
คำบรรยายภาพ
- ชุมชนชาวอเมริกันในจังหวัดเชียงใหม่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคเหนือในวันที่ 27 กุมภาพันธ์–17 มีนาคม 2501 (ภาพถ่ายจากหนังสือ เส้นด้ายอเมริกันในผืนผ้าล้านนา)
- พิธียกฐานะสถานกงสุลเป็นสถานกงสุลใหญ่ ปี 2529 (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
- พนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ถ่ายภาพร่วมกันหน้าทำเนียบกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในงานลอยกระทงปี 2562 (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
- พนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ถ่ายภาพร่วมกับกงสุลใหญ่รูฟัส ซี. สมิท (พ.ศ. 2496-2498) หน้าทำเนียบกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
- ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในเชียงใหม่ สถานกงสุลใหญ่ได้จัดทำป้ายติดกำแพงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับหุ้นส่วนและพันธมิตรในภาคเหนือทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง การค้าและความมั่งคั่ง การสาธารณสุข การศึกษาและวัฒนธรรม (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
- ด้านหน้าทำเนียบกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) (อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดยพนักงานสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ)
ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเหนือของไทยและสหรัฐอเมริกาถักทอขึ้นจากสายสัมพันธ์มากมายหลายแขนง นับตั้งแต่ที่ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อปี 2410 ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนนับไม่ถ้วนต่างได้วางรากฐานอันก่อขึ้นเป็นความสัมพันธ์ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
สหรัฐฯ เริ่มดำเนินงานด้านกงสุลในภาคเหนือของไทยด้วยการเปิดสถานกงสุลที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493 ณ คุ้มเจดีย์งาม สถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะคุ้มของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต โดยมีโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน นักการทูตสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าสถานกงสุลคนแรกในปี 2493
ในช่วงเวลาหลายปีจากนั้น การดำเนินงานที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจในภาคเหนือขยายวงกว้างมากขึ้น ภารกิจหลักที่เรายึดมั่นตลอดมาคือการให้บริการชาวอเมริกันในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุหนังสือเดินทางหรือการช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ประสบความยากลำบาก โดยเจ้าหน้าที่กงสุลได้มาประจำการที่เชียงใหม่เพื่อให้บริการแก่ชาวอเมริกันตั้งแต่ปี 2493 ภารกิจด้านงานกงสุลได้ขยายวงกว้างขึ้นในปี 2528 เมื่อเราเริ่มให้บริการออกวีซ่าแก่ผู้เดินทางไปยังสหรัฐฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งปีหลังจากนั้น สถานกงสุลก็ได้รับการยกฐานะเป็นสถานกงสุลใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น
ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ มีฐานทัพขนาดเล็กหลายแห่งในจังหวัดใกล้เคียง เช่นที่ลำปาง เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ในภาคเหนือมีผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและมีการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นในจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ เชียงราย และพะเยา ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลไทย ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งนั้นยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเมื่อภาคเหนือของประเทศได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายพันคนในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา สำนักข่าวสารอเมริกัน (U.S. Information Service: USIS) ได้ดำเนินงานด้านสื่อมวลชน วัฒนธรรมและการศึกษาที่เชียงใหม่เป็นเวลากว่า 46 ปีจนกระทั่งภารกิจดังกล่าวโอนมาที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2539 ในปี 2513 เจ้าหน้าที่ชาวไทย 3 คนของ USIS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยภาพยนตร์เคลื่อนที่ถูกโจรคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตีจนเสียชีวิตที่จังหวัดน่าน ความเสียสละของพวกเขาได้รับการจารึกไว้ ณ สถานกงสุลใหญ่และที่อนุสาวรีย์ในอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ส่วนโครงการห้องสมุดและการสอนภาษาอังกฤษที่ USIS ริเริ่มขึ้นยังคงให้บริการแก่นักเรียนนักศึกษา และชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ (American University Alumni Association: AUA) ในขณะที่สถานกงสุลใหญ่และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ก็ยกระดับโครงการอื่น ๆ ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน
ช่วงต้นทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) สหรัฐฯ เริ่มทำงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายไทยในการสกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติด โดยสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (U.S. Drug Enforcement Administration: DEA) เปิดสำนักงานขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2506 และที่เชียงใหม่ในปี 2514 ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงทำงานร่วมกับตำรวจและทหารไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นการขนยาเสพติดและจับกุมผู้ค้ายา
ในช่วงเวลาเดียวกัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อปลูกพืชทดแทนฝิ่นอย่างเต็มที่ โดยร่วมมือกับโครงการหลวง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันที่ร่วมมือในโครงการดังกล่าว และยังดำเนินการต่อเนื่องมาโดยหน่วยงานอื่น ๆ ของสหรัฐฯ แม้ว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จะได้เสร็จสิ้นภารกิจในภูมิภาคนี้ไปแล้วในปี 2529
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงภาวะทุพโภชนาการในเด็ก โรคติดเชื้อและโรคเขตร้อน ตลอดจนเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การวิจัยด้านสาธารณสุขที่สหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ของสหรัฐฯ ที่มีสำนักงานนอกประเทศขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขไทยในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในไทยและทั่วทั้งภูมิภาค
ภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ใน 15 จังหวัดภาคเหนือได้รับการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่มาตลอด 70 ปีที่เปิดดำเนินการในสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า คุ้มเจดีย์งาม โดยมีเจ้าหน้าที่ชาวไทยและชาวอเมริกันจำนวนเกือบ 100 คน
ปัจจุบัน สถานกงสุลใหญ่ให้บริการด้านวีซ่าแก่ชาวไทยและชาติอื่น ๆ และให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันก็ติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และเศรษฐกิจ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการจัดแสดงดนตรีและโครงการด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ในแต่ละปี โครงการเหล่านี้ดึงดูดคนไทยหลายพันคนให้มาร่วมงานดนตรีอเมริกันที่ได้รับความนิยม งานเสวนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ หรืองานให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ด้วยเหตุที่มีชาวอเมริกันมาเยือนและพำนักในภาคเหนือของไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อ ทำงาน และเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น สถานกงสุลใหญ่จะยังคงมีบทบาทหลักในภูมิภาคที่สำคัญนี้ต่อไปในอนาคต