รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558

โดยสำนักงานเพื่อการตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์

ประเทศไทย บัญชีกลุ่มที่ 3
(ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา)

ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี ในประเทศไทยมีแรงงานอพยพประมาณสามถึงสี่ล้านคน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และเขมร นอกจากเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยแล้ว เชื่อว่า แรงงานต่างชาติบางส่วนถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนหนึ่งถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน แรงงานอพยพบางส่วนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ถูกส่งกลับประเทศโดยไม่มีการคัดกรองที่เหมาะสมเนื่องจากมีความไม่สม่ำเสมอในกระบวนการระบุอัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ เหยื่อบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน การค้ามนุษย์เพื่อบังคับค้าประเวณียังคงเป็นปัญหาสำคัญในธุรกิจทางเพศที่กว้างขวางมากของประเทศไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการธุรกิจที่สนองต่อความต้องการการซื้อบริการทางเพศ

เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว จีน เวียดนาม อุซเบกิสถาน และอินเดีย อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มใจเพื่อหางานทำโดยมักได้รับความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อนจากชุมชนเดียวกันหรือผ่านเครือข่ายจัดหาแรงงานอย่างไม่เป็นทางการ นายหน้าจัดหาแรงงานทั้งที่ลงทะเบียนและที่ไม่ได้ลงทะเบียนทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง บางแห่งร่วมมือกับนายจ้าง และบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายที่ทุจริต แรงงานอพยพหลายคนต้องกู้หนี้จำนวนมากทั้งในประเทศไทยและประเทศบ้านเกิดตนเองเพื่อให้ได้งานทำและดังนั้นอาจเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาพพันธนาการหนี้ นักค้ามนุษย์ซึ่งรวมทั้งนายหน้าจัดหาแรงงานชาวไทยและชาวต่างชาตินำเหยื่อต่างด้าวเข้ามาในไทย มีรายงานว่า นายหน้าจัดหาแรงงานและนายจ้างยังคงยึดเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคล ชายชาวไทย พม่า กัมพูชาและอินโดนีเซียตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานตามเรือประมงของไทยโดยบางคนต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปีโดยได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อยหรือได้รับค่าจ้างอย่างไม่สม่ำเสมอ และถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่และถูกทุบตี เหยื่อการค้ามนุษย์บางรายในอุตสาหกรรมการประมงไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากที่ตั้งของสถานประกอบการอยู่ห่างไกลชุมชน ไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลที่ถูกกฎหมายหรือวิธีการเดินทางกลับประเทศเดิมของตนอย่างปลอดภัย สตรี ผู้ชาย เด็กชายและเด็กหญิงจากไทย ลาว เวียดนามและพม่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากจีน เวียดนาม บังคลาเทศและพม่าซึ่งตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อทำงานธุรกิจทางเพศหรือเป็นแรงงานบังคับใช้ในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก

ชาวไทยตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ถูกบังคับใช้แรงงานหรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในไทยตลอดจนในประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศในอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงอิสราเอลด้วย แรงงานชายและหญิงไทยที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรบางครั้งต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้ โดยนายหน้าจัดหาแรงงานชาวไทยก็มีส่วนในบางกรณีด้วย แรงงานชาวไทยบางรายถูกหลอกให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการหางาน บางครั้ง ก็ใช้ที่ดินที่ครอบครัวถือสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงถูกแสวงประโยชน์ ชายชาวไทยจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนอกน่านน้ำนี้ เด็กชาวไทย กัมพูชาและพม่าถูกบิดามารดาหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง เด็กหญิงจากไทย พม่าและลาวที่บางรายใช้เอกสารปลอมตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุกิจทางเพศในสถานค้าประเวณี สถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ ห้องในโรงแรมและบ้านพักส่วนบุคคล องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศรายงานว่า มีการใช้สื่อสังคมเพิ่มขึ้นในการแสวงหาเด็กเพื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ รวมทั้งสตรีที่อาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ ชนกลุ่มน้อย บุคคลไร้สัญชาติ และชาวเขาในไทยเผชิญการกระทำมิชอบหลายอย่างที่อาจบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยยังเกณฑ์และใช้เด็กมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม

เจ้าหน้าที่รัฐของไทยบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และการทุจริตนี้ยังคงเป็นเหตุบ่อนทำลายความพยายามการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในบางกรณี เจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งสองฝั่งชายแดนรับเงินจากผู้ลักลอบนำแรงงานอพยพเดินทางข้ามชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย ลาว พม่าและกัมพูชา โดยแรงงานเหล่านี้บางรายต่อมากลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แหล่งข่าวในปี 2556 รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทุจริตของไทยทั้งพลเรือนและทหารได้รับผลประโยชน์จากการค้าผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศเพื่อการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางคนโยกย้ายชายชาวโรฮิงญาจากศูนย์กักกันในไทยและนำไปขายให้นายหน้าซึ่งจะส่งชายเหล่านี้ไปภาคใต้ของไทย บางคนถูกบังคับใช้แรงงานเป็นคนทำอาหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในค่ายต่างๆ หรือถูกขายไปเป็นแรงงานบังคับใช้ในไร่นาหรือบริษัทขนส่งทางเรือ มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่ฉ้อฉลให้ความคุ้มครองสถานค้าประเวณีและสถานบริการทางเพศอื่นๆ จากการบุกเข้าค้นหรือการตรวจสอบ รวมทั้งสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ และใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อทำให้รูปคดีอ่อนลง ตลอดจนใช้บริการธุรกิจทางเพศกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ด้วย เนื่องจากแรงงานอพยพไม่มีความเชื่อใจในเจ้าหน้าที่รัฐและไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตน แรงงานอพยพโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารจึงไม่กล้าแจ้งความถึงอาชญากรรมค้ามนุษย์

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทั้ง ไม่ได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ ประเทศไทยดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีจำนวนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ฉ้อฉลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ กระนั้น การทุจริตที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ยังคงเป็นอุปสรรคความก้าวหน้าของการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ วิธีการจัดเก็บข้อมูลเริ่มดีขึ้นไปพร้อมกับการใช้ระบบฐานข้อมูลระบบใหม่ ในปี 2557 รัฐบาลไทยลดจำนวนการสอบสวน การดำเนินคดี การพิพากษาโทษและการระบุอัตลักษณ์เหยื่อ รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการป้องกัน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รวมถึงการออกกฎกระทรวงซึ่งเพิ่มอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคเกษตรและในเรือประมง ตลอดจนกำหนดให้มีการทำสัญญาจ้างงาน แรงงานขั้นต่ำ ช่วงเวลาพักและวันหยุด นอกจากนี้ รัฐบาลยังแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยเพิ่มบทลงโทษนักค้ามนุษย์และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่พบเห็นเหตุการค้ามนุษย์และแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาลออกกฎหมายการประมงฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่บัญญัติเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดให้มีกระบวนการขึ้นทะเบียนที่ดีขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบเรือและเอกสารของแรงงานตลอดจนสภาพการทำงานของลูกเรือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐกล่าวย้ำความตั้งใจแน่วแน่ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวและนักต่อสู้การค้ามนุษย์เนื่องเพราะบุคคลเหล่านี้ได้เปิดโปงผู้ค้ามนุษย์ อีกทั้งคำแถลงขอให้สื่อไม่รายงานอาชญากรรมการค้ามนุษย์นั้นนับ เป็นการบั่นทอนความพยายามในการระบุอัตลักษณ์และช่วยเหลือเหยื่อ ตลอดจนการจับกุมนักค้ามนุษย์ ในบางจังหวัด รัฐบาลได้พยายามคัดกรองผู้ย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาเพื่อระบุหาตัวผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และทำงานร่วมกับองค์การนอกภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ ทว่า ยังขาดล่ามสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์อยู่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ดำเนินการเชิงรุกในการระบุอัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ออกจากกลุ่มแรงงานในภาคการประมงและผู้โยกย้ายถิ่นแบบผิดปกติ

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยควรดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และพิพากษาและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่พบว่ามีความผิดจริง ไทยควรเพิ่มความพยายามในการระบุอัตลักษณ์ ดำเนินคดี และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์และผู้ที่บังคับให้เหยื่อค้าประเวณี เป็นแรงงานบังคับหนี้ หรือใช้แรงงานในภาคธุรกิจการค้าและการส่งออกของไทย รวมทั้งควรเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าแรงงานและลักษณะบ่งชี้แรงงานบังคับหนี้ ในหมู่ผู้ตรวจสอบการใช้แรงงานและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนแต่งตั้งอัยการที่ชำนาญการด้านคดีการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ ไทยควรเพิ่มความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มประชากรเสี่ยงโดยเฉพาะผู้อพยพ ผู้ถูกเนรเทศ ผู้ลี้ภัย ผู้ค้าประเวณี และบุคคลไร้สัญชาติ อีกทั้งควรเพิ่มการฝึกอบรมตำรวจน้ำและทหารเรือให้ตรวจจับและหยุดการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในทะเล และปรับปรุงขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์ การคัดกรอง และการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ให้มีความคงเส้นคงวา อีกทั้งควรให้ความสำคัญสูงกับสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ไทยควรตรวจสอบและพัฒนาวิธีการจัดหาแรงงานสำหรับคนงานต่างด้าว และดำเนินการและอนุมัติการสมัครขอสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งในระดับประเทศ อำเภอและจังหวัดอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสานต่อการเพิ่มบริการล่ามในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองแรงงานอพยพต่างชาติ ผู้ลี้ภัย และเหยื่อการค้ามนุษย์ ไทยควรพัฒนาความสามารถของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยการจัดฝึกอบรมที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมถึงควรจัดหาเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น ไทยควรยุติการดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักวิจัยหรือผู้สื่อข่าวที่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของการค้ามนุษย์ ไทยควรอนุญาตให้เหยื่อการค้ามนุษย์ที่บรรลุนิติภาวะให้เดินทาง ทำงานและพำนักนอกเขตที่พักพิงได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย อีกทั้งควรเพิ่มแรงจูงใจให้เหยื่อค้ามนุษย์ร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเสนอทางเลือกอื่นที่ถูกกฎหมายให้เหยื่อค้ามนุษย์นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก ไทยควรพัฒนาบริการเฉพาะทางเพิ่มเติมสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและทำให้คดีของเด็กเหล่านั้นดำเนินการอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพิ่มการรณรงค์ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่นายจ้างและผู้ใช้บริการธุรกิจทางเพศ ซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจด้านประเวณี รวมทั้งพยายามลดอุปสงค์สำหรับแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์ ไทยควรสานต่อการดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งยกระดับสิทธิ สถานะทางกฎหมาย และนโยบายการเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว เพื่อลดความเสี่ยงการค้ามนุษย์ให้น้อยที่สุด

การดำเนินคดี

รัฐบาลยังคงมีความพยายามดำเนินการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นความผิดทางอาญาและระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงพอควรและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่นการข่มขืน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 รัฐบาลแก้กฎหมายให้บทลงโทษนักค้ามนุษย์มีความรุนแรงยิ่งขึ้น (ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับสูงสุดไม่เกิน 400,000 บาท (13,333 เหรียญสหรัฐ)) และให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแส กฎหมายใหม่นี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการสั่งระงับการดำเนินธุรกิจได้ชั่วคราว ตลอดจนยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้ทันทีหากพบว่าธุรกิจนั้นๆ มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์

รัฐบาลรายงานว่าได้ดำเนินการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 280 คดี (เทียบกับ 674 คดี ในปีพ.ศ. 2556) โดยดำเนินคดีผู้ค้ามนุษย์ 155 ราย (เทียบกับ 483 ราย ในปีพ.ศ. 2556) และพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 151 ราย (เทียบกับ 255 ราย ในปีพ.ศ. 2556) แม้จะมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานว่า มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานเพียง 58 กรณี (เทียบกับ 154 กรณีในปีพ.ศ. 2556) และดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ที่บังคับใช้แรงงานเพียง 27 ราย (เทียบกับ 109 ราย ในปีพ.ศ. 2556) นักค้ามนุษย์ 20 รายรับโทษจำคุกเกินเจ็ดปี และผู้ที่ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกสองปีขึ้นไป สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รายงานว่า มีคดีการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 107 คดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวน โดยหนึ่งในคดีเหล่านั้น สำนักงาน ปปง. ยึดเงินสดสองล้านบาท (62,500 เหรียญสหรัฐ) และอีกคดีหนึ่ง ยึดเงินสด 30 ล้านบาท (หนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งทั้งสองคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล

รัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าของเรือ ไต้ก๋ง และนายหน้าจัดหางานเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์สี่คดีที่เชื่อมโยงกับคดีเกาะอัมบน ซึ่งในแต่ละคดีมีผู้กระทำผิดหลายราย และพบว่ามีชาวประมงไทย 32 รายซึ่งถูกบังคับให้ทำงานบนเรือประมงไทยในประเทศอินโดนีเซีย ในคดีแรก มีการจับกุมผู้ต้องหาสี่รายและคดียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ส่วนคดีอื่นอยู่ในขั้นสืบสวน รัฐบาลรายงานว่า ยังคงดำเนินการสืบสวนกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ผู้พิพากษาตัดสินให้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 4.6 ล้านบาท (141,000 เหรียญสหรัฐ) ให้แก่โจทก์ในคดีที่เด็กสาวชาวกะเหรี่ยงอายุ 14 ปีถูกลักพาตัวและบังคับให้ทำงานเป็นคนใช้และถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ผู้กระทำความผิดทั้งสองคนในคดีดังกล่าวหลบหนีระหว่างการประกันตัวและยังไม่สามารถจับกุมตัวได้เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาการทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลรายงานว่าได้สืบสวนเครือข่ายอาชญากรรมจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนักค้ามนุษย์ที่นำเหยื่อไปแสวงประโยชน์ในธุรกิจทางเพศและการใช้แรงงาน ซึ่งการสืบสวนเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาการทำรายงานฉบับนี้ ผู้กระทำผิดสองรายถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือนและ 6 ปีตามลำดับในคดีเมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานอพยพชาวพม่าจำนวน 12 คน ไม่มีการดำเนินคดีหรือการพิพากษาลงโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับหญิงชาวไทยที่ตกเป็นเหยื่อค้าบริการทางเพศในประเทศแอฟริกาใต้ในปีพ.ศ. 2556 และอีกคดีหนึ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหมอนวดหญิงชาวไทยซึ่งถูกชักชวนให้ไปทำงานในประเทศแอฟริกาใต้

รัฐบาลยังคงให้การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายพันคนในด้านการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์และบทบัญญัติในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และรายงานว่าได้ดำเนินการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนคดีจำนวนมาก แต่ปัญหาการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับอัยการ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบุคลากรในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย อัยการ และสมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาเป็นประจำทำให้การดำเนินคดีไม่มีประสิทธิผลมากเท่าที่ควร รัฐบาลเริ่มกระบวนการติดตั้งระบบจัดเก็บข้อมูลใหม่ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ดีขึ้น การประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการมีมากขึ้นในปี 2557 ซึ่งรวมถึงการใช้คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชา ระบบตุลาการรวดเร็วขึ้นในการดูแลคดีอาญาโดยส่วนใหญ่ แม้ว่าคดีการค้ามนุษย์บางคดียังคงใช้เวลาสามปีหรือกว่านั้นกว่าจะแล้วเสร็จ ในปีพ.ศ. 2557 ศาลมีคำพิพากษาคดีการค้ามนุษย์ 118 คดี ซึ่งรวมไปถึงคดีการค้ามนุษย์ที่มีการฟ้องร้องก่อนปี 2557 มีผลสรุปว่า มี 90 คดีที่ดำเนินการเสร็จภายในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี มี 27 คดีที่ใช้เวลาหนึ่งถึงสองปีในการดำเนินคดีจนแล้วเสร็จ และมีหนึ่งคดีที่ใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปี ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมายบางคนหนีออกนอกประเทศหรือข่มขู่เหยื่อหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ ซึ่งทำให้เสริมสภาพการณ์ที่ผู้ก่อคดีค้ามนุษย์ไม่ได้รับการลงโทษยิ่งขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมประกาศมาตรการใหม่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 กำหนดให้ดำเนินการตัดสินคดีการค้ามนุษย์ทุกคดีให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และให้ความสำคัญสูงกับกระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เช่น การใช้การประชุมทางวีดิทัศน์สำหรับการให้การของพยานที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยและการใช้ล่ามอาชีพในศาล

รัฐบาลพยายามจัดการกับปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ทว่า การทุจริตและการที่เจ้าหน้ารัฐที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ รัฐบาลรายงานว่าได้สอบสวนและจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณีหรือใช้แรงงาน โดยกรณีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอดำเนินคดีหรือมีผลให้เจ้าหน้าที่ถูกโยกย้ายไปประจำตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจนและไม่ถูกลงโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำตัดสินให้นายแพทย์ตำรวจอาวุโสคนหนึ่งต้องโทษจำคุกแปดปี 33 เดือนในความผิดฐานค้ามนุษย์และความผิดที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยได้รับการประกันตัว รัฐบาลรายงานว่าได้จัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเป็นพิเศษเพื่อปราบปรามการทุจริต รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนแจ้งทางการเมื่อพบเห็นกรณีเจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นในอาชญากรรม แต่ความพยายามเชิงรุกในการสืบสวนหรือบังคับใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่เพื่อปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังคงไม่สม่ำเสมอ กรณีกองทัพเรือไทยฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักข่าวสองคนฐานหมิ่นประมาทเมื่อพ.ศ. 2556 จากการรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2558 ไม่ส่งเสริมให้มีการรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในภาคประมง นอกจากนี้ ความกลัวถูกฟ้องหมิ่นประมาทหรือถูกแก้แค้นอาจส่งผลให้นักข่าวไม่อยากเสนอรายงาน ทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายไม่อยากติดตามคดีค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม มีการออกกฎหมายฉบับใหม่สำหรับคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำผิดเพื่อช่วยคุ้มครองพลเมืองทั่วไปและตำรวจจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีที่ไม่เป็นสาระ

การคุ้มครอง

รัฐบาลดำรงความพยายามคัดแยกและคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า ได้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจำนวน 303 คนที่สถานพักพิงของรัฐบาล (เทียบกับ 681 คนในปีพ.ศ. 2556) โดยเป็นบุคคลสัญชาติไทย 67 คน (เทียบกับ 305 คนในปีพ.ศ. 2556) และชาวต่างชาติ 236 คน (เทียบกับ 373 คนในปีพ.ศ. 2556) ในจำนวนนี้ 195 คนเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงาน ส่วนที่เหลือถูกแสวงประโยชน์จากธุรกิจค้าประเวณี รัฐบาลยังระบุอัตลักษณ์บุคคลสัญชาติไทยเพิ่มเติมอีก 72 คนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีในต่างประเทศ และนำตัวเหยื่อเหล่านี้มาผ่านขั้นตอนที่ศูนย์ของทางการเมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ ก่อนที่ส่วนใหญ่จะได้รับการส่งตัวกลับภูมิลำเนา รัฐบาลรายงานว่าได้ดำเนินกระบวนการคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์ในหมู่ประชากรกลุ่มเสี่ยง ทว่า ความพยายามคัดกรองเชิงรุกยังคงไม่เพียงพอและจำต้องมีความสม่ำเสมอมากกว่านี้ ในบางกรณี รัฐบาลมอบหมายให้คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาเข้าสัมภาษณ์ผู้หญิงและเด็กในธุรกิจค้าประเวณี แรงงานไทย ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาบางราย ผู้อพยพชาวบังกลาเทศที่พบระหว่างการเข้าตรวจค้นหรือบนเรือประมง ตลอดจนประชากรกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เพื่อคัดกรองหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ รัฐบาลยังคงคัดกรองหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ในกลุ่มชาวประมงที่เดินทางกลับมาประเทศไทย การสัมภาษณ์มักกระทำเพียงสั้นๆ ในสภาพแวดล้อมเปิด โดยบางครั้งอาจมีนายหน้าอยู่ในห้องนั้นด้วย บริการล่ามสำหรับผู้ที่อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ยังคงมีจำกัด และเจ้าหน้าที่ส่วนหน้ายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยบ่งชี้การค้ามนุษย์มากนัก ทั้งยังขาดพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวสำหรับขั้นตอนการคัดแยกผู้อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ อาจส่งผลให้เหยื่อค้ามนุษย์หลายคนไม่ได้รับการระบุอัตลักษณ์

คุณภาพของการคัดกรองเหยื่อแตกต่างกันไปตามท้องที่และขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่คณะทำงานสหสาขาวิชา องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า ในบางกรณี คณะทำงานสัญจรสหสาขาวิชาที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และปฏิบัติงานสัมภาษณ์ผู้อาจตกเป็นเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิผลมาก จึงสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีประสบการณ์และความเข้าใจจำกัดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ตัวอย่างเช่นทางภาคเหนือของประเทศ องค์การนอกภาครัฐร่วมมือกับตำรวจจัดการสัมภาษณ์โดยคณะทำงานสหสาขาวิชาแบบมุ่งให้ความสำคัญกับเหยื่อ รวมถึงจัดตั้งสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับการสัมภาษณ์เหยื่อที่เป็นเด็กซึ่งพร้อมรองรับการทำงานของคณะผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายบางคนยังคงยืนกรานว่า การกักกันทางกายภาพหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวคือปัจจัยสำคัญที่จะยืนยันการค้ามนุษย์ โดยไม่ได้ตระหนักว่าการแสวงประโยชน์จากหนี้ (หรือพันธนาการหนี้) และความกลัวถูกส่งตัวกลับประเทศของแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็จัดเป็นรูปแบบการบังคับขู่เข็ญนอกเหนือจากทางกายภาพเช่นกัน ในบางครั้ง เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับว่าบางกรณีเป็นกรณีพันธนาการหนี้ และปฏิเสธไม่รับรองบุคคลว่าเป็นเหยื่อในกรณีเหล่านี้ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สอบสวนและคณะทำงานสหสาขาวิชาอาจไม่สังเกตเห็นปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงานและแรงงานขัดหนี้ในกรณีที่เหยื่อยินยอมทำงานในตอนแรก แต่ถูกหลอกลวงเกี่ยวกับสภาพการทำงานและตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เหยื่อหลายคนโดยเฉพาะผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารที่เกรงกลัวผลทางกฎหมายจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ ลังเลที่จะแสดงตัวว่าตนคือเหยื่อการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยยังคงส่งตัวเหยื่อไปยังหนึ่งในเก้าสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรับบริการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมายขั้นพื้นฐาน และการดูแลทางการแพทย์ มีรายงานว่าบุคลากรของกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ ทั้งยังขาดการสั่งการที่ชัดเจนตลอดจนทรัพยากรสำหรับตรวจสอบหากรณีการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงอย่างมีประสิทธิผล รัฐบาลจัดหาบริการล่ามหรือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับขั้นตอนคัดแยกเหยื่อไว้ไม่เพียงพอ ทำให้ความพยายามเหล่านี้ถูกจำกัดประสิทธิภาพอย่างมากโดยเฉพาะสำหรับเหยื่อชาวโรฮิงญา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าฝ่ายงานตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวผู้อาจเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานและค้าประเวณีออกนอกประเทศ และมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่บางคนของสถานทูตไทยในต่างประเทศแห่งหนึ่งอาจลังเลที่จะสนองตอบต่อคำร้องขอให้ช่วยเหลือเหยื่อชาวไทยในประเทศนั้นๆ

สองในสามของเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ได้รับการระบุตัวเป็นเด็ก แต่รัฐบาลกลับจัดหาบริการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้าบริการทางเพศไว้อย่างจำกัด รัฐบาลปิดศูนย์ด้านสตรีและเด็กภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อปลายปี 2557 องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนที่มีประสบการณ์ด้านคดีเยาวชนโดยเฉพาะมักไม่สะดวกให้ความร่วมมือในการระบุอัตลักษณ์และคุ้มครองเหยื่อที่เป็นเด็ก อย่างไรก็ตาม ตำรวจยังคงดำเนินความร่วมมืออย่างมีประสิทธิผลในคดีการค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศที่เกี่ยวพันกับผู้กระทำผิดชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการรับรองความปลอดภัยของพยานเสมอไป บางครั้งเหยื่อซึ่งรวมถึงเหยื่อที่เป็นเด็กถูกบังคับให้ให้การต่อหน้าผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดหรือถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเช่น ที่อยู่ ส่งผลให้เหยื่อหลายคนเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกแก้แค้น ศาลฎีกาออกข้อบังคับที่เป็นทางการเพิ่มเติมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านกระบวนการ องค์การนอกภาครัฐรายงานถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเด็กชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยครอบครัวมีส่วนสมรู้ร่วมคิดหรือเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

รัฐบาลอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานซึ่งมีอายุ 6 เดือนและต่ออายุได้ตามระยะเวลาที่คดีความยังดำเนินอยู่ แก่เหยื่อชาวต่างชาติจำนวน 57 คน (เทียบกับ 128 คนในปีพ.ศ. 2556) ให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ชั่วคราวระหว่างช่วงเวลาดำเนินคดีตามกฎหมาย ในจำนวนหญิงชาวต่างชาติที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และได้รับใบอนุญาตทำงาน บางคนไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานเนื่องจากทางการประเมินว่าอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยปกติแล้ว เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิงและไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องพักอาศัยในสถานพักพิงของรัฐบาลและไม่สามารถออกจากสถานพักพิงได้โดยไม่มีผู้ติดตามจนกว่าทางการไทยจะพร้อมส่งตัวกลับประเทศต้นทาง มีรายงานว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ ได้รับเฉพาะสำเนาเอกสารประจำตัวและสำเนาใบอนุญาตทำงานเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเก็บผู้เอกสารฉบับจริงไว้ รัฐบาลเบิกจ่ายเงิน 3.7 ล้านบาท (117,000 เหรียญสหรัฐ) จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลเพื่อมอบให้แก่เหยื่อ 463 คน (เทียบกับ 525 คนในปีพ.ศ. 2556) รัฐบาลยื่นฟ้องร้องในนามของเหยื่อจำนวน 57 คน (เทียบกับ 48 คนในปีพ.ศ. 2556) และเรียกร้องค่าเสียหายได้รวม 8.6 ล้านบาท (269,000 เหรียญสหรัฐ) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2548 กำหนดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติอาจได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรเป็นกรณีไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่ได้รายงานว่าได้ให้สถานะผู้พักอาศัยถาวรแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติหรือบุคคลไร้สัญชาติคนใดในช่วงเก้าปีที่ผ่านมา กฎหมายไทยคุ้มครองเหยื่อจากการดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยกเหยื่อของรัฐบาลไทยมีข้อบกพร่องร้ายแรง อีกทั้งความพยายามเชิงรุกของทางการในการจับกุมและส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศทำให้เหยื่อเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกและถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชญากร เป็นไปได้ว่าอาจมีเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งไม่ได้รับการคัดแยกรวมอยู่ในกลุ่มคนต่างด้าวที่อาจถูกทางการดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะขาดเอกสารในช่วงปีที่ผ่านมาและถูกกักกันตัวในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่บางครั้งก็แออัดเกินไป รัฐบาลไม่ได้เสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายอื่นๆ แก่เหยื่อที่เผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือชีวิตที่ยากลำบากเมื่อกลับประเทศบ้านเกิด เหยื่อชาวต่างชาติถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นระบบหากไม่ยินยอมให้การหรือเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย

การป้องกัน

รัฐบาลเพิ่มความพยายามป้องกันการค้ามนุษย์ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อดำเนินความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งยังจัดโครงการรณรงค์ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา และเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างความตระหนักของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับอันตรายของการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ นักต่อสู้การค้ามนุษย์ได้แสดงความกังวลว่า การดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้ามนุษย์คนหนึ่งเพื่อตอบโต้งานค้นคว้าของเขาที่บันทึกการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ในโรงงานแปรรูปอาหารแห่งหนึ่งในประเทศไทยนั้น มีผลในการปิดปากนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ คดีที่กองทัพเรือไทยฟ้องหมิ่นประมาททางอาญากับนักข่าวสองคนเมื่อ พ.ศ. 2556 จากการรายงานเกี่ยวกับการค้าชาวโรฮิงญาในประเทศไทยยังคงดำเนินอยู่ในปี พ.ศ. 2557 ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ช่วยสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการป้องกันการค้ามนุษย์ การระบุอัตลักษณ์เหยื่อ และการจับกุมนักค้ามนุษย์

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการชุดใหม่ที่มุ่งป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ทั้งยังจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดการประเด็นด้านการค้ามนุษย์โดยให้กระทรวงต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น รวมถึงประกาศให้ประเด็นการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ขึ้นใน 10 จังหวัด สำหรับให้ข้อมูลและบริการแรงงานไทยที่มองหางานในต่างประเทศ ทว่ากรมการจัดหางานยังคงไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมจัดการกับค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปที่แรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายเพื่อให้ได้งานไม่ว่าในต่างประเทศหรือในประเทศ จนเสี่ยงต่อการติดอยู่ในพันธนาการหนี้หรือสภาพการทำงานและการดำรงชีวิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รัฐบาลจดทะเบียนและออกใบอนุญาตทำงานแก่แรงงานต่างด้าว 1.6 ล้านคนในความพยายามทำให้แรงงานเหล่านี้ในประเทศไทยมีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย การพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง (พม่า กัมพูชา ลาว) ยังคงอยู่ระหว่างรอดำเนินการเมื่อถึงสิ้นปีที่จัดทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินความพยายามกำกับควบคุมผู้ให้บริการหรือบริษัทผู้ให้บริการด้านการจ้างงานที่ให้บริการแรงงานต่างด้าว ความพยายามเชิงรุกของเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งช่วยให้ชาวเขา 900 คนได้รับสัญชาติไทย ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในระดับประเทศดูจะเข้าใจดีว่า ภาวะไร้สัญชาติอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ความเข้าใจเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่มาตรฐานของระดับเทศบาลและระดับภูมิภาคด้วยเสมอไป ผลการตรวจสอบแรงงานโดยรัฐบาลในสถานประกอบการ 392 แห่งตรวจพบการละเมิดแรงงานในสถานประกอบการ 32 แห่งแต่ไม่พบกรณีการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงาน รัฐบาลทราบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่วนใหญ่เกิดจากการที่แรงงานบางคนไม่เต็มใจทำงานในอุตสาหกรรมประมงเพราะมีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ และในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงสภาพเหล่านั้นให้ดีขึ้นโดยออกกฎหมายด้านแรงงานฉบับใหม่ซึ่งเพิ่มอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคประมงเป็น 18 ปี รวมทั้งรับรองค่าแรงขั้นต่ำและกำหนดให้มีการทำสัญญาจ้างงาน ช่วงเวลาพักและวันหยุด รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติการประมงที่ประกาศใช้มานาน 68 ปี ซึ่งนำไปสู่การจดทะเบียนเรือและแรงงานประมงตลอดจนเพิ่มการเข้าตรวจสอบบนเรือประมงโดยคณะทำงานสหสาขาวิชาเพื่อสังเกตการณ์สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงาน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด แหล่งทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่ไม่เพียงพอ การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือที่ขาดความต่อเนื่องในหมู่หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบในอุตสาหกรรมประมง มีส่วนส่งเสริมให้ผู้ที่แสวงประโยชน์จากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้มักรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

ในปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงานหนึ่งแห่ง ระงับใบอนุญาตประกอบการของบริษัทหนึ่งแห่ง ยื่นฟ้องคดีอาญากับบริษัทสามแห่ง และสอบสวนนายหน้าผิดกฎหมาย 156 รายที่ส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ รัฐบาลดำเนินความพยายามป้องกันการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก โดยได้ปฏิเสธการเข้าประเทศของบุคคลชาวต่างชาติที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศจำนวน 98 คน และจัดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวถึงบทลงโทษที่เข้มงวดของการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ รัฐบาลรายงานว่าได้จัดเครือข่ายเฝ้าระวังการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก โดยฝึกอบรมผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ความเสี่ยงสูงให้สามารถระบุและรายงานกรณีดังกล่าวแก่ตำรวจ รัฐบาลดำเนินงานเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศ รวมถึงสืบสวนคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล 772 คนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดหาหรือเสนอบริการทางเพศ แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับจำนวนกรณีที่เข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีหรือพิพากษาลงโทษสืบเนื่องมาจากการสืบสวนเหล่านี้ในปีพ.ศ. 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความคืบหน้าในการจัดทำกฎหมายที่ระบุให้การครอบครองสื่อลามกเด็กเป็นอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้รายงานถึงการดำเนินงานเพื่อลดความต้องการแรงงานบังคับใช้ รัฐบาลสรุปชี้แจงเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แก่นักการทูตก่อนออกเดินทางไปประจำต่างประเทศ