มิตรภาพสหรัฐฯ-ไทยด้านสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ

  1. ภาพด้านหน้าของโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค จังหวัดเชียงราย ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันในปี 2446 และยังคงให้การดูแลและบริการด้านการแพทย์แก่ชาวเชียงรายในปัจจุบัน (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค)
  2. นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท และแอ็กเนส บาร์แลนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแมคคอร์มิค ถ่ายภาพร่วมกับเจ้าวงศ์จันทร์ ณ เชียงใหม่ คุณนายคอร์ท และพยาบาลชาวไทยในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2469 โดยนายแพทย์คอร์ทและมิชชันนารีชาวอเมริกันได้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกนอกกรุงเทพมหานคร และแห่งที่ 3 ของประเทศในปี 2466 ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยโรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
  3. องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้แผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) ร่วมมือกับองค์กรนอกภาครัฐเอ็มพลัส เพื่อให้บริการด้านเอชไอวีในจังหวัดเชียงราย ปี 2561 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนทุนกว่า 35 ล้านบาทให้แก่องค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย USAID)
  4. เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แดริล เอ็น.จอห์นสัน (พ.ศ. 2544-2547) และแคธลีน จอห์นสัน ภริยา พร้อมด้วยอดีตหัวหน้าฝ่ายจัดการ เฮนรี จาร์ดีน ร่วมพิธีเปิดศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขที่จังหวัดเชียงราย ปี 2547 (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
  5. นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท ให้บริการทางการแพทย์ภาคสนามร่วมกับพยาบาลไทย ทศวรรษ 1940 (พ.ศ. 2483-2492) (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยโรงพยาบาลแมคคอร์มิค)
  6. คณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ได้ส่งมอบเครื่องวินิจฉัยโรคโควิด-19 และอบรมการใช้เครื่องดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งส่งผลให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (สวส.) กำหนดให้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเป็นสถานที่ตรวจอย่างเป็นทางการ โดยสามารถตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ได้ภายใน 4 ชั่วโมงแทนที่จะเป็น 2 วัน (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย CDC)

ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในยุคแรก ซึ่งนำไปสู่การสร้างโรงพยาบาลและวิทยาลัยพยาบาลแห่งแรกขึ้นในภาคเหนือ ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของโครงการสอนและงานวิจัย ความร่วมมือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นเวลา 148 ปี ก่อให้เกิดสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ ในด้านการค้นคว้าวิจัยนั้น ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยได้พัฒนาไปสู่การร่วมกันต่อสู้ภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก เช่น เชื้อเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่าง ๆ

ชาวอเมริกันได้แนะนำเทคนิคการแพทย์ใหม่ ๆ เช่นการผ่าตัด ซึ่งเริ่มเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่ โดยนายแพทย์ ซี. ดับเบิลยู. วรูแมนที่ได้เดินทางมาถึงไทยในปี 2415 แพทย์ชาวอเมริกันยังเป็นผู้นำยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาควินิน วัคซีนไข้ทรพิษ และอุปกรณ์เช่นเครื่องเอ็กซเรย์ มายังภาคเหนือ จนกระทั่งถึงปี 2443 ชาวอเมริกันได้ก่อตั้งโรงพยาบาลใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และเชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนทุนและความเห็นชอบจากเจ้านายฝ่ายเหนือและชุมชนท้องถิ่น

โรงพยาบาลแห่งแรก

ในปี 2431 นายแพทย์วรูแมนได้สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้นในภาคเหนือของไทย คือโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น อาคารของโรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นที่ทำการสถานีกาชาดที่ 3 เชียงใหม่ สภากาชาดไทย การก่อสร้างโรงพยาบาลใช้ทุน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่ได้รับจากคณะกรรมการมิชชั่นต่างประเทศของคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในสหรัฐฯ

ในปี 2432 นายแพทย์เจมส์ ดับเบิลยู. แมคเคนเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น และได้ต่อเติมและปรับปรุงโรงพยาบาล ในปี 2447 เขาได้สร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ผลิตวัคซีนขึ้น โครงการวัคซีนไข้ทรพิษที่เขาริเริ่มทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับวัคซีนชนิดนี้ ในปี 2451 นายแพทย์เอ็ดวิน ซี. คอร์ทดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ เขาได้ย้ายโรงพยาบาลไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำในปี 2463 และต่อมาตั้งชื่อใหม่ว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” เพื่อเป็นการระลึกถึงนางไซรัส แมคคอร์มิคแห่งเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ที่สนับสนุนทุนทรัพย์ แม้ตนเองจะอยู่ห่างไกล โดยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงร่วมบริจาคทุนทรัพย์ด้วย

โรงพยาบาลแมคคอร์มิคมีความภูมิใจเป็นพิเศษเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) บิดาแห่งการแพทย์ไทย ได้เสด็จมาทรงงานอยู่ที่โรงพยาบาลในปี 2472 หลังทรงสำเร็จวิชาแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเอ็มไอทีในสหรัฐฯ พระองค์ทรงแสดงความสนพระทัยที่จะทรงงานในโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2468 โดยได้ทรงปรารภเรื่องดังกล่าวกับนายแพทย์คอร์ทเมื่อพระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีที่โรงพยาบาล

การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน

มิชชันนารีชาวอเมริกันรุ่นแรกที่เดินทางมายังภาคเหนือของไทย เช่น นายแพทย์แมคเคนมักมีบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากทำงานที่โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นแล้ว นายแพทย์แมคเคนยังได้ก่อตั้งนิคมและสถานพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อนแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่เชียงใหม่ เขาได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องนี้เมื่อผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่ได้เริ่มมารวมตัวกันหน้าโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น นายแพทย์แมคเคนจึงได้ขอทุนจาก American Leprosy Mission และคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เจ้าอินทวโรรสยังทรงบริจาคที่ดินขนาด 400 ไร่เพื่อใช้ปลูกสร้างสถานที่ที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะได้อยู่รวมกันเป็นชุมชนที่กักกันตนเอง โดยผู้ป่วยโรคเรื้อนจากทั่วประเทศต่างหลั่งไหลมายังศูนย์แมคเคน โดยส่วนใหญ่เดินเท้ามาหรือเดินทางในเวลากลางคืนเพื่อคนอื่นจะไม่เห็นความพิการของพวกเขา

เมื่อศูนย์แห่งนี้มีความคืบหน้าในการกำจัดโรคเรื้อนออกไปจากประเทศไทย ทางศูนย์ก็ได้ขยายงานครอบคลุมไปถึงการดูแลผู้พิการทุกประเภท และในปัจจุบันได้ให้บริการบำบัดฟื้นฟูให้แก่ผู้ประสบอุบัติเหตุ รวมไปถึงผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก และผู้สูงอายุ ปัจจุบันศูนย์ฟื้นฟูสภาพแมคเคนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และมีเจ้าหน้าที่ แพทย์ และอาสาสมัครจากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ สนใจมาทำงานที่นี่

การศึกษาวิชาแพทย์

จากจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมในภาคเหนือ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เป็นแพทย์ก็มีความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนแพทย์ขึ้น ความพยายามของนายแพทย์คอร์ทในปี 2459 ที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์ขึ้นในเชียงใหม่ โดยมีนักเรียนแพทย์ 4 คนแรกที่อาคารหลังหนึ่งของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ได้เปลี่ยนมาเป็นการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลขึ้นมาแทน ในปี 2466 นายแพทย์คอร์ทได้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแมคคอร์มิคขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากนางไซรัส แมคคอร์มิค โรงเรียนฝึกหัดนางพยาบาลแห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกนอกกรุงเทพฯ และแห่งที่ 3 ของประเทศในขณะนั้น

บัณฑิตรุ่นแรกของโรงเรียนฝึกหัดนางพยาบาลแห่งโรงพยาบาลแมคคอร์มิคสำเร็จการศึกษาในปี 2469 และโรงเรียนได้เติบโตอย่างรวดเร็วและมีชื่อในฐานะโรงเรียนพยาบาลที่มีเกียรติยศสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซี่งการได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ในเชียงใหม่ได้ช่วยส่งเสริมสถานะนี้ เมื่อหลานสาวของเจ้าแก้วนวรัฐ คือเจ้าวงศ์จันทร์ ณ เชียงใหม่ได้รับการศึกษาที่นี่ และต่อมาได้ใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ในการถวายการดูแล เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าปู่ในยามชราภาพ

ปัจจุบันนี้ บทบาททางการแพทย์ของสหรัฐฯ ในภาคเหนือของไทยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งรวมถึงงานวิจัยที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นการขยายผลจากโครงการที่เริ่มขึ้นกว่า 40 ปีที่แล้วเมื่อมหาวิทยาลัยเซ็นต์หลุยส์และสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ได้มอบทุนในการก่อตั้งศูนย์วิจัยโลหิตวิทยาและทุโภชนาการขึ้นที่เชียงใหม่ โดยเน้นการวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์ฯ เป็นเวลาหลายปีระหว่างการก่อตั้งดังกล่าว ในปี 2521 ศูนย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลายเป็นสถาบันวิจัยอิสระที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้การฝึกอบรมนักวิจัยไทยในสาขาระบาดวิทยา การบริหารจัดการข้อมูลและห้องปฏิบัติการ ไวรัสวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ จริยธรรมในการวิจัยและการทดลองทางคลินิก

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) มีสำนักงานภาคสนามที่เชียงรายตั้งแต่ปี 2534-2550 โดยมุ่งเน้นการวิจัยเรื่องเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในภาคเหนือในขณะนั้น ในขณะที่การรณรงค์ระดับประเทศประสบผลสำเร็จในการสร้างความตระหนักรู้และชะลอการระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ การวิจัยของ CDC ก็ได้ขยายขอบเขตเพื่อให้ครอบคลุมโรคอื่น ๆ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ โรคเริม และวัณโรค

จากจุดเริ่มต้นกว่า 140 ปีที่แล้วที่ผู้บุกเบิกทางการแพทย์ชาวอเมริกันได้ปูพื้นฐานในการก่อตั้งคลินิก โรงพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกในภาคเหนือของไทย ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นได้สานต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสิ่งสืบทอดอันทรงคุณค่าในรูปแบบของการสอนและโครงการวิจัยต่าง ๆ หลากหลายที่มุ่งเน้นในการร่วมกันต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสุขภาพทั่วโลก