จัดทำโดยสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน
รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2557
ประเทศไทย
รายงานสรุป
ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระบารมีของพระองค์ตามที่ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันมา ในเหตุการณ์รัฐประหารโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้นำฝ่ายทหารและตำรวจภายใต้ชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการนำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นหัวหน้าพรรคเข้ามามีอำนาจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปมองว่าเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำกับดูแลฝ่ายรักษาความมั่นคงอย่างมีประสิทธิผล
ผู้นำรัฐประหารประกาศให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง (ยกเว้นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) ยุติบทบาทรัฐสภาชั่วคราว ประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไป ซึ่งกฎอัยการศึกประกาศใช้เมื่อ 20 พฤษภาคม สองวันก่อนหน้าวันรัฐประหาร รวมถึงออกพระราชกฎษฎีกาจำนวนมากที่จำกัดสิทธิพลเมือง อันรวมถึงเสรีภาพทางการพูด เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพของสื่อ คสช.เรียกตัวและควบคุมตัวโดยไม่ตั้งข้อหาต่อผู้นำทางการเมือง นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และอื่นๆ กว่า 900 คน โดยหลายรายถูกควบคุมตัวถึงเจ็ดวัน คสช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมและแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม โดยสภาฯ มีมติเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม
นอกจากการจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากรัฐประหารและดำเนินการโดย คสช. แล้ว ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เรื้อรังมากที่สุดคือการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายความมั่นคงของทางการและอาสาสมัครป้องกันชาติในบริบทของการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางครั้งการใช้กำลังเกินเหตุของฝ่ายความมั่นคง อันรวมถึงการที่เจ้าพนักงานตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรม ทรมาน และทารุณผู้ต้องสงสัยทางอาญา ผู้ถูกคุมขังและนักโทษ หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลผ่านสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ปัญหาสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้แก่ การจับกุมและกักกันตามอำเภอใจเป็นบางครั้ง สภาพเรือนจำและสถานกักกันที่แออัดและไม่ถูกหลักสุขอนามัย การให้ความคุ้มครองอย่างไม่เพียงพอแก่กลุ่มประชาชนที่อ่อนแอซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัย ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี การท่องเที่ยวเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ การแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก การค้ามนุษย์ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขาและแรงงานต่างด้าว ปัญหาแรงงานเด็ก และการจำกัดสิทธิบางประการของผู้ใช้แรงงาน
ทางการบางครั้งไล่ออก จับกุม ดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงที่มีพฤติกรรมใช้อำนาจโดยมิชอบ กระนั้น การที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 การที่ทหารประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมทำให้มีปัญหาลักษณะนี้มากขึ้น มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คสช. ประกาศใช้ให้การอภัยโทษต่อผู้นำรัฐประหารและเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาสำหรับการกระทำทั้งก่อนและหลังรัฐประหารหากเป็นการกระทำที่ดำเนินการภายใต้คำสั่งของ คสช. ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่
ผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการโจมตีทำร้ายพลเรือน
หมวดที่ 1 การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจาก
ก. การสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมาย
ยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางครั้งใช้กำลังรุนแรงเกินเหตุและใช้กำลังถึงตายกับผู้ต้องสงสัยคดีอาญา ตลอดจนกระทำการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมการสังหารตามอำเภอใจและการสังหารโดยผิดกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ได้สังหารผู้ต้องสงสัย 45 คน ขณะดำเนินการจับกุมระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 สำนักงานตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสังหารได้ทำการสืบสวนทุกกรณี แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณชนทราบ
แม้ไม่มีรายงานยืนยันว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทำการสังหารโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง แต่มีการเสียชีวิตอย่างน้อย 28 รายที่เกี่ยวกับการประทุษร้ายในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ จากปลายปี พ.ศ. 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 อาทิ เมื่อวันที่ 26 มกราคม มือปืนไม่ทราบชื่อยิงสังหารนายสุทิน ธารารินทร์ แกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. (People’s Democratic Reform Committee) ขณะนำมวลชน กปปส.ไปปิดและขวางทางเข้าหน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในกรุงเทพเมื่อวันที่ 26 มกราคมในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป การยิงสังหารครั้งนี้ทำให้มีบุคคลอื่นบาดเจ็บอีก 9 คน
เมื่อวันที่ 17 มกราคม มือปืนลอบยิงนายขวัญชัย สาราคำ หรือ ขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) ซึ่งสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สถานีวิทยุชุมชนและบ้านพักของนายขวัญชัยในจังหวัดอุดรธานี ทำให้นายขวัญชัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ทางการได้ตั้งข้อหาแก่บุคคลหกคนในการลอบประทุษร้ายครั้งนี้ คือ นายมะดือนัง มะแซ อาสาสมัครรักษาดินแดน จ.นราธิวาส จ่าสิบเอกมาวิน ยางบัว จ่าสิบโทวิโรจน์ พิมพ์สิงห์ ร้อยตรีปรัชญา จันรอดภัย สิบเอกชานนท์ ทับทิมทอง และสิบเอกบรรจง กัณฑาทร โดยบุคคลทั้งหมดยกเว้นนายมะดือนังเป็นทหารสังกัดกองพันทหารม้าที่ 19 จังหวัดกาญจนบุรี กองพลทหารราบที่ 9 และ ณ วันที่ 1 สิงหาคม ทุกคนได้รับการประกันตัวเป็นอิสระยกเว้นนายมะดือนัง
เมื่อวันที่ 23 เมษายน มือปืนไม่ทราบชื่อยิงสังหารนายกมล ดวงผาสุข กวีและนักเคลื่อนไหวเสื้อแดงต่อต้านมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ดู หมวดที่ 2 ก.) เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ยังคงมีการสืบสวนอยู่แต่ไม่มีการจับกุมผู้ใด
มีรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการสังหารที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวด 1.ช.)
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ศาลอาญายกฟ้องการตั้งข้อหาฆาตกรรมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเนื่องจากบทบาทของทั้งสองในการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายความมั่นคงและกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2553 ศาลวินิจฉัยว่า ศาลไม่มีอำนาจในการตัดสินคดีเนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการในช่วงเวลาของการฆ่าและใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการระหว่างมีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลระบุว่า เฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นจึงมีอำนาจในการพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าว ส่วนคดีที่ญาติผู้ตายยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพยังคงอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สำหรับคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเหมือนในคดีอื่นๆ คือ ไม่มีการยื่นฟ้องทหารที่ฆ่าผู้ประท้วงเสียชีวิตตามปฏิบัติการสลายการชุมนุมของรัฐบาลเนื่องจากถือว่าปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล
ตลอดปีที่ผ่านมา ฝ่ายรักษาความมั่นคงของไทยปะทะกับผู้บุกรุกทำลายป่าผิดกฎหมายที่ข้ามชายแดนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 เมษายน ฝ่ายรักษาความมั่นคงของไทยสังหารผู้บุกรุกทำลายป่าผิดกฎหมายสัญชาติกัมพูชาหนึ่งคน ในการปะทะกันกับบุคคลสัญชาติลาวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน
ข. การหายสาบสูญ
นายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงคนสำคัญหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน บิลลี่เป็นผู้นำในคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครวเรือนให้ได้รับความเสียหายกว่า 100 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยอ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้บุกรุกป่าสงวน ก่อนหน้าที่บิลลี่จะหายตัวไป มีรายงานว่าบิลลี่เดินทางไปพบกับชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงเพื่อเตรียมการให้การในศาล เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายชัยวัฒน์ระบุว่า ทางการได้ควบคุมตัวบิลลี่เมื่อวันที่ 17 เมษายน แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้วหลังสอบปากคำ เมื่อวันที่ 20 เมษายน องค์การ Human Rights Watch ออกแถลงเรียกร้องให้ “ทางการไทยอย่านิ่งเฉยต่อกรณีการหายตัวไปของบิลลี่และให้อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับบิลลี่” เมื่อถึงปลายปี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยหรือดำเนินการจับกุมผู้ใด
หลังการรัฐประหาร กองกำลังฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวหลายร้อยคน และในบางกรณี ได้ปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของบุคคลเหล่านั้นก่อนจะประกาศว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน อาทิ ในวันที่ 5 กันยายน ทหารนอกเครื่องแบบได้เข้าจับกุมนายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี ที่สำนักงานพัฒนาสมรรถนะครูและบุคคลากรอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ทหารปฏิเสธว่าได้ได้คุมขังนายกิตติศักดิ์เป็นเวลาหกวัน เมื่อวันที่ 11 กันยายน ทางการได้ตั้งข้อหานายกิตติศักดิ์ว่าเป็นหนึ่งใน “ชายชุดดำ” ที่ถูกกล่าวหาว่า จุดชนวนความรุนแรงในการประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2010
เมื่อถึงเดือนสิงหาคม รัฐบาลยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคำร้องขอเดินทางมาประเทศไทยของคณะทำงานด้านปัญหาการบังคับบุคคลสูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติที่ได้ยื่นเรื่องไว้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554
ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือทำลายศักดิ์ศรีอื่นๆ
ก่อนการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือทำลายศักดิ์ศรี แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ผู้นำรัฐประหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศใช้กฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ความคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ” แต่มิได้มีบทบัญญัติเฉพาะห้ามการทรมาน มาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ศ. 2548) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “พระราชกำหนดฉุกเฉิน” และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุว่า เจ้าพนักงานด้านความมั่นคงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำใดๆ ในระหว่างปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อถึงเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน 37 ครั้งครั้งละสามเดือนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 ในหลายจังหวัดในภาคใต้
องค์การนอกภาครัฐ (NGO) และองค์กรด้านกฎหมายที่น่าเชื่อถือยังคงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางคนบางครั้งทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อบังคับให้รับสารภาพ และหนังสือพิมพ์ยังคงรายงานหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ใช้ความรุนแรง มีการดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกลางเดือนกรกฎาคม มีการฟ้องร้อง 332 คดี ซึ่งเปรียบเทียบกับ 456 คดีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2556 มีการสอบสวนภายในเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนรวม 1,963 คดีซึ่งเปรียบเทียบกับ 2,663 คดีตลอดระยะ 12 เดือนของปี 2556
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) องค์การ Human Rights Watch และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists: ICJ) เรียกร้องให้ทางการสอบสวนการกล่าวอ้างของกริชสุดา คุณะเสน แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทรมานระหว่างถูกคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลา 29 วัน ต่อมา ทางฝ่ายทหารอ้างว่า ผลการสืบสวนไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานแสดงการทรมานแต่อย่างใด (ดู หมวด 1. ง) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการฟ้องข้อหาอาญาต่อกริชสุดาฐานครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวสมชาย หอมลออ และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในกรณีหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียงตามที่กองทัพบกฟ้อง กรมทหารพรานที่ 41 ฟ้องร้องสมชายและพรเพ็ญฐานเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหากล่าวอ้างว่า กรมทหารพรานที่ 41 ทำการทรมาน อันเป็นเหตุให้กองทัพเสียชื่อเสียง (ดู หมวด 5)
เมื่อเดือนตุลาคม องค์การสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนการกล่าวอ้างของบุคคลสัญชาติพม่าสองคนที่ถูกกล่าวหาว่า สังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเมื่อเดือนกันยายนว่าถูกตำรวจทรมานให้สารภาพ ซึ่งภายหลัง บุคคลสัญชาติพม่าทั้งสองกลับคำให้การ ทางตำรวจปฏิเสธข้อกล่าวหา
สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน
เรือนจำและสถานกักกันต่างๆ อันได้แก่ สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและศูนย์กักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงที่ไม่มีเอกสาร ยังคงมีสภาพไม่ค่อยดีและส่วนใหญ่จะแออัดมาก กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสภาพเรือนจำและสถานกักกันต่างๆ
สภาพเรือนจำและสถานกักกัน: สถิติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันประมาณ 303,000 คน แต่สถานที่ออกแบบให้รองรับสูงสุดเพียง 217,000 คน ประมาณร้อยละ 15 เป็นผู้หญิงและน้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นผู้เยาว์ สถิติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ทางการได้ควบคุมตัวบุคคลต่างด้าวประมาณ 900 คนที่ศูนย์กักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพมหานคร
ในเรือนจำบางแห่ง สถานที่นอนมีไม่เพียงพอ การขาดบริการทางการแพทย์เป็นปัญหาร้ายแรงและมีโรคติดต่อระบาด โดยปกติ นักโทษมีน้ำดื่มที่เหมาะสมสำหรับดื่มเนื่องจากน้ำจากท่อประปาได้รับการบำบัดให้สะอาด บางครั้ง ทางการจะส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ
ประมาณร้อยละ 28 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป ผู้ที่ถูกกักขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะถูกขังที่ค่ายทหารหรือสถานีตำรวจมากกว่าในเรือนจำ
องค์การนอกภาครัฐรายงานว่า บางครั้ง ทางการคุมขังผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้อง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล มีสถานกักกันแยกต่างหากสำหรับผู้ต้องขังเยาวชนในทุกจังหวัด สภาพของนักโทษหญิงโดยทั่วไปจะดีกว่าสภาพของนักโทษชาย โดยส่วนใหญ่เนื่องมาจากนักโทษเป็นผู้จัดการและดำเนินการดูแลและทำความสะอาดเรือนจำเอง
ทว่า ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทางการคุมขังผู้หญิงและผู้ชายรวมกัน และคุมขังเยาวชนอายุเกิน 14 ปีรวมกับผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน องค์การ Human Rights Watch ออกรายงานเกี่ยวกับการคุมขังเด็กที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยระบุว่า รัฐบาลควบคุมตัวผู้ย้ายถิ่น ผู้แสวงหาที่พักพิงและเด็กอพยพซึ่งมีทั้งเด็กเล็กและทารกในสถานที่กักกันคนเข้าเมืองและห้องขังของตำรวจที่มีสภาพสกปรกซอมซ่อเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี รายงานฉบับนี้เป็นผลสรุปมาจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังกว่า 100 คนซึ่งรวมถึงผู้อพยพวัยเด็ก 41 คน และรายงานยังระบุว่า ผู้ต้องขังเด็กขาดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและไม่มีโอกาสออกกำลังกาย อีกทั้ง การถูกคุมขังทำให้ทำให้อาการบอบช้ำทางจิตใจในอดีตรุนแรงขึ้น และเป็นเหตุให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าและโรคประสาทกังวลเรื้อรังยาวนาน รายงานฉบับดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายและนโยบายยุติการคุมขังเด็กโดยใช้หนทางอื่นแทน เช่น การปล่อยโดยมีเงื่อนไขให้คุมประพฤติ (Supervised Release) และการไม่ควบคุมตัวและจัดที่อยู่อาศัยโดยใช้ชุมชนเป็นแกนในขณะดำเนินการแก้ปัญหาสถานภาพการอพยพย้ายถิ่นของบุคคลเหล่านี้ องค์การนอกภาครัฐอื่นๆ รายงานว่า มีคำร้องทุกข์โดยเฉพาะจากผู้ต้องขังชาวมุสลิมเกี่ยวกับอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมตามวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีรายงานอย่างต่อเนื่องว่า ผู้คุมบังคับใช้แรงงานผู้ต้องขังและสภาพถ่ายเทอากาศในศูนย์กักกันไม่ค่อยดี
บางครั้ง เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้การขังเดี่ยวนานไม่เกินหนึ่งเดือนเพื่อลงโทษนักโทษชายที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำเป็นประจำซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า การขังเดี่ยวโดยเฉลี่ยจะมีระยะเวลาประมาณเจ็ดวัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังตีตรวนขาด้วยเหล็กขนาดใหญ่เพื่อควบคุมนักโทษที่เห็นว่า มีแนวโน้มจะหลบหนีหรือนักโทษที่อาจเป็นอันตรายต่อนักโทษคนอื่นๆ จำนวน 600 ถึง 1,000 คน
สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า มีบุคคลเสียชีวิตระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ 823 คน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2557 ทางการระบุว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติ จนถึงเดือนกรกฎาคม ไม่มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่สังหารผู้ต้องขัง
กฎหมายกำหนดว่า ผู้ติดยาเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว บุคคลที่เสพยาอาจถูกทางการกักตัวในศูนย์บำบัดเชิงบังคับเป็นเวลาประมาณ 120 หรือ 180 วัน เพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้กลับเป็น “พลเมืองดี” ศูนย์เหล่านี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุขและกองทัพไทย โดยตั้งอยู่ตามค่ายทหารประมาณ 56 แห่งและศูนย์ของพลเรือน 11 แห่ง ณ เดือนกรกฎาคม มีบุคคลถูกกักตัวอยู่ตามศูนย์เหล่านี้ประมาณ 18,000 คน เจ้าหน้าที่ดำเนินการศูนย์บำบัดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์
กรมคุมประพฤติยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะๆ และค่ายทหารส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่การแพทย์หรือคณะเจ้าหน้าที่การแพทย์ไปที่ค่ายทหารหลายแห่งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ก่อนการกักกันผู้เสพยา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ทำการประเมินทางการแพทย์ว่า บุคคลติดยารุนแรงในระดับใดและไม่มีการดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย และเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการติดตามผลการบำบัด สื่อมวลชนรายงานการทารุณผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกักกัน เช่น การทารุณทางกาย นอกจากนี้ ยังขาดการให้ดูแลรักษาพยาบาลบางประการ เช่น การล้างพิษโดยใช้กระบวนการทางการแพทย์ รวมถึงการป้องกัน การรักษา การดูแล และการให้ความช่วยเหลือบำบัดเชื้อเอ็ชไอวี ตลอดจนการบำบัดการติดยาเชิงประจักษ์
ตัวอย่างเช่น ทางการปิดศูนย์ฯ ที่เพชรบุรี และกองทัพบกตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นมาแทน หลังจากที่ครูฝึกทหารถูกกล่าวหาว่า บังคับให้ผู้ติดยาที่ต้องขังถอนเงินจำนวน 600,000 บาท (18,000 เหรียญสหรัฐ) จากธนาคารก่อนจะยิงผู้ต้องขังเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2556 ณ เดือนกรกฎาคม ผู้ต้องหากำลังถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้ความรุนแรงที่ศูนย์ฯ เหล่านี้
กลุ่มประชาสังคมที่ดำเนินโครงการลดภัยสังคมต้องประสบอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด และยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยบังคับใช้กฎหมายได้จับกุมและคุกคามเจ้าหน้าที่ที่ทำงานบริการชุมชนภายใต้โครงการที่รัฐบาลเห็นชอบนี้
การดำเนินงานของเรือนจำ: เจ้าหน้าที่ใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อทำบันทึกข้อมูลนักโทษ โดยมีการส่งข้อมูลผ่านทางจดหมายและโทรศัพท์เพิ่มเติมหากข้อมูลขัดแย้งกัน นักโทษและผู้ต้องขังสามารถมีผู้เข้าเยี่ยมได้ และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ ทางการอนุญาตให้นักโทษและผู้ต้องขังหรือผู้แทนสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาก่อน แต่ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อฝ่ายตุลาการได้โดยตรง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนหรือคำร้องทุกข์ที่ได้รับจากนักโทษและให้คำแนะนำแก่กรมราชทัณฑ์ แต่สำนักงานฯ ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการในนามของนักโทษ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในคดีใดๆ ยกเว้นแต่จะได้รับคำร้องทุกข์อย่างเป็นทางการจากบุคคล ทางการไม่ค่อยสอบสวนคำร้องทุกข์และไม่ประกาศผลการสอบสวนให้สาธารณชนทราบ
ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้สังเกตการณ์อิสระด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้ต้องขังและบุตรอาจถูกกักขังเป็นปีๆ ยกเว้นจะจ่ายค่าปรับและค่าเดินทางกลับบ้าน เนื่องจากกฎหมายระบุว่า “…คนต่างด้าวต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการถูกส่งกลับประเทศ…[และ] ค่าใช้จ่ายระหว่างถูกกักขังจะถูกหักจากบัญชีของคนต่างด้าว”
ศาลมักพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่ใช้ความรุนแรง ผู้เยาว์ และผู้พิการ ด้วยบทลงโทษอื่นที่ไม่ใช่การจองจำ (เช่น การภาคทัณฑ์ การรอลงอาญา การปรับเป็นเงิน หรือการควบคุมการเคลื่อนไหว) ในช่วงปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวบุคคลที่บ้านพักของตนเองแทนที่จะให้อยู่ในเรือนจำจำนวน 190 คน
ศูนย์กักกันคนเข้าเมืองซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและขึ้นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบส่วนใหญ่ที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป
การตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ: รัฐบาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์อิสระด้านสิทธิมนุษยชนและผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษที่เรือนจำและศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย และสามารถเข้าเยี่ยมอีกได้หลายครั้ง ตลอดจนได้รับอนุญาตให้เข้าชมสถานีตำรวจทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่งรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ทางการอนุญาตให้เข้าชมเรือนจำทุกแห่งในประเทศได้ และนอกจากนี้ ยังคงกำกับให้หน่วยทหารและตำรวจปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการดำเนินงานของตำรวจและการใช้อำนาจของตำรวจ
ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังบางรายที่ศูนย์กักกันที่สนามบินสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม จะสามารถเยี่ยมได้หรือไม่จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป รวมทั้งการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันอื่นๆ ก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปเช่นกัน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันซอยสวนพลู และผู้แทนประเทศที่สามด้านการโยกย้ายถิ่นฐานยังสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษได้เพื่อดำเนินการจัดการให้ผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัยโยกย้ายถิ่นฐานได้เดินทางไปยังประเทศที่สาม นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ยังสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษที่ศูนย์กักกันต่างๆ ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร รัฐธรรมนูญห้ามการจับกุมและกักกันตามอำเภอใจ แต่กระนั้น เจ้าหน้าที่ของทางการบางครั้งยังคงจับกุมและกักกันตามอำเภอใจอยู่ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลสามารถกักกันบุคคลได้สูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายศาล
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่กักกันอย่างไม่เป็นทางการได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหานั้นยังมีการประกาศใช้ในสามจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ยกเว้นอำเภอแม่ลานจังหวัดปัตตานี (กรุณาอ่านหมวดที่ 1.ง บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องมือรักษาความมั่นคง)
เมื่อวันที่ 22 มกราคม รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่ออีก 60 วันในกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแทนซึ่งมีขอบเขตอำนาจครอบคลุมน้อยกว่าและมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใช้ประกอบกฎอัยการศึก ซึ่ง ณ สิ้นปีมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (NCPO)
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์เชิญพรรคการเมืองและผู้นำการเคลื่อนไหวต่างๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมในการเจรจาหารือเพื่อยุติวิกฤตทางการเมือง สองวันต่อมา พลเอกประยุทธ์ก็ระงับการเจรจาอย่างกระทันหัน สั่งกักตัวผู้เข้าร่วมเจรจาทั้งหมด และประกาศรัฐประหารทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ในช่วงหลายเดือนต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวบุคคลให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 900 คน ซึ่งรวมถึง ผู้นำทางการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และผู้สื่อข่าว และผู้ที่ถูกเรียกตัวไปจำนวนมากถูกควบคุมตัวสูงสุดถึงเจ็ดวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา เจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวนมากต้องลงนามในเอกสารยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างดี ผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะขออนุญาตทางการก่อนเดินทางออกนอกพื้นที่ที่อยู่อาศัยหากผู้ที่ถูกควบคุมตัวต้องการได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารขู่โทษจำคุกและยึดทรัพย์สินต่อผู้ที่ไม่ไปตามหมายเรียกตัว
บทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ยากแก่การร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งการกักขัง พระราชกำหนดฯ ระบุว่า ผู้ถูกกักขังมีสิทธิที่จะมีทนายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีหลักประกันว่า ผู้ถูกกักขังจะได้พบทนายหรือญาติพี่น้องทันที และไม่มีมาตรการที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการทารุณผู้ถูกกักขัง นอกจากนี้ พระราชกำหนดฯ ระบุว่า เจ้าพนักงานด้านความมั่นคงไม่ต้องรับโทษทั้งทางอาญา ทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำใดๆ ในระหว่างปฏิบัติราชการตามหน้าที่ภายใต้พระราชกำหนดฯ
กรมสอบสวนคดีพิเศษรายงานว่า จากจำนวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ ทั้งหมด 269 คดี เมื่อถึงเดือนสิงหาคม กรมฯ ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว 232 คดี และยังคงทำการสืบสวนคดีที่เหลืออยู่อีก 37 คดี เมื่อเดือนกันยายน ตำรวจได้จับกุมชายสี่คนและสตรีหนึ่งคนคือ นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี นายชำนาญ ภาคีฉาย นายปรีชา อยู่เย็น นายรณฤทธิ์ สุริชา และนางปุณิกา ชูศรี ซึ่งรู้จักกันในนาม “ชายชุดดำ” ฐานพัวพันกับการประท้วงที่ทำให้ทหารและพลเรือนเสียชีวิตเมื่อปี 2553 เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ทั้งห้าคนยังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการสืบสวนเพิ่มเติม
บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องมือรักษาความมั่นคง
การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเหนือหน่วยงานพลเรือนซึ่งรวมถึงตำรวจในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานได้แต่งตั้ง พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่
ตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและความรับผิดชอบพิเศษในพื้นที่ชายแดนเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกำหนดให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีฐานะเป็นส่วนราชการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน. เป็นองค์กรประสานระหว่างหน่วยงานที่มีบทบาทด้านอำนวยการโดยมีเจ้าหน้าที่จากทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร
องค์กรสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการวิจารณ์รัฐบาลว่า ใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติที่รัฐบาลกล่าวอ้างโดยจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำร้ายผู้ต้องขังและนักโทษ และส่วนใหญ่มักไม่ถูกลงโทษ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่าไม่ต้องรับโทษจากการการะทำระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ผู้ที่ต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องเรียนโดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ถูกกล่าวหา จเรตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดจนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ก็รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างเดือนกันยายน 2556 ถึงเดือนกรกฎาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องเรียนกรณีตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ 60 ราย ซึ่งลดลงมากจากคำร้องเรียนที่ได้รับในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2556 คือ จำนวนสูงถึง 254 ราย
เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องเรียน คณะกรรมการสอบสวนภายในจะรับเรื่องไว้พิจารณาและอาจสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนเป็นการชั่วคราวระหว่างการสอบสวน มีมาตราการลงโทษทางการบริหารหลายแบบ และหากเป็นกรณีร้ายแรง เรื่องอาจจะถูกส่งไปยังศาลอาญา
ในกระบวนการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ซึ่งรวมทั้งการเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวนั้น มีข้อกำหนดให้อัยการ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นเข้าร่วมการสอบสวนด้วย และในกรณีส่วนใหญ่ สมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพด้วย ทว่า เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยปฏิบัติตามกระบวนการนี้ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเองก็ไม่ค่อยใช้สิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานกระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการจับกุมได้
ตามมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมกำหนดให้ข้าราชการทหารเข้ารับการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน การฝึกอบรมตามปกตินั้นจัดในหลายระดับ ได้แก่ ข้าราชการสัญญาบัตร ข้าราชการต่ำกว่าสัญญาบัตรและทหารเกณฑ์ นอกจากนี้ ข้าราชการทหารที่ออกปฏิบัติงานสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคใต้ยังได้รับการอบรมพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการอบรมสำหรับรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย
ขั้นตอนการจับกุมและการปฏิบัติต่อบุคคลขณะถูกคุมขัง
กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุมยกเว้นบางกรณีเท่านั้น ระบบการออกหมายจับอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มว่าศาลมักจะอนุมัติออกหมายตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด ตามกฎหมาย บุคคลต้องได้รับแจ้งข้อหาทันทีที่ถูกจับกุมและต้องได้รับอนุญาตให้สามารถแจ้งแก่ผู้ใดผู้หนึ่งถึงการถูกจับกุมได้ ผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหาคดีอาญามีสิทธิเริ่มดำเนินการขอหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลหรือขั้นตอนทางศาลอื่นๆ เพื่อพิจารณาว่าการกักขังดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้หากทางการจับกุมกักขังอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ตำรวจในท้องที่มักทำการสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ช่วยให้ผู้ถูกคุมขังติดต่อทนาย นักกฎหมายที่ทำงานในจังหวัดภาคใต้รายงานว่า ภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบลูกความที่ถูกคุมขัง และมีประชาชนในจังหวัดภาคใต้รายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ทางการปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมสมาชิกครอบครัวที่ถูกคุมขัง บางครั้ง ทางการกดดันผู้ที่ถูกคุมขังชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานอพยพและผู้ที่เข้าประเทศผิดกฎหมายให้ลงชื่อสารภาพโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากล่ามหรือนักแปลที่มีความสามารถ กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมได้จัดหาทนายประมาณ 450 คนให้แก่ผู้ถูกคุมขังที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทนายความตั้งข้อสังเกตว่า ค่าจ้างทนายและค่าธรรมเนียมที่ทางการเสนอให้นั้นค่อนข้างต่ำ
บางครั้ง ทางการกดดันผู้ที่ถูกคุมขังชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานอพยพและผู้ที่เข้าประเทศผิดกฎหมายให้ลงชื่อสารภาพโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากล่ามหรือนักแปลที่มีความสามารถ
กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมได้จัดหาทนายอาสาให้แก่ผู้ถูกคุมขังที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจำนวน 15,332 คดี ทนายความตั้งข้อสังเกตว่า ค่าจ้างทนายและค่าธรรมเนียมที่ทางการเสนอให้นั้นค่อนข้างต่ำ
กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการขอประกันตัว และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มยังคงรายงานว่า มีบ่อยครั้งที่ตำรวจไม่ได้แจ้งให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวทราบเกี่ยวกับสิทธิการขอประกันตัว หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้มีการประกันตัวหลังจากผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล โดยเฉพาะในคดียาเสพติดและคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การจับกุมตามอำเภอใจ: ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจกักกันบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา และภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุคคลอาจถูกกักกันได้เป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 30 วันโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา (ดูหมวด 1.ช ประกอบด้วย) หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้นำรัฐประหารกักกันเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว
และบุคคลกลุ่มอื่นๆ จำนวนกว่า 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวหลังกักไว้หลายวัน มีแต่มีบางรายที่ถูกกักสูงสุดเจ็ดวัน และบางคนถูกกักนานกว่าที่กฎหมายจำกัด อาทิ กรณีทางการกักกริชสุดา คุณะเสน แกนนำเสื้อแดงเป็นเวลา 29 วันที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง
การคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี: ในกรณีปกติทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อดำเนินการสอบสวนคดีได้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม ทนายความรายงานว่า ตำรวจไม่ค่อยส่งสำนวนต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ความผิดที่มีระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความรับผิดชอบของศาลแขวงซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างออกไปโดยในคดีเหล่านี้ ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายใน 72 ชั่วโมงหลังการจับกุม จากรายงานของสภาทนายความแห่งประเทศไทย การคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อรอการพิจารณาคดีนานถึง 60 วันถือเป็นเรื่องปกติ
ก่อนการตั้งข้อหาและการพิจารณาคดี ทางการสามารถควบคุมตัวบุคคลได้นานสูงสุดไม่เกิน 84 วัน (สำหรับคดีร้ายแรงที่สุด) โดยศาลต้องพิจารณาทบทวนทุกเจ็ดวัน หลังจากการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการและตลอดช่วงการพิจารณาคดีโดยขึ้นอยู่กับความพร้อมในการดำเนินการฟ้องร้องและการสู้คดี จำนวนคดีที่ศาลรับผิดชอบและลักษณะของหลักฐาน การคุมขังผู้ต้องสงสัยอาจกินเวลานาน 1-2 ปี กว่าศาลจะประกาศคำพิพากษาและอาจนานถึงหกปี กว่าศาลสูงสุดจะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ บางกรณี ช่วงเวลาที่จำเลยถูกควบคุมตัวอาจเท่ากับหรือนานกว่าโทษของอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา
การคุมขังผู้แสวงหาที่พักพิงที่ทางการปฏิเสธหรือบุคคลไร้สัญชาติ: ทางการคุมขังผู้ขอลี้ภัยที่ถูกปฏิเสธระหว่างรอการส่งตัวกลับประเทศ องค์การนอกภาครัฐกล่าวหาว่า มีการยืดเวลาการคุมขังและสภาพห้องคุมขังก็ต่ำกว่ามาตรฐาน
การอภัยโทษ: ประกาศพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือนมกราคมทำให้บุคคลสัญชาติซาอุดิอะราเบียได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ปล่อยตัวหลังถูกจำคุกเป็นเวลาเกือบ 2 ปีจากโทษจำคุก 2 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม
ก่อนการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญกำหนดให้ระบบศาลมีความเป็นอิสระ หลังรัฐประหาร คสช. ออกประกาศให้คงกระบวนการและการดำเนินงานต่างๆ ในระบบศาล เพียงแต่ห้ามพนักงานศาลยุติธรรมแสดงความเห็นเชิงลบต่อ คสช. ในเวทีสาธารณะ นอกจากนี้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจแก่ คสช. ในระงับยับยั้งหรือกระทําการใด ๆ ได้เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของชาติ “ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ”
ก่อนการรัฐประหาร แม้โดยทั่วไปจะถือกันว่า ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตและการใช้อิทธิพลจากภายนอก ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน การที่คดีดังๆ หลายคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบตุลาการและทำให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางคน (หรือครอบครัวของเหยื่อ) ไม่สนใจเรียกร้องความยุติธรรม
ขั้นตอนการพิจารณาคดี
หลักกฎหมายให้ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ การพิจารณาคดีไม่ใช้ระบบลูกขุน การพิจารณาความผิดลหุโทษใช้ผู้พิพากษาคนเดียว ส่วนคดีความผิดที่ร้ายแรงกว่านั้นต้องใช้ผู้พิพากษาสองคนหรือมากกว่า ก่อนมีการระงับใช้รัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการพิพากษาคดีทันที แต่ก็ยังมีคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลเป็นจำนวนมาก แม้ว่าการพิจารณาคดีส่วนใหญ่จะเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาลับได้ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ราชวงศ์ เด็ก หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
คำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม คสช. กำหนดให้เปลี่ยนเขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดี โดยการดำเนินคดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การก่อการจลาจล การปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งปกติอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญานั้นให้เปลี่ยนไปอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) รายงานว่า เมื่อถึงวันที่พฤศจิกายน มีพลเรือน 82 คนถูกดำเนินคดีทางอาญาในศาลทหารสำหรับความผิดดังกล่าว อาทิเช่น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ยื่นฟ้องนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ต่อศาลทหารฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานของ คสช.
จำเลยที่ถูกพิจารณาคดีในศาลอาญาธรรมดาจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งรวมทั้งสิทธิในการเลือกทนายด้วยตนเอง รับทราบรายละเอียดข้อมูลข้อกล่าวหาอย่างรวดเร็ว (รวมถึงมีล่ามโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากจำเป็น) พร้อมทั้งเวลาและสถานที่อย่างเพียงพอในการเตรียมสู้คดี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิไม่จำเป็นต้องให้การหรือสารภาพผิด เผชิญหน้ากับพยานและนำเสนอพยาน อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้จัดหาทนายอาสาให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐโดยอัตโนมัติ และมีการกล่าวหาว่า ในทางปฏิบัติแล้ว จำเลยก็ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวข้างต้นเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเล็กๆ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล
รัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เป็นครั้งคราวตามแต่สมัครใจ และความช่วยเหลือนี้มักมีมาตรฐานต่ำ งบประมาณของสภาทนายความแห่งประเทศไทยยังคงเท่ากับปี 2556 คือ ประมาณ 50 ล้านบาท (1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) องค์การนอกภาครัฐบางแห่งรายงานว่า ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกดดันให้ลูกความจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มแก่ทนายโดยตรง แต่สำนักงานคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ลูกความจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าเดินทางของทนาย กฎหมายกำหนดให้ศาลต้องแต่งตั้งทนายให้ในกรณีที่จำเลยต่อสู้ข้อกล่าวหามีฐานะยากจนหรือเป็นผู้เยาว์ รวมทั้งในกรณีที่บทลงโทษอาจจำคุกเกินกว่า 5 ปีหรือประหารชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่คิดมูลค่าส่วนใหญ่มาจากกลุ่มองค์กรเอกชน เช่น สภาทนายความแห่งประเทศไทยและสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย
ไม่มีกระบวนการให้แสดงเอกสารเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจ ดังนั้น ทนายและจำเลยไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานได้ก่อนมีการพิจารณาคดี กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อขอการชดใช้สินไหมทดแทนได้ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว
องค์การนอกภาครัฐหลายแห่งยังคงแสดงความกังวลที่ไม่มีการคุ้มครองพยานที่พอเพียง โดยเฉพาะในคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด สำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม มีทรัพยากรจำกัดและส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่ประสานงาน ในคดีส่วนใหญ่แล้ว ตำรวจเป็นผู้ให้การคุ้มครองพยาน แต่มีหน่วยงานอื่นของรัฐอีกหกหน่วยที่อยู่ในโครงการนี้ด้วย คือ กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมราชทัณฑ์
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงบังคับผู้ต้องสงสัยคดีอาญาที่รอการพิจารณาคดีให้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพต่ออาชญากรรมที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาต่อหน้าสื่อมวลชน เหยื่อ ครอบครัวเหยื่อและสาธารณชน สื่อมวลชนจะตีพิมพ์และนำเสนอภาพจากแผนประกอบคำรับสารภาพเหล่านี้อย่างกว้างขวางเกือบเป็นประจำทุกวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมักสั่งผู้ต้องสงสัยให้แสดงการกระทำที่พ้องกับสถานการณ์ของอาชญากรรมนั้นๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ตำรวจได้ทำแผนประกอบคำรับสารภาพหลายพันครั้ง แม้ว่าระเบียบทางการตำรวจจะระบุให้ผู้ต้องสงสัย “สารภาพ” ก่อนทำแผนประกอบคำรับสารภาพ แต่ตำรวจมักได้ “คำสารภาพ” จากการบีบบังคับ ซึ่งรวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย มีประชาชนที่มาดูการทำแผนประกอบคำรับสารภาพทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 3 รายในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา องค์การสิทธิมนุษยชนวิพากษ์การบังคับการทำแผนประกอบคำรับสารภาพเนื่องจากละเมิดหลักการที่ให้ถือว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิดและเป็นการสนับสนุนให้มีการทำร้ายผู้ต้องสงสัย
นักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง
ก่อนการรัฐประหาร ไม่มีรายงานของทางการเกี่ยวกับนักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวประเมินว่า มีบุคคลถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 20 คน โดยกฎหมายนี้ห้ามวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวด 2.ก) บางคดีเกี่ยวกับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมโดยสงบ หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลทหารสั่งดำเนินการสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใหม่อย่างน้อย 15 คดี ซึ่งเป็นตัวเลข ณ เดือนกันยายน และพร้อมกันนั้น ทางการก็ยังรื้อคดีเก่าที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องด้วย
ขั้นตอนและการเยียวยาคดีความทางแพ่ง
ก่อนการรัฐประหาร ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาความแพ่ง กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหน่วยงานราชการฝ่ายปกครองเพื่อขอให้มีการชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลบังคับใช้ในสามจังหวัดภาคใต้กำหนดชัดเจนว่า ศาลปกครองหรือกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรืออาญาไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เหยื่ออาจร้องขอสินไหมทดแทนความเสียหายจากหน่วยงานรัฐแทนได้
ฉ. การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ
ก่อนการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญห้ามการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าว หลังการรัฐประหาร คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อ ซึ่งทั้งกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในการตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล และยังคงมีการใช้อำนาจดังกล่าวในจังหวัดตอนใต้สุดของประเทศและบริเวณพื้นที่ชายแดน ในช่วงปีที่ผ่านมา มีคำร้องทุกข์อ้างว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้อำนาจดังกล่าวโดยมิชอบ อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของคำกล่าวหาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
หลังการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารคุกคามสมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่ไม่ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารตามหมายเรียก อาทิเช่น สองวันหลังจากการรัฐประหาร คสช. สั่งให้นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังติดคุกเป็นเวลา 3 ปีจากโทษจำคุก 13 ปีฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หลังจากที่นายธันย์ฐวุฒิปฏิเสธไปรายงานตัวโดยอ้างว่า คสช. ขาดความชอบธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปฏิบัติเฝ้าตามและคุกคามบิดามารดาที่ชราภาพ ตลอดจนพี่น้องและบุตรชายของเขาทุกวัน ทำให้มารดาของเขาต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ คสช. บอกกับครอบครัวของนายธันย์ฐวุฒิว่า การกระทำดังกล่าวจะดำเนินต่อไปจนกว่านายธันย์ฐวุฒิจะไปรายงานตัวตามคำสั่ง
รัฐบาลทหารยังมีการตรวจสอบการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิทางดิจิทัลที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ รายงานถึง Facebook application ปลอมที่ทำให้ผู้ใช้คิดว่า ตนเองเข้าเว็บไซต์ผ่านทาง Facebook และขอให้ผู้ใช้แชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเดือนปีเกิด และที่อยู่อีเมล เครือข่ายพลเมืองเน็ตอ้างว่า application นี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ คสช. ในการสอดส่องบุคคลที่พยายามเข้าเว็บหนึ่งที่ถูกห้าม ผู้ใช้หลายร้อยคนหลงอนุญาตให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่อยู่บนหน้า Facebook ของพวกเขา Facebook ได้ลบ application ปลอมนี้ออกไปสองครั้งเนื่องจากเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยแพลตฟอร์ม และเมื่อถึงเดือนสิงหาคม application ปลอมนี้ยังคงถูกระงับอยู่ กองบังคับการปราบปรามเทคโนโลยีการกล่าวแก้ต่างการกระทำดังกล่าวโดยอ้างว่า โปรแกรมนี้เป็นวิธีที่ชอบธรรมในการตรวจสอบอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ตและจะช่วยให้ตำรวจสามารถ “จัดการพยานหลักฐานได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้มากขึ้น และจะทำให้สังคมออนไลน์มีระเบียบเรียบร้อยขึ้น”
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน คสช. ประกาศโครงการให้รางวัลแก่ผู้ให้ข้อมูลโดยโครงการนี้เป็นเครื่องมือในการระบุตัวบุคคลที่คัดค้านรัฐบาลทหาร ทางการส่งเสริมให้ประชาชนถ่ายภาพของการประท้วงต่อต้านรัฐประหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประท้วง จากนั้น ให้ส่งภาพไปยังเจ้าหน้าที่ภายใต้ คสช. พร้อมแนบรายละเอียดบัญชีธนาคารของตนเองเพื่อรางวัล 500 บาท (15 เหรียญสหรัฐ)
หน่วยงานด้านความมั่นคงติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีแนวความคิดแบบสุดขั้วหรือแนวความคิดที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศโดยมีแนวความคิดลักษณะดังกล่าว
ช. การใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการใช้อำนาจในทางมิชอบอื่นๆ ในการจัดการปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ
ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลาและบางพื้นที่ของสงขลา) ยังคงมีอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ก่อการวางระเบิดและทำร้ายประชาชนอยู่เนืองๆ รวมทั้งการปฏิบัติการด้านความมั่นคงของทางฝ่ายรัฐบาล จึงทำให้ยังคงมีความตึงเครียดสูงระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และชาวพุทธเชื้อสายไทยในพื้นที่ และทำให้ประชาชนยังคงมีความไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่เหล่านี้มอบอำนาจอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ รวมทั้งให้อำนาจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศบางประการแก่กองทัพ พระราชกำหนดฯ ยังให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสามารถปฏิบัติงานโดยการไม่ต้องถูกลงโทษดำเนินคดี นอกจากนี้ กฎอัยการศึกซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2549 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่และให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา (ดูหมวด 1. ง. ประกอบด้วย)
การสังหาร: กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองกำลังของรัฐบาลและหน่วยสังหารที่สนับสนุนรัฐบาลว่า กระทำการวิสามัญฆาตกรรมต่อบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ข้อมูลสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระบุว่า เมื่อถึงเดือนกันยายน กองกำลังของรัฐบาลได้กระทำการวิสามัญฆาตกรรม 1 รายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
องค์การนอกภาครัฐที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งอ้างว่า ผู้ก่อการไม่ทราบชื่อสังหารผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย 5 คนหลังจากคดีของบุคคลเหล่านี้เข้ากระบวนการยุติธรรม ส่วนในอีกคดีที่เป็นที่ทราบแพร่หลาย ทหารพรานสารภาพว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้สังหารบุตรสามคนของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่มีส่วนพัวพันกับผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนและทหารพรานทั้งสามมีเรื่องขัดแย้งด้วย
ข้อมูลสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า สถิติเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ความรุนแรงเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 233 คนและบาดเจ็บ 505 คนในเหตุรุนแรง 452 ครั้ง ลดลงเล็กน้อยจากสถิติในปี พ.ศ. 2556 และยังรายงานว่า สถิติตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ความรุนแรงเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 6,189 คนและบาดเจ็บ 11,208 คนในเหตุรุนแรง 14,347 ครั้งในพื้นที่ภาคใต้ แต่องค์กรดังกล่าวไม่ได้แยกสถิติว่าเป็นความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หรือกลุ่มอาชญากร และเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนมักมุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งรวมถึงครูและข้าราชการอำเภอและเทศบาล ตลอดจนทหารและตำรวจ โดยการใช้ระเบิด การซุ่มยิงและการลักพาตัว ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนที่ตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2556 นอกจากนี้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังสังหารและทำร้ายพลเรือนทั้งชาวพุทธและมุสลิมทุกสาขาอาชีพ
อาสาสมัครป้องกันดินแดนที่เป็นพลเรือนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเชื้อสายไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ในภาคใต้ ยังคงได้รับการฝึกขั้นพื้นฐานและรับแจกอาวุธจากฝ่ายรักษาความมั่นคง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลที่เห็นอาสาสมัครป้องกันดินแดนเหล่านี้และพลเรือนอื่นๆ มีความระแวงชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์
การลักพาตัว: มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพรายงานว่า เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ไม่มีบุคคลหายสาบสูญในจังหวัดภาคใต้ แต่ระบุว่า ประสบความลำบากในการหาข้อมูลในช่วงที่ คสช. มีหมายเรียกและควบคุมตัวบุคคลอย่างกว้างขวาง ไม่มีรายงานยืนยันว่า มีบุคคลหายสาบสูญหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสอบสวนในจังหวัดภาคใต้
การทารุณกรรมทางกาย การลงโทษและการทรมาน: รัฐบาลยังคงจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายซึ่งบางคนก็ยังเป็นผู้เยาว์ และในบางกรณี ทางการก็คุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้นภายใต้บทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก องค์การสิทธิมนุษยชนยืนยันว่า การจับกุมเหล่านี้เป็นการกระทำตามอำเภอใจ เกินกว่าเหตุและยาวนานโดยไม่จำเป็น และองค์การเหล่านี้ยังคงวิจารณ์สภาพแออัดของสถานกักกัน กลุ่มประชาสังคมกล่าวหากองทัพบกว่า ทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายบางคนที่สถานกักกัน
ภายใต้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทางการสามารถกักกันบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาและไม่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลหรือหน่วยงานของรัฐในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีการบังคับใช้ในพื้นที่เดียวกันนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัยได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา หลังจากช่วงเวลา 30 วันนี้แล้ว ทางการสามารถเริ่มคุมขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใต้กฎหมายอาญาปกติ (ดูหมวด 1.ง) การคุมขังลักษณะนี้ไม่เหมือนการคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก เพราะต้องมีคำอนุญาตจากศาล แต่องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร้องเรียนว่า ศาลไม่ค่อยใช้อำนาจของศาลในการพิจารณาการคุมขังเหล่านี้ ในบางกรณี ผู้ต้องสงสัยจะถูกคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลาเจ็ดวันก่อน และจากนั้น ก็ถูกคุมขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอีก 30 วัน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แถลงว่า ในช่วงแปดเดือนแรกของปีที่ผ่านมา มีบุคคลถูกจับกุมภายใต้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าวจำนวน 200 คน
ทหารเด็ก: มีระเบียบห้ามเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ารับราชการเป็นอาสาป้องกันชาติ และในทางปฏิบัติแล้ว อาสาสมัครส่วนใหญ่เข้ารับราชการเมื่ออายุ 20 ปี หรือสูงกว่า 20 ปี อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการว่า มีเยาวชนจำนวนไม่มากมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มลักษณะดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีรายงานว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกเกณฑ์เข้ารับราชการในกองทัพ แต่มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ปฏิบัติงานลอบวางเพลิงหรือทำงานสอดแนม
กรุณาอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบด้วยที่www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
การกระทำมิชอบอื่นๆ ที่เนื่องมาจากความขัดแย้ง: การก่อความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน เป้าหมายทางเศรษฐกิจและย่านกลางเมืองมีจำนวนสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 จนถึงเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการแพร่ข้อมูลสถิติผู้ก่อความไม่สงบโจมตีโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547-2555 ผู้ก่อการร้ายได้เผาโรงเรียนรวมแล้วกว่า 300 แห่ง รัฐบาลมักให้อาวุธแก่พลเรือนชาวไทยพุทธและพลเรือนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์พร้อมทั้งเพิ่มกำลังป้องกันโรงเรียนและวัดพุทธ ตลอดจนจัดให้ทหารคุ้มครองพระสงฆ์และครู องค์การนอกภาครัฐในพื้นที่บางแห่งรายงานว่า ทหารใช้โรงเรียนเป็นที่พักของทหาร ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน ผู้ก่อความไม่สงบสังหารนักเรียน 1 คน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาบาดเจ็บ 10 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มีครู นักเรียนและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา 211 คนถูกสังหาร และบาดเจ็บอีก 352 คนเนื่องจากเหตุรุนแรงจากการแบ่งแยกดินแดน ผู้ก่อความไม่สงบมักโจมตีเจ้าหน้าที่ที่ให้ความคุ้มครองครูชาวพุทธ นอกจากนี้ เหตุรุนแรงโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังรวมถึงการโจมตีสถานพยาบาลด้วย กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เมื่อถึงเดือนเมษายน มีการวางเพลิงและวางระเบิดสถานพยาบาลสาธารณสุขหรือบ้านพักของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 27 ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนสังหารเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 33 คนและทำร้ายบาดเจ็บอีก 30 คน จำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2556
ชาวไทยพุทธจำนวนมากหนีออกจากพื้นที่ในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สถิติทางการจากกรมการปกครองระบุว่า ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส มีประชากรลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มีรายละเอียดจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาต่างๆ ในกลุ่มประชากรที่เปลี่ยนไปนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทะเบียนราษฎร์อย่างเป็นทางการอาจไม่ได้สะท้อนถึงจำนวนแท้จริงของราษฎรที่อาจอาศัยอยู่ที่อื่นเนื่องจากเหตุผลทางการงานหรือเหตุผลอื่นแต่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในภูมิภาคนั้น
หมวดที่ 2 การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อันประกอบด้วย
ก. เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน
หลังรัฐประหาร คสช. จำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมีนัยสำคัญ คสช. ออกคำสั่งที่ครอบคลุมกว้างขวางห้ามการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของคสช. อีกทั้งยังปิดช่องทางสื่อจำนวนมาก ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต และออกหมายเรียกให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวน นอกจากข้อจำกัดอย่างเป็นทางการเรื่องการพูดและการตรวจพิจารณาสื่อก่อนเผยแพร่ การกระทำของคสช. ยังส่งผลให้ประชาชนและสื่อเพิ่มการตรวจพิจารณาเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่ คสช.ห้ามนักการเมือง นักวิเคราะห์การเมือง และบุคคลอื่นๆ ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นแก่สื่อ อีกทั้ง ปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นการคุกคาม คสช. หรือ “ก่อให้เกิดความขัดแย้ง” ภายในประเทศ จนถึงสิ้นปี ข้อห้ามเหล่านี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
ก่อนรัฐประหาร สื่อต่างประเทศและสื่ออิสระดำเนินการได้อย่างค่อนข้างเสรี โดยมีข้อยกเว้นสำหรับการรายงานเรื่องที่พิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศหรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กฎหมายระบุว่า รัฐบาลอาจจำกัดเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นได้เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน คุ้มครองสิทธิของบุคคล ปกป้องศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และป้องกันการลบหลู่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจที่มีหมายศาลสามารถจำกัดหรือยึดสิ่งพิมพ์และอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ เป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือกระทำผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน
เสรีภาพในการพูด: ประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 112 หรือ ที่เรียกกันว่า กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหนดว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ดูหมิ่น หรือข่มขู่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ถือเป็นความผิดทางอาญาโดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปีต่อหนึ่งกระทง กฎหมายยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องฟ้องบุคคลอื่นเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ด้วย โดยมีประชาชนยื่นฟ้องกันในลักษณะดังกล่าวหลายคดี รัฐบาลอาจดำเนินการพิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผย และอาจมีการห้ามเผยแพร่เนื้อหาของความผิดที่กล่าวหาออกสู่สาธารณชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งต่างประเทศและในประเทศรวมทั้งนักวิชาการแสดงความกังวลว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
สถิติอย่างเป็นทางการมีความแตกต่างกันในระหว่างหน่วยงาน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จำนวนการดำเนินคดีผู้กระทำผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีรายงานในปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่นที่ได้รับการนับถืออย่างมากระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน จำนวนคดีใหม่เกี่ยวกับการกระทำผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีทั้งหมด 15 คดี โดยในบางคดี จำเลยได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวอ้างก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม แต่ทางการไม่ได้ดำเนินคดี จนกระทั่งหลังรัฐประหาร ไอลอว์ (iLaw) ระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน รัฐบาลควบคุมตัวบุคคล 20 คน ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ศาลอาญาออกหมายจับนางสาวฉัตรวดี อมรพัฒน์ พลเมืองอังกฤษที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ฐานโพสต์วิดีโอต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์บนเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 30 ปี นักดนตรีคนหนึ่งจากจังหวัดอุบลราชธานีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยการโพสต์ข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ในเฟสบุ๊ค หลังจากชายคนดังกล่าวสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 13 ปี สำหรับการฝ่าฝืนกฎหมายข้อแรก และ 22 เดือน สำหรับการฝ่าฝืนกฎหมายข้อที่ 2
ทางการจับกุมนายปติวัฒน์ สาหร่ายยิ้ม (สาหร่ายแย้ม — ผู้แปล) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม และนางสาวภรณ์ทิพย์ มั่นคง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากทั้งคู่แสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งแสดงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกครบรอบ 40 ปีของการประท้วงที่นำโดยนักศึกษา จากข้อมูลขององค์กรทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัวของบุคคลทั้งสอง และจนถึงเดือนกันยายน พวกเขาก็ยังคงถูกคุมขังอยู่
ประชาชนดำเนินการฟ้องร้องบุคคล ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผู้โดยสารรายหนึ่งยื่นฟ้องนายยุทธศักดิ์ กังวานวงศ์สกุล คนขับแท็กซี่ โดยอ้างว่า นายยุทธศักดิ์ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ศาลอาญาในกรุงเทพพิพากษาจำคุกนายยุทธศักดิ์ 30 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เสรีภาพของสื่อมวลชน: หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานีส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่สถานีวิทยุเอเอ็มและเอฟเอ็มที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าเป็นคลื่น ”ปกติ” รวม 524 สถานี กองทัพและตำรวจถือกรรมสิทธิ์ในสถานีวิทยุที่เหลืออีก 244 สถานี ซึ่งเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของสื่อกระจายเสียงของรัฐได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ หน่วยงานรัฐปล่อยเช่าสถานีวิทยุและโทรทัศน์เกือบทุกแห่งให้แก่บริษัทเอกชนที่จัดทำรายการที่มีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ให้กับสถานี
กฎหมายกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ และแบ่งใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ออกเป็นสามประเภท (ใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อบริการชุมชน และใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อการพาณิชย์ทางธุรกิจ) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลสื่อกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียงต้องต่อใบอนุญาตทุกเจ็ดปี สัญญาณวิทยุต้องถ่ายทอดผ่านเครื่องส่งของรัฐบาล กฎหมายกำหนดให้สถานีวิทยุทุกแห่งต้องถ่ายทอดรายการข่าวที่รัฐบาลผลิตวันละสองครั้ง ช่วงละ 30 นาที และจะต้องขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นอกจากนี้ สถานีวิทยุชุมชนหลายพันแห่งทั่วประเทศดำเนินงานภายใต้ระบบอนุญาตประกอบกิจการที่ต่างไป กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลใหม่จำนวน 24 ช่อง
ความรุนแรงและการคุกคาม: ระหว่างการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำไปสู่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สมาชิกกลุ่มผู้ประท้วงคุกคามผู้สื่อข่าว และกล่าวหาช่องทางสื่อหลายแห่งว่ามีอคติทางการเมือง หลังรัฐประหาร คสช. เรียกให้บุคคลหลายร้อยคน ซึ่งรวมไปถึงผู้สื่อข่าว เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร มิฉะนั้น จะต้องถูกจำคุกหรือยึดทรัพย์
ตัวอย่างเช่น ทหารเรียกให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ และกักตัวไว้เป็นเวลาหลายวัน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ภายหลังคำแถลงแรกของพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารหลังจากเข้ายึดอำนาจ นางสาววาสนา นาน่วม และนายศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวสองคนตั้งคำถามกับพลเอกประยุทธ์เกี่ยวกับการกำหนดกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้ง และถามว่าพลเอกประยุทธ์จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ วันรุ่งขึ้น ทหารเรียกให้ทั้งสองเข้าพบ และขอให้พวกเขา “อย่าตั้งคำถามในลักษณะเช่นนั้นอีก” และ “การถามในลักษณะจี้ถามเช่นนั้นไม่เหมาะสม” เพราะสื่อควรจะ “ให้กำลังใจ” กับพลเอกประยุทธ์มากกว่า
ในเดือนกรกฎาคม ทางการจับกุมผู้สื่อข่าวสองคนซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ Bi-Midday Sun ของประเทศพม่า หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จึงส่งมอบตัวผู้สื่อข่าวทั้งสองให้กับตำรวจสันติบาลของพม่า ที่เขตชายแดนในฝั่งประเทศพม่า และทั้งสองถูกทางการพม่าตั้งข้อหาฝ่าฝืนบทบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของพม่า เนื่องจากตีพิมพ์เรื่องราวที่เป็นเท็จว่า นางอองซาน ซูจีได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว
การตรวจพิจารณสิ่งพิมพ์ก่อนเผยแพร่ หรือการจำกัดเนื้อหา: หลังรัฐประหาร คสช. ระงับเนื้อหาที่พิจารณาว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือมีลักษณะคุกคามต่อคสช. อีกทั้งสื่อจำนวนมากยังตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอ หลังจากยึดอำนาจ คสช. ปิดช่องโทรทัศน์ทุกช่องทันทีเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง และสั่งให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่อง ซึ่งรวมถึงสถานีวิทยุและโทรทัศน์ประเภทดาวเทียม การกระจายเสียง และเคเบิล ให้หยุดการดำเนินรายการตามปกติและออกอากาศเพียงแค่สื่อของกองทัพเท่านั้น แม้ว่าสถานีโทรทัศน์ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมทั้งหมดจะกลับมาออกอากาศตามปกติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม แต่โทรทัศน์ช่องต่างๆ ก็งดเว้นการรายงานข่าวที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คสช. นอกจากนี้ คสช.ยังมีคำสั่งห้ามไม่ให้สื่อสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐบาลคณะก่อน นักวิชาการ ตุลาการ หรือสมาชิกขององค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจ “ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความสับสน” แก่ประชาชน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน กสทช. และ คสช. ประกาศว่า ช่องโทรทัศน์ส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม โทรทัศน์ดาวเทียม 13 ช่อง และโทรทัศน์ดิจิตอลหนึ่งช่องยังคงถูกระงับการออกอากาศตามคำสั่งของคสช. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม คสช. อนุมัติให้ช่องโทรทัศน์ดาวเทียมที่เหลือกลับมาออกอากาศได้ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด แต่ต้องหลังจากที่สถานีเหล่านั้นลงนามบันทึกความเข้าใจกับกสทช. ก่อนเท่านั้น โดยบันทึกดังกล่าวกำหนดให้สถานีเปลี่ยนชื่อ และไม่ออกอากาศเนื้อหาที่พิจารณาว่า “ก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมือง” คสช.ห้ามไม่ให้สถานีวิทยุชุมชน 4,300 แห่ง และ สถานีวิทยุผิดกฎหมาย 3,000 แห่งดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน คสช. ประกาศให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสอดส่องเนื้อหาของสื่อทุกประเภท รวมไปถึงสื่อระหว่างประเทศด้วย คสช. มอบหมายหน้าที่ให้กสทช. ดูแลสื่อกระจายเสียง ตำรวจสันติบาลตรวจสอบสื่อสิ่งพิมพ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารติดตามสื่อออนไลน์ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศควบคุมดูแลสื่อต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คสช. ออกประกาศสั่งห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ทหารในทุกกรณี และให้สื่อสิ่งพิมพ์ ตลอดจนโทรทัศน์ วิทยุ โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และผู้ดูแลสื่ออนไลน์ ตีพิมพ์หรือออกอากาศข้อมูลใดก็ตามที่วิจารณ์การกระทำของทหาร นอกจานี้ คสช. ยังสั่งห้ามสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์และรายการวิทยุนำเสนอความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆ หรือเชิญแขกรับเชิญที่อาจให้ความเห็นในด้านลบต่อคสช. มาร่วมรายการของสถานี ทหารยังระงับข้อมูลในสื่อกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ ที่พิจารณาว่า บิดเบือนไปจากความจริง หรือมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน หลังจากมีคำวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชน คสช. จึงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การระงับการวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีผลบังคับใช้เฉพาะกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเจตนามุ่งร้ายและข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.เท่านั้น นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกประกาศอีกฉบับในเวลาเดียวกันระบุว่า ในกรณีที่สื่อฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว จะถูกสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพโดยองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ แทนที่จะถูกบังคับให้ปิดกิจการตามคำสั่งเดิม
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งยังคงประกาศใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอยู่นั้นให้อำนาจรัฐบาลในการ “ห้ามการพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล” นอกจากนี้ พระราชกำหนดฯ ดังกล่าวยังให้อำนาจแก่รัฐบาลในการตรวจสอบข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ
กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท/ความมั่นคงของประเทศ: ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาโดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (6,000 เหรียญสหรัฐ) และจำคุกไม่เกินสองปี ในช่วงปีที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษาคดีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองฐานหมิ่นประมาทและโฆษณาหมิ่นประมาทหลายคดี เมื่อวันที่ 17 เมษายน เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพร้อมด้วยข้อหาอื่นๆ กับนายอลัน มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวสองคนจากเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “ภูเก็ตหวาน” เนื่องจากเว็บไซต์นำเสนอข้อความที่ตัดตอนจากรายงานที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองทัพเรือของไทยมีส่วนในการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ผู้สื่อข่าวทั้งสองได้รับอนุมัติประกันตัว การไต่สวนคดีครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 (ดูหมวด 5 ประกอบด้วย)
เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต
ภายหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกในเดือนพฤษภาคมและรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ทหารได้เรียกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าพบเพื่อขอความร่วมมือในการสอดส่องและลบข้อมูลที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ออกรายงานกล่าวว่า ระหว่างสัปดาห์ของวันที่ 20-27 พฤษภาคม ภายใต้บทบัญญัติของกฎอัยการศึก กระทรวงฯ ได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และที่อยู่ของเว็บไซต์ (Uniform Resource Locator หรือ URL) 219 แห่ง ที่พิจารณาว่ามีแนวโน้มทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม กระทรวงฯ ประกาศว่า มีแผนจะส่งคณะผู้แทนไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อขอให้องค์กรต่างๆ เช่น Google Facebook และ LINE ร่วมมือกับคสช. ในการ “ลบเนื้อหาที่ปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งออก” และในวันเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังได้แจ้งกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายในประเทศและผู้ให้บริการเกตเวย์ด้วยว่า คสทช. จะปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ 120 แห่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ ผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึง Facebook ได้เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงในวันที่ 29 พฤษภาคม รายงานของ Citizen Lab ซึ่งเป็นกลุ่มทำวิจัยในเมืองโตรอนโตที่ศึกษาการควบคุมข้อมูลกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม ถึง 26 พฤษภาคม URL 56 แห่งถูกปิดกั้น ซึ่ง URL เหล่านี้รวมไปถึงเว็บไซต์ข่าวและกลุ่มปฏิรูปทางการเมือง โดย 29 แห่งมีทั้งหน้าเว็บไซต์ บล็อก บทความข่าวสาร และเพจ Facebook ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมือง ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์คสช. และสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ทางการจะถือว่า ข้อความใดที่ประกาศบนเครือข่ายสังคมออนไลน์สนับสนุนให้บุคคลประท้วงต่อต้านรัฐประหารหรือคสช. เป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ รักษาการผบ. ตร. ยังเตือนด้วยว่า ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กด “ไลค์” ข้อความหรือเพจ Facebook ที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐประหารจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทางการขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต อีกทั้ง ขอให้ประชาชนร่วมเป็น “ลูกเสือไซเบอร์” คอยรายงานกิจกรรมทางการเมืองใดก็ตามบนโลกออนไลน์ให้คสช. ทราบ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยังจัดตั้งหน้า Facebook ของโครงการ “สายตรวจอินเทอร์เน็ต” และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเป็นเวทีให้บุคคลรายงานกิจกรรมลักษณะดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศแผนการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงฯ กับโรงเรียน 200 แห่งว่าด้วยการจัดตั้งโครงการลูกเสือไซเบอร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสอดส่องกิจกรรมที่ “ขัดต่อข้อกฎหมายและศีลธรรม” บนเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์
กฎหมายกำหนดขั้นตอนการเข้าค้นและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการสืบสวนคดีอาชญากรรมบางประเภท และให้อำนาจแก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการร้องขอและบังคับให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ การลงประกาศข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความปลอดภัยของประชาชน ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อนจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท (3,000 เหรียญสหรัฐ) หากการกระทำใดมีผลให้เกิดการเสียชีวิตของบุคคลจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปีและปรับไม่เกิน 300,000 บาท (9,000 เหรียญสหรัฐ) กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลผู้ใช้ทุกคนเป็นเวลา 90 วันในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นด้วยหรือตั้งใจสนับสนุนการตีพิมพ์ข้อความผิดกฎหมายก็จะมีความผิดด้วย การฟ้องร้องดำเนินคดีส่วนใหญ่ยังคงเนื่องมาจากมีเนื้อหาที่ไม่สมควร กฎหมายกำหนดให้ทางการต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้เสมอไป นักเคลื่อนไหวด้านสื่อวิจารณ์กฎหมายฉบับนี้โดยกล่าวว่า คำจำกัดความของการกระทำผิดที่ระบุไว้ครอบคลุมกว้างขวางเกินไปและบทลงโทษบางบทก็รุนแรงเกินไป
ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร ยังมีการตรวจสอบข้อความก่อนนำขึ้นอินเทอร์เน็ต และการใช้กฎหมายยังคงขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในบางเรื่อง รัฐบาลสอดส่องอย่างใกล้ชิดและสั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์หลายพันแห่งที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เว็บบอร์ดและวงเสวนาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเลือกที่จะตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอและคอยสอดส่องการเสวนาอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสั่งปิดกั้น นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ระงับหรือจำกัดการเข้าถึงคอลัมน์แสดงความเห็นจากประชาชนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลตั้งข้อจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบางประการ และมีรายงานว่า รัฐบาลตรวจสอบห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายอย่างเหมาะสม โดยทั่วไป บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นโดยสันติทางอินเทอร์เน็ตรวมถึงการใช้อีเมล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาหลายประการ เช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภาพลามกอนาจาร และการพนัน ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางในเขตเมือง ซึ่งรวมถึงโครงการของรัฐบาลในการให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะไร้สายความเร็วสูง (WiFi) ที่จำกัดการเข้าถึงและไม่เสียค่าใช้จ่ายตามจุดพร้อมโยง (hotspot) 300,000 แห่งในเมืองและโรงเรียน
ฝ่ายบังคับการปราบปรามอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมได้รับคำร้องเรียน 1,047 เรื่อง และได้ดำเนินการสอบสวน 145 คดี ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง 73 คดี ในทางตรงข้าม ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ฝ่ายฯ ได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 611 เรื่อง และได้ดำเนินการสอบสวน 146 คดี อนึ่ง ทางการได้รับคำร้องเรียน 47 เรื่องในปีพ.ศ. 2552 ได้รับ 285 เรื่องในปีพ.ศ. 2553 และ 776 เรื่อง ในปีพ.ศ. 2554 โดยคดีส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหาหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การพนันและภาพลามกอนาจาร หลังรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลทหารปิดกั้น URL หลายร้อยแห่ง อาทิ URL ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ องค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อต่างๆ สถิติของปีพ.ศ. 2555 ระบุว่า ตั้งแต่มีการผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทางการได้ปิดกั้น URL ไปแล้วกว่า 102,000 แห่ง โดยร้อยละ 76 มีสาเหตุเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม
หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามไม่ให้นักวิชาการแสดงความคิดเห็นสาธารณะแก่สื่อ หากความคิดเห็นเหล่านั้นมีลักษณะที่คสช. เห็นว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือมีแนวโน้มทำให้เกิดความไม่สงบ ในเดือนกรกฎาคม คสช. ปิดกั้นสื่อและสื่อสังคมออนไลน์ทุกชนิดไม่ให้เผยแพร่ความคิดเห็นของนักวิชาการอิสระและบุคคลอื่นๆ ในลักษณะที่อาจ “ก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความสับสนให้กับสังคม หรือนำไปสู่การใช้ความรุนแรง”
คสช.มีคำสั่งให้นักวิชาการ นักเขียน และบุคคลอื่นๆ 35 คน มารายงานตัวกับทหาร มิฉะนั้น จะต้องโทษจำคุกหรือยึดทรัพย์ บุคคลเหล่านี้รวมไปถึงผู้ที่ศึกษาค้นคว้าและเขียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในนักวิชาการที่ถูกเรียกให้รายงานตัว ซึ่งเป็นอาจารย์ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตนั้น ปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวตามหมายเรียก โดยอ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม หลังจากที่ไม่มารายงานตัวตามหมายเรียกเป็นครั้งที่สอง คสช. มีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางของนายปวิน และออกหมายจับในวันที่ 13 มิถุนายน เมื่อเดือนกรกฎาคม คสช. ยกเลิกหนังสือเดินทางของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง หลังจากที่ศาลอาญาออกหมายจับนายสมศักดิ์ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
หลังรัฐประหาร คสช. ควบคุมตัวนักวิชาการจำนวนมากโดยพลการในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร นักวิชาการ 77 คนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลอื่นที่ถูกทหารควบคุมตัวไว้ อีกทั้งเรียกร้องคสช. ให้ยกเลิกการควบคุมสื่อและให้เคารพเสรีภาพทางวิชาการ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ตำรวจบังคับให้สถานแสดงผลงานศิลปะแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ยกเลิกการฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ซึ่งสร้างมาจากนวนิยายอมตะแนว dystopia (นิยายที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโลกในจินตนาการที่โหดร้ายไม่น่าอยู่ – ผู้แปล) ที่เขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ เพราะพิจารณาเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีนัยทางการเมืองและเกี่ยวโยงกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
พันเอก นพดล ท้าวฤทธิ์ (พันเอก นฤดล ท้าวฤทธิ์ – ผู้แปล) ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ส่งจดหมายถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ “ขอความร่วมมือ” ให้มหาวิทยาลัยยกเลิกการสัมนนาทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในวันที่ 8 สิงหาคม เพื่อ “ป้องกันไม่ให้เกิดความเห็นต่างทางทัศนคติทางการเมืองขึ้นมาอีก” อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้จัดงานยืนยันจัดกิจกรรมตามเดิม โดยในบรรดาผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คนนั้น ตามรายงานระบุว่ารวมไปถึงตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนายด้วย
กฎหมายให้รัฐมีอำนาจสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ที่ “หมิ่นราชวงศ์ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ บ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของประเทศ เหยียดหยามลัทธิความเชื่อ ดูหมิ่นบุคคลที่ทรงเกียรติ ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม หรือมีฉากการแสดงออกทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง” กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ นอกจากนี้ เจ้าของโรงภาพยนตร์และผู้แพร่ภาพกระจายเสียงมักจะตัดต่อเนื้อหาภาพยนตร์ของตนก่อนส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ
ข. เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม
เสรีภาพในการชุมนุม
ก่อนหน้ารัฐประหาร รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการจัดตั้งสมาคม และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าว แต่หลังจากรัฐประหารและการระงับใช้รัฐธรรมนูญ ผู้นำรัฐประหารห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ก็กำหนดบทลงโทษผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองใดๆ ก็ตาม กฎอัยการศึกซึ่งให้ทหารมีอำนาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้นยังคงมีผลบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรเมื่อสิ้นปี นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่ายังคงมีข้อจำกัดกิจกรรมการประท้วงอยู่โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเช่นกัน
ภายหลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น สวมเครื่องแต่งกายที่มีข้อความสนับสนุนประชาธิปไตย และรับประทานขนมปังแซนด์วิช อ่านนวนิยายเรื่อง 1984 ที่แต่งโดยจอร์จ ออร์เวลล์ รวมทั้งชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ตามแบบภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ในที่สาธารณะ แต่ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารหรือคสช. ทางการกลับไม่ขัดขวางการเดินขบวนสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนทหาร
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และพังงา ออกบทบัญญัติของตนเองว่าด้วยการห้ามแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะผู้ที่มาจากกัมพูชา พม่า และลาว ทำการชุมนุม ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครห้ามการชุมนุมของแรงงานอพยพเกินกว่า 5 คนขึ้นไป อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการบังคับใช้บทบัญญัติเหล่านี้อย่างเข้มงวดโดยเฉพาะหากการชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่ส่วนบุคคล นายจ้างและองค์การนอกภาครัฐอาจขออนุญาตจากทางการให้แรงงานต่างด้าวจัดงานชุมนุมทางวัฒนธรรมได้
ทหารยังห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ในเดือนกรกฎาคม คสช. เรียกบรรดาผู้นำขององค์กรมุสลิมมารายงานตัว หลังจากที่องค์กรจัดการเดินขบวนประท้วงหน้าสถานทูตอิสราเอลเพื่อเรียกร้องสันติภาพในฉนวนกาซา นอกจากนี้ ทหารยังสั่งให้องค์การนิรโทษกรรมสากลหยุดการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา และเมื่อเดือนสิงหาคม ได้สลายการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่ตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจับกุมผู้สนับสนุนการปฏิรูปพลังงานหลังจากที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเริ่มออกเดินทางตามแผนการเดินขบวน 160 กิโลเมตรจากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ ได้หนึ่งวัน ทางการตั้งข้อหาฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ก็ปล่อยตัวแกนนำทั้งหมดในวันที่ 23 สิงหาคม หลังได้รับอิสรภาพ ผู้ประท้วงเดินขบวนต่อเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยมีสมาชิกต่อกลุ่มน้อยกว่า 5 คนและไม่แสดงสัญลักษณ์ใดๆ
เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม
ก่อนรัฐประหาร รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมโดยเฉพาะ แม้จะอนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้เพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ รักษาความสงบเรียบร้อยหรือปกป้องศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” แม้ว่าก่อนรัฐประหาร รัฐบาลจะเคารพเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมโดยทั่วไป แต่สมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงรายงานว่า ทั้งรัฐบาลพลเรือนที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารและรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นในภายหลังยังคงปฏิเสธคำร้องขอขึ้นทะเบียนสมาคมของพวกเขาเป็นมูลนิธิหรือสมาคมอย่างเป็นทางการ จนถึงเดือนสิงหาคม การฟ้องร้องคดีเพื่อขอขึ้นทะเบียนสมาคมโดยสมาชิกกลุ่มฝ่าหลุนกงยังคงอยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังศาลปกครองยกฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้
กฎหมายห้ามการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามกฎหมาย
ค. เสรีภาพในการนับถือศาสนา
เชิญอ่านรายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.state.gov/religiousfreedomreport/
ง. เสรีภาพในการเดินทาง บุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ การคุ้มครองผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติ
รัฐธรรมนูญฉบับที่ปัจจุบันถูกระงับไปแล้วให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ และการเดินทางกลับประเทศ โดยทั่วไป รัฐบาลเคารพในสิทธิดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณีเพื่อ “รักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การวางผังเมืองและการวางผังประเทศ หรือสวัสดิภาพของเยาวชน”
โดยทั่วไป รัฐบาลให้ความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติและองค์กรด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยที่เตรียมกลับประเทศ ผู้แสวงหาที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติและบุคคลที่น่าห่วงใยอื่นๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง การดำเนินงานความร่วมมือกับสำนักงานฯ ในการคุ้มครองบุคคลบางกลุ่มยังคงเป็นๆไปอย่างอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในการให้ความคุ้มครองบุคคลทุกสัญชาติ
ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจากประเทศพม่าที่อยู่นอกค่ายพักพิงตามชายแดนที่กำหนดซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงญาที่มาทางเรือประหนึ่งเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลที่ถูกระบุสถานภาพว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจับและกักกันตามกฎหมาย รัฐบาลยังคงทำงานร่วมกับผู้บริจาคเงินและองค์การระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาในขณะอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานพักพิง แม้จะมีการนำกระบวนการอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันกลับมาใช้ใหม่ในปีพ.ศ. 2556 แต่กระบวนการฯ ดังกล่าวซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปีพ.ศ. 2554 ได้ยุติลงในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ หลังจากทางการปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยจำนวน 25 คนแล้ว ทางการยังเรียกตัวพวกเขาให้กลับมาที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลูก่อนกำหนดอีกด้วย
การเดินทางภายในประเทศ: รัฐบาลยังคงจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ถือบัตรประจำตัวซึ่งรัฐบาลออกให้ ผู้ถือบัตรเหล่านี้มักถูกห้ามเดินทางออกนอกอำเภอที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากนายอำเภอ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหากจะเดินทางออกนอกจังหวัด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก 45-60 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย องค์การด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเงินสินบนเป็นการตอบแทนกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากอำเภอหนึ่งไปยังอีกอำเภอหนึ่ง
ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนติดกับประเทศพม่าไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางและตามกฎหมาย ต้องถูกจำกัดบริเวณอยู่เพียงในค่ายผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วจำนวนหนึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางระหว่างค่ายผู้ลี้ภัยได้ ในปีก่อนๆ ที่ยังไม่มีการบังคับใช้นโยบายนี้ และผู้ลี้ภัยจำนวนมากมักออกจากค่ายเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหางานทำในพื้นที่ใกล้ค่ายอพยพ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ผู้ควบคุมดูแลค่ายอพยพต่างเริ่มบังคับใช้นโยบายที่อนุญาตเฉพาะผู้ลี้ภัยที่มีใบอนุญาตออกนอกค่ายให้สามารถเดินทางออกนอกค่ายได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะออกนอกค่ายเพื่อไปเข้าเรียนที่โรงเรียนในค่ายอพยพอีกแห่ง พบแพทย์ตามนัดหมายที่โรงพยาบาล หรือไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หากผู้ลี้ภัยถูกจับนอกเขตค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยจะถูกปรับ กักกันตัว ถอนทะเบียนและเนรเทศกลับประเทศ
ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไม่มีสิทธิเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระบวนการนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทางสามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ ทางการไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีแค่ใบอนุญาตทํางานเดินทางออกนอกจังหวัดที่ตนทำงานอยู่ได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ
ทางการกำหนดว่า บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ซึ่งรวมถึง ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคนต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถ้าต้องการเดินทางภายในประเทศ
การเดินทางไปต่างประเทศ: บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เช่น ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคน ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเช่นกัน ถ้าต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแต่ไม่ได้รับการรับรองฐานะเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลไทยต้องรอใบอนุญาตให้ออกจากประเทศ (exit permit) มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
การคุ้มครองผู้ลี้ภัย
การดูแลผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงของรัฐบาลยังคงมีลักษณะไม่แน่นอนสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมาก และให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยเพื่อไม่ให้ถูกผลักดันหรือถูกส่งกลับประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ที่หนีการสู้รบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนมาพักในไทยได้จนกว่าการสู้รบจะยุติ นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวพม่าที่ได้รับการรับรองสถานภาพจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติรวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและอาศัยอยู่ในค่ายอพยพของทางการได้รับอนุญาตให้โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
การเข้าพักค่ายพักพิง: กฎหมายไม่มีการให้สถานะผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ถ้าบุคคลเหล่านี้ถูกจับตัวได้ จะถูกนำไปกักกันอย่างไม่มีกำหนดที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติยังคงถูกจำกัดการให้ความคุ้มครองแก่ชาวม้งและชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการรวมทั้งชาวเกาหลีเหนือด้วย การอนุญาตให้สำนักงานฯ เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินการสัมภาษณ์พิจารณาสถานภาพรวมทั้งสอดส่องดูแลผู้แสวงหาที่พักพิงที่เพิ่งมาถึงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงปีที่ผ่านมา สำนักงานฯ สามารถเข้าศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันชาวโรฮิงญาซึ่งได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดระนองที่อยู่ชายฝั่งทะเลและจังหวัดสงขลาที่อยู่ภาคใต้เพื่อดำเนินการระบุสถานภาพผู้ลี้ภัยได้ระดับหนึ่ง ทางการอนุญาตประเทศที่รับผู้แสวงหาที่พักพิงไปตั้งหลักแหล่งในประเทศของตนให้ดำเนินขั้นตอนต่างๆ ที่ศูนย์กักกันฯ ได้ ส่วนองค์การด้านมนุษยธรรมก็ได้รับอนุญาตให้จัดให้บริการทางสุขภาพ อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ด้วย
รัฐบาลยังคงอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติสอดส่องการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่ากว่า 119,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่า แต่ยังคงห้ามสำนักงานฯ ให้ความช่วยเหลือใดๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ องค์การนอกภาครัฐซึ่งได้รับเงินทุนจากประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เช่น การรักษาพยาบาล อาหาร การศึกษา ที่พักพิง น้ำ บริการสุขอนามัย ที่อาศัยและบริการอื่นๆ เจ้าหน้าที่ทางการได้ออกบัตรประจำตัวแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายที่ขึ้นทะเบียนแล้ว
เมื่อถึงเดือนกันยายน รัฐบาลอำนวยความสะดวกแก่ชาวพม่าจำนวน 4,998 คนจากค่ายลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในเมืองที่ไม่ใช่ชาวพม่าจำนวน 465 คนในการโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม 10 ประเทศ ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามชายแดนทั้งเก้าแห่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการไม่มีสิทธิโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
นับตั้งแต่ทางการยกเลิกคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาสถานะภาพผู้หนีภัยการสู้รบ (Provincial Admission Board: PAB) ในปีพ.ศ. 2548 ประเมินว่ามีชาวพม่าประมาณ 60,000 คน ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลกลับมาใช้กระบวนการคัดกรองที่เคยใช้อย่างจำกัดในการพิจารณากรณีผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการรวมสมาชิกครอบครัวเท่านั้น (บิดามารดา-บุตร หรือ สามีภรรยา) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติยื่นบัญชีรายชื่อของ 1,000 ครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคล 1,352 คนในบัญชีที่ 2 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 และเมื่อถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ทางการอนุมัติการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 467 กรณี (618 คน) จากกลุ่มนี้ บุคคลเหล่านี้ล้วนมาจากค่ายลี้ภัยในจังหวัดตากทั้งหมด มีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ปราศจากทั้งการคุ้มครองหรือการดูแลด้านสุขอนามัยซึ่งรวมอยู่ในบัญชีที่ 2 หลังจากเงื่อนไขถูกขยายออกไปนอกเหนือจากเอกภาพของครอบครัวและการรวมสมาชิกครอบครัว
การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย: รัฐบาลให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยโดยไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหากชีวิตหรือเสรีภาพของคนเหล่านี้จะถูกคุกคามอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สถานภาพการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมหรือทัศนคติทางการเมือง และในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนหลายพันคนได้เข้าประเทศและค่ายลี้ภัย ทว่า องค์การนอกภาครัฐประเมินว่า มีผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าจำนวนหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการสู้รบที่ชายแดนถูกหน่วยทหารที่ชายแดนส่งตัวกลับพม่าก่อนที่ผู้แสวงหาที่พักพิงจะเดินทางถึงค่ายผู้ลี้ภัย ส่วนนอกค่ายผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่ทางการจะไม่แยกความแตกต่างระหว่างชาวพม่าที่แสวงที่พักพิงกับชาวพม่าที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร โดยพิจารณาว่า ทุกคนเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยทั่วไป ผู้ที่ถูกจับจะถูกทางการนำไปส่งที่ชายแดนและส่งกลับประเทศ
ในช่วงแปดเดือนแรกของปีที่ผ่านมา ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากส่งผู้ย้ายถิ่นกลับประเทศ 78,986 คน และในช่วงเดียวกันนั้น ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดระนองได้ส่งผู้ย้ายถิ่นกลับประเทศ 3,508 คน แม้บางคนอาจมีข้ออ้างในการขอแสวงหาที่พักพิง
ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยังคงจับกุมและกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัยในกรุงเทพซึ่งมีผู้หญิงและเด็กด้วย ผู้ถูกกักขังประมาณ 250 คนมาจากลาว กัมพูชาและพม่า และประมาณ 130 คนมาจากเกาหลีเหนือ ทางการประเมินว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งผู้ถูกกักกันกลับประเทศเดิมประมาณ 200-300 คนต่อสัปดาห์ ทางการมักกักขังชาวลาว พม่าและกัมพูชาเป็นเวลาห้าวันโดยประมาณก่อนจะส่งกลับประเทศเดิม เจ้าหน้าที่มักกักขังชาวต่างด้าวที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตของตน แสวงหาการย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่สาม ปฏิเสธที่จะกลับประเทศเดิม หรือไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ่ายค่าเดินทางกลับประเทศเดิมเป็นเวลาหนึ่งปีหรือกว่านั้น
การกระทำทารุณต่อผู้ลี้ภัย: รายงานข่าวของสื่อมวลชน องค์การ Human Right Watch และแหล่งอื่นๆ กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนจากผู้ลักลอบขนส่งและค้ามนุษย์ที่กักขังชาวโรฮิงญาบนเกาะในประเทศไทยและในภาคใต้ และสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์
ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้กักกันคนประมาณ 1,000 คนในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานพักพิงต่างๆ ซึ่งในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ในเดือนสิงหาคม ผู้อพยพประมาณ 750 คนยังคงถูกกักขังอยู่ ในจำนวนนั้น มีประมาณ 500 คนที่คาดว่าเป็นชาวบังกลาเทศ
องค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีสภาพแออัดและขาดโอกาสในการออกกำลังกาย ศูนย์กักกันบางแห่งที่มีชาวโรฮิงญาถูกคุมขังขาดกลไกการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ และ/หรือไม่ได้ดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยอย่างพอเพียง หรือไม่อนุญาตให้ออกกำลังกาย ด้วยเกรงว่า ผู้ถูกกักขังจะหลบหนี มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตอย่างน้อยหกคนในระหว่างการควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั้งในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือในระหว่างการนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แหล่งข้อมูลเชื่อว่า อาจมีชาวโรฮิงญาอย่างน้อยอีก 100 คน เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บหลังถูกปล่อยทิ้งไว้ที่ค่ายในป่าเมื่อการจู่โจมของเจ้าหน้าที่บีบให้ผู้ลักลอบขนส่งมนุษย์ต้องย้ายหนี
เจ้าหน้าที่รัฐอนุญาตให้สตรีและเด็กซึ่งรวมถึงผู้เยาว์ที่ไม่มีผู้ปกครองดูแลให้พักในสถานพักพิงที่บริหารโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นมักรายงานว่า มีบุคลากรไม่เพียงพอในการดำเนินการบริหารอาคารสถานที่และให้บริการทางจิตสังคมแก่ผู้พำนักอย่างพอเพียง แม้ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นจะได้รับคำแนะนำไม่ให้ออกจากสถานพักพิงเพื่อความปลอดภัยของตนเอง แต่บางคนก็ตัดสินใจออกไป หากบุคคลเหล่านี้ถูกตำรวจจับ พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับไปยังสถานพักพิงหรือส่งไปยังศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ องค์การนอกภาครัฐและสื่อรายงานว่า พ่อค้าคนกลางจากเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์สามารถเข้าสถานที่ส่วนบุคคลเหล่านั้นได้ด้วยการปลอมเป็นนักมนุษยธรรมหรือล่าม และภายหลังก็จะดำเนินการช่วยคนออกจากสถานพักพิงโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกต้องอย่างเป็นทางการ หลังจากมีข่าวเด็กหญิงอายุ 4 ขวบในสถานพักพิงแห่งหนึ่งถูกเด็กในสถานพักพิงเดียวกันข่มขืนในปีพ.ศ. 2556 ก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กักขังผู้เยาว์เพศชายไว้กับผู้ใหญ่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่แออัดมาก
เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองถูกกล่าวหาว่า สอบถามชาวโรฮิงญาที่ถูกกักที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า สมัครใจกลับประเทศหรือไม่ แม้ว่าในกรณีส่วนใหญ่ ประเทศพม่าจะไม่ยอมรับพวกเขาว่ามีฐานะเป็นพลเมือง มีการกล่าวอ้างว่า ทางการได้ดำเนินการ “ส่งกลับประเทศด้วยความสมัครใจของตนเอง” แก่ชาวโรฮิงญาจำนวน 250 คนให้ข้ามพรมแดนพม่าใกล้จังหวัดระนอง โดยแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละ 5-10 คน ในแต่ละต่อครั้ง บางคนที่เจ้าหน้าที่พบว่ามีสัญชาติบังคลาเทศก็จะถูกส่งกลับบังคลาเทศ รัฐบาลมีแผนจะรวบรวมและนำชาวโรฮิงญาไปยังศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ได้ดำเนินการขยาย อย่างไรก็ตาม จนถึงเดือนสิงหาคม การจัดหาเงินทุนและการก่อสร้างตามแผนดังกล่าวก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
การจ้างงาน: กฎหมายห้ามผู้ลี้ภัยทำงานในประเทศ รัฐบาลได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่มาจากประเทศพม่า กัมพูชาและลาว สามารถทำงานในภาคเศรษฐกิจบางส่วนได้อย่างถูกกฎหมายถ้าขึ้นทะเบียนกับทางการและเริ่มขั้นตอนขอทำเอกสารระบุสถานภาพของตน (ดูหมวด 7.ง.)
การเข้าถึงบริการพื้นฐาน: ประชาคมนานาชาติให้การบริการขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัยที่อาศัยภายในค่ายพักพิงระบบปิดตามชายแดนพม่า ระบบการส่งตัวทางการแพทย์ที่ซับซ้อนยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้ลี้ภัยในการขอรับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นบางประการ สำหรับประชากรผู้ลี้ภัยในเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร การเข้าถึงบริการพื้นฐานยังมีน้อย อีกทั้งคลินิกเพียงแห่งเดียวที่สนับสนุนโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติได้ปิดให้การรักษาพยาบาลเมื่อสิ้นเดือนกันยายนเนื่องจากขาดเงินทุน แต่เปลี่ยนไปเน้นการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในท้องที่แทนสำหรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน
เนื่องจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยทั่วไปไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษาของไทยได้ องค์การนอกภาครัฐหลายแห่งจึงยังคงจัดการศึกษาให้ โดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษา ในกรุงเทพมหานคร ชุมชนผู้ลี้ภัยบางแห่งจัดตั้งโรงเรียนของชุมชนเองเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของตน บางแห่งก็ขวนขวายเรียนภาษาไทย เพราะตามกฎหมายแล้ว โรงเรียนจะต้องรับเด็กที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องในระดับหนึ่งเข้าศึกษา ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรก็ตาม
การคุ้มครองชั่วคราว: ตลอดปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่หนีการสู้รบในรัฐไทยใหญ่ของพม่ายังคงข้ามเขตแดนเข้าประเทศไทย แม้ว่าผู้มีเชื้อชาติไทยใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าค่ายอพยพ ขอสถานภาพผู้ลี้ภัย หรือขอโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงสานต่อการหารือที่ดำเนินมายาวนานกับหน่วยงานทางการทหารของประเทศพม่าถึงเรื่องผู้ลี้ภัย การประชุมเหล่านี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีการส่งตะวกลับประเทศพม่าก่อนเวลาอันควรหรือโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ และยังเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่ผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพเก้าแห่งอีกด้วย แต่หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันกับผู้ลี้ภัยว่า ทางการไม่มีแผนที่จะส่งตัวพวกเขากลับ และหากเกิดการส่งกลับจริง ทางการจะดำเนินการตามหลักมนุษยธรรมสากล และรับรองว่า การส่งกลับที่เกิดขึ้นนั้นจะปลอดภัย มีเกียรติ และเป็นไปโดยสมัครใจ
บุคคลไร้สัญชาติ
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการระบุตัวบุคคลไร้สัญชาติ จัดหาเอกสารเพื่อแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ และเปิดทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานสามารถขอความเป็นพลเมืองไทยได้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติประเมินว่า มีบุคคลราว 440,000 คนในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือที่อาจถือว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือเสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ และองค์การนอกภาครัฐหลายแห่งระบุว่า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจจะมีสิทธิขอความเป็นพลเมืองไทยได้ โดยจำนวนมากเป็นชาวเขา (ดูหมวด 6 ชนพื้นเมือง ประกอบด้วย) นอกนั้นเป็นผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าที่ไม่มีหลักฐานแสดงสัญชาติพม่า ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการซึ่งเดิมคือชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยมีเอกสาร และบุคคลพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพตามชายแดน
การเกิดในประเทศไม่ทำให้ได้สัญชาติโดยอัตโนมัติ ตามกฎหมาย การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบิดาหรือมารดาหรือทั้งบิดาและมารดาที่เป็นคนไทย การสมรสกับชายไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจขอสัญชาติได้ตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ดูหมวด 6 เรื่อง “เด็ก” ประกอบด้วย) การแก้กฎหมายระหว่างปีที่ผ่านมาอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเชื้อสายไทยที่มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ชาวไทยพลัดถิ่น” และบุตรสามารถขอสถานภาพ “การมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด” ได้ แต่มีรายงานว่า การปฏิบัติตามกฎหมายนี้ค่อนข้างล่าช้าและไม่ค่อยสม่ำเสมอเนื่องจากกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมีความซับซ้อน และเนื้อหาบางส่วนภายในและระหว่างกฎระเบียบเหล่านี้ไม่ชัดเจน
กฎหมายกำหนดว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับสูติบัตรจากทางการไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร บิดามารดาหลายคนไม่ขอสูติบัตรให้แก่บุตรตนเพราะขั้นตอนยุ่งยากและต้องเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลเข้าไปที่ว่าการอำเภอ ตลอดจนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารนี้ ไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรียกเก็บเงินการทำสูติบัตรซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนสิงหาคม ทางการได้ดำเนินการออกสูติบัตรให้ที่ค่ายอพยพ 2,268 ใบ เมื่อเปรียบเทียบกับ 2,573 ใบตลอดทั้งปี พ.ศ. 2555 องค์การนอกภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานของรัฐที่จะออกสูติบัตรให้เด็กเกิดใหม่ทุกคน รัฐบาลพยายามออกสูติบัตรที่คั่งค้างให้แก่เด็กที่เกิดในช่วงปีพ.ศ.2551-2553 ที่ยังไม่มีสูติบัตรดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ออกสูติบัตรที่คั่งค้างในค่ายอพยพจังหวัดตากทุกค่ายแล้ว และกำลังพยายามทำเช่นเดียวกันกับค่ายอพยพทั้งหมด
ตามกฎหมาย เนื่องจากชาวเขาผู้ไร้สัญชาติถือว่าไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศ จึงไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งถูกจำกัดการเดินทาง นอกจากนี้ บุคคลไร้สัญชาติยังไม่อาจประกอบอาชีพบางประเภทที่สงวนไว้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย เช่น อาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ทางการจะอนุญาตให้ชาวเขาที่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทยทำการเกษตรเพื่อยังชีพได้ บุคคลไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการขอกู้เงินและการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล แม้ว่าเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าโรงเรียนรัฐได้ แต่การศึกษาก็ด้อยคุณภาพ ผู้บริหารโรงเรียนยังคงระบุสถานภาพ “พลเมืองที่ไม่ใช่ชาวไทย” บนประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของเด็กเหล่านี้ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุมัติเงินกู้สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยแก่เด็กเหล่านี้ โดยจะให้เงินกู้แก่นักศึกษาชาวไทยเท่านั้น มหาวิทยาลัยรัฐยังคงเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาจากนักศึกษาไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารในอัตราที่สูงกว่าที่เก็บจากนักศึกษาชาวไทย อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยกเลิกการปฏิบัติต่อนักศึกษาไร้สัญชาติเสมือนเป็นนักศึกษาต่างชาติแล้ว ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำหนดค่าเล่าเรียนนักศึกษาชาวไทยภาคการศึกษาละ 8,000 บาท (240 เหรียญสหรัฐ) แต่เรียกเก็บเงินนักศึกษาต่างชาติ (ซึ่งรวมถึงนักศึกษาไร้สัญชาติ) ภาคการศึกษาละ 28,000 บาท (840 เหรียญสหรัฐ)
ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติจำนวนมากมีสภาพความเป็นอยู่ยากจน และเนื่องจากไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติจึงมักถูกกระทำโดยมิชอบในรูปแบบต่างๆ (ดูหมวด 6 เรื่อง “เด็ก” ประกอบด้วย)
หมวดที่ 3 การเคารพสิทธิทางการเมือง: สิทธิของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐธรรมนูญให้สิทธิพลเมืองในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างสันติผ่านการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นระยะๆ มีความเสรีและเป็นธรรมบนพื้นฐานของสิทธิในการเลือกตั้งที่เป็นสากลและถือเป็นหน้าที่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คนจากจำนวนทั้งหมด 150 คน ส่วน ส.ว. ที่เหลือ 73 คนจะมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากหน่วยงานตุลาการและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม คณะผู้นำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปลดรักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แล้วจึงให้ทั้งสองสภาของรัฐสภาสิ้นสุดลงชั่วคราว คณะผู้นำรัฐประหารยังยกเลิกการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางโดยกลุ่มเห็นต่างเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์อีกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม กำหนดกรอบการทำงานสู่การนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ แต่มิได้มอบอำนาจให้พลเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของตนอย่างสันติ ทั้งยังสร้างกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นการชั่วคราว โดยมีคณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นมาต่างหากเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา: โดยทั่วไป การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถือว่าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวหาว่ามีการซื้อเสียง มีการกระทำผิดขั้นตอนการเลือกตั้งเล็กๆ น้อยๆ และมีรายงานที่กระจัดกระจายและไม่ได้รับการยืนยันว่า มีการคุกคามข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ทหารและข้าราชการท้องถิ่น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งซึ่งต่อมาจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลปิดกั้นการลงทะเบียนผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 และขัดขวางหรือยับยั้งการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม ซึ่งรวมถึงหน่วยเลือกตั้งทั้ง 50 หน่วยในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณร้อยละ 89 รายงานว่าสามารถเปิดลงคะแนนเสียงได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือปิดลงคะแนนก่อนกำหนดหรือไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนเสียงได้ พรรคการเมืองทุกพรรคร่วมลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวและการเลือกตั้งใหม่ที่จัดขึ้นภายหลังไม่ได้ทำให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบถ้วนเนื่องจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ไม่ถูกขัดขวางได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกหรือเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
เมื่อถึงเดือนมีนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบกรณีขัดขวางการเลือกตั้ง 190 กรณี และมีกรณีเจ้าหน้าที่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ 176 กรณี โดยได้อนุมัติหมายจับบุคคล 180 คนและจับกุมแล้ว 83 คน
เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (มูลนิธิอันเฟรล) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าจัดการเลือกตั้งอย่าง “ไม่กระตือรือร้น” เนื่องจากมีการนัดแนะอย่างเปิดเผยให้รัฐบาลชะลอการจัดการเลือกตั้ง ทั้งยังปิดหน่วยเลือกตั้งก่อนกำหนดเพราะมีผู้ชุมนุมประท้วง รวมถึงล้มเหลวในการขอการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อรับมือการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งซึ่ง “คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น” มูลนิธิอันเฟรลยังตำหนิคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ “ออกแถลงการณ์หลายฉบับที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ” ซึ่งทำให้คณะกรรมการดู “ทั้งไม่มีความเป็นมืออาชีพและเลือกข้าง”
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ผู้จัดการเลือกตั้งไม่ได้จัดการลงคะแนนเสียงทั้งหมดภายในวันเดียวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่งเมื่อวันที่ 30 มีนาคมโดยไม่มีรายงานเหตุร้ายแรง
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศงดจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำสั่งดังกล่าวระบุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารชั่วคราวสำหรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ตำบล และเทศบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม แล้วจึงจัดตั้งรัฐบาลรักษาการอันประกอบด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ในจำนวนนี้เกินครึ่งหนึ่งเป็นทหารหรือตำรวจที่ยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อวันที่ 21สิงหาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการ ต่อมาในเดือนตุลาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศแต่งตั้งบุคคลจำนวน 250 คนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากนั้นจึงประกาศแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 36 คนในเดือนพฤศจิกายน
พรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง: รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีเข้ารับตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
การมีส่วนร่วมของสตรีและชนกลุ่มน้อย: รัฐธรรมนูญฉบับที่คณะผู้นำรัฐประหารยกเลิกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมสนับสนุนให้พรรคการเมือง “มีสมาชิกพรรคที่เป็นหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง 12 คนจากสมาชิกทั้งหมด 200 คน ส่วนคณะรัฐมนตรีรักษาการมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงสองคนจากสมาชิกทั้งหมด 32 คน สภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดก่อนหน้านี้มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง 81 คนจากสมาชิกทั้งหมด 500 คน
มีสมาชิกจากชนกลุ่มน้อยไม่กี่คนที่มีตำแหน่งสูงทางการเมืองระดับประเทศ ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสั่งระงับรัฐสภาหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม มีสมาชิกรัฐสภาที่นับถือศาสนาอิสลาม 25 คนและนับถือศาสนาคริสต์เจ็ดคน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามดำรงตำแหน่งในรัฐสภา 13 คนจากทั้งหมด 21 ตำแหน่งสำหรับห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลามสองคน ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติมีสี่คน ไม่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาพุทธ แต่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชาวมุสลิม
คณะกรรมการการเลือกตั้งและองค์กรภาคประชาสังคมยังคงทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างโอกาสการลงคะแนนเสียงสำหรับผู้สูงอายุ บุคคลทุพพลภาพ ชาวเขาและเยาวชน
หมวดที่ 4 การทุจริตในวงราชการและความโปร่งใสของรัฐบาล
กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลยังอ่อนแอ และในบางครั้ง ข้าราชการก็เกี่ยวข้องในการทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ ในช่วงปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการหลายกรณี
การทุจริต: การทุจริตยังคงมีอยู่ในวงกว้างในวงการตำรวจ มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งข้อหาลักพาตัว ล่วงละเมิดทางเพศ ลักทรัพย์ และกระทำผิดทางวินัย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน ซ้อม และละเมิดสิทธิผู้ถูกคุมขังและนักโทษ โดยไม่มีโทษผิด ทางการจับกุมและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาฆาตกรรม ค้ายาเสพติดและลักลอบขนสินค้าเถื่อน นอกจากนี้ มีรายงานกล่าวหาตำรวจว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสั่งยึดทรัพย์สินของพลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นจำนวน 296 ล้านบาท (8.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) และส่งต่อคดีให้อัยการสูงสุดดำเนินการทางกฎหมายต่อไป คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้ว่าพลเอก เสถียร มีความผิดฐานได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบเมื่อ พ.ศ. 2556
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเรื่องฟ้องคดีโด่งดังเกี่ยวกับการกระทำมิชอบของข้าราชการและนักการเมืองไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดศาลหลายคดี และรายงานว่ามีคดีจำนวน 9,494 คดีที่รอการสอบสวนอยู่ในเดือนมิถุนายน ในช่วงเก้าเดือนก่อนวันที่ 30 มิถุนายน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียน 2,437 เรื่อง และพิจารณาเสร็จ 1,524 คดี โดยในจำนวนนี้ 203 คดีต้องดำเนินการขั้นต่อไป เช่น การลงโทษทางวินัย การถอดถอน รวมถึงการส่งต่อคดีไปยังศาล สำนักงานอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด และได้ส่งต่อคดีจำนวน 185 คดีไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อดำเนินการสืบสวน
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ในการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 กันยายน อัยการสูงสุดปฏิเสธไม่สั่งฟ้องตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ โดยให้เหตุผลว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ” และขอให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาสำนวนคดีต่อไป
เมื่อถึงปลายปี หมายจับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกเมื่อ พ.ศ. 2552 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ คดีที่ทักษิณถูกยื่นฟ้องเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้พม่าโดยธนาคารของรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2549 ยังคงค้างคาอยู่ที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทักษิณยังคงพำนักอยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงสอบสวนคดีทุจริตกระทำโดยสมาชิกคณะรัฐบาลที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร จาก พ.ศ. 2544–2549 และผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดนี้ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพิจารณาคดีจำนวนมาก
นอกจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง หน่วยงานอื่นๆ ที่มีบทบาทในการปราบปรามการทุจริตได้แก่ ศาลฎีกา ซึ่งพิจารณาคดีฉ้อราษฎร์บังหลวง ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่พิจารณาคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยเฉพาะ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ยังกำกับดูแลคดีความต่างๆ และกำหนดนโยบายปราบปรามการทุจริตโดยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ หน่วยงานเหล่านี้ต่างร้องทุกข์ว่ามีทรัพยากรจำกัดทำให้คดีค้างคา และบางหน่วยก็ร้องทุกข์ว่าถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง องค์การนอกภาครัฐชมเชยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ดำเนินความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างมีประสิทธิผล
การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน: กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการต้องแจ้งรายการทรัพย์สินของตน และระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งและที่ได้รับการแต่งตั้งแจ้งรายการทรัพย์สินและรายได้ของตน ตามแบบฟอร์มและคำสั่งที่กำหนดเป็นมาตรฐานซึ่งกำหนดให้รายการทรัพย์สินและรายได้ของภรรยาและบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีด้วย กฎหมายกำหนดบทลงโทษข้าราชการที่ไม่ได้แจ้งรายการทรัพย์สิน หรือแจ้งรายการไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือปกปิดทรัพย์สิน บทลงโทษรวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี การยึดทรัพย์ การปลดออกจากตำแหน่ง และจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (300 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการแจ้งรายการทรัพย์สินเมื่อเข้ารับตำแหน่งและออกจากตำแหน่ง หนึ่งปีหลังออกจากตำแหน่ง และทุกสามปีและห้าปีที่อยู่ในตำแหน่งเดิม
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกคนต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วันนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง แต่ก็ระบุด้วยว่า สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อถึงเดือนกันยายน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังไม่มีมติออกมาว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 กันยายน เจ้าหน้าที่รัฐบาลประกาศว่า สมาชิกคณะรัฐมนตรีทั้ง 32 คนจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภายในวันที่ 2 ตุลาคม หรือภายใน 30 วันนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รวมถึงประกาศว่า เจ้าหน้าที่จะเปิดเผยบัญชีเหล่านี้ต่อสาธารณะด้วย
เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลแพ่งมีคำสั่งยึดทรัพย์นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นจำนวน 46 ล้านบาท (1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ฐานได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง
สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร: กฎหมายกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ และรัฐบาลก็ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผล กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นบางประการสำหรับข้อมูลที่ไม่เปิดเผย ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ และอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานราชการต้องรับแจ้งคำร้องขอทราบข้อมูลภายใน 15 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องส่งคำวินิจฉัยภายในกรอบเวลาใดเวลาหนึ่ง การดำเนินการไม่มีค่าธรรมเนียม หากหน่วยงานราชการเพิกเฉยต่อคำร้องขอทราบข้อมูลหรือผู้ขอทราบข้อมูลอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล ผู้ตัดสินจากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการจะต้องตัดสินกรณีดังกล่าวภายใน 60 วัน หากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการสั่งให้เปิดเผยข้อมูลตามคำร้อง หน่วยงานราชการนั้นต้องเปิดเผยข้อมูลที่ร้องขอภายในเจ็ดวัน กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าหน่วยราชการที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งต้องรับโทษทางวินัยหรือโทษอาญา สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการรายงานว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลช่วงปี พ.ศ. 2556–2557 เป็นอุปสรรคต่อการรับคำร้อง (กรณีหน่วยงานราชการเพิกเฉยต่อคำร้องขอทราบข้อมูล) ทว่ายังคงได้รับคำร้องขออุทธรณ์รวม 89 กรณีช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้จัดโครงการรณรงค์และอบรมแก่สาธารณชน ตลอดจนโครงการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ และข้าราชการที่มีหน้าที่พิจารณาคำร้อง
หมวดที่ 5 ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลายประเภทดำเนินกิจกรรมอยู่ในประเทศไทย หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม การดำเนินงานขององค์กรนอกภาครัฐได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงการห้ามชุมนุมและจัดกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนการจำกัดสื่อ องค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน หรือเรื่องชายแดน ยังคงเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะๆ
เมื่อวันที่ 2 กันยายน คณะรักษาความสงบแห่งชาติสั่งให้กลุ่มองค์กรนอกภาครัฐด้านสิทธิมนุษยชนยกเลิกกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” (“Access to Justice in Thailand: Currently Unavailable”) โดยในวันงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกั้นทางเข้าสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยซึ่งเตรียมใช้เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว
เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในภาคใต้มักเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลให้สิทธิยกเว้นภาษีแก่องค์กรนอกภาครัฐเพียงไม่กี่ราย ซึ่งบางครั้งก็เป็นอุปสรรคในการที่องค์กรสิทธิมนุษยชนจะหาทุนได้เพียงพอ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหมายเรียกนางสาวพรเพ็ญ คงเกียรติขจร ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ตรวจสอบและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการทรมานและการทารุณกรรมในประเทศไทย และนายสมชาย หอมละออ จากมูลนิธิเดียวกัน พันตรี ลิขิต กระฉอดนอก รับมอบอำนาจจากกรมทหารพรานที่ 41 ยื่นฟ้องนางสาวพรเพ็ญและมูลนิธิฯ ในความผิดฐานโฆษณาหมิ่นประมาทและฐานหมิ่นประมาททางอาญา รวมทั้งกล่าวโทษว่า มูลนิธิฯ ทำให้กองทัพบกเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยการตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้กองทัพบกสืบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานโดยกองทัพ หมายเรียกระบุให้นางสาวพรเพ็ญต้องมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 25 สิงหาคม
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ศาลอาญาในกรุงเทพมหานครพิพากษายกฟ้องคดีนายอานดี้ ฮอลล์ นักพิทักษ์สิทธิแรงงานข้ามชาติชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นคดีหมิ่นประมาทคดีแรกจากทั้งหมดสี่คดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ยื่นฟ้องนายอานดี้สืบเนื่องจากบทบาทของเขาในการตีพิมพ์รายงานเชิงสืบสวนที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2556 ตามที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรฟินน์วอช ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานดังกล่าวอ้างถึงการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่โรงงานของบริษัทฯ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ นายอานดี้ยังถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาเพิ่มเติม รวมถึงคดีแพ่งหนึ่งคดีและคดีความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สองคดี หากพบว่ามีความผิด นายอานดี้อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปีสำหรับความผิดแต่ละกระทงและต้องจ่ายค่าเสียหาย 300 ล้านบาท (9 ล้านเหรียญสหรัฐ) การพิจารณาคดีดำเนินไปเมื่อวันที่ 2-10 กันยายน นายอานดี้และนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ยังคงยืนยันว่า บริษัทฯ ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อปิดปากเขาและนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ
สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ: จากรายงานของสหประชาชาติ มีรายงานว่ารัฐบาลไทยส่งต่อข้อเสนอแนะจากผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านน้ำและสุขาภิบาลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานเหล่านี้ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วหรือไม่ ผู้เสนอรายงานพิเศษเยือนประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2556 และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานอิสระควบคุมการเฝ้าติดตามน้ำเพื่อรับรองความปลอดภัยของน้ำดื่มและสุขอนามัย พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะอื่นๆ รัฐบาลเลื่อนกำหนดการเยือนไทยของผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านการทรมานและการปฏิบัติด้วยวิธีการที่ไร้มนุษยธรรมออกไปเป็นปีพ.ศ. 2558 แต่ยังไม่มีการยืนยันวันที่แน่ชัดเมื่อถึงเดือนสิงหาคม สหประชาชาติรายงานว่า ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตเดินทางมาไทยของคณะทำงานของสหประชาชาติด้านการหายสาบสูญ ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการจัดตั้งสมาคม หรือผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
องค์กรสิทธิมนุษยชนภาครัฐ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังเหตุการณ์รัฐประหาร แต่เมื่อถึงเดือนกันยายนก็ยังไม่มีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการกระทำมิชอบโดยรัฐบาลนับตั้งแต่รัฐประหาร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้อง 408 เรื่องในช่วงแปดเดือนแรกของปี โดยในปีพ.ศ. 2556 ได้รับคำร้อง 607 เรื่อง ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่และทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดยังคงเป็นอุปสรรคให้การดำเนินงานไม่ก้าวหน้า รัฐบาลตอบสนองข้อแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วยการอธิบายหรือการดำเนินการประมาณร้อยละ 25 และปฏิบัติตามคำแนะนำประมาณ 1 ใน 5 ผู้นำประชาสังคมหลายคนให้คะแนนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันต่ำมาก และอภิปรายอย่างเปิดเผยว่า ข้อบกพร่องนี้มีสาเหตุมาจากลักษณะขององค์กรหรือเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านความสามารถกันแน่ นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน
สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาเป็นหน่วยงานอิสระและมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนจากประชาชน หลังจากดำเนินการสอบสวน สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาอาจส่งเรื่องต่อไปศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาทำการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แต่ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักฯ สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาจะต้องส่งรายงานการดำเนินงานประจำปีให้แก่รัฐสภา แต่เมื่อถึงสิ้นปีก็ยังไม่มีการส่งรายงานดังกล่าว สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภาได้งบประมาณประจำปีพ.ศ. 2557 เป็นเงิน 226.7 ล้านบาท (ประมาณ 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 ซึ่งได้ 212.87 ล้านบาท (6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 สำนักผู้ตรวจการของรัฐสภารับเรื่องร้องเรียนใหม่ 2,169 เรื่อง และดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 2,435 เรื่อง โดยยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่เกือบ 2,100 เรื่อง
หมวดที่ 6 การเลือกปฏิบัติ การกระทำมิชอบในสังคม และการค้ามนุษย์
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ระบุถึงการให้ความคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค” ทั้งหลายของชนชาวไทย แต่ไม่ได้เจาะจงถึงการคุ้มครองประชากรกลุ่มน้อยจากการถูกเลือกปฏิบัติ
สตรี
การข่มขืนและความรุนแรงในครัวเรือน: การข่มขืนกระทำชำเราถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเสมอไป กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับสามีที่ข่มขืนภรรยาของตน และมีการดำเนินคดีประเภทนี้ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้รับแจ้งความคดีข่มขืน 1,697 คดี เปรียบเทียบกับ 2,503 คดีในช่วงระยะเวลาเก้าเดือนของปีพ.ศ. 2556 ในจำนวน 1,697 คดีนี้ มีหนึ่งคดีที่เหยื่อถูกฆ่าตาย และมีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 1,045 คดีจากคดีทั้งหมดที่ได้รับแจ้ง รวมถึงคดีที่เหยื่อเสียชีวิต
กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับคดีข่มขืนหรือการทำร้ายทางเพศ เริ่มตั้งแต่โทษจำคุกสี่ปีจนถึงประหารชีวิต รวมถึงโทษปรับ โดยพิจารณาจากอายุของผู้เสียหาย ระดับความรุนแรงของการกระทำ การใช้อาวุธ จำนวนผู้กระทำผิด และสภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายหลังจากถูกทำร้าย อัตราโทษปรับขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเหยื่อ และโดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 8,000–40,000 บาท (ประมาณ 240–1,200 เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุด้วยว่า บุคคลใดที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในคดีข่มขืนซ้ำเป็นครั้งที่สองภายในเวลาสามปีอาจได้รับโทษเพิ่มฐานกระทำความผิดอีก สถิติทางศาลชี้ว่า ทางการได้ยื่นฟ้องคดีการทำร้ายทางเพศเป็นจำนวน 4,591 คดีในปีพ.ศ. 2556 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพ.ศ. 2555
องค์กรนอกภาครัฐเชื่อว่า การข่มขืนยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีระบุว่า เหยื่อเข้าแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราหรือการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลยังคงจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาอย่างไม่เพียงพอ และเหยื่อมองว่าหน่วยงานรักษากฎหมายไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ฝ่ายตำรวจได้พยายามแก้ไขทรรศนะดังกล่าว และยังคงสนับสนุนให้สตรีแจ้งความอาชญากรรมทางเพศ เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คิดเป็นประมาณร้อยละ 8 ของกำลังตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เมื่อปีพ.ศ. 2556
การใช้ความรุนแรงต่อสตรีในครอบครัวยังเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 หญิงอายุมากกว่า 18 ปี รวม 12,637 คนรายงานว่าถูกกระทำมิชอบและได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงฯ ร้อยละ 73 ของเหยื่อรายงานว่าถูกกระทำทารุณร่างกาย และร้อยละ 18 ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กฎหมายกำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 6,000 บาท (180 เหรียญสหรัฐ) หรือโทษจำคุกสูงสุดหกเดือนสำหรับผู้กระทำผิด และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการห้ามผู้กระทำความผิดอาศัยในบ้านต่อไป หรือติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุความรุนแรงในครอบครัวและการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามสื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่คดีอยู่ในกระบวนการศาล
ทางการได้ดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดี โดยเฉพาะคดีที่ผู้กระทำผิดทำร้ายเหยื่อจนบาดเจ็บสาหัส ตามบทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ซึ่งผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษที่หนักขึ้น บ่อยครั้งที่ไม่มีการแจ้งความการใช้ความรุนแรงในครอบครัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามคดีประเภทนี้ องค์กรนอกภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ อาทิ บริการโทรศัพท์สายด่วน การจัดที่พักพิงชั่วคราว และบริการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนในด้านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับสตรี ศูนย์วิกฤติของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง ให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย แม้ว่าศูนย์หลายแห่งจะประสบปัญหางบประมาณขาดแคลน โรงพยาบาลของรัฐเหล่านี้จะส่งตัวสตรีที่ถูกทำร้ายไปองค์กรภายนอกในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับเหยื่อที่ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว รายงานว่า เมื่อถึงเดือนสิงหาคม มีการลงบันทึกการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทั้งสิ้น 233 กรณีทั่วประเทศ เปรียบเทียบกับ 450 กรณีที่มีรายงานในช่วงหกเดือนแรกของปีพ.ศ. 2556 เหยื่อในจำนวน 74 คดีเลือกที่จะฟ้องคดีอาญาในขณะที่เหยื่อใน 62 คดีไม่ต้องการฟ้อง เหยื่อใน 75 คดียังคงพักรักษาตัวและรอการตัดสินใจว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ และอีก 20 คดีอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย ส่วนการจัดการคดีที่เหลือนั้นไม่ทราบข้อมูล และยังคงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลคำพิพากษาโทษ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังคงพัฒนาระบบเครือข่ายชุมชนที่ช่วยป้องกันสตรีจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่อไป โดยดำเนินการทั่วทุกภาคของประเทศ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นอบรมตัวแทนจากแต่ละชุมชนเกี่ยวกับสิทธิสตรีและการป้องกันการถูกกระทำทารุณเพื่อให้ชุมชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
การขริบอวัยวะเพศสตรี: ไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่ห้ามการขริบอวัยวะเพศสตรี อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานกรณีการขริบอวัยวะเพศสตรีที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในช่วงปีที่ผ่านมา
การคุกคามทางเพศ: การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (600 เหรียญสหรัฐ) สำหรับผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น บทลงโทษขึ้นอยู่กับระดับของการคุกคามทางเพศ การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและโทษปรับสูงสุด 30,000 บาท (900 เหรียญสหรัฐ) บทลงโทษขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและอายุของผู้เสียหาย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามการคุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ห้าระดับ คือ การภาคทัณฑ์ การตัดเงินเดือน การลดเงินเดือน การสั่งพักราชการและการไล่ออก องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่า การคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดี ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น และถูกลงโทษ
สิทธิว่าด้วยการมีบุตร: คู่สามีภรรยาและบุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างเสรีและมีความรับผิดชอบได้ว่า จะมีบุตรกี่คน เว้นช่วงห่างระหว่างการมีบุตรแต่ละคนนานเท่าใด และจะมีบุตรเมื่อไร บุคคลมีข้อมูลและช่องทางที่จะทำเช่นนี้ได้ รวมทั้งมีสิทธิดูแลสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนตามมาตรฐานสูงสุดโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ บังคับขู่เข็ญหรือใช้ความรุนแรง ระบบสาธารณสุขที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐให้บริการและข้อมูลด้านการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ การดูแลระหว่างการคลอดโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนบริการด้านสูติกรรมและการดูแลเด็กหลังคลอด
รายงานสถานการณ์ประชากรโลก พ.ศ. 2555 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในปี พ.ศ. 2553 ประมาณร้อยละ 80 ของสตรีและเด็กหญิงอายุระหว่าง 15-49 ปี ใช้วิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ ประมาณร้อยละ 98 ของการคลอดบุตรได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ประมาณการว่า กว่าร้อยละ 90 ของมารดาและทารกสามารถเข้าถึงบริการฝากครรภ์และการดูแลหลังคลอด
การเลือกปฏิบัติ: โดยทั่วไป ผู้หญิงมีสถานะและสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ดี บางครั้ง ผู้หญิงก็ประสบกับการเลือกปฏิบัติ กฎหมายไม่ได้บังคับการห้ามเลือกปฎิบัติในการจ้างงานด้วยการพิจารณาเพศ การเลือกปฏิบัติในการว่าจ้างยังคงมีอยู่ทั่วไป ตัวอย่างเช่น การถามผู้สมัครงานถึงสถานภาพครอบครัวในระหว่างการสัมภาษณ์งานเป็นเรื่องที่ทำได้ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงว่าเป็นหญิงหรือชาย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในการทำงานที่เท่ากันในหลายภาคเศรษฐกิจ นายจ้างหลายรายไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำงานในทุกอุตสาหกรรมเหมือนผู้ชาย และผู้หญิงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีอัตราค่าจ้างต่ำ ผู้หญิงสามารถเป็นเจ้าของและบริหารกิจการได้อย่างเสรี
คู่สมรสชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยไม่สามารถขอความเป็นพลเมืองตามสัญชาติของภรรยาได้ ซึ่งต่างจากคู่สมรสชาวต่างชาติของผู้ชายไทย
สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับสตรีเข้าศึกษา แม้ว่าสถาบันทางทหารเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นสตรีอยู่จำนวนมาก กรมกำลังพลทหารระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม มีผู้หญิง 85 คนดำรงยศนายพลหรือเทียบเท่าในทั้งสามเหล่าทัพและในกระทรวงกลาโหม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 80 คนเมื่อปีพ.ศ. 2556 โรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัครสตรีเข้าศึกษา และในปี พ.ศ. 2558 มีการกันที่ให้สตรี 70 ที่จากจำนวนที่จะรับนักเรียนนายร้อยทั้งหมด 280 ที่ นักเรียนนายร้อยที่เป็นสตรีรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรระยะสี่ปีนี้เมื่อเดือนมีนาคม ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนระบุว่า ร้อยละ 24 ของข้าราชการพลเรือนระดับบริหารเป็นสตรี ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีพ.ศ.2556
สำนักงานกิจการสตรีและพัฒนาครอบครัวของรัฐบาลมีภารกิจส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายของสตรี โดยเฉพาะผ่านการทำงานของสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย แต่ไม่ได้ดำเนินงานอย่างอิสระ สำนักงานฯ ทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐและไม่ได้มีบทบาทนำในการส่งเสริมสิทธิสตรี
ผู้นำของสมาคมทนายความแห่งหนึ่งและนักวิชาการรายงานว่า ในหลายกรณี ผู้หญิงที่เป็นผู้บริสุทธิ์ให้การรับเป็นผู้กระทำความผิดอาญา โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดผิดกฎหมาย แทนญาติที่เป็นชาย ซึ่งส่วนใหญ่คือสามีของพวกเธอ เพื่อให้ผู้ชายเหล่านี้หลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดี สมาชิกในครอบครัวและบุคคลอื่นมักกดดันให้ผู้หญิงเหล่านี้ให้การรับสารภาพเท็จ ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นชายยังคงสามารถหารายได้ให้แก่ครอบครัวได้ตามเดิม ทนายความฝ่ายจำเลยในคดีอาญายืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และองค์คณะตุลาการ ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว แต่ล้มเหลวที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นผู้บริสุทธิ์เหล่านี้มาโดยตลอด ประชากรผู้ต้องขังในเรือนจำร้อยละ 17 เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
เด็ก
การจดทะเบียนเกิด: การเกิดในประเทศไม่ได้ทำให้ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนเกิด (สำหรับบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญชาติ ดู หมวด 2.ง. บุคคลไร้สัญชาติ) องค์กรนอกภาครัฐระบุว่า บางครั้ง ชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ไม่ได้จดทะเบียนเกิดกับทางการ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ข้าราชการท้องถิ่นไม่มีคุณธรรมและมีข้อมูลไม่ถูกต้อง อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทาง เหล่านี้ทำให้การจดทะเบียนเกิดเป็นเรื่องลำบาก
การศึกษา: สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการมุ่งใช้ความรุนแรงกับครูของโรงเรียนรัฐบาลทำให้โรงเรียนต้องปิดชั่วคราวและทำให้กระบวนการเรียนการสอนในจังหวัดเหล่านี้ต้องสะดุดเป็นระยะๆ
องค์กรนอกภาครัฐหลายแห่งรายงานว่า บุตรของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอแม่สอด สามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างจำกัดกว่า เนื่องจากต้องติดตามบิดามารดาย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ บ่อยครั้ง ทั้งยังมีอุปสรรคเรื่องระยะทางจากที่พักไปโรงเรียนและความไม่ชำนาญภาษาไทย เด็กหลายคนเข้าเรียนระดับประถมศึกษาในศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวแทนที่จะเข้าโรงเรียนของรัฐ จึงเป็นการจำกัดโอกาสของนักเรียนเหล่านี้ในการเข้าถึงการศึกษาที่สูงกว่าระดับประถมศึกษา เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้การยอมรับศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าวอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น เด็กกลุ่มนี้ยังคงไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆ ในชุมชนที่มีไว้สำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ เช่น ศูนย์ดูแลเด็กช่วงกลางวัน นมฟรีและอาหารกลางวันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แรงงานต่างด้าวที่มีเงินพอจึงมักเลือกส่งบุตรไปเข้าโรงเรียนเด็กเล็กหรือศูนย์ดูแลเด็กของเอกชนโดยจ่ายเงินเอง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครรายงานว่า ตามกฎหมายแล้ว เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว บางโรงเรียนไม่เต็มใจรับเด็กกลุ่มนี้เข้าศึกษาเนื่องจากมีพื้นที่ งบประมาณ และเจ้าหน้าที่การศึกษาไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ เชื่อว่า มีบุตรของแรงงานต่างด้าวเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
การกระทำทารุณเด็ก: กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทารุณ และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดโทษจำคุกระหว่างเจ็ดปีถึง 20 ปี และโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท (ประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ถ้าผู้เสียหายอายุระหว่าง 13-15 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่างสี่ปีถึง 20 ปีและโทษปรับเช่นเดียวกับข้างต้น
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 เด็ก 19,229 คนรายงานว่าถูกกระทำมิชอบ และได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงฯ ในบรรดาเหยื่อการกระทำมิชอบนี้ ร้อยละ 69 รายงานการล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 22 รายงานการทารุณร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไม่เต็มใจสอบสวนคดีการกระทำมิชอบเหล่านี้ และระเบียบว่าด้วยวัตถุพยานก็ทำให้การดำเนินคดีกระทำมิชอบต่อเด็กยากขึ้น มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในคดีการกระทำมิชอบและคดีละเมิดทางเพศต่อเด็ก เด็กอาจให้ปากคำด้วยการบันทึกเทปวีดิทัศน์เป็นการส่วนตัว โดยมีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมฟังอยู่ด้วย ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากศาล อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาหลายคนไม่รับคำให้การที่บันทึกเป็นเทปวีดิทัศน์ โดยอ้างปัญหาทางเทคนิคและการที่ไม่สามารถซักค้านโจทก์และจำเลยได้โดยตรงในศาล นักคุ้มครองสิทธิเด็กบางคนอ้างว่า เด็กหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับการดูแลทางร่างกายและจิตใจดีกว่าเด็กชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กจะถูกฟ้องดำเนินคดีภายใต้กฎหมายว่าด้วยอายุของบุคคลที่ยอมให้มีการร่วมประเวณีได้ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีในกรณีที่มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก
การบังคับแต่งงานและการแต่งงานก่อนวัยอันควร: กฎหมายกำหนดให้ทั้งหญิงและชายที่จะแต่งงานต้องมีอายุอย่างน้อย 17 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะสมรสได้ ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 15-16 ปีแต่งงานได้ คณะกรรมการอิสลามและหน่วยงานของรัฐได้จัดโครงการสร้างความตระหนักหลายโครงการเพื่อยุติการแต่งงานก่อนวัยอันควรตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม องค์กรนอกภาครัฐ Girls Not Brides ระบุว่า ร้อยละ 3 ของผู้หญิงอายุ 20-24 ปีแต่งงานเมื่ออายุไม่เกิน 15 ปี
การขริบอวัยวะเพศสตรี: องค์กรนอกภาครัฐที่น่าเชื่อถือรายงานว่า มีการขริบอวัยวะเพศสตรีในพื้นที่ภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่มีรายงานการดำเนินความพยายามของหน่วยงานระหว่างประเทศหรือรัฐบาลเพื่อยับยั้งหรือจัดการการกระทำดังกล่าว
การแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก: การค้าประเวณีเด็กยังเป็นปัญหา ข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า เด็กทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและชนกลุ่มน้อย ถูกบังคับ ข่มขู่ หรือถูกล่อลวงให้ค้าประเวณี เด็กในครอบครัวยากจนยังคงเสี่ยงต่อการถูกบังคับค้าประเวณีมากเป็นพิเศษ และมีบางกรณีที่บิดามารดาบังคับหรือขู่เข็ญให้บุตรของตนค้าประเวณีจนนำไปสู่การจับกุม ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศยังคงก่ออาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็กด้วย
กฎหมายกำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ที่จัดหา ล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ค้าประเวณี และระบุว่า ลูกค้าที่จ่ายเงินเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะต้องโทษจำคุก 2-6 ปี และถูกปรับสูงสุด 120,000 บาท (ประมาณ 3,600 เหรียญสหรัฐ) ถ้าเด็กผู้นั้นมีอายุระหว่าง 15-18 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 1-3 ปี และโทษปรับสูงสุด 60,000 บาท (1,800 เหรียญสหรัฐ) ทางการยังอาจลงโทษบิดามารดาที่ยอมให้บุตรเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดาได้ กฎหมายห้ามการผลิต การจำหน่าย การนำเข้า หรือการส่งออกงานลามกอนาจารเด็ก ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและมีโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท (180 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายยังกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับบุคคลที่แสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และระบุบทลงโทษสำหรับการจัดหาโสเภณี การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบอื่นๆ
เด็กพลัดถิ่น: โดยทั่วไป ทางการจะส่งเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนไปที่สถานพักพิงที่รัฐบาลจัดให้ แต่มีรายงานว่า เด็กจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ทางการยังได้จับกุมเด็กขอทานตามท้องถนนซึ่งหลายคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในที่สุดแล้ว รัฐบาลจะส่งเด็กข้างถนนที่เป็นคนไทยไปโรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และส่งตัวเด็กข้างถนนที่มาจากประเทศอื่นบางคนกลับประเทศ
รายงานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กมักไม่กล่าวถึงเด็กที่อาศัยอยู่ข้างถนน และยอดตัวเลขของเด็กข้างถนนทั่วประเทศมักมีเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น ยังคงไม่มีตัวเลขจำนวนขอทานที่แน่นอน ในกลุ่มเด็กขอทานประกอบด้วยเด็กจรจัด เด็กถูกลักพาตัว และเด็กที่บิดามารดาส่งให้ไปขอทาน (หลายคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์)
เด็กในสถานสงเคราะห์: มีรายงานการกระทำมิชอบในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนสิงหาคม ทางการจับกุมครูคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายเด็กพิเศษผู้พิการทางสมองวัย 12 ปีที่โรงเรียนเด็กพิเศษแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ การสืบสวนยังคงดำเนินอยู่เมื่อถึงสิ้นปี
การลักพาเด็กระหว่างประเทศ: ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการดำเนินการทางแพ่งต่อการลักพาเด็กระหว่างประเทศ พ.ศ. 2523 ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่travel.state.gov/content/childabduction/english/legal/compliance.html และข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในประเทศไทยที่travel.state.gov/content/childabduction/english/country/thailand.html
การต่อต้านยิว
ชาวยิวในไทยมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว อย่างไรก็ตาม ภาพบุคคลและสัญลักษณ์นาซีบางครั้งถูกนำมาแสดงบนสินค้าและใช้ในโฆษณา
การค้ามนุษย์
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เชิญอ่านได้จาก รายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
บุคคลทุพพลภาพ
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร รัฐธรรมนูญและกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการทางร่างกาย ระบบประสาทความรู้สึก สติปัญญาและสภาพจิต ในด้านการศึกษา การเดินทางทางอากาศและการคมนาคมขนส่งอื่นๆ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ หรือบริการอื่นๆ ของรัฐ แม้ว่าคณะผู้นำรัฐประหารจะระงับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว กฎหมายเกี่ยวกับบุคคลทุพพลภาพก็ยังคงไว้ตามเดิม
รัฐบาลปรับแต่งสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารสาธารณะหลายแห่งให้เอื้อต่อบุคคลทุพพลภาพ แต่การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิภาพโดยสม่ำเสมอกัน กฎหมายกำหนดให้บุคคลทุพพลภาพต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารคมนาคม และอาคารที่สร้างใหม่ แต่บทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเป็นเอกภาพ กฎหมายไม่ได้บังคับให้หน่วยราชการต้องติดตั้งขอบคันถนนที่ใช้กับรถเข็นได้เมื่อทำการซ่อมแซมหรือสร้างถนน
บุคคลทุพพลภาพที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการมีสิทธิได้รับบริการตรวจโรค รถเข็น และไม้ยันรักแร้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลาห้าปีแก่บุคคลทุพพลภาพที่ดำเนินธุรกิจขนาดย่อม
โครงการการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนและโครงการศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนยังคงดำเนินงานอยู่ในทุกจังหวัด ทั่วประเทศมีศูนย์การเรียนรู้ฯ 162 แห่ง โดยใน 76 จังหวัดมีจังหวัดละสองแห่งและกรุงเทพมหานครมี 10 แห่ง สำหรับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ใน 76 จังหวัดมีจังหวัดละหนึ่งแห่งและกรุงเทพมหานครมี 50 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ฯ แต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนรายปีจากรัฐบาลประมาณ 25,000 บาท (750 เหรียญสหรัฐ) ส่วนศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแต่ละแห่งได้รับ 10,000 บาท (300 เหรียญสหรัฐ)
รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ 46 แห่ง ศูนย์ให้บริการโครงการการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 77 แห่ง และศูนย์การศึกษาสำหรับบุคคลทุพพลภาพ 77 แห่ง กฎหมายกำหนดให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 31,000 แห่งต้องรับนักเรียนพิการเข้าศึกษา ทว่ามีเพียง 5,026 โรงเรียน (ร้อยละ 16) ที่จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนพิการในช่วงปีที่ผ่านมา มีนักเรียนพิการเข้าศึกษาในโรงเรียนประมาณ 200,000 คนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 7.2 ล้านคน มีรายงานว่าโรงเรียนบางแห่งไม่ยอมรับเด็กพิการเข้าศึกษา แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะโรงเรียนไม่มีอาคารสถานที่ที่ให้ความสะดวกแก่เด็กพิการ รัฐบาลรายงานว่า ไม่ได้รับการร้องเรียนใดๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับบุคคลทุพพลภาพที่ดำเนินการโดยรัฐเก้าแห่ง และโดยองค์กรนอกภาครัฐ 23 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดบริการทั้งแบบเต็มเวลาและแบบบางช่วงเวลาหรือตามฤดูกาล รัฐดำเนินการบ้านพัก 13 แห่งสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ในจำนวนนี้ มีสองแห่งที่เป็นสถานดูแลช่วงกลางวันสำหรับเด็กที่เป็นโรคออทิซึม นอกจากนี้ ยังมีสมาคมของเอกชนที่จัดฝึกอบรมสำหรับผู้พิการเป็นครั้งคราว
นายจ้างบางรายเลือกปฏิบัติด้านค่าจ้างต่อแรงงานคนพิการ (ดู หมวด 7.ง.) ระเบียบราชการกำหนดให้บริษัทเอกชนว่าจ้างผู้พิการหนึ่งคนต่อพนักงาน 100 คน หรือต้องบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อประโยชน์ต่อผู้พิการ แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นเอกภาพ เจ้าหน้าที่ประมาณตัวเลขว่า มีบริษัทห้างร้านร้อยละ 77 ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการเห็นพ้องด้วยกับตัวเลขดังกล่าว บริษัทเอกชนบางรายเลือกบริจาคเงินเข้ากองทุนแทนการว่าจ้างบุคคลทุพพลภาพ เพราะเชื่อว่ามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
ชนกลุ่มน้อยทางสัญชาติ/เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์
คนสองกลุ่มคือ อดีตทหารในสงครามกลางเมืองของจีนและลูกหลานที่อาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง และลูกของชาวเวียดนามอพยพที่อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎข้อบังคับที่จำกัดการเดินทาง ที่พักอาศัย การศึกษาและการเข้าถึงอาชีพ กฎหมายจำกัดให้ชาวจีนกลุ่มนี้พักอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
ชาวพื้นเมือง
ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะให้สิทธิแก่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะลูกจ้าง แต่นายจ้างยังคงละเมิดสิทธินั้นบ่อยครั้งโดยจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชาวไทยและน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนั้น ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยยังถูกจำกัดทางเลือกด้านอาชีพ อีกทั้งกฎหมายยังกีดกันบุคคลเหล่านี้จากสวัสดิการของรัฐ เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กฎหมายให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการอนุมัติสัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ แต่นักเคลื่อนไหวรายงานว่า ยังคงมีการทุจริตอย่างกว้างขวางและการปฏิบัติงานที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล ซึ่งทำให้คำร้องขอสัญชาติต้องคั่งค้างและถูกปฏิเสธอย่างไม่สมควร จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีผู้อยู่ระหว่างรอดำเนินการคำร้องของสัญชาติประมาณ 440,000 คน เมื่อปีพ.ศ. 2556 ศาลปกครองมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการคำร้องขอสัญชาติที่คั่งค้างอยู่ทั้ง 441 ฉบับให้แล้วเสร็จ คำร้องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคดีที่ยื่นฟ้องโดยองค์การยุติธรรมนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ทางอำเภอได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวโดยยังคงอยู่ระหว่างรอดำเนินการเมื่อถึงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม องค์การยุติธรรมนานาชาติรายงานว่า เจ้าหน้าที่อำเภอเชียงดาวเริ่มดำเนินการคำร้องที่คั่งค้างอยู่แล้ว แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม
ชาวเขายังคงเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ชาวเขามักจะเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
การกระทำรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำมิชอบอื่นๆ เนื่องจากรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
ไม่มีกฎหมายระบุว่า รสนิยมทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นความผิดทางอาญา
กลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้รักร่วมสองเพศและบุคคลข้ามเพศสามารถจดทะเบียนกลุ่มกับทางการได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับชื่อที่ใช้ในการจดทะเบียน กลุ่มเหล่านี้รายงานว่า เมื่อพวกตนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกตนเช่นคนปกติ ยกเว้นในกรณีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดทางเพศมากนัก หรือไม่เห็นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องจริงจัง
กฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนการระบุเพศของตนในเอกสารแสดงตน ซึ่งเมื่อรวมกับการเลือกปฏิบัติทางสังคมแล้ว ได้จำกัดโอกาสสมัครงานของบุคคลข้ามเพศ
ผลงานการศึกษาวิจัยเมื่อปีพ.ศ. 2556 โดยองค์การแพลน ประเทศไทย ร่วมกับองค์การยูเนสโกและมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่านักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนล้อเลียนและรังแกนักเรียนที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับบรรทัดฐานเรื่องเพศของท้องถิ่น โรงเรียนมัธยมศึกษาไม่ได้สอนครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศหรือสอนอย่างไม่สม่ำเสมอและใช้คำศัพท์ที่เป็นการตีตรา โดยทั่วไป โรงเรียนไม่มีนโยบายต่อต้านการรังแกที่ชัดเจนและเพียงพอ ซึ่งรวมถึงนโยบายที่มุ่งลดการรังแกบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศโดยเฉพาะ เมื่อเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการลงโทษทางกาย ภายใต้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและ ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เชิญองค์การแพลน ประเทศไทย มาเสนอรายงานแก่คณะกรรมการฯ
องค์กรนอกภาครัฐในท้องถิ่นแห่งหนึ่งรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพุ่งเป้าคุกคามและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว
เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและเข้าสอบโดยสวมเครื่องแบบตามเพศที่ตนเลือกเป็นกรณีไป ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมักกำหนดให้นักศึกษาต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการก่อนจะสวมเครื่องแบบที่ตนเลือกได้ การอนุญาตเช่นนี้ยังคงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละสถาบัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออนุญาตให้นักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดสามารถเข้าเรียน เข้าสอบ และเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรโดยสวมเครื่องแบบตามเพศที่ตนเลือกได้ หากมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะดังกล่าวจะถือเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของนักศึกษาที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด
ยังมีการเลือกปฏิบัติในทางธุรกิจเนื่องจากรสนิยมทางเพศและเอกลักษณ์ทางเพศอยู่บ้าง อาทิเช่น บริษัทประกันชีวิตบางแห่งปฏิเสธที่จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแก่ชายรักร่วมเพศ อย่างไรก็ตาม มีบริษัทประกันชีวิตบางแห่งยินดีขายประกันชีวิตแก่กลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้รักร่วมสองเพศและบุคคลข้ามเพศ พร้อมบทบัญญัติโอนผลประโยชน์เต็มรูปแบบแก่คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งเริ่มยอมรับผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แต่ยังคงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท องค์กรนอกภาครัฐกล่าวหาว่า ไนท์คลับ บาร์ โรงแรม และโรงงานบางแห่งไม่ยอมให้บุคคลกลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้รักร่วมสองเพศและบุคคลข้ามเพศเข้าไปในสถานที่ของตนหรือไม่ยอมรับบุคคลกลุ่มนี้เข้าทำงาน โดยเฉพาะบุคคลข้ามเพศ
การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์
บุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจเนื่องจากถูกปฏิเสธจากครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน ครูอาจารย์ และชุมชน แม้ว่าความพยายามให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกเชิงลบดังกล่าวได้บ้างในบางชุมชน ยังคงมีรายงานว่า นายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ้างพนักงานที่ตรวจพบว่า มีเชื้อเอชไอวีระหว่างการตรวจเลือดก่อนเข้าทำงานตามที่นายจ้างกำหนด เมื่อถึงเดือนสิงหาคม สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ทำการสำรวจบริษัท 1,599 แห่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะเวลาสามปี พบว่าบริษัท 677 แห่งสัญญาว่าจะไม่กำหนดให้พนักงานต้องตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และจะไม่ปลดพนักงานที่ติดเชื้อออก พร้อมทั้งสัญญาว่าจะจัดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ
หมวดที่ 7 สิทธิของคนงาน
ก. สิทธิในการตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม
ก่อนรัฐประหาร รัฐธรรมนูญให้สิทธิในการตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มแก่พนักงานบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายแรงงานซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ยังคงมีผลบังคับใช้ตามเดิม กฎหมายอนุญาตให้พนักงานภาคเอกชนก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่ตนเลือกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการล่วงหน้า ร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มได้ และนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ภายใต้ข้อกำหนดบางประการ กฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน แม้ว่ากฎหมายจะไม่บังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงาน ศาลอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานและจ่ายเงินชดเชยค่าตอบแทนส่วนที่สูญเสียไปขณะขาดงานเพราะถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเลือกปฏิบัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านสหภาพแรงงาน
กฎหมายอนุญาตให้พนักงานรัฐวิสาหกิจจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ กฎหมายห้ามข้าราชการพลเรือน รวมทั้งครูประจำโรงเรียนของรัฐและเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ทหารและตำรวจ จัดตั้งหรือจดทะเบียนสหภาพแรงงาน ข้าราชการพลเรือนอาจจัดตั้งและจดทะเบียนสมาคมได้ แต่สมาคมเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม แรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือทำงานอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วอาจเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่จัดตั้งและบริหารโดยคนไทย
กฎหมายจำกัดการเข้าอยู่ในเครือเดียวกันระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชนเนื่องจากสหภาพสองประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับ ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ระบุว่า “ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างคนเดียวกัน” หรือ “ลูกจ้างที่ทำงานประเภทเดียวกัน” เท่านั้นที่สามารถก่อตั้งสหภาพได้ จำกัดความสามารถของคนงานที่ทำสัญญาเหมาในการเข้าร่วมสหภาพที่ก่อตั้งโดยลูกจ้างประจำ นอกจากนี้ กฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเอกชนที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนสามารถจัดตั้ง “คณะกรรมการลูกจ้าง” เพื่อเป็นตัวแทนเสนอข้อเรียกร้องแบบรวมกลุ่มของพนักงานและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง รวมทั้งจัดตั้ง “คณะกรรมการสวัสดิการ” เพื่อเป็นตัวแทนเสนอข้อเรียกร้องแบบรวมกลุ่มของพนักงานว่าด้วยปัญหาด้านสวัสดิการ
ความคุ้มครองตามกฎหมายจากมาตรการต่อต้านสหภาพแรงงานโดยนายจ้างจะมีผลต่อเมื่อสหภาพแรงงานจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว ในการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน แรงงานอย่างน้อย 10 คนต้องส่งรายชื่อให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะนำรายชื่อและสถานภาพการจ้างงานไปตรวจสอบความถูกต้องกับนายจ้าง จึงอาจทำให้แรงงานเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกตอบโต้จากนายจ้างก่อนการจดทะเบียนจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำกับสหภาพ สหภาพหนึ่งแห่งมีที่ปรึกษาได้ไม่เกินสองคน โดยที่ปรึกษาต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน พนักงานอาจถูกไล่ออกด้วยเหตุผลใดก็ได้ แต่นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ผู้นำสหภาพที่ออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามอาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของสมาชิกสหภาพได้อีกต่อไป
กฎหมายกำหนดให้นายจ้างเริ่มการเจรจาภายในสามวันนับจากที่สหภาพยื่นข้อเรียกร้อง หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทางการจะนับว่าเป็นกรณีพิพาทด้านแรงงานและเริ่มการไกล่เกลี่ย กฎหมายอนุญาตให้พนักงานประท้วงหยุดงานได้หลังจากที่ลูกจ้างยื่นเรื่องเรียกร้องและฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานต้องยื่นจดหมายแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการนัดหยุดงาน รัฐบาลมีอำนาจในการจำกัดการชุมนุมประท้วงของภาคเอกชนในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจนี้เลยในช่วงปีที่ผ่านมา นายจ้างสามารถฟ้องร้องผู้นำสหภาพฐานหมิ่นประมาทด้วยข้อความที่ใช้ขณะร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มและชุมนุมประท้วงหากข้อความดังกล่าว “[สร้างความเสียหายแก่] ชื่อเสียงของนายจ้าง”
กฎหมายห้ามการนัดหยุดงานหรือปิดกิจการชั่วคราวในกิจการภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มธุรกิจที่ให้ “บริการที่จำเป็น” ซึ่งรัฐบาลให้คำจำกัดความกลุ่มดังกล่าวกว้างกว่าที่มาตรฐานสากลตั้งไว้ โดยกลุ่มนี้ยังครอบคลุมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โทรคมนาคม และขนส่งมวลชน กฎหมายห้ามการเลิกจ้างผู้ที่ชุมนุมประท้วงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่า นายจ้างมีสิทธิจ้างคนมาทำงานแทนผู้ประท้วงได้ การประท้วงในภาคเอกชนถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายที่กำหนดให้มีการเรียกประชุมทั่วไปสมาชิกสหภาพแรงงานและต้องได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกอย่างน้อยร้อยละ 50 กฎหมายกำหนดโทษ เช่น การจำคุกและการบังคับทำงาน แก่ผู้ที่ทำการประท้วงหยุดงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจ
กฎหมายแรงงานไม่มีการบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ และในบางกรณีก็ไม่มีประสิทธิผลในการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน อาทิเช่น ศาลแรงงานได้สั่งให้นายจ้างบรรจุลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิม เมื่อพบว่าพนักงานถูกไล่ออกเนื่องจากร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน ทว่า กระบวนการบรรจุพนักงานเข้าทำงานใหม่ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสำหรับลูกจ้าง ส่วนใหญ่ นายจ้างและลูกจ้างจึงมักตกลงกันนอกศาล โดยลูกจ้างได้รับเงินชดเชย และนายจ้างไม่ต้องถูกมาตรการลงโทษใดๆ กฎหมายกำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุดหกเดือน หรือปรับ 10,000 บาท (300 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีการนำบทลงโทษนี้มาบังคับใช้น้อยมาก ระบบศาลแรงงานทำหน้าที่พิจารณาคดีแรงงานในภาคเอกชนเกือบทุกเรื่องที่กฎหมายแรงงานครอบคลุม กระทรวงแรงงานรายงานว่า ข้อขัดแย้งส่วนใหญ่ที่ถูกส่งต่อไปยังศาลแรงงานกลางยังคงเป็นเรื่องการไล่ออกจากงาน การละเมิดกฎหมายแรงงานอื่นๆ และการละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการทำงาน
คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไตรภาคีวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์โดยรวม โดยมีศาลแรงงานพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง พนักงานอาจร้องทุกข์ได้โดยผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงแรงงานอาจส่งกรณีพิพาทด้านแรงงานในภาคเอกชนที่ไม่สามารถยุติได้ด้วยการเจรจาหรือการไกล่เกลี่ยโดยสมัครใจและที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศไปให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อระงับข้อพิพาท คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่พนักงานรัฐวิสาหกิจร้องทุกข์ ในช่วงปีพ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานว่า มีข้อขัดแย้งอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 146 กรณีซึ่งเกี่ยวข้องกับพนักงาน 68,715 คน ลดลงจากปีพ.ศ. 2555 (ข้อขัดแย้งอย่างไม่เป็นทางการ 177 กรณีซึ่งเกี่ยวข้องกับพนักงาน 94,124 คน) ในจำนวนนี้ ข้อพิพาท 124 กรณีคลี่คลายโดยไม่มีการนัดหยุดงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งต่อข้อพิพาท 10 กรณีไปยังศาลแรงงาน และมีเก้ากรณีที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยกรมแรงงาน ข้อพิพาทที่ส่งต่อไปยังศาลแรงงานส่วนใหญ่จัดอยู่ในกรณีการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการทำงาน และการกระทำมิชอบโดยนายจ้างและลูกจ้าง
นายจ้างยังคงเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างที่พยายามก่อตั้งสหภาพ มีรายงานเกี่ยวกับคนงานที่ถูกไล่ออกเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสหภาพ ในบางกรณี ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับพนักงานเข้าทำงานตามเดิมถ้าพิสูจน์แล้วว่าสาเหตุของการเลิกจ้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในปีพ.ศ. 2556 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีมติว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เลิกจ้างพนักงาน 296 คนอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งพนักงานเหล่านี้ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงรายบุคคลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนตารางการทำงาน บริษัทยินยอมรับพนักงานที่ถูกไล่ออกกลับมาทำงานหากพนักงานยอมรับข้อตกลงเรื่องตารางการทำงานแบบใหม่ และเสนอค่าชดเชยให้ผู้ที่ไม่ต้องการทำงานกับบริษัทอีกต่อไป พนักงานบางส่วนรับค่าชดเชยและออกจากงาน ขณะที่พนักงานคนอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับค่าชดเชยยังคงถูกกันไม่ให้เข้าทำงานเมื่อถึงเดือนตุลาคม ข้อพิพาทนี้ถูกส่งต่อไปยังศาลแรงงานแล้ว
มีรายงานว่า หลังจากบริษัท สยามมิชลิน จำกัด รับพนักงานที่นัดหยุดงานประท้วงกลับเข้าทำงานแล้ว นายจ้างได้โยกย้ายพนักงานกลุ่มนี้ไปประจำตำแหน่งอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินการร่วมกันอีกต่อไป
นายจ้างใช้กลวิธีหลากหลายรูปแบบเพื่อยับยั้งการนัดหยุดงานของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงการให้พนักงานรับเหมาค่าแรงปฏิบัติงานแทนที่พนักงานที่นัดหยุดงาน ข่มขู่ผู้นำสหภาพ และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อขอหมายศาลสั่งห้ามการประท้วง มีรายงานว่า นายจ้างบางรายสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพมาแข่งขันกับสหภาพเดิมที่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงที่นายจ้างเสนอ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประณามการใช้ความรุนแรงข่มขู่คุกคามทำร้ายประธานสหภาพแรงงานไทยโซบิเมื่อวันที่ 4 กันยายน และเชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับกิจกรรมของสหภาพตามที่เคยถูกข่มขู่มาก่อนหน้านี้ การสืบสวนยังคงดำเนินอยู่เมื่อถึงเดือนตุลาคม
กฎหมายกำหนดว่า สมาชิกสหภาพแรงงานต้องเป็น “ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างคนเดียวกัน” หรือ “ลูกจ้างที่ทำงานประเภทเดียวกัน” กฎหมายดังกล่าวบวกกับข้อกำหนดที่ให้สหภาพต้องเป็นตัวแทนของพนักงานอย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนพนักงานทั้งหมด เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการร่วมเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม หากคนงานที่ทำสัญญาเหมา ที่มีจำนวนพอควรในภาคแรงงาน ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีสิทธิต่อรอง ต่อรอง เนื่องจากกฎหมายจัดว่า คนงานที่ทำสัญญาเหมาเป็นคนงานใน “อุตสาหกรรมบริการ” ซึ่งต่างจาก “อุตสาหกรรมการผลิต” พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าร่วมกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมได้ ข้อจำกัดในการเข้าร่วมสหภาพกับพนักงานที่ทำงานเต็มเวลามักจะลดความสามารถเจรจาต่อรองในฐานะกลุ่มขนาดใหญ่กว่าเดิม มีกรณีแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารเข้าร่วมสหภาพที่ดำเนินการโดยพนักงานชาวไทยไม่มากนัก แต่อุปสรรคด้านภาษาและการแบ่งแยกพนักงานไทยกับพนักงานต่างด้าวออกจากกันตามอุตสาหกรรมและพื้นที่ (โดยเฉพาะบริเวณแนวพรมแดน) จำกัดผลของสหภาพเหล่านี้ต่อกำลังแรงงานต่างด้าว
นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่า ข้อกำหนดที่ว่าการประท้วงต้องได้รับความเห็นชอบจากร้อยละ 50 ของสมาชิกสหภาพทั้งหมดนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการนัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างบางรายแกล้งมอบหมายงานที่ไม่ดีและลดชั่วโมงการทำงานและลดโบนัสเพื่อเป็นการลงโทษผู้ประท้วง
พนักงานการรถไฟทั้ง 13 คนที่ถูกปลดออกจากงานสืบเนื่องจากการนัดหยุดงานที่นำโดยสหภาพเพื่อประท้วงเกี่ยวกับเครื่องจักรไม่ปลอดภัยหลังเกิดเหตุรถไฟชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปีพ.ศ. 2552 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเจ็ดคน ทั้งหมด (ยกเว้นหนึ่งคนที่ถึงวาระเกษียณอายุ) ได้กลับเข้าทำงานเมื่อเดือนกรกฎาคม แม้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะรับพนักงานเหล่านี้กลับเข้าทำงานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งให้พนักงานที่ถูกไล่ออกจ่ายค่าปรับจำนวน 15 ล้านบาท (450,000 เหรียญสหรัฐ)
ข. การห้ามการบังคับใช้แรงงาน
กฎหมายห้ามการบังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม หรือมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติสาธารณะที่กำลังจะเกิดขึ้น บทลงโทษตามกฎหมายเริ่มตั้งแต่โทษจำคุกระหว่างสี่ปีถึง 15 ปี และโทษปรับระหว่าง 80,000–200,000 บาท (2,400–6,000 เหรียญสหรัฐ) ทว่าปัจจัยหลายอย่างทำให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานมีไม่มากนัก
แม้รัฐบาลจะพยายามบังคับใช้และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ปัญหาการบังคับใช้แรงงานชาย หญิงและเด็กก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นปกติและในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ในช่วงปีที่รายงาน รัฐบาลปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวพร้อมลดอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารและบุตรมาจดทะเบียนผ่านศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จทั่วประเทศ เมื่อถึงเดือนตุลาคม แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารมากกว่าหนึ่งล้านได้รับการจดทะเบียน แม้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจากขั้นตอนการจดทะเบียนแบบใหม่นี้ต่อการลดความเสี่ยงที่แรงงานต่างด้าวจะถูกบังคับใช้แรงงาน องค์กรนอกภาครัฐหลายองค์กรเชื่อว่า การจดทะเบียนจะสามารถลดความเสี่ยงที่แรงงานต่างด้าวจะถูกบังคับใช้แรงงานได้ในท้ายที่สุด
ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่กดขี่ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงาน ในภาคเศรษฐกิจหลายส่วน ได้แก่ ในเรือประมง โรงงานผลิตเสื้อผ้าและโรงงานอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเป็นหลัก เช่น โรงงานแปรรูปอาหารและอาหารทะเล ตลอดจนภาคแรงงานนอกระบบและงานรับใช้ตามบ้าน นักสังเกตการณ์ประชาสังคมยังคงวิจารณ์รัฐบาลว่า ดูแลแรงงานต่างด้าวที่อ่อนแอได้ไม่ดี แรงงานเหล่านี้หลายคนยังเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อีกด้วย
อุปสรรคด้านภาษา การขาดสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย การขาดการศึกษา การขาดความเข้าใจในกฎหมายของไทย และกลไกการร้องเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ทำให้แรงงานต่างด้าวชาวพม่า กัมพูชา และลาวจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศออกรายงานเมื่อพ.ศ. 2556 ที่เน้นนำเสนอสภาพการใช้แรงงานอย่างกดขี่ในภาคประมง พบว่าประมาณร้อยละ 17 ของแรงงาน “ทำงานโดยไม่สมัครใจและไม่สามารถออกจากงานได้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการลงโทษทางการเงิน/ระงับการจ่ายค่าแรง การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือแจ้งทางการ เป็นต้น”
แรงงานต่างด้าวมักมีหนี้สินจำนวนมากติดค้างกับนายหน้าจัดหาแรงงานหรือเจ้าหนี้ในท้องถิ่น โดยบางรายคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงร้อยละ 20 การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพแรงงานขัดหนี้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นายจ้างยึดครองเอกสารการขึ้นทะเบียนและเอกสารการเดินทางของแรงงานต่างด้าวไว้ เป็นผลให้แรงงานเหล่านี้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวและเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน แม้ว่ากฎหมายจะห้ามการกระทำเช่นนี้ก็ตาม ในบางกรณี นายจ้าง ผู้รับจ้างช่วง หรือนายหน้า คิดค่าธรรมเนียมสูงมากจากแรงงานสำหรับการดำเนินการด้านหนังสือเดินทาง จึงยิ่งทวีความเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสภาพแรงงานขัดหนี้ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งรวมถึงแรงงานถูกกฎหมายที่ถูกนายจ้างยึดเอกสาร ยังคงเป็นกลุ่มอ่อนแอที่เสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่เลวร้ายและไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทางกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมักจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหรือเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวกลับประเทศหากถูกจับได้ว่าไม่มีเอกสาร
กรุณาอ่าน รายงานประจำปีว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบด้วยที่ www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/
ค. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน
กฎหมายกำหนดหลักการการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปีที่บิดามารดาอนุญาตให้ทำงานภาคเกษตรในช่วงปิดภาคเรียนหรือหลังเลิกเรียนตราบใดที่นายจ้างจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยให้
นายจ้างไม่อาจสั่งให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด และห้ามสั่งให้ทำงานระหว่าง 22.00 น. ถึง 6.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานล่วงหน้า กฎหมายห้ามการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ทำงานที่อันตราย ซึ่งรวมถึงงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลหะ สารเคมีอันตราย วัสดุมีพิษ กัมมันตรังสี และอุณหภูมิหรือระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่เป็นพิษ การใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก การทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำ รวมทั้งการทำงานในสถานที่ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์หรือในสถานอาบอบนวด กฎหมายให้ความคุ้มครองอย่างจำกัดแก่แรงงานเด็กในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น การประมงและเกษตรกรรม และอนุญาตให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อใช้กับภาคเศรษฐกิจที่กฎหมายครอบคลุมไม่ถึง รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรือประมงในทะเลให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวจำเป็นต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานบนเรือประมงในทะเล ทั้งนี้ กำหนดอายุขั้นต่ำสุดสำหรับแรงงานที่ทำงานรับใช้ตามบ้านอยู่ที่ 15 ปี
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเด็ก โทษสูงสุดสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับแรงงานเด็กคือ โทษจำคุกหนึ่งปี หรือโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท (ประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของกระทรวงแรงงานมักขอให้ผู้ละเมิดให้สัญญาว่า จะแก้ไขพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้นแทนที่จะดำเนินคดีหรือลงโทษผู้ละเมิด ผู้สังเกตการณ์ยังคงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของกระทรวงแรงงานมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แผนตรวจสอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำหรับปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการตรวจสอบการใช้แรงงานในโรงงานขนาดเล็ก (โรงงานที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน) ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะใช้แรงงานเด็ก ในปีพ.ศ. 2556 กระทรวงแรงงานยังคงดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานที่ทำงานรับใช้ตามบ้านรวมทั้งนายจ้างเพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานรับใช้ตามบ้าน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเพิ่มการฝึกอบรมพนักงานฝ่ายตรวจสอบแรงงานให้สามารถเข้าตรวจสอบตามบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่า การเข้าตรวจสอบบ้านพักส่วนบุคคลยังคงถูกจำกัด การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายค้นเป็นอุปสรรคในการเข้าตรวจตามบ้านพักอาศัยของบุคคลเพื่อดูแลสวัสดิภาพของเด็กรับใช้ตามบ้านหรือเด็กที่ทำงานที่บ้าน
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานรายงานว่า มีเด็กอายุ 15-17 ปี จำนวน 44,263 คนทำงานอย่างเป็นทางการและมีชื่อในระบบประกันสังคมในปีพ.ศ. 2556 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสอบการละเมิดกฎหมายจ้างงานเด็กในสถานประกอบการ 549 แห่งเมื่อปีพ.ศ. 2556 และพบการละเมิดกฎหมายในสถานประกอบการ 29 แห่ง โดยพบการกระทำหลายลักษณะ เช่น การจัดเวลาการทำงานที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก นายจ้างไม่ได้แจ้งการจ้างเด็กต่อทางการ และนายจ้างจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนแรงงานเด็กทั้งหมด ทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย น่าจะมีมากกว่าที่ระบุข้างต้นมากเมื่อพิจารณาจำนวนแรงงานเด็กในภาคที่ไม่เป็นทางการ รวมทั้งแรงงานเด็กต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการสำรวจการใช้แรงงานเด็กทั่วประเทศอย่างถ้วนทั่ว
นอกจากนี้ ยังพบแรงงานเด็กทำงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง และภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นทางการ มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่า นายจ้างใช้แรงงานเด็กในการผลิตเสื้อผ้า สิ่งลามกอนาจาร กุ้ง ปลา และอ้อย เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทำงานอยู่ในเมืองส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน อุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านอาหาร เด็กจำนวนหนึ่งยังคงถูกแสวงประโยชน์ เช่น ถูกใช้ไปขายของตามถนน ขอทาน ขายบริการทางเพศ ทำงานบ้านและทำงานในไร่นา โดยในบางครั้งเป็นการทำงานแบบแรงงานขัดหนี้ (ดู หมวด 6. เด็ก) เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว และอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น ยังคงมีรายงานว่า มีเด็กข้างถนนที่ถูกซื้อ ถูกเช่า หรือ ถูกบังคับ “ยืม” จากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อให้มาขอทานกับผู้หญิงตามถนน นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า มีบิดามารดาที่เป็นบุคคลต่างด้าวส่งบุตรให้ไปขอทานระหว่างปิดภาคเรียน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อช่วยหารายได้ให้ครอบครัว
นอกเขตเมือง มีการใช้แรงงานเด็กในภาคเกษตร อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประมง การใช้แรงงานเด็กในโรงงานขนาดใหญ่กว่าที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกและโรงงานแปรรูปที่จดทะเบียนกับทางการนั้นจะเห็นชัดน้อยกว่าแต่ยังคงมีรายงานอยู่ ซึ่งรวมถึงในหลายระดับของอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล องค์กรนอกภาครัฐยังคงรายงานว่า มีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งที่ตั้งอยู่ตามชายแดนพม่าในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
กรุณาอ่าน รายงานผลการสำรวจรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ของกระทรวงแรงงานประกอบด้วยที่ www.dol.gov/ilab/reports/child-labor/findings/
ง. การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานหรืออาชีพ
กฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ เพศกำเนิด เพศภาวะ ภาวะทุพพลภาพ ภาษา รสนิยมทางเพศและ/หรืออัตลักษณ์ทางเพศภาวะ สถานะการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่ออื่นๆ หรือสถานภาพทางสังคม รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 รับรองความเสมอภาคและความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบนพื้นฐานของชาติกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ภาวะทุพพลภาพ สภาพร่างกายหรือสุขภาพ สถานภาพส่วนบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา หรือทัศนะทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญหลังยึดครองอำนาจในเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนต้องจ้างพนักงานทุพพลภาพอย่างน้อยหนึ่งคนต่อพนักงานทุก 100 คน ทางการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผลในทุกกรณี
การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มหญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้รักร่วมสองเพศและบุคคลข้ามเพศ บุคคลทุพพลภาพ ตลอดจนแรงงานต่างด้าว (ดู หมวด 6 และ 7.จ.) เมื่อเดือนมิถุนายน องค์การแรงงานระหว่างประเทศรายงานว่า บุคคลที่มีรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภาวะหลากหลายในประเทศไทยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเดียดฉันท์ที่มีอยู่ทั่วไปและการขาดกฎหมายคุ้มครองรวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ รายงานยังพบว่า การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการจ้างงาน อาทิ การศึกษาและฝึกอบรม การเข้าถึงอาชีพ โอกาสความก้าวหน้า ประกันสังคม และผลประโยชน์สำหรับคู่ชีวิต มีรายงานว่าพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดยิ่งไปกว่านี้ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของบุคคลกลุ่มนี้มักจำกัดอยู่เพียงไม่กี่อาชีพ เช่น ช่างเสริมสวยและผู้ให้ความบันเทิง
จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้
อัตราค่าแรงรายวันขั้นต่ำของประเทศยังคงอยู่ที่ 300 บาท (9 เหรียญสหรัฐ) หลังจากมีการปรับเพิ่มรายได้ที่เป็นตัวเงินขึ้นอย่างมีนัยสำคัญระหว่างร้อยละ 40 ถึง 80 ในระดับจังหวัดเมื่อพ.ศ. 2556 ทางการคำนวณเส้นความยากจนครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2554 โดยอยู่ที่ 2,422 บาทต่อเดือน (76 เหรียญสหรัฐ)
กฎหมายกำหนดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 48 ชั่วโมง หรือแปดชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาหกวัน และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลูกจ้างที่ต้องทำงาน “เสี่ยงอันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และห้ามทำงานล่วงเวลา พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน และอาจทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน ตามกฎหมายแล้วนายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างงานโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง เว้นเสียแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง
กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องมีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่ทำที่บ้าน นอกจากนี้ ยังห้ามสตรีมีครรภ์และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย (ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง) พนักงานไม่มีสิทธิ์พาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อหน้าที่การงาน กฎหมายอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์นำใบรับรองแพทย์มายื่นขอเปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบทั้งก่อนและหลังคลอดบุตร กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างแจ้งลูกจ้างถึงสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายตั้งแต่ก่อนจ้างงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงให้ความคุ้มครองบางประการแก่แรงงานที่ทำงานรับใช้ตามบ้านในเรื่องเกี่ยวกับวันหยุด วันลาป่วย อายุขั้นต่ำ และการจ่ายค่าแรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงานปกติ หรือการลาคลอด อัตราค่าแรงขั้นต่ำและระบบประกันสังคมไม่ครอบคลุมถึงแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและงานตามฤดูกาล เช่น เกษตรกรรม ประมง เป็นต้น
กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ตรวจสอบว่านายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำในภาคแรงงานที่เป็นทางการ ตลอดจนตรวจสอบชั่วโมงทำงาน เวลาพักผ่อน วันหยุดและวันลาป่วย การจ่ายค่าล่วงเวลา เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล กระทรวงฯ ได้จ้างพนักงานตรวจสอบประมาณ 600 คนให้ตรวจสถานประกอบการประมาณ 356,900 แห่ง
จากสถิติของกระทรวงฯ พนักงานตรวจสอบได้ตรวจสอบสถานประกอบการ 48,749 แห่ง ที่มีลูกจ้างรวมกว่า 2.1 ล้านคนในพ.ศ. 2556 และพบว่ามี 465 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (3,000 เหรียญสหรัฐ) และ/หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำนี้ยังมีความสับสนอยู่ โทษสูงสุดของการฝ่าฝืนข้อบังคับด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยคือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท (12,000 เหรียญสหรัฐ) ทรัพยากรที่มีจำกัด แนวปฏิบัติว่าด้วยการสัมภาษณ์พนักงานที่สถานที่ทำงาน การพึ่งพาการตรวจสอบที่เน้นเอกสาร และการไม่มีล่ามติดตามคณะผู้ตรวจสอบทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิผลนัก
ในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อปีพ.ศ. 2556 กระทรวงฯ ตรวจสอบสถานประกอบการ 17,672 แห่ง ที่มีลูกจ้างรวมกว่า 1.5 ล้านคน และพบว่า มี 974 แห่ง (ประมาณร้อยละ 6) ที่ละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ การตรวจสุขภาพ อุบัติเหตุเพลิงไหม้ การไม่จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลความปลอดภัย และระดับความร้อน แสงและเสียงไม่เหมาะสม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า อัตราการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงานพบสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การไฟฟ้า ก๊าซและการประปา และเกษตรกรรม แม้การฝ่าฝืนกฎหมายส่วนใหญ่จะได้รับการแก้ไขหลังจากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกคำสั่งให้บริษัทดำเนินการแก้ไขแล้ว พนักงานฝ่ายตรวจสอบแรงงานฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างน้อย 220 คดี หลังจากพบว่านายจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขหรือชำระค่าปรับตามที่กำหนด
การเยียวยาพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมมักไม่ทันการและไม่เพียงพอ มีคำพิพากษาจากศาลไม่มากนัก และมีเพียงไม่กี่กรณีที่ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับภัยในสถานประกอบการเป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ยังคงมีคดีอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ศาลมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้มีการชดเชยแก่พนักงานที่ได้รับบาดเจ็บ องค์กรนอกภาครัฐยังคงรายงานหลายกรณีที่รัฐบาลปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยอุบัติเหตุแก่บุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วเพราะยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ
แรงงานบางส่วนในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการทั่วประเทศได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะแรงงานในต่างจังหวัด นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดย่อมที่มีจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน ความคุ้มครองเหล่านี้ยังครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว อย่างไรก็ดี นายจ้างหลายรายไม่ได้จ่ายค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร ทั้งที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งไร้ฝีมือ
รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเพื่อช่วยลดสัดส่วนแรงงานที่ไม่มีเอกสารในภาคแรงงาน และลดความเสี่ยงการกระทำมิชอบต่อแรงงานต่างด้าว เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม แรงงานต่างด้าวประมาณ 1.5 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวพร้อมลดอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารและบุตรลงทะเบียนผ่านศูนย์บริการฯ 80 แห่งทั่วประเทศ
ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประมาณ 898,825 คนและผู้อยู่ในอุปการะ (เด็กอายุต่ำว่า 15 ปี) ได้จดทะเบียนภายใต้ระบบนี้ แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วและผู้อยู่ในอุปการะสามารถทำงานและพักอาศัยในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการดูแลสุขภาพภายใต้โครงการประกันสุขภาพจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 แรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการตามขั้นตอนของศูนย์บริการฯ ได้โดยเสร็จสิ้นภายในไม่ถึงครึ่งวันและบางครั้งก็ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มารอรับบริการ ก่อนหน้านี้ กระบวนการจดทะเบียนต้องเดินเรื่องขอเอกสารอนุญาตและข้อมูลจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ เอกสารอนุญาตการพำนักชั่วคราวจากกระทรวงมหาดไทย ใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน เอกสารตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาจ้างงาน สิทธิของแรงงานต่างด้าวและความคุ้มครองจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม รัฐบาลลดค่าธรรมเนียมโดยยกเลิกเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรประจำปีพ.ศ. 2556 จำนวน 1,000 บาท (30 เหรียญสหรัฐ) ต่อคนและลดค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตทำงานระยะแปดเดือนจาก 1,800 บาท (54 เหรียญสหรัฐ) เหลือ 900 บาท (27 เหรียญสหรัฐ) แม้ว่าจะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการของจำนวนแรงงานนอกระบบในประเทศ แหล่งข้อมูลของรัฐและองค์กรนอกภาครัฐได้ประมาณตัวเลขแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบไว้ที่ 2.5 ถึง 3.7 ล้านคน
รัฐบาลกำหนดให้นายจ้างในอุตสาหกรรมประมงจัดเก็บบันทึกทางราชการของลูกจ้าง และใช้สัญญาจ้างงานที่ได้มาตรฐานซึ่งระบุค่าแรง ชั่วโมงทำงาน ผลประโยชน์และสวัสดิการขณะทำงานบนเรือ อย่างไรก็ตาม แรงงานในอุตสาหกรรมประมงยังคงขาดการเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคมและมักไม่ได้รับเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุ อีกทั้งไม่มีการรับประกันค่าแรงขั้นต่ำ ศูนย์บริการฯ เริ่มรับจดทะเบียนแรงงานในภาคประมงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม รัฐบาลได้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารในภาคประมง 42,576 คนผ่านศูนย์บริการฯ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
ทางการกำหนดให้สำนักงานจัดหางานที่จัดหาแรงงานมาทำงานในประเทศต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม มีสำนักงานจัดหางานสำหรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยจดทะเบียนกับกรมการจัดหางานแล้ว 207 แห่ง ยังคงไม่มีข้อบังคับเฉพาะเพื่อกำกับดูแลหรือติดตามตรวจสอบการบริการและค่าบริการของสำนักงานจัดหางานเหล่านี้ รวมถึงผู้ให้บริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวระหว่างขั้นตอนการทำให้เป็นแรงงานที่ถูกต้อง
บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานใช้ “ระบบสัญญาจ้างเหมางาน” โดยคนงานจะเซ็นสัญญาเป็นรายปี กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่คนงานที่ทำสัญญาเหมา ไม่ว่าคนงานที่ทำสัญญาเหมานี้จะถูกจ้างในลักษณะเป็นบริการภายนอกและได้รับค่าจ้างจากอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ก็ตาม กฎหมายถือว่า บริษัทที่ทำสัญญาเป็นนายจ้าง และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างปกติและลูกจ้างที่ได้รับการว่าจ้างจากภายนอกอย่างเท่าเทียมกัน แม้คนงานที่ทำสัญญาเหมาจะทำงานประเภทเดียวกันกับคนงานที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรง แต่พวกเขามักได้รับค่าจ้างและสวัสดิการพิเศษอื่นๆ น้อยกว่า หรือไม่ได้เลย
ถึงแม้จะมีความพยายามจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะที่ไม่มีเอกสารยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานหลายประการอย่างที่แรงงานที่เป็นพลเมืองไทยได้รับ และยังคงเป็นกลุ่มอ่อนแอที่เสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่เลวร้ายและไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทางกฎหมาย องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า สภาพแวดล้อมการทำงานของทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารและแรงงานที่ไม่มีเอกสารไม่ค่อยดี มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทำงานในโรงงานใกล้กับจุดผ่านแดน ซึ่งมีรายงานว่ามีการละเมิดกฎหมายแรงงานอยู่เป็นประจำและไม่ค่อยมีการตรวจสอบว่า โรงงานเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบแรงงานมักพูดภาษาของแรงงานต่างด้าวไม่ได้ จึงเป็นอุปสรรคสำหรับแรงงานต่างด้าวในการรายงานการละเมิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานรายงานว่า ได้จัดตั้งศูนย์พร้อมล่ามหนึ่งคนในจังหวัดสมุทรสาคร กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น ตรัง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และตาก กลุ่มประชาสังคมด้านสิทธิแรงงานต่างด้าวรายงานว่า ความพยายามเหล่านี้ทำให้การบริการต่างๆ ปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น
ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลสามารถลดจำนวนนายหน้าและค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นทางการระหว่างขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานภายใต้ศูนย์บริการฯ ทว่ายังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการขาดนโยบายด้านการโยกย้ายถิ่นระยะยาว
ยังคงมีรายงานว่า บริษัทที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวหักค่าแรงของแรงงานต่างด้าวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายในการลักลอบเข้าเมือง การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว การจัดทำใบอนุญาตทำงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งที่มีอยู่จริงและปั้นแต่งขึ้นมา แรงงานยังรายงานการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทที่ทำสัญญาด้วย ซึ่งรวมถึงการไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลาในวันหยุด ไม่จัดหาอุปกรณ์ เครื่องแบบพนักงาน หรือน้ำดื่มให้อย่างเพียงพอ หรือไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำรายวันเมื่อทำงานน้อยกว่าแปดชั่วโมง ยังมีรายงานว่า มีการหักค่าแรงเมื่อลาป่วย และติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปล่อยปะละเลยแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง
สำนักงานจัดหาแรงงานในไทยแสวงประโยชน์จากพลเมืองไทยที่ทำงานในต่างประเทศด้วยการคิดค่าธรรมเนียมการจัดหางานเป็นจำนวนเงินที่สูงและผิดกฎหมาย ซึ่งบางครั้งอาจสูงเท่ากับรายได้ปีแรกและปีที่สองของการทำงานรวมกัน องค์กรนอกภาครัฐตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหนี้ในท้องถิ่นซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหนี้นอกระบบมีส่วนทำให้เกิดการปฏิบัติเช่นนั้นโดยการเสนอให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อให้คนงานนำไปจ่ายค่าหัวคิวซึ่งบางครั้งอาจสูงถึงห้าแสนบาท (ประมาณ 15,000 เหรียญสหรัฐ) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎจำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุดในการจัดหางาน ทว่าการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องยากและทำได้ไม่มากพอเนื่องจากแรงงานไม่เต็มใจให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดหางานใต้ดิน กรมการจัดหางานฟ้องดำเนินคดีอาญากับตัวแทนหรือนายหน้าผิดกฎหมาย 155 คดี เพิกถอนใบอนุญาตสำนักงานจัดหางานสองแห่ง ระงับใบอนุญาตสำนักงานจัดหางานสี่แห่ง และยื่นฟ้องคดีอาญากับสำนักงานจัดหางานเก้าแห่ง พร้อมทั้งรายงานว่า มีการเจรจากับรัฐบาลอิสราเอลและเกาหลีใต้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการจัดหางานสำหรับแรงงานที่เป็นพลเมืองไทย
ในปีพ.ศ. 2556 มีรายงานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในสถานประกอบการ 111,894 ครั้ง ในจำนวนนี้ เป็นการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย (ลาป่วยไม่เกินสามวัน) จำนวน 76,776 ราย และการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยซึ่งทำให้ต้องลาป่วยเกินสามวัน (รวมทั้งการพิการถาวรและการเสียชีวิต) จำนวน 35,118 ราย อัตราการเกิดอุบัติเหตุในภาคแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรม และในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เชื่อว่าน่าจะสูงกว่านี้แต่มีรายงานน้อยกว่าเป็นจริง ผู้ที่เจ็บป่วยอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับงานอาชีพมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือได้รับเงินชดเชย อีกทั้งมีแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้จำนวนน้อยมาก แรงงานต่างด้าวและผู้อยู่ในอุปการะทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวบางคนไม่ซื้อประกันสุขภาพเพราะไม่เข้าใจสิทธิของตน ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสรรคด้านภาษา การขาดแคลนบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ในโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ มักมีการนำมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ทางการกำหนดไว้มาใช้ แต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยโดยรวมก็ยังไม่เข้มงวด ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ การให้ความคุ้มครองด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน