จัดทำโดยสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน
รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2561
ประเทศไทย
รายงานสรุป
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงดำรงตำแหน่งองค์พระประมุข ในเหตุการณ์รัฐประหารโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อเมื่อ พ.ศ. 2557 ผู้นำฝ่ายทหารภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่โดยทั่วไปถือว่าเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม
คสช. ที่มีฝ่ายทหารเป็นผู้กำกับดูแลยังคงควบคุมหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานราชการทุกหน่วย
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการลงประชามติเมื่อ พ.ศ. 2559 รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ คสช. ยังคงทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองและมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้คำสั่ง คสช.ทุกฉบับ “เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและถูกต้องตามกฎหมาย” และจะมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกโดย คสช. คำสั่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายทหาร นายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ความคุ้มครองผู้นำรัฐประหารและเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาต่อการกระทำรัฐประหารหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารที่ดำเนินการภายใต้คำสั่งของ คสช. ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ความคุ้มครองนี้ยังคงมีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 พระราชกฤษฎีกาหลายฉบับที่ประกาศใช้โดย คสช. ที่จำกัดสิทธิพลเมือง อันรวมถึงเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพของสื่อยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เกือบตลอดทั้งปี คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกมาแทนกฎอัยการศึกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่รัฐบาลทหารในการควบคุม “การกระทำที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ” ในเดือนธันวาคมนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกคำสั่งห้ามการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงคำสั่งห้ามการชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารยังคงมีอำนาจคุมขังบุคคลได้นานสูงสุดเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายจับ
ปัญหาสิทธิมนุษยชนมีดังนี้ คือ การสังหารที่ผิดกฎหมายหรือตามอำเภอใจโดยรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของทางการ การจับกุมและคุมขังโดยพลการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การตรวจพิจารณาสื่อก่อนเผยแพร่ การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และการโฆษณาหมิ่นประมาททางอาญา การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายความมั่นคงของทางการในการรับมือกับการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และบางพื้นที่ของสงขลา การจำกัดการมีส่วนร่วมการทางการเมือง และการทุจริต
ทางการได้ดำเนินขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ซึ่งต่อไปในรายงานฉบับนี้จะเรียกว่า “พระราชกำหนดฉุกเฉิน”) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนและโจมตีฝ่ายความมั่นคงของรัฐและเป้าหมายที่เป็นพลเรือน
หมวดที่ 1. การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจาก:
ก. การสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมายหรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง
มีรายงานว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ได้สังหารผู้ต้องสงสัย 12 ราย ขณะดำเนินการจับกุมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นจำนวนที่ลดลงจาก 16 รายในปี 2560
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาความผิดของกองทัพ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านตรวจในตำบลเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ผู้มีชื่อเสียงเสียชีวิตในเดือนมีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่า นายชัยภูมิมียาเสพติดในครอบครอง และพยายามใช้ระเบิดมือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ศาลได้ส่งต่อคดีให้กับอัยการเพื่อหาผู้รับผิดชอบ สมาชิกชุมชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นตั้งคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบของกองทัพในการสังหารครั้งนี้ เนื่องจากองทัพไม่ได้ยื่นภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีอยู่เพื่อเป็นหลักฐานให้กับทางศาล นอกจากนี้ ยังเรียกให้มีการตรวจสอบหาความจริงของเหตุการณ์นี้อย่างโปร่งใสและถี่ถ้วน
มีรายงานการสังหารที่กระทำโดยทั้งรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวดที่ 1.ช.)
ข. การหายสาบสูญ
ไม่มีรายงานการหายสาบสูญโดยหรือในนามของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน คดีดังหลายคดีจากปีก่อนๆ ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย ในเดือนมิถุนายน กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดให้มีการสืบสวนสอบสวนการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ขึ้นอีกครั้ง
ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีอื่นๆ
รัฐธรรมนูญระบุว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดฉุกเฉินให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากการกระทำในระหว่างปฏิบัติตามหน้าที่ นับจนถึงเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ มีสามอำเภอที่ได้รับการยกเว้นจากพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก่ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมีนาคม 2561 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในเดือนมิถุนายน 2561 และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ในเดือนมกราคม 2554
ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรด้านกฎหมายรายงานว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อให้รับสารภาพ และหนังสือพิมพ์รายงานคดีหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ใช้ความรุนแรง ในเดือนกรกฎาคม นายซายูตี สาเละ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลังจากอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจมายอ ทำร้ายร่างกายเพื่อให้ยอมรับสารภาพว่ามียาเสพติดในครอบครอง
มีรายงานจำนวนมากระบุว่า มีการกระทำเหยียดหยามให้อับอายและทารุณทางกายในหน่วยทหาร พลทหารคชา พะชะ ทหารเกณฑ์ อายุ 22 ปี เสียชีวิตในวันที่ 14 กันยายน หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลาสามสัปดาห์เนื่องจากถูกพลทหารรุ่นพี่สามนายซ้อมที่ค่ายทหารในจังหวัดลพบุรี พันโท มนต์ชัย ยิ้มอยู่ ผู้บังคับกองพันทหาร ยอมรับความรับผิดชอบในเหตุการณ์เสียชีวิตดังกล่าว คดีพลทหารสามนายที่ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรมกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร สำนักข่าวรายงานว่า มีทหารเกณฑ์อีกสองนายเสียชีวิตในระหว่างปี
สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน
เรือนจำและสถานกักกันต่างๆ อันได้แก่ สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและศูนย์กักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ยังคงมีสภาพไม่ค่อยดีและส่วนใหญ่แออัดมาก กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสภาพเรือนจำ ในขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดูแลสภาพของศูนย์กักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
รัฐบาลทหารกักขังผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนบางรายที่สถานกักกันของทหาร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทยระบุว่า พลเรือนอย่างน้อยสองรายถูกกักกันอยู่ที่เรือนจำของมลฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งชายที่ถูกตั้งข้อหาวางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ที่มีคนพลุกพล่านในกรุงเทพฯ ขณะนี้ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่ารับสารภาพเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่
สภาพเรือนจำและสถานกักกัน: มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันสูงกว่าความสามารถรองรับได้ประมาณร้อยละ 60 ณ วันที่ 1 สิงหาคม มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันราว 359,500 คน แต่สถานที่ถูกออกแบบให้รองรับจำนวนผู้ต้องขังได้สูงสุดเพียง 210,000 ถึง 220,000 คน
เรือนจำและสถานกักกันบางแห่งมีสถานที่นอนไม่เพียงพอ และยังคงมีรายงานว่ามีสภาพแออัดมากและอากาศถ่ายเทไม่ดี และปัญหาที่ร้ายแรงคือ การขาดบริการทางการแพทย์ บางครั้งทางการจะส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ
ประมาณร้อยละ 18 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป บ่อยครั้งรัฐบาลคุมขังผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในค่ายทหารหรือสถานีตำรวจมากกว่าในเรือนจำ
องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า ในบางครั้งทางการควบคุมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้อง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทางการควบคุมเยาวชนอายุเกิน 14 ปีรวมกับผู้ใหญ่
ตามกฎหมาย ทางการสามารถกักกันบุคคลและบุตรธิดาในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลาหลายปีได้ เว้นแต่ว่าพวกเขาจะจ่ายค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศตนเอง องค์กรพัฒนาเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อยุติการคุมขังเด็กที่วีซ่าหมดอายุและใช้ทางเลือกอื่นแทน เช่น การปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขให้คุมประพฤติ และการไม่ควบคุมตัวและจัดที่อยู่อาศัยในชุมชนให้ในระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาสถานะวีซ่า องค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ รายงานว่า มีการร้องทุกข์โดยเฉพาะจากชาวมุสลิมในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า มีอาหารฮาลาลไม่เพียงพอ
บางครั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำใช้มาตรการขังเดี่ยวเพื่อลงโทษนักโทษชายที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำเป็นประจำหรือที่เป็นภัยต่อผู้อื่น ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้ตรวนขาที่มีน้ำหนักมากกับนักโทษที่เห็นว่ามีแนวโน้มจะหลบหนีหรือที่อาจเป็นอันตรายต่อนักโทษคนอื่น
สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า มีบุคคลเสียชีวิตภายใต้การคุมขังของทางการจำนวน 536 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2560 จนถึงเดือนสิงหาคม ในจำนวนนี้ 21 รายอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ และ 515 รายอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ทางการระบุว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติ สื่อรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน มีผู้ต้องขังหนึ่งรายเสียชีวิตจากทำร้ายร่างกาย
การดำเนินการของเรือนจำ: ทางการอนุญาตให้นักโทษและผู้ต้องขัง หรือผู้แทนของนักโทษและผู้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาก่อน แต่ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อฝ่ายตุลาการได้โดยตรง ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนหรือคำร้องทุกข์ที่ได้รับจากนักโทษและให้คำแนะนำแก่กรมราชทัณฑ์ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการในนามของนักโทษ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในคดี ยกเว้นแต่จะได้รับคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า ทางการไม่ค่อยสอบสวนคำร้องเรียนและไม่ประกาศผลการสอบสวนให้สาธารณชนทราบ
ศูนย์กักกันภายใต้การบริหารจัดการโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งขึ้นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายข้อที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป
การตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ: รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย เข้าเยี่ยมสังเกตการณ์เรือนจำได้ รวมถึงการเข้าเยี่ยมนักโทษโดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย และยังสามารถเข้าเยี่ยมได้อีกหลายครั้ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ไม่มีการตรวจสอบระบบทัณฑสถานจากหน่วยงานภายนอกหรือต่างประเทศ รวมถึงเรือนจำทหาร เช่น เรือนจำในมณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร องค์กรระหว่างประเทศรายงานว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางทหารและตำรวจเกี่ยวกับมาตรฐานสากลว่าด้วยการดำเนินงานของตำรวจและการใช้อำนาจของตำรวจ
ผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังบางรายที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศเพื่อให้บริการและดำเนินการโยกย้ายถิ่นฐาน
ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ
คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารในการกักกันบุคคลได้สูงสุดเจ็ดวันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาหรือมีการพิจารณาในศาล และเจ้าหน้าที่ทหารมักใช้อำนาจนั้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนรายงานว่า รัฐบาลทหารเรียกตัว จับกุม และกักขังบุคคลราว 2,000 คนนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 โดยก่อนปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารมักให้ผู้ถูกกักขังลงนามในเอกสารยืนยันว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างดี และจะละเว้นจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และจะขออนุญาตทางการก่อนเดินทางออกนอกพื้นที่ กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทางการมักไม่อนุญาตให้ญาติพี่น้องหรือทนายเข้าพบผู้ต้องขัง
พระราชกำหนดฉุกเฉินซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่กักกันอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้นานสูงสุด 30 วัน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวดที่ 1. ช.)
บทบัญญัติในพระราชกำหนดฉุกเฉินทำให้ยากแก่การร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งการกักขัง พระราชกำหนดฉุกเฉินระบุว่า ผู้ถูกกักขังมีสิทธิที่จะมีทนายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีหลักประกันว่าผู้ถูกกักขังจะได้พบทนายหรือญาติพี่น้องทันที และไม่มีมาตรการที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการทารุณผู้ถูกกักขัง นอกจากนี้ พระราชกำหนดฉุกเฉินระบุว่า เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย
บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องมือรักษาความมั่นคง
กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเหนือหน่วยงานพลเรือนซึ่งรวมถึงตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 13/2559 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2559 ให้อำนาจแก่ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยโทขึ้นไปมีอำนาจเรียกให้บุคคลมารายงานตัว จับกุมตัว และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ดำเนินการตรวจค้น ตรวจยึดทรัพย์สิน ระงับธุรกรรมทางการเงิน และห้ามบุคคลเดินทางออกนอกประเทศในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความผิดอาญา 27 ประเภท อันรวมถึง การกรรโชกทรัพย์ การค้ามนุษย์ โจรกรรม การปลอมเอกสาร การฉ้อฉล การหมิ่นประมาท การพนัน การค้าประเวณี และการผิดกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน นอกจากนี้ คำสั่งยังให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทหารให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ทางปกครอง ทางแพ่ง และทางวินัยจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่ “กระทำโดยสุจริต”
ตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและความรับผิดชอบพิเศษในการต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ต้องขังและนักโทษ และโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องถูกลงโทษ ผู้ที่ต้องการร้องเรียนการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องเรียนได้โดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ถูกกล่าวหา สำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มีคำร้องเรียนเพียงส่วนน้อยที่ท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่การลงโทษตำรวจผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด แต่มีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมากที่การสอบสวนการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานหลายปีโดยที่ยังไม่มีข้อสรุป กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ “การดำเนินการอย่างฉาบฉวย” ของการสอบสวนของตำรวจและทางกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงถูกกล่าวหาว่าทรมานหรือกระทำทารุณอื่นๆ และไม่ได้ดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุคคลระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการอย่างเพียงพอ
ในเดือนเมษายน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการเสียชีวิตของนายพัฒนชิรพงฐ์ บุญญะเสมา ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการหลังจากผลการชันสูตรศพแสดงให้เห็นว่ามีร่องรอยการทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่เรือนจำรายงานว่า ผู้ต้องขังถูกทำโทษเนื่องจากขายยาเสพติดในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ยังคงดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวต่อไป
กระทรวงกลาโหมกำหนดให้ข้าราชการทหารเข้ารับการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการจัดฝึกอบรมตามปกติในหลายระดับ รวมทั้งข้าราชการสัญญาบัตร ข้าราชการชั้นประทวน และทหารเกณฑ์ อีกทั้งข้าราชการทหารที่ออกปฏิบัติงานสนับสนุนการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับการอบรมพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการอบรมรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องลงเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน
ขั้นตอนการจับกุมและการปฏิบัติต่อบุคคลขณะถูกคุมขัง
กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุม โดยมีข้อยกเว้นบางกรณีเท่านั้น แต่คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 อนุญาตให้คุมขังบุคคลได้นานสูงสุดเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายจับ ในการออกหมายจับนั้น ศาลมักมีแนวโน้มที่จะอนุมัติออกหมายจับตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อหาให้บุคคลที่ถูกจับกุมทราบทันทีที่เข้าจับกุม และต้องอนุญาตให้บุคคลผู้นั้นแจ้งผู้ใดผู้หนึ่งเรื่องที่ตนถูกจับกุมได้
กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหารสามารถติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ให้ผู้ถูกคุมขังติดต่อทนายความ
ทั้งศาลยุติธรรมและกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรมจัดทนายอาสาให้แก่ผู้คุมขังที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม ศาลยุติธรรมจัดหาทนายความให้แก่จำเลยผู้ใหญ่ 16,357 รายและจำเลยเยาวชน 14,383 ราย ทั้งนี้ ระหว่างเดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม กระทรวงยุติธรรมจัดหานักกฎหมายให้แก่จำเลย 1,863 รายด้วยกัน
กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการขอประกันตัว และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว เว้นแต่คดีที่พิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงการละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) ด้วย
การจับกุมตามอำเภอใจ: คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้ทหารมีอำนาจคุมขังบุคคลโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้สูงสุดเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีการพิจารณาโดยศาล พระราชกำหนดฉุกเฉินให้อำนาจทางการในการคุมขังบุคคลได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา (ดูหมวดที่ 1. ช.) เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ดำเนินการคุมขังนักการเมือง นักวิชาการ นักข่าว และบุคคลอื่นหลายรายโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ทหารคุมขังบุคคลส่วนใหญ่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีบางรายที่ถูกคุมขังนานสูงสุดเจ็ดวัน
การคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี: ในกรณีปกติทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อสอบสวนคดีได้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม ทนายความรายงานว่า ตำรวจแทบจะไม่ส่งสำนวนคดีต่อศาลภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุดน้อยกว่าสามปีอยู่ภายใต้อำนาจรับผิดชอบของศาลแขวง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างออกไปและกำหนดให้ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีให้อัยการภายในเวลาระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังจากการจับกุม จากรายงานของสภาทนายความแห่งประเทศไทย การคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อรอการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานานถึง 60 วันถือเป็นเรื่องปกติ
ก่อนการตั้งข้อกล่าวหาและการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่อาจคุมขังบุคคลได้นานสูงสุดถึง 84 วัน (สำหรับคดีร้ายแรงที่สุด) โดยศาลจะพิจารณาทบทวนทุกเจ็ดวัน หลังจากการตั้งข้อกล่าวหาและตลอดช่วงการพิจารณาคดี การคุมขังอาจกินเวลานานถึงหนึ่งปีไปจนถึงสองปีก่อนที่จะมีการตัดสินคดี และอาจนานถึงหกปีก่อนที่ศาลสูงสุดจะพิจารณาเรื่องฎีกา ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการดำเนินการฟ้องร้อง ความพร้อมในการสู้คดี จำนวนคดีที่ศาลรับผิดชอบ และลักษณะของหลักฐาน
สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการค้านแย้งต่อศาลว่าการควบคุมตัวนั้นถูกกฎหมายหรือไม่: ในกรณีส่วนใหญ่ บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยตำรวจมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลพิจารณาการควบคุมตัวของตนภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง บุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลพิจารณาการควบคุมตัวของตนภายในเจ็ดวัน ทั้งนี้ หากศาลพบว่าบุคคลนั้นถูกควบคุมตัวโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (เกินกว่า 48 ชั่วโมงหรือเจ็ดวัน) บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับสินไหมทดแทน
จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเคารพความเป็นอิสระและความเป็นกลางของฝ่ายตุลาการ แม้ว่าจะมีคำสั่ง คสช. ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการแสดงความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับ คสช. ต่อสาธารณชนก็ตาม อย่างไรก็ดี ยังมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 (มาตรา 279) ซึ่งให้อำนาจกับ คสช. ในการแทรกแซงเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ “ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ”
กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของ คสช. ที่มีต่อกระบวนการตุลาการอันเป็นกระบวนการอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีกับพลเรือนบางรายในศาลทหาร และการใช้กระบวนการตุลาการเพื่อลงโทษบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ขั้นตอนการพิจารณาคดี
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ให้สิทธิแก่บุคคลในการได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระเป็นฝ่ายใช้บังคับกฎหมายตามสิทธิที่ว่านี้ ยกเว้นในบางคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กฎหมายให้ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ การพิจารณาความผิดลหุโทษใช้ผู้พิพากษาคนเดียวตัดสิน ส่วนความผิดในคดีที่ร้ายแรงกว่านั้นต้องใช้ผู้พิพากษาสองคนหรือมากกว่า ส่วนใหญ่แล้วการพิจารณาคดีจะเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาคดีโดยลับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ราชวงศ์ เยาวชน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
จำเลยที่ถูกพิจารณาคดีในศาลอาญาธรรมดาจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งรวมถึงการเลือกทนายด้วยตนเอง การรับทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาอย่างรวดเร็ว การใช้ล่ามโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ (หากจำเป็น) สิทธิในการปรากฏตัวต่อศาล สิทธิที่จะได้รับเวลาและมีสถานที่อย่างเพียงพอในการเตรียมต่อสู้คดี นอกจากนี้ จำเลยยังมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือสารภาพผิด หรือเผชิญหน้ากับพยาน นำเสนอพยาน และขออุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ทางการไม่ได้จัดหาทนายโดยอัตโนมัติให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐเสมอไป และมีการกล่าวหาว่าทางการไม่ได้ให้สิทธิทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแก่จำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเล็กๆ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล
คำสั่ง คสช. พ.ศ. 2557 กำหนดให้เปลี่ยนเขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดีในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ การก่อการจลาจล การยุยงปลุกปั่น ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และการละเมิดคำสั่งของ คสช. จากเดิมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาให้ไปอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ต่อมาในปี 2559 คสช. มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว และกำหนดว่าการกระทำความผิดทางอาญาของพลเรือนจะไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารอีกต่อไปนับตั้งแต่วันที่ประกาศยุติ ข้อมูลจากสำนักงานพระธรรมนูญทหารระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารได้เริ่มดำเนินคดีทั้งหมด 1,728 คดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับจำเลยที่เป็นพลเรือนอย่างน้อย 2,211 ราย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการละเมิดมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) การยุยงปลุกปั่น การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม มีคดีพลเรือนประมาณ 278 คดี ที่ยังคงรอการพิจารณาคดีโดยศาลทหารอยู่
ศาลทหารไม่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่จำเลยที่เป็นพลเรือนเหมือนอย่างที่ศาลอาญาพลเรือนให้ความคุ้มครอง ศาลทหารไม่ให้สิทธิพลเรือนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ในการที่จะได้รับการไต่สวนคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยโดยศาลที่มีสมรรถภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่กฎอัยการศึกมีผลบังคับใช้นั้นไม่มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์
นักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง
คสช. กักกันตัวบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เป็นประจำ (ดูหมวดที่ 1.ง.) กรมราชทัณฑ์รายงานว่า ณ เดือนสิงหาคม มีบุคคล 128 รายที่ถูกกักกันหรือจำคุกในประเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวดที่ 2.ก.) กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวอ้างว่า บุคคลหลายรายถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ณ เดือนธันวาคม ไม่มีการดำเนินคดีใหม่ๆ ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปีนี้ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทยรายงานว่า ศาลยกฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดี แต่ดำเนินคดีบุคคลภายใต้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แทน (ดูหมวดที่ 2.ก.)
ขั้นตอนและการเยียวยาคดีความแพ่ง
กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลและหน่วยงานฝ่ายปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเคารพสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดฉุกเฉินที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดไว้ว่า ศาลปกครองหรือกระบวนการทางแพ่งหรืออาญาไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ แต่ผู้เสียหายอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้จากหน่วยงานรัฐ
ฉ. การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการและมิชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 และพระราชกำหนดฉุกเฉินให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงในการตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ใช้อำนาจดังกล่าวเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ชายแดนอื่นๆ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้มีขั้นตอนการค้นหาและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล “ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” “เป็นเท็จ” หรือ “บิดเบือน” (ดูหมวดที่ 2.ก.) พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการขอและบังคับให้มีการลบข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้ ในระหว่างปีมีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจดังกล่าวในทางมิชอบ
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารคุกคามคนในครอบครัวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าต่อต้าน คสช. ซึ่งรวมถึงบิดามารดาของนักศึกษาที่ออกมาประท้วงต่อต้าน คสช. ครอบครัวของผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน และผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย (ดูหมวดที่ 2 ข.)
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นที่สร้างความขัดแย้ง ซึ่งรวมไปถึงบุคคลที่เป็นชาวต่างชาติด้วย
ช. การใช้อำนาจในทางมิชอบอื่นๆ ในการจัดการปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ
ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูยังคงดำเนินต่อไป การโจมตีโดยผู้ก่อความไม่สงบและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ผ่านมาได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและชาวไทยพุทธในพื้นที่
พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางพื้นที่ของสงขลา ให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ตลอดจนมอบหมายอำนาจด้านการรักษาความมั่นคงภายในบางประการแก่กองทัพ พระราชกำหนดฉุกเฉินยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในปี 2549 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การสังหาร: กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองกำลังของรัฐบาลว่ากระทำการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุว่า มีคดีที่ได้รับรายงานที่เกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรมโดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดสองคดีด้วยกันนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มด้วยใจระบุข้อมูล ณ เดือนกันยายน ว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงห้าคดี โดยมีผู้ต้องสงสัยเจ็ดรายเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐยืนกรานว่าผู้ต้องสงสัยในแต่ละคดีขัดขืนการจับกุม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังรุนแรงจนถึงแก่ความตาย ซึ่งครอบครัวของผู้ต้องสงสัยและกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาโต้แย้งประเด็นข้ออ้างดังกล่าว
ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ณ เดือนกรกฎาคมระบุว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น 341 ครั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 126 รายและได้รับบาดเจ็บ 182 ราย นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,828 รายและได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 13,429 รายจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นประมาณ 19,956 ครั้งในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ศูนย์เฝ้าระวังฯ ไม่ได้จำแนกว่าเหตุรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจากผู้ก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือกลุ่มอาชญากร และเช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักมุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงข้าราชการอำเภอและเทศบาล ทหาร และตำรวจ โดยใช้ระเบิดและการซุ่มยิง
อาสาสมัครป้องกันดินแดนที่เป็นพลเรือนได้รับการอบรมพื้นฐานและรับแจกอาวุธจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐ องค์กรสิทธิมนุษยชนยังคงมีข้อกังวลว่าอาสาสมัครป้องกันดินแดนและพลเรือนอื่นๆ จะลงโทษบุคคลโดยพลการ
แม้ว่าระดับความรุนแรงจะลดลงในภาพรวม ผู้ก่อความไม่สงบยังคงก่อเหตุโจมตีที่ทำให้พลเรือนบาดเจ็บและเสียชีวิต ผู้ก่อความไม่สงบได้ก่อเหตุโจมตีพลเรือนหลายครั้งในทันทีหลังจากสิ้นเดือนถือศีลอด ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ถึง 5 กรกฎาคม มีรายงานการโจมตีโดยใช้ระเบิดในจังหวัดยะลา ทำให้ชาวสวนยางห้าคนได้รับบาดเจ็บร้ายแรง
การทารุณกรรมทางกาย การลงโทษ และการทรมาน: องค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นรายงานว่า ยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องหาก่อความไม่สงบว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทรมานร่างกายในขณะถูกคุมขัง องค์กรเหล่านี้ระบุว่า การหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งขึ้นเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเข้าพบผู้ต้องหาในสถานที่ควบคุมตัว องค์กรสิทธิมนุษยชนยังคงยืนยันว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นการกระทำตามอำเภอใจและเกินกว่าเหตุ องค์กรเหล่านั้นยังวิจารณ์สภาพแออัดของสถานที่กักกันด้วย
กฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อนุญาตให้ควบคุมตัวบุคคลได้สูงสุดเจ็ดวันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาและไม่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลหรือหน่วยงานของรัฐ พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในพื้นที่เดียวกันอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและคุมขังผู้ต้องหาเพิ่มได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และหลังจากครบกำหนดระยะเวลานี้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มคุมขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใต้กฎหมายอาญาปกติ ซึ่งจะแตกต่างจากการคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกตรงที่ต้องให้ศาลอนุมัติ แม้องค์กรสิทธิมนุษยชนจะร้องเรียนว่าศาลไม่ใช้อำนาจในการพิจารณาการคุมขังเสมอไป
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้รายงานว่า จนถึงเดือนสิงหาคม ทางการจับกุมตัวบุคคล 103 รายตามหมายศาลภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน ในจำนวนนี้ มีผู้ได้รับการปล่อยตัว 56 ราย ถูกดำเนินคดี 43 ราย และกักขังเพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม 4 ราย นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ได้ใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีต่อจำเลยที่เป็นพลเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การกระทำมิชอบอื่นๆ ที่เนื่องมาจากความขัดแย้ง: ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม มีครูหนึ่งคนเสียชีวิตและนักเรียนหกคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐบาลมักแจกอาวุธแก่อาสาสมัครพลเรือนป้องกันดินแดนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู จัดกำลังป้องกันโรงเรียนและวัดพุทธ และจัดทหารคุ้มกันพระสงฆ์และครู
หมวดที่ 2 การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อันประกอบด้วย:
ก. เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน
คำสั่งของ คสช. ที่จำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งครอบคลุมอย่างกว้าง ที่ประกาศใช้หลังรัฐประหารปี 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เมื่อสิ้นปี เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ระงับงานของสื่อมวลชนบางช่องทาง ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต และจับกุมผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง นอกจากการจำกัดอย่างเป็นทางการเรื่องการพูดและการตรวจพิจารณาสื่อก่อนเผยแพร่แล้ว การกระทำของ คสช. ยังส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนตรวจตราเนื้อหาของตนเองมากขึ้นก่อนเผยแพร่ คสช. ยังห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่ คสช. เห็นว่าอาจเป็นภัยต่อ คสช. หรือ “ก่อให้เกิดความขัดแย้ง” ในประเทศ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: คสช. จำกัดขอบเขตเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็นโดยใช้กฎข้อบังคับและบทบัญญัติทางอาญาหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการข่มขู่ผู้พูด การตรวจสอบการพบปะชุมนุม และการขู่ว่าจะดำเนินคดีหรือจับกุม
มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (“กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ”) กำหนดว่าการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีต่อความผิดหนึ่งกระทง รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีกับใครก็ตามที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือราชวงศ์ด้วยวิธีใดก็ตาม กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้หากพบเห็นผู้ใดกระทำการดังกล่าว สำนักอัยการสูงสุดออกคำสั่งประกาศในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ว่าอำนาจการตัดสินดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นของอัยการสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว ก่อนหน้านี้ อัยการอาจพิจารณาตัดสินได้ด้วยว่าจะดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่
ณ เดือนกันยายน ยังไม่มีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีใหม่ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม รัฐบาลออกหมายเรียกอย่างน้อยหนึ่งฉบับภายใต้มาตรา 112 ในกรณีเยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยนางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ ถูกกล่าวหาว่าแชร์พระราชประวัติจากเว็บไซต์บีบีซีบนเพจเฟสบุ๊ค ทั้งนี้ ไม่มีการฟ้องร้องเนื่องจากมีรายงานว่านางสาวชนกนันท์ได้เดินทางออกนอกประเทศก่อนที่จะถูกจับกุมและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ
รัฐบาลดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในชั้นศาลโดยไม่เปิดเผยและไม่อนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาสู่สาธารณชน นอกจากนี้ รัฐบาลมักดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในศาลทหารซึ่งให้สิทธิและการคุ้มครองจำเลยพลเรือนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีคำสั่ง คสช. ที่ประกาศใช้ในเดือนกันยายน 2559 ที่ยุติการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดมาตรา 112 ในศาลทหารสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นหลังจากวันดังกล่าว (ดูหมวดที่ 1.จ.) องค์กรและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบในแง่ลบของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แม้ว่าสถิติทางการของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมากหลังจากรัฐประหารปี 2557 จากข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นชื่อว่าโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน พบว่า ณ เดือนกันยายน มีการยื่นฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีใหม่ทั้งสิ้น 94 คดีนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ในจำนวนนี้ มีคดีที่ผู้ต้องหากระทำความผิดที่ถูกกล่าวอ้างก่อนรัฐประหารปี 2557 แต่ทางการไม่ได้ดำเนินคดีจนกระทั่งหลังรัฐประหาร ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า จนถึงเดือนสิงหาคม ทางการคุมขังผู้ละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว 128 ราย (รวมผู้ต้องโทษจำนวนหนึ่งในความผิดฐานทุจริตภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ)
ในเดือนมกราคม ศาลจังหวัดยะลาได้ตัดสินจำคุกนางสาวนูรฮายาตี มะเสาะ หญิงผู้พิการทางสายตา อายุ 23 ปี เป็นเวลาสามปี จากการแชร์บทความที่ถือว่าหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์บนเพจเฟสบุ๊ค แต่เพราะให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน ต่อมานางสาวนูรฮายาตีได้ยื่นอุทธรณ์และได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม นางสาวนูรฮายาตีถูกจับกุมอีกครั้งในเดือนมีนาคมหลังจากแชร์คลิปเสียงหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์บนเพจเฟสบุ๊คของตน โดยศาลอาญากรุงเทพใช้เวลาพิจารณาคดีหนึ่งวัน และตัดสินจำคุกนางสาวนูรฮายาตีเป็นเวลาสองปี ฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทยรายงานว่า นายนที สุวัจนานนท์ ถูกจับกุมในปีนี้ด้วยข้อหาโพสต์แสดงความคิดเห็นทางออนไลน์เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2559 และนำไปขึ้นศาลทหารเพื่อคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน อัยการศาลทหารออกคำสั่งไม่ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และส่งคดีกลับไปให้กับตำรวจ จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นขอคุมขังนายนที ระหว่างรอการพิจารณาคดีในศาลพลเรือน ส่งผลให้อัยการตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 แทนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นวิธีดำเนินคดีที่มักจะทำมากขึ้นเรื่อยๆ
เสรีภาพของสื่อมวลชน: สื่ออิสระปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องแต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการทำหน้าที่อย่างเสรีหลายประการ สื่อมวลชนหลายรายรายงานข้อกังวลเกี่ยวกับคำสั่งของ คสช. ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพสื่อและระงับการปฏิบัติงานชั่วคราวของสื่อโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลได้
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐบาลเป็นเจ้าของและควบคุมกิจการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย (TBJA) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ คสช. ระงับการออกกฎหมายที่อาจส่งผลต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน นอกจากนี้ ยังเรียกให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งเสริมให้มีการปฏิรูปสื่อกระจายเสียงโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล
เมื่อเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งปิดงานเสวนาที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดขึ้นเพื่ออภิปรายเรื่องการเอาผิดเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของพม่าในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งกองกำลังทหารกระทำต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อื่นๆ รายงานของสื่อมวลชนระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 12 นายเดินทางไปยังสโมรสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานก่อนกำหนดเวลาและสั่งไม่ให้ผู้ร่วมเวทีเสวนาขึ้นอภิปราย
ความรุนแรงและการคุกคาม: เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลกล่าววิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนอยู่เป็นประจำ มีรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างเปิดเผย รวมทั้งไปพบหรือตรวจตราที่บ้านหรือสถานที่ทำงานของบุคคลนั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านสื่อยังร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกคุกคามและเฝ้าสังเกตการณ์
ในเดือนเมษายน มีรายงานว่าฝ่ายบริหารของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี (PPTV) กดดันให้ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีลาออกหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารปรากฏตัวที่สถานีบ่อยครั้ง เนื่องจากผู้สื่อข่าวรายงานข่าวกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกกล่าวหาว่าทุจริต
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม รัฐบาลแจ้งเตือนผู้สื่อข่าวว่าจะทำการจับกุมหากผู้สื่อข่าวไม่สวมปลอกแขนสื่อมวลชนที่ทางการผลิตมาแจก เมื่อทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ว่า สมาคมฯ ไม่ทราบเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติใหม่นี้ และแนะนำให้สมาชิกสื่อมวลชนปฏิบัติตามขั้นตอนปกติและแสดงบัตรประจำตัวสื่อมวลชน
การตรวจพิจารณาสื่อก่อนเผยแพร่ หรือการจำกัดเนื้อหา: คสช. ระงับเนื้อหาที่พิจารณาว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือคุกคามต่อ คสช. อีกทั้งสื่อจำนวนมากตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2559 ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการระงับชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ดำเนินกิจการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารโดยใช่เหตุ ทั้งนี้ ทางการเฝ้าตรวจสอบข้อมูลที่สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอ รวมทั้งสื่อต่างชาติด้วย
ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหญิงสามคนในข้อหามีเสื้อยืดที่มีสัญลักษณ์ขนาดเล็กอันเป็นตราสัญลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์และต่อต้าน คสช. ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยกลุ่มดังกล่าวสนับสนุนให้นำสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกจากธงไตรรงค์ของไทย
พระราชกำหนดฉุกเฉิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อำนาจกับรัฐบาลในการ “ห้ามการตีพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจสร้างความตื่นตระหนก หรือมีเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูล” และยังให้อำนาจในการตรวจกรองข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอีกด้วย
กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท: ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (6,015 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกินสองปี บุคคลในแวดวงทหารและนักธุรกิจฟ้องร้องนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม นักข่าว และนักการเมืองฐานหมิ่นประมาททางอาญาและโฆษณาหมิ่นประมาท
มีคดีหมิ่นประมาทที่เป็นที่สนใจหลายคดีที่ยื่นฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ. รมน.) แจ้งความดำเนินคดีกับนายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ข้อหาหมิ่นประมาทในกรณีที่นายอิสมาแอปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์เพื่อเล่าประสบการณ์การถูกเจ้าหน้าที่ทหารทรมานขณะถูกคุมตัวในปี 2551
ความมั่นคงของชาติ: คำสั่ง คสช. หลายฉบับภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งต่อมายังคงมีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ให้อำนาจรัฐในการจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สมาคมสื่อต่างๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ ซึ่งพวกเขามองว่าขาดเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนในการตัดสินว่าสิ่งใดเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม กสทช. สั่งพักใบอนุญาตออกอากาศช่องพีซทีวี (Peace TV) ซึ่งเป็นช่องที่ดำเนินการโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 30 วัน ฐานออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาคุกคามความมั่นคงของชาติและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย (TBJA) ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ กสทช. ทบทวนการตัดสินใจในการระงับการออกอากาศช่องพีซทีวี
เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต
รัฐบาลยังคงจำกัดและขัดขวางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตลอดจนตรวจสอบเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ มีรายงานว่า รัฐบาลเฝ้าสังเกตการณ์การสื่อสารออนไลน์ส่วนบุคคลโดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่เหมาะสม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อนุญาตให้ทางการลงโทษจำคุกสูงสุดห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท (3,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อผู้กระทำผิดฐานลงข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความมั่นคงของรัฐ ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอิงจากคำนิยามที่คลุมเครือ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานทุกรายเป็นเวลา 90 วันเพื่อใช้ในกรณีที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นชอบหรือจงใจสนับสนุนการลงเผยแพร่ข้อความผิดกฎหมายก็จะถูกลงโทษด้วย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ทางการต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนี้เสมอไป นักเคลื่อนไหวด้านสื่อวิจารณ์ว่า กฎหมายนี้ให้คำจำกัดความการกระทำความผิดไว้กว้างเกินไปและบทลงโทษบางบทก็รุนแรงเกินไป
โดยทั่วไปแล้ว บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นโดยสันติได้ทางอินเทอร์เน็ต แม้ว่ายังคงมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาหลายประการ ซึ่งรวมถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภาพลามกอนาจาร การพนัน และการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.
ภาคประชาสังคมรายงานว่า ทางการใช้การดำเนินคดีหรือขู่ว่าจะดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พรบ. คอมพิวเตอร์) เป็นเครื่องมือในการระงับการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน มีผู้ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นและกระทำผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ จำนวน 57 ราย ในวันที่ 24 สิงหาคม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินคดีสมาชิกพรรคการเมืองสามรายฐานละเมิด พรบ. ดังกล่าว ในกรณีที่เผยแพร่วิดีโอไลฟ์เฟสบุ๊คขณะผู้นำคนหนึ่งของพรรคกำลังวิจารณ์นักการเมืองที่ย้ายพรรคว่าเป็นผู้สนับสนุน คสช. หากว่าถูกตัดสินว่าผิดจริง บุคคลเหล่านี้อาจต้องถูกจำคุกเป็นเวลาห้าปี
รัฐบาลสอดส่องอย่างใกล้ชิดและปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์หลายพันแห่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การดำเนินคดีต่อนักข่าว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฐานหมิ่นประมาททางอาญาและยุยงปลุกปั่นจากการลงเนื้อหาออนไลน์นั้นสร้างบรรยากาศของการตรวจสอบตัวเองมากยิ่งขึ้น เว็บบอร์ดและกระดานสนทนาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากคอยสอดส่องข้อความสนทนาและตรวจสอบเนื้อหาของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิดกั้น หนังสือพิมพ์ระงับหรือจำกัดการเข้าถึงพื้นที่แสดงความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นประมาท นอกจากนี้ กสทช. ยังชักจูงผู้ให้บริการเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตต่างชาติลบหรือตรวจสอบเนื้อหาของตนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีการเผยแพร่ในประเทศ ผู้ให้ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเปิดเผยรหัสผ่านที่เข้าใช้บัญชีส่วนตัวในสื่อสังคมออนไลน์
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ แจ้งความดำเนินคดีนิตยสารท้องถิ่นฉบับหนึ่งในข้อหาละเมิด พรบ. คอมพิวเตอร์ ฐานเผยแพร่ภาพของศิลปินเยาวชนขณะวาดภาพพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตสามพระองค์สวมหน้ากากกันมลพิษเพื่อเรียกร้องให้เกิดความสนใจปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ โดยอ้างว่าภาพดังกล่าวสะท้อนภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในด้านลบ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทางการเชียงใหม่ได้ถอนคำร้องในเดือนกันยายน
ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางในเขตเมือง ซึ่งรวมถึงโครงการของรัฐบาลที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะไร้สายความเร็วสูง (Wi-Fi) ฟรี โดยมีการจำกัดการเข้าถึงและมีจุดพร้อมโยงอยู่ที่ 300,000 แห่งในเมืองและตามโรงเรียน นอกจากนี้ รัฐบาลยังริเริ่มโครงการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ชนบททั่วประเทศ กลุ่มเฝ้าระวังระหว่างประเทศประมาณการว่า พลเมืองราว 46 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 67 ของประชากรทั้งประเทศ) สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงปีที่ผ่านมา
เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม
คสช. เข้าแทรกแซงเพื่อขัดขวางการเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ข่มขู่นักวิชาการ และจับกุมแกนนำเยาวชนที่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร มหาวิทยาลัยต่างก็ตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอ
มหาวิทยาลัยรายงานว่า มีทหารเข้ามาในมหาวิทยาลัยอยู่เป็นประจำเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์การบรรยายและการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา มีหลายกรณีที่ทางการจับกุมนิสิตนักศึกษาจากการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น
ในเดือนกุมภาพันธ์ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนหกรายถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยทั้งหกได้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 เมื่อเดือนกันยายน คดีนี้ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาที่สำนักอัยการจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อเดือนสิงหาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา โดยร่างแก้ไขดังกล่าวเสนอข้อห้ามชุมนุมตั้งแต่การชุมนุมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยไปยังจนถึงการชุมนุมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมเพื่อเป็นการประท้วง โดยให้เหตุผลว่าสถาบันฯ ระงับการเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นกรณีนาฬิกาอื้อฉาวของนายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ดูหมวดที่ 4.)
ข. เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม
รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม
เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ให้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อจำกัดของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” อย่างไรก็ดี คำสั่ง คสช. ที่ประกาศใช้ภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและยังมีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังคงห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและกำหนดบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองใดๆ ก็ตาม
ข้อมูลของกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนระบุว่า แม้ว่า คสช. จะขัดขวางงานชุมนุมสาธารณะน้อยครั้ง แต่กลับดำเนินคดีกับผู้นำและผู้เข้าร่วมชุมนุมในข้อหาละเมิดคำสั่ง คสช. และกฎหมายห้ามการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมือง ในเดือนกันยายน สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยประกาศว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ทางสมาคมยกเลิกการจัดเสวนาในหัวข้อ “นายพลของพม่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญกรรมระหว่างประเทศหรือไม่” ทั้งนี้ สมาคมได้ออกแถลงการณ์ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยกเลิกงานเสวนาครั้งนี้เป็นครั้งที่หกนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557
ในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้นำและนักเคลื่อนไหว 15 คนจากกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ข้อหาจัดการชุมนุมในวาระครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 สมาชิกกลุ่มถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดข้อห้ามของคสช. ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา มีกฎข้อบังคับของตนที่ห้ามแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า และประเทศลาว ทำการชุมนุมกัน ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครห้ามการชุมนุมของแรงงานอพยพเกินกว่าห้าคนขึ้นไป อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎข้อบังคับดังกล่าวอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะหากการชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่ส่วนบุคคล นายจ้างและองค์กรพัฒนาเอกชนอาจขออนุญาตจากทางการให้แรงงานต่างด้าวจัดงานชุมนุมทางวัฒนธรรมได้
เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ให้บุคคลมีสิทธิในการจัดตั้งสมาคมโดยมีข้อจำกัดบางประการเพื่อ “ปกป้องประโยชน์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีงามของส่วนรวม”
กฎหมายห้ามการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามกฎหมาย
ค. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ www.state.gov/religiousfreedomreport/
ง. เสรีภาพในการเดินทาง
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ และการเดินทางกลับประเทศ โดยทั่วไป รัฐบาลเคารพในสิทธิดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณีเพื่อ “รักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การวางผังเมืองและการวางผังประเทศ หรือสวัสดิภาพของเยาวชน”
หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 คสช. ออกคำสั่งห้ามบุคคลประมาณ 155 รายเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้ คำสั่งที่มีผลต่อบุคคลดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปในปี 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประเมินว่า มีบุคคลอีก 300 รายที่ถูก คสช. เรียกให้มารายงานตัวหลังรัฐประหารปี 2557 ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเป็นเงื่อนไขการปล่อยตัว โดยยินยอมที่จะไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ศูนย์ทนายความฯ ระบุด้วยว่า คสช. ยังไม่ได้ยกเลิกการจำกัดการเดินทางที่อยู่ในข้อตกลงนี้ คสช. อ้างว่าการห้ามเดินทางเป็นผลจากคดีความที่ต่อเนื่องมา ไม่ใช่ข้อห้ามที่ คสช. กำหนดขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลให้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และองค์กรด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติ และบุคคลในความห่วงใยอื่นๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็ตาม
การกระทำมิชอบต่อผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติ: ในปี 2558 ทางการกักกันชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศประมาณ 870 รายในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานที่อื่นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างไม่ปกติโดยทางเรือในช่วงวิกฤติผู้อพยพทางเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันในเดือนพฤษภาคม 2558 ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน มีผู้อพยพราว 100 ราย (ส่วนมากเป็นชาวโรฮีนจา) ยังคงถูกกักขังอยู่
ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงทุกคนที่อาศัยอยู่นอกค่ายพักพิงตามชายแดน ประหนึ่งเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลที่ถูกระบุสถานภาพว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจับและกักกันตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าในปี 2556 จะมีการนำกระบวนการอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ทางการกลับไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันตั้งแต่ พ.ศ. 2559
องค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีข้อกังวลว่า ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีสภาพแออัด ผู้ถูกกักกันขาดโอกาสในการออกกำลังกาย และมีเสรีภาพในการเดินทางที่จำกัด
การเดินทางภายในประเทศ: รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ถือบัตรประจำตัวที่รัฐบาลออกให้ ทางการห้ามผู้ถือบัตรเหล่านี้เดินทางออกนอกเขตอำเภอที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากนายอำเภอหรือเดินทางออกนอกจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก 45-60 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเก็บสินบนเพื่อแลกกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากอำเภอหนึ่งไปยังอีกอำเภอหนึ่ง
การเดินทางไปต่างประเทศ: ทางการกำหนดว่า บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคนต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าบางรายที่ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแต่ไม่ได้รับการรับรองสถานะจากรัฐบาลไทยว่าเป็นผู้ลี้ภัยต้องรอใบอนุญาตให้ออกจากประเทศเป็นเวลานานหลายปี
การคุ้มครองผู้ลี้ภัย
การดูแลผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงของรัฐบาลยังคงมีลักษณะไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมาก และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อไม่ให้ถูกขับไล่หรือถูกส่งกลับประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ที่หนีการสู้รบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนมาพักในไทยได้จนกว่าการสู้รบจะยุติ นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยในเมืองที่ได้รับการรับรองสถานภาพจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและอาศัยอยู่ในค่ายอพยพของทางการ ได้รับอนุญาตให้โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย: รัฐบาลให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยโดยไม่ขับไล่หรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหากชีวิตหรือเสรีภาพของคนเหล่านี้จะถูกคุกคามอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สถานภาพการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมหรือทัศนคติทางการเมือง นอกค่ายผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ทางการจะไม่แยกความแตกต่างระหว่างชาวพม่าที่แสวงที่พักพิงกับชาวพม่าที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร โดยพิจารณาว่า ทุกคนเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหมด อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้ว ทางการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการพิสูจน์แล้วกลับไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยได้หากถูกจับนอกค่าย ชาวพม่าที่ถูกจับในประเทศไทย โดยไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัยหรือเอกสารอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ตามกฎหมาย มักจะถูกทางการนำไปส่งไปที่ชายแดนพม่า โดยปกติแล้ว ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใย (person of concern) ที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทางการส่งตัวบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR ชาวกัมพูชาหนึ่งรายกลับประเทศ และบังคับบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับความคุ้มครองสถานะดังกล่าวกลับประเทศภูมิลำเนา
บางครั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ จับกุมและกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย เพื่อลดจำนวนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและผู้ที่พำนักในประเทศเกินวันหมดอายุของวีซ่า อย่างไรก็ดี ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR จากกลุ่มบุคคลนี้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงประมาณ 412 คนอาศัยอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และชาวอุยกูร์ประมาณ 50 คนยังคงอยู่ระหว่างการกักตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558
การเข้าพักค่ายพักพิง: กฎหมายไม่มีการให้สถานะผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวพม่าทุกคนในประเทศไทยที่ไม่มีหนังสือเดินทางและวีซ่าอย่างถูกต้อง ถ้าบุคคลเหล่านี้ถูกจับตัวได้ จะถูกนำไปกักกันอย่างไม่มีกำหนดที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังคงถูกจำกัดการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยบางประเภทซึ่งอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการ การอนุญาตให้ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินการสัมภาษณ์พิจารณาสถานภาพ รวมทั้งสอดส่องดูแลผู้แสวงหาที่พักพิงที่เพิ่งมาถึงนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา UNHCR สามารถเข้าศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันชาวโรฮีนจา เพื่อดำเนินการระบุสถานภาพผู้ลี้ภัย ทางการอนุญาตประเทศที่รับผู้แสวงหาที่พักพิงไปตั้งหลักแหล่งในประเทศของตนให้ดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่ศูนย์กักกันฯ ได้ ส่วนองค์การด้านมนุษยธรรมก็ได้รับอนุญาตให้จัดให้บริการด้านสาธารณสุข อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ด้วย
รัฐบาลอนุญาตให้ UNHCR สอดส่องการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าประมาณ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่า องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งได้รับเงินทุนจากประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เช่น บริการด้านสาธารณสุข อาหาร การศึกษา ที่พักพิง น้ำ บริการสุขอนามัย การฝึกอาชีพ และบริการอื่นๆ
ณ เดือนสิงหาคม รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ชาวพม่าประมาณ 1,400 คนย้ายจากค่ายลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามชายแดนทั้งเก้าแห่ง แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการไม่มีสิทธิโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
เสรีภาพในการเดินทาง: ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนติดกับประเทศพม่าไม่มีเสรีภาพในการเดินทางและถูกจำกัดบริเวณอยู่เพียงในค่ายผู้ลี้ภัยนับตั้งแต่มีการก่อตั้งค่ายขึ้น หากผู้ลี้ภัยถูกจับนอกเขตค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม ปรับ กักกันตัว ถอนทะเบียน และเนรเทศกลับประเทศ
ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไม่มีสิทธิเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระบวนการนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทางสามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ
การจ้างงาน: กฎหมายห้ามผู้ลี้ภัยทำงานในประเทศ รัฐบาลได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่มาจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว สามารถทำงานในภาคเศรษฐกิจบางส่วนได้อย่างถูกกฎหมายถ้าขึ้นทะเบียนกับทางการและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อขอทำเอกสารระบุสถานภาพของตน (ดูหมวดที่ 7.ง.) นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่ให้ความร่วมมือกับคดีที่รออยู่ในชั้นศาลทำงานได้อย่างถูกกฎหมายเป็นระยะเวลาไม่เกินสองปีหลังจากที่การพิจารณาคดีของเหยื่อค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ
การเข้าถึงบริการพื้นฐาน: ประชาคมนานาชาติให้การบริการขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัยที่อาศัยภายในค่ายพักพิงเก้าแห่งตามชายแดนพม่า ระบบการส่งตัวทางการแพทย์ทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถขอรับการรักษาพยาบาลอื่นๆ ที่จำเป็นนอกเหนือจากการดูแลขั้นต้นได้ สำหรับประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานยังมีน้อย องค์กรพัฒนาเอกชนสองแห่งจัดบริการดูแลสุขภาพขั้นต้นรวมถึงสุขภาพจิตมาตั้งแต่ปี 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่น
เนื่องจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยทั่วไปไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐบาลได้ องค์กรพัฒนาเอกชนจึงจัดการศึกษาให้ โดยบางแห่งประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาด้วย ในกรุงเทพมหานคร ชุมชนผู้ลี้ภัยบางแห่งจัดตั้งโรงเรียนของชุมชนเองเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของตน บางแห่งก็ขวนขวายเรียนภาษาไทยโดยการสนับสนุนจาก UNHCR เพราะตามกฎหมายแล้ว โรงเรียนรัฐบาลจะต้องรับเด็กที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องในระดับหนึ่งเข้าศึกษา ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรก็ตาม
การคุ้มครองชั่วคราว: รัฐบาลยังคงขยายระยะเวลาให้การคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่เข้ามาในช่วงวิกฤตผู้อพยพทางเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันเมื่อ พ.ศ. 2558
บุคคลไร้สัญชาติ
รัฐบาลยังคงดำเนินการระบุตัวบุคคลไร้สัญชาติ จัดหาเอกสารเพื่อแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ และเปิดทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานสามารถขอความเป็นพลเมืองไทยได้ รัฐบาลประเมินว่า มีบุคคลราว 470,000 คนในประเทศไทยที่อาจเป็นบุคคลไร้สัญชาติหรือเสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ รวมถึงผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าที่ไม่มีหลักฐานแสดงสัญชาติพม่า ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการ และชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยมีเอกสารมาก่อน
รัฐบาลให้คำมั่นว่าภายในปี 2567 คนไร้สัญชาติจะหมดไป และเมื่อ พ.ศ. 2559 รัฐบาลก็ได้เห็นชอบมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดแนวทางที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นไร้สัญชาติประมาณ 80,000 คนได้รับสัญชาติไทย มตินี้ยังครอบคลุมถึงบุคคลที่เกิดในประเทศ และมีบิดามารดาเป็นชนกลุ่มน้อย ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล และอาศัยอยู่ในประเทศมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปี นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังใช้บังคับกับเยาวชนที่ไร้สัญชาติที่ไม่ทราบชาติกำเนิดที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาลว่า ได้อาศัยอยู่ในประเทศมาเป็นระยะเวลา 10 ปี
การเกิดในประเทศไม่ทำให้ได้สัญชาติโดยอัตโนมัติ ตามกฎหมาย การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบุพการีที่อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นพลเมืองไทย การสมรสกับชายไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจขอสัญชาติได้ตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็ก”) การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเชื้อสายไทยและบุตรที่มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ชาวไทยพลัดถิ่น” สามารถขอสถานภาพ “การมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด” ได้
กฎหมายกำหนดว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับสูติบัตรจากทางการไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร บิดามารดาหลายคนไม่ขอสูติบัตรให้แก่บุตรของตนเพราะขั้นตอนยุ่งยากและต้องเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลเข้าไปที่ว่าการอำเภอ ตลอดจนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารนี้
ตามกฎหมาย ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งถูกจำกัดการเดินทาง นอกจากนี้ บุคคลไร้สัญชาติยังไม่อาจประกอบอาชีพบางประเภทที่สงวนไว้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย เช่น อาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ทางการจะอนุญาตให้ชาวเขาที่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทยทำการเกษตรเพื่อยังชีพได้ บุคคลไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการขอกู้เงินและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เช่น บริการด้านสาธารณสุข แม้ว่าเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าโรงเรียนรัฐได้ แต่การศึกษาก็ด้อยคุณภาพ ผู้บริหารโรงเรียนระบุสถานภาพ “พลเมืองที่ไม่ใช่ชาวไทย” บนประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของเด็กเหล่านี้ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาจากนักศึกษาไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารในอัตราที่สูงกว่าที่เก็บจากนักศึกษาชาวไทย
เนื่องจากไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติจึงเสี่ยงต่อการถูกกระทำมิชอบในรูปแบบต่างๆ (ดูหมวดที่ 6. เด็กและชาวพื้นเมือง)
หมวดที่ 3. เสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้พลเมืองสามารถเลือกรัฐบาลของตนเองได้ด้วยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นช่วงๆ อย่างเสรีและยุติธรรม โดยการลงคะแนนเป็นการลับ และมีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นสากลและเท่าเทียม แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและการจัดตั้งสมาชิกรัฐสภาออกมา และยังไม่มีการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมาก็ตาม
การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
การเลือกตั้งล่าสุด: ไม่มีการจัดการเลือกตั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 และ 86/2557 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เมื่อเดือนธันวาคม 2557 สั่งระงับการเลือกตั้งทุกประเภททั่วประเทศ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
พรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง: ทางการอนุญาตให้พรรคการเมืองใหม่เริ่มจดทะเบียนพรรคได้ในเดือนมีนาคม ส่วนพรรคการเมืองเดิมต้องจดทะเบียนสมาชิกพรรคใหม่ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ร้องเรียนกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่าการขอให้จดทะเบียนสมาชิกใหม่เป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรค พรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้วทุกพรรคสามารถเริ่มรับสมัครสมาชิกใหม่ได้ในเดือนกันยายน ข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของพรรคการเมือง อย่างไรก็ดี ในเดือนธันวาคม รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งผ่อนปรนข้อห้ามเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและการหาเสียงเพื่อเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่คาดการณ์ในวงกว้างว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562
การมีส่วนร่วมของสตรีและชนกลุ่มน้อย: รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ก่อนรัฐประหารสนับสนุนให้พรรคการเมือง “มีสมาชิกพรรคที่เป็นหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน” รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยก็มีส่วนร่วมได้อย่างจำกัด สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง 13 คนจากทั้งหมด 249 คน ส่วนคณะรัฐมนตรีรักษาการมีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง 1 คน จากสมาชิกทั้งหมด 36 คน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดที่แล้วมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิง 81 คนจากสมาชิกทั้งหมด 500 คน
มีสมาชิกจากชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือศาสนาไม่กี่คนที่มีตำแหน่งสูงทางการเมืองระดับประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามสี่คนและนับถือศาสนาคริสต์หนึ่งคนจากสมาชิกทั้งหมด 249 คน ไม่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคน (ที่รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนั้น นับถือศาสนาพุทธ แต่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชาวมุสลิม
หมวดที่ 4. การทุจริตในวงราชการและความโปร่งใสของรัฐบาล
กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ รัฐบาลภายใต้ คสช. บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทว่า ในบางครั้ง ข้าราชการก็พัวพันกับการกระทำการทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ ในช่วงปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการหลายกรณี
การทุจริต: การทุจริตยังคงมีอยู่ในวงกว้างในวงการตำรวจ ทางการจับกุมและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาทุจริต ค้ายาเสพติด และลักลอบขนสินค้าเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีรายงานกล่าวหาตำรวจว่ากระทำการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย เมื่อเดือนมกราคม กรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างน้อย 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในสถานอาบอบนวดในกรุงเทพมหานคร จากการสืบสวนข้อเท็จจริง พบว่าสถานอาบอบนวดมีความเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีและว่าจ้างผู้หญิงกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และบางคนมีอายุน้อยกว่า 15 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องห้ารายถูกย้ายไปประจำหน่วยงานตำรวจที่ไม่มีอำนาจบริหารโดยทันทีหลังการสืบสวนเบื้องต้น การสอบสวนยังคงรอการพิจารณาอยู่
เมื่อ พ.ศ. 2558 อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์อีก 28 คนฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ในการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินว่าจำเลยทั้ง 20 คนมีความผิดอาญาฐานทุจริต และสั่งจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเวลา 42 ปีในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการจัดการสัญญาแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทจีนในโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว ในเดือนกันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้อ่านคำพิพากษาลับหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพิพากษาจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นเวลา 5 ปี ฐานปล่อยปละละเลยให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในรัฐบาลของตนกระทำการทุจริต ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษา มีรายงานว่านางสาวยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และหลังจากที่มีการอ่านคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายจับเธอทันที ในเดือนกรกฎาคม มีรายงานว่ารัฐบาลขอให้สหราชอาณาจักรส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์กลับมารับโทษในประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อสิ้นปีนางสาวยิ่งลักษณ์ยังคงอาศัยอยู่นอกประเทศ
ในอีกกรณีหนึ่ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้สั่งจ่ายให้กับเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2553 เนื่องจากมีการอ้างการจ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมาย และมีการสั่งจ่ายเงินในจำนวนที่ไม่ได้สัดส่วนให้กับผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนกันยายน คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่าใกล้จะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ หากว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่ามีการทุจริต คดีจะถูกส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากว่ามีความผิดจริง นางสาวยิ่งลักษณ์และผู้นำพรรคคนอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังอ้างว่ารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาและแหวนซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านเหรียญในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน กฎหมายกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเปิดเผยรายการทรัพย์สินทั้งหมดกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. พลเอก ประวิตร อ้างว่าตนได้ยืมนาฬิกาและแหวนมาจากเพื่อนสนิท จึงตอบกลับจดหมายสอบถามจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ล่าช้า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้ต่อไป
หมายจับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกเมื่อปี 2552 ยังคงมีผลอยู่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณเป็นระยะเวลาสองปีครึ่ง ฐานพัวพันกับการปล่อยเงินกู้จากธนาคารของรัฐให้แก่ประเทศพม่า ทุกวันนี้ นายทักษิณก็ยังคงอาศัยอยู่นอกประเทศ
การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน: กฎหมายและระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งและที่ได้รับการแต่งตั้งแจ้งรายการทรัพย์สินและรายได้ของตนตามแบบฟอร์มที่กำหนดเป็นมาตรฐาน กฎหมายกำหนดบทลงโทษข้าราชการที่ไม่ได้แจ้งรายการทรัพย์สิน หรือแจ้งรายการไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือปกปิดทรัพย์สิน โดยบทลงโทษมีดังต่อไปนี้ คือ ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ยึดทรัพย์ ปลดออกจากตำแหน่ง และจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (300 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ
ระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนนั้นไม่ครอบคลุมถึงสมาชิก คสช. แม้ว่า สมาชิก คสช. ที่เป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ก็ตาม อีกทั้งทางการยังยกเว้นให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้เช่นกัน สภาดังกล่าวมีสมาชิก 200 คนซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และถูกยุบไปเมื่อเดือนกรกฎาคม
หมวดที่ 5. ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลายประเภทดำเนินกิจกรรมอยู่ในประเทศไทย คำสั่งต่างๆ ของ คสช. ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งรวมถึงการห้ามชุมนุมและจัดกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนการจำกัดบทบาทของสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การปฏิรูปการเมือง การคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ยังคงเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะๆ
เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแหล่งรายงานว่า มีการคุกคามและการข่มขู่ทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย รัฐบาลให้สิทธิยกเว้นภาษีแก่องค์กรพัฒนาเอกชนเพียงไม่กี่ราย ซึ่งบางครั้งก็เป็นอุปสรรคต่อการหาเงินทุนขององค์กรเหล่านี้
เมื่อเดือนสิงหาคม สหประชาชาติออกรายงานเกี่ยวกับการโต้ตอบผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และระบุว่าประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า กรณีเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกลไกด้านสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ: คณะทำงานของสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน สหประชาชาติรายงานว่า ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตเดินทางมาไทยของคณะทำงานของสหประชาชาติด้านการหายสาบสูญ ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการจัดตั้งสมาคม หรือผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ผู้อพยพ และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ณ เดือนกันยายน มีคำขออนุญาตเดินทางเยือนไทยตามกลไกพิเศษของสหประชาชาติที่ยังคงค้างอยู่รวม 20 เรื่อง
องค์กรสิทธิมนุษยชนภาครัฐ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้อง 225 เรื่องนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงเดือนกันยายน ในจำนวนนี้มี 36 เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระและมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนจากประชาชน หลังจากดำเนินการสอบสวน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งเรื่องต่อไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แต่ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามคำแนะนำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงเดือนสิงหาคม สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนใหม่ 2,062 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มี 523 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ
หมวดที่ 6. การเลือกปฏิบัติ การกระทำมิชอบในสังคม และการค้ามนุษย์
สตรี
การข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว: การข่มขืนกระทำชำเราเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเสมอไป กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับสามีที่ข่มขืนภรรยาของตน และมีการดำเนินคดีประเภทนี้ กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับคดีข่มขืนหรือการใช้กำลังทำร้ายทางเพศ เริ่มตั้งแต่โทษจำคุกสี่ปีจนถึงประหารชีวิต รวมถึงโทษปรับ
องค์กรพัฒนาเอกชนยืนยันว่า การข่มขืนเป็นปัญหาร้ายแรง และตั้งข้อสังเกตว่า มีมาตรการตามกฎหมายที่ผ่อนผันให้ผู้กระทำผิดที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีได้ด้วยการเลือกที่จะแต่งงานกับเหยื่อ นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า เหยื่อเข้าแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราหรือการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีอย่างมีประสิทธิผล
องค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาอย่างไม่เพียงพอ และเหยื่อมักมองว่า ตำรวจไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
เมื่อเดือนมิถุนายน หญิงนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอ้างว่าถูกข่มขืนขณะพักผ่อนอยู่ที่เกาะเต่า ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหาของเธอ และไม่ดำเนินการสืบสวนกรณีดังกล่าว ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมชาวไทย 12 คน ฐานกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยแชร์ข้อมูลบนเฟสบุ๊คกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการสอบสวนคดีนี้อย่างเพียงพอ
การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center – OSCC) ซึ่งให้ข้อมูลและบริการแก่เหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศทั่วประเทศ กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุรุนแรงในครอบครัวและการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามสื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่คดีอยู่ในกระบวนการศาล องค์กรพัฒนาเอกชนแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายว่า การเน้นการส่งเสริมครอบครัวมั่นคงจะสร้างแรงกดดันต่อเหยื่อให้ยอมรอมชอมโดยไม่มีการแก้ปัญหาสวัสดิภาพและเป็นเหตุให้อัตราการพิพากษาลงโทษต่ำ
ทางการได้ดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดี ตามบทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นซึ่งผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษที่หนักขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิสตรีรายงานว่า บ่อยครั้งที่ไม่มีการแจ้งความการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามคดีประเภทนี้ รัฐบาลดำเนินงานศูนย์พักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดละหนึ่งแห่ง ศูนย์ช่วยเหลือของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังคงพัฒนาระบบเครือข่ายชุมชนที่ช่วยป้องกันสตรีจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่อไปโดยดำเนินการทั่วทุกภาคของประเทศ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นอบรมตัวแทนจากแต่ละชุมชนเกี่ยวกับสิทธิสตรีและการป้องกันการถูกกระทำมิชอบเพื่อให้ชุมชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
การขริบอวัยวะเพศสตรี: ไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่ห้ามการขริบอวัยวะเพศสตรี องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า แม้ไม่มีข้อมูลทางสถิติเผยแพร่ แต่มีกรณีการขริบอวัยวะเพศสตรีในภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลพยายามป้องกันหรือแก้ไขการปฏิบัติดังกล่าว
การคุกคามทางเพศ: การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (600 เหรียญสหรัฐ) กับผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและโทษปรับสูงสุด 30,000 บาท (900เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามการคุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ห้าระดับ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน สั่งพักราชการ และไล่ออก องค์กรพัฒนาเอกชนอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่า การคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล
การบังคับให้ควบคุมจำนวนประชากร: ไม่มีรายงานว่ามีการบังคับให้ทำแท้ง หรือทำหมัน
การเลือกปฏิบัติ: รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง [อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด] จะกระทำมิได้”
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยจัดสรรงบประมาณในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าว และพิจารณาไต่สวนข้อร้องเรียนจากผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ นับตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 กระทรวง พม. ได้รับข้อร้องเรียนมากกว่า 25 เรื่อง และให้การตัดสินแล้ว 4 เรื่อง คดีส่วนใหญ่เป็นกรณีบุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติ (ดูหมวดย่อย “การเลือกปฏิบัติเนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ” ด้านล่าง) ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากการทบทวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติมีความล่าช้ามาก นอกจากนี้ ประชาชนและสำนักงานประจำจังหวัดของกระทรวง พม. ขาดความเข้าใจกฎหมายดังกล่าว
โดยทั่วไป ผู้หญิงมีสถานะและสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม บางครั้ง ผู้หญิงก็ประสบกับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน ผู้ที่มีความผิดว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนหรือปรับสูงสุด 20,000 บาท (600 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติในการจ้างงานเนื่องจากเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภายใต้นโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ โครงการหรือขั้นตอนใดๆ ของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และปัจเจกชน แต่ยังคงระบุข้อยกเว้นไว้สองประการซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มประชาสังคม อันได้แก่ หลักการทางศาสนาและความมั่นคงของชาติ
คู่สมรสชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยไม่สามารถขอความเป็นพลเมืองตามสัญชาติของภรรยาได้ ซึ่งต่างจากคู่สมรสชาวต่างชาติของผู้ชายไทย
ในจำนวนกำลังพลทั่วประเทศ มีทหารหญิงประมาณร้อยละ 9 นโยบายของกระทรวงกลาโหมจำกัดจำนวนบุคลากรหญิงในหน่วยงาน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 ยกเว้นหน่วยงานด้านการแพทย์/การพยาบาลเฉพาะทาง งบประมาณ และการเงิน ซึ่งอนุญาตให้มีเจ้าหน้าที่หญิงได้ร้อยละ 35 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับผู้หญิงเข้าศึกษา แม้ว่าสถาบันเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นเพศหญิงอยู่จำนวนมาก
เมื่อเดือนสิงหาคม โรงเรียนนายร้อยตำรวจยกเลิกการรับสมัครผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการยกเลิก นักเคลื่อนไหววิจารณ์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวขัดกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ ยังได้ส่งคำร้องอย่างเป็นทางการให้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาการตัดสินใจดังกล่าวอีกครั้ง ในอีกกรณีหนึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุข้อกำหนดในประกาศจ้างงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนใหม่ว่า ต้องเป็น “เพศชาย” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชมรมพนักงานสอบสวนหญิงได้แสดงการคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อคำประกาศนี้ รายงานของสื่อระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดเฉพาะเพศชาย เนื่องจากตำแหน่งพนักงานสอบสวนต้องแบกภาระปริมาณงานมากและพนักงานสอบสวนหญิงมักจะลาป่วยบ่อยครั้งหรือลาออกโดยกะทันหัน
เด็ก
การจดทะเบียนเกิด: เด็กได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเกิดหากมีบิดาหรือมารดาถือสัญชาติไทย การเกิดในประเทศไม่ได้ทำให้ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ดี เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิได้รับสูติบัตร ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับสิทธิประโยชน์บางประการจากทางการ โดยไม่สำคัญว่าถือสัญชาติใด (ดูหมวดที่ 2.ง.) องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า บางครั้งชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ไม่ได้แจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ข้าราชการท้องถิ่นไม่มีคุณธรรมหรือมีข้อมูลไม่ถูกต้อง อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทางทำให้การขอสูติบัตรเป็นเรื่องลำบาก
การศึกษา: คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 28/2559 กำหนดให้เด็กทุกคนได้รับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ก่อนประถมศึกษาจนถึงการศึกษาภาคบังคับ อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งหมายถึงจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่สาม องค์กรพัฒนาเอกชนระบุว่า บุตรของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิง เข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลได้อย่างจำกัด
การกระทำทารุณเด็ก: กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทารุณ และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในคดีการกระทำมิชอบและคดีละเมิดทางเพศต่อเด็ก กลุ่มผลักดันประเด็นสาธารณะรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่เต็มใจสืบสวนสอบสวนคดีการกระทำมิชอบเหล่านี้นัก และระเบียบว่าด้วยวัตถุพยานก็ทำให้การดำเนินคดีกระทำมิชอบต่อเด็กยากขึ้น
การบังคับแต่งงานและการแต่งงานก่อนวัยอันควร: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ทั้งหญิงและชายที่จะแต่งงานต้องมีอายุอย่างน้อย 17 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะแต่งงานได้ ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 15-16 ปีแต่งงานได้
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราการแต่งงานในวัยเด็กสูงเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในเจ็ดของวัยรุ่นไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15-19 ปีแต่งงานแล้ว
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กฎหมายชะรีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) อนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้หลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกหากได้รับการยินยอมจากบิดามารดา รายงานของสื่อระบุว่า ข้อมูลของโรงพยาบาลรัฐในจังหวัดนราธิวาสชี้เห็นว่ามีเด็กหญิงวัยรุ่น 1,100 รายให้กำเนิดบุตรในปี 2559 เมื่อเดือนสิงหาคม เด็กหญิงชาวไทยถูกส่งตัวกลับประเทศหลังจากแต่งงานกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี ทั้งคู่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซียแต่แต่งงานที่ประเทศไทย ผู้สนับสนุนสิทธิเด็กและนักข่าวรายงานว่า ชายชาวมาเลเซียมักจะข้ามฝั่งมาทางภาคใต้ของไทยเพื่อแต่งงานกับเด็กเนื่องจากไม่อาจทำได้ในประเทศมาเลเซียหรือต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลานาน ในเดือนธันวาคม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 15 เป็น 17 ปี อย่างไรก็ตาม ระเบียบใหม่นี้อนุญาตให้เด็กชาวมุสลิมที่อายุน้อยกว่า 17 ปีแต่งงานได้หากมีหนังสืออนุญาตจากศาลหรือหนังสือแสดงความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิเศษสามคน และในจำนวนนี้ เป็นสตรีที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามอย่างน้อยหนึ่งคน ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามถูกนำมาใช้แทนประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยกฎหมายครอบครัวและมรดกในจังหวัดภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
การแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก: กฎหมายกำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ที่จัดหา ล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ค้าประเวณี และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อลูกค้าที่จ่ายเงินเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทางการยังอาจลงโทษบิดามารดาที่ยอมให้บุตรเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดาได้ กฎหมายห้ามการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า หรือการส่งออกภาพลามกอนาจารเด็ก นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับบุคคลที่แสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดหาโสเภณี การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบอื่นๆ
การค้าประเวณีเด็กยังคงเป็นปัญหาอยู่ และประเทศไทยก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะริ่เริ่มโครงการใหม่ๆ มาเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ก็ตาม เด็กต่างด้าวและเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย ตลอดจนเด็กในครอบครัวยากจนยังคงเสี่ยงต่อการถูกบังคับค้าประเวณีมากเป็นพิเศษ และมีกรณีที่ตำรวจจับกุมบิดามารดาที่บังคับให้บุตรของตนค้าประเวณี นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติยังคงก่ออาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็กด้วย
รัฐบาลได้พยายามมาตลอดปีที่จะต่อสู้กับการแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ซึ่งรวมถึงการเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กใหม่จำนวนสองแห่งที่เมืองพัทยาและจังหวัดภูเก็ต ซึ่งช่วยให้การสัมภาษณ์เหยื่อและพยานที่เป็นเด็กมีความเหมาะสมกับพัฒนาการ นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังมีการสัมภาษณ์เชิงนิติวิทยาศาสตร์ และการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มแก่เด็กที่ถูกทารุณ ค้ามนุษย์ และแสวงหาประโยชน์ คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ที่ปฏิบัติงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ก็เร่งรัดการปฏิบัติงาน และยังใช้ข้อบังคับและวิธีสืบสวนใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการติดตามผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากเด็กทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
เด็กพลัดถิ่น: โดยทั่วไป ทางการจะส่งเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนไปที่สถานพักพิงที่รัฐบาลจัดให้ในแต่ละจังหวัด แต่คนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวมักเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นเพราะเกรงว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะส่งเด็กข้างถนนที่เป็นคนไทยเข้าเรียนที่โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รัฐบาลส่งตัวเด็กข้างถนนบางคนที่มาจากประเทศอื่นกลับประเทศตนเอง
เด็กในสถานสงเคราะห์: มีการรายงานอย่างจำกัดเกี่ยวกับการกระทำมิชอบในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์อื่นๆ
การลักพาเด็กระหว่างประเทศ: ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการดำเนินการทางแพ่งต่อการลักพาเด็กระหว่างประเทศ พ.ศ. 2523 สามารถอ่าน รายงานประจำปีเรื่องการลักพาตัวลูกข้ามชาติโดยพ่อหรือแม่ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ https://travel.state.gov/content/travel/en/International-Parental-Child-Abduction/for-providers/legal-reports-and-data.html
การต่อต้านยิว
ชาวยิวในไทยมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งภาพบุคคลและสัญลักษณ์นาซีถูกนำมาแสดงบนสินค้าและใช้ในโฆษณา
การค้ามนุษย์
สามารถอ่านข้อมูล รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
คนทุพพลภาพ
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติที่มีพื้นฐานมาจากความพิการ และสภาวะทางร่างกายหรือสุขภาพ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุพพลภาพ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โดยระบุองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการ และจัดการกองทุนโดยสำนักงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กฎหมายให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับนายจ้างที่ว่าจ้างคนทุพพลภาพเข้ามาทำงานในจำนวนหนึ่ง ประมวลรัษฎากรให้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นพิเศษเพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนทุพพลภาพ นายจ้างบางรายให้ค่าจ้างที่แตกต่างจากผู้อื่นกับคนทุพพลภาพ
รัฐบาลปรับแต่งสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารสาธารณะหลายแห่งเพื่อให้เอื้อต่อคนทุพพลภาพ แต่การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิผลโดยสม่ำเสมอกัน กฎหมายกำหนดให้คนทุพพลภาพต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารคมนาคมและอาคารที่สร้างใหม่ แต่บทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเป็นเอกภาพ กฎหมายกำหนดให้คนทุพพลภาพที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการมีสิทธิได้รับบริการตรวจโรค รถเข็น และไม้ยันรักแร้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนของรัฐบาลและโครงการศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนยังคงดำเนินงานอยู่ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลาห้าปีแก่คนทุพพลภาพที่ดำเนินธุรกิจขนาดย่อม
รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษและศูนย์การศึกษาสำหรับนักเรียนและคนทุพพลภาพหลายแห่ง กฎหมายกำหนดให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศต้องรับนักเรียนทุพพลภาพเข้าศึกษา และในช่วงปีที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทุพพลภาพ รัฐบาลยังมีสถานสงเคราะห์ และศูนย์ฟื้นสมรรถภาพสำหรับคนทุพพลภาพโดยเฉพาะ รวมถึงศูนย์ดูแลเด็กออทิสติก
องค์กรสิทธิมนุษยชนรายงานว่า การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งแพลตฟอร์มทางการเมืองก่อนหน้าการเลือกตั้งนั้น กระทำได้ยาก
เมื่อเดือนพฤษภาคม สภาคนพิการร่วมกับนักเคลื่อนไหว 100 คน ยื่นคำร้องเรียน 430 เรื่องต่อศาลปกครองในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครจ่ายเงินชดเชยเนื่องจากไม่ดำเนินการให้คนทุพพลภาพสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ได้ สภาคนพิการระบุว่ากรุงเทพมหานครไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองเมื่อเดือนมกราคม 2558 ที่กำหนดให้บริษัทดังกล่าวปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า 23 แห่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าทุกสถานีให้กับคนทุพพลภาพภายในหนึ่งปีหลังวันที่มีคำพิพากษา
ชนกลุ่มน้อยทางสัญชาติ/เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์
คนสองกลุ่มคือ อดีตทหารในสงครามกลางเมืองของจีนและลูกหลานที่อาศัยอยู่ในไทยมาหลายทศวรรษ และลูกของชาวเวียดนามอพยพที่อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎข้อบังคับที่จำกัดการเดินทาง ที่พักอาศัย การศึกษาและการเข้าถึงอาชีพ กฎหมายจำกัดให้ชาวจีนกลุ่มนี้พักอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
ชาวพื้นเมือง
ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะให้สิทธิแก่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะลูกจ้าง แต่นายจ้างยังคงละเมิดสิทธินั้นบ่อยครั้งโดยจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชาวไทยและน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กฎหมายจำกัดอาชีพสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย อีกทั้งกีดกันบุคคลเหล่านี้จากสวัสดิการของรัฐ เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กฎหมายให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ (ดูหมวดที่ 2.ง.) รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการให้สัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่
การกระทำรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำมิชอบอื่นๆ เนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
ไม่มีกฎหมายใดระบุว่า วิถีทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นความผิดทางอาญา
กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) รายงานว่า เมื่อพวกตนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกตนเช่นที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป ยกเว้นในกรณีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดทางเพศมากนัก หรือไม่เห็นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องจริงจัง
กฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนการระบุเพศของตนในเอกสารแสดงตน ซึ่งเมื่อบวกกับการเลือกปฏิบัติของสังคมกลุ่มใหญ่แล้ว ทำให้โอกาสสมัครงานของบุคคลข้ามเพศถูกจำกัด
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท UNDP ยังระบุอีกว่า สื่อนำเสนอบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในลักษณะเหมารวมและเป็นไปให้ทางลบ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ “เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” กฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกในประเทศไทยที่ปกป้องนักศึกษาข้ามเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557-2561 มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “แผนสิทธิมนุษยชนย่อย” เกี่ยวกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ”
องค์กรพัฒนาเอกชนและสหประชาชาติรายงานว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติในหลายภาคส่วน รวมทั้งในกระบวนการการเกณฑ์ทหาร ขณะถูกคุมขัง และจากนโยบายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับเครื่องแบบของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศทางชีวภาพ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เอกสารแสดงการจบการศึกษา ถูกลดเกรด หรือทั้งสองอย่าง ในเดือนมกราคม คณะกรรมการตุลาการแห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศตัดสินว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาข้ามเพศ โดยการห้ามไม่ให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศสภาวะที่แสดงออกของตนในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในเวลาต่อมาหลังคำตัดสินดังกล่าว นักศึกษาได้รับอนุญาตให้สวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศสภาวะที่แสดงออกของตนได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายโดยรวมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังมีผลบังคับใช้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้คำแนะนำและการสนับสนุนแก่บุคคลข้ามเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติขณะเข้ารับการเกณฑ์ทหาร นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของบุคคลข้ามเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม รวมทั้งผู้ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในผับแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
มีการเลือกปฏิบัติในทางธุรกิจเนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศอยู่บ้าง
การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์
บุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเผชิญกับการตีตราทางสังคมอยู่บ้างแม้ว่ารัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนจะพยายามให้ความรู้อย่างแพร่หลายในเรื่องนี้ มีรายงานว่า นายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ้างงานผู้ที่ตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี
หมวดที่ 7. สิทธิของคนงาน
ก. เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจราต่อรองแบบรวมกลุ่ม
รัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์การ ชุมชน หรือหมู่คณะอื่นๆ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์อนุญาตให้พนักงานในภาคเอกชนจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่ตนเลือกโดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน ให้ร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มได้ และนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตของข้อจำกัดที่กำหนดได้ ลูกจ้างที่พยายามประท้วงหรือนัดหยุดงานไม่อาจทำได้เนื่องจากขัดกับพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามการชุมนุมมากกว่าห้าคนขึ้นไป
คำนิยามทางกฎหมายที่ระบุว่าใครสามารถเข้าร่วมสหภาพได้ และข้อกำหนดที่ให้สหภาพต้องมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนพนักงานทั้งหมดเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการร่วมเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าลูกจ้างต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจึงจะสามารถก่อตั้งเป็นสหภาพได้ เช่น ลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ปฏิบัติงานในฝ่ายผลิตจะถูกจัดอยู่ในประเภท “อุตสาหกรรมบริการ” และไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกันกับลูกจ้างประจำที่อยู่ในประเภท “อุตสาหกรรมการผลิต” ได้แม้ว่าลูกจ้างทั้งสองกลุ่มจะทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกันก็ตาม ข้อจำกัดดังกล่าวมักจะลดความสามารถเจรจาต่อรองในฐานะกลุ่มใหญ่ นักกฎหมายด้านแรงงานกล่าวอ้างว่า มีบริษัทที่แสวงหาประโยชน์จากเงื่อนไขที่กำหนดสัดส่วนดังกล่าวโดยการจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างชั่วคราวจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานของลูกจ้าง นอกจากนี้ กฎหมายยังจำกัดการเข้าอยู่ในเครือเดียวกันระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชน เนื่องจากสหภาพสองประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับ ลูกจ้างในธุรกิจรัฐวิสาหกิจการบิน การธนาคาร การคมนาคม และการศึกษาจึงไม่อาจเข้าร่วมอย่างเป็นทางการกับลูกจ้างในงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่เป็นบริษัทของภาคเอกชนได้
กฎหมายอนุญาตให้พนักงานยื่นข้อเรียกร้องร่วมได้หากว่าพนักงานอย่างน้อยร้อยละ 15 ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว กฎหมายยังอนุญาตให้พนักงานในบริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไปจัดตั้ง “คณะกรรมการลูกจ้าง” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างโดยรวมในการยื่นเรื่องเรียกร้องและต่อรองกับนายจ้าง และ “คณะกรรมการสวัสดิการ” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างในการยื่นเรื่องเรียกร้องต่อนายจ้างเกี่ยวกับปัญหาด้านสวัสดิการ พนักงานและคณะกรรมการสวัสดิการอาจให้ข้อเสนอแนะแก่นายจ้าง แต่กฎหมายห้ามมิให้ลูกจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการยื่นข้อเรียกร้องด้านแรงงานหรือนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายห้ามนายจ้างมิให้กระทำการที่ส่งผลเสียต่อการจ้างงานของพนักงานอันเนื่องมาจากการที่พนักงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าว และห้ามนายจ้างขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำสหภาพแรงงานจึงมักจะเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการลูกจ้างหรือคณะกรรมการสวัสดิการด้วย
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพแรงงานได้สูงสุดหนึ่งกลุ่ม รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยหมายถึงธนาคาร รถไฟ สายการบิน สนามบิน ท่าเรือ และบริการไปรษณีย์ของรัฐ ตามกฎหมายแล้ว ข้าราชการพลเรือน รวมทั้งครูประจำโรงเรียนรัฐและเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ทหาร และตำรวจ ไม่มีสิทธิจัดตั้งหรือจดทะเบียนสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ดี ข้าราชการพลเรือน (รวมถึงครู ตำรวจ และพยาบาล) ตลอดจนผู้ที่มีอาชีพอิสระ(เช่น ชาวนาและชาวประมง) อาจจัดตั้งและจดทะเบียนสมาคมได้เพื่อเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก หากสมาชิกภาพของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจใดมีจำนวนลดลงต่ำกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานนั้นจะต้องถูกยุบตามข้อบังคับด้านแรงงาน
กฎหมายห้ามมิให้มีการนัดหยุดงานและปิดกิจการในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลมีอำนาจในการจำกัดการชุมนุมประท้วงของภาคเอกชนในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเลยในช่วงปีที่ผ่านมา
แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือผู้ที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในสหภาพแรงงาน แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วอาจเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นและบริหารโดยคนไทย อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของสมาชิกที่เป็นแรงงานต่างด้าวยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบเนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา การขาดความเข้าใจสิทธิของตนภายใต้กฎหมาย การเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ค่าสมาชิก กฎระเบียบของสหภาพแรงงานที่เข้มงวด และการแบ่งแยกแรงงานไทยจากแรงงานต่างด้าวตามภาคอุตสาหกรรมและเขตพื้นที่ (โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชายฝั่งทะเล) ในทางปฏิบัติ แรงงานต่างด้าวหลายพันคนก่อตั้งสมาคม องค์กรชุมชน หรือกลุ่มศาสนาโดยไม่ได้จดทะเบียน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก
กฎหมายไม่ได้คุ้มครองสมาชิกสหภาพแรงงานจากการกระทำของนายจ้างที่เป็นการต่อต้านสหภาพแรงงานจนกว่าสหภาพแรงงานนั้นจะได้รับการจดทะเบียน ในการจดทะเบียนสหภาพแรงงานจะต้องมีลูกจ้างอย่างน้อย 10 คนร่วมกันยื่นรายชื่อของตนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อและสถานภาพการจ้างงานกับนายจ้าง กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ลูกจ้างเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกตอบโต้จากนายจ้างก่อนที่กระบวนการจดทะเบียนจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดว่า เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานต้องเป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำกับสหภาพแรงงาน
กฎหมายให้ความคุ้มครองพนักงานและสมาชิกสหภาพจากการดำเนินคดีอาญาหรือทางแพ่งอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ริเริ่มการนัดหยุดงาน จัดชุมนุมประท้วง และอธิบายข้อขัดแย้งด้านแรงงานต่อสาธารณชน แต่กฎหมายไม่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างและสมาชิกสหภาพในความผิดทางอาญาว่าด้วยการก่ออันตรายต่อสาธารณชน หรือเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความเสียหายต่อชื่อเสียง กฎหมายไม่ได้ห้ามการฟ้องร้องคดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเซ็นเซอร์ คุกคาม และปิดปากกระบอกเสียงของลูกจ้างโดยใช้การสู้คดีความทางกฎหมายที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นเครื่องมือ
กฎหมายห้ามมิให้มีการเลิกจ้างผู้ที่ชุมนุมประท้วงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อนุญาตให้นายจ้างมีสิทธิที่จะจ้างลูกจ้างหรือลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมาทำงานแทนผู้ประท้วงได้ ข้อกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องมีการเรียกประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเรื่องที่จะนัดหยุดงาน โดยต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมด ในกรณีที่เป็นการผลิตแบบเข้ากะที่ใช้กันโรงงานส่วนใหญ่ สมาชิกสหภาพจะรวมตัวกันเพื่อให้ครบองค์ประชุมได้ยาก ผู้ประท้วงในรัฐวิสาหกิจมีระวางโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การบังคับใช้กฎหมายแรงงานมีความไม่สม่ำเสมอ และในบางกรณี ไม่มีประสิทธิผลในการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน นายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลใดก็ได้ยกเว้นการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ โดยมีเงื่อนไขว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชย มีรายงานกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสหภาพ ในบางกรณี ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิม ศาลแรงงานหรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจตัดสินเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ออกจากงานหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมได้ และอาจเรียกร้องให้พนักงานหรือผู้นำสหภาพได้รับเงินชดเชยหรือกลับเข้าทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เหมือนเช่นที่เคยได้รับก่อนหน้านั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกอบด้วยตัวแทนของนายจ้าง รัฐบาล และกลุ่มลูกจ้าง รวมทั้งผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้าง มีรายงานว่าภายหลังจากที่มีคำสั่งของศาล นายจ้างพยายามที่จะต่อรองเงื่อนไขในการรับกลับเข้าทำงานดังนี้คือ เสนอให้ค่าชดเชยสำหรับผู้ที่สมัครใจลาออก ปฏิเสธไม่ให้ผู้นำสหภาพที่ได้รับกลับเข้าทำงานแล้วเข้ามาในที่ทำงาน หรือลดตำแหน่งของลูกจ้างให้ไปทำงานที่มีค่าตอบแทนและผลประโยชน์น้อยลง
ในบางกรณี ผู้พิพากษากลับตัดสินให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแทนการรับพนักงานกลับเข้าทำงานในกรณีที่นายจ้างหรือพนักงานอ้างว่าตนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ทางการมักจะไม่ลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ องค์การระหว่างประเทศรายงานว่า ผู้บริหารในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ระหว่างการอบรมพนักงานตรวจแรงงานทั่วทั้งประเทศมากขึ้น มีการตรวจแรงงานในสถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยงสูงและใช้ข้อมูลที่ได้จากภาคีเครือข่ายประชาสังคมมากขึ้น ผู้นำสหภาพเสนอแนะว่า พนักงานตรวจแรงงานควรตรวจสอบสถานประกอบการในเชิงรุกมากกว่าที่จะตรวจสอบเอกสารแบบพอเป็นพิธี นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานในระดับจังหวัดพยายามไกล่เกลี่ยคดีต่างๆ อยู่บ่อยครั้งแม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
มีรายงานหลายครั้งว่า นายจ้างใช้กลวิธีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้การรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและความพยายามในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่มของลูกจ้างอ่อนแอลง ซึ่งรวมถึงการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติงานแทนลูกจ้างที่นัดหยุดงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ โดยพนักงานที่นัดหยุดงานก็ยังได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม ยืดเวลาการต่อรองออกไปโดยการไม่ปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือส่งตัวแทนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในการต่อรอง ข่มขู่ผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงาน กดดันให้ผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงานต้องลาออก ปลดผู้นำสหภาพโดยอ้างเหตุผลทางธุรกิจ การละเมิดกฎของบริษัทหรือมีทัศนคติทางลบต่อบริษัท ห้ามลูกจ้างชุมนุมประท้วงภายในสถานประกอบการ และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อขอหมายศาลสั่งห้ามการประท้วง เช่น บริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งให้สมาชิกสหภาพเก้าคนกลับเข้าทำงานหลังจากสั่งปิดงาน (lock out) ตั้งแต่ปี 2557 แต่ย้ายพนักงานไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลและลดค่าจ้างลงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ มีรายงานหลายกรณีว่า บริษัทและสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงกันได้ในการไกล่เกลี่ยต่อรองกับกระทรวงแรงงาน จึงปิดงานหลังจากพนักงานนัดหยุดงาน หลังจากที่พนักงานยอมรับข้อเสนอส่วนใหญ่ของบริษัท บริษัทได้บังคับให้พนักงานที่ถูกปิดงานให้เข้าค่ายสี่วันที่ค่ายทหารเพื่อ “เรียนรู้วินัยและคำสั่ง” เข้าร่วมการอบรมระยะเวลาห้าวันที่บริษัททรัพยากรบุคคลภายนอกจัดขึ้น โดยพนักงานต้อง “พิจารณาไตร่ตรองการกระทำผิดของตน” ทำความสะอาดบ้านของผู้สูงอายุหนึ่งวันเพื่อ “ทำบุญ” และทำความสะอาดวัดพุทธสามวัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม นอกจากนี้ พนักงานยังต้องโพสต์ข้อความขอโทษบริษัทโดยใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวด้วย
ในบางกรณี นายจ้างยื่นฟ้องต่อผู้นำสหภาพและพนักงานที่นัดหยุดงานในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ หมิ่นประมาท และทำลายทรัพย์สินด้วย ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี บริษัทเอกชนดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญากับผู้นำสหภาพ รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากข้อกล่าวหาว่าผู้นำสหภาพทำให้สายการผลิตหยุดชะงัก เนื่องจากการนัดหยุดงานที่ผิดกฎหมาย การบุกรุก และการหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า นายจ้างใช้คดีความเหล่านี้ รวมทั้งให้ผู้นำสหภาพออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม ในความพยายามที่จะอำพรางหรือหาเหตุผลให้กับการกระทำซึ่งต่อต้านสหภาพแรงงานหรือต่อต้านความพยายามอื่นๆ ในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน กลวิธีเหล่านี้เป็นการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม (ดูหมวดที่ 7.ข.)
ในระหว่างปี มีรายงานว่า นายจ้างบางรายย้ายผู้นำสหภาพไปยังสาขาอื่นเพื่อให้คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิเป็นคณะกรรมการลูกจ้างหรือคณะกรรมการสวัสดิการ และจากนั้นจึงให้พวกเขาออกจากงาน นอกจากนี้ นายจ้างบางรายยังย้ายผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงานไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ไม่น่าพึงใจกว่า หรือมีตำแหน่งบริหาร (ที่ไม่มีอำนาจการบริหารจริง) เพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขานำกิจกรรมของสหภาพได้ มีรายงานว่า นายจ้างบางรายสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพมาแข่งขันกับสหภาพเดิมที่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงที่นายจ้างเสนอ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางการต่อรองและการรวมตัวของลูกจ้างโรงพยาบาลรัฐและสำนักงานประกันสังคมที่เรียกร้องให้ขึ้นค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานชั่วคราวด้วย
ข. การห้ามการบังคับใช้แรงงาน
กฎหมายห้ามการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือกำลังจะเกิดภัยพิบัติสาธารณะ การลงโทษตามกฎหมายฐานค้ามนุษย์เข้มงวดพอที่จะยับยั้งมิให้เกิดการฝ่าฝืน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิและองค์กรระหว่างประเทศยังคงเรียกร้องให้มีการนิยามที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและบทลงโทษที่เท่าเทียมกับบทลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ โดยให้เหตุผลว่าคำนิยามที่ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้นจะสามารถจัดการกับความท้าทายในการใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการบังคับใช้แรงงานไม่มีตัวชี้วัดทางกายภาพ
ทางการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนยังคงรายงานว่ามีการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมพบว่ามีคำร้องจากลูกจ้างลดน้อยลงเกี่ยวกับการถูกบังคับใช้แรงงาน เช่น การข่มขู่และใช้ความรุนแรงบนเรือประมงใกล้ฝั่งและในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงานบางตัว เช่น การไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผลงาน การยึดเอกสาร และการไม่มีสัญญา ก็ลดน้อยลงเช่นกัน องค์กรพัฒนาเอกชนยอมรับว่าการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดส่วนใหญ่ลดน้อยลงในภาคการประมง แม้ว่าจะชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายแรงงานยังคงไม่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทางการและองค์การพัฒนาเอกชนเห็นว่า ความพยายามในการกำหนดระเบียบในอุตสาหกรรมการประมง ออกเอกสารอย่างถูกต้องให้กับแรงงานต่างด้าว และปรับปรุงการตรวจสอบให้ดีขึ้นนั้น เป็นผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมนี้ มีรายงานเล็กน้อยเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานที่ยังคงมีอยู่ในภาคเกษตรกรรม งานรับใช้ตามบ้าน และการบังคับให้ขอทาน
กลุ่มสิทธิด้านแรงงานรายงานว่า ตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงานในกลุ่มนายจ้างที่พยายามป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวย้ายงานคือการจ่ายค่าแรงล่าช้า การก่อเกิดหนี้ และการกล่าวหาเท็จว่าขโมยหรือยักยอกทรัพย์
บริษัทเอกชนดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับหัวหน้าแรงงาน รวมทั้งกล่าวหาลูกจ้างในข้อหาหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญา (ดูหมวดที่ 7.ก.) เมื่อเดือนกรกฎาคม ศาลแขวงในกรุงเทพฯ ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่นายจ้างยื่นฟ้องลูกจ้างชาวพม่าของฟาร์มสัตว์ปีกจำนวน 14 คน นายจ้างยื่นฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาหลังจากที่ลูกจ้างได้ยื่นร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอ้างว่าตนถูกบังคับใช้แรงงาน ในปี 2560 ศาลแรงงานแผนกคดีแพ่งมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวน 1.7 ล้านบาท (51,100 เหรียญสหรัฐ) ให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นค่าจ้างที่ค้างจ่าย บวกกับค่าแรงล่วงเวลาและค่าแรงในวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ยังค้างจ่ายอยู่ ในปีเดียวกันนั้น ศาลฎีกาพิพากษาได้ยืนตามคำตัดสินของศาลแรงงาน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายจ้างยังไม่ได้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ในเดือนธันวาคม นายจ้างดำเนินการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาใหม่ต่อองค์กรด้านสิทธิอีกองค์กรหนึ่ง หลังจากที่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทที่มีต่อลูกจ้างและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ในเดือนกันยายน ศาลจังหวัดลพบุรียกฟ้องคดีลักทรัพย์ที่มีความผิดทางอาญา ซึ่งนายจ้างฟ้องร้องลูกจ้างกล่าวหาว่าลูกจ้างขโมยบัตรตอกเวลาทำงานของนายจ้าง ศาลพบว่านายจ้างไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าลูกจ้างได้ขโมยบัตรดังกล่าว
สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบได้ที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
ค. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน
กฎหมายกำหนดหลักการการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายห้ามการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ทำงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์โลหะ สารเคมีอันตราย วัสดุมีพิษ กัมมันตรังสี และอุณหภูมิหรือระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่เป็นพิษ การใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก ตลอดจนการทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำ รวมทั้งห้ามมิให้ทำงานในสถานที่ที่อันตราย เช่น โรงฆ่าสัตว์ บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ สถานอาบอบนวด สถานบันเทิง เรือประมงทะเล และสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล กฎหมายให้ความคุ้มครองอย่างจำกัดแก่แรงงานเด็กในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการบางภาคส่วน เช่น ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และธุรกิจที่บ้าน เด็กที่มีอาชีพอิสระและเด็กที่ทำงานโดยไม่ได้มีความสัมพันธ์ในการจ้างงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานแห่งชาติ แต่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3) ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนมกราคม
ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอาจจะต้องรับโทษจำคุกหรือปรับ กฎหมายมีความเข้มงวดพอที่จะยับยั้งมิให้เกิดการฝ่าฝืนกฎหมาย บุพการีที่ศาลตัดสินว่าให้ผู้สืบสันดานทํางานหรือให้บริการเพราะ “เหตุความยากจนเหลือทนทาน” มิต้องรับโทษตามกฎหมาย
รัฐบาลและบริษัทภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างต่อเนื่อง ผ่านการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนและการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อดูอายุและคัดกรองผู้สมัครงานที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม การตรวจดังกล่าวไม่เที่ยงตรงเสมอไป พนักงานตรวจแรงงานใช้ข้อมูลจากภาคประชาสังคมในการตั้งเป้าตรวจตราการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน ในปี 2560 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีบันทึกคดีการฝ่าฝืนการใช้แรงงานเด็ก 103 คดี (เทียบกับ 71 คดีในปี 2559) และได้รับค่าปรับประมาณ 1.5 ล้านบาท (46,000 เหรียญสหรัฐ)
องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศบางแห่งรายงานว่า มีคดีจำนวนน้อยลงเกี่ยวกับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการผลิต การประมง การจับกุ้ง และแปรรูปอาหารทะเล โดยคิดว่าน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในปี 2557 ที่ได้เพิ่มจำนวนประเภทงานที่เสี่ยงอันตรายซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถทำได้ และในปี 2560 ได้เพิ่มการลงโทษกรณีใช้แรงงานเด็ก
อย่างไรก็ตาม องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า เด็กบางส่วนจากประเทศไทย พม่า กัมพูชา ลาว และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งการทำไร่ทำนา ธุรกิจที่บ้าน ร้านอาหาร ขายอาหารตามข้างถนน บริการเกี่ยวกับรถยนต์ แปรรูปอาหาร ก่อสร้าง งานรับใช้ตามบ้าน และขอทาน เด็กบางคนถูกใช้แรงงานในรูปแบบการใช้แรงงานที่เลวร้ายที่สุด เช่น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ภาพลามกอนาจาร การบังคับให้ขอทาน รวมทั้งการผลิตและค้ายาเสพติด (ดูหมวดที่ 6. เด็ก) คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนมาเป็นหน่วยงานที่ทำงานเป็นเอกเทศในปี 2560 โดยมีงบประมาณและเจ้าหน้าที่บริหารของตนเอง จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในคณะทำงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพื่อปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กทางออนไลน์
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายว่าด้วยเรื่องแรงงานเด็ก ในปี 2560 พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น โดยร้อยละ 84 เป็นการตรวจแรงงานแบบไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการใช้แรงงานเด็กสูง เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม การผลิต เกษตรกรรมและปศุสัตว์ การก่อสร้าง สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร และบาร์ มีการละเมิดกฎหมาย เช่น การจ้างแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การทำงานที่อันตราย จำนวนชั่วโมงทำงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่แจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเมื่อมีการจ้างงานเด็ก
ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานเด็กมีประสิทธิผลจำกัด ได้แก่ พนักงานตรวจแรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอ ล่ามสำหรับการตรวจแรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอ วิธีการตรวจสอบไม่มีประสิทธิผลในการจัดการกับภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือสถานที่ประกอบการที่เข้าถึงได้ยาก (เช่น บ้านพักส่วนบุคคล สถานประกอบธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ไร่นา และเรือประมง) และแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้เยาว์จากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีเอกสารระบุตัวตนหรือสูติบัตรที่ทางการออกให้ นอกจากนี้ การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานแรงงานเด็กก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ทางการได้สำรวจการทำงานของเด็กจากทั่วประเทศในระหว่างปี แต่ยังไม่ได้เปิดเผยผลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
สามารถอ่าน รายงานผลการสำรวจรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกอบได้ที่ www.dol.gov/ilab/reports/child-labor/findings
ง. การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานและอาชีพ
กฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานไว้โดยชัดแจ้ง แต่กำหนดให้ลงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่ผู้กระทำผิดว่าด้วยการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจจ้างงานด้วย นอกจากนี้ มีกฎหมายอีกฉบับที่กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนจ้างลูกจ้างที่มีภาวะทุพพลภาพอย่างน้อยหนึ่งคนต่อสัดส่วนลูกจ้างทุก 100 คน
การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) แรงงานต่างด้าว และสตรี (ดูหมวดที่ 7.จ.) ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่าเป็นหญิงหรือชาย ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมีน้อย และสาเหตุหลักมาจากทักษะ ระยะเวลาการจ้างงาน ประเภทงานที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงข้อกำหนดตามกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้หญิงทำงานที่อันตราย อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. 2559 ว่าด้วยแรงงานต่างด้าวเพศหญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศ ระบุว่า แรงงานต่างด้าวเพศหญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานเพศชายเหมือนเช่นที่เป็นมาตลอด และแรงงานต่างด้าวเพศหญิงกว่ากึ่งหนึ่งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ทางการกำหนดด้วย โดยเฉพาะค่าล่วงเวลา
ผู้นำสหภาพแรงงานรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ถูกให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะได้รับกลับเข้าทำงานหลังจากที่สหภาพหรือองค์กรพัฒนาเอกชนได้ยื่นร้องเรียนแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ช่วยหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งยื่นข้อร้องทุกข์กับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง อ้างว่านายจ้างบังคับให้เธอลาออก ภายหลังเธอได้รับกลับเข้าทำงานอีกครั้ง
เมื่อเดือนกันยายน โรงเรียนนายร้อยตำรวจประกาศว่าจะไม่รับสมัครผู้หญิงเข้ามาเรียนอีกต่อไป ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเป็นผลเสียต่อศักยภาพของกองกำลังตำรวจในการตรวจสอบกรณีการละเมิดแรงงานหญิง นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนทุพพลภาพในเรื่องการจ้างงาน การเข้าถึงงาน และการอบรม
บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในประเทศไทยมักเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะอคติของคนทั่วไปและการไม่มีกฎหมายและนโยบายมารองรับเรื่องการเลือกปฏิบัติ พนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และทำงานจำกัดอยู่ในสาขาอาชีพเพียงไม่กี่สาขา เช่น ช่างเสริมสวย และผู้ให้ความบันเทิง
จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา อัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันมีทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 308 บาท (9.26 เหรียญสหรัฐ) ไปถึง 330 บาท (9.93 เหรียญ) ซึ่งแตกต่างกันไปตามค่าครองชีพของจังหวัด ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันดังกล่าวสูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่รัฐบาลคำนวณไว้ที่ 2,667 บาท (80 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน 3 เท่า ตัวเลขนี้มีการคำนวณครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2559
กฎหมายกำหนดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 48 ชั่วโมง หรือแปดชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาหกวัน และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พนักงานที่ต้องทำงาน “อันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และห้ามทำงานล่วงเวลา พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน และทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน
กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่บ้าน ต้องมีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย นอกจากนี้ ยังห้ามสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างแจ้งพนักงานถึงสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายตั้งแต่ก่อนจ้างงาน พนักงานไม่มีสิทธิพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อหน้าที่การงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้บังคับใช้กับพนักงานที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ งานรับใช้ตามบ้าน งานที่ไม่แสวงหากำไร และงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล กฎกระทรวงให้ความคุ้มครองบางประการแก่แรงงานรับใช้ตามบ้านในเรื่องเกี่ยวกับวันลา อายุขั้นต่ำ และการจ่ายค่าแรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงานปกติ ประกันสังคม หรือการลาคลอด
ยังคงมีช่องว่างด้านรายได้เป็นอย่างมากระหว่างการจ้างงานอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมได้รับค่าจ้างมากกว่าแรงงานในภาคเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยสามเท่า สถิติของรัฐระบุว่า ร้อยละ 55 ของแรงงานทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ โดยได้รับความคุ้มครองอย่างจำกัดภายใต้กฎหมายแรงงานและระบบประกันสังคม
มีรายงานว่า บริษัทขนาดเล็กในบางพื้นที่ (โดยเฉพาะพื้นที่ชนบนหรือบริเวณชายแดน) หรือในบางอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะ เกษตรกรรม การก่อสร้าง และการประมง) ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ค่าล่วงเวลา และค่าจ้างสำหรับวันหยุด สหภาพแรงงานประมาณการว่า ร้อยละ 5-10 ของลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ดี สัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสูงกว่าในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ค่อยขอรับการเยียวยาตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ทำงานและพำนักอยู่ในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกลัวว่าจะขาดรายได้เลี้ยงชีพ
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน กฎหมายกำหนดโทษปรับและโทษจำคุก หากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำนี้ยังมีความไม่คงเส้นคงวาอยู่ มีรายงานว่า มีหลายคดีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด และได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยที่คนงานตกลงที่จะระงับข้อพิพาท และอนุญาตให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระในอัตราที่ต่ำกว่าค่าแรงรายวันขั้นต่ำ
การละเมิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OSH) มีบทลงโทษคือจำคุกและปรับ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เชี่ยวชาญและการตรวจสอบด้าน OSH ยังไม่เพียงพอ การตรวจสอบส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากมีผู้ร้องเรียน ผู้นำสหภาพประมาณการว่า สถานประกอบการเพียงร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทต่างประเทศ ปฏิบัติตามมาตรฐาน OSH ของรัฐ
โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่มักดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ทางการกำหนด แต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยโดยรวมยังไม่เข้มงวด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้นำสหภาพตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล ได้แก่ จำนวนพนักงานตรวจแรงงานที่มีคุณภาพมีไม่เพียงพอ ใช้วิธีตรวจสอบทางเอกสารมากเกินไป (แทนที่จะตรวจสอบสถานประกอบการ) ไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่ยื่นคำร้องทุกข์ ไม่มีล่าม และไม่สามารถลงโทษนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล กระทรวงแรงงานได้จ้างและฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงานและล่ามภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ล่ามเหล่านี้ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ตรวจสอบตามท่าเรือประมงและทีมปฏิบัติงานสหสาขาวิชาชีพด้านการค้ามนุษย์
รัฐบาลมีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่พลเมืองทุกคน และโครงการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย และยังมีสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์และคนพิการ เงินช่วยเหลือบุตร และในกรณีที่เสียชีวิต ว่างงาน และเกษียณอายุ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนตลอดจนผู้อยู่ในอุปการะทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข
องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า คนงานก่อสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและแรงงานต่างด้าว ไม่มีชื่อในระบบประกันสังคม หรือไม่ได้รับการคุ้มครองจากโครงการกองทุนเงินทดแทน แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดไว้ก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ลูกจ้างทุกคนทำประกันสังคม แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น งานรับใช้ตามบ้าน เกษตรกรรมตามฤดูกาล และการประมง อย่างไรก็ดี ลูกจ้างที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างตามฤดูกาล หรือผู้ที่มีอาชีพอิสระ อาจสมทบเงินเข้าสู่โครงการกองทุนเงินทดแทนด้วยตนเองได้ และได้รับเงินสมทบจากกองทุนร่วมลงทุนรัฐบาล
องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า มีหลายกรณีที่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไม่มีประกันสังคมและไม่ได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากนายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับด้านเงินช่วยเหลือ หรือเนื่องจากแรงงานต่างด้าวไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ลูกจ้างแทบจะไม่เคยได้รับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน เนื่องจากความเจ็บป่วยบางอย่าง (เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะขาดวิตามินบี) มักจะพิสูจน์ได้ยากว่าเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ
มักจะถือกันว่าแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงเป็นแรงงานตามฤดูกาล ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงมิได้กำหนดให้มีประกันสังคมและค่าชดเชย อย่างไรก็ตาม ทางการกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนต้องซื้อประกันสุขภาพ การขาดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การปฐมพยาบาล และระบบที่นำแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุร้ายแรงไปส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา ที่เพียงพอ ยิ่งทำให้แรงงานประมงเปราะบางมากเป็นพิเศษ องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า มีหลายกรณีที่แรงงานต่างด้าวได้รับเพียงแค่ค่าสินไหมทดแทนขั้นต่ำกรณีทุพพลภาพระหว่างปฏิบัติหน้าที่
องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า แรงงานต่างด้าว รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานใกล้จุดผ่านแดน ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ค่อยดีและไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงาน เมื่อเดือนกรกฎาคม พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว เพื่อกำกับดูแลการจ้างงาน การสรรหา และการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ พระราชกำหนดฉบับนี้กำหนดบทลงโทษทางแพ่งที่รุนแรงกับผู้ที่ว่าจ้างหรือให้ที่พักอาศัยแก่แรงงานต่างดาวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และยกระดับความคุ้มครองแรงงาน ด้วยการห้ามมิให้นายหน้าจัดหาแรงงานและนายจ้างไทยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดหางานเพิ่มเติมกับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ยังห้ามมิให้ทำสัญญาจ้างเหมา ห้ามมิให้นายจ้างยึดเอกสารของแรงงานต่างด้าว และห้ามมิให้ผู้ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ ประกอบธุรกิจสำนักงานจัดหางาน ระหว่างช่วงหกเดือนแรกของปี ทางการร่วมกับรัฐบาลพม่า กัมพูชา และลาว ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาระบุตัวตน และออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเหล่านี้กว่า 1 ล้านคน
บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานใช้ “ระบบสัญญาจ้างเหมางาน” โดยคนงานจะเซ็นสัญญาเป็นรายปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่คนงานที่ทำสัญญาเหมา อย่างไรก็ดี นายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างแก่คนงานที่ทำสัญญาเหมาน้อยกว่าและให้สวัสดิการน้อยกว่าหรือไม่ให้เลย
องค์กรพัฒนาเอกชนตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหนี้ในท้องถิ่นซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงเพื่อให้คนงานนำไปจ่ายค่าหัวคิวซึ่งบางครั้งอาจสูงถึง 500,000 บาท (15,000 เหรียญสหรัฐ) กรมการจัดหางานออกกฎจำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุดในการจัดหางาน ทว่า การบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเป็นเรื่องยากและทำได้ไม่มากพอเนื่องจากแรงงานไม่เต็มใจให้ข้อมูลและขาดเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดหางานใต้ดินและค่าธรรมเนียมเอกสาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการอพยพ สำนักงานจัดหางานที่แสวงหาผลประโยชน์จากพลเมืองไทยที่ทำงานในต่างประเทศยังคงคิดค่าธรรมเนียมการจัดหางานเป็นจำนวนเงินที่สูงและผิดกฎหมาย ซึ่งมักสูงเทียบเท่ากับรายได้ปีแรกและปีที่สองของการทำงานรวมกัน
ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลล่าสุด มีรายงานการเจ็บป่วยและบาดเจ็บในสถานประกอบการ 86,278 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมรายงานว่า อุบัติเหตุร้ายแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงงานผลิต อุตสาหกรรมการค้าส่งและปลีก การก่อสร้าง การคมนาคม โรงแรม และร้านอาหาร ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า มีการรายงานอุบัติเหตุในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและภาคเกษตรกรรม และอุบัติเหตุในกลุ่มแรงงานต่างด้าวน้อยกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ผู้ที่เจ็บป่วยอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาชีพมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือเงินชดเชยจากนายจ้าง อีกทั้งมีแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้จำนวนน้อยมาก