รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2560

ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง)

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้พยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว ในช่วงการทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลไทยได้แสดงความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดำเนินการยึดทรัพย์จากนักค้ามนุษย์กว่า 784 ล้านบาท (21.91 ล้านเหรียญสหรัฐ) รายงานการสอบสวน การดำเนินคดี และการพิพากษาโทษ โดยพิพากษาโทษเจ้าของธุรกิจรายหนึ่งที่มีส่วนในการบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง และขยายระยะเวลาที่อนุญาตให้เหยื่อและพยานการค้ามนุษย์ชาวต่างด้าวพำนักและทำงานในไทย รัฐบาลยังคงเพิ่มทรัพยากรในด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์และอนุมัตินโยบายอนุญาตให้จ้างชาวต่างด้าวทำหน้าที่ล่ามเพื่อเพิ่มจำนวนล่ามให้แก่การตรวจสอบและการสัมภาษณ์แรงงาน รัฐบาลใช้แนวทางใหม่ในการปรับปรุงกระบวนการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์โดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการและจัดอบรมการปราบปรามการค้ามนุษย์แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาการทำรายงานนี้ รัฐบาลไม่ได้แสดงว่า มีความพยายามมากกว่าในช่วงเวลาการทำรายงานก่อนหน้า   รัฐบาลไม่ได้จริงจังในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และการที่เจ้าหน้ารัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ทางการระบุน้อยกว่าในช่วงเวลาการทำรายงานก่อนหน้า และถึงแม้ว่ามีการสอบสวนคดีบังคับใช้แรงงานมากขึ้น แต่จำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์มีน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา แม้ว่ารัฐบาลยังคงเพิ่มจำนวนศูนย์ตรวจสอบบริเวณท่าเรือประมง แต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีจำนวนคนที่ถุกระบุว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์รวมทั้งการสอบสวนคดีอาชญากรรมกลับมีไม่มาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ไทยควรสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งดำเนินการพิพากษาและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด ไทยควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้อพยพ ชาวประมง บุคคลไร้สัญชาติ เด็กและผู้ลี้ภัย ไทยควรดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้วยการใช้แนวทางที่เน้นผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นศูนย์กลาง เพิ่มการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรกที่ไม่ได้อยู่ในหน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์และไม่สามารถระบุกรณีการบังคับใช้แรงงานซึ่งไม่มีการขู่เข็ญบังคับโดยกำลัง รวมถึงสานต่อการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมและเพิ่มทรัพยากรทรัพยากรสำหรับคณะทำงานพหุวิทยาการและผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานเพื่อพัฒนาสมรรถนะการตรวจสอบเรือประมงอันจะทำให้สามารถตรวจหาสิ่งบ่งชี้ผู้ตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนการสอบสวนอาชญากรรมได้ดีขึ้น ไทยควรเพิ่มแรงจูงใจให้เหยื่อค้ามนุษย์ร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเสนอทางเลือกอื่นที่ถูกกฎหมายให้แก่เหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างด้าว นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก การให้โอกาสเหยื่อได้ทำงาน และการให้บริการคุ้มครองพยานแก่เหยื่อ ตลอดจนถึงการให้ค่าสินไหมชดเชยแก่เหยื่อโดยใช้เงินจากกองทุนที่ได้จากการริบทรัพย์หรือเงินทุนอื่นๆ ไทยควรดำเนินแนวทางใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์และการสัมภาษณ์เหยื่อให้มีความคงเส้นคงวา อีกทั้งควรกำหนดระเบียบและตรวจสอบวิธีการจัดหาแรงงานสำหรับคนงานต่างด้าวและสิ่งบ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ ไทยควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสอบสวนและรายงานคดีการค้ามนุษย์ เพิ่มและปรับปรุงการดำเนินงานการสร้างความตระหนักรู้การต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่นายจ้างและผู้ใช้บริการธุรกิจทางเพศด้วย เช่น นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจด้านประเวณี ไทยควรยกระดับสิทธิ สถานะทางกฎหมาย และนโยบายการเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวเพื่อลดความเสี่ยงการค้ามนุษย์ให้น้อยที่สุด

การดำเนินคดี

รัฐบาลยังคงดำเนินความพยายามบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ฉบับแก้ไขปี พ.ศ. 2559 ระบุห้ามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบโดยถือว่าเป็นความผิดมีระวางโทษจำคุกสูงสุด 12 ปีและปรับสูงสุดไม่เกิน 1,200,000 บาท (33,550 เหรียญสหรัฐ) และมีระวางโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีสำหรับความผิดค้าเด็ก ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงพอควรและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่น การข่มขืน บทแก้ไขยังขยายคำจำกัดความของการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบให้รวมถึง “การเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส” และคำนิยามของแรงงานบังคับใช้ให้รวมถึงพันธนาการหนี้ด้วย   พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 กำหนดบทลงโทษใหม่ คือ ระวางโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีสำหรับการเกณฑ์ จ้าง สนับสนุน ส่งเสริม หรือมุ่งหาผลผระโยชน์จากขอทาน ซึ่งรวมถึงบทลงโทษเจ้าพนักงานที่มีส่วนรู้เห็นในการบังคับขอทานด้วย

รัฐบาลรายงานว่าได้ดำเนินการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 333 คดี (เทียบกับ 317 คดี ในปีพ.ศ. 2558) โดยดำเนินคดี 301 คดี (เทียบกับ 251 คดี ในปีพ.ศ. 2558) ผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 600 ราย (เทียบกับ 690 ราย ในปีพ.ศ. 2558) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 268 ราย (เทียบกับ 205 ราย ในปีพ.ศ. 2558) แม้จะมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานว่า มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานเพียง 83 กรณี (เทียบกับ 72 กรณีในปีพ.ศ. 2558) และดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ที่บังคับใช้แรงงานเพียง 62 กรณี รัฐบาลไม่ได้รายงานแยกย่อยจำนวนคดีที่มีการพิพากษาโทษอันเนื่องจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ   ร้อยละ 57 (เทียบกับร้อยละ 64 ในปีพ.ศ. 2558) ของนักค้ามนุษย์ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดรับโทษจำคุกเกินห้าปี และร้อยละ 82 (เทียบกับร้อยละ 84 ในปี พ.ศ. 2558) รับโทษจำคุกเกินสามปี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รายงานว่า ได้ยึดทรัพย์กว่า 784 ล้านบาท (21.91 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 9 คดี ในปี พ.ศ. 2559 เทียบกับ 210 ล้านบาท (5.87 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีพ.ศ. 2558 ไม่มีรายงานว่า เงินจำนวนนี้นำไปเพื่อฟื้นฟูและชดใช้ความเสียหายแก่เหยื่อหรือในการดำเนินมาตรการป้องกันอื่นๆ นอกจากนี้ ศาลแพ่งสั่งยึดเงิน 87 ล้านบาท (2.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) ใน 6 คดี รัฐบาลตรวจสอบเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง และนายหน้าเพื่อสอบสวนการค้าแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงใน 43 กรณี (เทียบกับ 39 ในปี 2558) สืบเนื่องจากผลการสอบสวน มีเจ้าของเรือ 5 คน ไต้ก๋ง 36 คน และบุคคลอื่นๆ อีก 26 คนถูกจับกุม และได้ดำเนินคดีไปแล้ว 37 คดี โดยในคดีหนึ่งเจ้าของเรือและบุคคลอีก 5 คนถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานค้ามนุษย์และต้องโทษจำคุก 14 ปีเนื่องจากมีส่วนพัวพันในการบังคับใช้แรงงานเด็กบนเรือประมง ส่วนอีกสี่คนได้รับการยกฟ้อง กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพิพากษาลงโทษเจ้าของกิจการที่มีส่วนพัวพันในการ บังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงในไทย จากการสอบสวนทั้งหมด 23 กรณีที่เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในหมู่เกาะอัมบนและเบนจินาในอินโดนีเซีย ทางการได้ดำเนินคดี 21 กรณีในปี 2559 และพิพากษาโทษ 4 คดี ยกฟ้อง 3 คดี

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยร่วมมือกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนนักค้ามนุษย์ชาวไทยและเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณีสัญชาติไทยที่อยู่ต่างประเทศ ตลอดจนบุคคลต่างด้าวที่เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ในไทย เป็นผลให้มีการจับกุมบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์อย่างน้อย 41 คนในปี พ.ศ. 2559

รัฐบาลให้เงินสนับสนุนการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมายการค้ามนุษย์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายจำนวน 799 คนส่วนด้านการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ ทางการแต่งตั้งพนักงานอัยการเพิ่มขึ้นและจัดตั้งหน่วยย่อยภายในสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย พนักงานอัยการและพนักงานศาลในจังหวัดต่างๆ รัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ศาลทุกศาลรายงานคดีที่เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์เข้าในฐานข้อมูลรวม ซึ่งเริ่มใช้ได้ในปี 2559 ศูนย์ฝึกอบรมระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยกว่า 2,000 นาย นอกจากนี้ ผู้พิพากษาและพนักงานอัยการกว่า 300 คนได้รับการอบรมขั้นตอนการดำเนินคดีและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี ในบางกรณี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุดแรก อัยการและผู้พิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับใช้และตีความกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน มีข้อน่าสังเกตคือ องค์การนอกภาครัฐติดตามความคืบหน้าคดีหนึ่งในจังหวัดระนองอย่างใกล้ชิด โดยคดีนี้เกี่ยวกับการกระทำทารุณทางกายและวาจาในภาคอุตสาหกรรมการประมงซึ่งอาจจะกลายเป็นคดีตัวอย่างสำหรับการตีความนิยามการค้ามนุษย์ในอนาคต

ห้วงเวลาการทำรายงานฉบับนี้เป็นช่วงเดียวกับการทำงานครบหนึ่งปีเต็มของแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา สำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุด และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2559 กำหนดวิธีพิจารณาระบบไต่สวนคดีค้ามนุษย์ใหม่ โดยให้ศาลอาญามีอำนาจดำเนินการไต่สวนคดีตลอดจนสั่งการเรียกค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้ศาลใช้คำเบิกความของพยานก่อนการพิจารณาคดีและใช้การประชุมทางจอภาพในการการถามค้านพยาน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การประกันตัวที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปได้ ในช่วงที่จัดทำรายงานฉบับนี้ ศาลสะสางคดีคั่งค้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และจัดการลดจำนวนคดีคั่งค้างจากปี พ.ศ. 2558 เหลือหกคดี เหยื่อค้ามนุษย์บางคนลังเลที่จะเข้าร่วมในกระบวนการดำเนินคดีเนื่องจากกลัวถูกกักตัว ขาดความเข้าใจกระบวนการทางกฎหมายของไทยอย่างเพียงพอ มีอุปสรรคด้านภาษา และเลือกที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศมากกว่าอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้ต้องสละโอกาสหาเลี้ยงชีพ รัฐบาลยังคงเพิ่มทรัพยากรและใช้กฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุให้การครอบครองและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด เพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเด็กโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่คณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชน (Thailand Internet Crimes Against Children Task Force – TICAC) สืบสวนข้อกล่าวหากรณีการแสวงประโยชน์จากเด็ก 64 กรณี ซึ่งร่วมถึงกรณีค้ามนุษย์สี่กรณี คณะทำงานฯ ร่วมเป็นพันธมิตรกับศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (Children Advocacy Center) และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำศูนย์ทั้งสองแห่ง ตลอดจนลงนามในข้อตกลงกับองค์การนอกภาครัฐแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ให้ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลคดีการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กได้โดยตรง

รัฐบาลมีความพยายามดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาข้าราชการมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลยื่นฟ้องทางอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ 10 คน เทียบกับ 34 คนในปี พ.ศ. 2558 ทางการสอบสวนและตั้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นายที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ เจ้าหน้าที่หนึ่งนายถูกสั่งให้ออกจากราชการ ส่วนอีกเก้านายยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐเมื่อถึงช่วงสิ้นสุดการจัดทำรายงาน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ทางการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มอีกหกนาย รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นหนึ่งคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมค้ามนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มการสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการแสวงประโยชน์จากเด็กผ่านการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศในจังหวัดหนึ่ง ในช่วงที่จัดทำรายงานฉบับนี้ จากเจ้าหน้าที่รวม 34 คนที่ถูกสอบสวนเบื้องต้นเมื่อปี 2557 หรือ 2558 มีสองคนถูกพิพากษาความผิดฐานค้ามนุษย์และอีกหนึ่งคนมีความผิดฐานเป็นผู้รับผิดชอบจัดหา ได้รับโทษจำคุก 36 ปี และจำคุก 16 ปี ปรับ 360,000 บาท (10,060 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกสองปีหกเดือน ปรับ 75,000 บาท (2,100 เหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ มีการยกฟ้องคดีของเจ้าหน้าที่หนึ่งคน และยังคงอยู่ระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาดำเนินคดีรวม 29 คน กระบวนการพิจารณาคดียังคงดำเนินอยู่สำหรับคดีเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ 22 คน ซึ่งรวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งและเจ้าหน้าที่อีกหลายคน ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าผู้อพยพชาวโรฮีนจา ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินมูลค่า 11.1 ล้านบาท (310,320 เหรียญสหรัฐ) จากนายทหารคนดังกล่าวและนักการเมืองท้องถิ่นอีกหนึ่งคน

การคุ้มครอง

รัฐบาลยังคงดำเนินความพยายามในการระบุตัวและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ รัฐบาลระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวน 824 รายในปี พ.ศ. 2559 เทียบกับ 982 รายในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อ 561 รายที่สถานพักพิงชั่วคราว 76 แห่งและสถานพักพิงระยะยาวของทางการเก้าแห่งในปี พ.ศ. 2559 (เทียบกับ 471 รายในปี พ.ศ. 2558) ซึ่งรวมเหยื่อชาวไทย 207 ราย (มี 126 รายในปี พ.ศ. 2558) และเหยื่อชาวต่างชาติ 360ราย (มี 345 รายในปี พ.ศ. 2558) เหยื่อ 317 รายเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้แรงงาน และเหยื่อ 244 รายเป็นเหยื่อการค้าประเวณี ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention against Trafficking in Persons, especially women and children – ACTIP) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ร่วมร่างอนุสัญญานี้ขึ้นมา และลงนามแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Plan of Action against Trafficking in Persons, Especially Women and Children – APA) ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่มีส่วนร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการซึ่งมีหน้าที่คัดกรองหาข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงได้ใช้ชุดคำถามมาตรฐานในการสัมภาษณ์ผู้ที่มีความเป็นได้ว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ องค์การนอกภาครัฐบางแห่งยืนยันว่ารัฐบาลได้ปรับปรุงความสอดคล้องคงเส้นคงวาในการใช้ชุดคำถามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มีองค์การนอกภาครัฐภายในประเทศอย่างน้อยหนึ่งแห่งตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการตามกระบวนการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์อาจไม่สอดคล้องกันกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในต่างประเทศ ในการแก้ปัญหาของการมีประสิทธิผลในระดับที่แตกต่างกันระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการ รัฐบาลได้นำแนวปฏิบัติใหม่มาใช้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศระบุว่า การให้ระยะเวลาไม่นานเพื่อระบุตัวเหยื่อค้ามนุษย์เป็นการจำกัดการคัดกรองเชิงรุกและอาจนำไปสู่การมีเหยื่อที่ไม่ได้รับการระบุตัว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยปราบปรามการค้ามนุษย์โดยเฉพาะมักจะสามารถระบุเหยื่อการค้ามนุษย์ได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่ง มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการช่วยเหลือในตอนต้นซึ่งขาดการอบรมเรื่องการค้ามนุษย์ได้นำเหยื่อที่ไม่ได้รับการระบุตัวไปไว้ที่ห้องกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบางรายล้มเหลวในการตรวจพบข้อบ่งชี้ในรูปแบบนอกเหนือจากทางกายภาพที่แสดงถึงการค้ามนุษย์ ผู้ตรวจสอบแรงงานอาจต้องรับผิดส่วนบุคคลต่อการถูกเรียกร้องว่าใช้อำนาจโดยมิชอบได้ ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถและความเต็มใจในการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขา นอกจากการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแล้ว รัฐบาลให้การอบรมแก่สมาชิกของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการ ผู้ตรวจสอบแรงงาน เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และล่ามกว่า 2,500 คนในการระบุอัตลักษณ์ของเหยื่อและระบบส่งต่อเหยื่อ

รัฐบาลยังคงดำเนินการคัดกรองหาข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ในกลุ่มชาวประมงที่เดินทางกลับประเทศไทยและที่ทำงานอยู่บนเรือประมงในน่านน้ำไทย ตลอดจนในกลุ่มแรงงานโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ผู้สังเกตการณ์ขององค์การนอกภาครัฐระบุว่า การตรวจสอบทั้งที่ท่าเรือและในทะเลที่ปฏิบัติการโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ส่งผลให้มีการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ได้จำนวนไม่มาก ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าในระหว่างช่วงที่ทำรายงานนี้ มีการสัมภาษณ์ต่อหน้าไต้ก๋งเรือหรือมีไต้ก๋งเรือทำหน้าที่เป็นล่ามให้ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้แรงงานพูดได้อย่างอิสระและอาจนำไปสู่การมีเหยื่อที่ไม่ได้รับการระบุตัว มีผู้รายงานว่าขั้นตอนการตรวจสอบมักมีเพียงแค่การตรวจทานเอกสารเท่านั้น และในบางกรณีมีรายงานว่าผู้ตรวจสอบไม่ได้ลงเรือประมงหรือพูดคุยกับลูกเรือประมง ในการปฏิบัติตามข้อแนะนำจากองค์การนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลรายงานความพยายามในการขยายการตรวจสอบเพื่อสัมภาษณ์แรงงานโดยไม่มีนายจ้างร่วมด้วย ใช้แบบฟอร์มสัมภาษณ์ที่เป็นมาตรฐาน และทำกระบวนการจัดเอกสารให้เป็นอัตโนมัติเพื่อเพิ่มทรัพยากรให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ องค์การระหว่างประเทศระบุว่า แรงงานมักไม่กล้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นหรือการกระทำทารุณแก่เจ้าหน้าที่รัฐจนกว่าจะสัมภาษณ์พูดคุยกันหลายครั้งแล้ว และองค์การแห่งหนึ่งรายงานการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งถูกแสวงประโยชน์บนเรือประมงและไม่เคยได้รับการระบุตัวโดยรัฐบาลว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในระหว่างการตรวจสอบของ ศปมผ.

การขาดแคลนล่ามและประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของล่ามบางภาษาจำกัดความพยายามของทางการในการคัดกรองและคุ้มครองเหยื่อ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ว่า บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยสามารถได้รับว่าจ้างเป็นล่ามสำหรับการตรวจแรงงานและการสัมภาษณ์ได้ ทางการจดทะเบียนและอบรมล่ามเพิ่มอีก 115 คนในปี พ.ศ. 2559 และจ้างล่าม 11 คนเมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 รวมมีล่าม 265 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดอบรมทบทวนทักษะความรู้แก่ล่ามปัจจุบันจำน 63 คน นอกจากนี้ รัฐบาลยังริเริ่มจ้างล่ามเพิ่มเติมสองคนสำหรับศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกแต่ละแห่งทั้ง 32 แห่ง โดยจ้างแล้ว 49 คนเมื่อสิ้นสุดช่วงการจัดทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลยังคงส่งตัวเหยื่อไปยังสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่งหรือสถานพักพิงระยะยาวเก้าแห่งที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรับบริการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ การทดแทนค่าเสียหาย ความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนการจ้างงาน รัฐบาลร่วมมือกับองค์การนอกภาครัฐเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (Children Advocacy Center) แห่งที่สองขึ้นที่พัทยาเพื่อเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการรองรับเด็กสำหรับให้ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย องค์การนอกภาครัฐ และนักสังคมสงเคราะห์สามารถสัมภาษณ์เด็กที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ด้วยแนวทางที่เน้นเหยื่อเป็นศูนย์กลาง พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานระบุให้มีการบริการด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์สำหรับผู้ทำการขอทาน ซึ่งบางคนอาจเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รัฐบาลและกลุ่มประชาสังคมร่วมเป็นพันธมิตรเปิดศูนย์บริการสำหรับชาวประมงเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ การฝึกอบรมทักษะ การตรวจสุขภาพและข้อมูลอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลเบิกจ่ายเงิน 5.8 ล้านบาท (162,150 เหรียญสหรัฐ) จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลเพื่อมอบให้เหยื่อ 648 คน (เทียบกับ 472 คนในปี พ.ศ. 2558) เหยื่อค้ามนุษย์ 73 คนได้รับการชดใช้ทางแพ่งจากผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์และภายใต้กฎหมายแรงงานเป็นจำนวน 5.45 ล้านบาท (152,360 เหรียญสหรัฐ) และเหยื่อค้ามนุษย์ 23 คนได้รับค่าตอบแทนความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาจากรัฐบาลเป็นจำนวนรวม 455,000 บาท (12,720 เหรียญสหรัฐ) ในกรณีที่มีความซับซ้อน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าจ้างทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเป็นทนายฝ่ายผู้เสียหาย รวมถึงเข้าร่วมการสัมภาษณ์ ประสานงานและเตรียมพยานสำหรับการพิจารณาคดี ภายหลังจากที่มีผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 รวมทั้งค้นพบค่ายร้างและสุสานหมู่ของขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง/ค้ามนุษย์บริเวณพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีชาวโรฮีนจายังคงอยู่ในประเทศไทย 202 คนเมื่อสิ้นสุดช่วงรายงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีเหยื่อค้ามนุษย์อย่างน้อย 49 คน ระหว่างช่วงที่จัดทำรายงานฉบับนี้ เหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา 69 คนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามและชาวบังกลาเทศ 15 คนได้รับการส่งตัวกลับประเทศภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) ผู้ที่อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ไม่ได้รับการระบุตัวคนอื่นๆ เช่น ชายและเด็กชาวโรฮีนจาและผู้ที่ไม่สามารถระบุสัญชาติได้ยังคงอยู่ในศูนย์กักกันคนต่างด้าว โดยบางคนเป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งปี แม้ว่าศูนย์เหล่านี้จะกำหนดให้อยู่ได้สูงสุด 15 วัน

องค์การนอกภาครัฐรายงานถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเด็กต่างด้าวที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยครอบครัวมีส่วนสมรู้ร่วมคิดหรือเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เด็กผู้ชายมีโอกาสถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจมากกว่าจะได้รับการดูแลเฉพาะทาง แม้รายงานฉบับก่อนๆ จะระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการรับรองความปลอดภัยของพยานเสมอไป องค์การนอกภาครัฐในท้องถิ่นบางองค์การระบุว่า ในช่วงการจัดทำรายงานฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการปฏิบัติตามกระบวนการอย่างเคร่งครัดในคดีที่มีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อได้รับความกระทบกระเทือนมากขึ้นไปอีก รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการรับรองว่าเหยื่อค้ามนุษย์ที่บรรลุนิติภาวะแล้วจะสามารถเดินทาง ทำงานและพำนักนอกอาณาเขตที่พักพิงได้ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ในปี พ.ศ. 2559 เหยื่อค้ามนุษย์ในสถานพักพิงของรัฐร้อยละ 35 ทำงานนอกสถานพักพิง (เทียบกับร้อยละ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2558) เหยื่อต่างด้าวในสถานพักพิงของรัฐ 196 คนจาก 561 คนได้รับการจ้างงานในหรือนอกสถานพักพิงระหว่างระยะเวลาดำเนินคดีตามกฎหมาย (เทียบกับ 47 คนเมื่อปี พ.ศ. 2558) ส่วนคนอื่นๆ มีทั้งที่อยู่ในขั้นตอนการส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นทางการ อยู่ในช่วงฟื้นฟู เลือกที่จะไม่ทำงาน หรืออายุน้อยเกินกว่าจะทำงาน เหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นชายชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 14 คนได้ทำงานนอกสถานพักพิงระหว่างช่วงที่จัดทำรายงาน อย่างไรก็ตาม เหยื่อชายอีกหลายคนที่ไม่สามารถยืนยันสัญชาติได้รวมถึงในหมู่ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกสถานพักพิง รัฐบาลอนุมัติเบี้ยรายวันวันละ 300 บาท (8.39 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยให้แก่เหยื่อค้ามนุษย์ในสถานพักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ประสงค์จะทำงานแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลด้านความปลอดภัยหรือรอโอกาสทำงานอยู่ รวมถึงเหยื่อบางคนที่ประสงค์จะทำงานแต่ไม่ได้อยู่ในสถานพักพิงของกระทรวงฯ รัฐบาลไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นที่ถูกกฎหมายให้แก่เหยื่อค้ามนุษย์ที่ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากเมื่อถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ทางการอำนวยความสะดวกในการส่งตัวเหยื่อกลับประเทศรวม 323 คน (เทียบกับ 401 คนเมื่อปี พ.ศ. 2558) ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยที่ถูกแสวงประโยชน์ในต่างประเทศ 80 คนและชาวต่างประเทศที่ถูกแสวงประโยชน์ในไทย 243 คน โดยดำเนินการผ่านกระบวนการระหว่างรัฐต่อรัฐหากเหยื่อไม่ยินยอมให้การหรือดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับประเทศให้เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทย 30 คนจากเกาะอัมบนและเกาะเบนจินาของอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2559 และช่วยเหยื่อเหล่านี้เรียกร้องค่าแรงหรือค่าเสียหายทางแพ่งจากนายจ้าง รัฐบาลขยายระยะเวลาที่อนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์และพยานที่เป็นบุคคลต่างด้าวสามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยได้ ในช่วงการจัดทำรายงานครั้งที่แล้ว รัฐบาลได้ขยายกำหนดจากเดิมหกเดือนเป็นหนึ่งปี และอนุญาตให้เหยื่อที่เป็นบุคคลต่าวด้าวต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้หลังคดีสิ้นสุดลง รวมถึงปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตทำงานให้กระชับยิ่งขึ้น จากเดิมใช้เวลา 45 วันให้เหลือ 10 วัน และระบุว่า พยานทุกคนในคดีค้ามนุษย์มีสิทธิโดยอัติโนมัติในการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน เหยื่อและพยานในคดีค้ามนุษย์ 335 คนได้รับประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ขยายระยะเวลาอนุญาตพำนักสำหรับเหยื่อและพยานในคดีค้ามนุษย์เพิ่มเป็นสองปี และอนุญาตให้เหยื่อและพยานทำงานในทุกภาคกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้จำกัดเฉพาะงานในภาคการใช้แรงงานและงานรับใช้ในบ้าน ทางการได้ให้สิทธินี้แก่เหยื่อค้ามนุษย์แล้วสองคนนับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 เหยื่อและพยานทุกคนที่เข้าสถานพักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อยู่ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเดิมที่อนุมัติเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 แต่มีสิทธิขอขยายระยะเวลาสถานภาพการพำนักชั่วคราวได้ครั้งละหนึ่งปีเป็นรายปีไป

กฎหมายคุ้มครองเหยื่อจากการถูกดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินกระบวนการคัดแยกเหยื่อของรัฐบาลไทยมีข้อบกพร่อง อีกทั้งความพยายามเชิงรุกของทางการในการจับกุมและส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เหยื่อเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกและถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชญากร องค์การนอกภาครัฐในท้องถิ่นองค์การหนึ่งรายงานว่า ทางการจับกุมเด็กที่เป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงและกักตัวเด็กเหล่านี้ในสถานพินิจ รวมถึงดำเนินคดีกับเด็กเหล่านี้ในข้อหาเกี่ยวกับการเข้าเมือง การค้าประเวณี และการทำประมงผิดกฎหมาย อีกทั้งดำเนินคดีกับผู้หญิงจากยุโรปและแอฟริกาในความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมืองหลังจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุได้ว่าหญิงเหล่านี้เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ นักเคลื่อนไหวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพิพากษาลงโทษนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานคนหนึ่งด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยนักเคลื่อนไหวระบุว่าการกระทำเช่นนี้มีผลในการปิดปากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ และเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาวิจัยเรื่องการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทาน ความเคลื่อนไหวนี้ยังขัดขวางบรรยากาศที่เอื้อต่อการตรวจพบและรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ การระบุอัตลักษณ์และคุ้มครองเหยื่อ รวมถึงการจับกุมนักค้ามนุษย์เพิ่มเติมอีกด้วย รัฐบาลแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์เมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแส แต่ไม่ได้รายงานว่ามีการนำบทบัญญัตินี้ไปมาใช้ปฏิบัติแล้วหรือไม่

การป้องกัน

รัฐบาลคงความพยายามป้องกันการค้ามนุษย์ โดยจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นจากเดิม 2,080 ล้านบาท (58.15 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2559 เป็น 2,580 ล้านบาท (72.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 675.25 ล้านบาท (17.49 ล้านเหรียญสหรัฐ) แก่ศปมผ. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับใช้ในภาคการประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล รัฐบาลจัดโครงการรณรงค์ผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสังคมออนไลน์ ป้ายโฆษณาและเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างเสริมความตระหนักแก่ประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำและความหลากหลายทางภาษาของประชากรกลุ่มเสี่ยงทำให้คนกลุ่มนี้จำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงานจัดบริการโทรศัพท์สายด่วนโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้ภาษาต่างประเทศได้คล่อง ในปี พ.ศ. 2559 สายด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับโทรศัพท์ 269 สายที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่อาจเป็นการค้ามนุษย์ ในปีเดียวกันนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพิ่มจำนวนล่ามทางโทรศัพท์สายด่วนเป็น 43 คน ส่วนกระทรวงแรงงานจัดเตรียมล่ามทางโทรศัพท์สายด่วนของกระทรวงฯ ไว้ 15 คน ในด้านการป้องกันการค้าเด็ก ศูนย์ช่วยเหลือเด็ก (Children Advocacy Center) ทั้งสองแห่งให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์รวมถึงให้การดูแลในภาวะเร่งด่วนแก่เด็กกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีบริการรับดูแลเด็กที่ศูนย์บริการสำหรับชาวประมงด้วย

พระราชกำหนดที่เพิ่มระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 (และมีการออกกฎกระทรวงกำหนดแนวทางการปฏิบัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559) ซึ่งเพิ่มนิยามกลไกการเข้าประเทศไทยสำหรับแรงงานต่างด้าวทั้งแบบผ่านนายจ้างโดยตรงหรือผ่านสำนักงานจัดหางาน ตามระเบียบใหม่นี้ สำนักงานจัดหางานต้องขอรับใบอนุญาตจากรัฐบาลและวางหลักประกันซึ่งจะนำเข้าสู่กองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร สำนักงานจัดหางานที่ไม่ได้จดทะเบียนมีโทษจำคุกสามปีและ/หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท (1,680 เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ยังกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมจัดหางานและค่าเดินทาง จากข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 มีสำนักงานจัดหางานจากกัมพูชา ลาว และพม่า ได้รับใบอนุญาตแล้ว 59 แห่ง และมีนายจ้าง 2,697 รายยื่นขอใบอนุญาตภายใต้ระเบียบใหม่นี้ รัฐบาลจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานสามศูนย์เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางที่เป็นทางการตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) รวมทั้งตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 ศูนย์ ศูนย์เหล่านี้ให้ความช่วยเหลือแรงงาน 105,647 คนระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยให้ข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และช่วยอำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ในการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล รัฐบาลจดทะเบียนและออกใบอนุญาตทำงาน (“บัตรชมพู”) แก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร 45,441 คนในภาคการประมงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 และอีก 143,528 คนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 เพื่อพยายามทำให้แรงงานเหล่านี้มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า คณะทำงานพหุวิทยาการและผู้ตรวจแรงงานบางส่วนเข้าใจว่าแรงงานที่ถือบัตรชมพูจะไม่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือทำงานในสภาพที่ถูกแสวงประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่ความคลาดเคลื่อนในการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ในปีพ.ศ. 2559 รัฐบาลพบการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสำนักงานจัดหาแรงงานเก้าแห่งจาก 202 แห่งที่อำนวยความสะดวกด้านการจ้างงานทั้งต่างประเทศและในประเทศ จากกรณีเหล่านี้ รัฐบาลระงับใบอนุญาตประกอบการของสำนักงานสามแห่งและยื่นฟ้องคดีอาญากับสำนักงานหกแห่ง รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับนายหน้าผิดกฎหมาย 108 รายใน 91 คดีซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานไทย 187 คน ภายใต้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน

ช่องว่างประการสำคัญในกฎหมายแรงงานไทยที่กีดกันไม่ให้แรงงานต่างชาติรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจมีส่วนทำให้การแสวงประโยชน์ยังคงเกิดขึ้น นอกจากนี้ องค์การนอกภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศยังรายงานในวงกว้างว่า รัฐบาลยังดำเนินการไม่เพียงพอในการบังคับใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก   รัฐบาลยังคงดำเนินความพยายามลดค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานไทยในต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการแรงงานชั่วคราว (guest worker) อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยบางคนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมากเกินควรเพื่อให้ได้งานในต่างประเทศ และรัฐบาลยังกำกับดูแลประเด็นนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนัก ทำให้แรงงานเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดอยู่ในพันธนาการหนี้หรือสภาพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้ว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบการย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กลไกนี้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งเกี่ยวพันกับการทุจริตในทั้งสองฝากฝั่งพรมแดน อีกทั้งมีข้อมูลไม่เพียงพอ กระบวนการใช้เวลานาน และมีความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลลดระยะเวลาดำเนินการสำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบดังกล่าวแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2559 รวมถึงรายงานว่าได้เพิ่มความยืดหยุ่นในบางส่วนให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไร่อ้อย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานแปรรูปกุ้งและปลา ฟาร์มสุกรและฟาร์มสัตว์ปีก รวม 1,346 ครั้งในปี พ.ศ. 2559 พบการกระทำผิด 136 กรณี โดยได้ดำเนินการทางกฎหมายสามกรณีและเรียกเก็บค่าปรับ 45,000 บาท (1,260 เหรียญสหรัฐ) ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกเพิ่มอีกสี่แห่งในปี พ.ศ. 2559 (รวมทั้งหมด 32 แห่ง) และเปิดจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้าเพิ่มอีก 19 จุด ซึ่งดำเนินการตรวจทั้งที่ท่าเรือ ในทะเลและบนฝั่ง เพื่อรับรองว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมายและแรงงานมีสัญญาจ้างงาน มีใบอนุญาตทำงาน รวมถึงเอกสารประจำตัว คณะทำงานพหุวิทยาการของศปมผ.ตรวจสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 415 แห่งและพบการจ้างงานผิดกฎหมาย 66 กรณีระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ศปมผ.พบว่าโรงงานแปรรูปอาหารทะเล 35 แห่งฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานหรือพระราชกำหนดการประมง ทางการจึงดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานเหล่านี้และออกคำสั่งทางปกครองให้ระงับการประกอบกิจการเป็นเวลา 10-30 วัน ศปมผ.ยังพบว่าโรงงาน 64 แห่งฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงออกคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขพร้อมทั้งจ่ายค่าแรงคงค้าง ทางการไม่ได้รายงานว่ากรณีเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้ามนุษย์กี่กรณี ภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐแสดงความกังวลต่อการที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกบังคับใช้กฎระเบียบโดยเคร่งครัดไม่เท่ากัน ทำให้ไต้ก๋งเรือบางคนเลือกท่าเรือที่การตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหละหลวมกว่า   เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 รัฐบาลออกประกาศกรมประมงฉบับใหม่ที่มุ่งสกัดกั้นการแทรกแซงระบบติดตามเรือประมง โดยห้ามเจ้าของเรือเคลื่อนย้ายหรือปิดใช้งานอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน (บทลงโทษขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ)

รัฐบาลยังคงให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐในปี พ.ศ. 2559 และอนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อมอบสิทธิอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายแก่เด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และเพื่อให้สัญชาติแก่เด็กไร้สัญชาติหรือเด็กที่ถูกทอดทิ้ง รัฐบาลกวดขันการควบคุมชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้นักค้ามนุษย์และประชากรกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้ ในการป้องกันการท่องเที่ยวเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รัฐบาลรายงานว่าได้ปฏิเสธไม่ให้บุคคลชาวต่างชาติที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศจำนวน 2,054 คนเข้าประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 511 คนเมื่อ พ.ศ. 2558 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหกครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานภาคการท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา เยาวชน และเจ้าหน้าที่องค์การประชาสังคมเข้าอบรมรวม 417 คน รัฐบาลมีการดำเนินงานเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ ซึ่งรวมถึงจัดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะเพื่อแจ้งนักท่องเที่ยวและพลเมืองไทยถึงบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรงสำหรับผู้ที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก กระทรวงมหาดไทยออกตรวจสถานบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ “ที่มีความเสี่ยงสูง” และสั่งให้สถานบันเทิง 238 แห่งหยุดประกอบกิจการเป็นระยะเวลาห้าปี รัฐบาลดำเนินความพยายามลดความต้องการแรงงานบังคับใช้ ซึ่งรวมถึงเผยแพร่ข้อมูลการสืบสวนและดำเนินคดีกรณีบังคับใช้แรงงานที่สำคัญในภาคการประมงพาณิชย์และธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลส่งออก รัฐบาลมีการจัดฝึกอบรมด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์แก่บุคลากรทางการทูตของไทย

ประวัติข้อมูลการค้ามนุษย์

ดังที่ได้รายงานเป็นเวลากว่าห้าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี ในประชากรไทยจำนวน 65 ล้านรายและแรงงานอพยพราวสี่ล้านรายในไทยนั้นมีบางส่วนที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือการค้าประเวณี เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก โรงงานต่าง ๆ ภาคการเกษตร และงานรับใช้ตามบ้าน หรือถูกบังคับให้ขอทานตามถนน อุตสาหกรรมการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบังคับค้าประเวณี ผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชายและเด็กหญิงจากไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศในทวีปแอฟริกาตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณีในประเทศไทย องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศแห่งหนึ่งรายงานว่ามีเหยื่อถูกบังคับค้าประเวณีเพศชายจากทวีปแอฟริกาในประเทศไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงเหยื่อบางรายที่มีการรายงานว่าถูกแสวงประโยชน์จากองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านของเหยื่อค้ามนุษย์จากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย และพม่า ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีหรือการบังคับใช้แรงงานในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก

ชาวไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในไทยและในประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา และบุคคลไร้สัญชาติในไทยประสบกับการถูกกระทำมิชอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้ามนุษย์ เด็กจากไทย พม่า ลาว และกัมพูชาตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในธุรกิจทางเพศทั้งในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านพักส่วนบุคคล บิดามารดาบางรายหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับเด็กชาวไทย กัมพูชา และพม่าให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยยังคงเกณฑ์และใช้เด็กมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม เหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างชาติจำนวนมากอพยพมาอยู่ในประเทศไทยอย่างสมัครใจเพื่อมาหางานทำโดยดำเนินการผ่านช่องทางนอกระบบโดยไม่มีเอกสารระบุอัตลักษณ์บุคคลหรือเอกสารเดินทาง กรณีการค้ามนุษย์ การลักลอบนำบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศ การลักพาตัว และการขู่กรรโชกผู้อพยพเกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้อพยพเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นักค้ามนุษย์ซึ่งรวมทั้งนายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำเหยื่อต่างชาติเข้าประเทศไทยผ่านเส้นทางอพยพที่เป็นทางการและเส้นทางที่ใช้ลักลอบนำชาวต่างด้าวเข้าประเทศ และดำเนินการเป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง นายหน้าจัดหางานบางรายคิดค่าบริการสูงหรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ทุจริต โดยที่แรงงานไทยและแรงงานอพยพบางรายต้องเป็นหนี้สินจำนวนมากเพื่อให้ได้งานทำและตกเป็นเหยื่อแรงงานขัดหนี้ มีรายงานว่า นายหน้าจัดหาแรงงานและนายจ้างบางรายยังคงยึดเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลของแรงงานไว้ ชายและหญิงไทยที่อพยพไปต่างประเทศพึ่งนายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหางานสัญญาจ้างทักษะต่ำหรืองานในภาคเกษตร และบางครั้งต้องตกอยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงานและแรงงานขัดหนี้ การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงยังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตกที่มีนัยสำคัญ ทั้งชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซียตกเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงของไทยและของต่างชาติ บางรายต้องทำงานบนเรือกลางทะเลนานหลายปีและได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยมากหรือไม่สม่ำเสมอ และต้องทำงานนานกว่า 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่ ถูกทุบตี ถูกวางยาให้ทำงานนานขึ้น หรือแม้แต่ถูกฆ่าตายเมื่อล้มเจ็บ พยายามหนี หรือขัดคำสั่ง เหยื่อค้ามนุษย์บางรายในภาคประมงประสบปัญหาในการเดินทางกลับบ้านเกิดเนื่องจากสถานที่ทำงานอยู่ห่างไกล ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย

การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมการค้ามนุษย์โดยตรง ซึ่งรวมทั้งโดยการรับสินบนจากเจ้าของกิจการและสถานค้าประเวณีที่ซึ่งเหยื่อถูกแสวงประโยชน์ แรงงานอพยพโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารเกรงกลัวที่จะรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์หรือให้ความร่วมมือกับทางการเนื่องจากขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิที่ตนพึงมีและไม่ค่อยได้รับความคุ้มครองทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นกำเนิด ตลอดจนมีความหวาดกลัวโดยทั่วไปต่อเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งอาจเกิดจากประเทศต้นกำเนิดหรือจากประสบการณ์ที่เคยประสบมาในประเทศไทย มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการขู่กรรโชกแรงงานอพยพและการขายแรงงานอพยพให้นายหน้า ผู้อพยพเหล่านี้บางรายถูกลักพาตัวและถูกจับไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกแสวงประโยชน์โดยการถูกบังคับให้บริการทางเพศ ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือตกเป็นแรงงานขัดหนี้ มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณีและสถานบริการทางเพศจากการบุกตรวจค้นและการตรวจสอบอีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์