รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559

ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง)

ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยและแรงงานต่างชาติบางส่วนของแรงงานทั้งหมดประมาณสามถึงสี่ล้านคนถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนหนึ่งถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง โรงงานต่างๆ ภาคการเกษตรและงานรับใช้ตามบ้าน รวมถึงถูกบังคับให้ขอทานตามถนน แรงงานอพยพที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อาจถูกส่งกลับประเทศโดยขาดการคัดกรองที่มีประสิทธิผลในการหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ การค้ามนุษย์เพื่อบังคับค้าประเวณียังคงเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมธุรกิจทางเพศที่กว้างขวาง ผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชายและเด็กหญิงจากไทย ลาว เขมร เวียดนามและพม่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณีในไทย ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดียและพม่า ซึ่งตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศหรือเป็นแรงงานบังคับใช้ในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก ชาวไทยตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ถูกบังคับใช้แรงงานหรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในไทยและในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชียและตะวันออกกลาง ชนกลุ่มน้อย ชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติในไทยเผชิญการกระทำมิชอบหลายอย่างที่อาจบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เด็กจากไทย พม่า ลาวและเขมรตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุกิจทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ ห้องในโรงแรมและบ้านพักส่วนบุคคล องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศรายงานว่า มีการใช้สื่อสังคมในการแสวงหาเด็กเพื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ เด็กชาวไทย กัมพูชาและพม่าถูกบิดามารดาหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยยังเกณฑ์และใช้เด็กมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม

เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มใจเพื่อหางานทำโดยมักได้รับความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อนจากชุมชนเดียวกันหรือผ่านเครือข่ายจัดหาแรงงานอย่างไม่เป็นทางการ โดยส่วนใหญ่อพยพผ่านช่องทางผิดกฎหมายโดยไม่มีเอกสารระบุอัตลักษณ์บุคคลหรือเอกสารเดินทางจากประเทศต้นกำเนิด การที่ผู้อพยพเดินทางไปมาระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้มีการค้ามนุษย์ การลักลอบนำบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศ การลักพาตัว และการขู่กรรโชกผู้อพยพ   นักค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงนายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่ลงทะเบียนและที่ไม่ได้ลงทะเบียนและมีทั้งชาวไทยและต่างด้าวนำเหยื่อต่างชาติเข้าประเทศโดยใช้ทั้งเส้นทางอพยพอย่างเป็นทางการและเส้นทางการลักลอบนำชาวต่างด้าวเข้าประเทศ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง นายหน้าจัดหาแรงงานบางรายเรียกค่าธรรมเนียมสูงหรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายที่ทุจริต และแรงงานอพยพบางคนต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อให้ได้งานทำและเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาพพันธนาการหนี้ มีนายหน้าจัดหาแรงงานและนายจ้างจำนวนหนึ่งยังคงยึดเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคล นอกจากนี้ ชายและหญิงไทยที่เดินทางไปในต่างประเทศยังคงพึ่งพานายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่ลงทะเบียนและที่ไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อช่วยหางานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตร และบางครั้งต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

การค้ามนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมการประมงยังเป็นประเด็นน่ากังวลที่สำคัญ ชายชาวไทย พม่า กัมพูชาและอินโดนีเซียตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานตามเรือประมงของไทยและของต่างชาติ บางคนต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปีโดยได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อยหรือได้รับค่าจ้างอย่างไม่สม่ำเสมอ และถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่ ถูกทุบตี ถูกวางยาให้ทำงานนานมากขึ้น และแม้แต่ถูกฆ่าตายเมื่อล้มเจ็บ พยายามหนี หรือขัดคำสั่ง เหยื่อการค้ามนุษย์บางรายในอุตสาหกรรมการประมงประสบปัญหากลับบ้านเนื่องจากที่ตั้งของสถานประกอบการอยู่ห่างไกลชุมชน ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีวิธีการเดินทางกลับบ้านของตนได้อย่างปลอดภัย

การทุจริตยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมการค้ามนุษย์โดยตรง แรงงานอพยพโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารจะไม่กล้าแจ้งความถึงอาชญากรรมค้ามนุษย์และไม่กล้าให้ความร่วมมือกับทางการเนื่องจากไม่ค่อยได้รับความคุ้มครองทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นกำเนิด อีกทั้ง ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตน ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รับเงินสินบนและเกี่ยวพันโดยตรงกับการขู่กรรโชกเงินแรงงานอพยพและการนำแรงงานอพยพไปขายให้นายหน้า แรงงานอพยพบางคนถูกลักพาตัวและถูกจับไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งทำให้แรงงานอพยพเหล่านี้มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกแสวงประโยชน์ในการบังคับให้บริการทางเพศ บังคับใช้แรงงาน หรือมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้ มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่บางคนได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์และอาชญากรรมอื่นๆ ที่กระทำต่อเหยื่อการค้ามนุษย์ มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่ฉ้อฉลให้ความคุ้มครองสถานค้าประเวณีและสถานบริการทางเพศอื่นๆ จากการบุกเข้าค้นหรือการตรวจสอบ รวมทั้งสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้พยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเล โดยเพิ่มบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อนักค้ามนุษย์ อนุญาตให้สั่งปิดธุรกิจที่มีการบังคับใช้แรงงาน และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่พบเห็นเหตุการค้ามนุษย์และแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2557 แล้ว ในปี 2558 รัฐบาลไทยได้เพิ่มจำนวนการสอบสวน การดำเนินคดี การพิพากษาโทษและการระบุอัตลักษณ์เหยื่อ จำนวนคดีสอบสวนการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ทว่า การบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง รัฐบาลไทยเพิ่มความพยายามจัดการกับปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ กระนั้น การที่เจ้าหน้ารัฐที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยจัดตั้งสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุดและแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา พร้อมเพิ่มการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา ผู้ตรวจสอบแรงงาน นักสังคมสงเคราะห์ และข้าราชการกองทัพเรือ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการดำเนินการตรวจสอบเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่อยู่บนฝั่ง และพบว่า มีการละเมิดกฎหมายการใช้แรงงาน 430 กรณี ซึ่งรวมถึงกรณีการค้ามนุษย์ด้วย รัฐบาลดำเนินการขอรับคำแนะนำจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกลุ่มต่างๆ เพื่อปรับปรุงคำถามและกระบวนการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ พร้อมกับว่าจ้างล่ามเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ความพยายามคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์เชิงรุกยังคงจำกัดอยู่และเจ้าหน้าที่มักไม่สามารถระบุกรณีการค้ามนุษย์ที่ไม่มีการขู่เข็ญบังคับโดยกำลังหรือสภาพขัดหนี้ ในช่วงเวลาการทำรายงานนี้ มีเหยื่อการค้ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงของทางการเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ออกไปทำงานข้างนอก รัฐบาลไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นที่ถูกกฎหมายให้แก่เหยื่อค้ามนุษย์ที่ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากเมื่อถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ศาลยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อผู้สื่อข่าวสองคนที่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์และการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ความกลัวการถูกแก้แค้นหรือถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาททำให้ผู้สื่อข่าวไม่ค่อยอยากรายงานอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งดำเนินการพิพากษาและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริงอย่างเข้มงวด ไทยควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้อพยพ บุคคลไร้สัญชาติ เด็กและผู้ลี้ภัย ไทยควรดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกและความร่วมมืออย่างมีระบบกับภาคประชาสังคม เพิ่มทรัพยากรสำหรับการสอบสวน การดำเนินคดีการค้ามนุษย์และการจัดตั้งแผนกการค้ามนุษย์ในระบบศาล รวมถึงเพิ่มการฝึกอบรมและทรัพยากรสำหรับคณะทำงานพหุวิทยาการ ซึ่งได้แก่ ผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานทั้งที่ท่าเรือและบนเรือเพื่อสามารถตรวจหาสิ่งบ่งชี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงานและแรงงานบังคับหนี้ได้ดีขึ้น จนถึงการดำเนินการส่งคดีต่อเพื่อการสอบสวนอาชญากรรม ไทยควรปรับปรุงขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์ การคัดกรองและการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ให้มีความคงเส้นคงวา อีกทั้งควรให้ความสำคัญสูงกับสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ตลอดจนเพิ่มบทบาทของผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานในการดำเนินการคัดกรองและให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงาน ไทยควรตรวจสอบและพัฒนาวิธีการจัดหาแรงงานสำหรับคนงานต่างด้าว พร้อมประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ในการอนุมัติสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายรวมถึงใบอนุญาตทำงานให้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์ และประกันว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ที่บรรลุนิติภาวะสามารถเดินทาง ทำงานและพำนักนอกเขตที่พักพิงได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ไทยควรสานต่อการเพิ่มบริการล่ามที่มีคุณภาพในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองแรงงาน ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยและเหยื่อการค้ามนุษย์ และพัฒนาความสามารถของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ไทยควรสร้างเสริมเสรีภาพของสื่อ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการรายงานกรณีการค้ามนุษย์ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของการปราบปรามการค้ามนุษย์ และควรเพิ่มแรงจูงใจให้เหยื่อค้ามนุษย์ร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเสนอทางเลือกอื่นที่ถูกกฎหมายให้แก่เหยื่อค้ามนุษย์ชาวต่างด้าวนอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก ตลอดจนการให้บริการคุ้มครองพยานแก่เหยื่อ ไทยควรสานต่อการพัฒนาการให้บริการด้านบังคับใช้กฎหมายเฉพาะทางและสวัสดิการแก่เด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี อีกทั้ง สานต่อการเพิ่มความพยายามส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่นายจ้างและผู้ใช้บริการธุรกิจทางเพศ ซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจด้านประเวณี ไทยควรยกระดับสิทธิ สถานะทางกฎหมาย และนโยบายการเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวเพื่อลดความเสี่ยงการค้ามนุษย์ให้น้อยที่สุด

การดำเนินคดี

รัฐบาลไทยได้เพิ่มความพยายามดำเนินการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุห้ามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบโดยถือว่าเป็นความผิดทางอาญาและระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงพอควรและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่น การข่มขืน เมื่อปี 2558 รัฐบาลแก้กฎหมายให้บทลงโทษนักค้ามนุษย์มีความรุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับคดีที่มีผู้เสียชีวิตโดยระบุระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับสูงสุดไม่เกิน 400,000 บาท (13,333 เหรียญสหรัฐ) กฎหมายใหม่นี้ยังรวมถึงมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสและกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการสั่งระงับการดำเนินธุรกิจได้ชั่วคราวตลอดจนยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้ทันที หากพบว่าธุรกิจนั้นๆ มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2558 ให้อำนาจแก่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการอายัดทรัพย์ตามคำสั่งศาลระหว่างดำเนินการสอบสวนกรณีค้ามนุษย์และโอนทรัพย์สินบางส่วนที่อายัดไว้ให้เหยื่อเพื่อเป็นสินไหมทดแทน

รัฐบาลรายงานว่าได้ดำเนินการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 317 คดี (เทียบกับ 280 คดี ในปีพ.ศ. 2557) โดยดำเนินคดีผู้ค้ามนุษย์ 242 ราย (เทียบกับ 155 ราย ในปีพ.ศ. 2557) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 241 ราย (เทียบกับ 104 ราย ในปีพ.ศ. 2557) แม้จะมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานว่า มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานเพียง 72 กรณี (เทียบกับ 58 กรณีในปีพ.ศ. 2557) และดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ที่บังคับใช้แรงงานเพียง 71 ราย ใน 33 กรณี รัฐบาลไม่ได้รายงานว่ามีกี่คดีที่เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานที่มีการพิพากษาโทษ ร้อยละ 64 (เทียบกับร้อยละ 29 ในปีพ.ศ. 2557) ของนักค้ามนุษย์ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดรับโทษจำคุกเกินห้าปี และร้อยละ 84 (เทียบกับร้อยละ 68 ในปีพ.ศ. 2557) รับโทษจำคุกเกินสามปี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รายงานว่า มีคดีการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 40 คดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวน โดยรายงานว่าได้ยกฟ้องสี่คดี และส่วนที่เหลือกอีก 36 คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล

รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการกระทำมิชอบต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศ ซึ่งบางรายสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในช่วงเวลาการทำรายงานนี้ ทางการได้ออกหมายจับ 155 ฉบับ โดยมีผู้กระทำผิดถูกจับกุม 92 คน ซึ่งรวมถึงนายทหารระดับสูง ตลอดจนข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนอื่นๆ ทุกรายถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์และอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดเงินสด 210 ล้านบาท (5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมอบหลักฐานการโอนเงินที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินคดีอาญาที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลายปี แม้จะมีโครงการใหม่ที่ให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส แต่หนึ่งในแกนหลักของทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนขอลาออกและหนีออกนอกประเทศโดยอ้างว่ากังวลถึงความปลอดภัยของตนเอง

รัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง และนายหน้าจัดหางานเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมงใน 41 คดี และได้ยึดเรือ 31 ลำ โดยในจำนวนนี้ มี 24 คดีที่เชื่อมโยงกับคดีเกาะอัมบนและเกาะเบนจินาของอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 98 ราย โดย 19 รายถูกจับกุมแล้ว คดีส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการยื่นฟ้องดำเนินคดี แต่มีหนึ่งคดีที่นายหน้าคนหนึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 12 ปี 6 เดือน รัฐบาลไทยระบุว่า ในกลุ่มแรงงานไทย 1,476 คนที่เดินทางออกจากอินโดนีเซียกลับไทย 57 คนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และได้ให้ความช่วยเหลือแก่แรงงาน 150 คนที่ถูกละเมิดเรื่องการจ่ายค่าแรง อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า หลายบริษัทส่งคนงานกลับบ้านเพื่อเลี่ยงข้อหาค้ามนุษย์ ในช่วงการทำรายงานฉบับนี้ ทางการสามารถจับกุมและเริ่มดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่งในกันตัง และบุคคลอื่นอีกเจ็ดคนที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงที่เริ่มการสืบสวนเมื่อปี พ.ศ. 2556 ด้วยหลักฐานที่ได้จากองค์การนอกภาครัฐแห่งหนึ่ง ทางการได้จับกุมผู้กระทำผิด 15 คน ซึ่งรวมถึงอดีตเจ้าอาวาสวัดพุทธแห่งหนึ่งและอดีตนายทหารในคดีที่เกี่ยวกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เจ็ดราย โดยอดีตเจ้าอาวาสถูกตัดสินจำคุก 50 ปี องค์การนอกภาครัฐแห่งหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนขอทานเด็กโดยรวมลดลงเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการเชิงรุกเสาะหาและทำลายกลุ่มมิจฉาชีพดำเนินธุรกิจขอทานข้างถนน รัฐบาลดำเนินคดีเด็กถูกบังคับใช้แรงงานสองคดีและคดีเด็กถูกบังคับขอทานหนึ่งคดี

รัฐบาลยังคงสานต่อความพยายามการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง โดยให้เงินสนับสนุนการฝึกอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ผู้ตรวจสอบแรงงาน นักสังคมสงเคราะห์ และข้าราชการกองทัพเรือจำนวน 2,640 คน นอกจากนี้ ทางการยังจัดการอบรมต่างหากที่เน้นบทแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แนวทางสำหรับดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการทำงานขัดหนี้ การดำเนินการร่วมมือสอบสวนการค้ามนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมการประมง การระบุอัตลักษณ์เหยื่อ ขั้นตอนการสอบสวนที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเด็กและความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศสภาพ ตลอดจนการเน้นความร่วมมือด้านการค้ามนุษย์ของหน่วยงานต่างๆ ภายในระบบยุติธรรม  เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยร่วมมือกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศเพื่อสืบสวนบุคคลต่างด้าวที่เกี่ยวพันกับการค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศและเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณีสัญชาติไทยที่อยู่ต่างประเทศ ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในด้านการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับอัยการ และในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการด้านการค้ามนุษย์ แต่การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ยังจำกัดอยู่ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงบุคคลากรเป็นประจำในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย อัยการ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพหุวิทยาการยังคงเป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินคดีไม่มีประสิทธิผลมากเท่าที่ควร รัฐบาลยังสานต่อความพยายามติดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูลระดับประเทศซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ แบ่งปันข้อมูลได้ดีขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาและสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อช่วยให้การพิพากษารวดเร็วขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาความจำเป็นของความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการค้ามนุษย์ในหมู่อัยการและผู้พิพากษา รัฐบาลรายงานว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ศาลดำเนินการตัดสินคดีเร็วกว่าปีก่อนๆ โดยร้อยละ 43 ขึ้นไปของคดีพิพากษาแล้วเสร็จภายในหกเดือน แม้คดีค้ามนุษย์บางคดียังคงใช้เวลาสองปีหรือนานกว่านั้น เหยื่อบางรายไม่อยากพำนักต่อในที่พักพิงขณะรอการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อ   หลังจากจัดตั้งแผนกการปราบปรามการค้ามนุษย์แผนกใหม่ขึ้นมา รัฐบาลประกาศว่า คดีใหม่ๆ ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมายบางคนหนีออกนอกประเทศหรือข่มขู่เหยื่อหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ ซึ่งมีส่วนเสริมสภาพการณ์ที่ผู้ก่อคดีค้ามนุษย์ไม่ได้รับการลงโทษยิ่งขึ้น รัฐบาลผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) กำหนดให้ศาลเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติการขอประกันตัว ซึ่งกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลมีความพยายามดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาข้าราชการมีส่วนสมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2558 รัฐบาลยื่นฟ้องอาญาเจ้าหน้าที่ 34 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการระดับกลางและระดับสูงที่พัวพันกับการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับจำนวน 7 คนในปี 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการสอบสวบเพิ่มอีก 5 คดีซึ่งเกี่ยวพันกับข้าราชการหลายคนที่รับเงินสินบนจากสถานบันเทิงที่พบว่ามีเหยื่อการค้ามนุษย์   ในจำนวนเจ้าหน้าที่ 7 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเมื่อปี 2557 มีห้าคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในขณะที่สองคดีมีการพิพากษาแล้วเมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่ส่วนบริหารส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งถูกพิพากษาว่ามีส่วนทำให้ชาวโรฮีนจาต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 โดยต้องโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน และต้องจ่ายสินไหมชดเชยจำนวน 126,9000 บาท (3,520 เหรียญสหรัฐ) ให้แก่เหยื่อ เจ้าหน้าที่คนที่ 2 ถูกพิพากษาจำคุก 16 ปี และต้องจ่ายสินไหมชดเชยให้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์หกคนคนละ 60,000 บาท (1,708 เหรียญสหรัฐ) รัฐบาลออกคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานพัวพันกับการค้ามนุษย์และให้คำนิยามชัดเจนว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นการอำนวยความสะดวกการค้ามนุษย์ถือเป็นการสมรู้ร่วมคิด โดยคำสั่งนี้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการภายใน 10 วันหลังมีการตั้งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้เงินรางวัลแก่ผู้ที่เสนอรายงานที่นำไปปฏิบัติได้เกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าพนักงาน ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติทำหน้าที่ประสานนโยบายการต่อต้านการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ดี เนื่องจากลักษณะของการทุจริตนี้ ความพยายามการปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อันรวมถึงการมีส่วนพัวพันของเจ้าพนักงานจึงยังคงไม่เพียงพอ ความกลัวถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทหรือถูกตอบโต้อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้สื่อข่าว เจ้าพนักงานรัฐและประชาชนไม่กล้ารายงานหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายไม่กระตือรือร้นติดตามการดำเนินคดีการค้ามนุษย์

การคุ้มครอง

รัฐบาลดำรงความพยายามคัดแยกและคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วความพยายามคัดกรองและคุ้มครองเหยื่อยังคงไม่เพียงพอ รัฐบาลระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ 720 คนในปีพ.ศ. 2558 เทียบกับ 595 คนในปีพ.ศ. 2557 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า ได้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจำนวน 471 คนที่สถานพักพิงของรัฐบาล (เทียบกับ 303 คนในปีพ.ศ. 2557) โดยเป็นบุคคลสัญชาติไทย 126 คน (เทียบกับ 67 คนในปีพ.ศ. 2557) และชาวต่างชาติ 345 คน (เทียบกับ 236 คนในปีพ.ศ. 2557) ในจำนวนนี้ 320 คนเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานและ 151 คนเป็นเหยื่อการค้าประเวณี ทางการให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวเหยื่อกลับประเทศรวม 401 คน (บุคคลสัญชาติไทย 211 คนและชาวต่างชาติ 190 คน) ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention against Trafficking in Persons, especially women and children – ACTIP) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

รัฐบาลปรับปรุงกระบวนการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ทว่า ความพยายามคัดกรองเชิงรุกยังคงไม่เพียงพอ บางพื้นที่ยังคงมีล่ามให้บริการไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ส่วนหน้ายังมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยบ่งชี้การค้ามนุษย์ไม่เท่ากัน อีกทั้งยังขาดพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวสำหรับขั้นตอนการคัดแยกผู้อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ รัฐบาลจดทะเบียนล่ามที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติ 138 คนและฝึกล่ามอาสาสมัคร 89 คน รวมถึงจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบการคัดแยกและส่งตัวเหยื่อแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 910 นายและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นอีก 300 คน ในบางกรณี รัฐบาลมอบหมายให้คณะทำงานพหุวิทยาการดำเนินการคัดกรองหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ในหมู่หญิงค้าประเวณีและเด็กที่อาจเป็นเหยื่อการค้าประเวณี แรงงานไทย ผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่พบระหว่างการเข้าตรวจค้นหรือบนเรือประมง รวมทั้งประชากรกลุ่มเปราะบางอื่นๆ คณะทำงานพหุวิทยาการมีองค์ประกอบและระดับความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย บางคณะสัมภาษณ์ผู้อาจตกเป็นเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิผลมาก ในขณะที่บางคณะขาดการฝึกอบรมที่เพียงพอหรือขาดระเบียบวิธีสำหรับดำเนินการคัดกรองอย่างมีประสิทธิผล เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายบางคนไม่ได้ตระหนักว่าการแสวงประโยชน์จากหนี้ (หรือพันธนาการหนี้) และความกลัวถูกส่งตัวกลับประเทศของแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นจัดเป็นปัจจัยในรูปแบบนอกเหนือจากทางกายภาพที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สอบสวนและคณะทำงานพหุวิทยาการอาจไม่สังเกตเห็นการค้ามนุษย์ในกรณีที่เหยื่อยินยอมทำงานในตอนแรก แต่ถูกหลอกลวงเกี่ยวกับสภาพการทำงานและตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านกฎหมายแรงงานและอาจต้องรับผิดตามกฎหมายหากถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด จึงเป็นการจำกัดความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ รัฐบาลยังคงคัดกรองหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ในกลุ่มชาวประมงที่เดินทางกลับมาประเทศไทยและบนเรือประมง การสัมภาษณ์บางครั้งกระทำเพียงสั้นๆ ในสภาพแวดล้อมเปิด โดยบางครั้งอาจมีนายหน้าและไต้ก๋งเรืออยู่ในห้องนั้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เหยื่อค้ามนุษย์หลายคนไม่ได้รับการระบุตัว รัฐบาลปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมและปรับปรุงแนวทางมาตรฐานการสัมภาษณ์บุคคลที่อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยลงรายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงานและพันธนาการหนี้ กระบวนการใหม่นี้เริ่มใช้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลยังคงจัดบริการเชิงคุ้มครองสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยยังคงส่งตัวเหยื่อไปยังหนึ่งในสถานพักพิงระยะสั้น 76 แห่ง หรือหนึ่งในสถานพักพิงระยะยาวเก้าแห่งที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรับบริการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การดูแลทางการแพทย์ การทดแทนค่าเสียหายและความช่วยเหลือทางการเงิน การคุ้มครองเหยื่อและพยาน การศึกษาหรือการฝึกอาชีพ ตลอดจนการจ้างงานภายในหรือนอกสถานพักพิง คณะทำงานพหุวิทยาการสามารถสัมภาษณ์ผู้อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ไม่ได้รับการระบุตัวในตอนแรกเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม บุคคลต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารหลายคนถูกส่งตัวออกนอกประเทศอย่างรวดเร็วหรือไม่เต็มใจให้ความร่วมมือเพราะกลัวว่าต้องอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานานและถูกจำกัดโอกาสการทำงาน ทำให้กระบวนการนี้มีประสิทธิผลลดน้อยลงในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ จึงมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าฝ่ายงานตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวผู้อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานและค้าประเวณีออกนอกประเทศ สำหรับบางกรณีที่มีความซับซ้อน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าจ้างทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเป็นโจทก์ร่วม รวมถึงเข้าร่วมการสัมภาษณ์ ประสานงานและเตรียมพยานสำหรับการพิจารณาคดี ภายหลังจากที่มีผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 รวมถึงการค้นพบค่ายร้างของขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง/ค้ามนุษย์บริเวณพรมแดนไทย-มาเลเซีย มีชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศยังคงอยู่ในประเทศไทยรวม 514 คนเมื่อสิ้นสุดช่วงทำรายงาน รัฐบาลรายงานว่าได้ระบุตัวชาวโรฮีนจา 119 คนและชาวบังกลาเทศ 83 คนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจา 99 คนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) ในขณะที่อีก 146 คนอยู่ในขั้นตอนการตั้งถิ่นฐานใหม่เมื่อสิ้นสุดช่วงรายงาน เป็นไปได้มากว่าอาจมีเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มเติมอยู่ในกลุ่มที่ไม่ถูกระบุตัวอย่างเป็นทางการ ที่พักสำหรับชายชาวโรฮีนจาที่ไม่ถูกระบุตัวว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ยังคงมีจำกัด เนื่องจากห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีพื้นที่ไม่เพียงพอ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใช้ความรุนแรงกับชายชาวโรฮีนจาหลายคน

ถึงแม้ว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ได้รับการระบุตัวส่วนใหญ่ (ร้อยละ 53) มีอายุน้อยกว่า 18 ปี แต่รัฐบาลกลับจัดหาบริการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไว้อย่างจำกัด เด็กบางคนที่พบระหว่างการบุกจับกุมถูกแยกจากบิดามารดา และหากเป็นเด็กต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารก็จะถูกบังคับให้เลือกว่าจะอยู่ในสถานพักพิงเป็นเวลานานหลายปีหรือถูกส่งตัวกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังคงดำเนินความร่วมมืออย่างมีประสิทธิผลกับหน่วยงานต่างชาติด้านการบังคับใช้กฎหมายในคดีการค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศที่เกี่ยวพันกับผู้กระทำผิดชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการรับรองความปลอดภัยของพยานเสมอไป บางครั้งเหยื่อซึ่งรวมถึงเหยื่อที่เป็นเด็กถูกบังคับให้ให้การต่อหน้าผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดหรือถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเช่น ที่อยู่ ส่งผลให้เหยื่อหลายคนเสี่ยงต่อการถูกแก้แค้น รัฐบาลผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 ซึ่งรายงานระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคุ้มครองและลดการข่มขู่คุกคามผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิด องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า พยานยังคงเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามแม้อยู่ในสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยรัฐ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงเพิ่มการคุ้มครองพยานสำหรับเหยื่อ 82 คน ซึ่งหลายคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ องค์การนอกภาครัฐยังรายงานถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเด็กต่างด้าวที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยครอบครัวมีส่วนสมรู้ร่วมคิดหรือเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรับรองว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้วจะสามารถเดินทาง ทำงานและพำนักนอกเขตที่พักพิงได้ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย จากเหยื่อต่างด้าวในสถานพักพิงของรัฐบาลรวม 497 คน รัฐบาลอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้เหยื่อ 58 คน (เทียบกับ 57 คนในปีพ.ศ. 2557) ให้สามารถทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างระยะเวลาดำเนินคดีตามกฎหมาย มีเหยื่อเพียง 47 คนที่ทำงานนอกสถานพักพิง ส่วนคนอื่นๆ มีทั้งที่ถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นทางการ เลือกที่จะไม่ทำงาน ไม่สามารถหางานได้ อายุน้อยเกินกว่าจะทำงาน หรือตอบรับทำงานในสถานพักพิงโดยได้รับค่าตอบแทน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการเพิ่มเติมซึ่งอนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์และพยานที่เป็นบุคคลต่างด้าวสามารถพำนักในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลาสูงสุดหนึ่งปี (จากเดิมกำหนดไว้หกเดือน) และให้เหยื่อที่เป็นบุคคลต่าวด้าวสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้หลังคดีสิ้นสุดลง รวมถึงปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตทำงานให้กระชับยิ่งขึ้น จากเดิมใช้เวลา 45 วันให้เหลือ 10 วัน และระบุว่า พยานทุกคนในคดีค้ามนุษย์มีสิทธิโดยอัติโนมัติในการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ระเบียบฉบับใหม่ว่าด้วยเงินรางวัลและค่าตอบแทนเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินรางวัลและ/หรือค่าตอบแทนตั้งแต่ 846–2,828 เหรียญสหรัฐแก่บุคคลที่ช่วยเหลือในการนําจับและดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดฐานค้ามนุษย์

ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลเบิกจ่ายเงิน 7.1 ล้านบาท (197,222 เหรียญสหรัฐ) จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลเพื่อมอบให้แก่เหยื่อ 472 คน (เทียบกับ 463 คนในปีพ.ศ. 2557) รัฐบาลยื่นฟ้องร้องในนามของเหยื่อจำนวน 77 คน (เทียบกับ 57 คนในปีพ.ศ. 2557) และเรียกร้องค่าเสียหายได้รวม 3.3 ล้านบาท (93,020 เหรียญสหรัฐ) กฎหมายคุ้มครองเหยื่อจากการดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยกเหยื่อของรัฐบาลไทยมีข้อบกพร่อง อีกทั้งความพยายามเชิงรุกของทางการในการจับกุมและส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เหยื่อเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกและถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชญากร เป็นไปได้ว่าอาจมีเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งไม่ได้รับการคัดแยกรวมอยู่ในกลุ่มคนต่างด้าวที่อาจถูกทางการดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะขาดเอกสารในช่วงปีที่ผ่านมาและถูกกักกันตัวในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่บางครั้งก็แออัดเกินไป

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2548 กำหนดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติอาจได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรเป็นกรณีไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่ได้รายงานว่าได้ให้สถานะผู้พักอาศัยถาวรแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติหรือบุคคลไร้สัญชาติคนใด รัฐบาลไม่ได้เสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายอื่นๆ แก่เหยื่อที่เผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือชีวิตที่ยากลำบากเมื่อกลับประเทศบ้านเกิด แต่ได้ประสานกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อให้เหยื่อ 99 คนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไม่ยินยอมให้การหรือดำเนินกระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นแล้วถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการระหว่างรัฐต่อรัฐรวม 401 คน

การป้องกัน

รัฐบาลคงความพยายามป้องกันการค้ามนุษย์ โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและดำเนินความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ จากเดิม 1,530 ล้านบาท (42 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเป็น 2,080 ล้านบาท (57 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2559 อีกทั้งจัดโครงการรณรงค์ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา และเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับอันตรายของการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำและความหลากหลายทางภาษาในหมู่บุคคลกลุ่มเสี่ยงทำให้คนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงานได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์สายด่วนที่พูดภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย แต่องค์การนอกภาครัฐมองว่า คุณภาพของบริการนี้ยังไม่สม่ำเสมอ และบางครั้งไม่เพียงพอที่จะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบว่ามีการละเมิดกฎหมายแรงงานหรือไม่

ในปี พ.ศ. 2558 ศาลยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักข่าวสองคนซึ่งถูกฟ้องหลังรายงานเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องของกองทัพเรือไทยกับการค้าชาวโรฮีนจาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์แสดงความกังวลว่า การดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้ามนุษย์คนหนึ่งมีผลในการปิดปากนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ แม้จะยกฟ้องไปแล้วหนึ่งคดีก็ตาม หัวหน้าพนักงานสอบสวนคนหนึ่งในคดีซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมเกี่ยวกับการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐและการค้ามนุษย์ลาออกจากราชการ และมีรายงานว่าได้ดำเนินเรื่องของลี้ภัยในออสเตรเลียหลังจากเปิดเผยว่าเขาเผชิญกับการคุกคามและข่มขู่ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขัดขวางบรรยากาศที่เอื้อต่อการป้องกันการค้ามนุษย์ การตรวจพบและรายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์ การระบุอัตลักษณ์เหยื่อ รวมถึงการจับกุมนักค้ามนุษย์เพิ่มเติม รัฐบาลกวดขันการควบคุมตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งนักค้ามนุษย์และประชากรกลุ่มเปราะบางสามารถข้ามพรมแดนไปมาได้

รัฐบาลจดทะเบียนและออกใบอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าว 149,623 คนในภาคการประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อพยายามทำให้แรงงานเหล่านี้ในประเทศไทยมีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลดำเนินความพยายามอย่างจำกัดในการกำกับควบคุมผู้จัดหาแรงงานหรือบริษัทผู้ให้บริการด้านการจ้างงานที่เสนอบริการแก่แรงงานอพยพ ในขณะที่แรงงานอพยพที่ใช้ระบบการย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลสำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นพอประมาณจาก 217,111 คนเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็น 279,311 คนเมื่อปี พ.ศ. 2558 แต่แรงงานอพยพส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กลไกนี้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเกี่ยวพันกับการทุจริตในทั้งสองฝากฝั่งพรมแดน อีกทั้งการดำเนินการยังใช้เวลานาน และมีความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้าง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นายจ้างไม่สามารถหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐานและดำเนินการด้านเอกสาร รัฐบาลให้สัญชาติแก่บุคคลไร้รัฐ 8,038 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5,667 คนในปี พ.ศ. 2557

รัฐบาลทราบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการประมงส่วนใหญ่เกิดจากการที่แรงงานบางคนไม่เต็มใจทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพราะมีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing – IUU Fishing) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนในการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์และปรับปรุงสภาพการทำงาน ศปมผ.ตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก 28 ศูนย์ ซึ่งดำเนินการตรวจสอบทั้งที่ท่าเรือ ในทะเล และบนฝั่ง เพื่อรับรองว่าเรือประมงเดินเรืออย่างถูกกฎหมายและแรงงานมีสัญญาจ้างงาน มีใบอนุญาตทำงานรวมถึงเอกสารประจำตัว นอกจากตรวจสอบที่ท่าเรือแล้ว คณะทำงานพหุวิทยาการของศปมผ. ยังได้ตรวจสอบเรือประมง 8,398 ลำ และสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 152 แห่งระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งนำไปสู่การสืบสวนกรณีละเมิดแรงงานภายใต้กฎหมายต่างๆ รวม 430 คดี คดีการค้ามนุษย์สี่คดี การสั่งระงับการดำเนินงานของสถานประกอบการ 19 แห่ง การจับกุมผู้กระทำผิดหนึ่งคดี และการดำเนินคดีอาญาที่ไม่ใช่ข้อหาค้ามนุษย์กับสถานประกอบการ 27 แห่งจากกรณีละเมิดแรงงาน อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนล่ามของทางการหมายความว่า ผู้ตรวจสอบแรงงานหลายคนไม่สามารถพูดคุยกับแรงงานต่างด้าวหลายคนได้ และการสัมภาษณ์มักกระทำต่อหน้าไต้ก๋งเรือ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้แรงงานพูดได้อย่างอิสระ ระหว่างช่วงทำรายงานฉบับนี้ มีเรือที่ติดตั้งเทคโนโลยีติดตามเรือแล้ว 4,562 ลำ และรัฐบาลได้อนุมัติและประกาศใช้กฎระเบียบห้ามแรงงานที่อายุต่ำว่า 18 ปีทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติที่มุ่งแสวงประโยชน์จากแรงงานในอุตสาหกรรมประมงยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด ความล่าช้าในการเอาผิดทางอาญากับเจ้าของกิจการหรือไต้ก๋งเรือ อีกทั้งความพยายามปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และความร่วมมือในหมู่หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบในอุตสาหกรรมประมงยังขาดความต่อเนื่อง ข้อจำกัดด้านการจัดหาและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่ในคณะทำงานพหุวิทยาการเน้นพิจารณาว่า แรงงานมีสถานะคนเข้าเมืองถูกต้องและมีเอกสารตามกฎหมายหรือไม่ มากกว่าจะมุ่งตรวจหาปัจจัยบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงาน

ในปีพ.ศ. 2558 รัฐบาลพบการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในบริษัทจัดหาแรงงาน 10 บริษัทจาก 433 บริษัทที่อำนวยความสะดวกด้านการจ้างงานทั้งต่างประเทศและในประเทศ จากกรณีเหล่านี้ รัฐบาลระงับใบอนุญาตประกอบการของสามบริษัท และยื่นฟ้องคดีอาญาเจ็ดบริษัท ภายใต้พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับนายหน้าผิดกฎหมาย 68 รายใน 73 คดีซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานไทย 287 คน นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลกับสี่ประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในโครงการแรงงานชั่วคราว (guest worker) อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมจัดการกับค่าธรรมเนียมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่แรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายในจำนวนที่มากเกินไปเพื่อให้ได้งานไม่ว่าในต่างประเทศหรือในประเทศ จนเสี่ยงต่อการติดอยู่ในพันธนาการหนี้หรือสภาพการทำงานและการดำรงชีวิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ในการป้องกันการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก รัฐบาลรายงานว่าได้ปฏิเสธไม่ให้บุคคลชาวต่างชาติที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศจำนวน 511 คนเข้ามาในประเทศ เปรียบเทียบกับ 98 คนเมื่อ พ.ศ. 2557 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดการอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสี่ครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น บุคลากรภาคการท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่องค์การประชาสังคมเข้าอบรมรวม 647 คน ตลอดจนจัดสัมมนาต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว 200 คน รัฐบาลรายงานว่าได้จัดเครือข่ายเฝ้าระวังการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก โดยฝึกอบรมผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ความเสี่ยงสูงให้สามารถระบุและรายงานกรณีดังกล่าวแก่ตำรวจ รัฐบาลดำเนินงานเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ ซึ่งรวมถึงจัดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะเพื่อแจ้งนักท่องเที่ยวและพลเมืองไทยเกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญาที่เข้มงวดสำหรับผู้ที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รัฐบาลตั้งคณะทำงานปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชน (Thailand Internet Crimes Against Children – TICAC) เพื่อปราบปรามการค้าประเวณีและการแสวงประโยชน์จากเด็กโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง รัฐบาลดำเนินความพยายามลดความต้องการแรงงานบังคับใช้ และผ่านพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลสั่งปิดหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของโรงงานและเพิ่มบทลงโทษทางอาญาสำหรับนายจ้างในอุตสาหกรรมประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่จ้างแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตพำนักและทำงานในประเทศไทย ในปีช่วงที่ผ่านมา ทางการสืบสวนและดำเนินคดีกรณีการบังคับใช้แรงงานที่สำคัญในภาคการประมงพาณิชย์และธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลส่งออก โดยมีจำเลยรวม 112 ราย รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินคดีเพื่อหวังลดความต้องการแรงงานบังคับใช้ รัฐบาลจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่บุคลากรทางการทูต