ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-สหรัฐอเมริกา

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยจัดการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Commission Meeting – JCM) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประสานและเพิ่มเติมพันธกรณีระหว่างกันในสาขานี้ ทั้งสองฝ่ายตระหนักร่วมกันว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาท้าทายระดับโลก ทั้งยังสร้างอาชีพและเสริมพลังอำนาจแก่เศรษฐกิจของประเทศทั้งสองเพื่อช่วยให้พลเมืองบรรลุเป้าหมายตามที่ตนปรารถนา ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าความร่วมมือระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความพยายามทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ จึงจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม พ.ศ. 2559 ที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการระหว่างรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2556 (Agreement Related to Scientific and Technical Cooperation between the Government of the United States of America and the Government of the Kingdom of Thailand, 2013)

การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ เป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายรวมมากกว่า 90 คน ส่วนนาง Judith Garber รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบสำนักงานกิจการมหาสมุทร สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ และวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายมากกว่า 20 คนจากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้แก่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา กระทรวงเกษตร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ Oak Ridge National Laboratories องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา กรมแพทย์ทหารบกของสหรัฐฯ และสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีศาสตราจารย์ Geraldine Richmond ทูตวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาประจำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมประชุมด้วย

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ยืนยันบทบาทสำคัญของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านช่องทางดำเนินการที่มั่นคงยาวนาน เช่น ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (Thai Ministry of Public Health – U.S. Centers for Disease Control and Prevention Collaboration) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Armed Forces Research Institute of Medical Sciences – AFRIMS) และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ ไทย-สหรัฐฯ (Thai-U.S. Creative Partnership)

ไทยและสหรัฐฯ มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือทวิภาคีในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อประเด็นที่มีความสำคัญในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งรวมถึงสุขภาพโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาพลังงานสะอาด และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ยอมรับความสำคัญของสะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ตลอดจนการสานความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างภาควิทยาศาสตร์ของไทยและสหรัฐอเมริกา

โดยตระหนักถึงการที่ไทยทวีบทบาทผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานผ่านวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Agenda) ทั้งสองฝ่ายยืนยันพันธกรณีในการแสวงหาโอกาสยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกันในภูมิภาคผ่านกรอบการทำงานต่างๆ เช่น กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) และหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Strategic Partnership)

ทั้งสองฝ่ายมองไปในอนาคต และยินดีสานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องโดยหลักการว่าจะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งต่อไปที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2561