คำกล่าวในการเสวนาหัวข้อ “โอกาสและอนาคตทางธุรกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง” ในการประชุม Indo-Pacific Business Forum โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

คำกล่าวในการเสวนาหัวข้อ “โอกาสและอนาคตทางธุรกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง”

ในการประชุม Indo-Pacific Business Forum

โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

คำกล่าวเปิด

สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน ยินดีต้อนรับสู่การเสวนาหัวข้อ “โอกาสและอนาคตทางธุรกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง” ครับ

ผม ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย‍ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกับทุกท่านในงานวันนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Indo-Pacific Business Forum เวทีธุรกิจสำคัญในเอเชียที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน และในปีนี้มีรัฐบาลเวียดนามเป็นเจ้าภาพร่วม ผมขอขอบคุณผู้จัดและเจ้าภาพที่ทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงในช่วงสถานการณ์อันยากลำบาก

ผมได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มาเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศกัมพูชา แพทริค เมอร์ฟี, เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศลาว ปีเตอร์ เฮย์มอนด์, เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศเวียดนาม แดเนียล เจ. คริเทนบริงค์ และอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศเมียนมา เกว็น คาร์ดโน

สำหรับรูปแบบการดำเนินรายการนั้น ท่านทูต อุปทูต และผมจะผลัดกันอภิปรายกันคนละประมาณ 5 นาที โดยจะพูดถึงบรรยากาศในปัจจุบันและอนาคตทางธุรกิจของประเทศที่เราปฏิบัติหน้าที่อยู่ รวมถึงประโยชน์ที่อาจจะหลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากการลงทุนของสหรัฐฯ จากนั้นจะเป็นช่วงการถาม-ตอบ อีก 15 นาทีนะครับ

ในระหว่างการอภิปราย ผมอยากให้ท่านผู้ชมส่งคำถามมาทางหน้าต่างสนทนาในโปรแกรมนี้ เราจะพยายามตอบคำถามให้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย ขอให้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นคำถามสำหรับวิทยากรท่านไหนด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะเรียนให้ท่านทราบว่า จริง ๆ แล้วเราอยากจะจัดงานให้วิทยากรทุกท่านได้มาเจอกันบนเวทีมากกว่า ผมมั่นใจว่าเดี๋ยวเราจะได้หารือถึงความท้าทายและอุปสรรคมากมายที่เป็นผลมาจากโรคระบาดใหญ่ในปัจจุบัน

ทว่า เรามุ่งมั่นที่จะพูดคุยกันถึงโอกาสอันดีที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราฟื้นตัวจากการระบาดนี้ไปพร้อมกันและปรับตัวรับ “นิวนอร์มัล” เสียมากกว่า โดยพิจารณาคำถามต่าง ๆ เช่น ห่วงโซ่อุปทานจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร อุตสาหกรรมใหม่ใดบ้างที่มีแววจะรุ่ง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอะไรบ้างที่ถูกมองข้ามมานานและเราสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้ในขณะนี้ ผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการจะรับมือกับความท้าทายเร่งด่วนอันดับต้น ๆ ได้อย่างไร

และในโอกาสนี้ ขอเชิญวิทยากรท่านแรกของเรา เอกอัครราชทูตคริเทนบริงค์ จากเวียดนามครับ

คำกล่าวโดยเอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

ขอบคุณครับ ขอแนะนำตัวอีกครั้ง ผม ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย‍

ในอีกประมาณ 5 นาทีต่อจากนี้ ผมอยากจะแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพรวมบรรยากาศการลงทุนของไทยและเหตุผลที่บริษัทต่าง ๆ เลือกที่จะเข้ามาในไทย รวมถึงยกตัวอย่างความช่วยเหลือที่เรามอบให้แก่ไทย เพื่อทำให้ประเทศดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากยิ่งขึ้นไปอีก และยังจะอภิปรายด้วยว่า นักลงทุนและบริษัทอเมริกันสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาไทยและภูมิภาคนี้ได้อย่างไรบ้าง

ก่อนอื่น ผมอยากจะเล่าเรื่องราวของตัวเองสักเล็กน้อย ผมเข้าสู่แวดวงราชการหลังทำงานในภาคเอกชนมานานกว่า 20 ปี โดยได้ช่วยหลากหลายบริษัทให้ลงทุนและสร้างธุรกิจให้เติบโตทั่วเอเชีย

หลังได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ผมมาถึงไทยในช่วงปลายเดือนมกราคม และหวังว่าจะได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองให้เกิดประโยชน์

แต่ยังไม่ทันไร ก็เกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้นเสียก่อน ท่านคงเข้าใจดีว่า เกิดผลกระทบมหาศาลเพียงใดต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย รวมถึงภารกิจสำคัญในระยะสั้นของผมในฐานะเอกอัครราชทูตด้วย

ทว่า โชคดีที่ไทยรับมือกับโรคระบาดใหญ่ได้ดีเยี่ยม และได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เคร่งครัดไปแล้วเกือบทั้งหมด ซึ่งผมจะได้ขยายความต่อไปในอีกสักครู่

และตอนนี้ รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนชาวไทยต่างก็กำลังวางแผนเชิงรุกสำหรับช่วงเวลาต่อจากนี้ “นิวนอร์มัล” ของไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ผมตอบรับคำขอจากภาคีของเราในรัฐบาลไทย ด้วยการพัฒนาข้อแนะนำที่เฉพาะเจาะจงในด้านต่าง ๆ เช่น การดึงดูดการลงทุนที่มากขึ้นจากสหรัฐฯ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานที่ย้ายฐานออกจากจีน ตลอดจนวิธีพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินระดับภูมิภาค พร้อมทั้งการเอื้ออำนวยให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุนและสตาร์ตอัป เป็นต้น

เพื่อพัฒนาข้อแนะนำเหล่านี้ ผมพูดคุยกับบริษัทและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสัญชาติอเมริกัน ทั้งในและนอกประเทศไทย จึงได้ทราบเหตุผลของทั้งบริษัทที่เลือกก่อตั้งธุรกิจที่นี่ และบริษัทที่เลือกประเทศอื่น

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้คือ โรคระบาดใหญ่ได้ทำให้หลายบริษัททบทวนการดำเนินธุรกิจ การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานของตนในระดับสากล เพื่อให้มั่นใจว่าองค์ประกอบทางธุรกิจเหล่านี้มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมั่นคง

ห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัยมีอยู่ในนานาประเทศที่เป็นมิตรและพันธมิตรซึ่งต่างยึดมั่นในความโปร่งใส โอกาสที่เป็นเอกเทศ และตลาดเสรีที่ปราศจากการครอบงำของรัฐ

ห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้มีอยู่ในนานาประเทศที่สื่อมีเสรีภาพและความเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ซึ่งต่างยึดถือหลักนิติธรรมและหลักความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญา

และห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงมีอยู่ในนานาประเทศที่บริษัทต่าง ๆ ปลอดภัยจากการโจรกรรมทางไซเบอร์และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ดังนั้น สาเหตุหนึ่งที่บริษัทอเมริกันเลือกไทย ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทยนั้นเข้มแข็ง อีกทั้งมีพื้นฐานอยู่บนความยึดมั่นในค่านิยมเหล่านี้ร่วมกัน

สัมพันธไมตรีทางการค้าของสหรัฐฯ และไทยแน่นแฟ้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ พ.ศ. 2376 ซึ่งยังคงมอบสิทธิพิเศษให้กับบริษัทอเมริกันในไทยจนถึงปัจจุบัน

บริษัทสัญชาติอเมริกันหลายแห่งดำเนินการในไทยมาหลายชั่วอายุคน โดยรวมแล้วพวกเขาลงทุนในไทยหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเราก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย

ผมยังอยากจะกล่าวเน้นถึงความร่วมมือด้านการสาธารณสุขของเรา ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษในสถานการณ์ปัจจุบัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ไทยมากว่า 60 ปี โดยพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ ที่ช่วยชีวิตผู้คนมากมาย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) มีสำนักงานนอกประเทศขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่กรุงเทพฯ และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับกระทรวงสาธารณสุขของไทย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ในการรับมือกับโรคระบาดต่าง ๆ

ผมมั่นใจว่าความร่วมมือของเรามีส่วนสร้างเสริมการสาธารณสุขของไทยให้สามารถรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

เราแทบไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม วิถีชีวิตของผู้คนกลับคืนสู่ปกติแล้วในหลายแง่มุม นับว่าไทยประสบความสำเร็จเป็นระดับต้น ๆ ของโลกในด้านดังกล่าว

รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการเพื่อต่อยอดความสำเร็จนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทและห่วงโซ่อุปทานให้เข้ามาในไทย

นอกจากนี้ บริษัทสหรัฐฯ ยังเทคะแนนให้ไทย เนื่องจากตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ กับการพยุงการค้าและอุตสาหกรรมไว้

โรงงานอเมริกันหลายแห่งยังคงดำเนินการได้เต็มศักยภาพหรือใกล้เคียง แม้จะเป็นช่วงที่ไทยอยู่ระหว่างการปิดประเทศอย่างเข้มงวดที่สุด และบางบริษัทก็ยังสามารถย้ายฐานการดำเนินงานมาที่ไทยได้ในระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากเกินไปในประเทศอื่น ๆ

ไทยยังมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลาง

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ประเทศไทยกำลังมุ่งเน้นการดึงดูดการผลิตและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและล้ำสมัยใน 12 ภาคส่วน ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ สนับสนุนยุทธศาสตร์นี้ด้วยการนำเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่หลากหลายให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยจำแนกตามภาคธุรกิจ ประเภทของการลงทุน และปัจจัยอื่น ๆ

บีโอไอยังมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับบริษัทที่อยากจะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในไทยอีกด้วย

บริษัทสัญชาติอเมริกันรายงานว่า บรรดาสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอมอบให้สร้างแรงจูงใจสูง และยังมองว่าหน่วยงานมีความเป็นมืออาชีพ การดำเนินงานด้านการสนับสนุน และความโปร่งใสเป็นเลิศ

บีโอไอยังสามารถมอบตัวเลือกสิทธิประโยชน์ที่มีความยืดหยุ่นได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกิจการสูงสุดถึง 10 ปี การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกล วัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ตลอดจนการยกเว้นอีกมากมายที่ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร โดยพิจารณาตามประเภท ภาคธุรกิจ และตำแหน่งที่ตั้งของการลงทุน

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อกับบีโอไอโดยตรงนะครับ พวกเขามีสำนักงานกระจายอยู่ทั่วโลก รวมถึงในนิวยอร์กและลอสแอนเจลิส และทีมงานของผมเองก็ยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการประสานงานสำหรับนักลงทุนที่สนใจ

โครงการริเริ่มด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย นั่นคือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัด และประกอบไปด้วยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรองรับการพัฒนาที่ล้ำสมัยในรูปแบบของถนน รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยาน และท่าเรือใหม่ ๆ

สำนักงานอีอีซี มีบทบาทหน้าที่ในการนำเสนอสิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ รวมถึงข้อยกเว้นด้านกฎระเบียบที่ดึงดูดใจยิ่งกว่าบีโอไอเสียอีก

ไม่นานมานี้ผมได้ไปเยือนอีอีซี และยินดีที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทสหรัฐฯ ทั้งหมดที่ผมได้เข้าเยี่ยมชมกำลังขยายการดำเนินงาน เดินหน้าวิจัยและพัฒนา ตลอดจนสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ ดูเหมือนว่าโครงการอีอีซีกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องนะครับ

ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน ทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหนือขั้น จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

เรากำลังร่วมมือกับไทยในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว และใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมรูปแบบผสมผสาน

เราสนับสนุนให้ไทยปฏิรูปกระบวนการด้านศุลกากร เพื่ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งสินค้าจากการคมนาคมรูปแบบหนึ่งไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น จากเครื่องบินไปสู่รถบรรทุก

ผมทราบมาว่าหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในประเด็นนี้คือ ขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากและระบบราชการที่จุดผ่านแดนทางบกของภูมิภาค

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงอยากใช้เวทีในวันนี้เชิญชวนท่านทูตคนอื่น ๆ ในภูมิภาคมาช่วยกันอำนวยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน รวมทั้งข้อตกลงและกระบวนการด้านศุลกากรที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้จะไร้รอยต่อ

ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ และไทยได้ร่วมกันก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นในความร่วมมือด้านพลังงาน โดยได้จัดการประชุมหารือเชิงนโยบายด้านพลังงานระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก

ในระหว่างการประชุมระดับสูงนี้ สหรัฐฯ เน้นย้ำความตั้งใจที่จะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานระดับภูมิภาคตามที่มุ่งหวัง

ความสำเร็จนี้จะสร้างโอกาสทางการค้าให้ทั้งบริษัทสัญชาติอเมริกันและไทย และยกระดับบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค ด้วยการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้มากขึ้นและราคาถูกลงได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในเรื่องดี ๆ ท่ามกลางโรคระบาดใหญ่

เรากำลังช่วยสนับสนุนไทยในด้านนี้เช่นกัน โดยการปรับเปลี่ยนบริการทางการเงินให้เป็นระบบดิจิทัล การพัฒนาเมืองอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

จากการที่ได้เดินทางไปทั่วประเทศและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผมได้เห็นประโยชน์อันมีลักษณะเฉพาะหลายประการที่บริษัทอเมริกันนำมาสู่ประเทศไทย

บริษัทอเมริกันเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งยังมีความโดดเด่นในด้านที่มักจะถูกมองข้าม เช่น การพัฒนาบุคลากร แรงงานสัมพันธ์ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความโปร่งใส และความปลอดภัยในที่ทำงาน

ปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทสหรัฐฯ ได้เปรียบทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศอีกด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทางการไทยจึงกระตือรือร้นกับการลงทุนของอเมริกา

และเช่นเดียวกัน สถานทูตเองก็กระตือรือร้นที่จะได้ช่วยท่านทั้งหลายค้นหาวิธีส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินที่ยืนนานของเราสองประเทศ ซึ่งมิตรไมตรีนี้ได้สร้างคุณูปการให้ทั้งสหรัฐฯ และไทยมาแล้วมากมาย

หากท่านต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในไทยเพิ่มเติม สามารถติดต่อผม และทีมเศรษฐกิจและการค้าของผมที่สถานทูตได้เลยนะครับ

ขอบคุณครับ