การใช้ทักษะความรู้ของสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลเพื่อช่วยขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลของไทย

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ไมเคิล ฮีธ และคุณอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสหรัฐฯ-ไทย ระยะเวลา 3 วัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนตัวแทนบริษัทไทยและอเมริกันเข้าร่วมเกือบ 800 คน กิจกรรมในครั้งนี้จะใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และทักษะความรู้ของภาคเอกชน เพื่อช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0

“เนื่องจากปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจการค้าและการดำเนินงานของภาครัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ บนโลกดิจิทัล การพัฒนากรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงสำคัญมากยิ่งกว่าที่ผ่านมา” อุปทูตฮีธ ได้กล่าวในระหว่างพิธีเปิด ในโลกดิจิทัลปัจจุบันนี้ ประชาชนจะต้องเชื่อมั่นว่าข้อมูลของพวกเขาได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม บริษัทและหน่วยงานรัฐเองก็จะต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานผ่านระบบดิจิทัลของตนจะไม่เผชิญความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งสร้างควา มเสียหายรุนแรง การโจรกรรมข้อมูลทางธุรกิจที่เป็นความลับ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลส่วนบุคคลล้วนทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง อีกทั้งยังละเมิดความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้วย

“ดิฉันขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐฯ (USTDA) และหน่วยงานอื่น ๆ ของอเมริกาเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ลุล่วง ตลอดจนมีส่วนร่วมเสริมสร้างค่านิยมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” คุณอัจฉรินทร์กล่าว

ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการที่สำคัญ โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้นับเป็นการต่อยอดหลักชัยดังกล่าว โดยจัดให้เจ้าหน้าที่รัฐของสหรัฐฯ และไทยมีเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและบทเรียนต่าง ๆ รวมทั้งให้ภาคธุรกิจได้นำเสนอมุมมองที่กว้างกว่าจากประสบการณ์ที่สั่งสมในทั่วโลก การปรับใช้มาตรฐานสากลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ระบบนิเวศทางดิจิทัลของไทยดำรงอยู่อย่างมั ่นคงในโลกอินเทอร์เน็ตที่เสรีและเปิดกว้าง อีกทั้งยังช่วยให้ประชากรและเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ

สหรัฐฯ และไทยมีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่ยาวนานหลายศตวรรษ ตลอดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจในประเทศของเรามาสู่ยุคดิจิทัลในวันนี้ ไทยได้รุดหน้าไปมากในโลกดิจิทัล โดยมีอัตราการทำธุรกรรมการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่สูงที่สุดในโลก มีฐานผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเปิดใช้งานเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพดีในระดับแนวหน้าของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยทะยานสู่ยุคดิจิทัลภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 สหรัฐฯ และบริษัทอเมริกันพร้อมยืนเคียงข้างไทยอีกครั้งในฐานะภาคี เพื่อที่เราจะบรรลุความสำเร็จร่วมกัน