ประเทศไทย: กลุ่มที่ 2
รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลไทยแสดงความพยายามโดยรวมมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ดังนั้นประเทศไทยจึงยังคงอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความพยายามดังกล่าวประกอบไปด้วยการฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่ผู้พิพากษา และการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่สถานพักพิง นอกจากนี้ รัฐบาลยังสืบสวนสอบสวนคดีสงสัยค้าแรงงานมากรายขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ตลอดจนพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดให้รับโทษจำคุกร้ายแรง เพิ่มค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายผ่านกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และให้เงินชดเชยแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในช่วงการรายงานนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในหลายเรื่องหลัก เจ้าหน้าที่ยังคงรวมกรณีการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองไว้ด้วยกันในช่วงการรายงานนี้ การระบุผู้เสียหายยังคงไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ และทางการไม่ได้ให้การดูแลด้านจิตสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหายหรือให้ผู้เสียหายที่พักอาศัยอยู่ในสถานพักพิงของรัฐมีเสรีภาพในการเข้าออกอย่างเพียงพอ ทางการเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ตัดสินนักค้ามนุษย์ว่ามีความผิดน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดเพียง 2 รายเท่านั้น รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยแยกบทบัญญัติเกี่ยวกับ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ออกมาต่างหาก ทั้งนี้บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงานน้อยกว่าโทษที่มีอยู่แล้วตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อเสนอแนะสำคัญ
ไทยควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเชิงรุก และระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ไทยควรสืบสวนสอบสวนในเชิงรุกและดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และดำเนินการพิพากษาและลงโทษจำคุกอย่างเหมาะสมแก่ผู้ที่พบว่ามีความผิดจริง นอกจากนี้ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐปฏิบัติต่อผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดูแลทางจิตใจด้วย ทั้งนี้รวมถึงการเพิ่มจำนวนล่ามและนักจิตวิทยาที่ทำงานในสถานพักพิงเต็มเวลา ไทยควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น รวมทั้งประเมินการจัดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงใหม่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่ต้องอยู่ในสถานพักพิงเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ไทยยังควรพัฒนาการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่สวัสดิการสังคมที่ดูแลด้านแรงงาน ทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อให้สามารถระบุผู้เสียหายเชิงรุกได้มากขึ้นในประชากรเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ใหญ่และเด็กในธุรกิจการค้าทางเพศ เด็กขอทานและขายของตามถนน แรงงานอพยพในภาคการเกษตร การผลิต การประมง การแปรรูปอาหารทะเล การก่อสร้าง และงานรับใช้ตามบ้าน และในกลุ่มแรงงานชาวเกาหลีเหนือ ไทยควรขยายระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องระบุผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เวลากับผู้เสียหายในการเข้าถึงบริการของรัฐ ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจากการถูกแสวงประโยชน์ และบอกเล่าประสบการณ์ของตนให้เจ้าหน้าที่ฟัง ไทยไม่ควรกำหนดให้มีการระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าถึงบริการต่าง ๆ เฉพาะเมื่อผู้เสียหายเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนนักค้ามนุษย์ที่กระทำผิดต่อตนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรทำให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามนิยามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 และ 6/1 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีสิทธิและสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้โดยเท่าเทียมกัน ไทยควรเพิ่มความพยายามในการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่านายจ้างจัดทำสำเนาของสัญญาเป็นภาษาที่แรงงานเข้าใจได้ รวมทั้งให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้พิพากษาในคดีค้ามนุษย์ใช้แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลักและคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย ไทยควรยกระดับความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศเกี่ยวกับศูนย์ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ศูนย์แรกรับเข้าทำงาน และสถานพักพิงของรัฐ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ กับผู้เสียหายด้วย ไทยควรเพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยจากนักค้ามนุษย์ตามคำสั่งศาล อีกทั้งยังควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เสียหายและกลุ่มสนับสนุนผู้เสียหายรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกนายจ้างกล่าวหาเท็จเพื่อแก้แค้น รวมไปถึงใช้กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกฟ้องคดีที่มีการยื่นคำร้อง โดยมีเจตนาไม่สุจริต หรือเพื่อข่มขู่จำเลย ไทยควรให้การสนับสนุนด้านวิชาการและการเงินแก่สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐเพื่อให้แน่ใจว่ามีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดแรงงานและคำร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวซึ่งมีข้อบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน เพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ไทยควรบังคับให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้มีการให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัวและเอกสารทางการเงินของตนเอง
การดำเนินคดี
รัฐบาลยังคงพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้มาตรา 6 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุว่าการค้ามนุษย์ทางเพศและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นความผิดอาญา อีกทั้งยังกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1,200,000 บาท (13,440-40,310 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6-20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท (20,150-67,180 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การข่มขืน เมื่อเดือนเมษายน 2562 รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยแยกบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ออกมาอยู่ภายใต้มาตรา 6/1 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท (1,680-13,440 เหรียญสหรัฐ) ต่อผู้เสียหาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ บทบัญญัติใหม่นี้กำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงานน้อยกว่าโทษที่มีอยู่แล้วตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลรายงานว่า ในปี 2562 มีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ 288 คดี (เทียบกับ 304 คดีในปี 2561) ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 386 ราย (เทียบกับ 438 รายในปี 2561) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 304 ราย (เทียบกับ 316 รายในปี 2561) นอกจากนี้ รัฐบาลยังรายงานว่ามีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 76 คดี (เทียบกับ 43 คดีในปี 2561) ในจำนวนดังกล่าว มีคดีที่เกี่ยวข้องกับภาคการประมง 4 คดี ศาลตัดสินให้ประมาณร้อยละ 74 ของนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายรวมกรณีการค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองไว้ด้วยกันเพิ่มขึ้นในช่วงการรายงานนี้ และผู้สังเกตการณ์ในประเทศรายงานว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกดดันให้ตำรวจภูธรเพิ่มจำนวนคดีค้ามนุษย์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุคดีการลักลอบขนคนเข้าเมืองเป็นคดีการค้ามนุษย์ ซึ่งบางครั้งเป็นการจงใจระบุคดีในลักษณะดังกล่าว ในปี 2562 หน่วยงานดูแลคดีค้ามนุษย์ของสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่พบหลักฐานการค้ามนุษย์ที่เพียงพอในประมาณร้อยละ 18 ของคดีที่มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยและส่งต่อให้กับหน่วยโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 9 ในปี 2561 และร้อยละ 2 ในปี 2560 เนื่องจากขาดกฎหมายเอาผิดอาชญากรรมลักลอบขนคนเข้าเมือง จึงอาจทำให้แนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะระบุคดีลักลอบขนคนเข้าเมืองเป็นคดีค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น
รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้คณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (TATIP) มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อน และประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และองค์กรนอกภาครัฐ ผู้สังเกตการณ์ในประเทศรายงานว่า บางครั้งกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งต่อคดีค้ามนุษย์ไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้จัดการการกำกับดูแลคดีที่สืบสวนสอบสวนโดยตำรวจท้องถิ่นที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) สืบสวนการค้ามนุษย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 26 คดี (เทียบกับ 19 คดีในปี 2561) ในปี 2562 ศาลออกคำสั่งริบทรัพย์มูลค่า 401,014 บาท (13,470 เหรียญสหรัฐ) ตามคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีค้ามนุษย์ 15 คดีที่ฟ้องร้องโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยยังคงจัดให้มีการประชุมทวิภาคีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและรวบรวมหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนสอบสวนการค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นชาวไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้แม้ว่าในเมืองใหญ่การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานจะมีประสิทธิภาพ แต่ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า การสื่อสารระหว่างหน่วยงานและประชาสังคมไม่มีประสิทธิภาพในบางจังหวัด ในเดือนมกราคม 2563 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์จัดประชุมกับองค์กรนอกภาครัฐในประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในคดีค้ามนุษย์ โดยเน้นคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังจัดการประชุมโต๊ะกลมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎหมายและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์อีกด้วย
ผู้เสียหายบางรายยังคงลังเลที่จะมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินคดีเพราะกลัวถูกกักตัวและต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน กลัวถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น และมีอุปสรรคทางด้านภาษา ในความพยายามที่จะช่วยให้ผู้เสียหายเต็มใจเป็นพยานให้การมากยิ่งขึ้น ศาลยอมให้นำคำให้การล่วงหน้าและคำให้การที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี ศาลดำเนินการไต่สวนพยานล่วงหน้า 15 ครั้งสำหรับพยาน 41 รายในปี 2562 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของไทยยังทำงานร่วมกับทางการของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้คำให้การจากพยานที่อยู่นอกประเทศไทย แม้ว่าองค์กรนอกภาครัฐบาลบางแห่งได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการท้องถิ่นจะไม่เต็มใจดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้พนักงานอัยการทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐในการเตรียมตัวผู้เสียหายในการให้การเป็นพยาน และศาลอนุญาตให้ทนายความขององค์กรนอกภาครัฐทำหน้าที่โจทก์ร่วมได้ในบางคดีเพื่อสนับสนุนผู้เสียหายในทางกฎหมาย รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.44 ล้านบาท (82,000 เหรียญสหรัฐ) ในการให้บริการคุ้มครองพยาน 193 รายในคดีค้ามนุษย์ในปี 2562 เทียบกับ 2.45 ล้านบาท (82,290 เหรียญสหรัฐ) สำหรับพยาน 15 รายในปี 2561 สำนักอัยการสูงสุดร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจในคดีค้ามนุษย์ให้แก่พนักงานอัยการ และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการในภาคใต้และภาคกลางของประเทศ ทางการร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐจัดการสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และผู้ให้บริการทางสังคม เพื่อส่งเสริมการประสานงานในคดีค้ามนุษย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทางอินเทอร์เน็ตให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานศาลยุติธรรมยังร่วมมือกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์และวิธีปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลคดีค้ามนุษย์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลอาญา ศาลแพ่ง และศาลแรงงาน นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศจัดการสัมมนาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้แก่ผู้พิพากษา 30 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน และการระบุคดีการบังคับให้ขอทาน แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 นาย อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรก พนักงานอัยการ และผู้พิพากษา ไม่ได้แปลความหรือใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พนักงานอัยการและคณะสหวิชาชีพมักจะมองหาหลักฐานการถูกทำร้ายร่างกาย และคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานมักจะถูกส่งต่อไปยังศาลแรงงานมากกว่าดำเนินคดีทางอาญา การสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ทำงานในคดีค้ามนุษย์ถูกสับเปลี่ยนออกไปจากตำแหน่ง และมักจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งขาดความชำนาญมาทำหน้าที่แทน ศาลอนุญาตให้ใช้คำตัดสินเครือข่ายค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจากศาลต่างประเทศ มาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้มีการพิพากษาลงโทษเป็นผลสำเร็จ
การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐเอื้ออำนวยให้เกิดการค้ามนุษย์และยังคงบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ องค์กรนอกภาครัฐบางแห่งทราบถึงการทุจริตจึงลังเลที่จะร่วมงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานบางหน่วยงานในบางคดี ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางรายลังเลที่จะสอบสวนเจ้าของเรือและไต้ก๋งที่มีอิทธิพล รวมทั้งผู้ที่พวกเขาเข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายอาจตั้งใจประนีประนอมการสืบสวนสอบสวน และไม่สามารถให้หลักฐานเพียงพอต่อพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีค้ามนุษย์ ทางการรายงานว่ามีการสอบสวนกรณีสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่ 2 กรณีในปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งตัวเจ้าหน้าที่ 4 รายให้แก่พนักงานอัยการ ในปี 2562 รัฐบาลพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ 14 คน (เทียบกับ 16 คนในปี 2561) โดยพิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ 6 ราย เป็นเวลาตั้งแต่ 34-225 ปี ทั้งนี้การพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ 8 รายที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานซื้อบริการทางเพศจากเด็กยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการเมื่อสิ้นสุดช่วงการรายงาน นอกจากนี้ ศาลยังเพิ่มระยะเวลาการจำคุกเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกตัดสินว่ากระทำความผิดก่อนหน้านี้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้อพยพชาวโรฮีนจาอีกด้วย รัฐบาลใช้การลงโทษทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดบางราย แทนที่จะสอบสวนและดำเนินคดีทางอาญากับคนเหล่านั้น ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่อำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์โดยการรับสินบนที่จุดผ่านแดน
การคุ้มครอง
ความคืบหน้าของรัฐบาลในการระบุตัวและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ยังไม่คงเส้นคงวา มีการระบุจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงาน 868 คนในปี 2562 เทียบกับผู้เสียหายประมาณ 631 คนในปี 2561 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังได้รายงานว่า มีการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ถูก “ขู่กรรโชก” อีก 950 คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเป็นผู้อพยพชาวพม่าหรือโรฮีนจาที่เดินทางผ่านไทยอย่างผิดกฎหมายเพื่อไปหางานในประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย การนำอาชญากรรมการค้ามนุษย์มานับรวมเข้ากับการลักลอบขนคนเข้าเมืองส่งผลให้สถานพักพิงของรัฐสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มีความแออัด อีกทั้งอาจลดคุณภาพของบริการสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงานด้วย จากจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงานทั้งหมด 868 คนที่ทางการไทยระบุตัว มีผู้เสียหาย 258 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย เลือกที่จะไม่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงของรัฐ และ 28 คนอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ ในจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงาน 610 คนที่มีรายงานว่าได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวง พม. ในสถานพักพิงของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐ (เทียบกับ 401 คนในปี 2561) แบ่งเป็นชาวไทย 134 คน และชาวต่างชาติ 476 คน และเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 170 คน และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 440 คน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ระบุว่ามีผู้เสียหายจากผู้อพยพจำนวน 7,156 คนที่ได้รับการคัดกรองในสถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เทียบกับผู้เสียหายที่ระบุได้ 15 คนในปี 2561 องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐลดความพยายามที่จะร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มนี้ระหว่างช่วงการรายงานนี้
คณะสหวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐ ใช้แนวทางการคัดกรองมาตรฐานเพื่อระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและส่งตัวเข้ารับบริการต่าง ๆ รัฐบาลร่วมกับองค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งในการจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้แก่วิทยากร 30 คนจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังจัดการฝึกอบรมเรื่องการระบุกรณีการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่แรงงานและพนักงานตรวจแรงงานอีกด้วย กระทรวง พม. จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุผู้เสียหายให้แก่สมาชิกคณะสหวิชาชีพ 1,000 คน โดยมุ่งเน้นประเด็นการบังคับใช้แรงงาน ภายหลังมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 หน่วยงานภาครัฐยังทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐในการทบทวนแบบฟอร์มการระบุผู้เสียหายเบื้องต้น โดยเพิ่มเติมผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานดังที่นิยามไว้ในมาตรา 6/1 ของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าว รัฐบาลได้รับรองแบบฟอร์มฉบับแก้ไขในเดือนมกราคม 2563 และมอบหมายให้กระทรวง พม. พัฒนาแนวปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับการสัมภาษณ์ผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับแบบฟอร์มฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี การขาดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้กฎหมายฉบับแก้ไขเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานระหว่างช่วงเวลาส่วนใหญ่ของการรายงานนี้ ได้สร้างความสับสนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในแนวหน้า แม้รัฐบาลจะรายงานว่าผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานภายใต้มาตรา 6/1 มีสิทธิเข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยเท่าเทียมกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประเภทอื่นทั้งหมด แต่กลุ่มประชาสังคมรายงานว่า ข้อบังคับที่รัฐนำเสนออาจไม่สามารถใช้กับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานได้ เช่น ข้อที่อนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สามารถพำนักในไทยต่อได้ และให้ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กระบวนการระบุผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพยังคงมีประสิทธิผลแบบไม่คงเส้นคงวา ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนดำเนินการสัมภาษณ์ผู้เสียหายด้วยวิธีที่บั่นทอนความสามารถในการให้การเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น พวกเขารายงานว่าเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นายจ้างของผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายเข้าฟังการสัมภาษณ์ผู้เสียหายได้ การสัมภาษณ์โดยคณะสหวิชาชีพในบางครั้งมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมจำนวนมากเกินไป และขาดการประสานงานกันอย่างเพียงพอระหว่างเจ้าหน้าที่ขณะสัมภาษณ์ องค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งรายงานว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์ของคณะสหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ DSI มักใช้วิธีที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นให้ นอกจากนี้ บางครั้งคณะสหวิชาชีพยังลังเลที่จะระบุผู้เสียหายหากการดำเนินคดีมีท่าทีว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ
พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทยคัดกรองการค้ามนุษย์ในแรงงานต่างด้าวระหว่างการตรวจแรงงาน และจะต้องส่งผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกคนให้คณะสหวิชาชีพระบุสถานะอย่างเป็นทางการและส่งต่อเพื่อรับบริการต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมองข้ามกรณีการค้ามนุษย์ที่ไม่ปรากฏการใช้กำลังหรือข้อบ่งชี้ว่ามีการบีบบังคับอย่างชัดเจน เช่น กรณีการจ่ายค่าจ้างล่าช้าหรือไม่จ่ายค่าจ้าง การบีบบังคับด้วยหนี้ และการยึดเอกสารของผู้เสียหาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางรายมักจะไม่ระบุผู้เสียหายที่แรกเริ่มสมัครใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หรือตกลงทำงานในอุตสาหกรรมที่ผู้เสียหายถูกแสวงประโยชน์ในภายหลัง ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่สนับสนุนให้คนงานที่อาจเป็นผู้เสียหายซึ่งถูกแสวงประโยชน์ไกล่เกลี่ยกับนายจ้างหรือส่งเรื่องไปยังศาลแรงงาน แทนที่จะพิจารณาว่าพวกเขาเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รายงานอย่างไม่เป็นทางการยังชี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางรายลังเลที่จะรับเรื่องร้องเรียนหรือระบุผู้เสียหาย เนื่องจากกังวลว่า การค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นจะแสดงถึงความไร้ประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายหรือความล้มเหลวของรัฐในความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ ตามกฎหมายของประเทศไทย พนักงานตรวจแรงงานอาจต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งอาจลดทอนความเต็มใจในการรายงานกรณีต้องสงสัยว่าเกิดการแสวงประโยชน์ขึ้น
รัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้สูงสุดเพียง 8 วันเท่านั้น และคณะสหวิชาชีพจำเป็นต้องระบุว่า บุคคลนั้น ๆ เป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเพื่อรับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้เสียหายบางรายที่ขาดความพร้อมทางร่างกายหรือจิตใจสำหรับกระบวนการระบุผู้เสียหายของคณะสหวิชาชีพเพื่อรับบริการต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้มีช่วงเวลาไตร่ตรอง (reflection period) ที่เหมาะสม ซึ่งจะอำนวยให้พวกเขาเข้าถึงบริการของรัฐที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้มั่นคงได้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจกับผู้เสียหาย รวมถึงไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลที่เพียงพอที่จะใช้ระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและสนับสนุนให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน ดังนั้น ผู้เสียหายจึงมักเสาะหาความช่วยเหลือชั่วคราวจากองค์กรนอกภาครัฐก่อนที่จะพร้อมเข้ารับการสัมภาษณ์โดยคณะสหวิชาชีพ โดยที่องค์กรนอกภาครัฐไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงส่งต่อผู้เสียหายที่คณะสหวิชาชีพได้ระบุสถานะอย่างเป็นทางการแล้วไปยังสถานพักพิงของรัฐ เพื่อรับการให้การปรึกษา ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ ค่าสินไหมทดแทน ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนโอกาสการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ทางการได้กำหนดว่า ผู้เสียหายจะเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ต่อเมื่อยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่ผู้เสียหายปฏิเสธที่จะร่วมมือ รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวผู้เสียหายกลับประเทศอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กระทรวง พม. บริหารจัดการสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง และสถานพักพิงระยะยาว 9 แห่งในภูมิภาคสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้ เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายชายและครอบครัว 4 แห่ง สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิง 4 แห่ง และสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชาย 1 แห่ง รัฐบาลยังคงแจกจ่ายคู่มือที่ตีพิมพ์เป็น 7 ภาษา มีเนื้อหาให้ความรู้ผู้เสียหายเกี่ยวกับสิทธิของตนภายใต้กฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ทั้งนี้เฉพาะผู้เสียหายต่างด้าวที่มีวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุ ณ เวลาที่ระบุสถานะเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐได้ในระหว่างการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องอาศัยในสถานพักพิงระหว่างที่รัฐบาลดำเนินการออกใบอนุญาตให้พำนักและทำงานในไทย สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของกระทรวง พม. ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหายออกนอกสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งรวมไปถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และมักปฏิเสธคำขออนุญาตออกนอกสถานพักพิงของผู้เสียหาย เฉพาะผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงเท่านั้นจึงจะสามารถออกนอกสถานพักพิงเป็นประจำเพื่อทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหายมักจะต้องพำนักในสถานพักพิงจนกว่าการดำเนินคดีต่อนักค้ามนุษย์จะสิ้นสุดลง แม้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะออกจากระบบสถานพักพิงแล้วทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สถานพักพิงยังกำหนดให้ผู้เสียหายต้องขออนุญาตก่อนโทรศัพท์พูดคุยเรื่องส่วนบุคคล อีกทั้งมักจะคอยฟังบทสนทนาของผู้เสียหายด้วย การกำหนดให้ผู้เสียหายอยู่ในสถานพักพิงนานเกินจำเป็น ประกอบกับการจำกัดการเดินทางและการสื่อสารของผู้เสียหายระหว่างพำนักอยู่ในสถานพักพิง อาจทำให้ผู้เสียหายบางรายได้รับความกระทบกระเทือนซ้ำ และยังเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ของพวกเขาด้วย รัฐบาลไม่ได้รายงานจำนวนผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงได้ในปี 2562 เมื่อเทียบกับจำนวน 65 คน ในปี 2561 และ 149 คนในปี 2560 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดระยะเวลาดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาที่ผู้เสียหายต้องอาศัยในสถานพักพิงสั้นลง แต่ยังคงมีรายงานจากองค์กรนอกภาครัฐว่า การอาศัยในสถานพักพิงในลักษณะดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายต่างด้าวในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยผู้เสียหายบางรายต้องการให้รัฐส่งตนกลับประเทศภูมิลำเนามากกว่า รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหายบางรายอาศัยอยู่ในสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐ 3 แห่งที่ขึ้นทะเบียนไว้กับรัฐ และสามารถรับบริการต่าง ๆ จากสถานพักพิงเหล่านี้ได้ แม้ว่าผู้เสียหายที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะยังมีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพักพิงเหล่านี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานด้วยว่า สถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด เพื่อให้ได้รับอนุญาตช่วยเหลือผู้เสียหายที่ผ่านการระบุสถานะอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายสำหรับองค์กรนอกภาครัฐแห่งอื่นที่ต้องการขึ้นทะเบียน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ระบุผู้เสียหายและผู้อพยพที่ถูกลักลอบนำเข้าประเทศจำนวนมากขึ้นในช่วงการรายงานนี้ ส่งผลให้สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของรัฐทั้ง 9 แห่งเกิดความแออัด รัฐบาลจึงให้ผู้เสียหายจำนวน 55 คนพำนักในสถานพักพิงระยะสั้นของรัฐ 2 แห่งแทน
สถานพักพิงของรัฐมักมีนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหายไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการดูแลด้านจิตสังคม รวมทั้งการดูแลที่เหมาะสมเป็นรายกรณี กระทรวง พม. ร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐ จัดการฝึกอบรมว่าด้วยการดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจและวิธีการดูแลโดยการสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจ ให้แก่เจ้าหน้าที่สถานพักพิงทั้งของภาครัฐและองค์กรนอกภาครัฐ ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่า สถานพักพิงไม่ได้ให้การปรึกษาอย่างเป็นส่วนตัวกับผู้เสียหายในทุกครั้ง แต่ให้ผู้เสียหายเข้ารับการปรึกษาแบบกลุ่มกับนักสังคมสงเคราะห์แทน สถานพักพิงของกระทรวง พม. ไม่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะทางแก่เด็กชายและผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการระบุสถานพักพิงของผู้เสียหายข้ามเพศ และกำหนดให้ผู้เสียหายข้ามเพศบางรายอาศัยในสถานพักพิงตามเพศกำเนิด องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า การเข้าถึงผู้เสียหายที่องค์กรได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องยากหลังพวกเขาเข้าอาศัยในสถานพักพิง ด้วยเหตุผลข้อนี้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่สถานพักพิงขาดการสื่อสารอย่างเพียงพอ ทำให้องค์กรนอกภาครัฐลังเลที่จะร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้นหรือส่งต่อผู้เสียหายให้เจ้าหน้าที่รัฐ กระทรวง พม. จ้างล่ามมากกว่า 300 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 251 คน ในปี 2561 แต่มักอาศัยล่ามขององค์กรนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศขณะปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหาย นอกจากนี้ สถานพักพิงของรัฐมักจะขาดแคลนล่าม ซึ่งทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างเต็มที่ กระทรวง พม. จัดการการฝึกอบรมวิชาชีพภายในสถานพักพิง และผู้เสียหายสามารถหารายได้เล็กน้อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การทำงานหัตถกรรม อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่า สถานพักพิงมีตัวเลือกการฝึกอบรมวิชาชีพและงานไม่เพียงพอ กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวพำนักและทำงานในไทยได้นานถึง 2 ปีนับจากการสิ้นสุดการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลไม่ได้รายงานว่ามีผู้เสียหายได้รับสิทธิประโยชน์ข้อนี้ในช่วงการรายงานนี้
ทางการช่วยเหลือชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 123 คนให้เดินทางกลับประเทศ (เทียบกับ 103 คนในปี 2561) ซึ่งรวมไปถึงผู้ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 25 คน โดยให้ค่าเดินทาง ช่วยเหลือด้านกฎหมาย จัดหางาน และช่วยเหลือให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ กระทรวง พม. รายงานว่า ได้มอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์คงการติดต่อกับผู้เสียหายไว้อย่างน้อย 1 ปีหลังจากพวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคม รัฐบาลร่วมมือกับสถานพักพิงขององค์กรนอกภาครัฐแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ เจ้าหน้าที่ใช้เงินประมาณ 2.17 ล้านบาท (73,000 เหรียญสหรัฐ) จากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในการช่วยส่งตัวผู้เสียหายต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์ในไทยให้กลับประเทศ ทว่าไม่ได้รายงานจำนวนผู้เสียหายที่รัฐบาลส่งกลับประเทศในปี 2562 เมื่อเทียบกับจำนวน 201 คน ในปี 2561 หน่วยงานไทยร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาในการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติงานมาตรฐานระหว่างทั้งสองประเทศสำหรับการช่วยผู้เสียหายให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและกลับมาใช้ชีวิตในสังคม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไทยยังขาดความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามกระบวนการการส่งผู้เสียหายต่างด้าวกลับประเทศอย่างปลอดภัย
รัฐบาลเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กแห่งใหม่อีก 2 แห่ง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย องค์กรนอกภาครัฐ และนักสังคมสงเคราะห์ใช้ถามปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงทำให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กทั้งหมด 7 แห่งด้วยกัน ผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลมักให้เจ้าหน้าที่หญิงเป็นผู้ดำเนินการสัมภาษณ์เพื่อระบุผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิง ผู้พิพากษาบางคนยังขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย อันส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในศาล แม้จะมีรายงานว่า โดยมากแล้วศาลปฏิบัติตามระเบียบการในการคุ้มครองผู้เสียหายและพยาน แต่องค์กรนอกภาครัฐกล่าวว่ามีกรณีที่ศาลไม่จัดให้ดำเนินการถามค้านแบบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแม้จะมีการร้องขอล่วงหน้า ทั้งยังให้พยานยืนยันข้อมูลที่อ่อนไหวโดยใช้วาจาต่อหน้าผู้ต้องสงสัยระหว่างการดำเนินคดี
พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กำหนดให้บริการด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ทำการขอทาน รวมทั้งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลระบุผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้ขอทานเพียง 7 คนในปี 2562 องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า รัฐบาลขาดนโยบายที่ชัดเจนในการคุ้มครองเด็กที่ถูกบังคับให้ขายของตามถนน และตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการคุ้มครองประชากรกลุ่มนี้ กระทรวง พม. พัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยาน เพื่อใช้รายงานการแสวงประโยชน์และขอรับบริการการคุ้มครองต่าง ๆ เช่น บริการล่าม ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมด 7 ภาษา กระทรวง พม. และกระทรวงแรงงานได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 19 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วคอยรับสาย ในปี 2562 สายด่วนของกระทรวง พม. ได้รับโทรศัพท์ 162 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีซึ่งอาจเป็นการค้ามนุษย์ ในจำนวนดังกล่าวมีสายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน 19 สาย (เทียบกับ 139 สายในปี 2561) ทางการได้ส่งต่อ 106 กรณีไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่มีเพียง 28 กรณีที่ได้รับการส่งต่อไปยังกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2562 กระทรวงแรงงานจ้างผู้ประสานงานภาษาต่าง ๆ 91 คน (เทียบกับ 84 คนในปี 2561) และล่าม 99 คน (เทียบกับ 69 คนในปี 2561) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดการฝึกอบรมเรื่องกฎหมายแรงงานและการค้ามนุษย์ให้แก่ผู้ประสานงานภาษา 82 คน
ในปี 2562 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 11.88 ล้านบาท (398,990 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ผ่านกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 6.15 ล้านบาท (206,580 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2561 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จัดสรรให้ผู้เสียหายที่พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐ 1.68 ล้านบาท (56,430 เหรียญสหรัฐ) กฎหมายไทยกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายที่แสดงความประสงค์จะเรียกร้องค่าชดเชย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย รัฐบาลไม่ได้รายงานว่าพนักงานอัยการยื่นเรียกร้องค่าชดเชยแทนผู้เสียหายกี่คำร้องในปี 2562 (เมื่อเทียบกับ 116 คำร้องในปี 2561) แต่ระบุว่าศาลได้พิพากษาให้ผู้เสียหาย 14 รายใน 2 คดีได้รับค่าชดเชย 3.3 ล้านบาท (110,850 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2562 รัฐบาลรายงานว่า ผู้เสียหาย 2 รายได้รับค่าชดเชยจากนักค้ามนุษย์ตามคำสั่งศาลเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม การบังคับคดีให้ผู้กระทำความผิดจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งศาลยังคงเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ใช่คนไทย กระทรวง พม. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวมทั้งพัฒนาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นคำร้องดังกล่าว โดยผ่านหน่วยงานภายใต้กองต่อต้านการค้ามนุษย์ของกระทรวง พม. รัฐบาลจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อเพิ่มสิทธิให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากทรัพย์สินที่ริบจากนักค้ามนุษย์ ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นสุดช่วงการรายงาน
แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากถูกนักค้ามนุษย์บังคับ แต่การระบุผู้เสียหายของรัฐบาลมีข้อบกพร่อง จึงเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เสียหายต้องถูกลงโทษจากข้อหาต่าง ๆ เช่น การค้าประเวณีและการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มีรายงานว่า นายจ้างโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาลักทรัพย์กับแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์เมื่อพวกเขาพยายามลาออกหรือเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทยังคงเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายและกลุ่มสนับสนุนได้ในช่วงการรายงานนี้ และรัฐบาลไม่ได้รายงานว่ามีการสืบสวนเจ้าของบริษัทที่แสวงประโยชน์กับแรงงานเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม 2562 ศาลพิพากษาจำคุกผู้สื่อข่าวรายหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากแสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับฟาร์มสัตว์ปีกแห่งหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับคำสั่งศาลให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1.7 ล้านบาท (57,100 เหรียญสหรัฐ) แก่ลูกจ้างชาวพม่า 14 คนที่มีสภาพการทำงานส่อว่าถูกบังคับใช้แรงงาน ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทดังกล่าวได้ยื่นฟ้องผู้สนับสนุนด้านสิทธิกว่า 36 ครั้ง แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งส่งผลให้ศาลสามารถสั่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้ทันทีหากพิจารณาแล้วว่าเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาเพื่อข่มขู่จำเลย เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เสริมสร้างสิทธิของจำเลยในคดีที่นายจ้างเป็นโจทก์ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้รายงานว่าได้ใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อยกฟ้องผู้สนับสนุนสิทธิต่าง ๆ ในคดีหมิ่นประมาททางอาญาระหว่างช่วงการรายงาน ทั้งนี้รัฐบาลยังได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2558 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้เปิดเผยข้อมูลการกระทำผิด แต่ยังไม่เคยรายงานว่าได้ใช้บทบัญญัติดังกล่าว
การป้องกัน
รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการป้องกันการค้ามนุษย์มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผ่านคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย และยังคงติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประจำปีต่าง ๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจัดสรรงบด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประมาณ 3,800 ล้านบาท (127.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2562 เมื่อเทียบกับงบจำนวนประมาณ 3,640 ล้านบาท (122.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2561 รัฐบาลยังคงรณรงค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสังคมออนไลน์ ป้ายโฆษณาและเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ อีกทั้งจัดกิจกรรมมากมายที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันนี้ให้กับนักเรียน อาจารย์ และผู้นำชุมชน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังจัดทำคลิปวิดีโอที่นำเสนอข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศและวิธีการรายงานกรณีต้องสงสัยการค้ามนุษย์ และเผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ ในเดือนมกราคมและมีนาคม 2563 กระทรวง พม. จัดเวทีเสวนาร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐ หน่วยงานรัฐ องค์การระหว่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และสนับสนุนให้เกิดการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยได้รวบรวมข้อแนะนำจากผู้เข้าร่วมเสวนาในเดือนมกราคม และเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ รัฐบาลยังตีพิมพ์รายงานผลสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทยเล่มแรกในเดือนมิถุนายน 2562 ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า มีแรงงานเด็กในประเทศประมาณ 177,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย 133,000 คน
กฎหมายไทยอนุญาตให้สำนักงานจัดหางานคิดค่าธรรมเนียมคนไทยสำหรับการหางานในต่างประเทศ แรงงานไทยบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินควร ทำให้เสี่ยงต่อการถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ รัฐบาลได้ช่วยให้ชาวไทยจำนวน 11,886 คนมีงานทำในต่างประเทศ รวมถึงช่วยจัดหางานผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐในปี 2562 นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด 14 แห่ง ยังจัดการฝึกอบรมในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ให้กับแรงงานไทย 4,803 คน ก่อนไปทำงานต่างประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 กรมการจัดหางานลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานบริการตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ (South Korean Immigration Service) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการประสานงานในการรับมือกับปัญหาแรงงานไทยจำนวนมากที่ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้โดยผิดกฎหมาย และเพื่อป้องกันการแสวงประโยชน์โดยการบังคับใช้แรงงานกับบุคคลกลุ่มนี้ ในปี 2562 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 181 แห่งที่ช่วยให้คนไทยได้งาน และพบว่ามี 4 แห่งที่ดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นำไปสู่การระงับและเพิกถอนใบอนุญาต กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดการดำเนินคดีกับนายหน้าที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานจำนวน 239 คน (เทียบกับ 416 คนในปี 2561) ส่งผลให้มีการออกหมายจับใน 7 คดี สำนักงานแรงงานของรัฐ 12 แห่งในประเทศที่มีแรงงานไทยอยู่เป็นจำนวนมากได้ดำเนินการตรวจสอบ 887 ครั้ง ช่วยเหลือแรงงานกว่า 5,980 คน และฝึกอบรมอาสาสมัครแรงงาน 758 คน เพื่อช่วยระบุการละเมิดแรงงานและการค้ามนุษย์ในแรงงานไทย
ในเดือนสิงหาคม 2562 รัฐบาลเห็นชอบให้ขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรสำหรับแรงงานชาวกัมพูชา ลาว และพม่าที่ได้รับใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งช่วยให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถยื่นขอเอกสารสำคัญประจำตัวได้โดยไม่ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย อย่างไรก็ดี ลักษณะที่ซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนกับทางการภายใต้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ประกอบกับอัตราการรู้หนังสือที่ต่ำในหลายกรณี ทำให้แรงงานพึ่งพานายหน้าและนายจ้างซึ่งมักจะคิดค่าดำเนินการขอเอกสารมากเกินควร แรงงานจึงเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ รัฐบาลยังคงมีบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย โดยระบบดังกล่าวนำไปสู่การจ้างงานแรงงานต่างด้าว 413,536 คนในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูง ความยากลำบากในการทำเอกสารสำคัญประจำตัวที่ประเทศภูมิลำเนา และอุปสรรคด้านการดำเนินการอื่น ๆ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการใช้กลไกดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งส่งผลให้แรงงานต้องพึ่งพาการช่วยเหลือของนายหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุญาตให้ผู้อพยพทำหนังสือผ่านแดนแบบ 30 วัน หรือ 90 วัน เพื่อเข้าประเทศมาทำการเกษตรนอกฤดูหรือทำงานในโรงงานได้ โดยรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังพัฒนา 10 เขต แต่การจ้างงานชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวทำให้คนงานไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า นายจ้างสนับสนุนให้แรงงานใช้หนังสือผ่านแดนแบบดังกล่าวมากขึ้น ในปี 2562 รัฐบาลรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบสถานประกอบกิจการ 146 แห่งในบริเวณชายแดน และพบว่ามีการละเมิดกฎหมาย 71 กรณี แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกรณีการค้ามนุษย์ โดยมีคำสั่งเพียงให้แก้ไขปรับปรุงการละเมิดสำหรับทุกกรณีที่พบ ยกเว้นเพียง 1 กรณี ในปี 2562 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าว 244 แห่ง (เทียบกับ 67 แห่งในปี 2561) และพบว่า 4 แห่งกระทำผิดกฎหมาย
จุดอ่อนในกฎหมายแรงงานไทยที่กีดกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจมีส่วนทำให้การแสวงประโยชน์เกิดขึ้น พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายจ้างมอบสำเนาสัญญาจ้างให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยและส่งกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดหางานและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน) พระราชกำหนดนี้ยังห้ามมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล รวมทั้งค่าธรรมเนียมการทำเอกสารเดินทางหรือเอกสารส่วนบุคคลอื่น ๆ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท (340-3,360 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน รัฐบาลตรวจพบกิจการและนายจ้างที่กระทำความผิดฐานว่าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง 2,333 กรณี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 716 กรณีในปี 2561 โดยรัฐบาลได้ปรับนายจ้าง 586 รายรวมกันเป็นเงิน 16 ล้านบาท (537,450 เหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ไม่ได้มีการนิยามและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าธรรมเนียมการจัดหางานนี้อย่างดีพอ และสำนักงานจัดหางาน รวมถึงนายหน้า ยังคงเรียกร้องค่าธรรมเนียมการจัดหางานและค่าเดินทางจากแรงงาน ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสืบสวนการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย ผู้สังเกตการณ์ยังระบุด้วยว่า ในขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ติดตามการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย แต่กรมการจัดหางานซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตรวจแรงงานในสำนักงานจัดหางานกลับไม่ได้ส่งต่อกรณีต้องสงสัยไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอย่างสม่ำเสมอ การศึกษาเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า มีแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยลงที่ได้รับการว่าจ้างในประเทศภูมิลำเนาและจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางานก่อนเริ่มทำงานในไทย ซึ่งรวมไปถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงด้วย อย่างไรก็ตาม นายจ้างและนายหน้าจำนวนมากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเพื่อให้แรงงานสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ แต่กลับผูกมัดแรงงานด้วยหนี้ในภายหลัง และหักเงินค่าธรรมเนียมเหล่านี้จากค่าจ้างของแรงงานอย่างผิดกฎหมายโดยที่บ่อยครั้งแรงงานมักจะไม่ทราบ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ผ่านการฝากเงินเข้าบัญชีแบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้เงินส่วนแบ่งกับลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้ แม้ว่าในภาพรวมระบบดังกล่าวจะได้รับคำชื่นชมจากผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคม แต่บ้างก็กังวลว่าแรงงานบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงค่าแรงของตนได้ เนื่องจากบางท่าเรือไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้ ๆ ไม่มีการฝึกอบรมเรื่องการใช้ระบบดังกล่าวแก่แรงงานอย่างเพียงพอ หรือบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรของแรงงานอาจถูกเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้ายึดไว้ นอกจากนี้ แม้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถตรวจสอบยืนยันการจ่ายค่าจ้างได้ดีขึ้น แต่นายจ้างที่ไม่มีคุณธรรมยังคงจ่ายค่าจ้างเข้าบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ของลูกจ้างอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงว่าตนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับถอนเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ความเสี่ยงในการเกิดการค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขาดข้อบังคับในการจัดทำสัญญาจ้างเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาแม่ของแรงงาน ตลอดจนไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง นอกจากนี้ แทบจะไม่มีนายจ้างคนใดทำสำเนาสัญญาจ้างให้แรงงานเก็บไว้หรือทำสัญญาในภาษาแม่ของแรงงาน การศึกษาวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่แรงงานประมงต่างด้าวจะได้ลงนามในสัญญาจ้างที่เป็นภาษาแม่ของตนนั้นยิ่งมีน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ ผู้ให้ข้อมูลระบุว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเผยแพร่สัญญาจ้างที่เป็นมาตรฐานในหลากหลายภาษาเหมือนเช่นในปีก่อน ๆ มีรายงานจำนวนมากจากองค์กรนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศว่า รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเพียงพอ อีกทั้งขาดกฎหมายที่กำหนดให้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น การทำการเกษตรตามฤดูกาล ในเดือนพฤศจิกายน 2562 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองสำหรับแรงงานประมง โดยรวมไปถึงการกำหนดให้มีการคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัย การรักษาพยาบาลระหว่างออกทะเล การจัดเวลาพักผ่อน และการคุ้มครองด้านอื่น ๆ ทว่ากลับไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเต็มที่เมื่อสิ้นสุดช่วงการรายงานนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้รับรองอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 7 ฉบับจากทั้งหมด 11 ฉบับ แม้ว่าข้อบังคับของทางการจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์เปลี่ยนนายจ้างได้ แต่นโยบายบางข้อกลับทำให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานต่างด้าวในทางปฏิบัติ สำนักงานแรงงานจังหวัดกำหนดให้แรงงานที่ทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจยื่นเอกสารหลายฉบับเพื่อให้ได้รับการอนุมัติการเปลี่ยนงาน ซึ่งแรงงานมักจะไม่สามารถจัดหาเอกสารเหล่านี้ได้หากองค์กรนอกภาครัฐหรือนายหน้าไม่ช่วย กฎหมายระบุว่า ผู้ที่จ้างงานภายใต้บันทึกความเข้าใจสามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาแรงงานต่างด้าวจากนายจ้างคนใหม่ได้ เมื่อแรงงานขอเปลี่ยนงานก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุด และนายจ้างบางคนก็คิดค่าธรรมเนียมการจัดหาเอกสารกับลูกจ้างที่ต้องการเอกสาร ทำให้ลูกจ้างมีแนวโน้มถูกบีบบังคับเพราะตกเป็นหนี้ ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสอบสวนนายจ้างที่คิดค่าธรรมเนียมโดยผิดกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวในลักษณะดังกล่าว
รัฐบาลมีศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างแห่ง 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านกระบวนการตามบันทึกความเข้าใจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมไทย สัญญาจ้าง ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และกลไกการร้องเรียน ในปี 2562 ศูนย์เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 413,536 ราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงงานมีเวลาอยู่ในศูนย์จำกัด ซึ่งปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างจำกัดในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ยังรายงานว่า เจ้าหน้าที่แรงงานของศูนย์แรกรับเข้าทำงานฯ สัมภาษณ์แรงงานในขณะที่มีนายจ้าง นายหน้า และตำรวจที่พกพาอาวุธอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้แรงงานไม่ประสงค์จะรายงานทางการหากตนถูกแสวงประโยชน์ กระทรวงแรงงานยังทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่งด้วยเช่นกัน ระหว่างช่วงการรายงานนี้ รัฐบาลจัดการประชุมกับภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เพื่อประเมินศูนย์เหล่านี้ รัฐบาลทำงานร่วมกับศูนย์ขององค์กรนอกภาครัฐที่อยู่ใกล้กับตลาดปลาในการจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะ การคัดกรองด้านสุขภาพ และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สำนักงานแรงงานจังหวัด ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ไม่ได้สืบสวนข้อร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวหรือส่งต่อกรณีต้องสงสัยการละเมิดแรงงานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมทั้งกรณีที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีตระหว่างแรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับสำนักงานแรงงานบางแห่งไม่มีล่าม ยังทำให้แรงงานต่างด้าวเผชิญอุปสรรคในการรายงานการถูกแสวงประโยชน์
ระหว่างช่วงการรายงานนี้ รัฐบาลได้ถ่ายโอนอำนาจของศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) 32 ศูนย์ และจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIP) เพิ่มเติมอีก 19 จุด ให้แก่กรมประมง ขณะที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงและจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าดังกล่าว ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงตรวจสอบว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และใช้ระบบประเมินความเสี่ยงเพื่อระบุเรือลำที่ต้องตรวจสอบ พนักงานตรวจแรงงานที่ทำงานในคณะควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงตรวจสอบรายการลูกเรือโดยใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและการสัมภาษณ์แรงงาน รัฐบาลออกระเบียบบังคับมิให้เรือประมงประเภทไกลฝั่งที่ติดธงชาติไทยดำเนินกิจการในน่านน้ำสากลโดยเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2561 และอนุญาตให้เรือประมง 2 ลำต่ออายุใบอนุญาตทำการประมงในน่านน้ำสากลในปี 2562 โดยมีเงื่อนไขว่าเรือจะต้องกลับเข้ามาในไทยทุกปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน 2562 ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงได้ดำเนินการตรวจสอบ 53,860 ครั้ง ที่ท่าเรือ และ 6,605 ครั้งในทะเล และพบว่ามีเรือประมง 23 และ 330 ลำที่ดำเนินกิจการโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามลำดับ เจ้าหน้าที่ระบุว่า ในจำนวนนี้ มีเพียง 2 กรณีที่เชื่อมโยงกับการละเมิดแรงงาน โดยเป็นกรณีที่ไม่มีสัญญาจ้างและไม่จ่ายค่าจ้างแรงงานผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคาร รัฐบาลไม่เคยรายงานว่าการตรวจแรงงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงนำไปสู่การระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านทรัพยากรระหว่างการถ่ายโอนอำนาจในการตรวจสอบของ ศปมผ. ให้แก่ ศรชล. ส่งผลให้อัตราการตรวจสอบลดลงใน 2 เดือนระหว่างปี 2562 รัฐบาลมอบคู่มือมาตรฐานระเบียบปฏิบัติด้านการตรวจสอบให้แก่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง และศูนย์เหล่านี้ก็ยังใช้รายการตรวจสอบที่เป็นสากลระหว่างดำเนินการตรวจสอบเรือประมงมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ แม้ว่าจะยังขาดความสม่ำเสมออยู่ก็ตาม นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานสัมภาษณ์แรงงานด้วยวิธีที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายบ่อยครั้งยิ่งขึ้น และศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงทุกแห่งจัดให้มีล่ามเพื่อดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี คณะตรวจสอบเรือประมงบางคณะก็ไม่มีล่ามสำหรับภาษาแม่ของแรงงานบางภาษา ไม่ได้ขึ้นไปดำเนินการตรวจสอบบนเรือ ไม่ได้แยกแรงงานออกจากเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้าในขั้นตอนการสัมภาษณ์ หรือไม่ได้จัดการประชุมคณะก่อนและหลังตรวจสอบในสถานที่ที่ไม่มีเจ้าของเรือและไต้ก๋งอยู่ การกระทำเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานบางคนในการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเกรงว่าจะถูกแก้แค้น นอกจากนี้ การตรวจสอบเรือประมงนอกชายฝั่งยังไม่ได้มีการตรวจหาการละเมิดแรงงานอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการจัดหาล่ามเพื่อสัมภาษณ์ลูกเรือต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการมาตรฐานในการส่งต่อกรณีการหายตัวไปของแรงงานประมงในทะเลโดยทั่วกัน รวมไปถึงกระบวนการการระบุข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์บนเรือประมงที่มีแรงงานหายตัวไป ระหว่างช่วงการรายงานนี้ จำนวนลูกเรือที่หายตัวไปนอกชายฝั่งยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทางการไม่ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบสถานบันเทิงกี่แห่งในปี 2562 เมื่อเทียบกับ 7,497 แห่งในปี 2561 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไร่อ้อย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานแปรรูปอาหารทะเล ฟาร์มสุกร และฟาร์มสัตว์ปีก รวม 2,116 ครั้งในปี 2562 และพบว่าสถานประกอบกิจการ 1,017 แห่งฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นบางคนรายงานว่า โรงงานบางแห่งได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจแรงงาน ซึ่งอาจขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการระบุการละเมิดแรงงาน รวมไปถึงกรณีที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ และดำเนินการเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศโดยวิธีการ เช่น การเผยแพร่วิดีโอ 4 ภาษาที่มีเนื้อหาต่อต้านการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในสนามบินและบนเครื่องบินของไทย นอกจากนี้ ทางการได้ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเข้าประเทศ ตลอดจนจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่การทูต
ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์
ดังที่ได้รายงานเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้เสียหายชาวไทยและต่างชาติในประเทศไทย และจากผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ นักค้ามนุษย์บังคับผู้เสียหายชาวไทยให้ใช้แรงงานและค้าประเวณีในประเทศไทยและในประเทศอื่น ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ นักค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณีแสวงประโยชน์จากผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเด็กจากประเทศไทย ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ นักค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของผู้เสียหายจากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย และพม่า ซึ่งถูกบังคับให้ค้าประเวณีและใช้แรงงานในประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจบังคับให้ประชาชนของตนทำงานในไทย เด็กจากประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเป็นผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล นักค้ามนุษย์ชักจูงเด็กหญิงและเด็กชายชาวไทยให้แสดงกิจกรรมทางเพศผ่านทางวิดีโอและภาพถ่ายบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งโดยการขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพลามกของเด็ก เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ บิดามารดาหรือนายหน้าบางรายบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้หรือสินค้าอื่นตามถนน ตลอดจนให้เด็กขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตเมือง
นักค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานแสวงประโยชน์จากแรงงานชาวไทยและต่างด้าวในภาคการประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้อพยพบางคนเพื่อการบังคับใช้แรงงาน โดยบีบบังคับเพราะผู้อพยพติดหนี้อยู่ ตลอดจนใช้กระบวนการการจ้างงานที่หลอกหลวงแรงงาน การยึดเอกสารประจำตัวและบัตรเอทีเอ็ม การหักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย และวิธีการอื่น ๆ นายหน้า สำนักงานจัดหางาน และบุคคลอื่นบังคับให้แรงงานจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมากเกินควรก่อนและหลังเดินทางถึงประเทศไทย เจ้าของเรือประมง นายหน้า และลูกเรืออาวุโสที่เป็นผู้ค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย บนเรือจับปลาที่มีคนไทยและต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือยาที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางคนข่มขู่ เฆี่ยนตี และวางยาชาวประมงเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางรายในภาคการประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย นายจ้างในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลมักจะดำเนินการหักค่าจ้างด้วยวิธีการที่สร้างความสับสน โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมเอกสาร เงินล่วงหน้า และค่าดำเนินการอื่น ๆ ทำให้เป็นเรื่องยากที่แรงงานจะทราบถึงจำนวนค่าจ้างที่ถูกต้องของตน การศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 2562 และ 2563 พบว่า ร้อยละ 14 ถึง 18 ของแรงงานประมงต่างด้าวถูกแสวงประโยชน์โดยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงไทย ซึ่งบ่งชี้ว่านักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากแรงงานนับหลายพันคนบนเรือประมง
การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่ซึ่งผู้เสียหายถูกแสวงประโยชน์ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอำนวยให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองตามแนวชายแดนไทย มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่น ๆ เจ้าของโรงงาน และเจ้าของเรือประมงจากการบุกตรวจค้น การตรวจสอบ และการดำเนินคดี อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายในท้องถิ่นปิดบังข้อมูลจากพนักงานอัยการเพื่อปกป้องนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกและแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ