มิตรภาพสหรัฐฯ-ไทยด้านการค้าและความมั่งคั่ง

คำบรรยายภาพ 

  1. กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลไทยระหว่างปี 2516-2529 ในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ในภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2520 เป็นการประชุมกันระหว่างอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้, ดร. โดนัลด์ ดับเบิลยู. ฟิชเชอร์ หัวหน้าฝ่ายบริการวิจัยเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง (ภาพถ่ายจากหนังสือ เส้นด้ายอเมริกันในผืนผ้าล้านนา)
  2. ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตฝ่ายกิจการการเกษตร แกรี ไมเยอร์ พูดคุยกับคุณไพโรจน์ ภัสสรภิญโญสกุล กรรมการผู้จัดการริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ในพิธีเปิดเทศกาลส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์อเมริกัน จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2549 (ภาพถ่ายจากหนังสือ เส้นด้ายอเมริกันในผืนผ้าล้านนา)
  3. กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ซูซาน สตีเวนสัน (พ.ศ. 2553-2555) เยี่ยมชมบริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) ที่จังหวัดลำพูนในปี 2554 บริษัทเป๊ปซี่-โคล่าเป็นบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ที่สุดที่ดำเนินธุรกิจในภาคเหนือของไทย ทุกปีบริษัทจะรับซื้อมันฝรั่งกว่า 30,000 ตันจากเกษตรกรในภาคเหนือเพื่อผลิตเป็นขนมขบเคี้ยวจำหน่ายทั่วประเทศไทย (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
  4. กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เทอร์เรลล์ อาร์. โอทิส (พ.ศ. 2528-2530) ต้อนรับนายโรนัลด์ แมคโดนัลด์ สู่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกิจกรรมสาธารณกุศลในปี 2529 (ไม่ปรากฏชื่อผู้ถ่ายภาพ)
  5. กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ไมเคิล มอร์โรว์ (พ.ศ. 2550-2553) ร่วมกับผู้แทนจากบริษัทแอมเวย์ บริษัทการตลาดหลายชั้นของอเมริกาที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม และการดูแลบ้าน ในพิธีเปิดสาขาของบริษัทในจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2552 (ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
  6. เอกอัครราชทูตจอห์น กันเธอร์ ดีน (พ.ศ. 2524-2528) และประธานมูลนิธิโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เยี่ยมชมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) (ภาพถ่ายจากหนังสือ เส้นด้ายอเมริกันในผืนผ้าล้านนา)

ในปี 2563 นับเป็นวาระครบรอบ 187 ปีที่ราชอาณาจักรไทยลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ของสหรัฐฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งงอกงามมาเกือบ 200 ปี นับแต่นั้นมา บริษัทอเมริกันหลายร้อยบริษัทได้ลงทุนในไทย โดยสร้างงานให้คนไทยหลายหมื่นคนและยังประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสหรัฐฯ และไทย ธุรกิจของเราที่ชื่อคุ้นหูมีมากมาย ทั้งเป๊ปซี่ ฟริโต้-เลย์ ฟอร์ด และแอมเวย์ ซึ่งต่างก็ดำเนินงานในภาคเหนือของไทยมาหลายทศวรรษและยังคงเชื่อมั่นว่าไทยเป็นสถานที่ตั้งอันเหมาะสม

ตลอดระยะเวลา 70 ปีตั้งแต่มีการก่อตั้งสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในเชียงใหม่ สหรัฐฯ และพันธมิตรหุ้นส่วนของเราในภาคเหนือของไทยได้ร่วมกันขยายการค้าและสร้างความมั่งคั่งผ่านโครงการข้อริเริ่มด้านการพัฒนาการเกษตร การลงทุนเชิงพาณิชย์ โครงการสร้างเสริมศักยภาพ รวมทั้งผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาและนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

โครงการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) จัดทำขึ้นในปี 2552 โดยสหรัฐฯ และประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างเท่าเทียม ยั่งยืน และมีส่วนร่วมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง LMI มุ่งเน้นการรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาในภูมิภาคด้วยการดำเนินโครงการสร้างเสริมศักยภาพต่าง ๆ โดยรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่าน LMI และโครงการ SERVIR-Mekong สหรัฐฯ ได้สนับสนุนทุนหลายล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนและการอนุรักษ์น้ำเพื่อช่วยประเทศไทยในการปกป้องพรมแดนและสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและรุ่งเรืองสำหรับประชาชนชาวไทย

ในปี 2502 รัฐบาลไทยประกาศให้การผลิตฝิ่นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นับเป็นความพยายามก้าวแรกในการกำจัดการค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอันเป็นที่โจษจัน ด้วยการนำพืชชนิดใหม่และเทคนิคการเกษตรแบบใหม่มาแนะนำให้แก่ชาวเขาและเกษตรกรทางภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแสดงความห่วงใยในความเป็นอยู่ของชาวเขาในภาคเหนือ และทรงเป็นห่วงว่าการที่พวกเขาติดฝิ่นจะเป็นภัยคุกคามต่อมาตรฐานความเป็นอยู่และความมั่นคงของประเทศไทย ต่อมาพระองค์ทรงเป็นผู้นำในการหาพืชมาปลูกทดแทนฝิ่น และในปี 2515 สหประชาชาติก็ได้ร่วมโครงการปลูกพืชทดแทนที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มไว้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) เป็นต้นมา นักวิจัย มิชชันนารี และนักธุรกิจชาวสหรัฐฯ ได้มีส่วนช่วยรัฐบาลสหรัฐฯ และไทยในโครงการพัฒนาชนบท ซึ่งทำให้ไทยได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างระดับโลกในการปลูกพืชทดแทนและลดการใช้ยาเสพติด มูลนิธิของสหรัฐฯ เช่นมูลนิธิฟอร์ดและมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้สนับสนุนการฝึกอบรมและการวิจัยด้านการพัฒนาการเกษตร และได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน งานของมูลนิธิฟอร์ดในด้านการเกษตรและสังคมศาสตร์ครอบคลุมไปถึงโครงการปลูกพืชหมุนเวียนและศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการหลายโครงการของกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถานีวิจัยและพัฒนาดอยอ่างขาง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2517 โดยโครงการพัฒนาเกษตรที่สูง ซึ่งในขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง กระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการหาพืชที่ตลาดต้องการและสามารถปลูกบนภูเขาได้ โดยลูกท้อและไม้ผลผลัดใบเป็นผลิตผลแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ

ในปี 2519 กระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ เริ่มให้ทุนสนับสนุนโครงการส่งเสริมด้านการเกษตรในภาคเหนือของไทย ซึ่งช่วยพัฒนาพันธุ์พืชและนำมาเพาะปลูกในแปลงวิจัยของสถานีทดลอง 5 โครงการ สำนักวิจัยทางการเกษตรของกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนและความร่วมมือในการเพาะเห็ด มันฝรั่ง เก็กฮวย ดอกคาร์เนชั่น กาแฟ สมุนไพรและเครื่องเทศ ถั่วแมคคาเดเมีย รวมไปถึงการเลี้ยงแกะ โดยมีการนำผลไม้ ดอกไม้ และผักเหล่านี้เข้าสู่ตลาดภาคเหนือก่อน และปัจจุบันนี้ได้นำออกจำหน่ายทั่วประเทศภายใต้ตราสินค้าดอยคำของมูลนิธิโครงการหลวง

ระหว่างปี 2516-2529 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ใช้งบประมาณกว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการพัฒนาพืชทดแทน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบทุนกว่า 86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการปราบปรามการผลิตยาเสพติด การลักลอบค้า และการใช้ยาเสพติดของไทย และสร้างเสริมขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก USAID เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่มมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2523-2532 ก็สามารถลดการปลูกฝิ่น ออกเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดินให้แก่ชาวบ้าน และพัฒนาระบบสาธาณูปโภค สิ่งแวดล้อม ที่ดิน ผลผลิตทางการเกษตรและบริการทางสังคมในอำเภอแม่แจ่ม อีกโครงการหนึ่งของ USAID คือโครงการการศึกษาสำหรับชาวเขามูลค่า 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปี 2523-2529 ซึ่งช่วยพัฒนาระบบการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษาสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของชาวเขา

สถิติของประเทศไทยชี้ว่าพื้นที่การปลูกฝิ่นลดลงจากเกือบ 55,000 ไร่ในปี 2528 เหลือเพียง 687.5 ไร่ในปี 2548 หน่วยงานของสหรัฐฯ ในประเทศไทย ยังร่วมมือใกล้ชิดกับมูลนิธิโครงการหลวงและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อีกทั้งยังสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปราบปรามยาเสพติด และให้ทุนร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Institute of Health) เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าเกี่ยวกับการติดยาเสพติดและบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่

ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางของสหรัฐฯ ประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับนานาชาติในเรื่องการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ในขณะเดียวกันก็ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบท ส่งเสริมโครงการลดอุปสงค์ด้านยาเสพติด และเพิ่มขีดความสามารถด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งสหรัฐฯ และสหประชาชาติได้ตัดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อ “ประเทศหลัก” ที่ผลิตยาเสพติดในปี 2547 มูลนิธิโครงการหลวงซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ มากว่า 30 ปีได้ดึงดูดนักวิจัยและข้าราชการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่สนใจนำโครงการพืชทดแทนและโครงการพัฒนาทางเลือกที่ประสบผลสำเร็จไปใช้ ปัจจุบัน รัฐบาลและหน่วยงานนอกภาครัฐของสหรัฐฯ ยังคงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยในภาคเหนือ ส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญให้มีความก้าวหน้าต่อไป