ประเทศไทย: กลุ่มที่ 2
รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลไทยแสดงความพยายามโดยรวมมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ดังนั้นประเทศไทยจึงยังคงอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความพยายามดังกล่าวประกอบไปด้วยการระบุผู้เสียหายมากขึ้น การพิพากษานักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดให้รับโทษจำคุกร้ายแรง การจัดทำคู่มือต่างๆ ในการร่วมงานกับภาคประชาสังคมเพื่อกำหนดมาตรฐานการฝึกอบรมและนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นครั้งแรกที่พนักงานตรวจแรงงานระบุและส่งตัวผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายต่อไปยังคณะทำงานสหวิชาชีพ ส่งผลให้มีการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในหลายเรื่องหลัก มีการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์น้อยรายลง และสืบสวนสอบสวนคดีการค้าแรงงานเพียง 43 คดีเท่านั้น รัฐบาลจำกัดการเดินทางและการสื่อสารของผู้เสียหายที่พักอาศัยอยู่ในสถานพักพิงของรัฐ การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุคดีการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อย่างสม่ำเสมอ
ข้อเสนอแนะสำคัญ
ไทยควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเชิงรุก และระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ไทยควรสืบสวนสอบสวนในเชิงรุกและดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และดำเนินการพิพากษาและลงโทษผู้ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยรัฐและองค์การนอกภาครัฐปฏิบัติต่อผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดูแลทางจิตใจด้วย ไทยควรอนุญาตให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ สามารถเดินทางเข้าออกสถานพักพิง และเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้โดยเสรีมากขึ้น ไทยควรส่งเสริมให้ผู้พิพากษาในคดีการค้ามนุษย์ใช้แนวทางที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นหลักและคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหายด้วย นอกจากนี้ ยังควรยกระดับความร่วมมือกับองค์การภาคประชาสังคมในประเทศเกี่ยวกับศูนย์ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ศูนย์แรกรับเข้าทำงาน และสถานพักพิงของรัฐ รวมถึงการให้บริการต่างๆ กับผู้เสียหายด้วย ไทยควรเพิ่มความพยายามในการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่านายจ้างจัดทำสำเนาของสัญญาเป็นภาษาที่แรงงานเข้าใจได้ ไทยควรเพิ่มการให้ค่าสินไหมทดแทนและเงินชดเชยแก่ผู้เสียหาย อีกทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการของภาครัฐก่อนที่ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายจากคณะทำงานสหวิชาชีพ ไทยควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำสายด่วนและสถานพักพิงของรัฐพร้อมล่ามอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการถูกดำเนินคดี รวมทั้งการถูกนายจ้างกล่าวหาเท็จเพื่อแก้แค้น ไทยควรตรวจสอบว่ามีการค้ามนุษย์หรือไม่ในสถานประกอบการในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีแรงงานที่ได้รับการว่าจ้างภายใต้การว่าจ้างแรงงานตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ไทยควรบังคับให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้มีการให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัวและเอกสารทางการเงินของตนเอง
การดำเนินคดี
รัฐบาลยังคงพยายามบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่าการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงานเป็นความผิดอาญา และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-1,200,000 บาท (12,360-37,090 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 6-20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000-2,000,000 บาท (18,550-61,820 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษที่กำหนดดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่น การข่มขืน รัฐบาลรายงานว่า ในปี 2561 มีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ 304 คดี (เทียบกับ 302 คดีในปี 2560) ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 438 ราย (เทียบกับ 638 รายในปี 2560) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 316 ราย (เทียบกับ 466 รายในปี 2560) นอกจากนี้ ได้รายงานว่ามีการสืบสวนคดีบังคับใช้แรงงานเพียง 43 คดี (เทียบกับ 47 คดีในปี 2560 และ 83 ปีในปี 2559) ในจำนวนนี้ มีคดีค้ามนุษย์ในภาคการประมง 6 คดี ร้อยละ 58 ของนักค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดรับโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป รัฐบาลรายงานว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจับกุมเครือข่ายนักค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงานรายใหญ่ได้จำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยจัดให้มีการประชุมทวิภาคีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและรวบรวมหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนสอบสวนนักค้ามนุษย์ชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศและผู้ต้องสงสัยต่างชาติในประเทศไทย ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ได้ในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา
การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การค้ามนุษย์สะดวกมากขึ้น และยังคงบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ องค์การนอกภาครัฐบางแห่งทราบถึงการทุจริตที่มีอยู่มากมาย จึงลังเลที่จะร่วมงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานบางหน่วยงานในบางคดี แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีกับไต้ก๋งบางรายในปีก่อนๆ แต่ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางรายลังเลที่จะสอบสวนไต้ก๋งที่เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ในปี 2561 รัฐบาลพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ 16 คน (เทียบกับ 12 คนในปี 2560) โดยได้ลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-50 ปี ในจำนวนนี้ มี 10 คนรับโทษจำคุกมากกว่า 15 ปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ส่งเรื่องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คนให้กับพนักงานอัยการ ในจำนวนนี้ ทางการได้เริ่มดำเนินคดีไปแล้ว 4 คดี รัฐบาลใช้การลงโทษทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดบางราย เช่น สั่งพักราชการหรือโยกย้ายให้ไปรับตำแหน่งใหม่ แทนที่จะดำเนินคดีทางอาญา รัฐบาลได้ให้เจ้าหน้าที่รัฐ 7 คนที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดออกจากราชการในปี 2561 แต่รายงานว่าได้เริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวเพียง 3 รายเท่านั้น รัฐบาลยังคงสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 20 คนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในคดีที่เริ่มดำเนินการไปแล้วระหว่างช่วงการรายงานก่อนหน้านี้ ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีอย่างหนักหน่วงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่อำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์โดยการรับสินบนที่จุดผ่านแดน
ในปี 2561 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 509 ล้านบาท (15.73 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในคดีค้ามนุษย์ เทียบกับ 14 ล้านบาท (432,770 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2560 รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพฯ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดให้พนักงานอัยการทุกคนเร่งยื่นคดีค้ามนุษย์ให้กับศาลยุติธรรม คณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (TATIP) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีความซับซ้อน และประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และองค์การนอกภาครัฐ ได้สอบสวนคดีการค้ามนุษย์ 29 คดีในปี 2561 ส่งผลให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 69 ราย นอกจากนี้ คณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน (TICAC) สืบสวนการค้ามนุษย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต 19 คดี (เทียบกับ 18 คดีในปี 2560) รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านบาท (111,280 เหรียญสหรัฐ) ให้กับ TATIP และ 11.84 ล้านบาท (366,000 เหรียญสหรัฐ) ให้กับ TICAC เทียบกับ 9 ล้านบาท (278,210 เหรียญสหรัฐ) ที่จัดสรรให้กับ TICAC ในปี 2560 ในช่วงการรายงานนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศว่าจะไม่เปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงอีกต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้ความหลากหลายทางเพศในกองกำลังตำรวจลดน้อยลง และส่งผลลบต่อความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ ผู้เสียหายบางรายยังคงลังเลที่จะมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินคดีเพราะกลัวถูกกักตัวและต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน กลัวถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น และมีอุปสรรคทางด้านภาษา ในความพยายามที่จะช่วยให้ผู้เสียหายเต็มใจที่จะเป็นพยานให้การมากยิ่งขึ้น ศาลยอมให้นำคำให้การล่วงหน้าที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี ศาลดำเนินการไต่สวนพยานล่วงหน้า 24 ครั้งในปี 2561 ในจำนวนนั้นเป็นการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ 4 ครั้ง ในคดีหนึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชานำผู้เสียหายชาวกัมพูชาที่ถูกส่งกลับประเทศไปแล้ว 15 คนมายังศาลจังหวัดชายแดนไทยเพื่อให้การทางวิดีโอ นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังทำงานกับองค์การนอกภาครัฐในการเตรียมตัวผู้เสียหายเพื่อให้การเป็นพยาน และศาลอนุญาตให้ทนายขององค์การนอกภาครัฐเป็นโจทก์ร่วมในบางคดีเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายในด้านกฎหมาย รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.4 ล้านบาท (74,190 เหรียญสหรัฐ) ในการให้บริการคุ้มครองพยาน 15 รายในคดีค้ามนุษย์ในปี 2561 เทียบกับ 4.3 ล้านบาท (132,920 เหรียญสหรัฐ) สำหรับพยาน 52 รายในปี 2560
รัฐบาลทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์การนอกภาครัฐจัดทำคู่มือและแนวทางเพื่อให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่เป็นทางการและได้มาตรฐาน ซึ่งรวมไปถึงคู่มือแนะแนวการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีค้ามนุษย์สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินคดีบุคคลที่ละเมิดกฎหมายที่คุ้มครองชาวประมง โดยแนวทางดังกล่าวช่วยให้พนักงานตรวจแรงงานมีขั้นตอนปฏิบัติงานมาตรฐานในการยื่นฟ้องคดีแรงงานกับตำรวจ รัฐบาลจัดให้มีการฝึกอบรม สัมมนา และประชุมเชิงปฏิบัติการจำนวนมากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และผู้พิพากษา รวมทั้งการฝึกอบรมที่เน้นกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การพัฒนาประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการระบุผู้เสียหาย นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมยังได้จัดให้มีการสัมมนาล่ามที่ทำงานในคดีค้ามนุษย์ในศาลต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บางครั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรก พนักงานอัยการ และผู้พิพากษา ไม่ได้แปลความหรือใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พนักงานอัยการมักจะมองหาหลักฐานการถูกทำร้ายร่างกายในคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แม้ว่าในเมืองใหญ่ การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานจะมีประสิทธิภาพ แต่ในบางจังหวัด ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานและประชาสังคม
การคุ้มครอง
รัฐบาลเพิ่มความพยายามมากขึ้นในการคุ้มครองผู้เสียหาย โดยได้ระบุจำนวนผู้เสียหาย 631 คนในปี 2561 (เทียบกับ 455 คนในปี 2560) ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้เสียหาย 401 คนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่าให้การช่วยเหลือที่สถานพักพิงของรัฐ (เทียบกับ 360 คนในปี 2560) กระทรวง พม. ได้ระบุตัวและช่วยเหลือผู้เสียหายชาวไทย 152 คน ผู้เสียหายต่างด้าว 249 คน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ 186 คน และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 66 คน ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าผู้เสียหายอีก 149 คนถูกแสวงประโยชน์ในรูปแบบใด ทางการช่วยส่งตัวผู้เสียหายต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์ในไทยให้กลับประเทศจำนวน 201 คน (เทียบกับ 111 คนในปี 2560) และช่วยเหลือชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 103 คนให้เดินทางกลับประเทศ (เทียบกับ 45 คนในปี 2560) โดยให้ค่าเดินทาง ช่วยเหลือด้านกฎหมาย จัดหางาน และช่วยให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างคงเส้นคงวาในการส่งตัวผู้เสียหายกลับประเทศ ในกรณีที่ผู้เสียหายปฏิเสธที่จะร่วมมือในการสืบสวนของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลไทยได้ร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศตีพิมพ์คู่มือสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้กระบวนการกลับคืนสังคมของผู้เสียหายชาวไทยเป็นไปอย่างราบรื่น กระทรวง พม. รายงานว่า ได้มอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์คงการติดต่อกับผู้เสียหายไว้อย่างน้อย 1 ปีหลังจากพวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคม รัฐบาลจัดอบรมแก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย พนักงานตรวจแรงงาน ล่าม และเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. เกี่ยวกับเทคนิคการระบุตัวและสัมภาษณ์ผู้เสียหาย รวมทั้งการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย โดยบางครั้งดำเนินการร่วมกับองค์การนอกภาครัฐ ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานงานกับ TATIP ในการฝึกอบรมคณะทำงานสหวิชาชีพในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการคัดแยกผู้เสียหาย เพื่อยกระดับการระบุผู้เสียหายและการเก็บรวบรวมหลักฐาน กลุ่มสนับสนุนผู้เสียหายรายงานว่า รัฐบาลควรต้องจัดอบรมเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงกับผู้เสียหาย เพื่อให้สามารถระบุผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้พิพากษาบางคนยังขาดความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับการดูแลโดยคำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย อันส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในศาล รัฐบาลเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กแห่งใหม่อีก 2 แห่ง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย องค์การนอกภาครัฐ และนักสังคมสงเคราะห์ใช้ถามปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงทำให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กทั้งหมด 5 แห่งด้วยกัน องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า การบังคับเด็กให้มาขอทานลดลงหลังจากที่มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 โดยพระราชบัญญัติกำหนดให้บริการด้านสุขภาพและด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ทำการขอทาน รวมทั้งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลระบุและช่วยเหลือผู้ทำการขอทานจำนวน 334 คน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ถูกระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า ทางการขาดความพยายามในการช่วยเหลือเด็กที่ขายของตามถนนซึ่งเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์
รัฐบาลไม่ได้คัดกรองกรณีการละเมิดแรงงานเพื่อหาข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์อย่างสม่ำเสมอ และบางครั้งสนับสนุนให้แรงงานแก้ไขปัญหาผ่านทางนายจ้างของตน คณะทำงานสหวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและองค์การนอกภาครัฐ ได้ใช้แนวทางการคัดกรองที่เป็นมาตรฐานในการระบุผู้เสียหายอย่างเป็นทางการและส่งตัวเข้ารับความช่วยเหลือ รัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่ผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้สูงสุดเพียง 8 วันเท่านั้น และคณะทำงานสหวิชาชีพจำเป็นต้องระบุว่า บุคคลนั้นๆ เป็นผู้เสียหายอย่างเป็นทางการ จึงจะได้รับสิทธิตามกฎหมายเพื่อรับความช่วยเหลือ ดังนั้น ก่อนที่ผู้เสียหายจะมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจสำหรับกระบวนการระบุผู้เสียหายของคณะทำงานสหวิชาชีพ ผู้เสียหายมักเสาะหาความช่วยเหลือชั่วคราวจากองค์การนอกภาครัฐมากกว่าจากหน่วยงานรัฐ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า บางครั้งคณะทำงานสหวิชาชีพลังเลที่จะระบุผู้เสียหายหากการดำเนินคดีมีท่าทีว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ คณะทำงานสหวิชาชีพยังคงดำเนินกระบวนการระบุผู้เสียหายอย่างไม่คงเส้นคงวา โดยเฉพาะกรณีที่อยู่นอกเมืองใหญ่ พนักงานตรวจแรงงานคัดกรองการค้ามนุษย์ในแรงงานต่างด้าวระหว่างการตรวจสอบ และจะต้องส่งต่อผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้คณะทำงานสหวิชาชีพระบุสถานะอย่างเป็นทางการและส่งต่อเพื่อรับความช่วยเหลือ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานประจำจังหวัดบางคนสามารถระบุผู้เสียหายได้ดีขึ้น กระทรวงแรงงานได้ส่งต่อกรณีต้องสงสัยการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังคณะทำงานสหวิชาชีพเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สามารถระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ 6 รายในปี 2561 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการไม่เพียงพอในการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รายงานอย่างไม่เป็นทางการยังชี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับจังหวัดบางรายลังเลที่จะระบุผู้เสียหายเนื่องจากกังวลว่า การค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดของตนจะสร้างความอับอายต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ตามกฎหมายของประเทศไทย พนักงานตรวจแรงงานอาจต้องรับผิดส่วนตัวต่อข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งอาจลดทอนความเต็มใจในการรายงานกรณีที่สงสัยว่าเกิดการแสวงประโยชน์ขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐบางรายอาจมองข้ามกรณีการค้ามนุษย์ที่ไม่ปรากฏการใช้กำลังหรือข้อบ่งชี้ว่ามีการบีบบังคับอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้พยายามอย่างสม่ำเสมอที่จะระบุผู้เสียหายซึ่งเต็มใจเดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยในแรกเริ่ม แต่กลับถูกแสวงประโยชน์ระหว่างการทำงานในภายหลัง ทั้งนี้ ทางการเพิ่มความพยายามคัดกรองผู้อพยพเพื่อตรวจหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงผู้อพยพในสถานกักตัวคนต่างด้าว ส่งผลให้มีการระบุผู้เสียหาย 150 คน
รัฐบาลยังคงส่งต่อผู้เสียหายไปยังสถานพักพิงของรัฐ เพื่อรับบริการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ การชดเชยค่าเสียหาย ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนการจ้างงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บริหารจัดการสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง และสถานพักพิงระยะยาว 9 แห่งในภูมิภาคสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้ เป็นสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายชายและครอบครัว 4 แห่ง สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายหญิง 4 แห่ง และสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชาย 1 แห่ง รัฐบาลแจกจ่ายคู่มือเล่มใหม่ที่ตีพิมพ์เป็น 7 ภาษา มีเนื้อหาให้ความรู้ผู้เสียหายเกี่ยวกับสิทธิของตนภายใต้กฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงบริการต่างๆ เฉพาะผู้เสียหายต่างด้าวที่มีวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุ ณ เวลาที่ระบุสถานะเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พำนักนอกสถานพักพิงของรัฐได้ในระหว่างการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนจะต้องอาศัยในสถานพักพิงระหว่างที่รัฐบาลดำเนินการออกใบอนุญาตให้พำนักและทำงานในไทย สถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของกระทรวง พม. ไม่อนุญาตให้ผู้เสียหาย ซึ่งรวมไปถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ ออกนอกสถานพักพิงหรือพกพาเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต เฉพาะผู้เสียหายที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิงเท่านั้นจึงจะสามารถออกนอกสถานพักพิงเป็นประจำเพื่อทำงานได้ รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหาย 65 คนทำงานนอกสถานพักพิงได้ ซึ่งลดลงจากจำนวน 149 คนในปี 2560 และมีแนวโน้มอนุญาตให้ผู้เสียหายหญิงทำงานนอกสถานพักพิงน้อยกว่าผู้เสียหายชาย แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลดระยะเวลาดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาที่ผู้เสียหายต้องอาศัยในสถานพักพิงสั้นลง แต่ยังคงมีรายงานจากองค์การนอกภาครัฐว่า การกำหนดให้ผู้เสียหายต้องอาศัยในสถานพักพิงของรัฐในลักษณะดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในช่วงการรายงานนี้ รัฐบาลขึ้นทะเบียนสถานพักพิงขององค์การนอกภาครัฐ 3 แห่ง ซึ่งสามารถให้บริการต่างๆ กับผู้เสียหายภายใต้อำนาจรัฐได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพักพิงเหล่านี้ กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวพำนักและทำงานในไทยได้ถึง 2 ปีนับจากการสิ้นสุดการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลไม่ได้รายงานว่ามีผู้เสียหายได้รับสิทธิประโยชน์ข้อนี้หรือไม่ในช่วงการรายงานนี้
กระทรวง พม. จ้างล่าม 251 คน แต่สถานพักพิงของรัฐยังคงขาดแคลนล่าม ซึ่งทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการดูแลสภาพจิตใจ กระทรวง พม. จัดทำคู่มือล่ามเพื่อการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า การเข้าถึงผู้เสียหายที่องค์การได้ให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องยากหลังพวกเขาเข้าอาศัยในสถานพักพิง ด้วยเหตุผลข้อนี้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่สถานพักพิงไม่ได้สื่อสารอย่างเพียงพอ ทำให้องค์การนอกภาครัฐลังเลที่จะร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้นหรือส่งต่อผู้เสียหายให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทางการไม่ได้พยายามระบุผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กชายอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เด็กบางคนถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวหรือถูกปฏิบัติราวกับเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย แทนที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างผู้เสียหาย สถานพักพิงของกระทรวง พม. ไม่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะทางแก่เด็กชายและผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังกำหนดให้ผู้เสียหายข้ามเพศต้องอาศัยในสถานพักพิงตามเพศกำเนิด องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า ความช่วยเหลือในสถานพักพิงของกระทรวง พม. ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของผู้เสียหายที่มีพื้นเพนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอนุญาตให้กลุ่มผู้เสียหายชาวแอฟริกาพำนักในสถานพักพิงนอกภาครัฐที่ขึ้นทะเบียนแห่งหนึ่งได้ โดยเป็นสถานพักพิงที่สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมของพวกเขาในช่วงการรายงานนี้ กระทรวง พม. เห็นชอบให้จ่ายค่าครองชีพรายวันจำนวน 200 บาท (6.18 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายที่ทำงานในสถานพักพิงของกระทรวง ผู้เสียหายที่ผ่านการอบรมทักษะการล่ามและทำหน้าที่เป็นล่ามระหว่างกิจกรรมสันทนาการหรือการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานพักพิง จะได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 100 บาท (3.09 เหรียญสหรัฐ) ทว่า ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า สถานพักพิงยังมีตัวเลือกการฝึกอบรมวิชาชีพและงานไม่เพียงพอ
ในปี 2561 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ 6.15 ล้านบาท (190,110 เหรียญสหรัฐ) กับผู้เสียหายผ่านกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เทียบกับจำนวน 5.6 ล้านบาท (173,110 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2560 กฎหมายไทยกำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายกรณีที่ผู้เสียหายแสดงความประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าชดเชย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย ในปี 2561 พนักงานอัยการยื่นเรียกร้องค่าชดเชยให้กับผู้เสียหาย 116 ราย จำนวนรวม 77.56 ล้านบาท (2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ดี ทางการไม่ได้รายงานว่า มีผู้เสียหายกี่คนที่ได้รับค่าชดเชยจริง กระทรวง พม. เริ่มใช้คำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงผลกระทบต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Victim impact statement) ในศาล เพื่อช่วยให้ได้ค่าสินไหมทดแทน และในปี 2561 มีผู้เสียหาย 6 รายที่ยื่นคำให้การดังกล่าวต่อศาล ผู้สนับสนุนด้านกฎหมายและองค์การพัฒนาเอกชนรายงานว่า นักค้ามนุษย์ไม่ค่อยจ่ายค่าสินไหมทดแทนและค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายตามคำสั่งศาล จึงทำให้ผู้เสียหายไม่มีแรงจูงใจที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี กระทรวง พม. ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย รวมทั้งพัฒนาคู่มือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นคำร้องดังกล่าว โดยผ่านหน่วยงานภายใต้กองต่อต้านการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังลงนามบันทึกความเข้าใจต่างๆ กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการบังคับคดีให้ผู้กระทำความผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนและค่าชดเชยตามคำสั่งศาล
แม้กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากถูกนักค้ามนุษย์บังคับ แต่การระบุผู้เสียหายของรัฐบาลมีข้อบกพร่อง จึงเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เสียหายต้องถูกลงโทษจากข้อหาต่างๆ เช่น การค้าประเวณีและการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นอกจากนี้ กฎหมายอาญาว่าด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายและกลุ่มสนับสนุนได้ในช่วงการรายงานนี้ และรัฐบาลไม่ได้รายงานว่ามีการสืบสวนเจ้าของบริษัทเหล่านี้ที่แสวงประโยชน์กับแรงงานอีกด้วย มีรายงานว่า นายจ้างโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาลักทรัพย์กับแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์เมื่อพวกเขาพยายามลาออกหรือเปลี่ยนงาน ด้วยเหตุนี้ แรงงานและผู้สนับสนุนจึงไม่รายงานการกระทำผิดของนายจ้างกับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2558 เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด แต่รัฐบาลไม่ได้รายงานว่าได้มีการนำบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้มาปฏิบัติใช้หรือไม่
การป้องกัน
รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการป้องกันการค้ามนุษย์มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผ่านคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย สำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่ปรึกษาอาวุโสใหม่ 2 ตำแหน่งเพื่อกำกับกิจกรรมป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐ ทางการยังคงติดตามความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานประจำปีต่างๆ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมถึงรณรงค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสังคมออนไลน์ ป้ายโฆษณาและเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ กระทรวง พม. และกระทรวงแรงงานได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 12 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วคอยรับสาย ในปี 2561 สายด่วนของกระทรวง พม. ได้รับโทรศัพท์ 161 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีซึ่งอาจเป็นการค้ามนุษย์ (เทียบกับ 172 สายในปี 2560 และ 269 สาย ในปี 2559) ในจำนวนดังกล่าวมีสายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานอย่างน้อย 18 สาย และทั้งหมดนำไปสู่การดำเนินคดีจำนวน 63 คดี (เทียบกับ 73 คดีในปี 2560) รัฐบาลจ้างผู้ประสานงานภาษาต่างๆ 84 คน (เทียบกับ 74 คนในปี 2560) และล่าม 69 คน (เทียบกับ 74 คนในปี 2560) อย่างไรก็ดี องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า กระทรวง พม. ไม่ได้จัดหาล่ามประจำสายด่วนให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอ
กฎหมายไทยอนุญาตให้สำนักงานจัดหางานคิดค่าธรรมเนียมคนไทยสำหรับการหางานในต่างประเทศ แรงงานไทยบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินควร ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นแรงงานขัดหนี้หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ รัฐบาลได้ช่วยให้ชาวไทยจำนวน 28,820 คนมีงานทำในต่างประเทศ รวมถึงช่วยจัดหางานผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐในปี 2561 นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด 14 แห่ง ยังจัดการฝึกอบรม เช่น ในหัวข้อความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ให้กับแรงงานไทย 4,624 คน ก่อนไปทำงานต่างประเทศ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานคัดกรองเอกสารเดินทางของแรงงานไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ ณ จุดผ่านแดน และห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศหากพบว่าเอกสารมีลักษณะต้องสงสัย ในปี 2561 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 364 แห่งที่ช่วยให้คนไทยได้งาน และพบว่ามี 7 แห่งที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ถูกระงับใบอนุญาตและยึดเงิน มีการดำเนินคดีกับนายหน้าที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานจำนวน 416 คน (เทียบกับ 287 คนในปี 2560) นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐในปี 2561
จุดอ่อนในกฎหมายแรงงานไทยที่กีดกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจมีส่วนทำให้การแสวงประโยชน์เกิดขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเกิดการค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังไม่มีข้อบังคับให้จัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทยและภาษาแม่ของแรงงาน ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง และแรงงานมีอุปสรรคในการเปลี่ยนนายจ้าง นอกจากนี้ มีรายงานจำนวนมากจากองค์การนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศว่า รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเพียงพอ อีกทั้งขาดกฎหมายที่กำหนดให้บังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เช่น การทำการเกษตรตามฤดูกาล รายงานขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ค่ามัธยฐานของค่าจ้างรายเดือนสำหรับแรงงานเกษตรตามฤดูกาล คือ 6,000 บาท (185 เหรียญสหรัฐ) ต่ำกว่าเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 8,008-8,580 บาท (248-265 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน
พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 กำหนดว่า นายจ้างจะต้องมอบสำเนาสัญญาจ้างให้ลูกจ้าง รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยและส่งกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน เช่น ค่าธรรมเนียมจัดหางานและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน) พระราชกำหนดนี้ยังห้ามมิให้นายจ้างหักเงินเดือนลูกจ้างมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าเดินทาง หรือค่าธรรมเนียมการทำเอกสารส่วนบุคคลอื่นๆ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท (309-3,090 เหรียญสหรัฐ) และโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า ไม่ได้มีการนิยามและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าธรรมเนียมจัดหางานนี้อย่างดีพอ และสำนักงานจัดหางาน รวมถึงนายหน้า ยังคงเรียกร้องค่าธรรมเนียมจัดหางานและค่าเดินทางจากแรงงาน ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสืบสวนการหักค่าแรงที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ แทบจะไม่มีนายจ้างคนใดทำสำเนาสัญญาจ้างให้แรงงานเก็บไว้หรือทำสัญญาในภาษาแม่ของแรงงาน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนสามารถขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลได้ รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ 12 แห่งในประเทศไทย โดยประสานงานกับรัฐบาลพม่า กัมพูชา และลาว เพื่อพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ช่วยให้แรงงานดังกล่าวได้รับเอกสารสำคัญประจำตัวโดยที่ไม่ต้องออกจากประเทศไทย นอกจากนี้ ทางการได้ร่วมกับศูนย์บริการเหล่านี้ให้บริการตรวจสุขภาพ จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงาน 1,187,803 คนในปี 2561 ด้วยลักษณะที่ซับซ้อนของการขึ้นทะเบียนกับทางการประกอบกับอัตราการรู้หนังสือที่ต่ำในหลายกรณี ทำให้แรงงานพึ่งพานายหน้าซึ่งมักจะคิดค่าดำเนินการขอเอกสารมากเกินควร แรงงานจึงเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นที่จะตกเป็นแรงงานขัดหนี้ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า นโยบายรัฐส่งเสริมให้เกิดการแสวงประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานตามชายแดนไทย รวมไปถึงแรงงานที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังพัฒนา 10 เขต ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอนุญาตให้ผู้อพยพทำหนังสือผ่านแดนแบบ 30 วัน หรือ 90 วัน เพื่อเข้าประเทศมาทำการเกษตรนอกฤดูหรือทำงานในโรงงานได้ แต่ด้วยการจ้างงานชั่วคราวในลักษณะดังกล่าว ทำให้คนงานไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า นายจ้างสนับสนุนให้แรงงานใช้หนังสือผ่านแดนแบบดังกล่าวมากขึ้น
แม้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่สูง ความยากลำบากในการทำเอกสารสำคัญประจำตัวที่ประเทศภูมิลำเนา และอุปสรรคทางการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนนายจ้าง ยังคงทำให้ไม่ได้ใช้งานกลไกดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานแรงงานจังหวัดกำหนดให้แรงงานที่ทำงานภายใต้บันทึกความเข้าใจยื่นเอกสารหลายฉบับเพื่อให้ได้รับการอนุมัติการเปลี่ยนงาน ซึ่งแรงงานมักจะไม่สามารถจัดหาเอกสารเหล่านี้ได้หากนายหน้าไม่ช่วย กฎหมายระบุว่า นายจ้างสามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาแรงงานต่างด้าวจากนายจ้างคนใหม่ได้ เมื่อแรงงานขอเปลี่ยนงานก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุด อย่างไรก็ดี นายจ้างบางคนคิดค่าธรรมเนียมการจัดหาเอกสารกับลูกจ้างที่ต้องการเปลี่ยนงานเป็นจำนวน 20,000 บาท (618 เหรียญสหรัฐ) ทำให้ลูกจ้างมีแนวโน้มตกเป็นแรงงานขัดหนี้ ทางการไม่ได้รายงานว่า มีการสืบสวนนายจ้างที่คิดค่าธรรมเนียมโดยผิดกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างแห่งใหม่อีก 2 แห่ง (รวมเป็น 5 แห่ง) เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านกระบวนการตามบันทึกความเข้าใจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมไทย สัญญาจ้าง ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และกลไกการร้องเรียน ในปี 2561 ศูนย์เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 442,736 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า เจ้าหน้าที่แรงงานของศูนย์แรกรับเข้าทำงานฯ สัมภาษณ์แรงงานในขณะที่นายจ้างและนายหน้าอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้แรงงานไม่ประสงค์จะรายงานทางการหากตนถูกแสวงประโยชน์ กระทรวงแรงงานยังทำงานร่วมกับองค์การนอกภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่งด้วยเช่นกัน ทว่า ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ศูนย์เหล่านี้มีความพยายามน้อยมากที่จะช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมหรือสร้างความเชื่อมั่นกับองค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่น จึงทำให้องค์การนอกภาครัฐมีแนวโน้มไม่ส่งต่อแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์ให้กับศูนย์เหล่านี้ รัฐบาลทำงานร่วมกับศูนย์ขององค์การนอกภาครัฐที่อยู่ใกล้กับตลาดปลาในการจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะ การคัดกรองด้านสุขภาพ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ในปี 2561 รัฐบาลตรวจสอบสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าว 67 แห่ง (เทียบกับ 97 แห่งในปี 2560) และพบว่า 4 แห่งกระทำผิดกฎหมาย
กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 กำหนดให้เรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำไทยจัดให้มีอุปกรณ์หรือระบบการสื่อสารที่รองรับการส่งข้อความได้ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถสื่อสารกับหน่วยงานรัฐและคนรู้จักได้ อีกทั้งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ผ่านการฝากเงินเข้าบัญชีแบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้เงินส่วนแบ่งกับลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้ แม้ว่าระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถตรวจสอบยืนยันการจ่ายค่าจ้างได้ดีขึ้น แต่ผู้สังเกตการณ์กังวลว่า แรงงานบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงค่าแรงของตนได้ เนื่องจากบางท่าเรือไม่มีตู้เอทีเอ็มอยู่ใกล้ๆ ไม่มีการฝึกอบรมเรื่องการใช้ระบบดังกล่าวแก่แรงงาน หรือบัตรเอทีเอ็มและรหัสบัตรของแรงงานอาจถูกเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้ายึดไว้
ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) นำโดยกองทัพเรือไทย บริหารจัดการศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) และจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าเพิ่มเติมอีก 19 จุด ซึ่งตรวจสอบเพื่อรับรองว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมาย ศปมผ. ใช้ระบบตรวจสอบเรือตามการประเมินความเสี่ยง และรายงานว่า ระบบได้ตรวจสอบเรือประมงทุกลำที่จัดอยู่ในประเภท “ความเสี่ยงสูง” และเรือบางลำในประเภทความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงต่ำ พนักงานตรวจแรงงานที่ทำงานในคณะควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ตรวจสอบรายการลูกเรือโดยใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและการสัมภาษณ์แรงงาน รัฐบาลกำหนดให้เรือประมงในเขตน่านน้ำไทยกลับเข้าเทียบท่าทุกๆ 30 วัน และออกระเบียบบังคับมิให้เรือประมงประเภทไกลฝั่งที่ติดธงชาติไทยดำเนินกิจการในน่านน้ำสากลโดยเด็ดขาด ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงได้ดำเนินการตรวจสอบ 78,623 ครั้ง ในปี 2561 และพบว่ามีเรือประมง 511 ลำที่ดำเนินกิจการโดยฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างไรก็ดี ทางการมิได้รายงานว่า มีการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการตรวจสอบแรงงานด้วยหรือไม่ องค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า วิธีการสัมภาษณ์ที่ไม่เหมือนกัน การตรวจสอบโดยไม่มีล่ามอยู่ด้วย และวิธีตรวจสอบที่ทำให้เจ้าของเรือ ไต้ก๋ง หรือนายหน้า สามารถระบุได้ว่า แรงงานคนใดเป็นผู้รายงานการแสวงประโยชน์กับพนักงานตรวจ ขัดขวางไม่ให้แรงงานเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเกรงว่าจะถูกแก้แค้น ภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐแสดงความกังวลว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก บังคับใช้กฎระเบียบโดยเคร่งครัดไม่เท่ากัน ทำให้ไต้ก๋งบางคนเลือกท่าเรือที่การตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหละหลวมกว่า
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานบันเทิง 7,497 แห่ง ในปี 2561 ส่งผลให้มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 7 คดี และสั่งระงับใบอนุญาตของสถานบันเทิงจำนวน 97 แห่งเป็นเวลา 5 ปี ฐานฝ่าฝืนกฎหมายโดยมิได้ระบุข้อหาชัดเจน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไร่อ้อย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานแปรรูปกุ้งและปลา ฟาร์มสุกร และฟาร์มสัตว์ปีก รวม 1,906 ครั้งในปี 2561 พบว่าสถานประกอบกิจการ 388 แห่งฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน และในปีเดียวกัน ทางการตรวจสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 259 แห่ง และพบการละเมิดฎหมายแรงงาน 88 กรณี รัฐบาลดำเนินการเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ เพื่อลดการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ทางการได้ประสานงานกับรัฐบาลต่างประเทศปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศเข้าประเทศ รวมถึงจัดทำและเผยแพร่วิดีโอเพื่อลดการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในสนามบินและบนเครื่องบินของไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดประชุมสัมมนาข้าราชการ นักธุรกิจ บุคลากรด้านการท่องเที่ยว และบุคคลอื่นๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์
ดังที่ได้รายงานเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา นักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้เสียหายชาวไทยและต่างชาติในประเทศไทย และจากผู้เสียหายชาวไทยในต่างประเทศ นักค้ามนุษย์บังคับผู้เสียหายชาวไทยให้ใช้แรงงานและค้าประเวณีในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ นักค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณีแสวงประโยชน์จากผู้หญิง ผู้ชาย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเด็กจากประเทศไทย ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ นักค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของผู้เสียหายจากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย และพม่า ซึ่งถูกบังคับให้ค้าประเวณีและใช้แรงงานในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก เด็กจากประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชาเป็นผู้เสียหายจากการค้าประเวณีในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล นักค้ามนุษย์ชักจูงเด็กหญิงและเด็กชายชาวไทยให้แสดงกิจกรรมทางเพศผ่านทางวิดีโอและภาพถ่ายบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งโดยการขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพลามกของเด็ก เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ บิดามารดาหรือนายหน้าบางรายจัดหาแรงงานบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง เมื่อปี 2558 มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์และใช้เด็กมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจฝึกเด็กกัมพูชาจำนวนหนึ่งในโรงเรียนในภาคใต้ของประเทศไทยให้เป็นนักสู้ อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์เบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิเสธว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
นักค้ามนุษย์ด้านแรงงานแสวงประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวในภาคประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทานตามถนน บ่อยครั้งนักค้ามนุษย์แสวงประโยชน์จากผู้อพยพบางคนในการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยการบีบบังคับเพราะผู้อพยพติดหนี้อยู่ และสัญญาหลอกหลวงว่าจะให้งานที่มีค่าจ้างดี นายหน้าและสำนักงานจัดหางานอื่นๆ บังคับให้แรงงานจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมากเกินควรก่อนที่จะเดินทางถึงประเทศไทย นายหน้าและนายจ้างที่อยู่ในประเทศไทยคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหลังจากแรงงานเดินทางถึงประเทศไทย ในบางกรณีทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นแรงงานขัดหนี้ ผู้อพยพบางคนถูกนักค้ามนุษย์ลักพาตัวและจับตัวไว้เรียกค่าไถ่ และบางคนถูกบังคับให้ต้องให้บริการทางเพศหรือบังคับใช้แรงงาน นักค้ามนุษย์บังคับให้ชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซียใช้แรงงานบนเรือจับปลาที่มีคนไทยและต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือยาที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางคนข่มขู่ เฆี่ยนตี และผสมยาในอาหารให้กับชาวประมงเพื่อให้ทำงานได้หลายชั่วโมงมากขึ้น ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางรายในภาคประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย
การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่ซึ่งผู้เสียหายถูกแสวงประโยชน์ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ทุจริตอนุญาตให้มีการค้ามนุษย์โดยรับสินบนจากนายหน้าและผู้ลักลอบนำบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศตามแนวชายแดนไทย มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่นๆ และเจ้าของเรือประมงจากการบุกตรวจค้นและการตรวจสอบ อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ