการประชุมระหว่างความเชื่อ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้จัดการชุมชน และผู้มีอิทธิพลคนรุ่นใหม่มาร่วมการพูดคุยเพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับประเด็นเสรีภาพทางศาสนา ตลอดจนพิจารณาถึงความร่วมมือในอนาคต

หมวดที่ 1. ประชากรที่นับถือศาสนา

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณไว้ (เมื่อกลางปี 2564) ว่า ประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 69.5 ล้านคน ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดเมื่อปี 2553 ระบุว่า ร้อยละ 93 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มศาสนากล่าวว่า ร้อยละ 85-95 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนอีกร้อยละ 5-10 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ประชากรส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่นับถือภูตผี ศาสนาคริสต์ ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาฮินดู ศาสนายูดาห์ ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า

ชาวพุทธส่วนใหญ่นำพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและการนับถือภูตผีมาประกอบศาสนพิธีของตนด้วย พระสงฆ์ในนิกายเถรวาทแบ่งออกเป็น 2 นิกายหลักด้วยกัน ได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมหานิกายมีความเก่าแก่และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในชุมชนสงฆ์

อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดใน 3 จังหวัดจาก 4 จังหวัดทางใต้สุดของประเทศ (นราธิวาส ยะลา และปัตตานี) ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั่วประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย ข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่

ผู้ที่มีเชื้อสายจีนและเวียดนามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานหรือเถรวาท นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อสายจีนจำนวนมากรวมทั้งชาวเมี่ยน ยังนับถือลัทธิเต๋าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย ชาวคริสต์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน หรือเป็นกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือ กว่าครึ่งหนึ่งของชุมชนชาวคริสต์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก

หมวดที่ 2. สถานะด้านการเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของรัฐบาล

กรอบทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญกำหนดให้มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา และอนุญาตให้ทุกคนนับถือศาสนา ปฏิบัติตามหลักศาสนา หรือประกอบกิจทางศาสนาใดก็ได้ตามที่ต้องการ ตราบใดที่เสรีภาพดังกล่าวมิได้ “เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสนาอื่น ๆ แต่ก็มีบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นพิเศษโดยการให้ความรู้ เผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และกำหนดมาตรการและกลไก “ในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

ในปี 2559 รัฐบาลทหารในขณะนั้นมีคำสั่งพิเศษให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครอง “ทุกศาสนาอันเป็นที่รับรอง” ในประเทศ แต่ก็ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดูแลให้มี “การเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้อง” ตามแนวทางของศาสนาโดยไม่ “บิดเบือนให้เป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน” โดยคำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลอยู่ กฎหมายห้ามไว้โดยเฉพาะมิให้มีการดูหมิ่นหรือเหยียดหยามศาสนาพุทธและพระสงฆ์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (600 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ประมวลกฎหมายอาญาห้ามดูหมิ่นหรือก่อความรบกวนในศาสนสถานหรือศาสนพิธีของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท (600-4,200 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายรับรองกลุ่มศาสนาอย่างเป็นทางการทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ แต่รัฐธรรมนูญยังคงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก”

กลุ่มศาสนาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ได้รับยกเว้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้ และได้รับการพิจารณาวีซ่าพักอาศัยเป็นพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ทางการไม่บังคับกลุ่มศาสนาให้จดทะเบียน และกลุ่มศาสนาต่าง ๆ อาจดำเนินการได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง ไม่ว่าจะได้รับการจดทะเบียนหรือการรับรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม กรมการศาสนารับผิดชอบในการจดทะเบียนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ยกเว้นกลุ่มพุทธที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดูแล ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี

กรมการศาสนาอาจจดทะเบียนนิกายใหม่นอกกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มเฉพาะในกรณีที่นิกายดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อไปนี้ 1. มีสาวกทั่วประเทศอย่างน้อย 5,000 คน 2. มีหลักคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ในทางศาสนศาสตร์ 3. ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และ 4. ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมซึ่งกรมการศาสนาจัดขึ้น โดยมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่มศาสนาที่ประสงค์จดทะเบียนกับกรมการศาสนาจะต้องยื่นเอกสารแสดงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการ ความสัมพันธ์ใด ๆ กับต่างประเทศ บัญชีรายชื่อสมาชิกบริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนที่ตั้งของสถานที่บริหาร ศาสนสถาน และสำนักสอนศาสนา อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายแล้ว รัฐบาลจะไม่รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ อีกนอกจาก 5 กลุ่มหลักข้างต้น

รัฐธรรมนูญห้ามนักบวช สามเณร พระสงฆ์ และพระอื่น ๆ ในศาสนาพุทธลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาระบุว่า ณ เดือนพฤศจิกายน มีพระสงฆ์ 239,023 รูปซึ่งไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้นักบวชในศาสนาคริสต์สวมใส่เครื่องแต่งกายทางศาสนาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ นอกจากจุฬาราชมนตรี (ผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลาม) แล้ว อิหม่ามไม่ถือว่าเป็นพระหรือนักบวช ดังนั้นจึงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

มหาเถรสมาคมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่ต้องคำนึงถึงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบหรือทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราช ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

ประมวลกฎหมายอาญาห้ามกระทำการใด ๆ ที่เหยียดหยามหรือดูหมิ่นศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศาสนสถาน มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท (60-420 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายบัญญัติให้สถานศึกษาทั้งระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนากับนักเรียนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น หลักสูตรต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่ม โดยกำหนดให้มีเวลาสอนพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่น ๆ นักเรียนที่ต้องการจะศึกษาศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างละเอียดอาจเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน และโอนหน่วยกิตไปยังโรงเรียนรัฐบาลได้ โรงเรียนที่ร่วมมือกับองค์กรบริหารท้องถิ่นของตนได้รับอนุญาตให้เปิดวิชาศาสนศึกษาเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคริสเตียนของเอกชน 2 แห่ง และวิทยาลัยคาทอลิก 1 แห่ง ซึ่งเปิดสอนศาสนาให้แก่สาธารณชน รวมทั้งมีโรงเรียนคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลด้านหลักสูตรและการจดทะเบียนอยู่ประมาณ 350 แห่ง มหาเถรสมาคมจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านพุทธศาสนศึกษา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำหลักสูตรพิเศษด้านอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ในภาคบังคับของโรงเรียนรัฐบาล

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาชิกชาวมุสลิมที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง และมีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาอิสลามแก่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม รวมถึงมอบเงินทุนสำหรับการก่อสร้างมัสยิดและการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีโรงเรียนอิสลามระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ นักเรียนสามารถรับการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 4 วิธีดังต่อไปนี้ 1. จากโรงเรียนที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนและเปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรระดับประเทศ 2. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนที่อาจเปิดสอนวิชาอื่น ๆ นอกเหนือจากวิชาคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น วิชาภาษาต่างประเทศ (ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ) อย่างไรก็ดี หลักสูตรดังกล่าวอาจไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาล 3. จากโรงเรียนอิสลามของเอกชนประเภทไปกลับที่เปิดสอนศาสนาอิสลามตามหลักสูตรของโรงเรียนให้แก่นักเรียนทุกวัย และ 4. จากหลักสูตรศาสนาหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งมักจะจัดสอนที่มัสยิด

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ แม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และใช้บังคับกับชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก ศาลจังหวัดบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮ์เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษา กฎหมายได้วางโครงสร้างบริหารของชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างเป็นทางการ รวมถึงกระบวนการในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการด้านกิจการศาสนาอิสลาม

กรมการศาสนากำหนดจำนวนผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานในประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้ ชาวคริสต์ 1,357 คน ชาวมุสลิม 6 คน ชาวฮินดู 20 คน และชาวซิกข์ 41 คน การขึ้นทะเบียนจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น ตัวแทนของกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรองทั้ง 5 กลุ่มอาจขอวีซ่าอายุ 1 ปีแบบต่ออายุได้ ผู้สอนศาสนาชาวต่างชาติจากกลุ่มศาสนาอื่น ๆ จะต้องต่ออายุวีซ่าทุก ๆ 90 วัน

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

แนวทางปฏิบัติของรัฐบาล

เนื่องจากศาสนาและชาติพันธุ์มักมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการยากที่จะจำแนกเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิมว่ามีพื้นฐานจากอัตลักษณ์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า จนถึงวันที่ 30 กันยายน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 86 ราย ในจำนวนดังกล่าว เป็นชาวมุสลิม 59 คน ชาวพุทธ 26 คน และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 2 คน เทียบกับผู้เสียชีวิต 116 รายในปี 2563 โดยประกอบไปด้วยชาวมุสลิม 83 คน ชาวพุทธ 29 คน และบุคคลที่ไม่ระบุศาสนา 4 คน ผู้สังเกตการณ์ให้เหตุผลว่า จำนวนที่ลดลงเป็นผลร่วมระหว่างการกลับมามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ การปรับปรุงการปฏิบัติการด้านความมั่นคง และผลกระทบจากโรคโควิด-19 องค์กรนอกภาครัฐในพื้นที่รายงานว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมักมองว่าครูและทหารที่อารักขาครูมีความเกี่ยวข้องกับรัฐ จึงถือเป็นเป้าโจมตีอันชอบธรรม เมื่อวันที่ 6 เมษายน มีครูเสียชีวิต 1 รายในเหตุการณ์วางระเบิดและยิงซ้ำที่จังหวัดปัตตานี ทางการสงสัยว่า เป็นการก่อเหตุผิดคน โดยเป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นอาสาสมัครป้องกันดินแดนที่รอดชีวิตจากการโจมตี 4 ครั้งในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ ในวันที่ 18 สิงหาคม ครูชาวมุสลิมถูกยิงเสียชีวิตในบ้านที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จากเหตุการณ์ที่ทางการเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดน

ทางการกล่าวหาว่า กลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิมก่อเหตุโจมตีวันที่ 24 เมษายน ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้สมาชิก 3 คนของครอบครัวชาวพุทธถูกยิงเสียชีวิต เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เหตุดังกล่าวเป็นการแก้แค้นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ 2 รายในวันที่ 22 เมษายนที่จุดตรวจในจังหวัดนราธิวาส

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม เกิดเหตุระเบิดภายนอกบ้านหลังหนึ่งที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารพราน 2 ราย ชาวบ้าน 1 ราย และพระภิกษุ 1 รูปได้รับบาดเจ็บ ทางการเชื่อว่า เป้าหมายของเหตุระเบิดครั้งนี้คือพระภิกษุ 2 รูปและเจ้าหน้าที่ทหารพราน 2 นายที่รักษาความปลอดภัยพระภิกษุขณะบินฑบาตตอนเช้า กลุ่มก่อความไม่สงบซ่อนระเบิดไว้ในถังขยะข้างทาง และกดชนวนระเบิดเมื่อพระภิกษุและทหารพรานเดินผ่าน ซึ่งเป็นการโจมตีพระภิกษุครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า จนถึงเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ทางการปฏิบัติการบุกและตรวจค้น 73 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเสียชีวิต 7 รายในเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กลุ่มด้วยใจซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกิดกว่าเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่

ผู้นำในชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ สื่อและโซเชียลมีเดียระบุว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม กลุ่มองค์กรนอกภาครัฐออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดจัดเก็บดีเอ็นเอจากบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเด็กและผู้สูงอายุ 11 คนในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี กลุ่มด้วยใจคัดค้านการจัดเก็บดีเอ็นเอจากสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ในปีก่อนหน้า กองทัพเก็บดีเอ็นเอของทหารเกณฑ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีการดำเนินการดังกล่าวในภูมิภาคอื่น ๆ โฆษกประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคใต้กล่าวว่า กองทัพจะยังเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากทหารเกณฑ์ที่สมัครใจต่อไป

ในเดือนเมษายน ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ผลงานเขียนที่ระบุว่า กลุ่มการเมืองบางกลุ่มมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดขึ้นกับขบวนการชาตินิยมของชาวพุทธที่เชื่อว่าความเป็นพุทธคือความเป็นไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์กดดันให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อนำพระพุทธศาสนาและรัฐเข้ามาใกล้ชิดกันขึ้น ดร.เข็มทองกล่าวว่า กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงในขบวนการนี้มุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา รวมถึงชาวพุทธที่ไม่ใช่กระแสหลัก และยังกล่าวอีกว่า การเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งผลด้านลบต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ทางการยังคงใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2548 และ 2547 ตามลำดับ ซึ่งให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาการกักตัวก่อนการพิจารณาคดีและขยายขอบเขตการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ทางการให้อำนาจบางประการด้านความมั่นคงภายในแก่กองทัพ ซึ่งมักส่งผลให้ชาวมุสลิมกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การตรวจค้นยานพาหนะที่มีผู้โดยสารชาวมุสลิมบ่อยกว่าปกติ

ในเดือนตุลาคม นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ออกคำสั่งห้ามบุคคลที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้าถึงบริการของหน่วยงานรัฐหรือธนาคาร ตลอดจนห้ามไม่ให้เข้าละหมาดที่มัสยิดซึ่งเป็นศาสนาสถานเดียวที่ระบุไว้ในคำสั่ง สมาชิกชุมชนมุสลิมกล่าวหาและวิจารณ์รัฐบาลว่า ขัดขวางการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ

รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนระบุว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมากในประเทศไทยหลบหนีการข่มเหงทางศาสนามาจากประเทศของตน UNHCR ระบุว่า ตามกฎหมายของไทยแล้ว ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เข้าประเทศโดยไม่มีวีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย จึงอาจถูกจับกุม กักตัว และส่งตัวกลับประเทศ ไม่ว่าจะได้ลงทะเบียนกับทาง UNHCR ไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม จากข้อมูลของ UNHCR ในปีนี้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติการบุกตรวจค้นและจับกุมผู้ที่พำนักในประเทศโดยผิดกฎหมายน้อยกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งบุคคลเหล่านี้รวมไปถึงผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ลงทะเบียนกับ UNHCR ไว้แล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 รัฐบาลและ UNHCR กล่าวว่า การตรวจค้นเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังกลุ่มศาสนาใดเป็นพิเศษ และการจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองกับคนต่างด้าวผิดกฎหมายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสนับสนุนผู้ลี้ภัยระบุว่า ทางการปล่อยตัวคริสเตียนและมุสลิมนิกายอามาห์ดียะห์เชื้อสายปากีสถานจำนวนมาก หลายคนในจำนวนนี้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง ซึ่งถูกกักกันในปีก่อน ๆ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ทางการจับกุมคนต่างด้าวชาวกัมพูชา 27 คนที่ซ่อนตัวอยู่ที่วัดตะล่อมในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในข้อหาเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายขณะปลอมตัวเป็นพระภิกษุ เจ้าอาวาสของวัดดังกล่าวถูกสอบสวนในข้อกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือและซ่อนคนต่างด้าวผิดกฎหมาย

โดยปกติแล้ว ทางการจะไม่เนรเทศบุคคลที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวอยู่ได้ ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ ซึ่งรวมถึงผู้ที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนา รายงานว่า ตนพักอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสภาพแออัดเป็นเวลาหลายปี ในหลายกรณี ทางการให้แม่และเด็กอยู่ในสถานพักพิง เพื่อปฏิบัติตามนโยบายลดการกักตัวผู้อพยพที่เป็นเด็ก ในทางปฏิบัติ สถานพักพิงดังกล่าวมีพื้นที่มากกว่าศูนย์กักกันฯ แต่ยังคงจำกัดเสรีภาพในการเดินทางอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ระหว่างปีมีรายงานจำนวนมากจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐที่ระบุว่า ทางการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กในศูนย์กักกันฯ หรือสถานีตำรวจในท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงเด็กชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีจากการข่มเหงทางศาสนาและชาติพันธุ์มาจากพม่า

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในระหว่างปี สมาชิกของกลุ่มฝ่าหลุนกงจากจีนซึ่งมีสถานะผู้ลี้ภัย ถูกตำรวจตรวจสอบหรือจับกุมเป็นช่วง ๆ UNHCR ประเมินว่า ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวจีนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ที่ถูกกักตัว ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับตัวไปสู่อันตรายในจีน

สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนที่มาจากจีนยังคงพำนักอยู่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมาตั้งแต่ปี 2558 รวมถึงชาวอุยกูร์ 7 คนที่ยังคงถูกคุมขังจากความผิดที่เกี่ยวข้องกับความพยายามหลบหนี องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานว่า ทางการจีนยังคงกดดันให้รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนโดยที่พวกเขาไม่ยินยอม กลุ่มที่ดำเนินงานด้านมนุษยธรรมดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้บุคคลเหล่านี้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่ปลอดภัยตามความประสงค์ของพวกเขา

รัฐบาลยังคงเดินหน้าสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พระสงฆ์อาวุโสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยักยอกทรัพย์ ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศว่าได้ชี้มูลความผิดไปแล้ว 52 สำนวน และยังคงดำเนินการสืบสวนคดีอื่น ๆ อีก 46 สำนวนที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 26.7 ล้านบาท (799,000 เหรียญสหรัฐ) ป.ป.ช. ระบุว่าได้ส่งสำนวนคดี 24 สำนวนให้ตำรวจเพื่อสืบสวนต่อไป

รัฐบาลไม่ได้รับรองกลุ่มศาสนาใหม่ใด ๆ เพิ่มเติมนับตั้งแต่ปี 2527 ถึงแม้ว่าจะไม่มีการรับรองหรือจดทะเบียนอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย แต่กลุ่มประชาสังคมยังคงรายงานว่า กลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถดำเนินการได้อย่างเสรี และการที่รัฐบาลไม่รับรองหรือจดทะเบียนกลุ่มศาสนาเพิ่มเติมก็ไม่ได้จำกัดการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้แต่อย่างใด สมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงยังคงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาดูสมาชิกกลุ่มอย่างใกล้ชิด และบางครั้งก็ข่มขู่ผู้ฝึกที่แจกเอกสารของกลุ่มด้วย แม้ว่าการจดทะเบียนจะให้สิทธิประโยชน์บางประการ เช่น การได้รับวีซ่าที่อายุนานขึ้น แต่กลุ่มศาสนารายงานว่า การไม่จดทะเบียนไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อกิจกรรมการประกาศศาสนาของครูสอนศาสนาต่างชาติ และผู้เผยแผ่ศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนมากทำงานในประเทศได้โดยไม่ถูกรัฐบาลแทรกแซง

ภิกษุและคณะกรรมการวัดยังคงปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมในปี 2561 ซึ่งห้ามใช้พื้นที่ของวัดจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมือง การประชุม หรือสัมมนาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยทางสังคม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ระหว่างปี สื่อรายงานว่า มีภิกษุสงฆ์เพียงไม่กี่รูปที่ฝ่าฝืนคำสั่งของมหาเถรสมาคมเป็นระยะ ๆ โดยเข้าร่วมการประท้วงบนถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาล

ในเดือนมิถุนายน สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า หรือ “เณรโฟล์ค” ถูกออกหมายเรียกเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังปราศรัยแสดงความคิดเห็นรุนแรงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2563 เณรโฟล์ควิจารณ์คณะสงฆ์ว่า ไม่เห็น “การประพฤติชั่วร้าย” ของพระมหากษัตริย์ และท้าทายสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้หยุดทำตัวเป็น “เครื่องโฆษณาชวนเชื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์” ในเดือนกุมภาพันธ์ เณรโฟล์คเผชิญข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่นพระสังฆราช และทำให้คณะสงฆ์แตกแยก

ในเดือนกันยายน คณะกรรมาธิการรัฐสภาออกคำสั่งเรียกภิกษุ 2 รูปให้มาชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมทางออนไลน์ และตักเตือนเรื่อง “พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” ของทั้งสอง ภิกษุทั้งสองรูปเป็นที่โด่งดังทางโซเชียลมีเดียหลังจากถ่ายทอดสดการสอนธรรมะทุกสัปดาห์ ซึ่งดึงดูดผู้ฟังรุ่นใหม่ โดยผนวกรวมการสอนแบบดั้งเดิมเข้ากับเรื่องราวขำขันและการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้มีผู้ชมหลายล้านคน ทั้งคู่บอกกับคณะกรรมการว่า จะลดเนื้อหาตลกขบขันลง และ “ปรับให้สร้างสรรค์” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ภิกษุหนึ่งในสองรูปดังกล่าวประกาศลาสิกขา โดยกล่าวขณะถ่ายทอดสดว่า เขตปกครองคณะสงฆ์สร้างปัญหาให้แก่พระอาจารย์และวัดของตน

ในเดือนกุมภาพันธ์ สำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาแสดงความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จะยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับกิจการและองค์กรศาสนาอิสลาม ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในเดือนมีนาคม ตัวแทนของประธานรัฐสภาออกจดหมายตอบอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาจะไม่พิจารณาร่างดังกล่าวต่อ

กฎหมายยังคงไม่รับรองสถานะของภิกษุณีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม มหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี ผู้หญิงที่ประสงค์ครองสมณเพศมักเดินทางไปเข้ารับการอุปสมบทที่ศรีลังกา จากจำนวนนักบวชในพระพุทธศาสนา 239,023 รูปทั่วประเทศ มีภิกษุณี 250-300 รูป แต่เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา” ภิกษุณีจึงไม่ได้รับการคุ้มครองด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ เจ้าหน้าที่ทางการยังคงไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีอย่างเป็นทางการ และยังอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติศาสนกิจและก่อตั้งอารามและวัดได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ อารามของภิกษุณียังคงไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากรัฐบาลเหมือนที่วัดในพระพุทธศาสนาได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ได้แก่ การยกเว้นภาษี การรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเงินอุดหนุนสำหรับการก่อสร้างและดำเนินโครงการด้านสวัสดิการสังคม ภิกษุณีไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐบาลจากการประทุษร้ายทางวาจาและทางกาย เหมือนเช่นที่ภิกษุสงฆ์ได้รับ

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งเดียวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล ยังคงเปิดสอนหลักสูตรพิเศษให้แก่นักเรียนชาวมุสลิม โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย อังกฤษ อาหรับ และมลายู ตลอดจนจัดให้มีหลักสูตรสันติศึกษาเป็นหลักสูตรบังคับ และผนวกหลักการทางศาสนาเข้ากับหลักสูตรส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จนถึงสิ้นปี มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีนักศึกษาประมาณ 3,000 คน และบุคลากรวิชาการประมาณ 250 คน

ที่โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ของวัดพุทธในจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นักเรียนชาวมุสลิมยังสามารถใส่ผ้าคลุมผมไปโรงเรียนระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาลปกครองยะลาว่า การสวมเครื่องแบบในลักษณะดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ปี 2561 ที่ผู้ปกครองชาวมุสลิมยื่นเรื่องคัดค้านระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ ซึ่งห้ามนักเรียนแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาของตน และกำหนดให้สวมเครื่องแบบที่โรงเรียนและวัดยอมรับเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้สวมใส่เครื่องแต่งกายตามศาสนา

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กรมการศาสนาสำหรับโครงการริเริ่มเกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาประมาณ 294 ล้านบาท (8.80 ล้านเหรียญสหรัฐ) เทียบกับ 435 ล้านบาท (13.02 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ ประมาณ 261.4 ล้านบาท (7.83 ล้านเหรียญสหรัฐ) จัดสรรไว้สำหรับวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้งความร่วมมือระหว่างความเชื่อ ผ่านโครงการสร้างสันติภาพต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เทียบกับ 341.8 ล้านบาท (10.23 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า รัฐบาลยังจัดสรรงบจำนวนประมาณ 9.2 ล้านบาท (275,000 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กษัตริย์ในรัชกาลก่อนด้วย กรมการศาสนายังได้รับเงินจำนวน 1.1 ล้านบาท (32,900 เหรียญสหรัฐ) สำหรับโครงการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2,580 ล้านบาท (77.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแยกต่างหากจากกรมการศาสนา เทียบกับ 4,850 ล้านบาท (145.21 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมความสามารถและพัฒนาทุนมนุษย์จำนวน 1,500 ล้านบาท (44.91 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตลอดจนงบบริหารงานบุคคล 1,600 ล้านบาท (47.90 ล้านเหรียญสหรัฐ) โครงการศึกษา 1,070 ล้านบาท (32.04 ล้านเหรียญสหรัฐ)

รัฐบาลยังคงให้การรับรองคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับประเด็นด้านศาสนาอิสลาม การตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งมัสยิด การย้ายมัสยิด การรวมมัสยิด และการยุบเลิกมัสยิด การแต่งตั้งอิหม่าม รวมทั้งการออกประกาศและการอนุมัติศาสนกิจของศาสนาอิสลาม สมาชิกคณะกรรมการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรายงานว่า คณะกรรมการบางคนให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับประเด็นชาติพันธุ์ชาตินิยมและความตึงเครียดทางศาสนาในพื้นที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล

ไทยมีพระสงฆ์เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศอาศัยอยู่ โดยได้รับเงินทุนบางส่วนจากรัฐบาล จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระสงฆ์ที่เผยแผ่ศาสนาทั่วประเทศมีจำนวน 5,243 รูป โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ตามกฎข้อบังคับของทางการ พระภิกษุต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ

ณ วันที่ 30 กันยายน กลุ่มครูสอนศาสนาต่างชาติที่จดทะเบียนและมีวีซ่าดำเนินงานในประเทศตลอดทั้งปีมีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ ศาสนาคริสต์ 6 กลุ่ม ศาสนาอิสลาม 1 กลุ่ม ศาสนาฮินดู 2 กลุ่ม และศาสนาซิกข์ 2 กลุ่ม ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลรายงานว่า มีผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่จดทะเบียนจำนวน 1,357 คน กลุ่มมุสลิม ซิกข์ และฮินดูมีครูสอนศาสนาในประเทศในจำนวนที่น้อยกว่า ชาวต่างชาติบางคนเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และทำงานเผยแผ่ศาสนาหรือกิจกรรมสนับสนุนผู้เผยแพร่ศาสนา นอกจากนี้ ยังมีจำนวนหนึ่งที่เผยแผ่ศาสนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา ครูสอนศาสนาต่าง ๆ นอกจากพระพุทธศาสนาไม่ได้รับเงินทุนหรือเงินช่วยเหลือจากรัฐ

ถึงแม้ว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (มอรมอน) จะไม่ได้เป็นกลุ่มศาสนาที่ทางราชการรับรอง แต่ก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีผู้สอนศาสนาจำนวน 200 คนได้เป็นพิเศษ

หมวดที่ 3. สถานภาพของการให้ความเคารพทางสังคมต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

รายงานความรุนแรงต่อกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบเชื้อสายมาเลย์มุสลิมยังคงโจมตีชาวพุทธและชาวมุสลิมอยู่ กลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธบางกลุ่มยังคงแสดงความคับข้องใจเนื่องจากรู้สึกว่าชาวมุสลิมได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ความช่วยเหลือด้านการเงิน การจ้างงาน และการลดเกณฑ์การสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียนชาวมุสลิม

ในเดือนเมษายน องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพประท้วงและขัดขวางการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในนครราชสีมาซึ่งเป็นจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกล่าวว่าเป็นการขัดกับกฎหมาย ในเวลาต่อมา มีการก่อสร้างต่อหลังจากที่กลุ่มดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปแล้ว

นักเคลื่อนไหวชาวพุทธยังคงรณรงค์เพื่อให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แพลตฟอร์มของพรรคแผ่นดินธรรม ซึ่งมีนายกรณ์ มีดี ชาวพุทธชาตินิยม เป็นหัวหน้าพรรค สนับสนุนการกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และเรียกร้องให้มีการตั้งชุมชนชาวพุทธแยกเป็นพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ข้อมูลคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า จนถึงปี 2563 พรรคมีสมาชิก 8,573 คน และมีสำนักงานอยู่ใน 5 ภูมิภาค ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคได้รับคะแนนเสียง 21,463 คะแนน และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 170 คน แต่ไม่มีคนใดได้รับเลือก

หมวดที่ 4. นโยบายและการมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พบกับองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรศาสนาต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับพหุนิยมทางศาสนา การยอมรับความต่างทางศาสนา และผู้ลี้ภัยจากการข่มเหงทางศาสนา สถานทูตมอบทุนสนับสนุนจำนวนหลายทุนให้แก่ภาคีในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับโครงการที่เน้นทักษะความรู้และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ความหลากหลายและความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของเยาวชน รวมถึงการสร้างชุมชน เจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นผู้จัดและนำการฝึกอบรมทางออนไลน์ทุกไตรมาสในหัวข้อการเป็นพลเมืองดิจิทัลเพื่อสันติภาพและความหลากหลาย นอกจากนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ยังจัดให้มีการประชุมระหว่างความเชื่อ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้จัดการชุมชน และผู้มีอิทธิพลคนรุ่นใหม่มาร่วมการพูดคุยเพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับประเด็นเสรีภาพทางศาสนา ตลอดจนพิจารณาถึงความร่วมมือในอนาคต