รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2561

โดยสำนักงานเพื่อการตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์

ประเทศไทย: กลุ่มที่ 2

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลไทยแสดงความพยายามมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้รับการปรับระดับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 รัฐบาลแสดงความพยายามมากขึ้นในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์จำนวนมากขึ้น และลดระยะเวลาในการดำเนินคดีการค้ามนุษย์โดยใช้หน่วยงานเฉพาะทางด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังสืบสวนสอบสวนคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น และพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิด 12 คนในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ 11 คนที่พัวพันกับการค้ามนุษย์ผู้อพยพชาวโรฮีนจา รัฐบาลได้ออกระเบียบข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลสถานพักพิงที่องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้ดำเนินการมากขึ้นและเพื่อให้สถานพักพิงเข้าถึงทุนสนับสนุนของรัฐได้ รัฐบาลยังตั้งคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อยกระดับการประสานงานด้านการบังคับใช้กฎหมายและการคุ้มครองผู้เสียหายให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลยังริเริ่มโครงการผู้เชี่ยวชาญด้านความช่วยเหลือผู้เสียหายและเพิ่มการอบรมแก่ผู้ตรวจแรงงานที่ถูกบังคับ แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในหลายเรื่องหลัก เจ้าหน้าที่รัฐระบุจำนวนผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานน้อยลง และสืบสวนสอบสวนคดีบังคับใช้แรงงานจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ารัฐบาลยังคงเพิ่มการตรวจแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า จำนวนผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้เสียหายและการสอบสวนคดีอาชญากรรมกลับมีไม่มาก นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์ และยังคงมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัว กักกัน และส่งตัวกลับประเทศผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายค้ามนุษย์ในฐานความผิดทางอาญาที่พวกเขากระทำอันเป็นผลโดยตรงจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และนักเคลื่อนไหวอาจถูกขัดขวางไม่ให้แจ้งความ และเจ้าหน้าที่รัฐบางรายอาจลังเลที่จะสืบสวนสอบสวนการแสวงประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างที่ไร้ศีลธรรมฟ้องร้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ไทยควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้ตรวจสอบการใช้แรงงาน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรก เพื่อให้สามารถคัดกรองและระบุผู้เสียหายจากบรรดาคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ในเชิงรุกและอย่างสม่ำเสมอ อันได้แก่ กลุ่มผู้อพยพ บุคคลไร้สัญชาติ เด็ก และผู้ลี้ภัย และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกจับกุม กักกัน หรือส่งตัวกลับประเทศจากความผิดทางอาญาที่พวกเขากระทำอันเป็นผลโดยตรงจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ไทยควรสืบสวนสอบสวนในเชิงรุกและดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และพิพากษาลงโทษและดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ไทยควรพัฒนาศักยภาพด้านการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษอย่างจริงจังต่อนักค้ามนุษย์ในธุรกิจบริการทางเพศและด้านแรงงาน และควรพัฒนาความสามารถของเจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรกในการบ่งชี้และดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะคดีที่ไม่ปรากฏการบีบบังคับหรือการกักขังทางกายภาพ ไทยควรคงการอบรมคณะทำงานสหวิชาชีพและผู้ตรวจสอบการใช้แรงงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพของการตรวจสอบเรือประมง ซึ่งจะนำไปสู่การระบุตัวผู้เสียหายและการสอบสวนอาชญากรรมได้ ไทยควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนให้การบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจผู้เสียหายอย่างเพียงพอ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพิ่มการให้ค่าสินไหมชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่สามารถทำงานนอกสถานพักพิงได้ อีกทั้งไทยควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการถูกดำเนินคดี และให้ความคุ้มครองแก่คณะทำงานสหวิชาชีพจากการถูกแทรกแซงและแก้แค้น ไทยควรจัดระเบียบควบคุมผู้จัดหาแรงงานต่างด้าว รวมถึงห้ามเก็บค่าธรรมเนียมจัดหางานจากผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนดำเนินคดีที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีการค้ามนุษย์ ไทยควรปรับปรุงสิทธิของแรงงานต่างด้าว สถานภาพทางกฎหมาย และนโยบายการย้ายถิ่นของแรงงาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ไทยควรบังคับให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอและให้มีการให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัวและเอกสารทางการเงินเอง และให้ข้อมูลแก่แรงงานต่างด้าวและประชากรในกลุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับสิทธิที่พวกเขาพึงมี ทั้งภายใต้ระเบียบข้อบังคับใหม่ว่าด้วยเรื่องแรงงานต่างด้าวและภายใต้ความคุ้มครองทางกฎหมายจากการค้ามนุษย์

การดำเนินคดี

รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามด้านการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่าการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงานเป็นความผิดอาญา และกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 12 ปีและปรับไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (36,810 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ และกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปีและปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท (61,350 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก บทลงโทษที่กำหนดดังกล่าวเข้มงวดเพียงพอ และสำหรับกรณีการค้ามนุษย์ทางเพศ บทลงโทษนี้เทียบเท่าได้กับบทลงโทษสำหรับความผิดอาชญากรรมร้ายแรงอย่างเช่นการข่มขืน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานร่างกฎหมายเพื่อกำหนดคำนิยามของแรงงานบังคับให้ชัดเจนขึ้นในกฎหมายไทยและให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ผู้เสียหาย และในปี พ.ศ. 2561รัฐบาลก็ได้จัดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2560 มีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์จำนวน 302 คดี (เทียบกับ 333 คดีในปี พ.ศ. 2559) เริ่มดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 638 ราย (เทียบกับ 493 รายในปี พ.ศ. 2559) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 466 ราย (เทียบกับ 366 รายในปี พ.ศ. 2559) แม้ว่าจะมีการรายงานการบังคับใช้แรงงานอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานการสืบสวนคดีบังคับใช้แรงงานจำนวนลดลง ทางการสืบสวนคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน 47 คดีในปี พ.ศ. 2560 (เทียบกับ 83 คดีในปี พ.ศ. 2559) และ 16 คดีระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ รัฐบาลรายงานการสืบสวนคดีบังคับใช้แรงงานในภาคประมงจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี พ.ศ. 2560 โดยมีการสืบสวนคดีบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงจำนวนเจ็ดคดีในปี พ.ศ. 2560 (เทียบกับ 43 คดีในปี พ.ศ. 2559) ทั้งนี้ มีหนึ่งคดีที่ทางการลงโทษจำคุกกัปตันเรือเป็นระยะเวลาสี่ปีและสั่งให้เขาจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายจำนวน 450,000 บาท (13,800 เหรียญสหรัฐ) รัฐบาลตรวจสอบและยึดเรือประมงหลายลำที่ดำเนินกิจการในน่านน้ำสากล ซึ่งนำไปสู่การระบุตัวแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์ 50 ราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียหายค้ามนุษย์ 35 ราย และมีหนึ่งคดีที่มีการจับกุมนายหน้าและหัวหน้าแรงงาน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 อัยการสูงสุดได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานอัยการเกี่ยวกับรายละเอียดข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องพร้อมข้อเสนอแนะเรื่องบทลงโทษ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินคดีค้ามนุษย์และคดีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐในอาชญากรรมค้ามนุษย์ยังคงบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และในบางครั้งรัฐบาลใช้การลงโทษทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิด เช่น สั่งพักราชการ หรือโยกย้ายให้ไปรับตำแหน่งใหม่ แทนที่จะดำเนินคดีทางอาญา แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความพยายามมากยิ่งขึ้นในการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 26 คน (เทียบกับ 10 คนในปี พ.ศ. 2559) และเริ่มดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐเจ็ดคน และพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ 12 คน (เทียบกับสามคนในปี พ.ศ. 2559) นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ. 2561 รัฐบาลเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 20 คน ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐแปดคน และพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐห้าคน ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐสี่คนจากจำนวนทั้งหมด 10 คนที่เริ่มถูกสืบสวนสอบสวนในปี พ.ศ. 2559 ยังคงถูกสืบสวนสอบสวนอยู่ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ส่งเรื่องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐสามคน แต่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ตั้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคนนั้น นอกจากนี้ มีคดีที่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด 62 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ 11 รายที่มีส่วนพัวพันการค้ามนุษย์ผู้อพยพชาวโรฮีนจา โดยได้ลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 14 ปีจนถึง 79 ปี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 รัฐบาลลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่คนที่เรียกเก็บสินบนเพื่อแลกกับการไม่ตั้งข้อกล่าวหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์จากผู้อพยพชาวโรฮีนจา โดยเจ้าหน้าที่แต่ละคนถูกสั่งจำคุกเป็นเวลาห้าปี

หลังจากที่มีการใช้พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลก็เพิ่มความพยายามมากยิ่งขึ้นในการสืบสวนสอบสวนการบังคับขอทานและการบังคับให้เด็กมาขอทาน รัฐบาลเริ่มสืบสวนสอบสวนคดีการบังคับขอทาน 26 คดีในปี พ.ศ. 2560 เทียบกับแปดคดีในปี พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้การตรวจดีเอ็นเอในการสืบทราบความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายเด็กที่ถูกบังคับให้ขอทานและผู้ใหญ่ที่ติดตามเด็กมาด้วย รัฐบาลยังดำเนินคดีต่อบิดามารดาที่พาบุตรเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาประเทศไทยมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อมาขอทาน เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของไทยร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนสอบสวนนักค้ามนุษย์และผู้เสียหายชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศ และบุคคลต่างด้าวที่เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยึดทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์มูลค่ากว่า 31 ล้านบาท (950,920 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง เทียบกับทรัพย์สินจำนวน 784 ล้านบาท (24 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่ถูกยึดในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ โดยให้อำนาจผู้พิพากษาในการให้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอให้มีการชดเชยด้วย

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดตั้งคณะทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย (TATIP) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเพิ่มการประสานงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการค้ามนุษย์ทางเพศและแรงงาน คณะทำงาน TATIP มีทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรกที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน ลงมือปฏิบัติการ สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์หลักฐานทางดิจิทัล สตช. เพิ่มจำนวนบุคลากรในคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน (TICAC) ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนการค้ามนุษย์ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในปี พ.ศ. 2560 คณะทำงาน TICAC สืบสวนการกล่าวหาเรื่องการแสวงประโยชน์จากเด็กทางออนไลน์จำนวน 41 คดี (เทียบกับ 24 คดีในปี พ.ศ. 2559) ซึ่งรวมถึงคดีค้ามนุษย์ 18 คดี (เทียบกับสี่คดีในปี พ.ศ. 2559) และต่อมานำไปสู่การดำเนินคดีค้ามนุษย์แปดคดี รัฐบาลดำเนินงานแผนกคดีค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะในศาลอาญากรุงเทพฯ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้ผู้เสียหายและพยานเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ผู้เสียหายบางรายยังคงลังเลที่จะมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินคดีเพราะเกรงกลัวต่อการถูกกักกัน ไม่มีความเข้าใจกระบวนการทางกฎหมายของไทยอย่างเพียงพอ มีอุปสรรคทางด้านภาษา และต้องการถูกส่งตัวกลับประเทศมากกว่าที่จะต้องอยู่ที่สถานพักพิงเป็นเวลานานหรือรอกระบวนการทางศาล อย่างไรก็ดี แผนกคดีค้ามนุษย์ยังคงสืบสวนการกล่าวหาและดำเนินคดีค้ามนุษย์ให้แล้วเสร็จได้รวดเร็วกว่าช่วงการรายงานปีที่ผ่านมา ศาลพิจารณาคดีส่วนใหญ่ที่มีการไต่สวนในปี พ.ศ. 2560 แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกเดือน ศาลยอมรับคำให้การล่วงหน้าของผู้เสียหายที่อยู่ในรูปแบบวิดีโอให้นำมาใช้เป็นหลักฐานในการไต่สวนคดีมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เสียหายเต็มใจที่จะเป็นพยานให้การมากยิ่งขึ้น พนักงานอัยการยังทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการเตรียมความพร้อมของพยานก่อนให้การ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 4.3 ล้านบาท (130,670 เหรียญสหรัฐ) ในการให้บริการคุ้มครองพยาน 52 รายในคดีค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2560 เทียบกับจำนวน 2.9 ล้านบาท (88,960 เหรียญสหรัฐ) สำหรับพยาน 254 รายในปี พ.ศ. 2559

รัฐบาลจัดอบรมเรื่องกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกว่า 2,600 คน รัฐบาลจัดทำคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานสืบสวนคดีค้ามนุษย์ และเริ่มทดลองใช้ขั้นตอนการปฏิบัติงานดังกล่าวในพื้นที่ภาคหนึ่งก่อนตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2561และยังคงดำเนินการทดลองอยู่ ณ ช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดอบรมแก่ผู้พิพากษาและพนักงานอัยการในพื้นที่สองภาคเพื่อให้การประสานงานคดีการค้ามนุษย์ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามพัฒนาคุณภาพของการดำเนินคดีค้ามนุษย์ทั่วประเทศโดยมีหน่วยย่อยในสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุดทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ศาล การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นกับพนักงานอัยการพัฒนาดีขึ้น แต่ยังมีบางกรณีที่การประสานงานยังไม่ดีพอและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดีในช่วงที่ทำรายงาน รัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการรายงานคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งหมดในฐานข้อมูลรวม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดอบรมเรื่องการบังคับใช้แรงงานแก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 335 คน โดยเน้นเรื่องข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ที่ไม่ใช่ทางกายภาพ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรก พนักงานอัยการ และผู้พิพากษาไม่ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างเพียงพอหรือตีความกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

การคุ้มครอง

รัฐบาลเพิ่มความพยายามมากขึ้นในการคุ้มครองผู้เสียหาย แต่กลับระบุจำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงการทำรายงานปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รัฐบาลระบุจำนวนผู้เสียหาย 455 คนในปี พ.ศ. 2560 (เทียบกับ 824 คนในปี พ.ศ. 2559) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายค้ามนุษย์ทางเพศ 336 คน (เทียบกับ 335 คนในปี พ.ศ. 2559) และผู้เสียหายค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 119 คน (เทียบกับ 489 คนในปี พ.ศ. 2559) องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ามนุษย์แสดงความกังวลว่า การที่รัฐบาลระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างไม่คงเส้นคงวาจะส่งผลให้ผู้เสียหายเสี่ยงต่อการถูกลงโทษและตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ซ้ำอีก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่าให้การช่วยเหลือผู้เสียหายที่สถานพักพิงของรัฐ 450 คน (เทียบกับ 561 คนในปี พ.ศ. 2559) ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายที่ระบุในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 360 คน และปี พ.ศ. 2559 จำนวน 90 คน โดยแบ่งเป็นผู้เสียหายชาวไทย 132 คนและผู้เสียหายที่เป็นคนต่างด้าว 228 คน ทางการช่วยส่งตัวผู้เสียหายที่เป็นคนต่างด้าวที่ถูกแสวงประโยชน์ในไทยให้กลับประเทศจำนวน 147 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมชาวโรฮีนจา 36 คน และช่วยเหลือชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 45 คนให้เดินทางกลับประเทศโดยให้ค่าเดินทาง ช่วยเหลือด้านกฎหมาย จัดหางาน และช่วยให้ผู้เสียหายสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้

หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐในคณะทำงานสหวิชาชีพที่ทำหน้าที่คัดกรองหาข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยงใช้ชุดคำถามมาตรฐานในการสัมภาษณ์ผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งยืนยันว่า คณะทำงานสหวิชาชีพพัฒนาความสามารถในการระบุผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยใช้วิธีให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิผลในบางภาคของประเทศในช่วงปีของการรายงาน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามกระบวนการระบุผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีความคงเส้นคงวาลดลงเมื่อนำไปปฏิบัติในพื้นที่นอกเขตเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมองข้ามข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ที่ไม่ใช่ทางกายภาพ เช่น การไม่จ่ายค่าแรงและการยึดเอกสารประจำตัว เป็นต้น นอกจากรัฐบาลจะจัดอบรมแก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังจัดอบรมแก่เจ้าหน้าที่ในคณะทำงานสหวิชาชีพ ผู้ตรวจสอบการใช้แรงงาน นักสังคมสงเคราะห์ และล่าม รวมกว่า 1,400 คน เกี่ยวกับการบ่งชี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และระบบส่งต่อผู้เสียหาย รัฐบาลยังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 เพื่อทบทวนและปรับปรุงชุดคำถามสัมภาษณ์ กระบวนการทำงาน และเทคนิคการสืบสวนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงการดำเนินคดีให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ สตช. ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อทบทวนและประเมินการละเมิดแรงงาน เช่น ข้อพิพาทเรื่องค่าแรงและการใช้แรงงานเด็ก เพื่อบ่งชี้ผู้ที่อาจเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้ รัฐบาลยังจัดโครงการอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้เสียหายแก่นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เจ้าหน้าที่ในคณะทำงาน TATIP และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 50 คนช่วงต้นปี พ.ศ. 2561เพื่อปรับปรุงวิธีบ่งชี้ผู้เสียหายและเทคนิคการสืบสวน ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับการแต่งตั้งให้ประจำทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่ ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ทีมสหวิชาชีพในคดีที่มีความซับซ้อน กระทรวง พม. อบรมและขึ้นทะเบียนล่ามเพิ่มอีก 67 คนในปี พ.ศ. 2560 ทำให้มีล่ามให้บริการรวมทั้งหมด 251 คน นอกจากนี้ รัฐบาลยังจ้างผู้ประสานงานภาษาพม่าและภาษาเขมร 60 คนให้ทำงานที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นจาก 30 คนในปี พ.ศ. 2559 และกระทรวงแรงงานยังจ้างล่าม 74 คนด้วย กระทรวงแรงงานจัดอบรมแก่ผู้ประสานงานภาษาที่ทำงานบนเรือประมง และกระทรวงพม. จัดอบรมห้าครั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายให้แก่ล่ามที่ทำงานสนันสนุนศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมายและแผนกคดีค้ามนุษย์ของสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลอาญา

รัฐบาลยังคงส่งตัวผู้เสียหายไปยังสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่งหรือสถานพักพิงระยะยาวเก้าแห่งที่ดำเนินการโดยกระทรวง พม. เพื่อรับบริการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ การชดเชยค่าเสียหาย ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนการจ้างงาน รัฐบาลเสนอความช่วยเหลือทางกฎหมายและค่าชดเชยจากกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่ผู้เสียหายชาวไทยที่ไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสถานพักพิง ทั้งนี้ ช่องว่างในการเข้าถึงการช่วยเหลือและการปฏิบัติต่อผู้เสียหายระหว่างการสืบสวนคดี เช่น การสัมภาษณ์ผู้เสียหายหลายครั้ง การขู่ว่าจะกักตัวหรือส่งกลับประเทศ กระบวนการทางศาลที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการขาดแคลนสถานพักพิงในบางพื้นที่ ทำให้ผู้เสียหายเลือกที่จะไม่พึ่งทางการ องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานข้อกังวลเกี่ยวกับการขาดทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเด็กต่างด้าวที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยที่ครอบครัวสมรู้ร่วมคิดหรือเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ทางการมีแนวโน้มที่จะส่งตัวผู้เสียหายที่เป็นเด็กผู้ชายไปยังสถานพินิจแทนที่จะส่งไปยังสถานคุ้มครองผู้เสียหาย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 รัฐบาลออกระเบียบกำกับดูแลสถานคุ้มครองเอกชนและในขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนทางวิชาการจากกระทรวงพม. ตลอดจนเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชนสามารถสมัครขอทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวง พม. ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนดำเนินสถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยไม่ได้รับทุนสนับสนุนหรือการกำกับดูแลโดยรัฐบาล รัฐบาลยังคงดำเนินศูนย์ช่วยเหลือเด็กสามแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองพัทยา และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และนักสังคมสงเคราะห์ใช้ถามปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

รัฐบาลยังคงอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่เดินทาง ทำงาน และพำนักนอกสถานพักพิง ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย ในจำนวนผู้เสียหายทั้งหมด 450 คนที่พำนักอยู่ที่สถานพักพิงของรัฐ มีผู้เสียหาย 287 คนได้รับการจ้างงานในสถานพักพิงหรือนอกสถานพักพิงในช่วงที่มีการดำเนินขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนผู้เสียหายที่เหลือนั้น บางรายอยู่ในช่วงพักฟื้น บางรายเลือกที่จะไม่ทำงาน หรืออายุน้อยเกินไปที่จะทำงาน หรือกำลังรับการอบรมในสถานพักพิง กระทรวง พม. เห็นชอบให้จ่ายค่าครองชีพรายวันจำนวน 300 บาท (9.20 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทย แก่ผู้เสียหายที่พำนักอยู่ในสถานพักพิงของกระทรวงที่ต้องการทำงานแต่ไม่สามารถทำได้เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยหรือกำลังรอการจ้างงาน และผู้เสียหายบางรายที่ไม่ได้พำนักอยู่ในสถานพักพิงของกระทรวงที่ต้องการทำงาน อย่างไรก็ดี ตราบถึงปลายปี พ.ศ. 2560 มีผู้เสียหายเพียง 24 คนที่ได้รับเงินสนับสนุนนี้ ทั้งนี้ ความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอาจยังผลให้ผู้เสียหายใช้เวลาพำนักที่สถานพักพิงสั้นลง องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า การบังคับเด็กให้มาขอทานลดลงหลังจากที่มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานระหว่างช่วงการรายงานครั้งที่ผ่านมา โดยพระราชบัญญัติกำหนดให้บริการด้านสุขภาพและด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ทำการขอทาน รวมทั้งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลระบุผู้เสียหายที่ถูกบังคับให้ขอทานจำนวน 35 คนในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 20 คนที่ระบุในปี พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับขอทานอย่างไม่คงเส้นคงวานัก ซึ่งอาจยังผลให้ทางการส่งผู้เสียหายเด็กไปยังสถานพักพิงคนไร้บ้านแทนที่จะส่งไปยังสถานพักพิงสำหรับผู้เสียหายค้ามนุษย์ของกระทรวง พม.

ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือกว่า 10.2 ล้านบาท (314,110 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหายและพยานผ่านหลายกองทุนของรัฐ เทียบกับจำนวน 9.2 ล้านบาท (280,980 เหรียญสหรัฐ) ในปี พ.ศ. 2559 ในจำนวนนี้รวมเงินจำนวน 5.6 ล้านบาท (171,780 เหรียญสหรัฐ) ที่ให้แก่ผู้เสียหาย 760 คนจากกองทุนของรัฐเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (เทียบกับ 5.8 ล้านบาทหรือ 177,910 เหรียญสหรัฐ ที่ให้แก่ผู้เสียหาย 648 คนในปี พ.ศ. 2559) นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้นักค้ามนุษย์ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 18.4 ล้านบาท (565,640 เหรียญสหรัฐ) แก่ผู้เสียหาย 151 คนในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.7 ล้านบาท (50,610 เหรียญสหรัฐ) ที่สั่งให้ชดเชยแก่ผู้เสียหาย 15 คนในปี พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและองค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายอย่างไม่สม่ำเสมอและจำนวนเงินยังน้อยเกินไปที่จะจูงใจให้ผู้เสียหายให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี และไม่ได้มีการนำเงินจากกองทุนที่ได้มาจากการยึดทรัพย์นักค้ามนุษย์มาจ่ายชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย กระทรวง พม. จัดตั้งหน่วยงานย่อยภายใต้แผนกค้ามนุษย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายด้านกฎหมายและยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รัฐบาลเสนอทางเลือกอื่นตามกฎหมายแทนการส่งตัวกลับประเทศแก่ผู้เสียหายที่ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือความยากลำบากหากกลับประเทศต้นทาง รัฐบาลอนุญาตให้ผู้เสียหายและพยานค้ามนุษย์ชาวต่างด้าวพำนักและทำงานในประเทศไทยได้นานสูงสุดสองปี อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการอยู่ต่อดังกล่าวจากหนึ่งปีเป็นสองปีเมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 มีผู้เสียหายเพียงรายเดียวที่ได้รับสถานะนี้จากรัฐบาล

แม้กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการถูกดำเนินคดีจากการกระทำอันเนื่องมาจากการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ แต่การที่ยังมีจุดบกพร่องในการระบุตัวผู้เสียหายและการที่เจ้าหน้าที่รัฐกวดขันจับกุมและส่งตัวกลับประเทศผู้ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกและถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อในฐานะผู้กระทำผิดกฎหมาย มีผู้เสียหายถูกดำเนินคดีจากการกระทำอาชญากรรมอันเป็นผลโดยตรงจากการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น การค้าประเวณีและการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายอาญาว่าด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเปิดช่องให้บริษัทฟ้องร้องคดีอาญาผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายได้ในช่วงที่มีการรายงาน และนอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานอาจต้องรับผิดส่วนบุคคลต่อการถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดความสามารถหรือลดทอนความเต็มใจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบการใช้แรงงาน นโยบายทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจทำให้ผู้เสียหาย นักเคลื่อนไหว และผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานรู้สึกว่าตนไม่สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด แต่รัฐบาลไม่ได้รายงานว่าได้มีการนำบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้มาปฏิบัติใช้หรือไม่

การป้องกัน 

รัฐบาลพยายามที่จะป้องกันการค้ามนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 พันล้านบาท (110.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับปีงบประมาณ 2561 จากเดิม 3.2 พันล้านบาท (98.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2560 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัตินโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560-2564 และจัดโครงการรณรงค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสังคมออนไลน์ ป้ายโฆษณาและเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์แก่ประชาชนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำและความหลากหลายทางภาษาของประชากรกลุ่มเสี่ยงทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่พูดภาษาไทยหลายคนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รัฐบาลและภาคประชาสังคมได้เปิดศูนย์บริการชาวประมงเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ การฝึกอบรมทักษะ การตรวจคัดกรองสุขภาพ และข้อมูลอื่น ๆ แก่ชาวประมง

รัฐบาลยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานชาวไทยในต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการแรงงานชั่วคราว (guest worker) อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมากเกินควรเพื่อให้ได้งานในต่างประเทศ ทำให้แรงงานเหล่านี้เสี่ยงต่อการเป็นแรงงานขัดหนี้หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลได้ช่วยให้ชาวไทยจำนวน 20,068 คนมีงานทำในต่างประเทศ ผ่านช่องทางการอพยพที่เป็นทางการระหว่างรัฐต่อรัฐ สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัดต่าง ๆ ก็จัดการฝึกอบรมให้แก่แรงงานกลุ่มดังกล่าวกว่า 3,500 คนก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานก็ยังตรวจคัดกรองเอกสารเดินทางของแรงงานที่เดินทางออกนอกประเทศที่ด่านตรวจ 25 จุดทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2560 แรงงานไทยจำนวน 729 คนจากทั้งหมด 64,602 คน ถูกห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศ และในปีเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ตรวจสอบสำนักงานจัดหางาน 302 แห่ง ที่ช่วยให้คนไทยได้งานทั้งในและต่างประเทศ และก็พบว่ามี 9 แห่งที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ 8 แห่งถูกระงับใบอนุญาต และ 1 แห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีกับนายหน้าที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน จำนวน 287 คนด้วย (108 คน เมื่อ พ.ศ. 2559) รัฐบาลยังคงให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ ในปี พ.ศ. 2560 และออกข้อบังคับใหม่ ๆ มาเพื่อให้เด็กกำพร้าและเด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยที่เกิดในประเทศ ได้มีสิทธิอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย ศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (Children Advocacy Center) ให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์รวมถึงให้การดูแลในภาวะเร่งด่วนแก่เด็กกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีบริการรับดูแลเด็กที่ศูนย์บริการสำหรับชาวประมงด้วย เพื่อการป้องกันการค้าเด็ก กระทรวงพ.ม.และกระทรวงแรงงานได้จัดบริการโทรศัพท์สายด่วนโดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 20 ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว คอยรับสาย สายด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับโทรศัพท์ 172 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่อาจเป็นการค้ามนุษย์ ในปี พ.ศ. 2560 (269 สายใน พ.ศ. 2559) และทำให้สามารถระบุผู้เสียหายที่เป็นเด็ก 109 คนและผู้ใหญ่ 63 คน และดำเนินคดี 73 คดีได้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังเพิ่มจำนวนล่ามทางโทรศัพท์สายด่วนเป็น 68 คน ใน พ.ศ. 2560 อีกด้วย

ช่องว่างประการสำคัญในกฎหมายแรงงานไทยที่กีดกันไม่ให้แรงงานต่างชาติรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจมีส่วนทำให้การแสวงประโยชน์เกิดขึ้น นอกจากนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์การระหว่างประเทศยังรายงานในวงกว้างว่า รัฐบาลยังดำเนินการไม่เพียงพอในการบังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมที่มีเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ และก็ไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้มีการบังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก บางองค์กรยังรายงานว่า นโยบายของไทยมีช่องว่างที่ทำให้ปัญหาแสวงประโยชน์แรงงานแย่ลง เช่น ไม่มีข้อบังคับให้จัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทยและภาษาแม่ของแรงงาน ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการนับจำนวนชั่วโมงทำงานและชั่วโมงพักผ่อนของแรงงานบนเรือประมง และความยากลำบากของแรงงานในการเปลี่ยนนายจ้าง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีข้อกำหนดให้แรงงานต่างด้าวและนายจ้างขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม และยังกำหนดบทลงโทษนายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี การประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวอย่างกะทันหัน ทำให้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพัน ๆ คนต้องออกนอกประเทศ ซึ่งแรงงานเหล่านี้อาจจะถูกแสวงประโยชน์ในภายหลังก็เป็นได้ หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้มีส่วนได้เสีย รัฐบาลก็ชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนี้จากผู้มีส่วนได้เสีย และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีเวลามากขึ้นในการยื่นขอเอกสารที่จำเป็นแก่การทำงานอย่างถูกกฎหมาย ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในการจัดตั้งศูนย์บริการ 14 แห่งในประเทศไทย โดยประสานงานกับรัฐบาลพม่า กัมพูชา และลาว เพื่อพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน ต่อมา คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติพระราชกำหนดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 โดยได้เพิ่มการคุ้มครองแรงงาน เช่น ห้ามมิให้มีการยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของแรงงานต่างด้าว ห้ามมิให้มีการจ้างช่วง และทำให้การเปลี่ยนนายจ้างสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงเป็นเรื่องกังวลอย่างแพร่หลายในช่วงการจัดทำรายงานฉบับนี้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้นายจ้างในภาคการประมง จ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคาร

พระราชกำหนดบัญญัติให้สำนักงานจัดหางานแรงงานต่างด้าวต้องขอรับใบอนุญาตและวางหลักประกันซึ่งจะนำเข้าสู่กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำนักงานจัดหางานที่ไม่ได้จดทะเบียนมีโทษจำคุกสามปีและปรับไม่เกิน 60,000 บาท (1,840 เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ยังกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย และส่งกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน เช่น ค่าธรรมเนียมจัดหางาน และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน) ในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานจัดหางานแรงงานต่างด้าวจำนวน 101 แห่งได้รับใบอนุญาต และรัฐบาลก็ได้ตรวจสอบสำนักงานทั้งหมด 97 แห่ง ดำเนินคดีกับ 1 แห่ง ฐานกระทำความผิดตามพระราชกำหนด และปรับ 20,000 บาท (610 เหรียญสหรัฐ) แม้ว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบการย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้กลไกนี้เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ กระบวนการใช้เวลานาน มีความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้าง และมีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งเกี่ยวพันกับการทุจริตในทั้งสองฝากฝั่งพรมแดน รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานสามแห่งเพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางที่เป็นทางการเหล่านี้ รวมทั้งตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่ง ศูนย์เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแรงงาน 345,204 คนในปีพ.ศ. 2560 (105, 647 คนระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560) โดยให้ข้อมูลเป็นภาษาต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และช่วยอำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ในการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล

กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมได้ตรวจสอบสถานบันเทิงที่มี “ความเสี่ยงสูง” จำนวน 11,268 แห่ง และสั่งห้ามมิให้สถานบันเทิงจำนวน 268 แห่งประกอบธุรกิจเป็นเวลาห้าปี การตรวจสอบครั้งนี้ทำให้มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์แปดคดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไร่อ้อย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานแปรรูปกุ้งและปลา ฟาร์มสุกรและฟาร์มสัตว์ปีก รวม 1,693 ครั้งในปี พ.ศ. 2560 พบการกระทำผิด 191 กรณี และมีการดำเนินคดีไป 12 ครั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 รัฐบาลได้สั่งให้เรือประมงนอกน่านน้ำไทยทุกลำกลับเข้าเทียบท่า เพื่อจะได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เมื่อสิ้นสุดช่วงการทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้อนุญาตให้เรือประมงเหล่านี้ทำประมงต่อ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย กรมประมง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับการตรวจสอบแรงงานที่ต้องมีการดำเนินการหลังจากที่รัฐบาลได้อนุญาตให้เรือประมงไทยทำประมงนอกน่านน้ำไทยได้อีกครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดให้เรือประมงในเขตน่านน้ำไทย กลับเข้าเทียบท่าทุก ๆ 30 วันเพื่อรับการตรวจสอบ

รัฐบาลยังคงมองหาตัวบ่งชี้ว่ามีการค้ามนุษย์ ในกลุ่มชาวประมงที่กลับมาประเทศไทย ชาวประมงที่อยู่บนเรือประมงในเขตน่านน้ำไทย และแรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ศปมผ.มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกทั้งหมด 32 แห่ง และเปิดจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าเพิ่มอีก 19 จุด ซึ่งดำเนินการตรวจสอบทั้งที่ท่าเรือ ในทะเลและบนฝั่ง เพื่อรับรองว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมาย และแรงงานมีสัญญาจ้างงาน ใบอนุญาตทำงาน รวมถึงเอกสารประจำตัว รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนทีมตรวจสอบของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกจาก 64 ทีม เป็น 85 ทีม กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบบนเรือประมง 644 ลำ ในปี พ.ศ. 2560 และพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย 34 กรณี (จาก 15 กรณี เมื่อ พ.ศ. 2559) ซึ่งส่งผลให้มีการดำเนินคดีสามคดี นอกจากนี้ กองทัพเรือไทยยังได้ดำเนินการตรวจสอบบนเรือประมงจำนวน 3,927 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2560 และสั่งระงับเรือประมง 110 ลำ มิให้เดินเรือ เนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้รายงานว่าการตรวจสอบดังกล่าวทำให้มีการระบุผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ผู้สังเกตการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชนก็ยืนยันว่าการตรวจสอบที่ท่าเรือและบนเรือของคณะทำงานสหสาขาวิชาชีพของศปมผ. ต่อหน้าไต้ก๋งหรือในที่โล่งแจ้ง เป็นไปอย่างรวดเร็วเกินไป และวิธีตรวจสอบท่าเรือแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน หรือบางครั้ง ก็ให้ล่ามตรวจสอบโดยไม่มีผู้ตรวจสอบแรงงาน นอกจากนี้ ในบางกรณี ก็มีการตรวจทานเอกสารเท่านั้น หรือผู้ตรวจสอบไม่ได้ลงเรือประมงหรือพูดคุยกับลูกเรือประมง เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมและข้าราชการแสดงความกังวลว่าการที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก บังคับใช้กฎระเบียบโดยเคร่งครัดไม่เท่ากัน ทำให้ไต้ก๋งเรือบางคนเลือกท่าเรือที่การตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหละหลวมกว่า องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งระบุว่าแรงงานถูกตอบโต้ หากรายงานต่อคณะตรวจสอบว่าตนถูกกระทำทารุณ และยืนยันว่าผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็ไม่ได้รายงานว่าถูกกระทำทารุณ เพื่อเลี่ยงการถูกส่งตัวไปยังสถานพักพิงเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินหรือปัญหาส่วนตัวได้ เมื่อ พ.ศ. 2560 คณะทำงานสหสาขาวิชาชีพของศปมผ.ตรวจสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 358 แห่งและพบการจ้างงานผิดกฎหมาย 142 กรณี รัฐบาลได้ออกคำสั่งทางปกครองให้ธุรกิจทั้งเก้าแห่งระงับการประกอบกิจการเป็นเวลา 10-30 วัน แต่ไม่ได้รายงานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้ามนุษย์กี่กรณี

รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ ซึ่งรวมถึงการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานซื้อบริการทางเพศจากเด็ก รัฐบาลรายงานว่าได้ปฏิเสธไม่ให้ชาวต่างชาติที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศจำนวน 74 คนเข้าประเทศ และก็ได้จัดทำและเผยแพร่วิดีโอบนเครื่องบินที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อลดการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แจกจ่ายโบรชัวร์มากกว่า 315,000 แผ่น เพื่อลดการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ให้แก่นักธุรกิจและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และได้จัดการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กับข้าราชการ แรงงานภาคการท่องเที่ยว นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และเจ้าหน้าที่จากองค์กรประชาสังคมทั้งหมด 800 คน

ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์

 ดังที่ได้รายงานเป็นเวลากว่าห้าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก อุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และงานรับใช้ตามบ้าน หรือถูกบังคับให้ขอทานตามถนนอุตสาหกรรมการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบังคับค้าประเวณี ผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชายและเด็กหญิงจากประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณีในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านของเหยื่อค้ามนุษย์จากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย และพม่า ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงานในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก

ชาวไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในไทยและในประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในไทยประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ เด็กจากไทย พม่า ลาว และกัมพูชาตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในธุรกิจทางเพศทั้งในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ เช่น จากการถูกค้ามนุษย์ บิดามารดาบางรายหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี พ.ศ. 2558 มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์และใช้เด็กมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม กรณีการค้ามนุษย์ การลักลอบนำบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศ การลักพาตัว และการขู่กรรโชกผู้อพยพเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้อพยพเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นักค้ามนุษย์ซึ่งรวมทั้งนายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำเหยื่อต่างชาติเข้าประเทศไทยผ่านเส้นทางอพยพที่เป็นทางการและเส้นทางที่ใช้ลักลอบนำชาวต่างด้าวเข้าประเทศ และดำเนินการเป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง นายหน้าจัดหางานบางรายคิดค่าบริการสูงหรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ทุจริต โดยที่แรงงานไทยและแรงงานอพยพบางรายต้องเป็นหนี้สินจำนวนมากเพื่อให้ได้งานทำและตกเป็นเหยื่อแรงงานขัดหนี้ มีรายงานว่า นายหน้าจัดหาแรงงานและนายจ้างบางรายยังคงยึดเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลของแรงงานไว้ ชายและหญิงไทยที่อพยพไปต่างประเทศพึ่งนายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหางานสัญญาจ้างทักษะต่ำหรืองานในภาคเกษตร และบางครั้งต้องตกอยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงานและแรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงยังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตกที่มีนัยสำคัญ ทั้งชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซียตกเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงของไทยและของต่างชาติ บางรายต้องทำงานบนเรือกลางทะเลนานหลายปีและได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยมากหรือไม่สม่ำเสมอ และต้องทำงานนานกว่า 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่ ถูกทุบตี ถูกวางยาให้ทำงานนานขึ้น หรือแม้แต่ถูกฆ่าตายเมื่อล้มเจ็บ พยายามหนี หรือขัดคำสั่ง เหยื่อค้ามนุษย์บางรายในภาคประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย

การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์โดยตรง ซึ่งรวมทั้งการรับสินบนหรือกู้ยืมเงินจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่ซึ่งเหยื่อถูกแสวงประโยชน์ มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณีและสถานบริการทางเพศจากการบุกตรวจค้นและการตรวจสอบ อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ แรงงานอพยพโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารเกรงกลัวที่จะรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์หรือให้ความร่วมมือกับทางการเนื่องจากขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีและไม่ค่อยได้รับความคุ้มครองทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นกำเนิด ตลอดจนมีความหวาดกลัวโดยทั่วไปต่อเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งอาจเกิดจากประเทศต้นกำเนิดหรือจากประสบการณ์ที่เคยประสบมาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกและแสวงประโยชน์จากแรงงานอพยพ ผู้อพยพเหล่านี้บางรายถูกลักพาตัวและถูกจับไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกแสวงประโยชน์โดยการถูกบังคับให้บริการทางเพศ ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือตกเป็นแรงงานขัดหนี้