หากจะซาบซึ้งถึงคุณค่าของทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เราต้องเข้าใจถึงบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แปลงเปลี่ยนท้องนาห่างไกลพระนครมาเป็นบ้านพักที่ร่มรื่นในปัจจุบัน
พื้นที่ที่ยังไม่พัฒนาด้านตะวันออกของพระนคร
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 คริสตศก พื้นที่ทางตะวันออกของรัตนโกสินทร์เต็มไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี มีลำคลองน้อยใหญ่ลัดเลี้ยวและสวนผักขนาดเล็กกระจายโดยทั่วไป นาย Franklin Hurst ชาวอังกฤษยื่นหนังสือต่อราชสำนักสยามเสนอให้จัดสร้างสนามม้าแข่งและสนามกีฬาในพื้นที่ชนบทนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างสโมสรขึ้นในปี พ.ศ. 2444 ภายใต้ชื่อ Royal Sports Club (รอยัลสปอร์ตคลับ)
ในขณะนั้น นายเลิศ เศรษฐบุตร นักธุรกิจเชื้อสายไทย-จีน มีวิสัยทัศน์ว่า บริเวณทุ่งนากว้างใหญ่นี้น่าจะเป็นถิ่นบ้านพักอาศัย และเพื่อสร้างบรรยากาศละแวกนี้ให้ร่มรื่นมีเสน่ห์ นายเลิศจึงนำเข้าต้นจามจุรีจากบราซิลมาหลายร้อยต้น ทำให้พื้นที่แถบนี้มีทัศนียภาพแตกต่างจากมุมอื่นๆ ของพระนคร
นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งทำหน้าที่เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความเห็นเหมือนกับนายเลิศ จึงสร้างบ้านโอ่โถงบนพื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งปัจจุบันคือ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์
การเติบโตของพระนครจะเห็นได้จากประวัติของนายโฮเรชีโอ วิกเตอร์ เบลีย์ (Horatio Victor Bailey) วิศวกรชาวอังกฤษ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2456 นายเบลีย์ก็กลายเป็นชาวพระนครที่รู้จักคนกว้างขวางด้วยทำงานให้กับบริษัท Bangkok Dock Company และภายหลังก็เป็นวิศวกรใหญ่ของสำนักกษาปณ์ ต่อมา นายเบลีย์ได้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและบริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ในฐานะผู้จัดการดูแลทรัพย์สินของรอยัลสปอร์ตคลับและชื่นชอบการขี่ม้า นายเบลีย์รู้สึกติดใจภูมิทัศน์ของบริเวณรอบๆ รอยัลสปอร์ตคลับมาก เขาเลือกพื้นที่ขนาดประมาณ 33 ไร่ใกล้คฤหาสน์ของดร. Poix ด้วยมีพื้นที่กว้างขวางพอเลี้ยงม้าได้ นายเบลีย์เริ่มขุดคูรอบพื้นที่และออกแบบบ้านเอง
บ้านชาวอังกฤษ
นายเบลีย์ปลูกบ้านลึกเข้าไปทางท้ายของพื้นที่ สามารถมองเห็นจากถนนได้แต่ก็ห่างพอควรถนนดินสายนี้ในอนาคตต้องได้รับการพัฒนาอย่างแน่นอน เมื่อเดินจากประตูหน้าและมองไปทางด้านทิศใต้ของตัวบ้านจะเห็นศาลาอาบน้ำเด่นเป็นสง่าริมสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่นายเบลีย์ได้ขุดขยาย ณ จุดบรรจบของคูแนวใต้และแนวตะวันตก
สำหรับสถาปัตยกรรมของตัวเรือนหลัก นายเบลีย์เลือกการผสมผสานสถาปัตยกรรมอาณานิคมยุโรป เชิงชายลายขนมปังขิง แบบบ้านเมืองร้อนสไตล์มาเลเซียและความประณีตสง่างามของสถาปัตยกรรมสยาม แบบบ้านของนายเบลีย์มีลักษณะเดียวกันกับบ้านอื่นๆ จำนวนมากในพระนครที่สร้างในสมัยนั้น
ตัวเรือนสร้างบนเสาไม้แข็งแรงโดยบริเวณอยู่อาศัยอยู่ด้านบนเหนือพื้นดินด้วยอาจมีน้ำท่วมพื้นที่ช่วงฤดูฝน เรือนมีชายคากว้างปกป้องผนังเรือนจากแดดฝน และใต้ชายคาคือระเบียงไม้สักที่มีราวลูกกรงกั้นแล่นรอบตัวเรือนโดยมาบรรจบที่เฉลียงกว้างหน้าเรือน เฉลียงนี้มีพื้นไม้สัก พัดลมติดเพดานและหน้าต่างบานเกล็ดยาวจรดพื้น ส่วนด้านบนของกรอบไม้เหนือราวลูกกรงเป็นไม้โค้งมุมและมีรูปปั้นหน้าคนเชื้อชาติยุโรปและเอเชียเสมือนเป็นขั้นยื่นรองรับคานปีกทรงโค้งเหล่านี้
ความมั่งคั่งของนายเบลีย์ดูเหมือนจะสดใสไม่สร่าง แต่ระหว่างการเดินทางไปนครนิวยอร์กเพียงลำพัง เขากลับเสียชีวิตอย่างกระทันหันในวัย 40 โดยไม่ทราบสาเหตุชัด เช่นเดียวกับการจัดการทรัพย์สินของเขาที่ดูคลุมเครือด้วยเขาไม่ได้ทิ้งเงินทองใดๆ ให้ครอบครัวเลย จากคำบอกเล่าของครอบครัว ภรรยาหม้ายทั้งสามของนายเบลีย์ไม่มีเงินบำรุงรักษาบ้านหรือจ้างพนักงาน อีกทั้งยังถกเถียงเรื่องการไม่มีเงินกันไม่หยุด ทั้งหมดจึงออกจากบ้านหลังนี้ไปเมื่อปี พ.ศ. 2465
ชาวอเมริกันคนแรกที่เข้าพำนัก
ฝ่ายกฎหมายของครอบครัวเบลีย์ทำสัญญาเช่าบ้านหลังนี้ให้แก่ Baron de Villenfagne อัครราชทูตที่ปรึกษาเบลเยียมประจำกรุงสยาม สี่ปีต่อมา ก็ประกาศขายบ้านหลังนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้ความสนใจเพื่อใช้เป็นบ้านพักของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันของกระทรวงฯ หลังการเจรจาต่อรองหกเดือน กระทรวงการคลังก็ซื้อบ้านหลังนี้ในราคา 180,000 บาท (5,237 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 71,000 เหรียญสหรัฐใน พ.ศ. 2560)
สตีเวนส์เป็นคนแรกที่กอบกู้บ้านหลังนี้ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมากด้วยไม่มีคนพักอาศัยและไม่มีการซ่อมแซมใดๆ จนถึงปี พ.ศ. 2470 เขาใช้เวลาบูรณะอยู่สองเดือน ปฏิรูปโฉมด้วยการรื้อคอกม้า ซ่อมแซมต่อเติมที่พักคนรับใช้ และซ่อมศาลาอาบน้ำและทางเดิน ส่วนตัวเรือนหลัก สตีเวนส์ปรับปรุงห้องน้ำด้วยการเพิ่มถังเกรอะและน้ำประปา ส่วนสุดท้ายของการพัฒนาบ้านให้ทันสมัยคือ การติดตั้งโทรศัพท์ สตีเวนส์พำนักที่บ้านหลังนี้จนถึงปี พ.ศ. 2478 จากนั้น บ้านหลังนี้ก็เป็นที่พำนักของนายเฟดเดอริค อาร์. โดลแบร์ เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงมากในยุโรปและแถบเอเชียตะวันออกฉียงใต้ก็มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น นายโดลแบร์จึงลาออกในปี พ.ศ. 2483 เป็นการยุติบทบาทของที่ปรึกษาอิสระชาวอเมริกันในประเทศสยาม บ้านหลังนี้ก็ถูกทิ้งร้าง
ความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าพระนครและได้ยึดบ้านหลังนี้ ใช้บริเวณบ้านเป็นที่เก็บของและตัวเรือนเป็นเป็นที่พักของทหาร ตัวเรือนหลักอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยดีนักเพราะทหารทำคราบน้ำมันเครื่องเปื้อนกระเบื้องปูพื้นชั้นล่างและทำพื้นไม้สักชั้นบนของเรือนไหม้จากการใช้เตาถ่าน นอกจากนี้ ทหารยังรื้อท่อน้ำประปาและสายไฟจากตัวเรือน สาเหตุอาจมากจากการขาดแคลนวัสดุเหล่านี้ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทหารญี่ปุ่นก็ทิ้งบ้านไว้ในสภาพที่น่าเกลียด รอบบริเวณบ้านเต็มไปด้วยซากรถบรรทุก โครงตั้งปืนใหญ่และรถถัง โดยขยะจำนวนมากโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำของคูรอบพื้นที่ บ้านหลังนี้ก็ทรุดโทรมเกินซ่อมแซมไม่ต่างจากบ้านหลังอื่นๆ ในช่วงหลังสงคราม
ทำเนียบทูตหลังใหม่
หลังสิ้นสุดสงคราม นายเอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและเดินทางมาประเทศไทยพร้อมนางโจเซฟีนผู้เป็นภริยา ทั้งสองย้ายมาพำนักในบริเวณสถานอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ อาคารเลขที่ 125 ถนนสาทรใต้ ทว่า ไม่นานหลังจากนั้น นางสแตนตันก็พบว่าสถานที่นี้ “อยู่ไม่สบาย ไม่เป็นส่วนตัว” ทั้งยังไม่มีประตูปิดกั้นพื้นที่อยู่อาศัยออกจากที่ทำการชั้นล่างอีกด้วย
เมื่อครอบครัวสแตนตันได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เช่า “บ้านพักที่เหมาะสม” นางสแตนตันออกสำรวจเสาะหาบ้านทั่วกรุงเทพฯ จนพบเห็นบ้านโบราณของนายเบลีย์ ความประทับใจแรกของทั้งสองต่อบ้านหลังนี้ไม่สู้ดีนัก “บ้านเก่าทรุดโทรม…สีน้ำตาลช็อกโกแลต บานเกล็ดห้อยกระเท่เร่ อันที่จริงบ้านหลังนี้ทรุดเอียงไปข้างหนึ่ง…สวนขนาดใหญ่รอบตัวเรือนเต็มไปด้วยขยะสงครามสนิมจับ” กระนั้น นางสแตนตันมองเห็นความเป็นไปได้ในบ้านหลังนี้ เธอติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยโดยทันทีเพื่อแจ้งว่า ครอบครัวสแตนตันยินดีเช่าบ้านหลังนี้หากกระทรวงฯ จ่ายค่าบูรณะซ่อมแซมให้ ซึ่งกระทรวงฯ ก็อนุมัติตามคำขอ
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกสัญญาเช่าระยะเวลาสองปีที่อนุญาตให้ต่อสัญญาได้ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2490 แม้จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางส่วนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่สัญญาเช่าฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน
งานบูรณะซ่อมแซมระบบสายไฟ ระบบประปา และความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านดำเนินไปตลอดช่วงหกเดือนหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังปูพื้นและทาสีผนังใหม่ให้ส่งเสริมองค์ประกอบดั้งเดิมของแบบบ้าน พร้อมทั้งกั้นผนังระเบียงรอบตัวบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
ครอบครัวสแตนตันย้ายเข้ามาอาศัยที่บ้านเลขที่ 108 ถนนวิทยุ และตกหลุมรักบ้านหลังนี้ ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 สถานอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตเต็มรูปแบบ โดยอัครราชทูตสแตนตันได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม บ้านเลขที่ 108 ถนนวิทยุ จึงกลายเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้
ทำเนียบทูตในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องโดยเอกอัครราชทูตและครอบครัว รวมถึงพนักงานสถานทูตที่มีหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ นอกจากบำรุงรักษาประจำวันแล้ว ยังจัดให้ทาสีใหม่ ขัดเคลือบเงาพื้น และซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ผนังสีเข้มด้านในและระเบียงสีน้ำเงินที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นถูกปรับให้สว่างขึ้นด้วยสีขาว เข้าคู่กับงานไม้ฉลุประดับเหนือศีรษะที่ยังคงสวยงามเข้าสมัย สร้างบรรยากาศเบาสบายภายในบ้านที่ต่างจากความหนักแน่นแบบอังกฤษของการตกแต่งเดิม พื้นไม้สักได้รับการดูแลรักษาอย่างเอาใจใส่และยังคงให้สัมผัสสบายใต้ฝ่าเท้า พื้นที่รับรองแขกบริเวณชั้นล่างปรับปรุงให้มีประตูกระจกบานเฟี้ยมล้อมปิดรอบด้าน จึงสามารถใช้เครื่องปรับอากาศทำความเย็นเพื่อจัดงานรับรองขนาดใหญ่ได้แม้ในเดือนที่มีอากาศร้อน
ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2527 อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นดำเนินงานอนุรักษ์ที่ประสบผลสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องของทางสถานทูตฯ ซึ่งช่วยรักษาอาคารทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ให้อยู่ในสภาพสวยงามสมบูรณ์สมฐานะบ้านพักเอกอัครราชทูต รวมทั้งเป็นเครื่องรำลึกถึงผู้คนและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานครมาจนถึงทุกวันนี้