เอกสารข้อเท็จจริง
14 กันยายน 2563
เมื่อวันที่ 11 กันยายน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) เพื่อย้ำจุดยืนความสัมพันธ์ที่ยืนนานระหว่างกัน ในโอกาสนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการดำเนินงาน โดยร่วมมือกับสภาคองเกรส เพื่อยกระดับการสนับสนุนให้เกิดเอกราช ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล และการเติบโตที่ยั่งยืนในประเทศภาคีลุ่มน้ำโขง โดยตระหนักว่าการส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้สำคัญต่อเอกภาพและประสิทธิภาพของอาเซียนด้วยเช่นกัน
การยกระดับการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ
ตลอดช่วงการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative) ตั้งแต่ปี 2552-2563 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้มอบเงินช่วยเหลือประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศแล้วเกือบ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยครอบคลุมด้านต่อไปนี้
- โครงการด้านสาธารณสุข 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ 734 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สันติภาพและความมั่นคง 616 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สิทธิมนุษยชนและธรรมภิบาล 527 ล้านเหรียญสหรัฐ
- การศึกษาและบริการด้านสังคม 175 ล้านเหรียญสหรัฐ และ
- ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 165 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในการต่อยอดจากความสำเร็จของข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขง ประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศและสหรัฐฯ ได้เปิดตัวหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ เพื่อเป็นเวทียุทธศาสตร์ความร่วมมือ ซึ่งจะสานต่องานที่กำลังดำเนินอยู่ และยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาทุนมนุษย์ การจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน และความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) ทั้งนี้ งานด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ประกอบไปด้วยความร่วมมือในด้านภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การสร้างศักยภาพความมั่นคงด้านสุขภาพ และการตอบสนองต่อโรคระบาด ตลอดจนการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และสัตว์ป่า
หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ มีกรอบการดำเนินงานตามค่านิยมที่สอดคล้องกับกรอบงานของมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) และวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในด้านความเท่าเทียม ธรรมาภิบาล การเปิดเผย ความโปร่งใส การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเคารพอธิปไตย นอกจากนี้ หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ยังส่งเสริมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) อาเซียน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ตลอดจนภาคีและกลไกความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับค่านิยมเหล่านี้
สหรัฐฯ ยกระดับความร่วมมือของเรา
- มอบความช่วยเหลือรวมแล้วกว่า 52 ล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านสาธารณสุข มนุษยธรรม เศรษฐกิจ และการพัฒนาในภาวะฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้โรคโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
- สนับสนุนระบบพลังงานที่ทันสมัย เชื่อมโยง และไว้ใจได้อย่างต่อเนื่องโดยมอบเงิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐภายใต้ข้อริเริ่ม Asia EDGE ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้มีการซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาคและเข้าถึงเงินทุนมากขึ้น ตลอดจนภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
- วางแผนที่จะมอบเงิน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเสริมศักยภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและยุติธรรมเพื่อปราบปรามอาชาญกรรมข้ามชาติ โดยสอดคล้องกับความช่วยเหลือจากออสเตรเลีย กิจกรรมจะประกอบไปด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งความมั่นคงชายแดน การขัดขวางและสกัดกั้นการลำเลียงสินค้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติดและสารตั้งต้น ตามเส้นทางการค้ายาเสพติดสำคัญ ๆ การทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมอบเงินเพิ่มเติมจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อต่อสู้กับการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะ
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและตลาดพลังงาน โดยวางแผนที่จะมอบเงิน 6.6 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้โครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคภาคพลังงาน (Power Sector Program) หรือ PSP ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
- เสริมสร้างธรรมาภิบาลระดับภูมิภาคและส่งเสริมความโปร่งใส ด้วยเงินทุน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นจากชุมชนท้องถิ่น สร้างเวทีเพื่อขับเคลื่อนการทำวิจัยและศึกษามุมมองที่หลากหลาย สร้างการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจากตะวันออกสู่ตะวันตกกับอินเดียและบังกลาเทศ ส่งเสริมความสามารถด้านเศรษฐกิจของสตรี และดำเนินโครงการอบอรมประเทศที่สาม (Third Country Training Program) กับประเทศสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง
- ตัวอย่างเช่น การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำในแม่น้ำโขง โดยวางแผนที่จะมอบเงิน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่มีร่วมกันกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
- ร่วมงานกับประเทศลุ่มน้ำโขงและภาคีอื่น ๆ ในการขยายการดำเนินงานบรรเทาภัยพิบัติเพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองในท้องถิ่น
- สนับสนุนการประชุมหารือเชิงนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย ชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม
การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
เราจะยังคงสนับสนุนองค์กรภาครัฐและประชาสังคมในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สามารถปรับและฟื้นตัวได้ดี ตลอดจนมีความโปร่งใสและมีศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาชีวิตของผู้คนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน
- หน่วยงานความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) ได้ลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังจะลงทุนและขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำโขงด้วยเม็ดเงินอีกหลายพันล้านในอนาคต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจในประเทศเพื่อเอื้อให้เกิดการค้าและการลงทุนสองทางอันจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีคุณภาพสูง และขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน
- สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและคำปรึกษา ผ่านหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership) หรือ JUMPP เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตลาดพลังงานระดับประเทศและภูมิภาค โดยตอบสนองต่อประเด็นสำคัญ ๆ ของรัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขง ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ สนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพสูงและโปร่งใสในภาคพลังงาน รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อขยายการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคผ่าน JUMPP ตลอดจนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และโครงการโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid initiatives)
- สหรัฐฯ และญี่ปุ่นประกาศในแถลงการณ์ร่วม JUMPP ถึงเจตนาที่จะยกระดับการพัฒนาศักยภาพประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการภาคพลังงาน ช่วยปลดล็อกการลงทุนจากภาคเอกชนในภาคพลังงานของลุ่มน้ำโขง และหล่อเลี้ยงการซื้อขายพลังงานข้ามพรมแดน
- โครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคภาคพลังงาน (PSP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกอบรมให้กับบรรดาประเทศลุ่มน้ำโขงมาแล้วกว่า 1,000 ชั่วโมง ความช่วยเหลือของเราทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการซื้อขายพลังงานข้ามพรมแดน พัฒนากระบวนการด้านการจัดเก็บภาษี รวมถึงพิจารณาบรรทัดฐานและมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงาน ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ยังทำให้ประเทศเวียดนามได้จัดตั้งตลาดพลังงานที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนพัฒนาการดำเนินการของระบบ และยังได้ให้คำแนะนำแก่ภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทซื้อขายพลังงาน และการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาเชื่อมต่อระบบท่อส่งผ่านพลังงานได้
ความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน
- โครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (SIP) ซึ่งจัดตั้งโดยมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้สร้างเสริมธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงร่วมกัน ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำบาดาล การสำรวจระยะไกล การประเมินผลกระทบสะสม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐสังคม
- SIP ร่วมกับ Eyes on Earth, Inc. จัดทำการศึกษาวิจัยที่เผยให้เห็นว่าการดำเนินการของเขื่อนต้นน้ำในสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขงตามธรรมชาติ ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากสื่อ และกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดนที่มากขึ้นใหม่อีกครั้ง
- โครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง (Mekong Water Data Initiative) หรือ MWDI ซึ่งร่วมด้วย 60 ภาคีจากรัฐบาลของนานาประเทศและองค์กรนอกภาครัฐ ยังคงเดินหน้าพัฒนาการบริหารจัดการแม่น้ำโขงข้ามพรมแดน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์
- ในปี 2562 รัฐมนตรีปอมเปโอเปิดตัวแพลตฟอร์ม org ภายใต้โครงการข้อริเริ่ม MWDI เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล เครื่องมือ และทรัพยากรที่เกี่ยวกับน้ำ ในปัจจุบัน เว็บไซต์ดังกล่าวมีเครื่องมือกว่า 40 ชิ้นจากกว่า 35 ภาคีทั่วโลกซึ่งมาร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลที่ราบลุ่มแม่น้ำและอุทกวิทยา การพยากรณ์อากาศ เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับสาธารณชน ระบบนิเวศ และวิทยาศาสตร์พลเมือง
- NexView จับมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการขับเคลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับแม่น้ำโขงโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ NexView ได้แปลงข้อมูลจากคณะกรรมาธิการฯ ให้เป็นข้อมูลภาพด้วยเครื่องมือ Decision Theater จากมหาวิทยาลัย Arizona State University ซึ่งทำให้ชุมชนลุ่มน้ำโขงสามารถศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและการรักษาสมดุลระหว่างตัวเลือกต่าง ๆ ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน และอาหาร
- โครงการแลกเปลี่ยน Sister Rivers ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi River Commission) ผ่านการหารือที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันในหลากหลายหัวข้อ ได้แก่ ความปลอดภัยเขื่อน การวางแผนวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตลอดจนการฝึกซ้อมและการแลกเปลี่ยนด้านการตอบสนองต่อภัยพิบัติ
- หน่วยทหารช่างกองทัพบกสหรัฐฯ (S. Army Corps of Engineers) หรือ USACE สนับสนุนประเทศลุ่มน้ำโขงในประเด็นความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ความช่วยเหลือเชิงวิศวกรรมศาสตร์ว่าด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ และโครงการการก่อสร้างซึ่งเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตัวอย่างเช่น การช่วยพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2564-2573 (2021-2030 Mekong Basin Development Strategy) โดยการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี รวมถึงการส่งเสริมสปป.ลาวในโครงการริเริ่มด้านความปลอดภัยเขื่อนของชาติ และการก่อสร้างโรงเรียน คลินิก บ่อน้ำ และศูนย์ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยรวมไปถึงสถาบันโภชนาการแห่งชาติ (National Institute for Nutrition) ในสปป.ลาวด้วย
- โครงการเซอร์เวียร์-แม่โขง (SERVIR-Mekong) เป็นความร่วมมือที่โดดเด่นระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ที่ช่วยให้ประเทศลุ่มน้ำโขงลดความเปราะบางต่อภัยแล้งและอุทกภัยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเพราะการดำเนินการของเขื่อนต้นน้ำ ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โครงการเซอร์เวียร์-แม่โขงได้เปิดตัวระบบคลังข้อมูล (Drought Early Warning Platform) เพื่อช่วยพยากรณ์และติดตามผลกระทบของภัยแล้งในประวัติศาสตร์ที่สร้างความเสียหายในลุ่มน้ำโขง
- โครงการโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะเพื่อแม่น้ำโขง (Smart Infrastructure for the Mekong) หรือ SIM ออกแบบทางปลาผ่านชุดหนึ่งให้กับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อพิทักษ์ความมั่นคงด้านอาหาร
การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์
- โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Young Scientist Exchange Program) ยังคงลงทุนในนักเรียนและบุคลากรรุ่นใหม่ที่มุ่งพัฒนาทักษะด้านสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข การประกอบกิจการ และวิทยาศาสตร์ ระหว่างปี 2562-2563 โครงการดังกล่าวเน้นการใช้เครื่องมือสนเทศศาสตร์ในการรับมือโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก และในปี 2564 จะมุ่งสนับสนุนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการเกษตร
- โครงการการป้องกันและตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence Prevention and Response Initiative) ส่งเสริมวิธีการที่ครอบคลุมอันเกิดจากความร่วมมือของหลากหลายภาคส่วน เพื่อรับมือกับบรรทัดฐานทางเพศซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งอาจรวมไปถึงการสมรสก่อนวัยอันควรและการบังคับให้สมรส ความรุนแรงในสถานศึกษา ความรุนแรงที่กระทำโดยคนรัก ตลอดจนการล่วงละเมิดทางกายและทางเพศ โครงการนี้ได้ช่วยเหลือทั้งชายหญิง ตลอดจนเด็กชายและเด็กหญิงรวมแล้วกว่า 223,000 คน ผ่านการริเริ่มใช้กฎหมายจารีตประเพณีใหม่ ๆ และการพูดคุยหารือในชุมชน
- สหรัฐฯ สนับสนุนสตรีให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโดยลงทุนกับผู้นำสตรีในรัฐยะไข่ ผ่านโครงการการเสริมสร้างชุมชน (Community Strengthening Project) ของ USAID เพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่แบ่งแยกกีดกัน ด้วยวิธีการที่เกิดจากความร่วมมือในระดับชุมชน
สำหรับข้อมูลและทรัพยากรอื่น ๆ เพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ใหม่ของเราที่ www.mekonguspartnership.org