เอกสารข้อมูล: พิธีลงนามข้อตกลงความช่วยเหลือแบบให้เปล่าระหว่าง USTDA และบลู โซลาร์ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เอกสารข้อมูล
พิธีลงนามข้อตกลงความช่วยเหลือแบบให้เปล่าระหว่าง USTDA และบลู โซลาร์
วันที่ 14 สิงหาคม .. 2562 

โครงการบลู โซลาร์

  • สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency) หรือ USTDA จะให้การสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัท บลู โซลาร์ จำกัด (“บลู โซลาร์”) ผู้ผลิตพลังงานของไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย
  • การศึกษาความเป็นไปได้จะประเมินข้อมูลด้านเทคนิคและการเงิน รวมทั้งองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ของโครงการ อีกทั้งจัดทำผลการวิเคราะห์ที่สำคัญ แบบร่าง และเอกสารที่จำเป็นต่อการจัดหาเงินทุนและการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวยังจะช่วยบลู โซลาร์ ในการประเมินทางเลือกด้านเทคโนโลยีการกักเก็บแสงอาทิตย์และพลังงานของสหรัฐฯ ที่มีความเหมาะสมกับโครงการ
  • โครงการของบลู โซลาร์ เป็น 1 ใน 17 โครงการด้านพลังงานทดแทนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC) เพื่อลงนามในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 ของประเทศไทย
  • การดำเนินโครงการนี้จะสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการขยายการลงทุนในภาคพลังงานของประเทศ และช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยการเพิ่มศักยภาพพลังงานทดแทนแบบใหม่
  • โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ของภาคเอกชนในประเทศไทย ที่กักเก็บพลังงานระดับโรงผลิตไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ การดำเนินโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดสำหรับเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานในภูมิภาค โดยจะเป็นโครงการอ้างอิงสำคัญสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนที่ขาดความต่อเนื่องร่วมกับการกักเก็บ เพื่อการจ่ายไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และราคาย่อมเยา

การสนับสนุนข้อริเริ่ม Asia EDGE

  • โครงการนี้สนับสนุนวัตถุประสงค์ของข้อริเริ่ม Asia EDGE (Enhancing Development and Growth Through Energy) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมตลาดพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
  • เครื่องมือเตรียมความพร้อมโครงการของ USTDA ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีคุณภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากร โรงกลั่น การผลิตและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ประสิทธิภาพพลังงาน การกักเก็บพลังงาน การพัฒนาสาธารณูปโภคให้ทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัล

USTDA ในประเทศไทย

  • ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา USTDA ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยกว่า 80 รายการให้ลุล่วง ในรูปแบบของความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อเตรียมความพร้อมของโครงการ รวมถึงการอำนวยการให้ผู้แทนการค้าของไทยเดินทางไปพบผู้ผลิตในสหรัฐฯ
  • ในประเทศไทย USTDA ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมแก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางธนาคาร การแจ้งเตือนและการจัดการภัยพิบัติ การออกแบบและการประเมินความปลอดภัยท่าอากาศยาน ระบบการนำร่องทางอากาศ การผลิตและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า การบริหารจัดการของเสียและน้ำเสีย ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซธรรมชาติและการดำเนินกิจการเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรางให้ทันสมัย
  • สำนักงานประจำภูมิภาคของ USTDA ตั้งอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในกรุงเทพฯ ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและการดำเนินโครงการของ USTDA ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การสนับสนุนของ USTDA ในงาน Indo-Pacific Business Forum

  • USTDA ให้การสนับสนุน Indo-Pacific Business Forum (IPBF) ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นหลังการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่กรุงเทพฯ
  • การประชุม IPBF ครั้งที่ 2 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลไทย หอการค้าสหรัฐฯ หอการค้าไทย สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนในปี 2562 การประชุม IPBF จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้นำธุรกิจและรัฐบาลจากภูมิภาคนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับ USTDA

  • สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (USTDA) เป็นสะพานเชื่อมภาคเอกชนของสหรัฐฯ เข้ากับโอกาสด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานในตลาดใหม่ๆ USTDA ดำเนินการโดยให้เงินสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ ความช่วยเหลือทางเทคนิค และโครงการนำร่องต่างๆ ที่ได้บูรณาการความเชี่ยวชาญของบริษัทสัญชาติอเมริกัน USTDA ยังสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นเริ่มต้นที่จะต้องระบุตัวเลือกและข้อกำหนดด้านเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง นอกจากนี้ USTDA ยังเชื่อมโยงผู้สนับสนุนโครงการจากต่างประเทศเข้ากับเทคโนโลยีและผู้ให้บริการในสหรัฐฯ โดยอำนวยการให้ผู้แทนการค้าชาวต่างชาติเดินทางไปพบผู้ผลิตในสหรัฐฯ รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรม
  • ตัวอย่างเครื่องมือของ USTDA มีดังนี้
    • ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค: USTDA มอบเงินทุนแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค และดำเนินกิจกรรมการวางแผนโครงการอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการวิเคราะห์อย่างครอบคลุม ซึ่งจำเป็นสำหรับการเดินหน้าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบ จากขั้นตอนการกำหนดแนวคิดไปยังขั้นตอนการจัดหางบประมาณและดำเนินการ
    • ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับโครงการนำร่อง: USTDA มอบเงินทุนแบบให้เปล่าสำหรับโครงการนำร่อง เพื่อแสดงถึงประสิทธิผลของบริการด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมถึงวิเคราะห์ ประเมิน และให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จำเป็นต่อการอนุมัติเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ
    • การเดินทางไปพบผู้ผลิตในสหรัฐฯ ของผู้แทนการค้าชาวต่างชาติ: USTDA อำนวยการให้ผู้แทนการค้าชาวต่างชาติเดินทางไปพบผู้ผลิตในสหรัฐฯ และจัดให้มีการเยี่ยมเยือนเพื่อทำความรู้จัก ทำให้บุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ทั้งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและผู้พัฒนาโครงการ ได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผู้ให้บริการ ผู้ให้ทุน กรอบการดำเนินงานด้านนโยบายและกฎหมาย และทรัพยากรอื่นๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถสนับสนุนการริเริ่มใช้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ได้