รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2557

โดยสำนักงานเพื่อการตรวจสอบและต่อสู้กับการค้ามนุษย์

ประเทศไทย บัญชีกลุ่มที่ 3
(ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา)

ประเทศไทย (บัญชีกลุ่มที่ 3 – ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา) เป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี  เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย อุซเบกิสถาน อินเดียและฟิจิ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มใจเพื่อหางานทำโดยมักได้รับความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อนจากชุมชนเดียวกันหรือผ่านเครือข่ายจัดหาแรงงานอย่างไม่เป็นทางการและเครือข่ายลักลอบนำคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย  มีแรงงานอพยพประมาณสองถึงสามล้านคนในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า  เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับ ขู่เข็ญหรือล่อลวงมาเพื่อการแสวงประโยชน์บังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งมีการประมาณการอย่างต่ำว่า จำนวนประชากรกลุ่มนี้น่าจะมีหลายหมื่นคน  เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในไทยจำนวนมากมักถูกแสวงประโยชน์ในอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการประมง อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าราคาถูก โรงงานต่างๆ และงานรับใช้ตามบ้าน  และบางคนถูกบังคับให้ขอทานตามถนน

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งสองฝั่งชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอำนวยความสะดวกให้แก่การลักลอบนำแรงงานที่ไม่มีเอกสารเข้าประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว พม่าและกัมพูชา โดยแรงงานเหล่านี้ต่อมากลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์   ในจำนวนแรงงานที่ไม่มีเอกสารจำนวนมากที่ถูกส่งกลับประเทศลาว พม่าและกัมพูชาแต่ละปีมีเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ไม่สามารถระบุอัตลักษณ์รวมอยู่ด้วย  ชายชาวพม่า กัมพูชาและไทยตกเป็นเหยื่อบังคับใช้แรงงานตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนอกน่านน้ำนี้ โดยคนเหล่านี้ต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปีโดยได้รับค่าแรงเพียงเล็กน้อย ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ หรือถูกข่มขู่และถูกทุบตี  รายงานปีพ.ศ. 2553 ฉบับหนึ่งพบว่า ประมาณร้อยละ 17 ของแรงงานบนเรือประมงที่ทำการสำรวจและที่ได้ทำงานบนเรือประมงระยะใกล้โดยทำงานบนเรือน้อยกว่าหนึ่งเดือนผ่านประสบการณ์ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยมักมีสาเหตุจากถูกข่มขู่ทางการเงิน เช่น จะไม่ได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนจากงานที่ได้ทำไปแล้ว

จากงานสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ประเมินความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาครพบว่า ร้อยละ 57 ของคนงานจำนวน 430 คนที่ทำการสำรวจผ่านประสบการณ์ถูกบังคับใช้แรงงาน  เนื่องจากการประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการวางระเบียบกำกับ โดยทั่วไป แรงงานบนเรือประมงจึงไม่ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง  รายงานต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ยังมีการบังคับใช้แรงงานลักษณะนี้อยู่อย่างแพร่หลาย และการที่ประชาคมโลกจับตามองอยู่ทำให้นักค้ามนุษย์หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้ตรวจจับอาชญากรรมเหล่านี้ได้ยากขึ้น  แรงงานชายชาวไทย พม่าและกัมพูชาที่ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงที่ชักธงไทยทั้งในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากลได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและติมอร์-เลสเต   ในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนเหยื่อชาวกัมพูชาที่ทำงานในเรือประมงไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า  แรงงานชาวกัมพูชาและพม่ารู้สึกไม่เต็มใจมากขึ้นที่จะทำงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยเนื่องจากสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและสภาพการทำงานที่แสวงประโยชน์ผู้ใช้แรงงานทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น

ยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยทั้งพลเรือนและทหารได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบนำเข้าผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศ (ที่เข้าประเทศไทยเพื่อผ่านไปมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย) รวมทั้งสมรู้ร่วมคิดกันในการขายผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาเหล่านี้เพื่อการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง  เจ้าหน้าที่กองทัพเรือและถูกกล่าวหาว่า ผลักดันเรือบรรทุกผู้แสวงที่พักพิงชาวโรฮิงญาซึ่งมุ่งหน้าไปมาเลเซียให้เข้าเขตไทยแทนและให้ความสะดวกในการส่งตัวผู้แสวงที่พักพิงบางคนไปให้นักค้ามนุษย์หรือนายหน้าเพื่อขายไปเป็นแรงงานบังคับใช้บนเรือประมง  นอกจากนี้ สื่อยังรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางคนทำการอย่างเป็นระบบในการโยกย้ายชายชาวโรฮิงญาจากศูนย์กักกันในไทยและนำไปขายให้นักค้ามนุษย์หรือนายหน้าซึ่งจะส่งชายเหล่านี้ไปภาคใต้ของไทยและถูกบังคับใช้แรงงานเป็นคนทำอาหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในค่ายต่างๆ หรือถูกขายไปเป็นแรงงานบังคับใช้ในไร่นาหรือบริษัทขนส่งทางเรือ  นักค้ามนุษย์ (รวมทั้งนายหน้าจัดหาแรงงาน) ซึ่งนำคนต่างด้าวเข้ามาในไทยโดยทั่วๆ ไปทำงานตามลำพังหรือทำงานแบบกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นทางการ ในขณะที่นักค้ามนุษย์ที่หลอกคนไทยไปค้าในต่างประเทศจะทำงานเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นทางการมากกว่า  นายหน้าจัดหาแรงงานซึ่งโดยมากทำงานแบบไม่มีกฎหมายหรือระเบียบกำกับและทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างแรงงานที่หางานกับนายจ้าง  บางคนช่วยอำนวยความสะดวกหรือมีส่วนในการค้ามนุษย์โดยร่วมมือกับนายจ้างและบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย

แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติในไทยมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากที่สุด และคนกลุ่มนี้เผชิญการกระทำมิชอบหลายอย่างที่อาจบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เช่น ถูกนายจ้างยึดเอกสารเดินทาง บัตรขึ้นทะเบียนผู้ย้ายถิ่นและใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนหน่วงเหนี่ยวการจ่ายค่าจ้าง  นอกจากนี้ พวกเขาอาจถูกนายจ้างหักเงินเดือนอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการทารุณทางกายและวาจา รวมถึงการขู่ส่งกลับประเทศด้วย   แรงงานอพยพที่ขาดเอกสารมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากเป็นพิเศษเนื่องจากไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมักทำให้พวกเขาไม่กล้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงปัญหาที่ตนเผชิญอยู่นี้  แรงงานอพยพหลายคนต้องกู้หนี้จำนวนมากทั้งในประเทศไทยและประเทศบ้านเกิดตนเองเพื่อให้ได้งานทำและดังนั้นอาจเสี่ยงที่จะอยู่ในสภาพพันธนาการหนี้  ชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์  ชาวเขาทั้งชาย หญิงและเด็กในภาคเหนือของไทยมีอัตราเสี่ยงสูงเป็นพิเศษต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์   รายงานของสหประชาชาติระบุว่า การขาดสถานภาพทางกฎหมายที่ถูกต้องเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์  เด็กชาวไทย กัมพูชาและพม่าถูกบิดามารดาหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทานหรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง  เหยื่อชาวไทยถูกหลอกว่าจะพาไปทำงานในต่างประเทศและถูกหลอกให้ต้องกู้หนี้จำนวนมากเพื่อจ่ายเป็นค่านายหน้าและค่าดำเนินการหางาน บางครั้ง ก็ใช้ที่ดินที่ครอบครัวถือสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงถูกแสวงประโยชน์เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง  เหยื่อชาวไทยถูกบังคับใช้แรงงานหรือทำงานในธุรกิจค้าประเวณีในออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และในประเทศในตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย  แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปในต่างประเทศเพื่อทำงานที่ใช้ทักษะต่ำและงานในภาคเกษตรต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการระบุอัตลักษณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี  สตรีและเด็กจากไทย ลาว เวียดนามและพม่ารวมถึงบางรายที่เดิมมีความตั้งใจหางานในธุรกิจทางเพศในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์   การค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศซึ่งเดิมพบแต่ในสถานธุรกิจที่โจ่งแจ้งเริ่มมีลักษณะซ่อนเร้นมากขึ้น โดยจะพบเด็กที่ถูกแสวงประโยชน์ในธุรกิจทางเพศในสถานอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านส่วนบุคคล  เด็กที่ใช้บัตรประจำตัวปลอมถูกแสวงประโยชน์ในธุรกิจทางเพศในร้านคาราโอเกะและสถานอาบอบนวด  องค์การนอกภาครัฐภายในประเทศรายงานว่า มีการใช้สื่อสังคมในการแสวงหาสตรีและเด็กเพื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ  เหยื่อถูกขายเพื่อทำงานธุรกิจทางเพศในสถานที่ที่สนองต่ออุปสงค์ในพื้นที่และในสถานประกอบธุรกิจในกรุงเทพและเชียงใหม่ที่สนองอุปสงค์ด้านการค้าประเวณีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศและพม่าซึ่งจะถูกส่งไปค้าเพื่อทำงานธุรกิจทางเพศหรือเป็นแรงงานบังคับใช้ในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก   มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการลอบวางเพลิงหรือทำหน้าที่สอดแนม

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์  รายงานการค้ามนุษย์ปี พ.ศ. 2555 และ 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 ต่ออีกหนึ่งปีเนื่องจากรัฐบาลได้เสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์   กฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) กำหนดให้ประเทศได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับสูงสุดไม่เกินสองปีติดต่อกัน  ซึ่งประเทศไทยไม่มีสิทธิดังกล่าวแล้ว  ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงถูกพิจารณาว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ และจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 3

รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยรายงานว่า มีการพิพากษาผู้กระทำผิด 225 คนภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551  ความพยายามการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยรวมยังคงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาในประเทศไทยและการทุจริตในทุกระดับก็เป็นอุปสรรคต่อความพยายามดังกล่าว   แม้สื่อและองค์การนอกภาครัฐจะมีรายงานอยู่เนืองๆ ถึงการบังคับใช้แรงงานและพันธการหนี้ของแรงงานอพยพต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจของไทย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการประมง แต่รัฐบาลก็แสดงความพยายามน้อยมากในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ดังกล่าว  รัฐบาลทำงานล้มเหลวอย่างเป็นระบบทั้งในการสืบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาเจ้าของเรือประมงและไต้ก๋งที่บังคับใช้แรงงานจากแรงงานอพยพ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมเหล่านี้  รัฐบาลได้พิพากษานายหน้าจัดหาแรงงานเพียง 2 รายว่ากระทำผิดฐานอำนวยความสะดวกในการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง  รัฐบาลแสดงความพยายามไม่เพียงพอในการหาเหยื่อการค้ามนุษย์จากบรรดาแรงงานอพยพที่ยังคงมีความเสี่ยงถูกลงโทษฐานละเมิดกฎหมายเข้าเมือง  การขาดแคลนบริการล่ามอย่างมีนัยสำคัญในทุกหน่วยราชการทำให้รัฐบาลมีความสามารถจำกัดในการระบุตัวและคุ้มครองเหยื่อต่างชาติ และช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่ทางการสามารถระบุตัวได้ก็น้อยกว่าปีก่อนหน้า  ในปี 2556 สื่อรายงานว่า เจ้าหน้าที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมแสวงประโยชน์จากผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังคลาเทศ   กองทัพเรือไทยอ้างว่า รายงานเหล่านั้นเป็นเท็จและโต้ตอบด้วยการแจ้งความฐานหมิ่นประมาทกับผู้สื่อข่าวสองคนในไทยที่รายงานข่าวดังกล่าว  การยกเว้นการรับโทษจากการกระทำผิดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่มีอย่างแพร่หลายนั้นยังคงเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างถี่ถ้วนและทันทีในด้านการสอบสวนรายงานที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์และเพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฉ้อฉลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  ไทยควรเพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ รวมทั้งผู้ที่ทำให้เหยื่อต้องถูกบังคับใช้แรงงานในภาคธุรกิจการค้าและการส่งออกของไทย  ประเทศไทยควรพัฒนาและดำเนินงานขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์โดยให้ความสำคัญสูงกับสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งเพิ่มความพยายามพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มประชากรเสี่ยงโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ผู้ถูกเนรเทศและผู้อพยพ  ไทยควรเร่งการสอบสวนคดีอาญากรณีที่การสอบสวนการใช้แรงงานบ่งชี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งรวมถึงการที่นายจ้างหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับหนี้อย่างมีนัยสำคัญ หน่วงเหนี่ยวการจ่ายค่าจ้างและยึดเอกสารเดินทาง  ไทยควรยุติการดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักวิจัยหรือผู้สื่อข่าวที่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ และควรตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญขององค์การนอกภาครัฐและองค์การแรงงานในด้านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและขอบเขตของการค้ามนุษย์ในไทย  ตลอดจนพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของการเข้าใจและต่อต้านการค้ามนุษย์  ไทยควรอนุญาตให้เหยื่อการค้ามนุษย์ทุกคนที่มิใช่เยาวชนซึ่งรวมถึงเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีให้เดินทาง ทำงานและพำนักนอกเขตที่พักพิงได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย  ไทยควรเพิ่มบริการล่ามในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองแรงงานอพยพต่างชาติรวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจให้เหยื่อค้ามนุษย์ร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์  ไทยควรจัดตั้งแผนกศาลที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือกำหนดมาตรการอื่นที่จะเร่งกระบวนการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ รวมทั้งจัดให้มีบริการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้คดีของเด็กเหล่านั้นดำเนินการอย่างรวดเร็ว  ไทยควรกำหนดกระบวนการทางศาลที่ให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองพยาน จำกัดการให้ประกันตัวผู้ต้องหากระทำผิดด้านการค้ามนุษย์เพื่อป้องกันการหลบหนี และบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกฟ้องกลับในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์  สำหรับการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองผู้อพยพ  ไทยควรให้นักสังคมสงเคราะห์หรือองค์กรที่ให้บริการความช่วยเหลือแก่เหยื่อการค้ามนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยและการสัมภาษณ์ต้องดำเนินในสถานที่ที่ปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว  ไทยควรดำเนินการและอนุมัติการสมัครขอสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและจังหวัดอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายทางอื่นให้เหยื่อค้ามนุษย์นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก   ไทยควรเพิ่มความพยายามในการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดและดำเนินเพื่อประกันว่าเงินที่ได้ยึดมานั้นนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของเหยื่อโดยตรง  นอกจากนี้ ไทยควรเพิ่มการรณรงค์ส่งเสริมความตะหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่นายจ้างและผู้ใช้บริการธุรกิจทางเพศ ซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจด้านประเวณี  รวมทั้งพยายามลดอุปสงค์สำหรับแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์

การดำเนินคดี

รัฐบาลได้ทำการปรับปรุงระบบจัดเก็บข้อมูลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งทำให้การรายงานการดำเนินคดีและการพิพากษาลงโทษมีความถูกต้องยิ่งขึ้น   กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นความผิดทางอาญาและระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงพอควรและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่นการข่มขืน  รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 674 คดีในปี พ.ศ. 2556 โดยเพิ่มจากปี พ.ศ. 2555 ซึ่งทำการสอบสวน 306 คดี  มีการสืบสวนเพียง 80 กรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงานอพยพแม้จะมีรายงานว่า มีการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานเป็นจำนวนมากในประเทศไทย  รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการสอบสวนผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 483 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี 374 ราย ผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์เพื่อไปเป็นขอทาน 56 ราย และอีก 53 รายเป็นผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบอื่นๆ  รัฐบาลรายงานว่า ได้พิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์ 225 รายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นๆ   ผู้ที่ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี โดยมี 29 รายรับโทษจำคุกเกินเจ็ดปี และ 31 รายรายรับโทษจำคุกน้อยกว่าหนึ่งปี  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ยึดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดด้านการค้ามนุษย์สองคนโดยมีมูลค่าทรัพย์สินประมาณหนึ่งล้านหนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลไม่ได้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าของเรือ ไต้ก๋งหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่สมรู้ร่วมคิดฐานค้าแรงงานในอุตสาหกรรมการประมง  ด้วยความร่วมมือด้านการสืบสวนจากองค์การนอกภาครัฐ รัฐบาลดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนายหน้าจัดหาแรงงานชาวพม่าที่มีส่วนช่วยในการบังคับใช้แรงงานชายชาวพม่าในอุตสาหกรรมการประมง โดยรายหนึ่งถูกพิพากษาจำคุก 33 ปีและอีกรายถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน  ผู้สมรู้ร่วมคิดชาวไทยที่เป็นเจ้าของท่าเรือซึ่งกักขังเหยื่ออย่างน้อย 14 คนไม่ถูกดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใดในการมีส่วนร่วมกระทำมิชอบเหล่านี้ แต่ถูกพิพากษาจำคุก  3 เดือนฐานให้ที่พักพิงแก่คนงานที่ไม่มีเอกสาร ไม่มีรายงานจากรัฐบาลว่าได้ทำการสืบสวน ดำเนินคดีและพิพากษาเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลทั่วไปที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาต้องอยู่ในสภาพแรงงานบังคับใช้ในในอุตสาหกรรมการประมงของไทย

ไม่มีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีที่ศาลฎีกาพิจารณาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อ พ.ศ. 2552 และศาลอุทธรณ์ยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาสองคนมีความผิดฐานค้ามนุษย์จำนวน 73 คนเพื่อเป็นแรงงานบังคับใช้ในโรงงานแกะกุ้งแห่งหนึ่ง  ผู้กระทำผิดทั้งสองคนยังได้รับการประกันตัวเป็นอิสระอยู่ในช่วงเวลาการทำรายงานนี้เป็นปีที่สอง  รัฐบาลระบุความผิดกรณีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางานที่ผิดกฎหมายและการหน่วงเหนี่ยวค่าจ้างเป็นคดีแพ่งภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน แทนที่จะกำหนดให้เป็นคดีอาญาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

ในคดีหนึ่ง  รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการสืบสวนและลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 33 คนฐานต้องสงสัยว่าให้ความคุ้มครองแก่สถานบริการทางเพศแห่งหนึ่งที่มีเด็กซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ  อย่างไรก็ดี ปัญหาทุจริตที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ยังคงแพร่หลายในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทย  มีรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า เจ้าหน้าที่ฉ้อฉลให้ความคุ้มครองสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่นๆ และโรงงานอาหารต่างๆ จากการบุกเข้าค้นหรือการตรวจสอบ รวมทั้งสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ ใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อทำให้รูปคดีอ่อนลง ตลอดจนใช้บริการธุรกิจทางเพศกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ด้วย   เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางยังมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการให้ความคุ้มครองในพื้นที่ที่มีการค้ามนุษย์ที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกส่งไปประจำการด้วย  มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยขู่กรรโชกเรียกเงินหรือเพศสัมพันธ์กับชาวพม่าที่ถูกกักตัวอยู่ในไทยในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง และขายชาวพม่าที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าหัวคิวให้แก่นายหน้าจัดหาแรงงานและนักค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณี   แม้รัฐบาลรายงานว่า ได้ดำเนินการสืบสวนข้าราชการทหารที่สมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์โดยแสวงประโยชน์จากผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา แต่ผู้สังเกตการณ์อ้างว่า รัฐบาลไม่ได้ทำการสอบสวนอย่างถ้วนถี่  ในเดือนธันวาคม 2556 กองทัพเรือฟ้องร้องผู้สื่อข่าวสองรายของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาทเนื่องจากได้ตีพิมพ์รายงานที่กล่าวหาว่า ข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารสังกัดกองทัพเรือมีส่วนพัวพันในการค้ามนุษย์

รัฐบาลยังคงให้การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่เจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์และบทบัญญัติในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีรายงานว่าได้ดำเนินการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนคดีจำนวนมาก  ในกรณีหนึ่ง รัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของพม่าให้มา ทำให้สามารถช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวพม่าได้ 10 คนที่ถูกบังคับใช้แรงงานในโรงงานอาหารในไทยและจับกุมผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 7 คน  ในอีกคดีหนึ่ง รัฐบาลได้ดำเนินการตามคำร้องขอองค์กรประชาสังคมโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้ามนุษย์ของประเทศแอฟริกาใต้ในการช่วยเหลือสตรีไทยที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและจับกุมผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 3 คน  ปัญหาการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับอัยการทำให้การดำเนินคดีไม่มีประสิทธิผลมากเท่าที่ควร   การประสานงานระหว่างหน่วยงานไม่มีประสิทธิผลเนื่องจากระบบจัดเก็บข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้การแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานมีอุปสรรค  ผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องกลับหรือถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทหากคดีถูกยกฟ้อง จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากติดตามคดีที่ยากๆ  โดยรวมแล้ว ระบบตุลาการรวดเร็วขึ้นในการดูแลคดีอาญาแม้ว่าคดีการค้ามนุษย์บางคดียังคงใช้เวลาสามปีหรือกว่านั้นกว่าจะแล้วเสร็จ  นอกจากนี้ การผลัดเปลี่ยนบุคลากรบ่อยก็เป็นอุปสรรคต่อความพยายามดำเนินการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล และผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมายบางคนหนีออกนอกประเทศหรือข่มขู่เหยื่อหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์มีจำนวนต่ำมากขึ้น

การคุ้มครอง

ความพยายามของรัฐบาลในการคัดแยกและคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ยังคงไม่เพียงพอ  รัฐบาลให้การบริการแก่เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวน 744 คน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่าได้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจำนวน 681 คนที่สถานพักพิงของรัฐบาล (เพิ่มขึ้นจาก 526 คนเมื่อปี พ.ศ. 2555) โดยเป็นบุคคลสัญชาติไทย 305 คน (เปรียบเทียบกับ 166 คนเมื่อปี พ.ศ. 2555) ชาวต่างชาติ 373 คน (เปรียบเทียบกับ 360 คนเมื่อปี พ.ศ. 2555) และบุคคลไม่ทราบสัญชาติอีกสามคน  นอกจากนี้ รัฐบาลยังระบุตัวบุคคลสัญชาติไทยเพิ่มเติมอีก 63 คนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีในต่างประเทศ และนำตัวเหยื่อเหล่านี้มาผ่านขั้นตอนที่ศูนย์ของทางการเมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ ก่อนส่งตัวกลับภูมิลำเนา  ในช่วงปี พ.ศ.2556 รัฐบาลระบุตัวเหยื่อบังคับใช้แรงงานชาวต่างชาติรวม 219 คน ซึ่งลดลงจาก 254 คนใน พ.ศ. 2555  รัฐบาลไทยยังคงส่งตัวเหยื่อไปยังหนึ่งในเก้าสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรับบริการการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำกัด และการดูแลทางการแพทย์  บางส่วนมีบริการล่ามภาษาพม่า เขมร จีน และภาษาชนกลุ่มน้อยบางภาษา  เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกระบุว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในมาเลเซียและแอฟริกาใต้และส่งตัวเหยื่อกลับประเทศ  มีรายงานว่า เจ้าหน้าบางคนของสถานทูตไทยในต่างประเทศแห่งหนึ่งอาจไม่เต็มใจสนองตอบต่อคำร้องขอให้ช่วยเหลือเหยื่อชาวไทยในประเทศนั้นๆ

รัฐบาลตอบสนองต่อข้อมูลจากองค์การนอกภาครัฐและรัฐบาลต่างชาติในการคัดแยกและช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์  รัฐบาลรายงานการใช้กระบวนการที่เป็นระบบในการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์จากประชากรกลุ่มเสี่ยงและติดใบปิดประกาศที่อธิบายสิทธิของเหยื่อในสถานกักกันสำหรับรอส่งกลับประเทศโดยมุ่งหวังสนับสนุนให้เหยื่อกล้าแสดงว่าตนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม ความพยายามเชิงรุกของรัฐบาลในการระบุหาเหยื่อค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยงยังคงไม่เพียงพอ  องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า รัฐบาลจัดหาบริการล่ามหรือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับขั้นตอนคัดแยกเหยื่ออย่างไม่เพียงพอ ทำให้ความพยายามเหล่านี้ถูกจำกัดประสิทธิภาพอย่างมาก ในช่วงปีของการรายงาน รัฐบาลจัดฝึกอบรมล่ามใหม่จำนวน 95 คน  รัฐบาลรายงานว่าได้มอบหมายให้คณะทำงานร่วมหลายสาขาเข้าสัมภาษณ์ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาและผู้อพยพชาวบังกลาเทศรวม 2,985 คนที่พบระหว่างเข้าตรวจค้นค่ายหลายแห่งทางภาคใต้ของไทยเพื่อคัดกรองหาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์  ถึงแม้ว่าตลอดทั้งปีจะมีรายงานจากสื่อและองค์การนอกภาครัฐว่า ประชากรกลุ่มดังกล่าวบางคนถูกบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ระบุว่าชาวโรฮิงญาคนใดเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า เหยื่อชาวโรฮิงญาอาจลังเลที่จะแสดงตัวว่าตนคือเหยื่อการค้ามนุษย์เพราะกลัวถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง  กฎหมายของไทยไม่ได้เสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายทางอื่นนอกเหนือจากการถูกส่งตัวกลับสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ซึ่งอาจต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือชีวิตที่ยากลำบากในประเทศเดิมของตน

เหยื่อหลายคน โดยเฉพาะผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารที่เกรงกลัวผลทางกฎหมายจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ ลังเลที่จะแสดงตัวว่าตนคือเหยื่อการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหน้ายังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอให้สามารถระบุปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการค้ามนุษย์ในกรณีที่เหยื่อไม่ระบุว่าตนตกเป็นเหยื่อ  เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนมักเชื่อว่าการกักกันทางกายภาพหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวคือปัจจัยสำคัญที่จะยืนยันการค้ามนุษย์ โดยไม่ได้ตระหนักว่าการแสวงประโยชน์จากหนี้และความกลัวถูกส่งตัวกลับประเทศของแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็จัดเป็นรูปแบบการบังคับขู่เข็ญนอกเหนือจากทางกายภาพที่ใช้ในการค้ามนุษย์เช่นกัน  ในบางจังหวัด รัฐบาลมอบหมายให้คณะนักสังคมสงเคราะห์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายปฏิบัติการคัดแยกและช่วยเหลือเหยื่อ แต่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้นที่มีอำนาจชี้ชัดรับรองว่าบุคคลใดเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  บางครั้งนักสังคมสงเคราะห์ไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธไม่รับรองบุคคลว่าเป็นเหยื่อในหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับพันธนาการหนี้

รัฐบาลอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานซึ่งมีอายุ 6 เดือน (ต่ออายุได้ตามระยะเวลาที่คดีความยังดำเนินอยู่) แก่เหยื่อชาวต่างชาติจำนวน 128 คนให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ชั่วคราวระหว่างช่วงเวลาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 107 คนใน พ.ศ. 2555  หญิงชาวต่างชาติที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ 17 คนได้รับใบอนุญาตทำงาน  ในขณะที่บางคนไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานเนื่องจากทางการประเมินว่าอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  โดยปกติแล้ว เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิงและไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องพักอาศัยในสถานพักพิงของรัฐบาลและไม่สามารถออกจากสถานพักพิงได้โดยไม่มีผู้ติดตามจนกว่าทางการไทยจะพร้อมส่งตัวกลับประเทศต้นทาง  มีรายงานว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ ได้รับเฉพาะสำเนาเอกสารประจำตัวและสำเนาใบอนุญาตทำงานเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเก็บผู้เอกสารฉบับจริงไว้  รัฐบาลเบิกจ่ายเงินประมาณ 145,000 เหรียญสหรัฐจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล ซึ่งได้จัดสรรไปยังเหยื่อ 525 คน รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งเหยื่อชาวต่างชาติ 335 คนกลับประเทศ  เหยื่อการค้ามนุษย์จำนวน 75 คนได้รับประโยชน์จากโครงการชดเชยค่าเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรมของรัฐบาล ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินประมาณ 65,000 เหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2556  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มีข้อกำหนดว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่เหยื่อ  รัฐบาลยื่นฟ้องร้องในนามของเหยื่อจำนวน 68 คน และเรียกร้องค่าเสียหายรวมเทียบเท่าประมาณ 580,000 เหรียญสหรัฐ  ทว่ายังไม่มีการพิพากษาตัดสินอนุญาตให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่ามากกว่าสามในสี่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ได้รับการระบุตัวจะเป็นเด็ก รัฐบาลก็ไม่ได้จัดหาบริการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้าบริการทางเพศแต่อย่างใด  การดำเนินคดีในบางคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อยังคงใช้เวลาถึงสองปีหรือนานกว่า  เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการรับรองความปลอดภัยของพยานเสมอไป  ในบางครั้ง เหยื่อซึ่งรวมถึงเหยื่อที่เป็นเด็กถูกบังคับให้ให้การต่อหน้าผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิด และบางคนถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเช่น ที่อยู่ ต่อสาธารณะ ส่งผลให้เหยื่อหลายคนเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกแก้แค้น  รัฐบาลไม่ได้เสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายอื่นๆ แก่เหยื่อที่เผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือชีวิตที่ยากลำบากเมื่อกลับประเทศบ้านเกิด  เหยื่อชาวต่างชาติถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นระบบหากไม่ยินยอมให้การหรือเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินคดีตามกฎหมาย  องค์การนอกภาครัฐรายงานถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเด็กชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์โดยครอบครัวมีส่วนสมรู้ร่วมคิดหรือเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้  ผู้สังเกตการณ์ท้องถิ่นในกัมพูชารายงานว่า ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งที่ทางการไทยระบุตัวว่าเป็นเหยื่อหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ยังคงถูกกักตัวในอยู่ศูนย์กักกันของไทยเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนถูกส่งตัวกลับประเทศ  มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2548 กำหนดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติอาจได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรเป็นกรณีไป  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่ได้รายงานว่าได้ให้สถานะผู้พักอาศัยถาวรแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติหรือบุคคลไร้สัญชาติคนใด  กฎหมายไทยคุ้มครองเหยื่อจากการดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดแยกเหยื่อของรัฐบาลไทยมีข้อบกพร่องร้ายแรง  อีกทั้งความพยายามเชิงรุกของทางการในการจับกุมและส่งตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศทำให้เหยื่อเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกและถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชญากร  กระบวนการคัดแยกเหยื่อที่ไม่เพียงพออาจส่งผลให้เหยื่อบางคนถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหลังจากที่ตำรวจเข้าตรวจค้นสถานที่ค้าประเวณี  เป็นไปได้ว่ามีเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งไม่ได้รับการคัดแยกออกไปและรวมอยู่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 190,144 คนที่อาจถูกทางการดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะขาดเอกสารในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงอาจอยู่ในกลุ่มชายชาวโรฮิงญาที่ถูกกักกันตัวในสถานกักกันซึ่งบางครั้งก็แออัดเกินไป

การป้องกัน

รัฐบาลยังคงดำเนินความพยายามป้องกันการค้ามนุษย์  ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2543  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณราว 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดำเนินความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งยังจัดโครงการรณรงค์ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา และเอกสารแจกจ่าย เพื่อสร้างความตระหนักของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับอันตรายของการค้ามนุษย์  สื่อรายงานว่า รัฐบาลได้ลงทุนในกลยุทธ์การสื่อสารไปมากกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์สาธารณะของความพยายามของทางการในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์  การนำกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาททางอาญามาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลที่ค้นคว้าหรือรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อาจส่งผลขัดขวางความพยายามต่อสู้กับการค้ามนุษย์  ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติสี่คนแสดงความกังวลต่อกรณีการดำเนินคดีกับนักสิทธิแรงงานต่างด้าวและนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้ามนุษย์คนหนึ่งเพื่อตอบโต้งานค้นคว้าของเขาที่บันทึกการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ในโรงงานแปรรูปอาหารแห่งหนึ่งในประเทศไทย  กรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีและอาจมีผลในการปิดปากนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ อีกทั้งทางการไม่ได้สนองตอบอย่างเพียงพอต่อข้อกล่าวหาที่ระบุไว้ในรายงานต้นเรื่อง  องค์การนอกภาครัฐแสดงความกังวลในลักษณะเดียวกันต่อกรณีที่กองทัพเรือไทยยื่นฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาต่อผู้สื่อข่าวสองคนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 จากการที่ทั้งสองได้ตีพิมพ์ข้อความบางส่วนจากรายงานของสื่ออื่นที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทยมีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์

กระบวนการที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีค่าธรรมเนียมสูง อีกทั้งนายหน้าจัดหางานบางรายไม่มีใบอนุญาตและไม่มีการกำกับดูแลที่ดีจากทางการ จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และติดอยู่ในพันธนาการหนี้  รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการดังกล่าวหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อวางระเบียบบริษัทจัดหาแรงงานเข้าประเทศและอัตราค่าธรรมเนียม  รัฐบาลละเว้นที่จะดำเนินการและอนุมัติคำร้องขอสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงล้มเหลวในการดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงที่กลุ่มชนชาวเขาในประเทศไทยจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  คำร้องเหล่านี้บางฉบับคั่งค้างอยู่นานถึงสี่ปี  ผลการตรวจสอบแรงงานโดยรัฐบาลในสถานประกอบการ 40,963 แห่ง ตรวจไม่พบกรณีใดที่ต้องสงสัยว่ามีการค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงาน  ตำรวจน้ำและกองทัพเรือไทยไม่พบกรณีต้องสงสัยว่ามีการค้ามนุษย์จากการตรวจสอบผู้ครอบครองเรือและการขึ้นทะเบียนเรือจำนวน 10,427 ลำ  รัฐบาลเปิดศูนย์ประสานงานแรงงานเจ็ดแห่งซึ่งดำเนินงานโดยกระทรวงแรงงาน เพื่อเพิ่มจำนวนการขึ้นทะเบียนแรงงาน รับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และจัดตั้งศูนย์กลางการจัดหางานสำหรับผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นแรงงาน  ชาวประมงมากกว่า 10,400 คนได้รับการขึ้นทะเบียนกับนายจ้าง 395 รายผ่านศูนย์ประสานงานแรงงานดังกล่าว  ถึงแม้รัฐบาลจะทราบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่วนใหญ่เกิดจากการที่แรงงานบางคนไม่เต็มใจทำงานในอุตสาหกรรมประมงเพราะมีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้พยายามปรับปรุงสภาพเหล่านั้นให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  รัฐบาลไม่ได้ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแรงงานที่สามารถช่วยเพิ่มการคุ้มครองแรงงานในเรือประมง  การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด แหล่งทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่ไม่เพียงพอ และความร่วมมือที่ขาดความต่อเนื่องในหมู่หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบในอุตสาหกรรมประมง มีส่วนส่งเสริมให้ผู้ที่แสวงประโยชน์จากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้มักรอดพ้นจากการถูกลงโทษ  ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 รัฐบาลผ่านกฎกระทรวงที่กำหนดให้นายจ้างหักเงินซึ่งขอคืนได้จากเงินค่าจ้างของแรงงานเพื่อส่งเข้า “กองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร”  การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเช่นนี้ ตลอดจนการประกาศใช้ข้อกำหนดทางราชการเพิ่มเติมกับแรงงานต่างด้าวอาจยิ่งเพิ่มภาระหนี้ของแรงงานเหล่านี้  กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ขึ้นใน 10 จังหวัด สำหรับให้ข้อมูลและบริการแรงงานไทยที่มองหางานในต่างประเทศ  ทว่ากรมการจัดหางานยังคงไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมจัดการกับค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปที่แรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายเพื่อให้ได้งาน จนเสี่ยงต่อการติดอยู่ในพันธนาการหนี้

ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงานสองแห่ง ระงับใบอนุญาตประกอบการของบริษัทจัดหาแรงงานสี่แห่ง พร้อมทั้งยื่นฟ้องคดีอาญากับบริษัทเก้าแห่ง (ในจำนวนนี้มีสี่แห่งได้รับโทษปรับ) รวมถึงนายหน้าผิดกฎหมายอีก 155 รายที่ส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ  รัฐบาลดำเนินความพยายามป้องกันการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก โดยได้ปฏิเสธการเข้าประเทศของบุคคลชาวต่างชาติที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศจำนวน 79 คน และจัดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวถึงบทลงโทษที่เข้มงวดของการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์  นอกจากนี้ รัฐบาลยังพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศเด็ก โดยได้ฝึกอบรมผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ความเสี่ยงสูงให้สามารถระบุและรายงานกรณีดังกล่าวแก่ตำรวจ  รัฐบาลไม่ได้ดำเนินความพยายามอื่นใดเพื่อลดความต้องการซื้อขายบริการทางเพศหรือบังคับใช้แรงงาน  รัฐบาลไม่ได้จัดฝึกอบรมการต่อต้านและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้แก่กองกำลังความมั่นคงของไทยก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในต่างแดน แต่ได้มีการสรุปชี้แจงเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แก่นักการทูตก่อนออกเดินทางไปประจำต่างประเทศ

_________________________

* ปรับลดระดับโดยอัตโนมัติจากกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง

— รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศจะมีคำแนะนำสำหรับรัฐบาลให้นำไปพิจารณาดำเนินการในปีต่อไป  นอกเหนือจากคำแนะนำสำหรับประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังเสนอแผนการปฏิบัติสั้นๆ ซึ่งมีพื้นฐานจากคำแนะนำเหล่านั้น  ทั้งแผนการปฏิบัติและคำแนะนำมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางแก่ประเทศต่างๆ  เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย  Trafficking Victims Protection Act  มาตรฐานเหล่านี้โดยรวมสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดในพิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ซึ่งเป็นเอกสารแนบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime  หรือ “Palermo Protocol”)

แผนการปฏิบัติสำหรับประเทศไทย

คำแนะนำสำหรับเป้าหมายและวัตถุประสงค์จำเพาะเพื่อส่งเสริมความพยายามการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยสำหรับปีหน้า

  1. ไทยควรดำเนินการอย่างถี่ถ้วนและทันทีในด้านการสอบสวนรายงานที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์และเพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฉ้อฉลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
  2. ไทยควรเพิ่มความพยายามในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ รวมทั้งผู้ที่ทำให้เหยื่อต้องถูกบังคับใช้แรงงานในภาคธุรกิจการค้าและการส่งออกของไทย
  3. ไทยควรพัฒนาและดำเนินงานขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์โดยให้ความสำคัญสูงกับสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
  4. ไทยควรเพิ่มความพยายามพิสูจน์อัตลักษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มประชากรเสี่ยงโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ผู้ถูกเนรเทศและผู้อพยพ
  5. ไทยควรเร่งการสอบสวนคดีอาญากรณีที่การสอบสวนการใช้แรงงานบ่งชี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งรวมถึงการที่นายจ้างหรือนายหน้าจัดหาแรงงานบังคับหนี้อย่างมีนัยสำคัญ หน่วงเหนี่ยวการจ่ายค่าจ้างและยึดเอกสารเดินทาง
  6. ไทยควรยุติการดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักวิจัยหรือผู้สื่อข่าวที่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์
  7. ไทยควรตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญขององค์การนอกภาครัฐและองค์การแรงงานในด้านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและขอบเขตของการค้ามนุษย์ในไทย  ตลอดจนพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของการเข้าใจและต่อต้านการค้ามนุษย์
  8. ไทยควรอนุญาตให้เหยื่อการค้ามนุษย์ทุกคนที่มิใช่เยาวชนซึ่งรวมถึงเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีให้เดินทาง ทำงานและพำนักนอกเขตที่พักพิงได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย
  9. ไทยควรเพิ่มบริการล่ามในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองแรงงานอพยพต่างชาติ
  10. ไทยควรเพิ่มแรงจูงใจให้เหยื่อค้ามนุษย์ร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์
  11. ไทยควรพิจารณาจัดตั้งแผนกศาลที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือกำหนดมาตรการอื่นที่จะเร่งกระบวนการดำเนินคดีการค้ามนุษย์
  12. ไทยควรจัดให้มีบริการเฉพาะทางสำหรับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้คดีของเด็กเหล่านั้นดำเนินการอย่างรวดเร็ว
  13. ไทยควรกำหนดกระบวนการทางศาลที่ให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองพยาน
  14. ไทยควรจำกัดการให้ประกันตัวผู้ต้องหากระทำผิดด้านการค้ามนุษย์เพื่อป้องกันการหลบหนี
  15. ไทยควรบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกฟ้องกลับในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์
  16. สำหรับการสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองผู้อพยพนั้น ไทยควรให้นักสังคมสงเคราะห์หรือองค์กรที่ให้บริการความช่วยเหลือแก่เหยื่อการค้ามนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมด้วยและการสัมภาษณ์ต้องดำเนินในสถานที่ที่ปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว
  17. ไทยควรดำเนินการและอนุมัติการสมัครขอสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและจังหวัดอย่างรวดเร็ว
  18. ไทยควรเสนอทางเลือกที่ถูกกฎหมายทางอื่นให้เหยื่อค้ามนุษย์นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก
  19. ไทยควรเพิ่มความพยายามในการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดและดำเนินเพื่อประกันว่าเงินที่ได้ยึดมานั้นนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของเหยื่อโดยตรง
  20. ไทยควรเพิ่มการรณรงค์ส่งเสริมความตะหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่นายจ้างและผู้ใช้บริการธุรกิจทางเพศ ซึ่งรวมถึง นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจด้านประเวณี
  21. ไทยควรพยายามลดอุปสงค์สำหรับแรงงานที่ถูกแสวงประโยชน์
  22. หากไทยยังไม่ได้ดำเนินการ ไทยควรดำเนินมาตรการที่จะประกันว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่ส่งไปราชการต่างประเทศในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการทูตจะไม่ใช้แรงงานตามบ้านหรือแรงงานในรูปแบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์  มาตรการเหล่านี้ได้แก่ การอบรม การประกาศแนวทางปฏิบัติ การเพิ่มความตระหนักรู้ หรือกฎระเบียบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่ทางการทูตจะไม่กระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

— เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ณ กระทรวงการต่างประเทศ  สหรัฐฯ ได้ส่งสำเนารายงานเกี่ยวกับประเทศไทยมาล่วงหน้า  กรุณาปกปิดข้อมูลนี้ไว้จนถึงเวลา 9.00 น. ของวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ตามเวลากรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

— ภายใต้กฎหมาย Trafficking Victims Protection ปีพ.ศ. 2543 รัฐสภากำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งรายงานประจำปีแก่รัฐสภา  จุดประสงค์ของรายงานฉบับนี้คือ กระตุ้นการดำเนินการและเสริมสร้างความร่วมมือทั่วโลกในการต่อสู้กับระบบทาสยุคใหม่  แนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นไปตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection และมาตรฐานที่กำหนดในพิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ซึ่งเป็นเอกสารแนบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime)  หรือ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “Palermo Protocol”  ตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection และ “Palermo Protocol”  อาชญากรรมว่าด้วยการค้ามนุษย์นั้นหมายถึงการหามาและการคงไว้ซึ่งแรงงานหรือบริการของเหยื่อการค้ามนุษย์ (ซึ่งรวมถึงบริการในธุรกิจการค้าประเวณี) ผ่านการบังคับ หลอกลวง หรือขู่เข็ญ ไม่ว่าจะกระทำอย่างเปิดเผยหรือใช้กลวิธีทางจิตวิทยา  ทั้งกฎหมาย Trafficking Victims Protection และ “Palermo Protocol” เน้นการแสวงประโยชน์กับเหยื่อการค้ามนุษย์ และไม่ได้กำหนดว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ต้องถูกเคลื่อนย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งจึงจะเรียกว่าเป็นการค้ามนุษย์

— ประเทศที่ถูกระบุว่าเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทางสำหรับการค้าเหยื่ออย่างน้อยสองรายในรูปแบบการค้าที่รุนแรงจะถูกรวมไว้ในรายงานฉบับนี้และจะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในหนึ่งในสี่อันดับ  ประเทศที่ได้รับการประเมินว่าดำเนินการตาม “มาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่รุนแรง” ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย  Trafficking Victims Protection ได้อย่างเต็มที่จะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 1  ประเทศที่ถูกประเมินว่าดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดได้ไม่เต็มที่แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดเหล่านั้นจะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2   ประเทศที่ถูกประเมินว่าไม่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดและไม่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดเหล่านั้นจะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 3   มาตรฐานขั้นต่ำสุดตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย  Trafficking Victims Protection สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดในพิธีสารว่าด้วยการค้ามนุษย์ของสหประชาชาติ

— นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองประกอบด้วยประเทศกลุ่มที่ 2 (ที่ดำเนินการพยายามอย่างมีนัยสำคัญ แต่) ที่ (1) ไม่สามารถเสนอหลักฐานว่าได้เพิ่มความพยายามเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา  ซึ่งรวมถึง การสืบสวน การดำเนินคดีและการพิพากษาโทษคดีการค้ามนุษย์ รวมทั้งการเพิ่มความช่วยเหลือให้แก่เหยื่อการค้ามนุษย์ และมีหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์รูปแบบที่รุนแรงมีจำนวนลดลง (2) การจัดประเทศกลุ่มที่ 2 พิจารณาจากความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการปราบปรามการค้ามนุษย์ในช่วงการทำรายงานครั้งต่อไป หรือ (3) จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ลดลงอย่างมาก

— กฎหมาย Trafficking Victims Protection มีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2551ซึ่งสะท้อนข้อกังวลของรัฐสภาเกี่ยวกับประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามอง ติดต่อกันหลายปี โดยบทบัญญัตินี้กำหนดว่า ประเทศใดที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองสองปีติดต่อกัน (เริ่มตั้งแต่รายงานประจำปี พ.ศ. 2552) จะถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 3 ในปีที่ 3 หากประเทศเหล่านั้นไม่ได้ (1) แสดงความคืบหน้ามากเพียงพอในช่วง 9 เดือนต่อมาอันจะทำให้ประเทศได้รับเลื่อนให้ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 1 หรือ (2) มีสิทธิที่จะได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติการลดลำดับโดยอัตโนมัติ   ประเทศต้องอยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองสองปีติดต่อกันที่จะได้รับสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว  ประเทศจะไม่ได้รับสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวหากประเทศถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองในปีที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 ในปีที่ 2 และกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองในปีที่ 3  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโดยได้รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดีอาจให้การยกเว้นการถูกลดลำดับเป็นกลุ่มที่ 3 ตามที่กฎหมายกำหนดให้แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งสองปีติดต่อกันตามดุลยพินิจว่าการยกเว้นมีเหตุผลอันสมควรเนื่องจากประเทศนั้นๆ มีแผนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งหากนำไปดำเนินการแล้วจะมีผลอย่างเป็นนัยสำคัญที่ทำให้ความพยายามนั้นเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย  Trafficking Victims Protection และประเทศนั้นๆ จัดทรัพยากรอย่างพอเพียงในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว  หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยกเว้นการถูกลดลำดับอัตโนมัติให้แก่ประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ถูกจับตามองสองปีติดต่อกันตามเกณฑ์ข้างต้นและประเทศนั้นๆ ยังมิได้ดำเนินการปรับปรุงใดๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวอันสมควรแก่การพิจารณาให้ออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง  กฎหมายกำหนดว่าประเทศนั้นๆ จะไม่มีสิทธิได้รับการยกเว้นเป็นปีที่ 3 และประเทศนั้นๆ จะถูกลดลำดับมาอยู่ในกลุ่มที่ 3  จากนั้น จะมีการดำเนินการตามกระบวนการเพื่อระบุว่า ข้อกำหนดต่างๆ สำหรับประเทศกลุ่มที่ 3 จะได้รับการละเว้นหรือไม่  เชิญอ่านกฎหมาย  Trafficking Victims Protection และบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมได้ที่http://www.gpo.gov/fdsys/pkg/BILLS-113s47enr/pdf/BILLS-113s47enr.pdf.

— กฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศส่งบัญชีรายชื่อแก่สภาคองเกรสภายในปีเดียวกัน ซึ่งระบุประเทศที่ ก) ปรับอันดับขึ้นเต็มอันดับจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับก่อนหน้า (จากบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ 2 หรือจากกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ 1) หรือ ข) ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง  ความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศในบัญชีรายชื่อดังกล่าวจะได้รับการประเมินโดยสังเขปอีกครั้งในการประเมินระหว่างกาล (Interim Assessment) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องเสนอต่อสภาคองเกรสภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี

— ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 3 อาจตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับปีงบประมาณถัดไปว่าด้วยความช่วยเหลือต่างประเทศที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและไม่เกี่ยวข้องกับการค้า และในบางกรณีอาจถูกระงับการให้ทุนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมสำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ  นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสามารถออกคำสั่งให้กรรมการบริหารที่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ประจำสถาบันการเงินระหว่างประเทศออกเสียงหรือใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการปฏิเสธการกู้ยืมหรือการใช้เงินทุนอื่นๆ (นอกเหนือจากเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า หรือความช่วยเหลือด้านการพัฒนาบางประเภท) แก่ประเทศในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 3  การตัดสินของประธานาธิบดีว่าด้วยการจำกัดความช่วยเหลือหรือการยกเว้นเหล่านี้จะต้องส่งไปยังสภาคองเกรสภายในไม่เกิน 90 วันหลังการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์

— กฎหมาย Child Soldier Prevention Act (CSPA) 2008 (Title IV of Public Law 110457) กำหนดให้ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีมีการตีพิมพ์บัญชีรายชื่อประเทศที่มีการเกณฑ์หรือใช้ทหารเด็ก (ตามที่นิยามไว้ในกฎหมายดังกล่าว) โดยกองกำลังของรัฐบาลหรือกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนโดยรัฐบาล  กฎหมาย Child Soldier Prevention Act ให้คำนิยาม “ทหารเด็ก” ว่าหมายรวมถึงบุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีส่วนร่วมโดยตรงในความเป็นศัตรูในฐานะสมาชิกกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาล บุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกบังคับเกณฑ์เข้ากองกำลังติดอาวุธของรัฐบาล และบุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีที่สมัครใจรับการเกณฑ์เข้ากองกำลังเหล่านี้  อีกทั้งระบุว่า “ทหารเด็ก” ยังหมายรวมถึงบุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกเกณฑ์หรือใช้ในความเป็นศัตรูโดยกองกำลังติดอาวุธที่แยกชัดเจนจากกองกำลังของรัฐ  ทหารเด็กรวมถึงเด็กที่ให้บริการด้วยความสามารถใดๆ ซึ่งรวมถึงบทบาทสนับสนุน เช่น คนปรุงอาหาร คนยกของ ผู้ส่งสาร เจ้าหน้าที่แพทย์ ยาม หรือทาสทางเพศ

— ในปีงบประมาณหลังการจัดทำบัญชีรายชื่อตามกฎหมาย Child Soldier Prevention Act (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557) รัฐบาลของประเทศในบัญชีรายชื่อที่ระบุว่ามีการใช้ทหารเด็กโดยรัฐบาลหรือกลุ่มที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจะอยู่ภายใต้การบังคับ (sanction) ว่าด้วยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงต่างๆ และการอนุญาตทางการค้าสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ทางทหาร  อีกทั้งไม่ได้รับพิจารณาให้รับการผ่อนผันยกเว้นโดยประธานาธิบดี (Presidential national interest waiver) หรือการยกเว้นที่นำมาใช้ได้ หรือการฟื้นคืนความช่วยเหลือตามกฎหมาย Child Soldier Prevention Act  ประเทศที่ถูกขึ้นรายชื่อตามกฎหมาย Child Soldier Prevention Act ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีพ.ศ. 2557 มีเก้าประเทศ ได้แก่ พม่า สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวันดา โซมาเลีย เซาท์ซูดาน ซูดาน ซีเรีย และเยเมน

— หัวข้อของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีนี้คือ “The Journey from Victim to Survivor” (“การเดินทางจากเหยื่อสู่ผู้อยู่รอด”) แม้แต่ระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพที่สุดและความพยายามที่สร้างสรรค์ที่สุดเพื่อป้องกันการถูกค้าซ้ำอีกในอนาคตก็ไม่อาจผันกลับการกระทำมิชอบและความบอบช้ำที่เหยื่อต้องทนเผชิญ  การสนับสนุนและการบริการที่เหมาะสมช่วยให้เหยื่อก้าวข้ามความทุกข์ทรมานและดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าได้  โครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมช่วยให้พวกเขาได้เห็นความยุติธรรม  โอกาสที่เหมาะสมช่วยให้พวกเขาเลือกชีวิตอย่างที่ตนต้องการและกระทั่งช่วยนำทางและส่งเสริมความพยายามในการต่อสู้กับอาชญากรรมนี้ต่อไปในอนาคต  กระบวนการเช่นนี้แตกต่างกันไปตามเหยื่อแต่ละคน และแต่ละคนต้องดำเนินการโดยอยู่บนพื้นฐานสภาวะแวดล้อมของตนเอง

— รัฐบาลสามารถดำเนินบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยกระบวนการนี้  แม้สถาบันรัฐบาลจะไม่อาจผันกลับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำมิชอบภายใต้สถานการณ์ทาสยุคใหม่ แต่รัฐบาลก็สามารถช่วยเหลือการฟื้นฟูตัวบุคคลได้โดยให้การสนับสนุนแก่เหยื่อแต่ละคนในการเดินทางสู่การเป็นผู้อยู่รอดของเขาหรือเธอ

— ด้วยเจตนารมณ์ของความโปร่งใสและด้วยเป้าหมายในการส่งเสริมความพยายามภายในประเทศและความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ได้บรรจุอันดับบัญชีรายชื่อและคำบรรยายว่าด้วยความก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกาในการจัดการกับการค้ามนุษย์เอาไว้ด้วย ซึ่งได้บรรจุไว้ในรายงานติดต่อกันเป็นปีที่ห้า โดยสหรัฐอเมริกาได้รับการประเมินภายใต้มาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นๆ