เสริมสร้างความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ

ผมทำงานในโลกธุรกิจมากว่า 20 ปี จึงเข้าใจดีถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการที่คู่ค้าที่ไว้ใจได้มาพบเจอกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะกำลังเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจที่มีผลประโยชน์สูงหรือกำลังสร้างโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่คุณเลือกที่จะทำงานด้วย จากรากฐานความสัมพันธ์กว่า 2 ศตวรรษ สัปดาห์นี้ไทยและสหรัฐอเมริกาได้ก้าวไปอีกขั้นในการทำงานร่วมกันใกล้ชิดกว่าเดิม ซึ่งยกระดับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเปี่ยมพลวัตของเรา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย และเจ้าหน้าที่จากอีก 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เปิดตัวความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ครั้งใหม่ โดยต่อยอดจากความร่วมมือหลายทศวรรษ รวมถึงเงินช่วยเหลือ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐที่อเมริกามอบให้ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) มากว่า 11 ปี ในการยกระดับการดำเนินงานของเราครั้งนี้ สหรัฐฯ จะส่งเสริมการเชื่อมโยงและการพัฒนาในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ด้วยโครงการริเริ่มใหม่ ๆ มูลค่ากว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ การทำงานร่วมกันภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะขยายขอบเขตครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง ธรรมาภิบาล สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหมาะสมกับการรับมือปัญหาที่เราเผชิญร่วมกันในภูมิภาค ตั้งแต่ภัยแล้งรุนแรงจนถึงการค้ายาเสพติด

ไทยมีโอกาสดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในการเก็บเกี่ยวผลของการยกระดับความร่วมมือนี้ ประเทศของเราทั้งสองได้หล่อเลี้ยงมิตรภาพที่มีความเชื่อใจ โปร่งใส และผลประโยชน์ร่วมกันมากว่า 200 ปี ไทยในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาค เป็นฝ่ายที่จะได้รับประโยชน์อย่างสูงหากภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแข็งแกร่งขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการรับมือความท้าทายด้านความมั่นคง สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรายืนเคียงข้างกันและแสดงถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการทำให้เป้าหมายนี้กลายเป็นจริงภายใต้ความร่วมมือใหม่นี้

ประเทศลุ่มน้ำโขงรวมถึงไทย สมควรมีหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้อย่างสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนความมุ่งหวังด้านการพัฒนาของประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศควรส่งเสริมโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง อันจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ ๆ ตลอดจนใช้ความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญในประเทศแทนชาวต่างชาติ และปราศจากการทำสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้เกิดการทุจริต หนี้สินมหาศาล หรือสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่างเช่น หน่วยงานความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) ได้ลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังจะลงทุนและขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำโขงด้วยเม็ดเงินอีกหลายพันล้านในอนาคต นอกจากนี้ เครือข่ายการดำเนินงานและความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ (ITAN) ยังจะสร้างเสริมความสามารถของนานาประเทศในภูมิภาคในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน โปร่งใส และมีคุณภาพสูง ซึ่งอำนวยประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชากรในลุ่มน้ำโขงด้วย

ผู้นำของไทยเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียเหล่านี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้พูดคุยกับคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของไทยในการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ผ่านข้อริเริ่ม Asia EDGE เพื่อขับเคลื่อนการค้าพลังงานในภูมิภาค การเข้าถึงเงินทุน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โครงการริเริ่มเหล่านี้ช่วยให้ไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวไทย มิใช่ผู้ฉวยโอกาสต่างชาติหรือเป็นผลประโยชน์จากการบีบบังคับ

มิใช่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้นที่มอบความร่วมมือที่ตั้งมั่นในหลักการ มิตรประเทศและหุ้นส่วนอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดียต่างก็มาร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และค่านิยมในการร่วมมือกันของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตัวอย่างเช่น หุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ (JUMPP) สนับสนุนทรัพยากรแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อขยายการซื้อขายไฟฟ้าระดับภูมิภาค โดยสหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 29.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้โครงการนี้ ไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายพลังงานที่เชื่อมโยงและตลาดพลังงานที่มีการแข่งขันกันซึ่งจะปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ความร่วมมือครั้งใหม่ของเราตระหนักว่าการเอาชนะความท้าทายที่ซับซ้อนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ จะยังคงปกป้องสุขภาพของแม่น้ำโขงซึ่งหล่อเลี้ยง 60 ล้านชีวิตต่อไป และสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำสายสำคัญนี้ เราสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลน้ำตลอดทั้งปีโดยใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วของ MRC รวมถึงข้อมูลการปล่อยน้ำจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ต้นน้ำ ในการจัดการแม่น้ำข้ามพรมแดน ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าแม่น้ำโขงจะหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็เป็นช่องทางที่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใช้ลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย และเพื่อช่วยมิตรประเทศในลุ่มน้ำโขงของเราปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนเหล่านี้ สหรัฐฯ จะมอบเงินสนับสนุนจำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มเติมจากที่ออสเตรเลียกำลังให้และวางแผนจะให้เพื่อช่วยเหลือในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า รวมถึงอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมทแอมเฟตามีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศของเราทั้งสองได้เห็นว่าเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อเอาชนะความท้าทายในยุคสมัยของเรา บางประเทศแสวงประโยชน์ของตนเองจากช่วงเวลาอันไม่แน่นอนนี้ สหรัฐฯ ตระหนักถึงโอกาสในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่แข็งแกร่งและมั่งคั่งยิ่งขึ้น ดังเช่นการบุกเบิกใด ๆ ก็ตาม หากเราจะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกต่างจากที่เคยเป็นมานี้ ประเทศของเราทั้งสอง ตลอดจนบรรดาหุ้นส่วนในภูมิภาค จะต้องสร้างข้อตกลงใหม่ ๆ ที่เน้นย้ำถึงมิตรภาพอันยืนนานของเรา และแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราต่ออนาคตที่เป็นหนึ่งเดียว

ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ
ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ

(บทความแสดงความคิดเห็นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563)