ภารกิจของกองอำนวยการหน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (USAMD-AFRIMS) คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เหล่าทหาร และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจโดยพัฒนาการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิจัยเชิงเฝ้าระวังในทวีปเอเชีย
- พ.ศ. 2501: ก่อตั้งขึ้นเป็นโครงการวิจัยอหิวาตกโรคตามองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ SEATO หลังการระบาดของอหิวาตกโรค โดยขอบเขตงานของ AFRIMS ขยายวงกว้างขึ้นในปี 2503 โดยมีคำสั่งให้มีส่วนร่วมในการกำจัดโรคติดเชื้ออื่น ๆ
- พ.ศ. 2504: ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของ SEATO
- พ.ศ. 2520: เปลี่ยนชื่อเป็น “AFRIMS” ตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศไทย และประเทศสหรัฐอเมริกา
USAMD-AFRIMS ตั้งอยู่ที่ศูนย์การแพทย์กองทัพบกไทยในกรุงเทพฯ และเป็นกองอำนวยการสถาบันวิจัยกองทัพบกวอลเตอร์รีด (Walter Reed Army Institute of Research – WRAIR) ภายใต้กำกับของหน่วยบัญชาการการวิจัย กองบัญชาการการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ทหาร (US Army Medical Research and Development Command – USAMRDC)
ในบรรดาเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทั่วโลก AFRIMS เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด โดยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการในประเทศเปรู เคนยา อียิปต์ สาธารณรัฐจอร์เจีย และสิงคโปร์ USAMD-AFRIMS มีพนักงานกว่า 500 คน (ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย และสหรัฐฯ โดยรวมทั้งชาวเนปาล กัมพูชาและฟิลิปปินส์) และได้รับงบประมาณวิจัยประจำปีประมาณ 30-35 ล้านเหรียญสหรัฐ
AFRIMS มีเรื่องราวความสำเร็จอันทรงคุณค่าในการพัฒนายา และวัคซีนต่อต้านโรคต่าง ๆ เช่น มาลาเรียดื้อยา ท้องร่วงและโรคบิด โรคไข้เลือดออก เอชไอวี/เอดส์ ไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบเจอี โรคฉี่หนู โรคเมอร์ส ไข้รากสาดใหญ่ รวมไปถึงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่าง ๆ โรคประจำถิ่นหลายโรคทั่วทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังพลของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ นั้นถูกเรียกว่า “โรคกำพร้า” เนื่องจากมักถูกละเลยจากบริษัทยา ความใส่ใจของ AFRIMS ต่อโรคกำพร้าเหล่านี้จึงช่วยอุดช่องว่างของปัญหาสุขภาพที่สำคัญของโลก
AFRIMS ได้สนับสนุนโดยตรงในการพัฒนาและจดสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและโรคไข้สมองอักเสบเจอี รวมถึงการพัฒนาจนได้รับความเห็นชอบจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับชุดตรวจวินิจฉัยโรคมาลาเรียอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า Binax – Now ตลอดจนความสำเร็จล่าสุดในการสนับสนุนน้ำยาต้านมาลาเรีย Tafenoquine และ IV artesunate ที่ได้อนุมัติจาก FDA ใน เพื่อต่อสู้กับเชื้อมาลาเรียที่รุนแรง
AFRIMS เป็นหน่วยงานแรกที่ค้นพบและจำแนกลักษณะการดื้อยามาลาเรียของเชื้อ P. falciparum ต่อ artemisinin ซึ่งเป็นยามาลาเรียที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
AFRIMS เป็นแห่งเดียวในโลกที่พัฒนาวัคซีนเอชไอวีที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อในมนุษย์และดำเนินการวิจัยที่สำคัญในการอธิบายถึงจำนวนไวรัสที่ปรากฏในเลือดและการเริ่มต้นอาการของผู้ป่วยในช่วงแรก ๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวี

AFRIMS ยังเป็นศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกซึ่งให้ความช่วยเหลือในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น การดื้อยา P. falciparum และยามาลาเรีย vivax เชื้อท้องร่วงอันได้แก่ เชื้อ Campylobacter, เชื้อ Cholera O139, ปรสิต Cyclospora, เชื้อ E coli รวมทั้ง ไข้รากสาดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า และเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)
AFRIMS มีพื้นที่ปฏิบัติการภาคสนามหลายแห่งในประเทศไทย เนปาล กัมพูชา และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ตลอดจนความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในประเทศภูฏาน มองโกเลีย เวียดนาม ลาว และบังคลาเทศ
AFRIMS ดำเนินงานหน่วยวิจัยวอลเตอร์รีด/ AFRIMS (WARUN) ที่ประเทศเนปาล และหน่วยปฏิบัติการวิจัยไวรัสวิทยาของฟิลิปปินส์ – AFRIMS (PAVRU) ที่เมืองเซบู
AFRIMS ยังมีความสามารถอันเป็นเลิศทางด้านสัตวแพทย์และกีฏวิทยาซึ่งได้รับการรับรองโดยสถาบัน AAALAC International เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมและมนุษยธรรมสูงสุด
ด้วยการเดินทางทั่วโลกในทุกวันนี้ โรคติดเชื้อต่าง ๆ ก่อให้เกิดการคุกคามอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนาหรือแม้กระทั่งพรมแดนทวีป ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของ AFRIMS ในการต่อสู้กับโรคเหล่านี้ จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตเหล่าทหาร และโลกใบนี้ในอนาคต
ช่องทางการติดต่อ:
- ไปรษณีย์สหรัฐฯ: United States Army Medical Directorate – Armed Forces Research Institute of Medical Sciences (USAMD-AFRIMS), 7200 Bangkok Place, Washington
DC 20521-7200 - ไปรษณีย์ทั่วไป: สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ)
315/6 ถ. ราชวิถี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย - โทรศัพท์: 0 2696 2700/ 0 2696 2701