ข้อมูลเกี่ยวกับทุนช่วยเหลือของ USTDA

การลงนามมอบทุนช่วยเหลือในโครงการเมืองอัจฉริยะภูเก็ต
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
19 กันยายน 2565 

ข้อมูลเกี่ยวกับทุนช่วยเหลือของ USTDA

เกี่ยวกับ USTDA

  • USTDA หรือองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency) เป็นหน่วยงานด้านการวางแผนโครงการระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมอบเครื่องมือเตรียมความพร้อม (ทุนช่วยเหลือเพื่อการศึกษาความพร้อมของโครงการ การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และโครงการนำร่อง) ให้แก่โครงการต่าง ๆ ตามคำขอ รวมถึงดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือ (โครงการ Reverse Trade Mission การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกอบรมต่าง ๆ) เพื่อช่วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในไทยยกระดับการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ตลอดจนเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้จากสหรัฐฯ 

ทุนช่วยเหลือที่ USTDA มอบให้แก่ภูเก็ตใช้ทำอะไรบ้าง

  • USTDA มอบทุนช่วยเหลือให้แก่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มูลค่า 839,420 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการพัฒนาข้อกำหนดทางเทคนิคและกลยุทธ์ที่ละเอียดถี่ถ้วนสำหรับการยกระดับแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองภูเก็ต (Phuket City Data Platform) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนานวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารเมืองและการให้บริการประชาชน ความช่วยเหลือนี้จะเสริมสร้างศักยภาพศูนย์บัญชาการและรวบรวมข้อมูล (Command Center) ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่สำคัญของภูเก็ต ซึ่งรวมไปถึงระบบควบคุมการจราจรและการแจ้งเหตุฉุกเฉิน โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก เซิร์ฟเวอร์ข้อมูล การโอนย้ายข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเครือข่าย 5G

ทุนช่วยเหลือส่งเสริมนโยบาย Thailand 4.0 และการเป็นผู้นำในอาเซียนอย่างไร

  • ภูเก็ตเป็น 1 ใน 26 สมาชิกทางการของเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network หรือ ASCN) ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือเพื่อให้บรรดาเมืองจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาเมืองที่ชาญฉลาดและยั่งยืนร่วมกัน โครงการ Phuket Smart City Data Platform ที่ได้รับทุนช่วยเหลือจาก USTDA นี้เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของไทยภายใต้กรอบการทำงาน ASCN และเป็นกรณีอ้างอิงสำหรับเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองในไทยและภูมิภาคอาเซียน
  • การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นวาระระดับชาติ และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้าง “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ทั่วประเทศไทย ภายใต้กรอบนโยบายที่ครอบคลุมนี้ เมืองอัจฉริยะถือเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะนำไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ กำหนดแผนการดำเนินนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งรวมถึงการเน้นความสำคัญของเมืองที่น่าอยู่และการบริหารจัดการของภาครัฐที่ดีขึ้น

USTDA สนับสนุนเมืองอัจฉริยะอย่างไรบ้าง

  • เครื่องมือเตรียมความพร้อมและโครงการพัฒนาความร่วมมือของ USTDA ทั่วโลก จะขับเคลื่อนโซลูชันที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐานในเมือง โดย USTDA ช่วยเมืองต่าง ๆ ดำเนินการต่อไปนี้
    • เตรียมความพร้อม – เตรียมความพร้อมโครงการอย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนด้านการเงินและการดำเนินการ
    • นำร่อง – นำร่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัย
    • เชื่อมโยง – เชื่อมโยงเมืองเข้ากับผู้เชี่ยวชาญ แนวปฏิบัติที่ดี และทรัพยากรจากสหรัฐฯ
  • USTDA ให้เงินสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเมืองที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกว่า 30 ประเทศและกว่า 100 เมือง ซึ่งมีแผนการที่จะต่อยอดการดำเนินการเหล่านี้ผ่านกรอบความร่วมมือ Global Partnership for Climate-Smart Infrastructure ของ USTDA
  • USTDA กำลังสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอยู่ 7 แห่งทั่วภูมิภาคอาเซียน ได้แก่
    • มาเลเซีย: รัฐยะโฮร์
    • ฟิลิปปินส์: เซบูซิตี และเมืองดาเวา
    • ไทย: จังหวัดภูเก็ต
    • เวียดนาม: กรุงฮานอย โฮจิมินห์ซิตี และเมือง Tam Ky
  • โครงการ Reverse Trade Mission (RTM) ของ USTDA นำเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนเดินทางไปยังสหรัฐฯ เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และแนวปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

โครงการเมืองอัจฉริยะอื่น ๆ ของ USTDA ที่เกี่ยวข้องกับไทยมีอะไรบ้าง

  • USTDA จัดให้คณะผู้แทนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมของไทย เดินทางไปยังสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 19-29 กันยายน 2565 เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี บริการ และแนวปฏิบัติที่ดีและล้ำสมัยของสหรัฐฯ ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากขึ้น การเดินทางครั้งนี้จะเน้นนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคคมนาคมขนส่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเมือง ทั้งนี้ คณะผู้แทนจะเข้าร่วมการประชุม ITS World Congress ที่นครลอสแอนเจลิสด้วย

การดำเนินงานของ USTDA ในไทยมีอะไรบ้าง

  • USTDA ให้เงินสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ กว่า 135 โครงการในภาคพลังงาน การคมนาคม ICT โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และธุรกิจเกษตร
  • USTDA มีสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียอยู่ที่กรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ (ตั้งแต่ปี 2545) โดยสนับสนุนโครงการความร่วมมือกับไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการ U.S.-ASEAN Smart Cities Partnership คืออะไร

  • โครงการ S.-ASEAN Smart Cities Partnership (USASCP) เป็นโครงการริเริ่มของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี2561 และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโซลูชันที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • โครงการ USASCP ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก รวมถึงภาคีในมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนโครงการและโปรแกรมต่าง ๆ ที่ยกระดับเมืองที่ชาญฉลาดและยั่งยืนทั่วภูมิภาคอาเซียน

การมอบทุนช่วยเหลือนี้ส่งเสริมเป้าหมายของ PGII และ IPEF อย่างไร

  • การมอบทุนครั้งนี้ส่งเสริมเสาหลักด้านดิจิทัลของกรอบความร่วมมือ Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGII) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา ขยาย และใช้เครือข่าย ICT ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและอำนวยให้เกิดสังคมดิจิทัลที่เปิดกว้าง