เราใช้เครื่องมือออนไลน์ในทุกกิจกรรมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ธุรกรรมทางการเงิน หรือบริการด้านสุขภาพ ซึ่งหมายความว่าทุกวันนี้มีข้อมูลที่อาจตกอยู่ในมือของอาชญากรไซเบอร์มากกว่าที่เคยเป็นมา ผู้ไม่ประสงค์ดีเหล่านี้อาจโจรกรรมอัตลักษณ์บุคคล ใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) หรือกวาดเงินในบัญชีธนาคารของคุณไปได้
มารู้จักกับ 5 เคล็ดลับการป้องกันตนเองในโลกออนไลน์ดังนี้
1. เข้าอีเมลเมื่อไร ปลอดภัยไว้ก่อน
อย่าคลิกลิงก์ในอีเมลหากไม่แน่ใจว่าผู้ส่งคือใคร แฮกเกอร์จะพยายามหลอกให้คนคลิกลิงก์ที่ปลอมขึ้นมาให้ดูสมจริง เพื่อให้เราดาวน์โหลดมัลแวร์ลงบนอุปกรณ์หรือเข้าเว็บเพจที่จะขโมยข้อมูลส่วนตัว ตัวอย่างเช่น แฮกเกอร์อาจส่งอีเมลที่ดูเหมือนว่ามาจากร้านค้าที่คุณชื่นชอบ ดังนั้นขอแนะนำให้เข้าเว็บไซต์ทางการของร้านโดยเปิดในเบราว์เซอร์แทนที่จะคลิกลิงก์ในอีเมล
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ อย่าเปิดไฟล์แนบจากผู้ส่งที่เราไม่รู้จัก และควรปิดการตั้งค่าการดาวน์โหลดไฟล์แนบในอีเมลแบบอัตโนมัติ
2. ตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนและไม่ซ้ำกับรหัสผ่านอื่น
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้โปรแกรมจัดการรหัสผ่าน (Password manager) เช่น LastPass, 1Password หรือ Keeper ซึ่งจะช่วยกำหนดรหัสผ่านที่ซับซ้อนและทำให้การใช้งานรหัสผ่านเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย
ในกรณีที่ไม่ใช้โปรแกรมจัดการรหัสผ่าน ขอแนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่มีตัวอักษรทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก รวมทั้งใช้ตัวเลขและเครื่องหมายสัญลักษณ์ ตลอดจนไม่ใช้รหัสผ่านซ้ำกับที่ใช้แล้วในเว็บไซต์อื่น
3. ปกป้องข้อมูลส่วนตัว
บรรดาบริษัทและหน่วยงานรัฐจะไม่ขอรหัสผ่านของเรา ดังนั้นห้ามบอกรหัสผ่านให้ใครทราบไม่ว่าจะเป็นทางอีเมลหรือโทรศัพท์ก็ตาม อย่าคลิกลิงก์ที่นำไปยังหน้าล็อกอินเพื่อเข้าสู่ระบบจากอีเมล แต่ให้เข้าเว็บไซต์นั้น ๆ และล็อกอินผ่านเบราว์เซอร์แทน
หากมีบริษัทติดต่อมาขอข้อมูลส่วนตัวโดยไม่คาดคิด อย่าเพิ่งเปิดเผยรายละเอียด ให้วางสายและติดต่อไปทางโทรศัพท์หรือเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อยืนยันว่าบริษัทเป็นผู้ขอข้อมูลจริง
4. อัปเดตซอฟต์แวร์ให้ใหม่ล่าสุด
อัปเดตซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และแท็บเล็ตให้เป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุดเสมอ และถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้การยืนยันแบบสองขั้นตอน (Two-factor authentication) ซึ่งปลอดภัยกว่าระบบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เพราะใช้ข้อมูลที่ต้องมาจากเจ้าของบัญชีเท่านั้น จึงเป็นระบบที่ช่วยรับประกันว่าเป็นผู้ใช้ตัวจริงที่กำลังล็อกอิน ไม่ใช่คนอื่น
5. คอยระวังสิ่งที่น่าสงสัย
หากบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิตมีบริการส่งข้อความแจ้งเตือนทางโทรศัพท์หรืออีเมล ให้เปิดใช้ระบบดังกล่าว เพื่อที่คุณจะได้ทราบเมื่อมีการเคลื่อนไหวบัญชีที่ผิดปกติ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้ตรวจสอบรายการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่ามีรายการธุรกรรมใดที่เราไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการหรือไม่