จัดทำโดยสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน
รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2558
ประเทศไทย
รายงานสรุป
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระบารมีของพระองค์ตามที่ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันมา ในเหตุการณ์รัฐประหารโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ผู้นำฝ่ายทหารและตำรวจภายใต้ชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการนำโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งเข้ามามีอำนาจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศซึ่งโดยทั่วไปมองว่าเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดยฝ่ายทหารยังคงกำกับดูแลฝ่ายรักษาความมั่นคงและหน่วยงานรัฐบาลทุกหน่วย
ในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตลอดจนพระราชกฎษฎีกาหลายฉบับที่จำกัดสิทธิพลเมืองเป็นอย่างมาก อันรวมถึงเสรีภาพทางการพูด เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพของสื่อ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ฝ่ายทหารประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก โดยให้ใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2015 แทน ซึ่งคำสั่งนี้ออกประกาศภายใต้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. เป็นผู้ประกาศ และให้อำนาจแก่รัฐบาลทหารเป็นอย่างมากในการควบคุม “การกระทำที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพของชาติ” นอกจากนี้ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. ประกาศใช้นั้นให้อภัยโทษต่อผู้นำรัฐประหารและเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาสำหรับการกระทำทั้งก่อนและหลังรัฐประหารหากเป็นการกระทำที่ดำเนินการภายใต้คำสั่งของ คสช. ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่
นอกจากการจำกัดด้านสิทธิพลเมืองอันเกิดจากการดำเนินการของ คสช. แล้ว ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เรื้อรังมากที่สุดคือการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายความมั่นคงของทางการและอาสาสมัครป้องกันชาติในบริบทของการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และหนึ่งอำเภอในจังหวัดสงขลา ตลอดจนการใช้กำลังเกินเหตุของฝ่ายความมั่นคง (ทหารและตำรวจ) เป็นบางครั้งอันรวมถึงการคุกคามและทารุณผู้ต้องสงสัยทางอาญา ผู้ถูกคุมขังและนักโทษ หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลผ่านสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ปัญหาสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้แก่ การจับกุมและกักกันตามอำเภอใจ สภาพเรือนจำและสถานกักกันที่แออัดและไม่ถูกหลักสุขอนามัย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการจัดตั้งสมาคม การทุจริต การให้ความคุ้มครองอย่างไม่เพียงพอแก่กลุ่มประชาชนที่อ่อนแอซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัย ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี การท่องเที่ยวเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ การแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก การค้ามนุษย์ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขาและแรงงานต่างด้าว ปัญหาแรงงานเด็ก และการจำกัดสิทธิบางประการของผู้ใช้แรงงาน
ทางการบางครั้งไล่ออก จับกุม ดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงที่มีพฤติกรรมใช้อำนาจโดยมิชอบ กระนั้น การที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อไปในรายงานฉบับนี้จะเรียกว่า “พระราชกำหนดฉุกเฉิน” นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่
ผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการโจมตีทำร้ายพลเรือน
หมวดที่ 1 การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจาก
ก. การสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมาย
ยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางครั้งใช้กำลังรุนแรงเกินเหตุและใช้กำลังถึงตายกับผู้ต้องสงสัยคดีอาญา ตลอดจนกระทำการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การสังหารตามอำเภอใจ และการสังหารโดยผิดกฎหมาย แม้ว่าการกระทำแหล่านั้นจะมีจำนวนลดลงก็ตาม สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ได้สังหารผู้ต้องสงสัย 17 คน ขณะดำเนินการจับกุมระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่มีรายงานยืนยันว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทำการสังหารโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง
คดีดังจากปี 2557 หลายคดียังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย เช่น เมื่อเดือนมกราคม 2557 มือปืนไม่ทราบชื่อยิงสังหารนายสุทิน ธราทิน แกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. (People’s Democratic Reform Committee) ขณะนายสุทินนำมวลชน กปปส.ไปปิดและขวางทางเข้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป การสืบสวนคดีนี้ยังคงค้างอยู่
มีรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการสังหารที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวด 1.ช.)
ข. การหายสาบสูญ
ไม่มีรายงานการหายสาบสูญที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ส่วนคดีดังหลายคดีจากปีก่อนๆ ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงคนสำคัญหายตัวไปทางภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ บิลลี่เป็นผู้นำในคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องเจ้าพนักงานของทางการซึ่งรวมถึงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งชาวบ้านกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งทำลายบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครัวเรือนให้ได้รับความเสียหายกว่า 100 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยอ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้บุกรุกป่าสงวน เมื่อบิลลี่หายตัวไป มีรายงานว่าบิลลี่กำลังเดินทางไปพบกับชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงเพื่อเตรียมการให้การในศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยหรือดำเนินการจับกุมผู้ใด แม้ว่าทางการดำเนินการย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ในช่วงที่บิลลี่หายตัวไปก็ตาม
เมื่อเดือนธันวาคม ศาลฎีกาตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายให้พ้นจากข้อกล่าวหาอันเนื่องจากหลักฐานขาดความสมบูรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายนี้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวกันกับคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมหายสาบสูญไปเมื่อปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ศาลฎีกายังยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในการยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของภรรยาและบุตรของนายสมชายในนามของนายสมชายเนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนว่านายสมชายถึงแก่ความตายหรือไม่สามารถจัดการเองได้
เมื่อถึงเดือนกันยายน รัฐบาลยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคำร้องขอเดินทางมาประเทศไทยของคณะทำงานด้านปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติที่ได้ยื่นเรื่องไว้เมื่อปีพ.ศ. 2554
ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือทำลายศักดิ์ศรีอื่นๆ
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งประกาศใช้หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ให้ความคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ” แต่มิได้มีบทบัญญัติเฉพาะห้ามการทรมาน มาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุว่า เจ้าพนักงานด้านความมั่นคงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำใดๆ ในระหว่างปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อถึงเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน 41 ครั้งครั้งละสามเดือนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 ในหลายจังหวัดในภาคใต้
ตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ (NGO) และองค์กรด้านกฎหมายรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางครั้งทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อบังคับให้รับสารภาพ และหนังสือพิมพ์รายงานหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ใช้ความรุนแรง มีการดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า จนถึงเดือนสิงหาคม มีการสอบสวนวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2,243 นาย ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2557 การสอบสวนดังกล่าวมีผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 นายถูกไล่ออกและอีก 2,043 นายรับโทษทางวินัย
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการถูกกล่าวหาว่าทรมานบุคคลสี่คนที่ถูกทหารกักตัวเนื่องจากพัวพันเหตุระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนและอาคารศาลอาญาในกรุงเทพในขณะที่คนทั้งสี่อยู่ในระหว่างถูกคุมตัวที่ค่ายทหาร ทหารกักตัวบุคคลทั้งสี่ภายใต้กฎอัยการศึกระหว่างวันที่ 9 – 15 มีนาคม ก่อนจะโอนตัวทั้วสี่ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ บุคคลทั้งสี่กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทหารต่อย เตะ ใช้ไฟฟ้าช็อค และข่มขู่เพื่อหาข้อมูลและให้สารภาพ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระพยายามเข้าเยี่ยมคนทั้งสี่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจเพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้เยี่ยม เมื่อถึงเดือนกันยายน ทางการก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ใดในคดีนี้ และผู้ต้องสงสัยทั้งสี่ก็ไม่ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
เมื่อเดือนธันวาคม องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีหน่วยงานอิสระดำเนินการสอบสวนการกล่าวอ้างว่าตำรวจทรมานบุคคลสัญชาติพม่าสองคนเพื่อให้สารภาพทั้งที่ไม่ใช่ความจริงซึ่งภายหลัง บุคคลสัญชาติพม่าทั้งสองถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2557
สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน
เรือนจำและสถานกักกันต่างๆ อันได้แก่ สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและศูนย์กักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงที่ไม่มีเอกสารประจำตัวนั้นยังคงมีสภาพไม่ค่อยดีและส่วนใหญ่จะแออัดมาก กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสภาพเรือนจำและสถานกักกันต่างๆ
รัฐบาลทหารคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนในสถานกักกันของทหาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ปิดเรือนจำที่มณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานครโดยทันทีหลังจากผู้ต้องสงสัยที่มีชื่อเสียงสองคนเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวระยะเวลา 30 วัน โดยรายหนึ่งแจ้งว่าฆ่าตัวตาย ส่วนอีกรายหนึ่งแจ้งว่ามีสาเหตุมาจากเจ็บป่วยรุนแรง
สภาพเรือนจำและสถานกักกัน: สถิติเมื่อวันที่ 10 กันยายน มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันประมาณ 309,500 คน แต่สถานที่ออกแบบให้รองรับสูงสุดเพียง 217,000 คน
ในเรือนจำบางแห่ง สถานที่นอนมีไม่เพียงพอ การขาดบริการทางการแพทย์เป็นปัญหาร้ายแรงและมีโรคติดต่อระบาด บางครั้ง ทางการจะส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ
สภาพที่ไม่น่าพึงประสงค์ของเรือนจำเป็นเหตุให้ผู้ต้องขังก่อจลาจลในเรือนจำอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ผู้ต้องขังจำนวน 200 คนในเรือนจำจังหวัดสงขลาประท้วงสภาพที่แออัดของเรือนจำ การจลาจลครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายและบาดเจ็บ 10 ราย
ประมาณร้อยละ 21 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป ผู้ที่ถูกกักขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะถูกขังที่ค่ายทหารหรือสถานีตำรวจมากกว่าในเรือนจำ
องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า บางครั้ง ทางการคุมขังผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้อง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล
อย่างไรก็ตาม ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทางการคุมขังผู้หญิงและผู้ชายรวมกัน และคุมขังเยาวชนอายุเกิน 14 ปีรวมกับผู้ใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2557 องค์การ Human Rights Watch ออกรายงานเกี่ยวกับการคุมขังเด็กที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยอ้างว่า รัฐบาลควบคุมตัวผู้ย้ายถิ่น ผู้แสวงหาที่พักพิงและเด็กอพยพที่ไม่มีเอกสารประจำตัวจำนวนหลายพันคนโดยพลการในสถานที่กักกันคนเข้าเมืองและห้องขังของตำรวจที่มีสภาพสกปรกซอมซ่อ ซึ่งในกลุ่มเด็กนั้นมีทั้งเด็กเล็กและทารก ทางการอาจควบคุมตัวบุคคลและบุตรในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลาหลายปีได้หากพวกเขาไม่จ่ายค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศตนเอง เนื่องจากกฎหมายระบุว่า “บุคคลต่างด้าวเป็นผู้เสียเงินค่าส่งตัวกลับประเทศ… และค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย” รายงานฉบับดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อยุติการคุมขังเด็กโดยใช้หนทางอื่นแทน เช่น การปล่อยโดยมีเงื่อนไขให้คุมประพฤติ (Supervised Release) และการไม่ควบคุมตัวและจัดที่อยู่อาศัยโดยใช้ชุมชนเป็นแกนในขณะดำเนินการแก้ปัญหาสถานภาพการอพยพย้ายถิ่นของบุคคลเหล่านี้ องค์การนอกภาครัฐอื่นๆ รายงานว่า มีคำร้องทุกข์โดยเฉพาะจากผู้ต้องขังชาวมุสลิมว่า อาหารมีปริมาณไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมตามวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีรายงานอย่างต่อเนื่องว่า ผู้คุมบังคับใช้แรงงานผู้ต้องขังและสภาพถ่ายเทอากาศในศูนย์กักกันไม่ค่อยดี
บางครั้ง เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้การขังเดี่ยวนานไม่เกินหนึ่งเดือนเพื่อลงโทษนักโทษชายที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำเป็นประจำหรือที่อาจเป็นภัยต่อผู้อื่น ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า การขังเดี่ยวโดยเฉลี่ยจะมีระยะเวลาประมาณเจ็ดวัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตีตรวนขาด้วยเหล็กขนาดใหญ่เพื่อควบคุมนักโทษประมาณ 1,000 คนที่เห็นว่า มีแนวโน้มจะหลบหนีหรือนักโทษที่อาจเป็นอันตรายต่อนักโทษคนอื่นๆ
สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า มีบุคคลเสียชีวิตระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ 835 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 โดยเก้าคนอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ และ 826 คนอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ทางการระบุว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติ
กฎหมายกำหนดว่า ผู้ติดยาเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร และบุคคลที่เสพยาอาจถูกทางการกักตัวในศูนย์บำบัดเชิงบังคับเป็นเวลาประมาณ 120 หรือ 180 วัน เพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้กลับเป็น “พลเมืองดี” ศูนย์เหล่านี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตั้งอยู่ตามค่ายทหารประมาณ 55 แห่งและศูนย์ของพลเรือน 29 แห่ง ณ เดือนกันยายน มีบุคคลถูกกักตัวอยู่ตามศูนย์เหล่านี้ประมาณ 21,000 คน เจ้าหน้าที่ดำเนินการศูนย์บำบัดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์
กรมคุมประพฤติยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินการบำบัดยาเสพติดดังกล่าวข้างต้นเป็นระยะๆ และค่ายทหารส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่การแพทย์หรือคณะเจ้าหน้าที่การแพทย์ไปที่ค่ายทหารหลายแห่งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ก่อนการกักกันผู้เสพยา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ทำการประเมินทางการแพทย์ว่า บุคคลติดยารุนแรงในระดับใดและไม่มีการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย และเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการติดตามผลการบำบัด สื่อมวลชนรายงานการกระทำมิชอบต่อผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกักกัน เช่น การทารุณทางกาย นอกจากนี้ ยังขาดการให้ดูแลรักษาพยาบาลบางประการ เช่น การล้างพิษโดยใช้กระบวนการทางการแพทย์ การป้องกัน การรักษา การดูแล และการให้ความช่วยเหลือบำบัดเชื้อเอ็ชไอวี ตลอดจนการบำบัดการติดยาเชิงประจักษ์
ทางการปิดศูนย์ฯ ที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2557 และกองทัพบกตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นมาแทน หลังจากที่ครูฝึกทหารถูกกล่าวหาว่า บังคับให้ผู้ติดยาที่ต้องขังถอนเงินจำนวน 600,000 บาท (16,630 เหรียญสหรัฐ) จากธนาคารก่อนจะยิงผู้ต้องขังเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2556 ณ เดือนกันยายน ผู้ต้องหากำลังถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้ความรุนแรงที่ศูนย์ฯ เหล่านี้
กลุ่มประชาสังคมที่ดำเนินโครงการลดภัยสังคมต้องประสบอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด และมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและคุกคามเจ้าหน้าที่ที่ทำงานบริการชุมชนภายใต้โครงการที่รัฐบาลเห็นชอบนี้
การดำเนินงานของเรือนจำ: ทางการอนุญาตให้นักโทษและผู้ต้องขัง หรือผู้แทนของนักโทษและผู้ต้องขังสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาก่อน แต่ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อฝ่ายตุลาการได้โดยตรง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนหรือคำร้องทุกข์ที่ได้รับจากนักโทษและให้คำแนะนำแก่กรมราชทัณฑ์ แต่สำนักงานฯ ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการในนามของนักโทษ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในคดีใดๆ ยกเว้นแต่จะได้รับคำร้องทุกข์อย่างเป็นทางการจากบุคคล ทางการไม่ค่อยสอบสวนคำร้องทุกข์และไม่ประกาศผลการสอบสวนให้สาธารณชนทราบ
ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและขึ้นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบส่วนใหญ่ที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป
การตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ: รัฐบาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อิสระด้านสิทธิมนุษยชนและผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษในเรือนจำโดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย ตลอดจนเยี่ยมผู้ต้องขังในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้ง ยังสามารถเข้าเยี่ยมอีกได้หลายครั้ง รวมถึงได้รับอนุญาตให้เข้าชมสถานีตำรวจทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่งรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ทางการอนุญาตให้เข้าชมเรือนจำทุกแห่งในประเทศได้ ยกเว้นเรือนจำบางแห่งในเขตทหาร ซึ่งได้แก่ เรือนจำในมณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร และนอกจากนั้น องค์การฯ แห่งนี้ยังรายงานว่าได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางทหารและตำรวจเกี่ยวกับมาตรฐานสากลว่าด้วยการดำเนินงานของตำรวจและการใช้อำนาจของตำรวจ
ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังบางรายที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตาม จะสามารถเยี่ยมได้หรือไม่นั้นจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป เจ้าหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันซอยสวนพลู และผู้แทนประเทศที่สามด้านการโยกย้ายถิ่นฐานยังสามารถเข้าเยี่ยมได้เพื่อดำเนินการจัดการให้ผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัยโยกย้ายถิ่นฐานได้เดินทางไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ยังสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษที่ศูนย์กักกันต่างๆ ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ในบางกรณี เจ้าหน้าที่จำกัดการเยี่ยมผู้ต้องขังบางกลุ่มขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทหารสามารถกักกันบุคคลได้สูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายศาลหรือการพิจารณาคดีในศาล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรายงานว่า รัฐบาลทหารเรียกตัว จับกุมและกักขังบุคคลอย่างน้อย 256 คน จนถึงเดือนกันยายน และอย่างน้อย 1,222 คนนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารมักให้ผู้ถูกกักขังลงนามในเอกสารยืนยันว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างดี จะไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และจะขออนุญาตทางการก่อนเดินทางออกนอกพื้นที่ กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการมักไม่อนุญาตให้ญาติพี่น้องหรือทนายพบผู้ถูกกักขัง เจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งว่าจะต้องถูกจำคุกและยึดทรัพย์
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่กักกันอย่างไม่เป็นทางการได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหานั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุณาอ่านหมวดที่ 1.ง)
บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ยากแก่การร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งการกักขัง พระราชกำหนดฯ ระบุว่า ผู้ถูกกักขังมีสิทธิที่จะมีทนายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีหลักประกันว่า ผู้ถูกกักขังจะได้พบทนายหรือญาติพี่น้องทันที และไม่มีมาตรการที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการทารุณผู้ถูกกักขัง นอกจากนี้ พระราชกำหนดฯ ระบุว่า เจ้าพนักงานด้านความมั่นคงไม่ต้องรับโทษทั้งทางอาญา ทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำใดๆ ในระหว่างปฏิบัติราชการตามหน้าที่ภายใต้พระราชกำหนดฯ
บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องมือรักษาความมั่นคง
กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเหนือหน่วยงานพลเรือนซึ่งรวมถึงตำรวจในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและความรับผิดชอบพิเศษในพื้นที่ชายแดนเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ต้องขังและนักโทษ และโดยส่วนใหญ่มักไม่ถูกลงโทษ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่าไม่ต้องรับโทษจากการกระทำระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ผู้ที่ต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องเรียนโดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ถูกกล่าวหา จเรตำรวจ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดจนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 สำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า ได้รับคำร้องเรียนกรณีตำรวจประพฤติมิชอบ 1,424 ราย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รายงานว่า ได้รับคำร้องเรียนกรณีตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ 32 รายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
กระบวนการมาตรฐานกำหนดว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องเรียน คณะกรรมการสอบสวนภายในจะรับเรื่องไว้พิจารณาและอาจสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนเป็นการชั่วคราวระหว่างการสอบสวน มีมาตราการลงโทษทางการบริหารหลายแบบ และหากเป็นกรณีร้ายแรง เรื่องอาจจะถูกส่งไปยังศาลอาญา
คำร้องเรียนส่วนน้อยยังผลให้มีการลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด และมีตัวอย่างจำนวนมากที่การสอบสวนการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้เวลานานหลายปีโดยไม่มีผลสรุป ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกันยายน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติเกี่ยวกับคดีที่มีการสอบสวนมาเป็นเวลาเจ็ดปีโดยแนะนำให้อัยการแผนกคดีอาญาและกองทัพบกดำเนินการตามกฎหมายต่อนายทหารนายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า สังหารพลเรือนคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. 2551
หน่วยงานตำรวจในท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบสอบสวนแต่ละกรณีที่มีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และประเมินว่า การสังหารนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หรือชอบด้วยเหตุผลหรือไม่
ในกระบวนการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ซึ่งรวมทั้งการเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวนั้น มีข้อกำหนดให้อัยการ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นเข้าร่วมการสอบสวนด้วย และในกรณีส่วนใหญ่ สมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพด้วย ทว่า เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยปฏิบัติตามกระบวนการนี้ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเองก็ไม่ค่อยใช้สิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานกระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการจับกุม
กระทรวงกลาโหมกำหนดให้ข้าราชการทหารเข้ารับการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน การฝึกอบรมตามปกตินั้นจัดในหลายระดับ ได้แก่ ข้าราชการสัญญาบัตร ข้าราชการต่ำกว่าสัญญาบัตรและทหารเกณฑ์ นอกจากนี้ ข้าราชการทหารที่ออกปฏิบัติงานสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับการอบรมพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการอบรมการรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย
ขั้นตอนการจับกุมและการปฏิบัติต่อบุคคลขณะถูกคุมขัง
กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุมยกเว้นบางกรณีเท่านั้น ระบบการออกหมายจับอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มว่าศาลมักจะอนุมัติออกหมายตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด ตามกฎหมาย บุคคลต้องได้รับแจ้งข้อหาทันทีที่ถูกจับกุมและต้องได้รับอนุญาตให้สามารถแจ้งแก่ผู้ใดผู้หนึ่งถึงการถูกจับกุมได้ ผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหาคดีอาญามีสิทธิเริ่มกระบวนการทางศาลเพื่อพิจารณาว่าการกักขังดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้หากทางการจับกุมกักขังอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ตำรวจในท้องที่มักทำการสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ช่วยให้ผู้ถูกคุมขังติดต่อทนาย นักกฎหมายที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้รายงานว่า ภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบลูกความที่ถูกคุมขัง และมีประชาชนในจังหวัดภาคใต้รายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ทางการปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมสมาชิกครอบครัวที่ถูกคุมขัง
บางครั้ง เจ้าหน้าที่ทางการกดดันผู้ที่ถูกคุมขังชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานอพยพและผู้ที่เข้าประเทศผิดกฎหมายให้ลงชื่อสารภาพโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากล่ามหรือนักแปลที่มีความสามารถ
จนถึงเดือนกรกฎาคม กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมจัดหาทนายอาสาให้แก่ผู้ถูกคุมขังที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐจำนวน 14,159 คดี ทนายความตั้งข้อสังเกตว่า ค่าจ้างทนายและค่าธรรมเนียมที่ทางการเสนอให้นั้นค่อนข้างต่ำ
กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการขอประกันตัว และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มรายงานว่า มีบ่อยครั้งที่ตำรวจไม่ได้แจ้งให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวทราบเกี่ยวกับสิทธิการขอประกันตัว หรือไม่ก็ ปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้มีการประกันตัวหลังจากผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล โดยเฉพาะในคดียาเสพติดและคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การจับกุมตามอำเภอใจ: ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทหารมีอำนาจกักขังบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุคคลอาจถูกกักกันได้เป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา (ดูหมวด 1.ช) จนถึงเดือนกันยายน ทหารประกาศใช้กฎอัยการศึกและอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2015 ในการกักกันเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และบุคคลกลุ่มอื่นๆ โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 256 คน ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวหลังกักไว้ไม่นาน มีบางรายที่ถูกกักสูงสุดเจ็ดวัน
การคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี: ในกรณีปกติทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อดำเนินการสอบสวนคดีได้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม ทนายความรายงานว่า ตำรวจไม่ค่อยส่งสำนวนต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ความผิดที่มีระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความรับผิดชอบของศาลแขวงซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างออกไป โดยในคดีเหล่านี้ ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายใน 72 ชั่วโมงหลังการจับกุม จากรายงานของสภาทนายความแห่งประเทศไทย การคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อรอการพิจารณาคดีนานถึง 60 วันถือเป็นเรื่องปกติ
ก่อนการตั้งข้อหาและการพิจารณาคดี ทางการสามารถควบคุมตัวบุคคลได้นานสูงสุดไม่เกิน 84 วัน (สำหรับคดีร้ายแรงที่สุด) โดยศาลต้องพิจารณาทบทวนทุกเจ็ดวัน หลังจากการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการและตลอดช่วงการพิจารณาคดี การคุมขังผู้ต้องสงสัยอาจกินเวลานาน 1-2 ปี กว่าศาลจะประกาศคำพิพากษาและอาจนานถึงหกปีกว่าศาลสูงสุดจะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพร้อมในการดำเนินการฟ้องร้องและการสู้คดี จำนวนคดีที่ศาลรับผิดชอบและลักษณะของหลักฐาน บางกรณี ช่วงเวลาที่จำเลยถูกควบคุมตัวอาจเท่ากับหรือนานกว่าโทษของอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา
การคุมขังผู้แสวงหาที่พักพิงที่ทางการปฏิเสธหรือบุคคลไร้สัญชาติ: ทางการคุมขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ขอลี้ภัยที่ขาดสถานภาพทางกฎหมาย องค์การนอกภาครัฐกล่าวหาว่า มีการยืดเวลาการคุมขังและสภาพห้องคุมขังต่ำกว่ามาตรฐาน
การอภัยโทษ: ประกาศกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวมีจำนวน 38,000 คนและได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษมีจำนวน 140,000 คน
จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ระบบศาลมีความเป็นอิสระ แม้ คสช. ออกประกาศห้ามพนักงานศาลยุติธรรมแสดงความเห็นเชิงลบต่อ คสช. ในเวทีสาธารณะ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจแก่ คสช. ในระงับยับยั้งเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของชาติ “ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ”
กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของ คสช. ที่มีต่อกระบวนการตุลาการที่เป็นกระบวนการอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน การที่คดีดังๆ หลายคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้นทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบตุลาการและทำให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางคน (หรือครอบครัวของเหยื่อ) ไม่สนใจเรียกร้องความยุติธรรม
ขั้นตอนการพิจารณาคดี
กฎหมายให้ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ การพิจารณาคดีไม่ใช้ระบบลูกขุน การพิจารณาความผิดลหุโทษใช้ผู้พิพากษาคนเดียว ส่วนคดีความผิดที่ร้ายแรงกว่านั้นต้องใช้ผู้พิพากษาสองคนหรือมากกว่า ก่อนมีการระงับใช้รัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการพิพากษาคดีทันที แต่ก็ยังมีคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลเป็นจำนวนมาก แม้ว่าการพิจารณาคดีส่วนใหญ่จะเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาลับได้ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ราชวงศ์ เด็ก หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
จำเลยที่ถูกพิจารณาคดีในศาลอาญาธรรมดาจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหลายประการซึ่งรวมถึงสิทธิในการเลือกทนายด้วยตนเอง รับทราบรายละเอียดข้อมูลข้อกล่าวหาอย่างรวดเร็ว (รวมถึงมีล่ามโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากจำเป็น) พร้อมทั้งเวลาและสถานที่อย่างเพียงพอในการเตรียมสู้คดี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิไม่จำเป็นต้องให้การหรือสารภาพผิด เผชิญหน้ากับพยาน และนำเสนอพยาน อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้จัดหาทนายอาสาให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐโดยอัตโนมัติ และมีการกล่าวหาว่า ในทางปฏิบัติแล้ว จำเลยก็ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวข้างต้นเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเล็กๆ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล
คำสั่ง คสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 กำหนดให้เปลี่ยนเขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดี โดยการดำเนินคดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การก่อการจลาจล การปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งปกติอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญานั้นให้เปลี่ยนไปอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร แหล่งข่าวรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐระบุว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 ศาลทหารเริ่มพิจารณาคดีกับพลเรือนอย่างน้อย 1,400 คดีและบุคคล 1,600 คน โดยส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาฐานละเมิดมาตรา 112 (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. และฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด
ศาลทหารไม่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาพลเรือนเหมือนศาลพลเรือน ศาลทหารไม่ให้จำเลยได้รับสิทธิตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการที่จะได้รับการสืบพยานและพิจารณาคดีที่ยุติธรรมโดยศาลที่มีสมรรถภาพ ไม่มีอคติและเป็นอิสระ เมื่อเดือนพฤษภาคม บทแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มีผลบังคับใช้เพื่อให้ทางการจัดหาทนายความที่ศาลแต่งตั้งสำหรับพลเรือนที่ต้องรับการพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม พลเรือนต้องหาทนายความเองจากบรรดาทนายความจำนวนจำกัดที่สามารถและเต็มใจว่าความในศาลทหาร พลเรือนที่ต้องรับการพิจารณาคดีด้วยเหตุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึง เดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกนั้นไม่มีสิทธิอุทธรณ์
สำหรับคดีในศาลพลเรือน รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เป็นครั้งคราวตามแต่สมัครใจ แต่ความช่วยเหลือนี้มักมีมาตรฐานต่ำ งบประมาณของสภาทนายความแห่งประเทศไทยยังคงเท่ากับปี 2557 คือ ประมาณ 50 ล้านบาท (1.39 ล้านเหรียญสหรัฐ) องค์การนอกภาครัฐบางแห่งรายงานว่า ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกดดันให้ลูกความจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มแก่ทนายโดยตรง แต่สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความแห่งประเทศไทยอธิบายว่า ลูกความจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าเดินทางของทนาย กฎหมายกำหนดให้ศาลต้องแต่งตั้งทนายให้ในกรณีที่จำเลยต่อสู้ข้อกล่าวหามีฐานะยากจนหรือเป็นผู้เยาว์ รวมทั้งในกรณีที่บทลงโทษอาจจำคุกเกินกว่า 5 ปีหรือประหารชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่คิดมูลค่าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มองค์กรเอกชน เช่น สภาทนายความแห่งประเทศไทยและสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย
ไม่มีกระบวนการให้แสดงเอกสารเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจ ดังนั้น ทนายและจำเลยไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานได้ก่อนมีการพิจารณาคดี กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่ออุทธรณ์หรือขอการชดใช้สินไหมทดแทนได้ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว
องค์การนอกภาครัฐหลายแห่งยังคงแสดงความกังวลที่ไม่มีการคุ้มครองพยานที่พอเพียงโดยเฉพาะในคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด สำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม มีทรัพยากรจำกัดและส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่ประสานงาน ในคดีส่วนใหญ่แล้ว ตำรวจเป็นผู้ให้การคุ้มครองพยาน แต่มีหน่วยงานอื่นของรัฐอีกหกหน่วยที่อยู่ในโครงการนี้ด้วย คือ กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมราชทัณฑ์
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงบังคับผู้ต้องสงสัยคดีอาญาที่รอการพิจารณาคดีให้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพต่ออาชญากรรมที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาต่อหน้าสื่อมวลชน เหยื่อ ครอบครัวเหยื่อและสาธารณชน สื่อมวลชนจะตีพิมพ์และนำเสนอภาพจากแผนประกอบคำรับสารภาพเหล่านี้อย่างกว้างขวางเกือบเป็นประจำทุกวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมักสั่งผู้ต้องสงสัยให้แสดงการกระทำที่พ้องกับสถานการณ์ของอาชญากรรมนั้นๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ตำรวจได้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพหลายพันครั้ง แม้ว่าระเบียบทางการตำรวจจะระบุให้ผู้ต้องสงสัย “สารภาพ” ก่อนทำแผนประกอบคำรับสารภาพ แต่ตำรวจมักได้ “คำสารภาพ” จากการบีบบังคับ ซึ่งรวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย มีประชาชนที่มาดูการทำแผนประกอบคำรับสารภาพทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยอย่างน้อยหกรายในช่วงเก้าเดือนแรกของปีที่ผ่านมา องค์การสิทธิมนุษยชนวิพากษ์การบังคับการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเนื่องจากละเมิดหลักการที่ให้ถือว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิดและเป็นการสนับสนุนให้มีการทำร้ายผู้ต้องสงสัย
นักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง
ในช่วงปีที่ผ่านมา คสช. กักกันตัวบุคคลเนื่องจากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เนืองๆ (ดู หมวด 1.ง) กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังประเมินว่า มีบุคคลถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 44 คน โดยกฎหมายนี้ห้ามวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวด 2.ก) องค์การสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคนถูกดำเนินคดีและพิพากษาโทษเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง
ขั้นตอนและการเยียวยาคดีความทางแพ่ง
กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหน่วยงานราชการฝ่ายปกครองเพื่อขอให้มีการชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดชัดเจนว่า ศาลปกครองหรือกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรืออาญาไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เหยื่ออาจร้องขอสินไหมทดแทนความเสียหายจากหน่วยงานรัฐแทนได้
ฉ. การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ
ก่อนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญห้ามการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าว หลังการรัฐประหาร คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งภายหลังประกาศยกเลิกและให้ใช้คำสั่ง คสช. ที่ 3/2015 ซึ่งออกภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. ประกาศใช้ ทั้งบทบัญญัติเหล่านี้และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในการตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล และยังคงมีการใช้อำนาจดังกล่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศและบริเวณพื้นที่ชายแดน ในช่วงปีที่ผ่านมา มีคำร้องทุกข์อ้างว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้อำนาจดังกล่าวโดยมิชอบ อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของคำกล่าวหาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารคุกคามสมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าต่อต้าน คสช. รวมถึงบิดามารดาของนักศึกษาที่ร่วมการประท้วงต่อต้าน คสช. ด้วย
หน่วยงานด้านความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีแนวความคิดแบบสุดขั้วหรือแนวความคิดที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศโดยมีแนวความคิดลักษณะดังกล่าว
ช. การใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการใช้อำนาจในทางมิชอบอื่นๆ ในการจัดการปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ
ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ยังคงมีอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ก่อการวางระเบิดและทำร้ายประชาชนอยู่เนืองๆ รวมทั้งการปฏิบัติการด้านความมั่นคงของทางฝ่ายรัฐบาล จึงทำให้ยังคงมีความตึงเครียดสูงระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และชาวพุทธเชื้อสายไทยในพื้นที่ และทำให้ประชาชนยังคงมีความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่ภาคใต้มอบอำนาจอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ รวมทั้งให้อำนาจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศบางประการแก่กองทัพ พระราชกำหนดฯ ยังให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสามารถปฏิบัติงานโดยการไม่ต้องถูกลงโทษดำเนินคดี นอกจากนี้ กฎอัยการศึกซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2549 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่และให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวด 1. ง.)
การสังหาร: ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองกำลังของรัฐบาลและหน่วยสังหารที่สนับสนุนรัฐบาลว่ากระทำการวิสามัญฆาตกรรมต่อบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ข้อมูลสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระบุว่า เมื่อถึงเดือนกันยายน ไม่มีรายงานว่ากองกำลังของรัฐบาลได้กระทำการวิสามัญฆาตกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า สถิติเมื่อถึงเดือนกันยายน ความรุนแรงเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 203 คนและบาดเจ็บ 448 คนในเหตุรุนแรง 468 ครั้ง ลดลงจากสถิติในปี พ.ศ. 2557 และยังรายงานว่า สถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงวันที่ 30 เดือนกันยายน 2558 ความรุนแรงเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 6,486 คนและบาดเจ็บ 11,793 คนในเหตุรุนแรง 15,109 ครั้งในพื้นที่ภาคใต้ แต่องค์กรดังกล่าวไม่ได้แยกสถิติว่าเป็นความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือกลุ่มอาชญากร และเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนมักมุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งรวมถึงข้าราชการอำเภอและเทศบาล ตลอดจนทหารและตำรวจ โดยการใช้ระเบิดและการซุ่มยิง ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนสังหารครูสองคน ลดลงจากสถิติในปี พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังสังหารและทำร้ายพลเรือนทั้งชาวพุทธและมุสลิมจากสาขาอาชีพอื่นๆ อีกมาก
อาสาสมัครป้องกันดินแดนที่เป็นพลเรือนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการฝึกขั้นพื้นฐานและรับแจกอาวุธจากฝ่ายรักษาความมั่นคง องค์การด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลที่เห็นอาสาสมัครป้องกันดินแดนเหล่านี้และพลเรือนอื่นๆ ทำการลงโทษบุคคลโดยพลการ
การลักพาตัว: มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพรายงานว่า เมื่อถึงเดือนกันยายน ไม่มีบุคคลถูกบังคับหายสาบสูญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ระบุว่า ประสบความลำบากในการหาข้อมูลในช่วงที่ คสช. มีหมายเรียกและควบคุมตัวบุคคลอย่างกว้างขวาง ไม่มีรายงานยืนยันว่า มีบุคคลหายสาบสูญหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสอบสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การทารุณกรรมทางกาย การลงโทษและการทรมาน: รัฐบาลยังคงจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายซึ่งบางคนก็ยังเป็นผู้เยาว์ และในบางกรณี ทางการก็คุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้นภายใต้บทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก องค์การสิทธิมนุษยชนยืนยันว่า การจับกุมเหล่านี้เป็นการกระทำตามอำเภอใจ เกินกว่าเหตุและยาวนานโดยไม่จำเป็น และองค์การเหล่านี้ยังคงวิจารณ์สภาพแออัดของสถานกักกัน มีรายงานว่าตำรวจทรมานและกระทำทารุณ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาชิกเครือข่ายรายงานว่า เมื่อถึงเดือนกันยายน ได้รับเอกสารบันทึกแสดงว่าตำรวจทรมานและกระทำทารุณอย่างน้อย 15 กรณี
ภายใต้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทางการสามารถกักกันบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาและไม่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลหรือหน่วยงานของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีการบังคับใช้ในพื้นที่เดียวกันนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัยได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา หลังจากช่วงเวลา 30 วันนี้แล้ว ทางการสามารถเริ่มคุมขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใต้กฎหมายอาญาปกติ (ดูหมวด 1.ง) การคุมขังลักษณะนี้ไม่เหมือนการคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก เพราะต้องมีคำอนุญาตจากศาล แต่องค์การนอกภาครัฐด้านสิทธิมนุษยชนร้องเรียนว่า ศาลไม่ค่อยใช้อำนาจของศาลในการพิจารณาการคุมขังเหล่านี้ ในบางกรณี ผู้ต้องสงสัยจะถูกคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลาเจ็ดวันก่อน และจากนั้น ก็ถูกคุมขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอีก 30 วัน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แถลงว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 มีบุคคลถูกจับกุมตามหมายศาลภายใต้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าวจำนวน 167 คน รัฐบาลไม่ได้ใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีต่อจำเลยพลเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทหารเด็ก: มีระเบียบห้ามเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ารับราชการเป็นอาสาป้องกันชาติ และในทางปฏิบัติแล้ว อาสาสมัครส่วนใหญ่เข้ารับราชการเมื่ออายุ 21 ปี หรือสูงกว่า 21 ปี องค์กร Child Soldiers International รายงานไม่พบเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกเกณฑ์เข้ารับราชการในกองทัพ เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ปฏิบัติงานลอบวางเพลิงหรือทำงานสอดแนม
กรุณาอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบด้วยที่www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
การกระทำมิชอบอื่นๆ ที่เนื่องมาจากความขัดแย้ง: การก่อความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน มีจำนวนลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ณ เดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการแพร่ข้อมูลสถิติผู้ก่อความไม่สงบโจมตีโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายได้เผาโรงเรียนรวมแล้วกว่า 340 แห่ง รัฐบาลมักให้อาวุธแก่พลเรือนชาวไทยพุทธและพลเรือนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์พร้อมทั้งเพิ่มกำลังป้องกันโรงเรียนและวัดพุทธ ตลอดจนจัดให้ทหารคุ้มครองพระสงฆ์และครู องค์การนอกภาครัฐในพื้นที่บางแห่งรายงานว่า ทหารใช้โรงเรียนในท้องถิ่นเป็นที่พักของทหารแม้ว่าจำนวนจะลดลงอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน ผู้ก่อความไม่สงบสังหารนักเรียนหนึ่งคน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ผู้ก่อความไม่สงบสังหารครู นักเรียนและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา 227 คน และทำร้ายบาดเจ็บอีก 370 คน ผู้ก่อความไม่สงบมักโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ให้ความคุ้มครองครูชาวพุทธ นอกจากนี้ เหตุรุนแรงโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังรวมถึงการโจมตีสถานพยาบาลด้วย กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เมื่อถึงวันที่ 30 เดือนกันยายน ผู้ก่อความไม่สงบโจมตีสถานพยาบาลสาธารณสุข 28 แห่ง สังหารเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 32 คนและทำร้ายบาดเจ็บอีก 37 คน นอกจากนี้ ยังสังหารอาสาสมัครสาธารณสุข 68 คนและทำร้ายบาดเจ็บ 29 คน
หมวดที่ 2 การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อันประกอบด้วย
ก. เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน
คสช. จำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมีนัยสำคัญ คสช. ออกคำสั่งที่ครอบคลุมกว้างขวางห้ามการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของคสช. อีกทั้งยังปิดช่องทางสื่อจำนวนมาก ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต และออกหมายเรียกให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนและ “ปรับทัศนคติ” นอกจากข้อจำกัดอย่างเป็นทางการเรื่องการพูดและการตรวจพิจารณาสื่อก่อนเผยแพร่ การกระทำของคสช. ยังส่งผลให้ประชาชนและสื่อเพิ่มการตรวจพิจารณาเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่ คสช.ห้ามนักการเมือง นักวิเคราะห์การเมือง และบุคคลอื่นๆ ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นแก่สื่อ อีกทั้ง ปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นการคุกคาม คสช. หรือ “ก่อให้เกิดความขัดแย้ง” ภายในประเทศ จนถึงสิ้นปี ข้อห้ามเหล่านี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
เสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น: ประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 112 หรือ ที่เรียกกันว่า กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหนดว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ดูหมิ่น หรือข่มขู่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ถือเป็นความผิดทางอาญาโดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปีต่อหนึ่งกระทง กฎหมายยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องฟ้องบุคคลอื่นเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ด้วย โดยมีประชาชนยื่นฟ้องกันในลักษณะดังกล่าวหลายคดี รัฐบาลอาจให้พิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผยและดำเนินการเช่นนี้อยู่เป็นประจำ อีกทั้งอาจห้ามเผยแพร่เนื้อหาของความผิดที่กล่าวหาออกสู่สาธารณชน นอกจากนี้ รัฐบาลมักพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในศาลทหารซึ่งให้สิทธิและความคุ้มครองน้อยกว่าแก่จำเลยที่เป็นพลเรือน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งต่างประเทศและในประเทศรวมทั้งนักวิชาการแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สถิติอย่างเป็นทางการมีความแตกต่างกันในระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม จำนวนการดำเนินคดีผู้กระทำผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่นระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน จำนวนคดีใหม่เกี่ยวกับการกระทำผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีการยื่นฟ้องร้องนับตั้งแต่รัฐประหารมีทั้งหมด 54 คดี โดยในบางคดี จำเลยได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวอ้างก่อนรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2557 แต่ทางการไม่ได้ดำเนินคดี จนกระทั่งหลังรัฐประหาร ไอลอว์ (iLaw) ระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน รัฐบาลควบคุมตัวบุคคล 44 คน ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (จำนวนนี้ไม่รวมผู้ต้องโทษในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 112 จากการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ)
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ศาลทหารกรุงเทพตัดสินลงโทษจำคุก 60 ปีแก่นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กจำนวนหกข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ศาลได้ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปีเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ในวันเดียวกัน ศาลทหารในจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้นางศศิวิมล ปฐมวงษ์ฟ้างาม ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมวัย 29 ปีและมารดาของลูกสองคน ต้องโทษจำคุก 56 ปีจากการโพสต์ความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์รวมเจ็ดข้อความ แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 28 ปี
เมื่อเดือนตุลาคม ทางการจับกุมบุคคลสามคนซึ่งรวมถึง พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา เจ้าพนักงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” นักโหราศาสตร์ชื่อดัง ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการที่ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนสืบเนื่องจากกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” และ “Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ” หลังการจับกุมเป็นเวลาสองวัน มีรายงานว่า พ.ต.ต.ปรากรม ฆ่าตัวตายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น นายสุริยันก็ได้เสียชีวิตลงระหว่างถูกควบคุมตัว โดยรายงานสาเหตุว่าเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
เสรีภาพของสื่อมวลชน: หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานีส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่สถานีวิทยุเอเอ็มและเอฟเอ็มที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการรวม 524 สถานี กองทัพและตำรวจถือกรรมสิทธิ์ในสถานีวิทยุที่เหลืออีก 244 สถานี ซึ่งเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของสื่อกระจายเสียงของรัฐได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ หน่วยงานรัฐปล่อยเช่าสถานีวิทยุและโทรทัศน์เกือบทุกแห่งให้แก่บริษัทเอกชนที่จัดทำรายการที่มีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ให้กับสถานี
กฎหมายกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ และแบ่งใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ออกเป็นสามประเภท (ใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อบริการชุมชน และใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อการพาณิชย์ทางธุรกิจ) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลสื่อกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียงต้องต่อใบอนุญาตทุกเจ็ดปี กฎหมายกำหนดให้สถานีวิทยุทุกแห่งต้องถ่ายทอดรายการข่าวที่รัฐบาลผลิตวันละสองครั้ง ช่วงละ 30 นาที และจะต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีวิทยุชุมชนหลายพันแห่งทั่วประเทศดำเนินงานภายใต้ระบบอนุญาตประกอบกิจการที่ต่างออกไปซึ่งกำหนดให้สถานีเหล่านี้ต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกปี กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลใหม่จำนวน 24 ช่อง
ความรุนแรงและการคุกคาม: เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลกล่าววิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวในประเด็นด้านนโยบายอยู่เป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ในรายการรายสัปดาห์ซึ่งออกอากาศทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม นกยกรัฐมนตรีขู่ว่าจะเรียกตัวผู้ประกาศข่าวคนใดก็ตามที่เสนอความเห็นเชิงคัดค้านเกี่ยวกับคสช.มา “พูดคุย” และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายกรัฐมนตรีเสนอว่าจะประหารชีวิตนักข่าวที่ไม่ “รายงานความจริง” (แต่โฆษกนายกรัฐมนตรีได้ออกมาอ้างภายหลังว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวล้อเล่น) นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรีตำหนิผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนคนหนึ่งจากการรายงานกรณีการค้ามนุษย์และการค้นพบหลุมฝังศพหมู่ โดยเตือนผู้สื่อข่าวคนนั้นว่า ไม่ควรรายงานประเด็นอ่อนไหวที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของประเทศ
เมื่อวันที่ 13 กันยายน คสช. เรียกให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ และกักตัวไว้ในสถานที่ไม่เปิดเผยเป็นเวลาสองวัน โดยอ้างว่านายประวิตรได้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหา “ยั่วยุให้มีการแตกแยก” ทางสื่อสังคมออนไลน์ อันละเมิดข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับ คสช. (คสช. เคยกักตัวนายประวิตรเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 และมีรายงานว่าได้ให้นายประวิตรลงนามในเอกสารเพื่อสัญญาว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย) เมื่อวันที่ 15 กันยายน คสช. ปล่อยตัวนายประวิตรหลังจากลงนามในเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนกลุ่มต่อต้านคสช. หลังถูกปล่อยตัว นายประวิตรลาออกจากหนังสือพิมพ์ The Nation ที่เขาทำงานมา 23 ปี โดยมีรายงานว่า นายประวิตรถูกกดดันจากฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยกเลิกกิจกรรม ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วง 12 เดือนหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ต่อมาในเดือนเดียวกัน คสช. ได้ระงับงานเสวนาเรื่องกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ปฏิเสธกรณีนายกรัฐมนตรีกล่าวหาสื่อมวลชนว่า “รับใบสั่ง” มาโจมตีรัฐบาลเพื่อให้ได้เงิน โดยสมาคมฯ กล่าวว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่มีหลักฐานและไม่เป็นธรรม
การตรวจพิจารณาสิ่งพิมพ์ก่อนเผยแพร่ หรือการจำกัดเนื้อหา: คสช. ระงับเนื้อหาที่พิจารณาว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีลักษณะคุกคามต่อคสช. อีกทั้งสื่อจำนวนมากยังตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอ คำสั่งคสช.ยังคงมีผลห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ทหารในทุกกรณี และไม่ให้สื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนโทรทัศน์ วิทยุ โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และผู้ดูแลสื่อออนไลน์ ตีพิมพ์หรือออกอากาศข้อมูลใดก็ตามที่วิจารณ์การกระทำของทหาร หรือบทวิพากษ์วิจารณ์ที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน มีเจตนามุ่งร้ายและข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของคสช. ทางการติดตามเฝ้าสังเกตเนื้อหาจากแหล่งสื่อทุกแหล่ง รวมถึงสื่อต่างประเทศ สื่อต่างประเทศดำเนินการได้อย่างค่อนข้างเสรี
มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจทหารสั่งห้ามการเผยแพร่รายงานสื่อที่พิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิกถอนใบอนุญาตของ PEACE TV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยอ้างว่า PEACE TV ละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงการออกใบอนุญาตในลักษณะเดิมหลายครั้งและฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่จำกัดการออกอากาศเนื้อหาเชิงการเมือง ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้ระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ Peace TV และ TV 24 (ซึ่งเป็นของกลุ่มคนเสื้อแดงเช่นกัน) เป็นเวลาเจ็ดวันเมื่อต้นเดือนเมษายน โดยกล่าวหาว่าทั้งสองสถานีผิดข้อตกลงกับกสทช. และฝ่าฝืนคำสั่งจำกัดเนื้อหาของคสช. เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อนุญาตให้ PEACE TV กลับมาออกอากาศได้จนกว่าศาลจะตัดสินคดีระงับใบอุนญาตเสร็จสิ้น
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งยังคงประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอยู่นั้นให้อำนาจรัฐบาลในการ “ห้ามการพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล” นอกจากนี้ พระราชกำหนดฯ ดังกล่าวยังให้อำนาจแก่รัฐบาลในการตรวจสอบข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ
กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท: ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (5,540 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกินสองปี บุคคลในแวดวงทหารและนักธุรกิจฟ้องร้องนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักข่าวและนักการเมือง ฐานหมิ่นประมาททางอาญาและโฆษณาหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 1 กันยายน ศาลอาญาตัดสินว่า นายอลัน มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร จากเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “ภูเก็ตหวาน” ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา และประกาศปิดคดี ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพร้อมด้วยข้อหาอื่นๆ กับผู้สื่อข่าวทั้งสองคน เนื่องจากเว็บไซต์นำเสนอข้อความที่ตัดตอนจากรายงานที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองทัพเรือของไทยมีส่วนในการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา
ในอีกคดีหนึ่งที่เป็นที่สนใจ เมื่อวันที่ 18 กันยายน ศาลอาญายกฟ้องคดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ยื่นฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ สัญชาติอังกฤษ ในฐานความผิดหมิ่นประมาททางอาญา สืบเนื่องจากรายงานของนายฮอลล์ที่วิจารณ์การปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผลไม้ เมื่อถึงเดือนตุลาคม นายฮอลล์ยังคงมีคดีถูกฟ้องร้องทางอาญาอื่นอีกสองคดีที่เกี่ยวข้องกับรายงานเกี่ยวกับบริษัท เนเชอรัล ฟรุต
ความมั่นคงของชาติ: มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สมาคมสื่อต่างๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอำนาจเบ็ดเสร็จนี้ ซึ่งพวกเขามองว่าขาดเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนสำหรับตัดสินว่า สิ่งใดเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอย่างมีนัยสำคัญด้วยการจำกัดและขัดขวางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตลอดจนตรวจสอบเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต
กฎหมายกำหนดขั้นตอนการเข้าค้นและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการสืบสวนคดีอาชญากรรมบางประเภท และให้อำนาจแก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการร้องขอและบังคับให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ การลงประกาศข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความปลอดภัยของประชาชน ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อนจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท (2,770 เหรียญสหรัฐ) หากการกระทำใดมีผลให้เกิดการเสียชีวิตของบุคคลจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปีและปรับไม่เกิน 300,000 บาท (8,310 เหรียญสหรัฐ) กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลผู้ใช้ทุกคนเป็นเวลา 90 วันในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นด้วยหรือตั้งใจสนับสนุนการตีพิมพ์ข้อความผิดกฎหมายก็จะมีความผิดด้วย การฟ้องร้องดำเนินคดีส่วนใหญ่มาจากความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา กฎหมายกำหนดให้ทางการต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้เสมอไป นักเคลื่อนไหวด้านสื่อวิจารณ์กฎหมายฉบับนี้โดยกล่าวว่า คำจำกัดความของการกระทำผิดที่ระบุไว้ครอบคลุมกว้างขวางเกินไปและบทลงโทษบางบทก็รุนแรงเกินไป
มีการตรวจสอบข้อความก่อนนำขึ้นอินเทอร์เน็ต และการใช้กฎหมายยังคงขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในบางเรื่อง รัฐบาลสอดส่องอย่างใกล้ชิดและสั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์หลายพันแห่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เว็บบอร์ดและวงเสวนาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเลือกที่จะตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอและคอยสอดส่องการเสวนาอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสั่งปิดกั้น นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ระงับหรือจำกัดการเข้าถึงคอลัมน์แสดงความเห็นจากประชาชนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลตั้งข้อจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบางประการ และมีรายงานว่า รัฐบาลตรวจสอบห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายอย่างเหมาะสม เมื่อเดือนกันยายน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประกาศว่า รัฐบาลได้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวน 143 เว็บไซต์ที่กอ.รมน.พิจารณาว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ โดยทั่วไป บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นโดยสันติทางอินเทอร์เน็ตรวมถึงการใช้อีเมล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาหลายประการ เช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภาพลามกอนาจาร การพนัน และการวิพากษ์วิจารณ์คสช. ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางในเขตเมือง ซึ่งรวมถึงโครงการของรัฐบาลในการให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะไร้สายความเร็วสูง (WiFi) ที่จำกัดการเข้าถึงและไม่เสียค่าใช้จ่ายตามจุดพร้อมโยง (hotspot) 300,000 แห่งในเมืองและโรงเรียน
เมื่อเดือนธันวาคม ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อพ.ศ. 2555 ในคดีที่ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ “ประชาไท” กระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยการไม่ลบความคิดเห็นของผู้ใช้ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ ออกจากกระดานข้อความของเว็บไซต์อย่างทันท่วงที กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า คำพิพากษานี้นับเป็นครั้งแรกที่ทางการเอาผิดทางอาญากับคนกลางที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตสืบเนื่องจากเนื้อหาที่นำขึ้นเว็บแพลตฟอร์ม (web platform) โดยบุคคลที่สาม
ฝ่ายบังคับการปราบปรามอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนได้รับคำร้องเรียน 2,083 เรื่องซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง 65 คดี ในทางตรงข้าม ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ฝ่ายฯ ได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 1,047 เรื่องซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง 73 คดี โดยคดีส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหาหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การพนันและภาพลามกอนาจาร
เมื่อเดือนตุลาคม ทางการยอมรับว่ามีโครงการพัฒนาระบบซิงเกิลอินเทอร์เน็ตเกตเวย์สำหรับประเทศไทยซึ่งบริหารจัดการและควบคุมโดยรัฐบาล เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังคงศึกษาความเป็นไปได้ของระบบเช่นนี้อยู่ กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลว่า ระบบซิงเกิลอินเทอร์เน็ตเกตเวย์อาจคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้
เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแทรกแซงเพื่อขัดขวางการเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัย ข่มขู่นักวิชาการ และจับกุมแกนนำเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
เมื่อเดือนมีนาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ นายสมศักดิ์เป็นอาจารย์และนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารอย่างเปิดเผย อีกทั้งเคยถูกตั้งข้อหาฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อปี พ.ศ. 2554 นายสมศักดิ์เคยยื่นหนังสือลาออกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุมัติ นักวิชาการมากกว่า 200 คนจาก 19 ประเทศร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกประท้วงคำสั่งไล่นายสมศักดิ์ออกจากราชการ
เมื่อถึงเดือนกันยายน ทางการสั่งระงับการเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศรวมมากกว่า 30 ครั้งภายใต้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรายงานว่ามีทหารเข้ามาในมหาวิทยาลัยอยู่เป็นประจำเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์การบรรยายและร่วมกิจกรรมของนักศึกษา ในเดือนกันยายน ทหารควบคุมตัวอาจารย์และนักศึกษาที่จัดสัมมนาหัวข้อเกี่ยวกับการถดถอยของระบอบเผด็จการในต่างประเทศ ทั้งยังไม่อนุญาตให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิธีรำลึกครบรอบ 38 ปี เหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษาอีกด้วย
มีรายงานหลายกรณีว่า เจ้าหน้าที่ทางการจับกุมนักศึกษาจากการใช้เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการพูด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ทางการจับกุมตัวนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานครและขอนแก่นรวม 14 คนที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยทั้ง 14 คนถูกควบคุมตัวภายใต้มาตรา 44 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ระบุห้ามการยุยงปลุกปั่น พลเมืองหลายคนรวมตัวกันสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาด้วยการสร้างกำแพงกระดาษโพสต์อิทบนกำแพงสถานีขนส่งมวลชนแห่งหนึ่ง ทางการปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม แต่การพิจารณาข้อกล่าวหายังคงดำเนินอยู่
รัฐบาลทหารแก้ไขปรับปรุงหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษาและประถมศึกษาและเพิ่มการสอนหัวข้อเกี่ยวกับความรักชาติให้มากขึ้น รัฐบาลทหารสั่งให้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยลบเนื้อหาใดๆ ที่อ้างอิงถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลทหารยังกำหนดให้บรรจุหลักสูตรหน้าที่พลเมืองที่เน้นค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการของพลเอกประยุทธ์อีกด้วย ทั้งนี้ เกิดเหตุการณ์ที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคนหนึ่งในกรุงเทพมหานครออกมาประท้วงการบรรจุค่านิยม 12 ประการ ผู้บริหารโรงเรียนกล่าวหานักเรียนคนนี้ว่า “ป่วยทางจิต” ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแนะนำให้เพิกเฉยต่อนักเรียนที่ออกมาประท้วงนี้
แวดวงศิลปะการแสดงมีการตรวจพิจารณาเนื้อหาของตนเอง หลังจากศาลมีคำพิพากษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ให้นักแสดงสองคนมีความผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากการแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อเดือนมกราคม กลุ่มละครบีฟลอร์จัดการแสดงละครเรื่อง “บางละเมิด” ซึ่งนำเสนอประเด็นเสรีในการพูด ในวันที่สองของการแสดง เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางเยือนสถานที่จัดการแสดงและกล่าวว่า ได้รับรายงานว่าเนื้อหาของละครละเมิดพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ถึงแม้ว่าทหารจะอนุญาตให้จัดการแสดงต่อได้ ก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกภาพการแสดงรอบต่อๆ มา
ข. เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม
เสรีภาพในการชุมนุม
ผู้นำรัฐประหารห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและกำหนดบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองใดๆ ก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งประมวลข้อจำกัดเสรีในการชุมนุม และมีบทบัญญัติข้อหนึ่งที่กำหนดให้ผู้ประท้วงแจ้งขออนุญาตต่อตำรวจก่อนการชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังห้ามไม่ให้จัดการชุมนุมใดๆ ภายในระยะ 500 ฟุตจากทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา พระราชวัง และศาล กลุ่มสิทธิมนุษยชนโต้แย้งว่า กฎหมายฉบับนี้ละเมิดพันธกรณีของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) นอกจากนี้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเช่นกัน
ตำรวจควบคุมตัวพลเมืองที่รวมตัวชุมนุมกันขัดคำสั่งของรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ตำรวจควบคุมตัวนักศึกษา 11 คนซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (Young People for Social Democracy Movement) เนื่องจากขัดคำสั่งคสช.ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน หลังจากที่นักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวกันในกรุงเทพมหานครเนื่องในวันครบรอบหนึ่งปีของการรัฐประหาร ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารหรือคสช. ทางการกลับไม่ขัดขวางการเดินขบวนสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนทหาร
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และพังงา ออกบทบัญญัติของตนเองว่าด้วยการห้ามแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะผู้ที่มาจากกัมพูชา พม่า และลาว ทำการชุมนุม ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครห้ามการชุมนุมของแรงงานอพยพเกินกว่า 5 คนขึ้นไป อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการบังคับใช้บทบัญญัติเหล่านี้อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะหากการชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่ส่วนบุคคล นายจ้างและองค์การนอกภาครัฐอาจขออนุญาตจากทางการให้แรงงานต่างด้าวจัดงานชุมนุมทางวัฒนธรรมได้
เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ระบุให้เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมไว้อย่างชัดแจ้ง แม้ว่าจะไม่มีข้อจำกัดตามกฎหมายในการจัดตั้งสมาคมโดยเสรี แต่คสช.ก็ห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่ประกอบด้วยบุคคลมากกว่าห้าคน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ผู้ปฏิบัติฝ่าหลุนกงสามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมที่ไม่แสวงผลกำไรได้ในนามของกลุ่ม อันเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการที่ยาวนานเกือบหนึ่งทศวรรษเพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
กฎหมายห้ามการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามกฎหมาย
ค. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
เชิญอ่านรายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.state.gov/religiousfreedomreport/
ง. เสรีภาพในการเดินทาง บุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ การคุ้มครองผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติ
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ และการเดินทางกลับประเทศ โดยทั่วไป รัฐบาลเคารพในสิทธิดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณีเพื่อ “รักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การวางผังเมืองและการวางผังประเทศ หรือสวัสดิภาพของเยาวชน”
หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 คสช.ได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้บุคคลประมาณ 170 คนเดินทางออกนอกประเทศ
โดยทั่วไป รัฐบาลให้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) และองค์กรด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติและบุคคลที่น่าห่วงใยอื่นๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง การดำเนินงานความร่วมมือกับสำนักงานฯ ในการคุ้มครองบุคคลบางกลุ่มยังคงเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในการให้ความคุ้มครองบุคคลทุกสัญชาติ
ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจากประเทศพม่าที่อาศัยอยู่นอกค่ายพักพิงตามชายแดนที่กำหนดซึ่งรวมถึงชาวโรฮีนจาที่มาทางเรือประหนึ่งเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลที่ถูกระบุสถานภาพว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจับและกักกันตามกฎหมาย รัฐบาลทำงานร่วมกับผู้บริจาคเงินและองค์การระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮีนจาในขณะอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานพักพิง ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนล่ามภาษาโรฮีนจาในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานพักพิง แม้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2556 จะมีการนำกระบวนการอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2554 กลับมาใช้อีกครั้ง แต่ทางการกลับดำเนินการตามกระบวนการนี้อย่างไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ หลังจากทางการปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยจำนวน 25 คนเมื่อ ปี พ.ศ. 2557 ต่อมา ทางการได้เรียกตัวพวกเขาให้กลับมาที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลูก่อนกำหนด
การเดินทางภายในประเทศ: รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ถือบัตรประจำตัวซึ่งรัฐบาลออกให้ ทางการห้ามผู้ถือบัตรเหล่านี้เดินทางออกนอกอำเภอที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากนายอำเภอ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหากจะเดินทางออกนอกจังหวัด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก 45-60 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย องค์การด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเงินสินบนเป็นการตอบแทนกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากอำเภอหนึ่งไปยังอีกอำเภอหนึ่ง
ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนติดกับประเทศพม่าไม่มีเสรีภาพในการเดินทางและถูกจำกัดบริเวณอยู่เพียงในค่ายผู้ลี้ภัยเท่านั้น ในปีก่อนๆ ทางการยังไม่บังคับใช้นโยบายนี้ และผู้ลี้ภัยจำนวนมากมักออกจากค่ายเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหางานทำในพื้นที่ใกล้ค่ายอพยพ เมื่อผู้ควบคุมดูแลค่ายอพยพเริ่มบังคับใช้ข้อจำกัดต่อผู้อาศัยภายในค่าย เสรีภาพในการเดินทางนอกค่ายอพยพก็กลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น หากผู้ลี้ภัยถูกจับนอกเขตค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม ปรับ กักกันตัว ถอนทะเบียนและเนรเทศกลับประเทศ
ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไม่มีสิทธิเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระบวนการนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทางสามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ ทางการไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีแค่ใบอนุญาตทํางานเดินทางออกนอกจังหวัดที่ตนทำงานอยู่นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางการก่อน
ทางการกำหนดว่า บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ซึ่งรวมถึง ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคนต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถ้าต้องการเดินทางภายในประเทศ
การเดินทางไปต่างประเทศ: บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เช่น ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคน ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแต่ไม่ได้รับการรับรองฐานะเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลไทยต้องรอใบอนุญาตให้ออกจากประเทศ (exit permit) มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
การคุ้มครองผู้ลี้ภัย
การดูแลผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงของรัฐบาลยังคงมีลักษณะไม่แน่นอนสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมาก และให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยเพื่อไม่ให้ถูกผลักดันหรือถูกส่งกลับประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ที่หนีการสู้รบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนมาพักในไทยได้จนกว่าการสู้รบจะยุติ นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวพม่าที่ได้รับการรับรองสถานภาพจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติรวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและอาศัยอยู่ในค่ายอพยพของทางการได้รับอนุญาตให้โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ
การเข้าพักค่ายพักพิง: กฎหมายไม่มีการให้สถานะผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวพม่าทุกคนในประเทศไทย ถ้าบุคคลเหล่านี้ถูกจับตัวได้ จะถูกนำไปกักกันอย่างไม่มีกำหนดที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติยังคงถูกจำกัดการให้ความคุ้มครองแก่ชาวม้ง ชาวอุยกูร์ และชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการรวมทั้งชาวเกาหลีเหนือด้วย การอนุญาตให้สำนักงานฯ เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินการสัมภาษณ์พิจารณาสถานภาพรวมทั้งสอดส่องดูแลผู้แสวงหาที่พักพิงที่เพิ่งมาถึงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงปีที่ผ่านมา สำนักงานฯ สามารถเข้าศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันชาวโรฮีนจาซึ่งได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดระนองที่อยู่ชายฝั่งทะเลและจังหวัดสงขลาที่อยู่ภาคใต้เพื่อดำเนินการระบุสถานภาพผู้ลี้ภัย ทางการอนุญาตประเทศที่รับผู้แสวงหาที่พักพิงไปตั้งหลักแหล่งในประเทศของตนให้ดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่ศูนย์กักกันฯ ได้ ส่วนองค์การด้านมนุษยธรรมก็ได้รับอนุญาตให้จัดให้บริการทางสุขภาพ อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ด้วย
รัฐบาลอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติสอดส่องการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่ากว่า 110,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่า แต่ห้ามสำนักงานฯ ให้ความช่วยเหลือใดๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ องค์การนอกภาครัฐซึ่งได้รับเงินทุนจากประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เช่น การรักษาพยาบาล อาหาร การศึกษา ที่พักพิง น้ำ บริการสุขอนามัย การฝึกอาชีพ และบริการอื่นๆ เจ้าหน้าที่ทางการได้ออกบัตรประจำตัวแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายที่ขึ้นทะเบียนแล้ว
เมื่อถึงเดือนตุลาคม รัฐบาลอำนวยความสะดวกแก่ชาวพม่าจำนวน 5,759 คนจากค่ายลี้ภัย ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามชายแดนทั้งเก้าแห่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการไม่มีสิทธิโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
นับตั้งแต่ทางการยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยระดับจังหวัด (Provincial Admission Board: PAB) ในปี พ.ศ. 2548 มีชาวพม่าประมาณ 60,000 คน ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เมื่อปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลกลับมาใช้กระบวนการคัดกรองที่เคยใช้อย่างจำกัดในการพิจารณากรณีผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการรวมสมาชิกครอบครัวเท่านั้น (บิดามารดา-บุตร หรือ สามีภรรยา) ผ่านคณะกรรมการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยระดับจังหวัดแบบ Fast Track (FTPAB) เมื่อถึงเดือนกันยายน ทางการพิจารณาแล้ว 957 กรณีสำหรับบุคคล 2,696 คน (รวมถึงผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับ FTPAB แล้ว 1,503 คน) ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนพฤษภาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ปรับปรุงระเบียนผู้ลี้ภัยในค่ายทั้งผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งออกบัตรประจำตัวที่บรรจุข้อมูลชีวมิติให้แก่ผู้ลี้ภัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจพิสูจน์ที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาล UNHCR รายงานว่า ผลจากการดำเนินการดังกล่าวคือการตรวจสอบทบทวนเชิงสถิติและการคุ้มครองของประชากรผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ที่ครอบคลุมที่สุดในรอบ 10 ปี
การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย: รัฐบาลให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยโดยไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหากชีวิตหรือเสรีภาพของคนเหล่านี้จะถูกคุกคามอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สถานภาพการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมหรือทัศนคติทางการเมือง และในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนหลายพันคนได้เข้าประเทศและค่ายลี้ภัย ส่วนนอกค่ายผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ทางการจะไม่แยกความแตกต่างระหว่างชาวพม่าที่แสวงที่พักพิงกับชาวพม่าที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร โดยพิจารณาว่า ทุกคนเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยทั่วไป ผู้ที่ถูกจับจะถูกทางการนำไปส่งที่ชายแดนและส่งกลับประเทศ โดยปกติแล้ว ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใย (person of concern) ที่มีเอกสารรับรองสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน ทางการบังคับส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวจีนสองคนกลับประเทศโดยที่ทั้งสองคนได้รับการระบุสถานภาพผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม รัญบาลบังคับเนรเทศผู้อพยพกลุ่มเปราะบางชาวอุยกูร์ 109 คนไปยังจีน ท่ามกลางคำคัดค้านของ UNHCR และสมาชิกประชาคมนานาชาติ เมื่อถึงเดือนตุลาคม ชาวอุยกูร์ประมาณ 60 คนยังคงอยู่ระกว่างการกักตัว
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพมหานครจับกุมและกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยซึ่งมีผู้หญิงและเด็ก ในช่วงปีที่รายงาน จำนวนผู้ถูกกักกันแปรผันอยู่ระหว่าง 150 คนถึง 400 คน ขึ้นอยู่กับการเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองและการประกันตัวผู้ถูกกักกัน ทางการประเมินว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งผู้ถูกกักกันที่ไม่ใช่ผู้แสวงหาที่พักพิงกลับประเทศเดิมประมาณ 200-300 คนต่อสัปดาห์ ทางการมักกักขังชาวพม่า กัมพูชาและลาว เป็นเวลาห้าวันโดยประมาณก่อนจะส่งกลับประเทศ เจ้าหน้าที่มักกักขังชาวต่างด้าวที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตของตน แสวงหาการย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่สาม ปฏิเสธที่จะกลับประเทศเดิม หรือไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ่ายค่าเดินทางกลับประเทศเดิมเป็นเวลาหนึ่งปีหรือกว่านั้น
การกระทำทารุณต่อผู้ลี้ภัย: รายงานข่าวของสื่อมวลชน องค์การ Human Right Watch และแหล่งอื่นๆ กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนจากผู้ลักลอบขนส่งและค้ามนุษย์ที่กักขังชาวโรฮีนจาบนเกาะและสถานที่อื่นๆ ในภาคใต้ และสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์
ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้กักกันคนประมาณ 870 คนในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานพักพิงต่างๆ ซึ่งในกลุ่มนี้มีทั้งชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศ ในเดือนสิงหาคม ผู้อพยพประมาณ 500 คนยังคงถูกกักขังอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮีนจา
องค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศตั้งข้อกังวลว่า ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีสภาพแออัด ผู้ถูกกักกันขาดโอกาสในการออกกำลังกาย และมีเสรีภาพในการเดินทางที่จำกัด ศูนย์กักกันบางแห่งที่มีชาวโรฮีนจาถูกคุมขังขาดกลไกการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ และ/หรือไม่ได้ดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยอย่างพอเพียง หรือไม่อนุญาตให้ออกกำลังกาย ด้วยเกรงว่า ผู้ถูกกักขังจะหลบหนี
ทางการอนุญาตให้สตรีและเด็กซึ่งรวมถึงผู้เยาว์ที่ไม่มีผู้ปกครองดูแลให้พักในสถานพักพิงที่บริหารโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นมักรายงานว่า มีบุคลากรไม่เพียงพอในการดำเนินการบริหารอาคารสถานที่และให้บริการทางจิตสังคมแก่ผู้พำนักอย่างพอเพียง แม้ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นจะได้รับคำแนะนำไม่ให้ออกจากสถานพักพิงเพื่อความปลอดภัยของตนเอง แต่บางคนก็ตัดสินใจออกไป หากบุคคลเหล่านี้ถูกตำรวจจับ พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับไปยังสถานพักพิงหรือส่งไปยังศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ องค์การนอกภาครัฐและสื่อรายงานว่า พ่อค้าคนกลางจากเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์สามารถเข้าสถานที่ส่วนบุคคลเหล่านั้นได้ด้วยการปลอมเป็นนักมนุษยธรรมหรือล่าม และภายหลังก็จะดำเนินการช่วยคนออกจากสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องอย่างเป็นทางการ หลังจากมีข่าวเด็กหญิงอายุ 4 ขวบในสถานพักพิงแห่งหนึ่งถูกเด็กในสถานพักพิงเดียวกันข่มขืนในปีพ.ศ. 2556 ก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กักขังผู้เยาว์เพศชายไว้กับผู้ใหญ่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่แออัดมาก
การจ้างงาน: กฎหมายห้ามผู้ลี้ภัยทำงานในประเทศ รัฐบาลได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่มาจากประเทศพม่า กัมพูชาและลาว สามารถทำงานในภาคเศรษฐกิจบางส่วนได้อย่างถูกกฎหมายถ้าขึ้นทะเบียนกับทางการและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อขอทำเอกสารระบุสถานภาพของตน (ดูหมวด 7.ง.)
การเข้าถึงบริการพื้นฐาน: ประชาคมนานาชาติให้การบริการขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัยที่อาศัยภายในค่ายพักพิงเก้าแห่งตามชายแดนพม่า ระบบการส่งตัวทางการแพทย์ที่ซับซ้อนเป็นปัญหาสำหรับผู้ลี้ภัยในการขอรับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นบางประการ สำหรับประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร การเข้าถึงบริการพื้นฐานยังมีน้อย อีกทั้งคลินิกเพียงแห่งเดียวที่สนับสนุนโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติได้ปิดให้การรักษาพยาบาลเมื่อปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากขาดเงินทุน แต่เปลี่ยนไปเน้นการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในท้องที่แทนสำหรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ องค์การนอกภาครัฐสองแห่งได้จัดให้บริการดูแลสุขภาพสำหรับประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557
เนื่องจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยทั่วไปไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษาของไทยได้ องค์การนอกภาครัฐหลายแห่งจึงจัดการศึกษาให้ โดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษา ในกรุงเทพมหานคร ชุมชนผู้ลี้ภัยบางแห่งจัดตั้งโรงเรียนของชุมชนเองเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของตน บางแห่งก็ขวนขวายเรียนภาษาไทยโดยการสนับสนุนจาก UNHCR เพราะตามกฎหมายแล้ว โรงเรียนจะต้องรับเด็กที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องในระดับหนึ่งเข้าศึกษา ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรก็ตาม
การคุ้มครองชั่วคราว: ในปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งหนีการสู้รบในรัฐไทยใหญ่ของพม่าข้ามเขตแดนเข้าประเทศไทย รัฐบาลแสดงขันติธรรมต่อบุคคลกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ตกลงมอบสถานะผู้ลี้ภัยแก่พวกเขา นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความคุ้มครองและที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศระหว่างช่วงวิกฤตผู้อพยพทางเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันเมื่อเดือนพฤษภาคม
บุคคลไร้สัญชาติ
รัฐบาลยังคงดำเนินการระบุตัวบุคคลไร้สัญชาติ จัดหาเอกสารเพื่อแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ และเปิดทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานสามารถขอความเป็นพลเมืองไทยได้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติประเมินว่า มีบุคคลราว 506,200 คนในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือที่อาจเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือเสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ และองค์การนอกภาครัฐหลายแห่งระบุว่า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจจะมีสิทธิขอความเป็นพลเมืองไทยได้ โดยจำนวนมากเป็นชาวเขา (ดูหมวด 6 ประกอบ) นอกนั้นเป็นผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าที่ไม่มีหลักฐานแสดงสัญชาติพม่า ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการซึ่งเดิมคือชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยมีเอกสาร และบุคคลพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพตามชายแดน
การเกิดในประเทศไม่ทำให้ได้สัญชาติโดยอัตโนมัติ ตามกฎหมาย การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบิดาหรือมารดาหรือทั้งบิดาและมารดาที่เป็นพลเมืองไทย การสมรสกับชายไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจขอสัญชาติได้ตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ดูหมวด 6 ประกอบ) การแก้กฎหมายระหว่างปีที่ผ่านมาอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเชื้อสายไทยที่มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ชาวไทยพลัดถิ่น” และบุตรสามารถขอสถานภาพ “การมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด” ได้ แต่มีรายงานว่า การปฏิบัติตามกฎหมายนี้ค่อนข้างล่าช้าและไม่ค่อยสม่ำเสมอเนื่องจากกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมีความซับซ้อน และเนื้อหาบางส่วนไม่ชัดเจน
กฎหมายกำหนดว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับสูติบัตรจากทางการไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร บิดามารดาหลายคนไม่ขอสูติบัตรให้แก่บุตรตนเพราะขั้นตอนยุ่งยากและต้องเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลเข้าไปที่ว่าการอำเภอ ตลอดจนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารนี้ องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีการดำเนินงานเชิงบวกบางประการในการออกสูติบัตรให้เด็กเกิดใหม่ทุกคน
ตามกฎหมาย ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติและไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งถูกจำกัดการเดินทาง นอกจากนี้ บุคคลไร้สัญชาติยังไม่อาจประกอบอาชีพบางประเภทที่สงวนไว้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย เช่น อาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ทางการจะอนุญาตให้ชาวเขาที่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทยทำการเกษตรเพื่อยังชีพได้ บุคคลไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการขอกู้เงินและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล แม้ว่าเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าโรงเรียนรัฐได้ แต่การศึกษาก็ด้อยคุณภาพ ผู้บริหารโรงเรียนระบุสถานภาพ “พลเมืองที่ไม่ใช่ชาวไทย” บนประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของเด็กเหล่านี้ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก ผู้บริหารโรงเรียนไม่อนุมัติเงินกู้สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยแก่เด็กเหล่านี้ โดยจะให้เงินกู้แก่นักศึกษาชาวไทยเท่านั้น มหาวิทยาลัยรัฐเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาจากนักศึกษาไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารในอัตราที่สูงกว่าที่เก็บจากนักศึกษาชาวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยกเลิกการปฏิบัติต่อนักศึกษาไร้สัญชาติเสมือนเป็นนักศึกษาต่างชาติแล้ว ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำหนดค่าเล่าเรียนนักศึกษาชาวไทยภาคการศึกษาละ 8,000 บาท (220 เหรียญสหรัฐ) แต่เรียกเก็บเงินนักศึกษาต่างชาติ (ซึ่งรวมถึงนักศึกษาไร้สัญชาติ) ภาคการศึกษาละ 28,000 บาท (780 เหรียญสหรัฐ)
ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติจำนวนมากมีสภาพความเป็นอยู่ยากจน และเนื่องจากไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติจึงมักถูกกระทำโดยมิชอบในรูปแบบต่างๆ (ดูหมวด 6 ประกอบ)
หมวดที่ 3 เสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 กำหนดกรอบการทำงานสู่การนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ แต่มิได้มอบอำนาจให้พลเมืองสามารถเลือกรัฐบาลของตนอย่างสันติ ทั้งยังสร้างกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการชั่วคราว โดยมีคณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นมาต่างหากเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อถึงสิ้นปี กระบวนการนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ
การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการเลือกรัฐบาลของตนผ่านการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมที่จัดขึ้นเป็นระยะ
การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา: ไม่มีการจัดการเลือกตั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 85/2557 และ 86/2557 ซึ่งออกประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งที่ 1/2557 ซึ่งออกประกาศเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 สั่งระงับการเลือกตั้งทุกประเภททั่วประเทศ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
พรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง: รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีเข้ารับตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
การมีส่วนร่วมของสตรีและชนกลุ่มน้อย: รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ก่อนรัฐประหารสนับสนุนให้พรรคการเมือง “มีสมาชิกพรรคที่เป็นหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง 13 คนจากทั้งหมด 218 คน ส่วนคณะรัฐมนตรีรักษาการมีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงสามคน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์) จากสมาชิกทั้งหมด 34 คน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดที่แล้วมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิง 81 คนจากสมาชิกทั้งหมด 500 คน
มีสมาชิกจากชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือศาสนาไม่กี่คนที่มีตำแหน่งสูงทางการเมืองระดับประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามสี่คนและนับถือศาสนาคริสต์สองคนจากสมาชิกทั้งหมด 250 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามสี่คนจากสมาชิกทั้งหมด 250 คน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามสามคนจากสมาชิกทั้งหมด 200 คน ไม่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาพุทธ แต่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชาวมุสลิม
หมวดที่ 4 การทุจริตในวงราชการและความโปร่งใสของรัฐบาล
กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทว่า ในบางครั้ง ข้าราชการก็เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ ในช่วงปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการหลายกรณี
การทุจริต: การทุจริตยังคงมีอยู่ในวงกว้างในวงการตำรวจ มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งข้อหาลักพาตัว ล่วงละเมิดทางเพศ ลักทรัพย์ และกระทำผิดทางวินัย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน ซ้อม และละเมิดสิทธิผู้ถูกคุมขังและนักโทษ โดยมักไม่มีโทษผิด ทางการจับกุมและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาทุจริต ค้ายาเสพติดและลักลอบขนสินค้าเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีรายงานกล่าวหาตำรวจว่ากระทำการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ในการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม และยังคงดำเนินอยู่เมื่อถึงเดือนตุลาคม
หลังการค้นพบค่ายพักร้างในภาคใต้ของไทยที่สงสัยว่ามีหลุมฝังศพหมู่ของผู้อพยพชาวโรฮีนจาเมื่อเดือนพฤษภาคม ทางการได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 120 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารหลายนาย
เมื่อถึงปลายปี หมายจับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกเมื่อ พ.ศ. 2552 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ คดีที่ทักษิณถูกยื่นฟ้องเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้พม่าโดยธนาคารของรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2549 ยังคงค้างคาอยู่ที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทักษิณยังคงพำนักอยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงสอบสวนคดีทุจริตกระทำโดยสมาชิกคณะรัฐบาลที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร จาก พ.ศ. 2544–2549 และผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดนี้ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพิจารณาคดีจำนวนมาก
เมื่อถึงเดือนธันวาคม รัฐบาลทหารยังคงดำเนินการสืบสวนกรณีข้อกล่าวหาทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบกไทย ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่บูรพกษัตริย์ของประเทศ
การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน: กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการต้องแจ้งรายการทรัพย์สินของตน และระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งและที่ได้รับการแต่งตั้งแจ้งรายการทรัพย์สินและรายได้ของตน ตามแบบฟอร์มที่กำหนดเป็นมาตรฐาน กฎหมายกำหนดบทลงโทษข้าราชการที่ไม่ได้แจ้งรายการทรัพย์สิน หรือแจ้งรายการไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือปกปิดทรัพย์สิน บทลงโทษรวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี การยึดทรัพย์ การปลดออกจากตำแหน่ง และจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (280 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ
ระเบียบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนนั้นไม่ครอบคลุมถึงสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และทางการยกเว้นให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้เช่นกัน ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิก 250 คน สถาปนาขึ้นโดยคสช.หลังการรัฐประหารและสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนตุลาคม เมื่อถึงเดือนตุลาคม ยังคงไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนสำหรับสมาชิกทั้ง 200 คนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่แต่งตั้งโดยคสช.
สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร: กฎหมายกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ และรัฐบาลก็ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผล กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นบางประการสำหรับข้อมูลที่ไม่เปิดเผย ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ และอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานราชการต้องรับแจ้งคำร้องขอทราบข้อมูลภายใน 15 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องส่งคำวินิจฉัยภายในกรอบเวลาใดเวลาหนึ่ง การดำเนินการไม่มีค่าธรรมเนียม หากหน่วยงานราชการเพิกเฉยต่อคำร้องขอทราบข้อมูลหรือผู้ขอทราบข้อมูลอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล ผู้ตัดสินจากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) จะต้องตัดสินกรณีดังกล่าวภายใน 60 วัน หากสขร.สั่งให้เปิดเผยข้อมูลตามคำร้อง หน่วยงานราชการนั้นต้องเปิดเผยข้อมูลที่ร้องขอภายในเจ็ดวัน กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าหน่วยราชการที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งต้องรับโทษทางวินัยหรือโทษอาญา สขร.ได้รับคำร้องขออุทธรณ์ 373 กรณีระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 89 กรณีที่ได้รับในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2557 ในจำนวน 373 กรณีที่ได้รับคำร้องนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 221 กรณี โดยอีก 152 กรณียังอยู่ระหว่างดำเนินการเมื่อถึงสิ้นปี สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้จัดโครงการรณรงค์และอบรมแก่สาธารณชน ตลอดจนโครงการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่พิจารณาคำร้อง
หมวดที่ 5 ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลายประเภทดำเนินกิจกรรมอยู่ในประเทศไทย คำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรนอกภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการห้ามชุมนุมและจัดกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนการจำกัดสื่อ องค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน หรือเรื่องชายแดน ยังคงเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ตำรวจมีจดหมายถึงสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและองค์กร Human Rights Watch ขอให้ยกเลิกการเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับเวียดนาม โดยอ้างว่ากิจกรรมครั้งนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติและส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม
เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลให้สิทธิยกเว้นภาษีแก่องค์กรนอกภาครัฐเพียงไม่กี่ราย ซึ่งบางครั้งก็เป็นอุปสรรคในการที่องค์กรสิทธิมนุษยชนจะหาทุนได้เพียงพอ
สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ: ในช่วงปีที่รายงาน รัฐบาลเลื่อนกำหนดการเยือนไทยของผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านการทรมานและการปฏิบัติด้วยวิธีการที่ไร้มนุษยธรรมออกไป สหประชาชาติรายงานว่า ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตเดินทางมาไทยของคณะทำงานของสหประชาชาติด้านการหายสาบสูญ ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการจัดตั้งสมาคม หรือผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
องค์กรสิทธิมนุษยชนภาครัฐ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้อง 472 เรื่องในช่วงแปดเดือนแรกของปี โดยในปี พ.ศ. 2557 ได้รับคำร้อง 408 เรื่อง ในจำนวนคำร้อง 472 เรื่องมี 38 เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลตอบสนองข้อแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วยการอธิบายหรือการดำเนินการประมาณร้อยละ 25 และปฏิบัติตามคำแนะนำประมาณ 1 ใน 5 ผู้นำประชาสังคมหลายคนให้คะแนนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันต่ำมาก และอภิปรายอย่างเปิดเผยว่า ข้อบกพร่องนี้มีสาเหตุมาจากลักษณะขององค์กรหรือเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านความสามารถกันแน่ นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน
สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาเป็นหน่วยงานอิสระและมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนจากประชาชน หลังจากดำเนินการสอบสวน สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาอาจส่งเรื่องต่อไปศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาทำการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แต่ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักฯ เมื่อถึงเดือนกันยายน สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภารับเรื่องร้องเรียนใหม่ 2,306 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มี 454 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ
หมวดที่ 6 การเลือกปฏิบัติ การกระทำมิชอบในสังคม และการค้ามนุษย์
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ระบุถึงการให้ความคุ้มครอง “บรรดาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทั้งหลายของชนชาวไทย”
สตรี
การข่มขืนและความรุนแรงในครัวเรือน: การข่มขืนกระทำชำเราถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเสมอไป กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับสามีที่ข่มขืนภรรยาของตน และมีการดำเนินคดีประเภทนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยร้อยละ 60 ของคดีทั้งหมดที่ได้รับแจ้งระหว่างเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกันยายน
กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับคดีข่มขืนหรือการทำร้ายทางเพศ เริ่มตั้งแต่โทษจำคุกสี่ปีจนถึงประหารชีวิต รวมถึงโทษปรับ โดยพิจารณาจากอายุของผู้เสียหาย ระดับความรุนแรงของการกระทำ การใช้อาวุธ จำนวนผู้กระทำผิด และสภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายหลังจากถูกทำร้าย อัตราโทษปรับขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเหยื่อ และโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 8,000 – 40,000 บาท (ประมาณ 220 – 1,100 เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุด้วยว่า บุคคลใดที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในคดีข่มขืนซ้ำเป็นครั้งที่สองภายในเวลาสามปีอาจได้รับโทษเพิ่มฐานกระทำความผิดอีก สถิติทางศาลชี้ว่า ทางการได้ยื่นฟ้องคดีการทำร้ายทางเพศเป็นจำนวน 5,310 คดีในปี พ.ศ. 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 4,591 คดีในปี พ.ศ. 2556
องค์การนอกภาครัฐเชื่อว่า การข่มขืนยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีระบุว่า มาตรการตามกฎหมายที่ผ่อนผันให้ผู้กระทำผิดที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีได้ด้วยการเลือกที่จะแต่งงานกับเหยื่อถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรี นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า เหยื่อเข้าแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราหรือการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดความเข้าใจของตำรวจ พนักงานอัยการ และผู้พิพากษา ในประเด็นด้านเพศและสิทธิสตรี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีอย่างมีประสิทธิผล
นอกจากนี้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาอย่างไม่เพียงพอ และเหยื่อมักมองว่า ตำรวจไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ฝ่ายตำรวจได้พยายามแก้ไขทรรศนะดังกล่าวด้วยการสนับสนุนให้สตรีแจ้งความอาชญากรรมทางเพศ องค์การนอกภาครัฐรณรงค์สนับสนุนให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงฝ่ายสืบสวนประจำสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อดูแลคดีเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพยายามเพิ่มจำนวนสตรีเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในช่วงปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมีจำนวนคิดเป็นประมาณร้อยละ 8 ของกำลังตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับปีพ.ศ. 2557 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงฝ่ายสืบสวนประมาณ 300 คนทั่วประเทศ โดย 130 คนประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร
การใช้ความรุนแรงต่อสตรีในครอบครัวยังเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 หญิงอายุมากกว่า 18 ปี รวม 13,265 คนรายงานว่าถูกกระทำมิชอบและได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center – OSCC) ของกระทรวงฯ ซึ่งมีหน้าที่ให้ข้อมูลและบริการแก่เหยื่อ ร้อยละ 67 ของเหยื่อรายงานว่าถูกกระทำทารุณร่างกาย และร้อยละ 22 ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กฎหมายกำหนดโทษปรับสูงสุด 6,000 บาท (170 เหรียญสหรัฐ) หรือโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนสำหรับผู้กระทำผิด และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการห้ามผู้กระทำความผิดอาศัยในบ้านต่อไป หรือติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุรุนแรงในครอบครัวและการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามสื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่คดีอยู่ในกระบวนการศาล องค์การนอกภาครัฐแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายว่า การเน้นการส่งเสริมครอบครัวมั่นคงอาจสร้างแรงกดดันต่อเหยื่อให้ยอมรอมชอมโดยไม่มีการแก้ปัญหาสวัสดิภาพและเป็นเหตุให้อัตราการพิพากษาลงโทษต่ำ
ทางการได้ดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดี โดยเฉพาะคดีที่ผู้กระทำผิดทำร้ายเหยื่อจนบาดเจ็บสาหัส ตามบทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นซึ่งผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษที่หนักขึ้น บ่อยครั้งที่ไม่มีการแจ้งความการใช้ความรุนแรงในครอบครัว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามคดีประเภทนี้ องค์การนอกภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ อาทิ บริการโทรศัพท์สายด่วน การจัดที่พักพิงชั่วคราว และบริการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนในด้านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับสตรี ศูนย์พักพิงของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐจังหวัดละหนึ่งแห่งประสบปัญหางบประมาณ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า ประชาชนกว่า 5,900 คนแสวงหาที่พักพิงชั่วคราวในศูนย์พักพิงที่รัฐดำเนินการ บางรายแสวงหาที่พักพิงมากกว่าหนึ่งครั้ง ศูนย์วิกฤติของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย แม้ว่าศูนย์หลายแห่งจะประสบปัญหางบประมาณขาดแคลน โรงพยาบาลของรัฐจะส่งตัวสตรีที่ถูกทำร้ายไปองค์กรเอกชนในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับเหยื่อที่ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว รายงานว่า เมื่อถึงเดือนกันยายน มีการลงบันทึกการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทั้งสิ้น 294 กรณีทั่วประเทศ เปรียบเทียบกับ 233 กรณีที่มีรายงานในช่วงแปดเดือนแรกของปีพ.ศ. 2557 เหยื่อในจำนวน 69 คดีเลือกที่จะฟ้องคดีอาญาในขณะที่เหยื่อใน 117 คดีไม่ต้องการฟ้อง คำพิพากษาโทษในคดีเหล่านั้นได้แก่ การจำคุกผู้กระทำผิด (โทษสูงสุดสามเดือน) เข้ารับการ “บำบัด” ทางจิต หรือเสียค่าปรับ ต้องภาคทัณฑ์ หรือทั้งสองประการ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังคงพัฒนาระบบเครือข่ายชุมชนที่ช่วยป้องกันสตรีจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่อไปโดยดำเนินการทั่วทุกภาคของประเทศ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นอบรมตัวแทนจากแต่ละชุมชนเกี่ยวกับสิทธิสตรีและการป้องกันการถูกกระทำมิชอบเพื่อให้ชุมชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
การขริบอวัยวะเพศสตรี: ไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่ห้ามการขริบอวัยวะเพศสตรี องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า แม้ไม่มีข้อมูลทางสถิติเผยแพร่ แต่มีกรณีการขริบอวัยวะเพศสตรีในภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ไม่มีรายงานว่ามีความพยายามป้องกันหรือแก้ไขการปฏิบัติดังกล่าวทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานนานาชาติ
การคุกคามทางเพศ: การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (550 เหรียญสหรัฐ) กับผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น บทลงโทษขึ้นอยู่กับระดับของการคุกคามทางเพศ การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและโทษปรับสูงสุด 30,000 บาท (830 เหรียญสหรัฐ) บทลงโทษขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและอายุของผู้เสียหาย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามการคุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ห้าระดับ คือ การภาคทัณฑ์ การตัดเงินเดือน การลดเงินเดือน การสั่งพักราชการและการไล่ออก องค์การนอกภาครัฐอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่า การคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดี ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น และถูกลงโทษ
สิทธิว่าด้วยการมีบุตร: คู่สามีภรรยาและบุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างเสรีว่า จะมีบุตรกี่คน เว้นช่วงห่างระหว่างการมีบุตรแต่ละคนนานเท่าใด จะมีบุตรเมื่อไร และจะบริหารจัดการสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนอย่างไร บุคคลมีข้อมูลและช่องทางที่จะทำเช่นนี้ได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ บังคับขู่เข็ญหรือใช้ความรุนแรง ระบบสาธารณสุขที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐให้บริการและข้อมูลด้านการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ การดูแลระหว่างการคลอดโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนบริการด้านสูติกรรมและการดูแลเด็กหลังคลอด
รายงานสถานการณ์ประชากรโลก พ.ศ. 2557 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประมาณร้อยละ 80 ของสตรีและเด็กหญิงอายุระหว่าง 15-49 ปี ใช้วิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ ประมาณร้อยละ 99 ของการคลอดบุตรได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ประมาณการว่า กว่าร้อยละ 90 ของมารดาและทารกสามารถเข้าถึงบริการฝากครรภ์และการดูแลหลังคลอด อย่างไรก็ดี รายงาน UNICEF Report Card on Adolescents พ.ศ. 2557 ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า อัตราคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เฉลี่ยในประเทศไทยประมาณ 43 คนต่อสตรีวัยรุ่นพันคน นับเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับสองของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
การเลือกปฏิบัติ: โดยทั่วไป ผู้หญิงมีสถานะและสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ดี บางครั้ง ผู้หญิงก็ประสบกับการเลือกปฏิบัติ เมื่อกลางปี รัฐบาลผ่านพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนหรือปรับสูงสุด 20,000 บาท (550 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ กับผู้ที่มีความผิดว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ กฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติในการจ้างงานเนื่องจากเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภายใต้นโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ โครงการหรือขั้นตอนใดๆ ของหน่วยงานรัฐและเอกชนหรือปัจเจกชน สตรีเผชิญการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน (ดู หมวด 7.ง) กฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติในการจ้างงานซึ่งยังคงมีอยู่ทั่วไป แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน ก็ยังไม่มีผู้ใดถูกฟ้องร้องเนื่องจากละเมิดกฎหมายฉบับนี้ องค์การนอกภาครัฐบางแห่งแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่นี้เนื่องจากบางหมวดระบุข้อยกเว้นสองประการคือ หลักการทางศาสนาและความมั่นคงของประเทศ
คู่สมรสชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยไม่สามารถขอความเป็นพลเมืองตามสัญชาติของภรรยาได้ ซึ่งต่างจากคู่สมรสชาวต่างชาติของผู้ชายไทย
สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับสตรีเข้าศึกษา แม้ว่าสถาบันทางทหารเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นสตรีอยู่จำนวนมาก กรมกำลังพลทหาร กระทรวงกลาโหมระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม มีผู้หญิง 96 คนดำรงยศนายพลหรือเทียบเท่าในทั้งสามเหล่าทัพและในกระทรวงกลาโหม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 85 คนเมื่อปีพ.ศ. 2557 นอกจากนี้ ในจำนวนกำลังพลทหารทั้งสิ้น 300,000 คนทั่วประเทศ เป็นสตรีประมาณ 35,000 คน โรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัครสตรีเข้าศึกษา และ มีการกันที่ให้สตรี 70 ที่จากจำนวนที่จะรับนักเรียนนายร้อยทั้งหมด 280 ที่ นักเรียนนายร้อยที่เป็นสตรีรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรระยะสี่ปีนี้เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีนายทหารหญิงสามกลุ่ม กลุ่มละ 70 คนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้และปัจจุบันรับราชการในหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศ ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนระบุว่า ร้อยละ 17 ของข้าราชการพลเรือนระดับบริหารเป็นสตรี ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปี พ.ศ.2557
สำนักงานกิจการสตรีและพัฒนาครอบครัวของรัฐบาลมีภารกิจส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายของสตรี โดยเฉพาะผ่านการทำงานของสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย แต่ไม่ได้ดำเนินงานอย่างอิสระ สำนักงานฯ ทำงานร่วมกับองค์การนอกภาครัฐและไม่ได้มีบทบาทนำในการส่งเสริมสิทธิสตรี
ผู้นำของสมาคมทนายความแห่งหนึ่งและนักวิชาการรายงานว่า มีผู้หญิงที่เป็นผู้บริสุทธิ์ทั่วประเทศและโดยเฉพาะในภาคเหนือให้การรับเป็นผู้กระทำความผิดอาญา โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดผิดกฎหมาย แทนญาติที่เป็นชาย ซึ่งส่วนใหญ่คือสามีของพวกเธอ เพื่อให้ผู้ชายเหล่านี้หลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดี สมาชิกในครอบครัวและบุคคลอื่นมักกดดันให้ผู้หญิงเหล่านี้ให้การรับสารภาพเท็จ ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นชายยังคงสามารถหารายได้ให้แก่ครอบครัวได้ตามเดิม ทนายความฝ่ายจำเลยในคดีอาญายืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และองค์คณะตุลาการ ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว แต่ล้มเหลวที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นผู้บริสุทธิ์เหล่านี้มาโดยตลอด ประชากรผู้ต้องขังในเรือนจำร้อยละ 15 เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
เด็ก
การจดทะเบียนเกิด: การเกิดในประเทศไม่ได้ทำให้ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเกิด ซึ่งทำให้ไม่มีรับสิทธิประโยชน์บางประการจากทางการที่ให้กับเด็กทุกคนโดยไม่สำคัญว่าถือสัญชาติใด (ดู หมวด 2.ง. บุคคลไร้สัญชาติ) องค์การนอกภาครัฐระบุว่า บางครั้ง ชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ไม่ได้จดทะเบียนเกิดกับทางการ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ข้าราชการท้องถิ่นไม่มีคุณธรรมและมีข้อมูลไม่ถูกต้อง อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทาง เหล่านี้ทำให้การจดทะเบียนเกิดเป็นเรื่องลำบาก
การศึกษา: สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการมุ่งใช้ความรุนแรงกับครูของโรงเรียนรัฐบาลทำให้โรงเรียนต้องปิดชั่วคราวและทำให้กระบวนการเรียนการสอนในจังหวัดเหล่านี้ต้องสะดุดเป็นระยะๆ
องค์การนอกภาครัฐหลายแห่งรายงานว่า บุตรของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างจำกัดกว่าเนื่องจากต้องติดตามบิดามารดาย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ บ่อยครั้ง ทั้งยังมีอุปสรรคเรื่องระยะทางจากที่พักไปโรงเรียนและความไม่ชำนาญภาษาไทย เด็กหลายคนเข้าเรียนระดับประถมศึกษาในศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวแทนที่จะเข้าโรงเรียนของรัฐ จึงเป็นการจำกัดโอกาสของนักเรียนเหล่านี้ในการเข้าถึงการศึกษาที่สูงกว่าระดับประถมศึกษา เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น เด็กกลุ่มนี้ยังคงไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆ ในชุมชนที่มีไว้สำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ เช่น ศูนย์ดูแลเด็กช่วงกลางวัน และนมและอาหารกลางวันฟรีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แรงงานต่างด้าวที่มีเงินพอจึงมักเลือกส่งบุตรไปเข้าโรงเรียนเด็กเล็กหรือศูนย์ดูแลเด็กของเอกชนโดยจ่ายเงินเอง
การกระทำทารุณเด็ก: กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทารุณ และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดโทษจำคุกระหว่างเจ็ดปีถึง 20 ปี และโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท (1,110 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ถ้าผู้เสียหายอายุระหว่าง 13-15 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่างสี่ปีถึง 20 ปีและโทษปรับเช่นเดียวกับข้างต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่เต็มใจสอบสวนคดีการกระทำมิชอบเหล่านี้ และระเบียบว่าด้วยวัตถุพยานก็ทำให้การดำเนินคดีกระทำมิชอบต่อเด็กยากขึ้น มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในคดีการกระทำมิชอบและคดีละเมิดทางเพศต่อเด็ก เด็กอาจให้ปากคำด้วยการบันทึกเทปวีดิทัศน์เป็นการส่วนตัว โดยมีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมฟังอยู่ด้วย ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากศาล อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาหลายคนไม่รับคำให้การที่บันทึกเป็นเทปวีดิทัศน์ โดยอ้างปัญหาทางเทคนิคและการที่ไม่สามารถซักค้านโจทก์และจำเลยได้โดยตรงในศาล นักคุ้มครองสิทธิเด็กบางคนอ้างว่า เด็กหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับการดูแลทางร่างกายและจิตใจดีกว่าเด็กชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กถูกฟ้องดำเนินคดีภายใต้กฎหมายว่าด้วยอายุของบุคคลที่ยอมให้มีการร่วมประเวณีได้ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีในกรณีที่มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก
การบังคับแต่งงานและการแต่งงานก่อนวัยอันควร: กฎหมายกำหนดให้ทั้งหญิงและชายที่จะแต่งงานต้องมีอายุอย่างน้อย 17 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะสมรสได้ ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 15-16 ปีแต่งงานได้ คณะกรรมการอิสลามและหน่วยงานของรัฐได้จัดโครงการสร้างความตระหนักหลายโครงการเพื่อยุติการแต่งงานก่อนวัยอันควรตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม
องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า การบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควรยังไม่ถึงระดับน่ากังวลรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาการข่มขืน ความรุนแรงในครัวเรือน และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในหมู่วัยรุ่น อย่างไรก็ดี องค์การนอกภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควรระหว่างนักเรียนนักศึกษาวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการ “รักษาหน้า” และปกป้องสถานภาพทางกฎหมายของเด็กในครรภ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอัตราการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในหมู่วัยรุ่นภายในประเทศ รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กที่คลอดจากมารดาที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรสูงเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน กระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในหมู่วัยรุ่น
การแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก: กฎหมายกำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ที่จัดหา ล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ค้าประเวณี และระบุว่า ลูกค้าที่จ่ายเงินเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะต้องโทษจำคุก 2-6 ปี และถูกปรับสูงสุด 120,000 บาท (3,300 เหรียญสหรัฐ) ถ้าเด็กผู้นั้นมีอายุระหว่าง 15-18 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 1-3 ปี และโทษปรับสูงสุด 60,000 บาท (1,660 เหรียญสหรัฐ) ทางการยังอาจลงโทษบิดามารดาที่ยอมให้บุตรเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดาได้ กฎหมายห้ามการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า หรือการส่งออกสื่อลามกอนาจารเด็ก ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและมีโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท (170 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายยังกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับบุคคลที่แสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดหาโสเภณี การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบอื่นๆ
การค้าประเวณีเด็กยังเป็นปัญหา ข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนองค์การนอกภาครัฐระบุว่า เด็กทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและชนกลุ่มน้อย ถูกบังคับหรือถูกล่อลวงให้ค้าประเวณี เด็กในครอบครัวยากจนยังคงเสี่ยงต่อการถูกบังคับค้าประเวณีมากเป็นพิเศษ และมีกรณีที่บิดามารดาบังคับหรือขู่เข็ญให้บุตรของตนค้าประเวณีจนนำไปสู่การจับกุม นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศยังคงก่ออาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็กด้วย
เมื่อเดือนกันยายน รัฐบาลแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจนขึ้นต่อผู้ที่ครอบครองหรือเผยแพร่สื่อลามกเด็กโดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท (5,540 เหรียญสหรัฐ)
เด็กพลัดถิ่น: โดยทั่วไป ทางการจะส่งเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนไปที่สถานพักพิงที่รัฐบาลจัดให้ในแต่ละจังหวัด แต่มีรายงานว่า เด็กจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารไม่ต้องการอาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ทางการยังได้จับกุมเด็กขอทานตามท้องถนนซึ่งหลายคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยทั่วไป รัฐบาลจะส่งเด็กข้างถนนที่เป็นคนไทยไปโรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รัฐบาลส่งตัวเด็กข้างถนนบางคนที่มาจากประเทศอื่นกลับประเทศตนเอง
รายงานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กมักไม่กล่าวถึงเด็กที่อาศัยอยู่ข้างถนน และยอดตัวเลขของเด็กข้างถนนทั่วประเทศมักมีเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น ไม่มีตัวเลขจำนวนขอทานที่น่าเชื่อถือ ในกลุ่มเด็กขอทานนี้ประกอบด้วยเด็กจรจัด เด็กถูกลักพาตัว หรือเด็กที่บิดามารดาส่งให้ไปขอทาน และหลายคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
เด็กในสถานสงเคราะห์: มีรายงานจำนวนจำกัดเกี่ยวกับการกระทำมิชอบในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น ศาลจังหวัดชัยภูมิพิพากษาจำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท (55 เหรียญสหรัฐ) กับครูคนหนึ่งด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายเด็กพิเศษผู้พิการทางสมองวัย 12 ปีที่โรงเรียนเด็กพิเศษแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิเมื่อเดือนสิงหาคม 2557
การลักพาเด็กระหว่างประเทศ: ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการดำเนินการทางแพ่งต่อการลักพาเด็กระหว่างประเทศ พ.ศ. 2523 ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่travel.state.gov/content/childabduction/en/legal/compliance.html และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในประเทศไทยที่travel.state.gov/content/childabduction/en/country/thailand.html
การต่อต้านยิว
ชาวยิวในไทยมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว อย่างไรก็ตาม ภาพบุคคลและสัญลักษณ์นาซีบางครั้งถูกนำมาแสดงบนสินค้าและใช้ในโฆษณา
การค้ามนุษย์
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เชิญอ่านได้จาก รายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
บุคคลทุพพลภาพ
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญและกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการทางร่างกาย ระบบประสาทความรู้สึก สติปัญญาและสภาพจิต ในด้านการศึกษา การเดินทางทางอากาศและการคมนาคมขนส่งอื่นๆ ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือบริการอื่นๆ ของรัฐ แม้ว่าคณะผู้นำรัฐประหารจะระงับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว แต่กฎหมายเกี่ยวกับบุคคลทุพพลภาพก็ยังคงไว้ตามเดิม
รัฐบาลปรับแต่งสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารสาธารณะหลายแห่งให้เอื้อต่อบุคคลทุพพลภาพ แต่การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิผลโดยสม่ำเสมอกัน กฎหมายกำหนดให้บุคคลทุพพลภาพต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารคมนาคมและอาคารที่สร้างใหม่ แต่บทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเป็นเอกภาพ กฎหมายไม่ได้บังคับให้หน่วยราชการต้องติดตั้งขอบคันถนนที่ใช้กับรถเข็นได้เมื่อทำการซ่อมแซมหรือสร้างถนน
บุคคลทุพพลภาพที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการมีสิทธิได้รับบริการตรวจโรค รถเข็น และไม้ยันรักแร้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลาห้าปีแก่บุคคลทุพพลภาพที่ดำเนินธุรกิจขนาดย่อม
โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนของรัฐบาลและโครงการศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนยังคงดำเนินงานอยู่ในทุกจังหวัด ทั่วประเทศมีศูนย์การเรียนรู้ฯ 162 แห่ง โดยใน 76 จังหวัดมีจังหวัดละสองแห่งและกรุงเทพมหานครมี 10 แห่ง สำหรับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ใน 76 จังหวัดมีจังหวัดละหนึ่งแห่งและกรุงเทพมหานครมี 50 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ฯ แต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลประมาณ 25,000 บาท (690 เหรียญสหรัฐ) ส่วนศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแต่ละแห่งได้รับ 10,000 บาท (280 เหรียญสหรัฐ)
รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ 46 แห่ง และศูนย์การศึกษาสำหรับบุคคลทุพพลภาพ 77 แห่ง กฎหมายกำหนดให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศต้องรับนักเรียนพิการเข้าศึกษา และในช่วงปีที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนพิการ กระทรวงศึกษาธิการระบุว่า มีนักเรียนพิการเข้าศึกษาในโรงเรียนประมาณ 376,000 คนทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับบุคคลทุพพลภาพที่ดำเนินการโดยรัฐเก้าแห่ง และโดยองค์การนอกภาครัฐอีกอย่างน้อย 23 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดบริการทั้งแบบเต็มเวลาและแบบบางช่วงเวลาหรือตามฤดูกาล รัฐดำเนินการบ้านพัก 11 แห่งและศูนย์ฟื้นสมรรถภาพเก้าแห่งสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ รวมถึงศูนย์ดูแลเด็กออทิสติกสองแห่ง นอกจากนี้ มีสมาคมของเอกชนที่จัดฝึกอบรมสำหรับผู้พิการเป็นครั้งคราว
นายจ้างบางรายเลือกปฏิบัติด้านค่าจ้างต่อแรงงานคนพิการ (ดู หมวด 7.ง.)
ชนกลุ่มน้อยทางสัญชาติ/เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์
คนสองกลุ่มคือ อดีตทหารในสงครามกลางเมืองของจีนและลูกหลานที่อาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง และลูกของชาวเวียดนามอพยพที่อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎข้อบังคับที่จำกัดการเดินทาง ที่พักอาศัย การศึกษาและการเข้าถึงอาชีพ กฎหมายจำกัดให้ชาวจีนกลุ่มนี้พักอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
ชาวพื้นเมือง
ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะให้สิทธิแก่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะลูกจ้าง แต่นายจ้างยังคงละเมิดสิทธินั้นบ่อยครั้งโดยจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชาวไทยและน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กฎหมายจำกัดอาชีพสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย อีกทั้งกีดกันบุคคลเหล่านี้จากสวัสดิการของรัฐ เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กฎหมายให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการอนุมัติสัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ กระนั้น นักเคลื่อนไหวก็รายงานว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวางและการปฏิบัติงานไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านชาวเขาและเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล ซึ่งทำให้คำร้องขอสัญชาติต้องคั่งค้างและถูกปฏิเสธอย่างไม่สมควร จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีผู้อยู่ระหว่างรอดำเนินการคำร้องของสัญชาติประมาณ 440,000 คน
ชาวเขายังคงเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ชาวเขามักจะเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
การกระทำรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำมิชอบอื่นๆ เนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ
ไม่มีกฎหมายใดระบุว่า วิถีทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นความผิดทางอาญา
กลุ่ม LGBTI หรือกลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้รักร่วมสองเพศ บุคคลข้ามเพศ และกะเทยหรือบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม (intersex) สามารถจดทะเบียนกลุ่มกับทางการได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับชื่อที่ใช้ในการจดทะเบียน กลุ่ม LGBTI รายงานว่า เมื่อพวกตนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกตนเช่นคนปกติ ยกเว้นในกรณีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดทางเพศมากนัก หรือไม่เห็นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องจริงจัง
กฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนการระบุเพศของตนในเอกสารแสดงตน ซึ่งเมื่อรวมกับการเลือกปฏิบัติของสังคมกลุ่มใหญ่แล้ว ได้จำกัดโอกาสสมัครงานของบุคคลข้ามเพศ
องค์การนอกภาครัฐในท้องถิ่นแห่งหนึ่งรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพุ่งเป้าคุกคามและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและเข้าสอบโดยสวมเครื่องแบบตามเพศที่ตนเลือกเป็นกรณีไป ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมักกำหนดให้นักศึกษาต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการก่อนจะสวมเครื่องแบบที่ตนเลือกได้ การอนุญาตเช่นนี้ยังคงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสถาบัน
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติ “เหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกําเนิด” กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน และยังไม่ชัดแจ้งว่า กฎหมายใหม่นี้จะมีผลเช่นไรต่อการเลือกปฏิบัติเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ ยังมีการเลือกปฏิบัติในทางธุรกิจเนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภาวะอยู่บ้าง อาทิเช่น บริษัทประกันชีวิตบางแห่งปฏิเสธที่จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแก่ชายรักร่วมเพศ อย่างไรก็ตาม มีบริษัทประกันชีวิตบางแห่งยินดีขายประกันชีวิตแก่กลุ่ม LGBTI พร้อมบทบัญญัติโอนผลประโยชน์เต็มรูปแบบแก่คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งเริ่มยอมรับผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แต่ทั้งนี้ ยังคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท องค์การนอกภาครัฐกล่าวหาว่า ไนท์คลับ บาร์ โรงแรม และโรงงานบางแห่งไม่ยอมให้บุคคลกลุ่ม LGBTI เข้าไปในสถานที่ของตนหรือไม่ยอมรับบุคคลกลุ่มนี้เข้าทำงาน โดยเฉพาะบุคคลข้ามเพศ
การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์
บุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจเนื่องจากถูกปฏิเสธจากครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน ครูอาจารย์ และชุมชน แม้ว่าความพยายามให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกตีตราเชิงลบดังกล่าวได้บ้างในบางชุมชน มีรายงานว่า นายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ้างพนักงานที่ตรวจพบว่า มีเชื้อเอชไอวีระหว่างการตรวจเลือดก่อนเข้าทำงานตามที่นายจ้างกำหนด
หมวดที่ 7 สิทธิของคนงาน
ก. สิทธิในการตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม
ก่อนรัฐประหาร รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มแก่พนักงานบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายแรงงานซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ยังคงมีผลบังคับใช้ตามเดิม กฎหมายอนุญาตให้พนักงานภาคเอกชนก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่ตนเลือกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการล่วงหน้า ร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มได้ และนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้พนักงานในบริษัทเอกชนที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนจัดตั้ง “คณะกรรมการลูกจ้าง” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างโดยรวมในการยื่นเรื่องเรียกร้องหรือต่อรองกับนายจ้าง ตลอดจน “คณะกรรมการสวัสดิการ” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างโดยรวมในการยื่นเรื่องเรียกร้องกับนายจ้างเกี่ยวกับปัญหาสวัสดิการ กฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน กฎหมายให้ความคุ้มครองลูกจ้างและสหภาพแรงงานรวมถึงสมาชิกสหภาพแรงงานในการถูกฟ้องอาญาหรือแพ่งเมื่อดำเนินกิจกรรม (เช่น การต่อรองกับนายจ้างเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของสหภาพเพื่อสิทธิและผลประโยชน์ หรือการดำเนินการจัดการประท้วง) เพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก
กฎหมายฉบับอื่นๆ อนุญาตให้พนักงานรัฐวิสาหกิจจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ไม่มีกฎหมายอนุญาตข้าราชการพลเรือน รวมทั้งครูประจำโรงเรียนของรัฐและเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ทหารและตำรวจ จัดตั้งหรือจดทะเบียนสหภาพแรงงาน ข้าราชการพลเรือนอาจจัดตั้งและจดทะเบียนสมาคมได้ แต่สมาคมเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอาจมีสหภาพได้หนึ่งแห่ง กฎหมายห้ามการหยุดงานประท้วงหรือปิดกิจการในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และ “งานบริการที่จำเป็น” ซึ่งกฎหมายให้คำนิยามกว้างมากกว่าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และบริการดังกล่าวนี้รวมถึงโทรคมนาคมและระบบขนส่งมวลชน แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่มีเอกสารอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วอาจเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่จัดตั้งและบริหารโดยคนไทย มีไม่กี่กรณีที่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่บริหารโดยคนไทย อย่างไรก็ดี อุปสรรคด้านภาษา การขาดความเข้าใจสิทธิของตนภายใต้กฎหมาย การเปลี่ยนงานบ่อยๆ กฎระเบียบสหภาพแรงงานที่เข้มงวด และการแบ่งแยกแรงงานไทยจากแรงงานต่างด้าวด้วยภาคอุตสาหกรรมและเขตพื้นที่ (โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เช่น อำเภอแม่สอด) จำกัดผลสัมฤทธิ์ของสหภาพเหล่านี้ที่มีต่อกลุ่มแรงงานต่างด้าว
ความคุ้มครองตามกฎหมายจากมาตรการต่อต้านสหภาพแรงงานโดยนายจ้างจะมีผลต่อเมื่อสหภาพแรงงานจดทะเบียนกับทางการ ในการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน แรงงานอย่างน้อย 10 คนต้องส่งรายชื่อให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งจะทำหน้าที่นำรายชื่อและสถานภาพการจ้างงานไปตรวจสอบความถูกต้องกับนายจ้าง จึงอาจทำให้แรงงานเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกตอบโต้จากนายจ้างก่อนการจดทะเบียนจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำกับสหภาพ สหภาพหนึ่งแห่งมีที่ปรึกษาได้ไม่เกินสองคน โดยที่ปรึกษาต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน
แม้ว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองลูกจ้างและสมาชิกสหภาพจากการดำเนินคดีแพ่งหรืออาญาเนื่องจากเข้าร่วมการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ริเริ่มการนัดหมายหยุดงาน จัดชุมนุมประท้วง และอธิบายข้อขัดแย้งด้านแรงงานต่อสาธารณชน กฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครองลูกจ้างและสมาชิกสหภาพจากข้อหาอาญาว่าด้วยการก่ออันตรายต่อสาธารณชน เป็นเหตุให้มีการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความเสียหายต่อชื่อเสียง
เมื่อปี พ.ศ. 2557 ศาลแรงงานกลางสั่งให้ผู้นำสหภาพสี่คนจ่ายเงินให้แก่บริษัทการบินไทยเป็นจำนวนเงิน 326 ล้านบาท (9.04 ล้านเหรียญสหรัฐ) เนื่องจากดำเนินการนัดหยุดงานประท้วงเมื่อปี 2556 เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง นายจ้างสามารถฟ้องร้องผู้นำสหภาพฐานหมิ่นประมาทด้วยข้อความที่ใช้ขณะร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มและชุมนุมประท้วง หากข้อความดังกล่าว “[สร้างความเสียหายแก่] ชื่อเสียงของนายจ้าง” หากจำนวนสมาชิกสหภาพต่ำกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สหภาพนั้นๆ อาจถูกยุบภายใต้ระเบียบว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ พนักงานอาจถูกไล่ออกด้วยเหตุผลใดก็ได้ยกเว้นการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ แต่นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง
แรงงานสามารถยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อศาลได้หากถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่ยุติธรรม ผู้นำสหภาพที่ออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่อาจเป็นตัวแทนของสมาชิกสหภาพได้อีกต่อไป เมื่อปี 2557 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นเรื่องฟ้องศาลขอให้มีคำสั่งไล่ออกประธานสหภาพแรงงานของบริษัทเนื่องจากมีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ หยุดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และแต่งตั้งพนักงานเป็นคณะกรรมการลูกจ้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลยกฟ้องข้อกล่าวหาสองข้อแรก แต่รับพิจารณาข้อกล่าวหาข้อที่ 3 ที่ระบุว่า ประธานสหภาพแรงงานแต่งตั้งพนักงานเป็นคณะกรรมการลูกจ้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายกำหนดให้นายจ้างเริ่มการเจรจาภายในสามวันนับจากที่สหภาพยื่นข้อเรียกร้อง หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทางการจะนับว่าเป็นกรณีพิพาทด้านแรงงานและเริ่มการไกล่เกลี่ย กฎหมายอนุญาตให้พนักงานประท้วงหยุดงานได้หลังจากที่ลูกจ้างยื่นเรื่องเรียกร้องและฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานต้องยื่นจดหมายแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการนัดหยุดงาน รัฐบาลมีอำนาจในการจำกัดการชุมนุมประท้วงของภาคเอกชนในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจนี้เลยในช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า นายจ้างบางรายเลือกที่จะยื่นข้อเรียกร้องตอบโต้ข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพแทนที่จะเจรจาต่อรอง ซึ่งทำให้กระบวนการเจรจาต่อรองซับซ้อนยากที่จะแก้ไขมากขึ้น
กฎหมายห้ามการเลิกจ้างผู้ที่ชุมนุมประท้วงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่า นายจ้างมีสิทธิจ้างคนมาทำงานแทนผู้ประท้วงได้ การประท้วงในภาคเอกชนถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายที่กำหนดให้มีการเรียกประชุมทั่วไปสมาชิกสหภาพแรงงานและต้องได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกอย่างน้อยร้อยละ 50 กฎหมายกำหนดโทษ เช่น การจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับ 20,000 บาท (550 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่ผู้ที่ทำการประท้วงหยุดงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจ
กฎหมายแรงงานไม่มีการบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ และในบางกรณี ก็ไม่มีประสิทธิผลในการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน อาทิ ศาลแรงงานได้สั่งให้นายจ้างบรรจุลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิมเมื่อพบว่าพนักงานถูกไล่ออกเนื่องจากร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน ทว่า กระบวนการบรรจุพนักงานเข้าทำงานใหม่ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากสำหรับลูกจ้าง ในกรณีส่วนใหญ่ นายจ้างและลูกจ้างจึงมักตกลงกันนอกศาล โดยลูกจ้างได้รับเงินชดเชย และนายจ้างไม่ต้องถูกมาตรการลงโทษใดๆ แม้กฎหมายกำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนและปรับ 10,000 บาท (280 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทางการนำบทลงโทษนี้มาบังคับใช้น้อยมาก
คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไตรภาคีวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์โดยรวม โดยมีศาลแรงงานพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง พนักงานอาจร้องทุกข์ได้โดยผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงแรงงานอาจส่งกรณีพิพาทด้านแรงงานในภาคเอกชนที่ไม่สามารถยุติได้ด้วยการเจรจาหรือการไกล่เกลี่ยโดยสมัครใจและที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศไปให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อระงับข้อพิพาท คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่พนักงานรัฐวิสาหกิจร้องทุกข์ ในช่วงปีพ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานว่า มีข้อขัดแย้งอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 149 กรณีซึ่งเกี่ยวข้องกับพนักงาน 122,474 คน เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2556 (ซึ่งมีข้อขัดแย้งอย่างไม่เป็นทางการ 146 กรณีและเกี่ยวข้องกับพนักงาน 68,715 คน) ในจำนวนนี้ ข้อพิพาท 125 กรณีคลี่คลายโดยไม่มีการนัดหยุดงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งต่อข้อพิพาทแปดกรณีไปยังศาลแรงงาน และมี 10 กรณีที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยกรมแรงงาน ข้อพิพาทที่ส่งต่อไปยังศาลแรงงานส่วนใหญ่จัดอยู่ในกรณีการไล่ออกอย่างไม่ยุติธรรม การละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการทำงาน และการกระทำมิชอบโดยนายจ้างและลูกจ้าง
นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างที่พยายามก่อตั้งสหภาพ มีรายงานเกี่ยวกับคนงานที่ถูกไล่ออกเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสหภาพ ในบางกรณี ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับพนักงานเข้าทำงานตามเดิมถ้าพิสูจน์แล้วว่าสาเหตุของการเลิกจ้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั่วไป ระบบนี้ล้มเหลวในการทำโทษนายจ้าง และในที่สุด ลูกจ้างมักได้รับเงินชดเชยหรือเงินชดเชยเมื่อถูกให้ออกจากงานจำนวนหนึ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีมติให้บริษัท Stanley Works Limited (Thailand) จ่ายเงินชดเชยจำนวน 1.3 ล้านบาท (36,030 เหรียญสหรัฐ) ให้แก่แรงงานแปดคนที่ถูกไล่ออกเนื่องจากเป็นการไล่ออกที่ไม่ยุติธรรม ด้วยกฎหมายห้ามเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานเพราะเหตุชักชวนให้หยุดงานประท้วง ยื่นเรื่องร้องทุกข์ ยื่นข้อเรียกร้อง หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ไม่ได้สั่งให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายจ้างและลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงานไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสันติ
มีรายงานว่า นายจ้างใช้กลวิธีหลากหลายรูปแบบเพื่อยับยั้งการนัดหยุดงานของลูกจ้างและพยายามทำให้ความพยายามเจรจาต่อรองแบบกลุ่มรวมของลูกจ้างอ่อนแอลง ซึ่งรวมถึงการให้พนักงานรับเหมาค่าแรงปฏิบัติงานแทนที่พนักงานที่นัดหยุดงาน ข่มขู่ผู้นำสหภาพ กดดันให้แกนนำสหภาพและพนักงานที่นัดหยุดงานต้องลาออก ห้ามพนักงานชุมนุมประท้วงภายในบริเวณสำนักงานหรือในเขตอุตสาหกรรม และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อขอหมายศาลสั่งห้ามการประท้วง นอกจากนี้ นายจ้างบางรายยังย้ายแกนนำสหภาพและพนักงานที่นัดหยุดงานไปยังตำแหน่งที่ไม่น่าพึงใจกว่าหรือตำแหน่งบริหารที่ไม่มีอำนาจการบริหารจริงเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขานำกิจกรรมของสหภาพได้ มีรายงานว่า นายจ้างบางรายสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพมาแข่งขันกับสหภาพเดิมที่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงที่นายจ้างเสนอ
กฎหมายกำหนดว่า สมาชิกสหภาพแรงงานต้องเป็น “ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างคนเดียวกัน” หรือ “ลูกจ้างที่ทำงานประเภทเดียวกัน” กฎหมายดังกล่าวบวกกับข้อกำหนดที่ให้สหภาพต้องเป็นตัวแทนของพนักงานอย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนพนักงานทั้งหมดเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการร่วมเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายจัดว่า คนงานที่ทำสัญญาเหมาเป็นคนงานใน “อุตสาหกรรมบริการ” ซึ่งต่างจาก “อุตสาหกรรมการผลิต” พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าร่วมกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมได้ ข้อจำกัดในการเข้าร่วมสหภาพกับพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาดังกล่าวนี้มักจะลดความสามารถเจรจาต่อรองในฐานะกลุ่มใหญ่กว่าเดิม กฎหมายจำกัดการเข้าอยู่ในเครือเดียวกันระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชนเนื่องจากสหภาพสองประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานอ้างว่า ข้อกำหนดที่ว่าการประท้วงต้องได้รับความเห็นชอบจากร้อยละ 50 ของสมาชิกสหภาพทั้งหมดนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 พนักงานการรถไฟ 13 คนที่ถูกปลดออกจากงานทั้งหมด (ยกเว้นหนึ่งคนที่ถึงวาระเกษียณอายุ) ได้กลับเข้าทำงาน พนักงานเหล่านี้ถูกปลดเนื่องจากการนัดหยุดงานที่นำโดยสหภาพเพื่อประท้วงเกี่ยวกับเครื่องจักรไม่ปลอดภัยหลังเกิดเหตุรถไฟชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปีพ.ศ. 2552 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเจ็ดคน แม้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้พนักงานที่ถูกไล่ออกจ่ายค่าปรับจำนวน 15 ล้านบาท (415,740 เหรียญสหรัฐ) และไม่ได้จ่ายค่าชดเชยรายได้ (สำหรับเงินที่สูญเสียขณะไม่ได้ทำงาน) ให้แก่พนักงานเจ็ดคนจาก 13 คนที่รับกลับเข้าทำงาน
ข. การห้ามการบังคับใช้แรงงาน
กฎหมายห้ามการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติสาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลยืนยันนโยบาย “ไม่อดกลั้นเด็ดขาด” ต่อการค้ามนุษย์ และย้ำเน้นว่า “การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และการประมงผิดกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยแนวทางที่มีบูรณาการยิ่งขึ้น รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับเพื่อเสริมสร้างอำนาจในการควบคุมภาคส่วนที่มีข้อกังวลด้านแรงงานที่สำคัญและเพิ่มบทลงโทษต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เช่น กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลที่ออกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 กำหนดให้แรงงานต้องมีสิทธิพัก 10 ชั่วโมงหลังจากทำงาน 24 ชั่วโมง ให้มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร และการจ่ายเงินค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอสำหรับวันทำงานและวันหยุดนักขัตฤกษ์ การปฏิรูปอื่นๆ ได้แก่ ระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยการจดทะเบียนเรือ พระราชบัญญัติการประมง บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญาใหม่ที่ระบุว่าการทำสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดอาญา บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์กำหนดบทลงโทษจำคุกสี่ปีจนถึงตลอดชีวิตและปรับ 80,000 ถึง 400,000 บาท (2,220 ถึง 11,090 บาท) อีกทั้ง ยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสและให้อำนาจแก่ทางการในการสั่งระงับการดำเนินธุรกิจชั่วคราวหรือระงับใบอนุญาตการทำธุรกิจและพาหนะที่เกี่ยวข้องในการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี การขาดความชัดเจนของกฎหมายและข้อปฏิบัติถึงนิยามของคำว่าแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลในการระบุเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อใช้เป็นแรงงานและดำเนินคดีกับผู้ที่บังคับใช้แรงงาน
รัฐบาลรายงานว่าได้สอบสวนคดีการค้ามนุษย์ 280 คดี ดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ 155 คน โดย 151คนได้รับพิจารณาโทษในช่วงปี 2557 และจากจำนวนคดีทั้งหมด 280 คดี มี 58 คดี (ร้อยละ 20) ที่สงสัยว่าเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงาน นักค้ามนุษย์ 20 คนรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปี และส่วนใหญ่ของผู้กระทำผิดได้รับโทษจำคุกอย่างน้อยสองปี มีรายงานว่า ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานที่ได้รับพิพากษาโทษว่ามีความผิดนั้นบางคนหลบหนีออกนอกประเทศหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ในช่วงการดำเนินการอุทธรณ์
ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่กดขี่ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานในภาคเศรษฐกิจหลายส่วน ได้แก่ ในเรือประมงที่ติดธงไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เน้นแรงงานเป็นหลัก เช่น โรงงานแปรรูปอาหารและอาหารทะเล ตลอดจนภาคแรงงานนอกระบบและงานรับใช้ตามบ้าน โดยเฉพาะในภาคส่วนที่มักใช้แรงงานต่างด้าว จำนวนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลสูงถึงร้อยละ 90 มีการอ้างว่า รายงานข่าวเชิงสืบสวนเรื่องการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของสำนักข่าว Associated Press นำไปสู่การปล่อยตัวแรงงานบนเรือประมงที่ถูกกักกันกว่า 2,000 คนในช่วงปีที่ผ่านมา รายงานเหล่านี้ยังนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดหลายสิบคน ยึดสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ ปิดโรงแกะเปลือกกุ้งบางแห่ง และข้อเสนอให้ออกกฎหมายใหม่ๆ
ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูลเหล่านี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่าได้ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อ 303 รายที่บ้านพักของทางการ โดยในจำนวนนี้ 236 คนเป็นคนต่างด้าวและ 195 คนเป็นเหยื่อแรงงานบังคับ ผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคมวิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานอพยพต่างด้าวและผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนแอและอาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อุปสรรคด้านภาษา การขาดสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย การขาดการศึกษา การขาดความเข้าใจในกฎหมายของไทย และกลไกการร้องเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ทำให้แรงงานต่างด้าวชาวพม่า กัมพูชา และลาวจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศปีพ.ศ. 2556 เน้นนำเสนอสภาพการใช้แรงงานอย่างกดขี่ในภาคประมง ซึ่งรวมถึงสภาพที่ประมาณร้อยละ 17 ของแรงงาน “ทำงานโดยไม่สมัครใจและไม่สามารถออกจากงานได้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการลงโทษทางการเงิน/ระงับการจ่ายค่าแรง การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือแจ้งทางการ เป็นต้น”
แรงงานต่างด้าวมักมีหนี้สินจำนวนมากติดค้างกับนายหน้าจัดหาแรงงานนอกระบบหรือเจ้าหนี้ในท้องถิ่น โดยบางรายคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงร้อยละ 20 การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพแรงงานขัดหนี้ มีรายงานว่า แรงงานบางรายบนเรือประมงไม่สามารถกลับฝั่งได้ และนายจ้างบังคับให้ทำงานในสภาพที่แร้นแค้น ค่าจ้างต่ำ โดยมีความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่จำกัดมาก ในบางกรณี นายจ้าง ผู้รับจ้างช่วง หรือนายหน้า (ทั้งในและนอกระบบ) คิดค่าธรรมเนียมสูงมากจากแรงงานสำหรับการดำเนินการด้านจัดหาเอกสาร เช่น จัดหาหนังสือเดินทางจากประเทศต้นทางหรือการขนส่ง จึงยิ่งทวีความเสี่ยงของแรงงานต่อการตกอยู่ในสภาพแรงงานขัดหนี้ มีรายงานว่า นายจ้างยึดครองเอกสารการขึ้นทะเบียนและเอกสารการเดินทางของแรงงานต่างด้าวไว้ เป็นผลให้แรงงานเหล่านี้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวและเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานโดยไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทางกฎหมาย กฎหมายจำกัดขอบเขตการประกอบอาชีพของบุคคลต่างด้าว แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมักจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหรือเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับประเทศ
กรุณาอ่าน รายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบด้วยที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
ค. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน
กฎหมายกำหนดหลักการการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายกำหนดห้ามนายจ้างสั่งให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด และห้ามสั่งให้ทำงานระหว่าง 22.00 น. ถึง 6.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานล่วงหน้า กฎหมายห้ามการว่าจ้างเด็กอายุ 15 – 17 ปีให้ทำงานที่ใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่อันตราย ยกของหนัก และปีนขึ้นที่สูงที่อันตรายตามที่ระบุไว้ในระเบียบปฏิบัติ กฎหมายห้ามการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ทำงานที่มีอันตราย ซึ่งรวมถึงงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเครื่องใช้โลหะ สารเคมีอันตราย วัสดุมีพิษ กัมมันตรังสี และอุณหภูมิหรือระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่เป็นพิษ การใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก การทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำ รวมทั้งการทำงานในสถานที่ที่ต้องห้าม เช่น โรงฆ่าสัตว์ บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ หรือในสถานอาบอบนวด กฎหมายให้ความคุ้มครองอย่างจำกัดแก่แรงงานเด็กในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น การประมงและเกษตรกรรม และอนุญาตให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อใช้กับภาคเศรษฐกิจที่กฎหมายครอบคลุมไม่ถึง
เมื่อเดือนธันวาคม 2557 กระทรวงแรงงานแก้กฎหมายให้เพิ่มอายุขั้นต่ำในการทำงานภาคการเกษตรจาก 13 ปี เป็น 15 ปี และการทำงานบนเรือประมงในทะเลจาก 16 ปี เป็น 18 ปี อย่างไรก็ดี กฎหมายยังไม่ได้ระบุจำนวนชั่วโมงงานสูงสุดสำหรับแรงงานเด็กอายุ 15 – 17 ในการทำงานภาคการเกษตรหรืองานรับใช้ตามบ้านอย่างถูกกฎหมาย
ระยะแรกของการดำเนินการตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึง 2557 โดยรัฐบาลได้ทำการประเมินผลครึ่งแผนแรกระยะเวลา 5 ปีนี้ และได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อการดำเนินงานแผนปฏิบัติการระดับประเทศระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2563) ในช่วงปีที่ผ่านมา คณะกรรมการแห่งชาติอนุมัติร่างการดำเนินงานแผนปฏิบัติการระดับประเทศระยะที่ 2 และเมื่อถึงสิ้นปี ร่างนี้ยังคงรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
โทษสูงสุดสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับแรงงานเด็กคือ โทษจำคุกหนึ่งปี หรือโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท (5,540 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2557 มีเด็กอายุ 15-17 ปี จำนวน 49,263 คนทำงานอย่างเป็นทางการและมีชื่อในระบบประกันสังคม จำนวนแรงงานเด็กทั้งหมดทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายยังคงมีมากกว่าที่ระบุข้างต้นมากเมื่อพิจารณาจำนวนแรงงานเด็กในภาคที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงแรงงานเด็กต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการสำรวจการใช้แรงงานเด็กทั่วประเทศอย่างถ้วนทั่ว
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเด็ก ในปี 2557 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมดำเนินการตรวจสอบการละเมิดกฎหมายจ้างงานเด็กและพบการละเมิดกฎหมายในสถานประกอบการ 8 แห่งเกี่ยวพันกับเด็ก 20 คน โดยพบการกระทำหลายลักษณะ เช่น นายจ้างจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด นายจ้างไม่จ่ายค่าแรง เด็กทำงานตอนกลางคืน และนายจ้างไม่ได้แจ้งต่อทางการว่าได้ว่าจ้างเด็กอายุระหว่าง 15 – 17 ปี โทษสูงสุดภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างเด็กให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตรายหรือในสถานที่ที่ทางการสั่งห้ามคือ โทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปี หรือโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท (ประมาณ 5,540 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้โดยทั่วไปทางการจะลงโทษปรับผู้ละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่บทลงโทษที่ได้รับมักน้อยกว่าบทลงโทษสูงุดตามที่กฎหมายกำหนด ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานเด็กมีประสิทธิผลจำกัด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของกระทรวงแรงงานมีจำนวนน้อย ขาดข้อมูลหรือระบบที่เชื่อมโยงทั่วประเทศในการประเมินสภาพแรงงานเด็ก และวิธีการตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิผลในการจัดการกับภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการหรือสถานที่ประกอบการที่เข้าถึงได้ยาก เช่น บ้านพักส่วนบุคคล สถานประกอบธุรกิจขนาดเล็กของครอบครัว ไร่นาที่อยู่ห่างไกล และเรือประมง นอกจากนี้ การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเด็กและมาตรฐานสำหรับการทำงานที่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก ได้แก่ อันตรายจากยาฆ่าแมลง ความร้อน และเครื่องจักร มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ยังมีเด็กทำงานอยู่ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและธุรกิจของครอบครัว
แรงงานเด็กทำงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารทะเล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง ธุรกิจขนาดเล็กที่ทำที่บ้าน การก่อสร้าง และงานรับใช้ตามบ้าน นอกจากนี้ นายจ้างยังจ้างเด็กขึ้นสู้ชกมวยไทยโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่า นายจ้างใช้แรงงานเด็กในการผลิตเสื้อผ้า สิ่งลามกอนาจาร กุ้ง ปลา และอ้อย เด็กอายุต่ำที่ทำงานอยู่ในเมืองส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน อุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านอาหาร เด็กจำนวนหนึ่งยังคงถูกแสวงประโยชน์ทางเพศอันเป็นส่วนหนึ่งของการค้าบริการทางเพศพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจ้างบังคับเด็กต่างด้าวทำงานประมง ผลิตเสื้อผ้า ทำงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารทะเล ทำงานรับใช้บ้าน และขอทานตามถนน เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว และอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารและผู้อยู่ในอุปการะมาจดทะเบียน เมื่อถึงเดือนกันยายน แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารจำนวนประมาณ 1.6 ล้านคนได้จดทะเบียนกับศูนย์ฯ โดย 900,000 คนคือผู้อยู่ในอุปการะของแรงงานต่างด้าว บุตรของแรงงานต่างด้าวมีสิทธิขอการพำนักชั่วคราวในราชอาณาจักรและประกันสุขภาพ และเข้าโรงเรียนของรัฐได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า มีบุตรของแรงงานต่างด้าวเพียง 79,710 คนลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนของรัฐ
มีรายงานว่า มีเด็กถูกซื้อ ถูกเช่า หรือ ถูกบังคับ “ยืม” จากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อให้มาขอทานกับผู้หญิงตามถนน นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า มีบิดามารดาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะบิดามารดาที่เป็นบุคคลต่างด้าวส่งบุตรให้ไปขอทานระหว่างปิดภาคเรียน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อช่วยหารายได้ให้ครอบครัว
การใช้แรงงานเด็กในโรงงานขนาดใหญ่กว่าที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกและโรงงานแปรรูปที่จดทะเบียนกับทางการนั้นจะเห็นชัดน้อยกว่าแต่ยังคงมีรายงานอยู่ ซึ่งรวมถึงในหลายระดับของอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล มีรายงานว่า เด็กที่ทำงานบางคนไม่มีเอกสารประจำตัวและไม่มีสัญญาว่าจ้าง องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า มีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่ตั้งอยู่ตามชายแดนพม่าในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปียังอยู่ในสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย เช่น ทำงานกับไฟ ความร้อนหรือแสงแดดแรง ในสถานที่ที่มีความชื้น กลิ่นเหม็นและสกปรก ทำงานนานกว่าวันละ 8 ชั่วโมง สถานที่ทำงานมีฝุ่นละออง เครื่องมือเป็นอันตราย สภาพแวดล้อมมีอุณหูมิสูงหรือต่ำมาก และทำงานกลางคืน
ยังคงมีรายงานว่า ผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกณฑ์เด็กมาร่วมก่อการด้วยการให้ลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่เป็นหน่วยสอดแนมหรือหาข่าว หรือให้ร่วมกองกำลังอาสาป้องกันหมู่บ้าน
กรุณาอ่าน รายงานผลการสำรวจรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ของกระทรวงแรงงานประกอบด้วยที่ www.dol.gov/ilab/reports/child-labor/findings/
ง. การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานหรืออาชีพ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ เพศกำเนิด เพศภาวะ ภาวะทุพพลภาพ ภาษา ความคิดเห็นทางการเมือง ศาสนา อายุ ถิ่นกำเนิดทางสังคม ถิ่นกำเนิดทางด้านชาติหรือสัญชาติ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศภาวะ สถานะการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่ออื่นๆ หรือสถานภาพทางสังคม เมื่อเดือนกันยายน พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2557 กำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนหรือปรับสูงสุด 20,000 (550 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับกับผู้ที่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศภาวะ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจในการว่าจ้างงานด้วย กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนต้องจ้างพนักงานทุพพลภาพอย่างน้อยหนึ่งคนต่อพนักงานทุก 100 คน ทางการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผลในทุกกรณี
การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลทุพพลภาพ แรงงานต่างด้าว ตลอดจนสตรี (ดู หมวด 7.จ.) ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงว่าเป็นหญิงหรือชาย อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในการทำงานที่เท่ากันในหลายภาคเศรษฐกิจ นายจ้างหลายรายไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำงานในทุกอุตสาหกรรมเหมือนผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่มีแนวโน้มประกอบอาชีพที่มีอัตราค่าจ้างต่ำ
ในขณะที่ยังไม่มีผลชัดเจนว่า พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2557 จะมีผลสัมฤทธิ์ทางปฏิบัติอย่างไร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บุคคลที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภาวะหลากหลายในประเทศไทยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเดียดฉันท์ที่มีอยู่ทั่วไปและการขาดกฎหมายคุ้มครองรวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศปี พ.ศ. 2557 พบว่า การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการจ้างงาน อาทิ การศึกษาและฝึกอบรม การเข้าถึงอาชีพ โอกาสความก้าวหน้า การประกันสังคม และผลประโยชน์สำหรับคู่ชีวิต มีรายงานว่าพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดยิ่งไปกว่าที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้น การมีส่วนร่วมในภาคแรงงานของบุคคลกลุ่มนี้มักจำกัดอยู่เพียงไม่กี่อาชีพ เช่น ช่างเสริมสวยและผู้ให้ความบันเทิง
จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้
อัตราค่าแรงรายวันขั้นต่ำของประเทศยังคงอยู่ที่ 300 บาท (8.30 เหรียญสหรัฐ) ทางการคำนวณเส้นความยากจนครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยอยู่ที่ 2,572 บาท (71 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน
กฎหมายกำหนดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 48 ชั่วโมง หรือแปดชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาหกวัน และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลูกจ้างที่ต้องทำงาน “เสี่ยงอันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และห้ามทำงานล่วงเวลา พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน และทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน ตามกฎหมายแล้วนายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างงานโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง เว้นเสียแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง
กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องมีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่ทำที่บ้าน นอกจากนี้ ยังห้ามสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย (ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง) พนักงานไม่มีสิทธิ์พาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อหน้าที่การงาน กฎหมายอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์นำใบรับรองแพทย์มายื่นขอเปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบทั้งก่อนและหลังคลอดบุตร กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างแจ้งลูกจ้างถึงสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายตั้งแต่ก่อนจ้างงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงให้ความคุ้มครองบางประการแก่แรงงานที่ทำงานรับใช้ตามบ้านในเรื่องเกี่ยวกับวันหยุด วันลาป่วย อายุขั้นต่ำ และการจ่ายค่าแรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงานปกติ หรือการลาคลอด อัตราค่าแรงขั้นต่ำและระบบประกันสังคมไม่ครอบคลุมถึงแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและงานตามฤดูกาล เช่น เกษตรกรรม เป็นต้น แม้ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2554 แต่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังไม่ได้ออกระเบียบว่าด้วยค่าแรง สภาพการทำงาน และงานเสี่ยงอันตรายที่ต้องห้ามสำหรับผู้รับงานไปทำที่บ้าน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ตรวจสอบว่านายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำในภาคแรงงานที่เป็นทางการ ตลอดจนตรวจสอบชั่วโมงทำงาน เวลาพักผ่อน วันหยุดและวันลาป่วย และการจ่ายค่าล่วงเวลา อีกทั้ง ยังบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (2,770 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกินหกเดือนหากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำนี้ยังมีความสับสนอยู่ โทษสูงสุดของการฝ่าฝืนข้อบังคับด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยคือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับไม่เกิน 400,000 บาท (10,240 เหรียญสหรัฐ) ในปี พ.ศ. 2557 มีสถานประกอบการประมาณ 350,900 แห่ง มีลูกจ้างรวมกว่า 8.1 ล้านคน การประเมินนี้ไม่ได้รวมถึงสถานประกอบการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ไร่นาของครอบครัวและธุรกิจที่ทำที่บ้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพียง 594 คนทั่วประเทศ จึงไม่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน
พนักงานตรวจสอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการ 40,274 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างราว 1.3 ล้านคนในพ.ศ. 2557 และพบว่ามี 499 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนที่เกี่ยวกับการไม่จัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการลูกจ้างและการไม่ให้วันหยุดนักขัตฤกษ์และวันลาพักร้อนแก่พนักงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังได้รับคำร้องทุกข์ 6,882 กรณีจากพนักงาน 16,272 คนในปี 2557 ซึ่งเรื่องร้องทุกข์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับค่าจ้างและเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง จำนวนพนักงานตรวจสอบที่มีจำกัด แนวปฏิบัติว่าด้วยการสัมภาษณ์พนักงานที่สถานที่ทำงาน การพึ่งพาการตรวจสอบที่เน้นเอกสาร และการไม่มีล่ามติดตามคณะผู้ตรวจสอบทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิผลนัก
ในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อปีพ.ศ. 2557 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบสถานประกอบการ 14,967 แห่งซึ่งมีลูกจ้างราว 800,000 คน และพบว่า มี 807 แห่ง (ประมาณร้อยละ 5) ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการไม่จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลความปลอดภัย ปัญหาเครื่องจักร ปั้นจั่นและหม้อน้ำ การตรวจสุขภาพ ตลอดจนระดับความร้อน แสงและเสียงไม่เหมาะสม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า อัตราการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงานพบสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร การฝ่าฝืนกฎหมายส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขหลังจากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกคำสั่งให้บริษัทดำเนินการแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ดี พนักงานฝ่ายตรวจสอบแรงงานฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างน้อย 213 คดี หลังจากพบว่านายจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขหรือชำระค่าปรับตามที่กำหนด
การเยียวยาพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมมักไม่ทันการและไม่เพียงพอ มีคำพิพากษาจากศาลไม่มากนัก และมีเพียงไม่กี่กรณีที่ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับภัยในสถานประกอบการเป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ยังคงมีคดีอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ศาลมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้มีการชดเชยแก่พนักงานที่ได้รับบาดเจ็บ องค์การนอกภาครัฐรายงานหลายกรณีที่รัฐบาลปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยอุบัติเหตุแก่บุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วเพราะยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อเดือนกันยายน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเพิกถอนกฎระเบียบของสำนักงานประกันสังคมที่ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำขัดกับกฎหมายและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวและการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของแรงงานต่างด้าว ศาลพิพากษาว่า แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วและได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในประเทศควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
แรงงานบางส่วนในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการทั่วประเทศได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะแรงงานในต่างจังหวัด มีรายงานว่า ร้อยละ 57ของแรงงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น เกษตร ป่าไม้ และประมงโดยได้รับความคุ้มครองอย่างจำกัดภายใต้กฎหมายแรงงานและระบบประกันสังคม ยังคงมีช่องว่างด้านรายได้เป็นอย่างมากระหว่างการจ้างงานอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยแรงงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดย่อมที่มีจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน ความคุ้มครองแรงงานยังครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว อย่างไรก็ดี นายจ้างหลายรายไม่ได้จ่ายค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารทั้งที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งไร้ฝีมือ ในปี 2557 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานจากพม่า (1,378 ราย) ลาว (57 ราย) และกัมพูชา (144 ราย) ในการเรียกร้องเงินค่าจ้างและผลประโยชน์ที่นายจ้างติดค้าง คิดเป็นมูลค่า 24.3 ล้านบาท (673,500 เหรียญสหรัฐ) รัฐบาลจัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อช่วยลดจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวซึ่งเป็นการลดสภาวะอ่อนแอเสี่ยงต่อการกระทำมิชอบของแรงงานต่างด้าว
แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วและผู้อยู่ในอุปการะสามารถทำงานและพักอาศัยในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการดูแลสุขภาพภายใต้โครงการประกันสุขภาพจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ รัฐบาลยังลดค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานระยะสั้นโดยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานระยะเวลา 1 – 3 เดือนจาก 450 บาท (12.50 เหรียญสหรัฐ) เหลือ 225 บาท (6.20 เหรียญสหรัฐ) และสำหรับใบอนุญาตทำงานระยะเวลา 3 – 6 เดือน จาก 900 บาท (24.90 เหรียญสหรัฐ) เหลือ 450 บาท (12.50 เหรียญสหรัฐ) ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลสามารถลดจำนวนนายหน้าและค่าธรรมเนียมนอกระบบเกี่ยวกับกระบวนการจดทะเบียนเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย กระนั้น ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจำต้องได้รับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการที่ทางการไม่มีนโยบายการอพยพในระยะยาว แม้ว่าจะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการของจำนวนแรงงานนอกระบบในประเทศ แหล่งข้อมูลของรัฐและองค์การนอกภาครัฐได้ประมาณตัวเลขแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบไว้ที่ 2.5 ถึง 3.7 ล้านคน
ถึงแม้จะมีความพยายามจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แต่แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเอกสารประจำตัวก็ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานหลายประการอย่างที่แรงงานที่เป็นพลเมืองไทยได้รับ และยังคงเป็นกลุ่มอ่อนแอที่เสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่เลวร้ายและไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทางกฎหมาย องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า สภาพแวดล้อมการทำงานของทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารประจำตัวและแรงงานที่ไม่มีเอกสารไม่ค่อยดี มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทำงานในโรงงานใกล้จุดผ่านแดน ซึ่งมีรายงานว่ามีการละเมิดกฎหมายแรงงานอยู่เป็นประจำ กระทรวงแรงงานรายงานว่า ได้จัดตั้งศูนย์พร้อมล่ามหนึ่งคนใน 11 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น ตรัง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และตาก กลุ่มประชาสังคมด้านสิทธิแรงงานต่างด้าวรายงานว่า ความพยายามเหล่านี้ทำให้การบริการต่างๆ ปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น
บริษัทที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวหักค่าแรงของแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายในการลักลอบเข้าเมือง การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว การจัดทำใบอนุญาตทำงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แรงงานยังรายงานการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการของบริษัทที่ทำสัญญา ซึ่งรวมถึงการไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลาในวันหยุด ไม่จัดหาอุปกรณ์ เครื่องแบบพนักงาน หรือน้ำดื่มให้อย่างเพียงพอ หรือไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำรายวันเมื่อทำงานน้อยกว่าแปดชั่วโมง อีกทั้ง รายงานว่า มีการหักค่าแรงเมื่อลาป่วย และติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปล่อยปะละเลยแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ รัฐบาลกำหนดให้นายจ้างในอุตสาหกรรมประมงจัดทำบันทึกอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับลูกจ้างและบันทึกเงินค่าจ้างของลูกจ้าง ตลอดจนใช้สัญญาจ้างงานที่ได้มาตรฐานซึ่งระบุค่าแรง ชั่วโมงทำงาน ผลประโยชน์และสวัสดิการขณะทำงานบนเรือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลกำหนดให้ค่าแรงของแรงงานภาคการประมง (เงินเดือนขั้นพื้นฐานรวมผลประโยชน์) เท่ากับแรงงานขั้นต่ำของประเทศ อีกทั้ง กฎหมายยังกำหนดช่วงเวลาพัก รวมถึงวันลาพักผ่อนและวันหยุดประจำปี และให้นายจ้างนำคนงานไปรานงานตัวที่กระทรวงแรงงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินร้อยละ 50 ของค่าแรงรายวันให้แก่ลูกจ้างตลอดช่วงที่ลูกจ้างอยู่นอกประเทศและไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางของลูกจ้างที่เดินทางกลับมายังพื้นที่จัดหาแรงงานหากเรือประมงใช้งานไม่ได้ หรือหากคนงานไม่สามารถทำงานได้ หรือหากนายจ้างเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อนสัญญาจะสิ้นสุดลงหรือเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม แรงงานในอุตสาหกรรมประมงยังคงขาดการเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคมและมักไม่ได้รับเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในภาคประมงจำนวน 58,508 คน
ทางการกำหนดให้สำนักงานจัดหางานที่จัดหาแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน เมื่อถึงเดือนกันยายน มีสำนักงานจัดหางานสำหรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยจดทะเบียนกับกรมการจัดหางานแล้ว 274 แห่ง ยังคงไม่มีข้อบังคับเฉพาะเพื่อกำกับดูแลหรือติดตามตรวจสอบการบริการและค่าบริการของสำนักงานจัดหาแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศเหล่านี้ รวมถึงผู้ให้บริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวระหว่างขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง
บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานใช้ “ระบบสัญญาจ้างเหมางาน” โดยคนงานจะเซ็นสัญญาเป็นรายปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่คนงานที่ทำสัญญาเหมา ไม่ว่าคนงานที่ทำสัญญาเหมานี้จะถูกจ้างในลักษณะเป็นบริการภายนอกและได้รับค่าจ้างจากอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ก็ตาม กฎหมายถือว่า บริษัทที่ทำสัญญาเป็นนายจ้างเป็นนายจ้างโดยภาพรวม และตามกฎหมาย จะต้องจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างปกติและลูกจ้างที่ได้รับการว่าจ้างจากภายนอกอย่างเท่าเทียมกัน แม้คนงานที่ทำสัญญาเหมาจะทำงานประเภทเดียวกันกับคนงานที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรง แต่พวกเขามักได้รับค่าจ้างน้อยกว่าและได้สวัสดิการพิเศษอื่นๆ น้อยกว่าหรือไม่ได้เลย
สำนักงานจัดหาแรงงานในไทยแสวงประโยชน์จากพลเมืองไทยที่ทำงานในต่างประเทศด้วยการคิดค่าธรรมเนียมการจัดหางานเป็นจำนวนเงินที่สูงและผิดกฎหมาย ซึ่งมักสูงเท่ากับรายได้ปีแรกและปีที่สองของการทำงานรวมกัน สำนักงานจัดหาแรงงานเอกชนต้องวางเงินประกันกับรัฐบาลจำนวนห้าล้านบาท (138,580 เหรียญสหรัฐ) เพื่อใช้เป็นเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่แรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์หากจำเป็น องค์การนอกภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหนี้ในท้องถิ่นซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหนี้นอกระบบมีส่วนทำให้เกิดการปฏิบัติเช่นนั้นโดยการเสนอให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อให้คนงานนำไปจ่ายค่าหัวคิวซึ่งบางครั้งอาจสูงถึงห้าแสนบาท (ประมาณ 13,860 เหรียญสหรัฐ) กรมการจัดหางานออกกฎจำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุดในการจัดหางาน ทว่า การบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเป็นเรื่องยากและทำได้ไม่มากพอเนื่องจากแรงงานไม่เต็มใจให้ข้อมูลและขาดเอกสารหลักฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดหางานใต้ดิน ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลพบการปฏิบัติโดยมิชอบต่างๆ เช่น การหาแรงงานแบบหลอกลวงและการเรียกค่าธรรมเนียมที่สูงมากเกินไป จากผลของการสืบสวน รัฐบาลได้ยื่นฟ้องคดีอาญากับสำนักงานจัดหางานสามแห่งและระงับใบอนุญาตสำนักงานจัดหางานหนึ่งแห่งเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีความพยายามปราบปรามสำนักงานจัดหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยดำเนินการสอบสวน 88 ราย และระบุตัวนายหน้าผิดกฎหมาย 107 ราย โดยรวมแล้ว กระทรวงแรงงานดำเนินคดีอาญา 134 คดีกับตัวแทนหรือนายหน้าผิดกฎหมาย 156 คน พร้อมทั้งรายงานว่า มีการเจรจากับรัฐบาลอิสราเอลและเกาหลีใต้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการจัดหางานสำหรับแรงงานที่เป็นพลเมืองไทย
ในปีพ.ศ. 2557 มีรายงานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในสถานประกอบการ 100,234 ครั้ง ในจำนวนนี้ เป็นการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย (ลาป่วยไม่เกินสามวัน) จำนวน 68,903 ราย และการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยซึ่งทำให้ต้องลาป่วยเกินสามวัน (รวมทั้งการพิการถาวรและการเสียชีวิต) จำนวน 31,331 ราย เด็กบางคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายและไม่ถูกสุขอนามัย (ดู หมวด 7.ค) ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุในภาคแรงงานนอกระบบและภาคเกษตรกรรมและในกลุ่มแรงงานต่างด้าวน่าจะสูงกว่านี้เนื่องจากมีรายงานน้อยกว่าเป็นจริง ผู้ที่เจ็บป่วยอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับงานอาชีพมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือได้รับเงินชดเชย อีกทั้งมีแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้จำนวนน้อยมาก แรงงานต่างด้าวและผู้อยู่ในอุปการะทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวบางคนไม่ซื้อประกันสุขภาพเพราะไม่เข้าใจสิทธิของตนซึ่งเป็นผลมาจากอุปสรรคด้านภาษา การขาดแคลนบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่มักมีการนำมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ทางการกำหนดไว้มาใช้ แต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยโดยรวมก็ยังไม่เข้มงวด ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ การให้ความคุ้มครองด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน