อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
รัฐมนตรีแอนโทนี เจ. บลิงเคน
14 ธันวาคม พ.ศ. 2564
มหาวิทยาลัย Universitas Indonesia
กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ดร.กุสุมายาติ: ท่านรัฐมนตรี ท่านเอกอัครราชทูต ท่านเลขาธิการอาเซียน ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัย Universitas Indonesia และท่านประธานคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยสหรัฐฯ-อินโดนีเซีย แขกผู้มีเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน
ก่อนอื่น ขอให้เรากล่าวสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพที่ทรงประทานพรแก่เราให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์และมั่งคั่งจนเราต่างสามารถมาประชุมกันที่นี่ในวันนี้ ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งและขอต้อนรับทุกท่านสู่มหาวิทยาลัย Universitas Indonesia เมืองเดปก
มหาวิทยาลัย Universitas Indonesia รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานกล่าวปาฐกถาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แอนโทนี บลิงเคน ดังที่ชื่อของเราได้บ่งบอก มหาวิทยาลัย Universitas Indonesia ภาคภูมิใจยิ่งที่ได้ใช้ชื่อประเทศเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เราตระหนักดีว่านี่เป็นทั้งอภิสิทธิ์และภาระรับผิดชอบของเรา
วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเราเน้นย้ำความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม รวมถึงแนวทางพัฒนาความรู้เหล่านี้เพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนชาวอินโดนีเซียตามภาระหน้าที่ของเราที่มีต่อโลก
ท่านผู้มีเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เราทุกคนต่างเผชิญปัญหานานาที่ทั้งซับซ้อนและมีผลกระทบกว้างไกล เช่น การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเหล่านั้นไม่มีวิธีแก้ไขที่ได้ผลฉับพลัน แต่เราเชื่อมั่นในการลงทุนสละเวลามาพบปะหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับแรงบันดาลใจ อันนำไปสู่ความร่วมมือ นโยบาย และการดำเนินการ
วันนี้เป็นวาระพิเศษยิ่งสำหรับเรา ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ให้เกียรติมาที่นี่เพื่อแบ่งปันทรรศนะของท่าน บุคคลสำคัญ ๆ จากหลายวงการและสาขาความเชี่ยวชาญก็มาร่วมงานนี้กับเราด้วย และเราเชื่อมั่นว่า ความรู้อันหลากหลายในที่นี้จะผสานสู่เป้าหมายหนึ่งเดียวคือ การปกป้องคนรุ่นต่อ ๆ ไปพร้อมทั้งแก้ปัญหาท้าทายทั้งหลายที่เราเผชิญในปัจจุบัน
ท่านผู้มีเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษคะ โปรดต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ค่ะ (เสียงปรบมือ)
รัฐมนตรีบลิงเคน: สวัสดีครับ ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้มาอยู่ที่นี่กับทุกท่าน และขอบคุณมากครับ ดร.กุสุมายาติที่กรุณาแนะนําตัวผม ทว่า ยิ่งไปกว่านั้น ผมขอขอบคุณสำหรับการทำงานตลอดหลายสิบปีของท่านเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขและอบรมให้ความรู้แก่แพทย์และพยาบาลรุ่นต่อไป รวมถึงการที่ท่านเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยด้วย การอุทิศตนเพื่อชุมชนของท่านนับจากงานวิจัยด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ไปจนถึงความเป็นผู้นําของท่านในคณะทำงานเฉพาะกิจโควิดของอินโดนีเซียสร้างแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ผมขอแสดงความชื่นชมครับ (เสียงปรบมือ)
อรุณสวัสดิ์ทุกท่านในที่นี้ครับ ซาลามัต ปากี ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาจาการ์ตา ผมเคยมาที่นี่ 2 หนสมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผมรอคอยโอกาสนี้ที่จะกลับมาเยือนประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง
สำหรับนักศึกษาที่อยู่ในห้องนี้ ผมคาดว่า พวกคุณคงดีใจที่ได้กลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ผมทราบมาว่า พวกคุณหลายคนต้องเรียนทางไกลมาระยะหนึ่งแล้วและรอคอยที่จะได้กลับมาเรียนในห้องเรียน ผมดีใจที่เรามีข้ออ้างเล็กน้อยให้พวกคุณกลับมามหาวิทยาลัยกันในวันนี้ ท่านด็อกเตอร์ครับ ผมทราบว่าคุณและคณะทำงานเฉพาะกิจต้องการให้นักศึกษากลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัย และทราบดีว่า ทุกคนตั้งตารอเวลานั้น
ผมมาอยู่ตรงนี้ พวกเรามาอยู่ที่นี่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะกำหนดวิถีของโลกในศตวรรษที่ 21 มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นใด
อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโลก 2 ใน 3 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกและเป็นที่ตั้งของ 7 ใน 15 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด
ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายที่น่าทึ่ง มีภาษามากกว่า 3,000 ภาษา รวมถึงศาสนาและลัทธิความเชื่อมากมายที่ครอบคลุม 2 มหาสมุทรและ 3 ทวีป
แม้ภายในประเทศเดียวอย่างอินโดนีเซียก็ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายที่งดงามอันยากจะกลั่นกรอง ยกเว้นความแตกต่างหลากหลายของประเทศ และคําขวัญของประเทศนี้คือ เอกภาพในความหลากหลาย (Bhinneka Tunggal Ika) ซึ่งฟังดูคุ้นมากสำหรับชาวอเมริกัน ในสหรัฐฯ เราพูดว่า จากหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง (E Pluribus Unum) อันเป็นแนวคิดเดียวกัน
สหรัฐฯ เป็นประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมาโดยตลอดและจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป นี่คือข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ จากรัฐริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเราไปจนถึงกวมอันเป็นดินแดนของเราในแปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ อันจะเห็นได้จากประวัติการค้าและความสัมพันธ์อื่น ๆ ของเรากับประเทศในภูมิภาคนี้ตลอด 2 ศตวรรษ
วันนี้ ครึ่งหนึ่งของประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ อยู่ในอินโด-แปซิฟิก ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าส่งออกเกือบ 1 ใน 3 ของเรา เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 900,000 ล้านเหรียญ และนั่นคือการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งทั่วทั้ง 50 รัฐของเรา จำนวนทหารของเราที่ประจําการในภูมิภาคนี้มีมากกว่าที่อื่นใดนอกภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพและเสถียรภาพที่มีความสำคัญยิ่งต่อความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ อันเป็นประโยชน์ต่อเราทุกฝ่าย
แน่นอนว่า เราผูกพันกันโดยประชาชนของเราซึ่งมีความสัมพันธ์กันย้อนกลับไปหลายชั่วรุ่น ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมากกว่า 24 ล้านคนอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ รวมถึงท่านเอกอัครราชทูตซุง คิม เมื่อท่านไม่ได้ทำงานรับใช้ประเทศในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกดังที่ท่านได้ปฏิบัติมาตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ก่อนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มีนักเรียนนักศึกษามากกว่า 775,000 คนจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกศึกษาอยู่ในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เพื่อนร่วมชั้นชาวอเมริกันของคุณที่ Universitas Indonesia ก็เป็นส่วนหนึ่งของชาวอเมริกันหลายล้านคนที่มาที่ภูมิภาคนี้เพื่อศึกษา ทำงาน และใช้ชีวิตที่นี่ รวมถึงผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ด้วย
มีสุภาษิตอินโดนีเซียบทหนึ่งที่มีคนบอกผมว่าจะสอนให้เด็ก ๆ กันตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นคือ “เรามีหูสองข้าง แต่มีเพียงปากเดียว” หมายความว่า ก่อนที่เราจะพูดหรือทำสิ่งใด เราพึงต้องฟัง และในช่วงปีแรกแห่งการบริหารประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ เราตั้งใจฟังเสียงของผู้คนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นอย่างมากเพื่อทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ของท่านที่มีต่ออินโด-แปซิฟิกและอนาคตของภูมิภาคนี้
เราได้ต้อนรับผู้นําจากภูมิภาคนี้สู่ประเทศของเรา รวมถึงผู้นําต่างประเทศ 2 ท่านแรกจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ประธานาธิบดีไบเดนเป็นเจ้าภาพต้อนรับหลังเข้ารับตําแหน่ง ตลอดจนรัฐมนตรีต่างประเทศทุกท่านที่ผมได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพให้การรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงท่านรัฐมนตรีต่างประเทศเร็ตโน และฝ่ายเราก็ได้มาเยือนภูมิภาคของท่าน เช่น รองประธานาธิบดีแฮร์ริส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไรมอนโด และสมาชิกคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ อีกหลายท่าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศจากคณะทำงานของผม
ท่านประธานาธิบดีของเราได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับผู้นําประเทศต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยองค์กรสำคัญระดับภูมิภาค เช่น การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศ (Quad) ซึ่งประกอบด้วยอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ผมเองก็ได้เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ รวมถึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ส่วนท่านประธานาธิบดีไบเดนได้พบกับผู้นําของอินโด-แปซิฟิกในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการประชุมที่มีประสิทธิผลอย่างมากกับท่านประธานาธิบดีโจโกวีที่เมืองกลาสโกว์ในช่วงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26)
แต่เราไม่ได้ฟังแต่เสียงของผู้นําเท่านั้น ที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของเราทั่วภูมิภาค นักการทูตของเราใช้หูสองข้างเพื่อฟังทรรศนะของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนักเรียนนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้ประกอบการ
และแม้ว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคแห่งความหลากหลายพิเศษยิ่งกอปรด้วยความสนใจและทรรศนะที่มีลักษณะเฉพาะ สหรัฐฯ มองเห็นความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ที่เราได้ยินจากอินโด-แปซิฟิกและวิสัยทัศน์ของเราเอง
ผู้คนและรัฐบาลในภูมิภาคนี้ต้องการโอกาสที่มากขึ้นและดีขึ้นสำหรับทุกคนในภูมิภาค พวกเขาต้องการโอกาสเพิ่มขึ้นในการเชื่อมโยงภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และทั่วโลก พวกเขาต้องการเตรียมพร้อมยิ่งขึ้นสำหรับรับมือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น โรคระบาดใหญ่ที่เราเผชิญอยู่ พวกเขาต้องการสันติภาพและเสถียรภาพ พวกเขาต้องการให้สหรัฐฯ มีบทบาทและมีส่วนร่วมมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องการภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้างมากขึ้น
ฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากจะทำในวันนี้ คือ พยายามดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกัน รวมถึงแนวทางที่เราจะร่วมมือกันสร้างวิสัยทัศน์นั้นให้เป็นจริง มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการอย่างที่ผมอยากเน้น
ประการแรก เราจะดำเนินการส่งเสริมให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง
ขณะนี้เราพูดถึงอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างบ่อยมาก แต่เรามักไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า คำว่าอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างนั้นเราหมายถึงสิ่งใด เสรีภาพเป็นเรื่องของความสามารถในการลิขิตอนาคตของคุณเอง รวมทั้งการมีสิทธิมีเสียงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนและประเทศของคุณไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือรู้จักใคร และการเปิดกว้างมักเป็นผลพวงของเสรีภาพ สถานที่ที่เสรีจะเปิดกว้างรับข้อมูลและมุมมองใหม่ ๆ จะเปิดใจกับวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตที่แตกต่าง ตลอดจนเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์ การส่องสะท้อนตนเอง และการเริ่มต้นใหม่
เมื่อกล่าวว่าเราต้องการภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ความหมายของเราก็คือสำหรับผู้คนทั่วไป พวกเขาจะมีเสรีในการดำเนินชีวิตประจำวัน และอาศัยอยู่ในสังคมที่เปิดกว้าง ความหมายของเราก็คือ สำหรับประเทศทั้งหลาย พวกเขาจะสามารถเลือกหนทางของตนเองและหุ้นส่วนของตนได้ และความหมายของเราก็คือ สำหรับภูมิภาคนี้ ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างเปิดเผย กฎกติกาจะกำหนดขึ้นอย่างโปร่งใสและบังคับใช้โดยเท่าเทียม สินค้าและแนวคิด ตลอดจนผู้คนจะหลั่งไหลไปอย่างไม่ถูกปิดกั้นทั่วแผ่นดิน โลกไซเบอร์ และน่านน้ำอันกว้างไกล
เราทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างความมั่นใจว่า ภูมิภาคที่มีพลวัตสูงสุดในโลกภูมิภาคนี้จะปราศจากการบีบบังคับและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นับเป็นสิ่งดีสำหรับผู้คนทั่วภูมิภาคนี้ และดีสำหรับชาวอเมริกันเพราะประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เมื่อภูมิภาคอันกว้างใหญ่นี้เสรีและเปิดกว้าง อเมริกาย่อมมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ดังนั้น เราจะร่วมมือกับหุ้นส่วนของเราทั่วภูมิภาคนี้ในการพยายามทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นความจริง
เราจะยังคงสนับสนุนกลุ่มต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมความโปร่งใส ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวน คลังสมองทั่วภูมิภาค เช่น สถาบัน Advocata Institute ในศรีลังกา ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ สถาบันได้สร้างระเบียนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เช่น ธนาคารและสายการบินที่ดําเนินงานขาดทุนมาก และเสนอวิธีปฏิรูปองค์กรเหล่านั้น
เราหาหุ้นส่วนในภาครัฐบาลด้วย เช่น วิกเตอร์ ซอตโต้ วิกเตอร์เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองปาซิกในประเทศฟิลิปปินส์ เขาจัดตั้งสายด่วนที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ประชาชนรายงานกรณีทุจริต ทำให้การอนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ของรัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น และทำให้องค์กรชุมชนมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจว่าเมืองจะใช้ทรัพยากรอย่างไร วิกเตอร์เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลผู้ต่อต้านการทุจริตสากลกลุ่มแรกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เราประกาศเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
และเราจะยังเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากมิตรประเทศประชาธิปไตยของเราต่อไป นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่ประธานาธิบดีไบเดนเป็นเจ้าภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งท่านประธานาธิบดีโจโกวีได้กล่าวในที่ประชุมด้วย โดยท่านขึ้นกล่าวเป็นคนแรก อีกทั้งเป็นแนวคิดเบื้องหลังการประชุม Bali Democracy Forum ซึ่งอินโดนีเซียเพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ส่วนตัวผมมีโอกาสกล่าวในที่ประชุมด้วย
นอกจากนี้ เราจะยืนหยัดต่อสู้กับผู้นําที่ไม่เคารพสิทธิของประชาชนดังที่เราเห็นในพม่า เราจะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรากดดันรัฐบาลพม่าให้ยุติการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้า ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมทุกคน อนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้โดยปราศจากการกีดขวาง และฟื้นฟูเส้นทางพม่าสู่ประชาธิปไตยที่ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม
อาเซียนได้พัฒนาฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเข้าร่วมการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายเพื่อแสวงหาการแก้ปัญหาอย่างสันติที่เคารพเจตนารมณ์ของชาวพม่า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะไม่ยอมละทิ้ง
อีกวิธีหนึ่งที่เราจะส่งเสริมเสรีภาพและการเปิดกว้างคือ การปกป้องระบบอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงกันได้ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ จากผู้ที่ทำการอย่างแข็งขันเพื่อให้อินเทอร์เน็ตปิดแคบลง แตกแยกมากขึ้น และมีความปลอดภัยน้อยลง เราจะร่วมมือกับหุ้นส่วนของเราปกป้องหลักการเหล่านี้และจะช่วยสร้างระบบที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้อันเป็นรากฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตที่เรามุ่งปกป้อง ในการประชุมสุดยอดผู้นําระหว่างประธานาธิบดีมูนกับประธานาธิบดีไบเดนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ประกาศลงทุนกว่า 3,500 ล้านเหรียญในเทคโนโลยีอุบัติใหม่ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเครือข่าย 5G และ 6G ที่ปลอดภัย
สุดท้าย เราจะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราปกป้องระเบียบที่ยึดมั่นในกฎกติกาที่เราได้สร้างขึ้นตลอดช่วงหลายทศวรรษ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ภูมิภาคนี้จะยังคงเปิดกว้างและเข้าถึงได้
ผมขอกล่าวให้ชัดเจนในประเด็นหนึ่ง นั่นคือ เป้าหมายในการปกป้องระเบียบที่ยึดมั่นในกฎกติกานั้นมิใช่เพื่อกดประเทศใด แต่เป็นการปกป้องสิทธิของทุกประเทศในการเลือกเส้นทางของตนเองโดยปราศจากการบีบบังคับ ปราศจากการข่มขู่ เป้าหมายนี้ไม่เกี่ยวกับการแข่งประชันระหว่างภูมิภาคที่สหรัฐฯ มีบทบาทนำหรือภูมิภาคที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นตัวของตัวเอง เป้าหมายที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นเรื่องของการเชิดชูสิทธิและข้อตกลงที่มีผลต่อช่วงเวลาที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองที่สุดที่ภูมิภาคนี้และโลกเราประสบมา
นั่นเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีความกังวลอย่างมากทั้งจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากแม่น้ำโขงไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก เกี่ยวกับการกระทำก้าวร้าวของปักกิ่งซึ่งอ้างว่าทะเลเปิดเป็นของตนเอง บิดผันตลาดเสรีด้วยการอุดหนุนบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐ ปฏิเสธการส่งออกหรือเพิกถอนข้อตกลงกับประเทศที่มีนโยบายซึ่งตนไม่เห็นพ้อง มีส่วนร่วมในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคต้องการให้พฤติกรรมนี้เปลี่ยนไป
สหรัฐฯ ปรารถนาเช่นเดียวกัน และนั่นคือเหตุผลที่เรามุ่งมั่นสร้างหลักประกันเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ซึ่งการกระทำก้าวร้าวของปักกิ่งในเขตดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อการขนส่งสินค้ามูลค่ากว่า 3 ล้านล้านเหรียญทุกปี
เราพึงระลึกว่า สิ่งที่ผูกติดอยู่กับมูลค่ามหาศาลถึง 3 ล้านล้านเหรียญนั้นคือ หนทางดำรงชีพและความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านทั่วโลก เมื่อการค้าไม่สามารถเดินทางข้ามทะเลเปิด นั่นหมายความว่าเกษตรกรถูกกีดกั้นไม่ให้ขนส่งผลผลิตของพวกเขา โรงงานไม่อาจจัดส่งไมโครชิป และโรงพยาบาลถูกขวางไม่ให้ได้รับยาช่วยชีวิต
เมื่อห้าปีก่อน คณะตุลาการระหว่างประเทศมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์และมีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งปฏิเสธข้อเรียกร้องทางทะเลในทะเลจีนใต้ที่ผิดกฎหมายและกินความมาก โดยกล่าวว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ รวมถึงผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้จะยังคงต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ นี่ยังเป็นเหตุผลที่เราให้ความสนใจในสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเสมอมา ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีอันยาวนานของเรา
ประการที่ 2 เราจะสร้างสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งขึ้นทั้งภายในและนอกเหนือภูมิภาคนี้ เราจะกระชับพันธไมตรีในสนธิสัญญาของเรากับญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย พันธไมตรีเหล่านั้นเป็นรากฐานแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานาน เราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเหล่านี้ให้มากขึ้นเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เราได้ดำเนินการโดยกระชับความร่วมมือไตรภาคีระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และริเริ่มข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ครั้งประวัติศาสตร์กับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร เราจะหาวิธีสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรกับหุ้นส่วนของเราดังที่เราได้ดำเนินการไปแล้วด้วยการฟื้นฟูความแข็งแกร่งของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ และเราจะกระชับความร่วมมือของเรากับอาเซียนที่แข็งแกร่งและเป็นเอกเทศ
ความเป็นแกนกลางของอาเซียนหมายความว่า เราจะยังคงร่วมมือกับอาเซียนและดำเนินการผ่านอาเซียนเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของเรากับภูมิภาคนี้ เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ และมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกมีความสอดคล้องกัน
เมื่อเดือนตุลาคม ท่านประธานาธิบดีไบเดนประกาศงบประมาณกว่า 100 ล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนในด้านสำคัญต่าง ๆ เช่น การสาธารณสุขและการเสริมสร้างศักยภาพสตรี และท่านประธานาธิบดีเตรียมเชิญผู้นําอาเซียนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่สหรัฐฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อหารือว่าเราจะสามารถยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของเราได้อย่างไร
เรากําลังสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และที่แน่นอนคือ อินโดนีเซีย และนี่คือเหตุผลที่ผมเดินทางมาครั้งนี้
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเรา โครงการ YSEALI เป็นโครงการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมผู้นํารุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิกกว่า 150,000 คนและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้าย เราจะพยายามสานความสัมพันธ์ของเราที่มีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเข้ากับระบบพันธมิตรและหุ้นส่วนที่เด่นล้ำของเรานอกภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหภาพยุโรปประกาศยุทธศาสตร์ว่าด้วยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่สอดคล้องยิ่งกับวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ทางด้านองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) เรากําลังปรับปรุงแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ของเราให้สะท้อนความสำคัญที่ทวีขึ้นของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และจัดการกับภัยคุกคามใหม่ ๆ เช่น ผลกระทบของวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคง เราให้ความเป็นแกนกลางของอาเซียนเป็นหัวใจการดำเงินงานกับหุ้นส่วนของเรา เราลงมือทำเช่นนั้นแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อรัฐมนตรีกลุ่มประเทศ G7 เข้าร่วมประชุมที่สหราชอาณาจักรและพบปะกับรัฐมนตรีจากอาเซียนเป็นครั้งแรก
ทั้งหมดนี้เราทำเพื่อเหตุผลอันเรียบง่าย นั่นคือ สิ่งนี้เอื้อให้เราสามารถรวมกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือที่กว้างขวางที่สุดและทรงประสิทธิผลที่สุดเพื่อรับมือความท้าทาย เพื่อคว้าโอกาส เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใด ๆ ยิ่งเรารวมกำลังเพื่อประโยชน์ร่วมกันได้หลายประเทศ เราทั้งหมดก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น
ประการที่ 3 เราจะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในวงกว้างอย่างทั่วถึง สหรัฐฯ ดำเนินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ภูมิภาคนี้บอกกับเราอย่างเต็มเสียงและชัดแจ้งว่าต้องการให้เราทำมากกว่านี้ และเรามุ่งหมายตอบสนองเสียงเรียกร้องนั้น ภายใต้การกำกับของท่านประธานาธิบดีไบเดน เราอยู่ระหว่างพัฒนากรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ครอบคลุมถ้วนทั่วเพื่อมุ่งบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของเรา อันรวมทั้งด้านการค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น การลดการปล่อยคาร์บอนและพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานแรงงาน ตลอดจนความสนใจร่วมกันด้านอื่น ๆ
การทูตของเราจะมีบทบาทสำคัญ เราจะเฟ้นหาโอกาสนอกเหนือจากที่บริษัทอเมริกันค้นหาเอง และจะเอื้ออำนวยให้บริษัทเหล่านี้นำความเชี่ยวชาญและเงินทุนไปสู่สถานที่ใหม่และภาคอุตสาหกรรมใหม่ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น หน่วยงานการทูตของเรา สถานเอกอัครราชทูตของเราทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนำทางการดำเนินงานเหล่านี้แล้ว และเราเตรียมเร่งเพิ่มขีดความสามารถให้ดำเนินการได้มากยิ่งขึ้นอีก ผู้นำภาคธุรกิจและภาครัฐกว่า 2,300 คนจากภูมิภาคนี้ได้เข้าร่วมการประชุม Indo-Pacific Business Forum ประจำปีนี้พร้อมกับผม ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกับอินเดีย และ ณ ที่นั้น เราประกาศโครงการใหม่ภาคเอกชนมูลค่ารวมเกือบ 7,000 ล้านเหรียญ
เราจะร่วมงานกับบรรดาประเทศหุ้นส่วนของเรากำหนดแนวทางกฎระเบียบของเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล ตามวิถีทางที่สะท้อนค่านิยมของเรา รวมทั้งเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนของเรา เพราะถ้าเราไม่กำหนดแนวทางเหล่านี้ ย่อมมีผู้อื่นเข้ามากำหนด และเป็นไปได้ว่าเขาเหล่านั้นจะกำหนดแนวทางอย่างที่ไม่ขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกันหรือค่านิยมร่วมกันของเรา
ที่การประชุมเอเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีไบเดนวางวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าด้วยแนวทางที่เราสามารถสานสร้างหนทางเดินหน้าร่วมกันในภูมิภาคนี้ ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ท่านประธานาธิบดีกล่าวถึงความจำเป็นของระบบอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงกันได้ เชื่อถือได้ และปลอดภัย รวมถึงความสนใจหนักแน่นของเราต่อการลงทุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการพัฒนามาตรฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะวางตำแหน่งเศรษฐกิจทั้งหมดของเราสู่การแข่งขันในอนาคต ตอนที่คุณไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ พร้อมกับผมนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายน เรามุ่งเน้นประเด็นความจำเป็นที่จะรับรองว่าเทคโนโลยีนั้นส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
เราจะส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นทนทานด้วย นั่นก็คือที่มาของโครงการระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติรวมจุดเดียวสำหรับพิธีการศุลกากรทั่วภูมิภาค ทั้งยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการค้าโดยเสริมความโปร่งใสและความปลอดภัย ส่งผลช่วยธุรกิจลดต้นทุนและลดราคาสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนจากงานศุลกากรบนเอกสารกระดาษเป็นรูปแบบดิจิทัลทำให้การค้าข้ามพรมแดนยังคงดำเนินต่อไปได้แม้ระหว่างช่วงล็อกดาวน์
ช่วงปีแรกของสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ บรรดาประเทศที่มีการใช้งานแพลตฟอร์มนี้มากที่สุดพบว่าปริมาณกิจกรรมทางการค้าของประเทศขยายตัวร้อยละ 20 ขณะที่การค้าข้ามพรมแดนลักษณะอื่นส่วนใหญ่ลดน้อยลง ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ (U.S.-ASEAN Summit) เมื่อเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีไบเดนให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนโครงการ Single Window เพิ่มเติมอีก เราจะทำงานร่วมกับบรรดาหุ้นส่วนเพื่อปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของเราให้ปลอดภัยและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ผมคิดว่า เราทุกคนล้วนเห็นกันมาแล้วตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ว่าห่วงโซ่เหล่านี้เปราะบางเพียงใด และความเปลี่ยนแปลงฉับพลันก่อความเสียหายได้ขนาดไหน เช่น หน้ากากอนามัยและไมโครชิปขาดแคลน และสินค้าคั่งค้างที่ท่าเรือ
สหรัฐฯ ได้เป็นผู้นำการดำเนินงานประสานประชาคมนานาชาติเข้าหากันเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาคอขวด พร้อมทั้งสร้างความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นต่อเหตุสั่นสะเทือนในอนาคต ท่านประธานาธิบดีไบเดนจัดประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน รองประธานาธิบดีแฮร์ริสตั้งประเด็นนี้เป็นแก่นความสนใจหลักของการประชุมวาระต่าง ๆ ที่ท่านเข้าร่วมเมื่อครั้งเยือนภูมิภาคนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไรมอนโดร่วมจัดการประเด็นนี้กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซียระหว่างเดินทางเยือนเมื่อไม่นานนี้ ส่วนคุณไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดตัวคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานการค้าด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Trade Task Force) และชูประเด็นนี้ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ปีใหม่นี้ คุณจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พร้อมด้วยตัวผมจะร่วมกันจัดประชุมผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจจากทั่วโลกเพื่อหารือรับมือประเด็นเหล่านี้ ณ การประชุม Global Supply Chain Forum ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการค้าพาณิชย์ปริมาณมากยิ่งของโลก ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเป็นแกนกลางความพยายามเหล่านี้
สุดท้ายนั้น เราจะช่วยลดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นเดียวกับทั่วโลก ภูมิภาคนี้มีช่องว่างใหญ่ระหว่างความต้องการโครงสร้างพื้นฐานกับสิ่งที่มีให้ขณะนี้ ท่าเรือ ถนน โครงข่ายไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสู่การค้าโลก สู่การพาณิชย์ สู่การเชื่อมต่อ สู่โอกาส สู่ความเจริญมั่งคั่ง ทั้งยังจำเป็นยิ่งต่อการเติบโตอย่างครอบคลุมของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทว่า เราได้ยินได้ฟังข้อกังวลเพิ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคอุตสาหกรรม แรงงาน และชุมชนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อมีการตกลงโครงการผ่านกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส ฉ้อฉล หรือโครงการก่อสร้างโดยบริษัทต่างชาติที่นำเข้าแรงงานของตน สูบทรัพยากร สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และผลักชุมชนเข้าสู่ภาวะหนี้สิน
ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกปรารถนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่านี้ แต่หลายประเทศยังคงรู้สึกว่ามีราคาแพงเกินไป หรือถูกกดดันให้รับข้อตกลงที่ไม่ดีภายใต้เงื่อนไขที่ตั้งโดยฝ่ายอื่นดีกว่าที่จะไม่บรรลุข้อตกลงใดเลย ด้วยเหตุนี้ เราจะร่วมงานกับประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง มาตรฐานสูงอย่างที่ประชาชนควรได้รับ ซึ่งที่จริง เราก็กำลังทำอยู่แล้ว
ในสัปดาห์นี้เอง สหรัฐฯ ร่วมกับออสเตรเลียและญี่ปุ่นประกาศความร่วมมือกับสหพันธรัฐไมโครนีเซีย คิริบาส และนาอูรู สร้างสายเคเบิลใต้น้ำโครงการใหม่เพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปยังชาติแปซิฟิกเหล่านี้ นับตั้งแต่ปี 2558 สมาชิกกลุ่มภาคี 4 ประเทศ มอบทุนแล้วมากกว่า 48,000 ล้านเหรียญในรูปแบบทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ผ่านหลายพันโครงการในกว่า 30 ประเทศ ไม่ว่าจะโครงการพัฒนาชนบทหรือโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้ยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนหลายล้านคน
เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มภาคี 4 ประเทศได้เปิดตัวกลุ่มประสานงานด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และกำลังพิจารณาร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเด็นโครงสร้างพื้นฐานและอีกหลายประเด็นสำคัญร่วมกันอื่น ๆ สหรัฐฯ จะทำมากกว่านั้น โครงการ Build Back Better World ที่เราริเริ่มร่วมกับหุ้นส่วนกลุ่มประเทศ G7 เมื่อเดือนมิถุนายน มุ่งมั่นอัดฉีดเม็ดเงินหลายแสนล้านเหรียญเพื่อเป็นทุนสนับสนุนที่โปร่งใสและยั่งยืนเป็นเวลาหลายปีจากนี้ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังจับมือกับออสเตรเลียและญี่ปุ่นเปิดตัวโครงการ Blue Dot Network เพื่อเริ่มรับรองมาตรฐานโครงการโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงที่บรรลุตามเกณฑ์ที่พัฒนาโดยกลุ่มประเทศ G20 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และอื่น ๆ อีกทั้งดึงดูดนักลงทุนเพิ่มเติม
ประการที่ 4 เราจะช่วยสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนของภารกิจนี้ โรคระบาดใหญ่คร่าชีวิตผู้คนหลายแสนตลอดทั่วภูมิภาค รวมถึงชาย หญิงและเด็กมากกว่า 143,000 คนในอินโดนีเซียเอง ทั้งยังสร้างความเสียหายมหาศาลต่อเศรษฐกิจ โรงงานพากันปิดตัว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก
สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างผู้คนในภูมิภาคนี้ตลอดทุกย่างก้าวแม้ในยามที่เราต่อกรกับโรคระบาดใหญ่ในประเทศของเราเอง จากจำนวนวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกว่า 300 ล้านโดสที่สหรัฐฯ กระจายไปยังทั่วโลก เราได้จัดส่งวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดสมายังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยกว่า 25 ล้านโดสนั้นส่งมาที่นี่ ที่อินโดนีเซีย ภายในสิ้นปีหน้า รวมแล้วสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนทั่วโลกมากกว่า 1,200 ล้านโดส นอกจากนี้ เรายังได้มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่ากว่า 2,800 ล้านเหรียญแก่ภูมิภาคนี้เพื่อช่วยรักษาชีวิต จำนวนนี้รวมถึงที่มอบแก่อินโดนีเซียมูลค่า 77 ล้านเหรียญสำหรับทุกอย่างตั้งแต่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ไปจนถึงออกซิเจนทางการแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล เราให้ความช่วยเหลือนี้โดยไม่เรียกค่าใช้จ่าย ไม่มีพันธะผูกพัน การบริจาคส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) จึงรับรองได้ว่าจะมีการกระจายความช่วยเหลือเหล่านี้อย่างเสมอภาคบนพื้นฐานของความจำเป็น ไม่ใช่การเมือง
ขณะเดียวกัน เราทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเราเพื่อยุติการระบาดใหญ่นี้ ความร่วมมือด้านวัคซีนของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ มีบทบาทสำคัญในจุดนี้ เราร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนเงินทุน เพื่อผลิต เพื่อกระจายวัคซีน และเพื่อฉีดวัคซีนให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้านแต่ละประเทศก็กำลังเร่งดำเนินการ เมื่อไม่นานนี้ อินเดียให้คำมั่นว่าจะผลิตวัคซีนเพิ่ม 5,000 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2565 สาธารณรัฐเกาหลีและไทยก็กำลังเร่งการผลิตด้วยเช่นกัน
เราระดมกำลังภาคเอกชนให้เข้าร่วมกับเรา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ผมเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนก่อน เราเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า Global COVID Corps อันเป็นกลุ่มพันธมิตรบริษัทชั้นนำที่จะนำความรู้ความชำนาญ เครื่องมือ และขีดความสามารถมาช่วยสนับสนุนโลจิสติกส์และส่งเสริมการดำเนินงานด้านวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการขนส่งขั้นสุดท้าย (last mile) ซึ่งล้วนจำเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งมอบวัคซีนให้ไปถึงแขนของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราเห็นบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก การผลิตวัคซีนเพิ่มจำนวนขึ้น มีการกระจายวัคซีนออกไป แต่กลับไปไม่ถึงแขนของประชาชนเนื่องจากอุปสรรคด้านการขนส่งขั้นสุดท้าย เป็นปัญหาโลจิสติกส์ที่ต้องได้รับการแก้ไข และนี่เองคือจุดที่เรามุ่งเน้น
ขณะเดียวกับที่เราต่อกรกับเชื้อไวรัสนี้ เรากำลังสร้างระบบสุขภาพให้กลับคืนมาในแบบที่ดีกว่าเดิมทั้งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและทั่วโลก เพื่อป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ประเด็นคือ ที่จริงแล้วเรารู้ว่าต้องทำอย่างไร สหรัฐฯ และหุ้นส่วนร่วมกันดำเนินงานเสริมสร้างระบบสุขภาพในภูมิภาคนี้มาหลายทศวรรษ แค่เฉพาะในอาเซียน เราลงทุนด้านสาธารณสุขแล้วมากกว่า 3,500 ล้านเหรียญตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรามีสิ่งยืนยันมากมายที่สะท้อนถึงการดำเนินการนี้ ทั้งการปรับปรุงงานสาธารณสุขอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนความสัมพันธ์หยั่งลึกที่เราสร้างขึ้นจากการทำงานลงพื้นที่จริง
เมื่อไม่นานนี้ ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่า สหรัฐฯ จะมอบเงิน 40 ล้านเหรียญแก่โครงการ U.S.-ASEAN Health Futures Initiative โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนจากเราต่ออาเซียน เพื่อเร่งขับเคลื่อนการศึกษาวิจัยร่วม เสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ตลอดจนฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพสายสุขภาพรุ่นใหม่
นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการพัฒนาระบบประสานงานภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Public Health Emergency Coordination System) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศในภูมิภาคสามารถประสานงานตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ซึ่งเพิ่งเปิดทำการที่กรุงฮานอยช่วงฤดูร้อนปีนี้ ก็กำลังสนับสนุนการดำเนินงานเหล่านี้ในพื้นที่จริง
แน่นอนว่าวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสากลที่เราต้องรับมือร่วมกัน ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่างรู้สึกได้ถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงของวิกฤตการณ์นี้ กล่าวคือ ร้อยละ 70 ของภัยธรรมชาติบนโลกเกิดขึ้นที่ภูมิภาคนี้ อีกทั้งมีประชาชนกว่า 90 ล้านคนในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2562 ในปีต่อมา ณ ชายฝั่งแปซิฟิกของสหรัฐฯ เองนั้น รัฐแคลิฟอร์เนียเผชิญเหตุไฟไหม้ป่า 5 ใน 6 เหตุการณ์ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐ
ขณะนี้ หลายประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในภูมิภาคต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังที่เราเห็นจากคำปฏิญาณแรงกล้าที่ให้ไว้ ณ การประชุม COP26 ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 15 ประเทศรวมถึงอินโดนีเซียร่วมลงนามในปฏิญญามีเทนโลก (Global Methane Pledge) ที่เมืองกลาสโกว์ เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 30 ในช่วงทศวรรษจากนี้ หากประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดทุกประเทศมาร่วมมือกับเรา ย่อมส่งผลลดภาวะโลกร้อนยิ่งกว่านำเรือทุกลำออกจากผืนน้ำและเครื่องบินทุกลำออกจากแผ่นฟ้า
แต่คงเป็นเรื่องผิดพลาดหากจะคิดถึงประเด็นสภาพภูมิอากาศผ่านเพียงแค่มุมมองภัยคุกคาม เหตุผลคือ ทุกประเทศบนดาวเคราะห์ดวงนี้ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบอันไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นสู่เทคโนโลยีใหม่และอุตสาหกรรมใหม่นั้นยังเป็นการให้โอกาสที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งในชั่วอายุคนในการสร้างอาชีพใหม่รายได้ดี
เราเชื่อว่า โอกาสมีอยู่ตลอดทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเราได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนของเราไขว่คว้าโอกาสนั้น แค่ช่วงห้าปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ อัดฉีดเงินกว่า 7,000 ล้านเหรียญลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ ขณะที่เราทวีความพยายามนี้ เราได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วนหลากหลายอย่างยากเสมอเหมือนที่เราได้สานสัมพันธ์สั่งสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพหุภาคีและกลุ่มสนับสนุน ภาคธุรกิจและองค์กรการกุศล นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
ลองพิจารณาโครงการ Clean EDGE Initiative ที่เราจะเปิดตัวเดือนนี้ ซึ่งโครงการเตรียมนำความรู้ความชำนาญและนวัตกรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชนมาช่วยพัฒนาโซลูชันพลังงานสะอาดตลอดทั่วภูมิภาคนี้ ลองพิจารณาเงินทุนมากกว่า 20 ล้านเหรียญที่ประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งให้คำมั่นไว้แก่โครงการ U.S.-ASEAN Climate Futures หรือทุนสนับสนุนจำนวน 500 ล้านเหรียญที่หน่วยงานความร่วมมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (U.S. International Development Finance Corporation) เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อช่วยก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย
โรงงานนี้สร้างโดยบริษัทอเมริกันที่มีชื่อว่า First Solar โดยมีสมรรถนะการผลิตต่อปีที่ 3.3 กิกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสู่กว่า 2 ล้านครัวเรือน การก่อสร้างและการดำเนินงานโรงงานแห่งนี้จะสร้างงานหลายพันตำแหน่งในอินเดีย ส่วนใหญ่สำหรับผู้หญิง รวมถึงอีกหลายร้อยตำแหน่งในสหรัฐฯ นี่เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่สหรัฐฯ มุ่งสนับสนุนอินเดียบรรลุเป้าหมายใหญ่ที่จะขยายขีดความสามารถพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 พร้อมกับช่วยโลกให้รอดพ้นจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศไปด้วย
ขณะนี้ เราตระหนักว่า ถึงแม้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นอย่างที่เรามั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ก็ใช่ว่าแรงงานที่สูญเสียอาชีพในอุตสาหกรรมเก่าและภาคธุรกิจเก่าระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะได้เข้ามาเติมเต็มตำแหน่งงานใหม่นั้นทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีพันธะหนึ่งที่ยึดมั่นไว้ นั่นคือการพาทุกคนไปด้วยกัน
ประการที่ 5 และประการสุดท้าย เราจะส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เมื่อภัยคุกคามพัฒนาขึ้น แนวทางความมั่นคงของเราต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย เราจะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงภาคพลเรือนให้ยิ่งใกล้ชิดขึ้นเพื่อรับมือความท้าทายต่าง ๆ ตั้งแต่แนวคิดรุนแรงสุดโต่ง การประมงผิดกฎหมาย ไปจนถึงการค้ามนุษย์ เราจะใช้กลยุทธ์ที่อาศัยเครื่องมือพลังอำนาจแห่งชาติทั้งหมดที่เรามี ทั้งการทูต การทหาร และข้อมูลข่าวกรอง ผสานเข้ากับเครื่องมือของพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราอย่างสนิทแน่นยิ่งขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เรียกสิ่งนี้ว่า “การป้องปรามแบบบูรณาการ” (integrated deterrence)
ทั้งยังเป็นเรื่องของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเราเพื่อให้เราธำรงสันติภาพไว้ได้อย่างที่ทำมาหลายทศวรรษในภูมิภาคนี้ เราไม่ต้องการความขัดแย้งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นี่คือเหตุผลที่เราดำเนินการทูตกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี เราจะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนจัดการภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ผ่านแนวทางปฏิบัติจริงที่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม พร้อมกับกระชับแนวทางการป้องปรามต่อเนื่องของเรา
และนั่นคือเหตุผลที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวกับประธานาธิบดีสีเมื่อเดือนที่แล้วว่า เราต่างมีความรับผิดชอบลึกซึ้งร่วมกันที่จะรับรองว่าการแข่งขันระหว่างประเทศเราทั้งสองจะไม่หันเหกลายเป็นความขัดแย้ง เรารับความรับผิดชอบนี้ไว้อย่างจริงจังยิ่ง เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ย่อมนำหายนะมาสู่พวกเราทั้งหมด
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2505 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เดินทางมากล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ท่านพูดถึงการต่อสู้ดิ้นรนอันยืดเยื้อที่ประชาชนของประเทศเราต่างเผชิญร่วมกัน ซึ่งจากคำของท่านแล้ว คือสิ่งที่เยาวชนเฉกเช่นนักศึกษาทุกคนในที่นี้ต้องแบกรับต่อไป ท่านหยิบยกคำพูดที่พี่ชายของท่าน จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้กล่าวไว้ถึงวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ต่อโลกใบนี้ว่า “เป้าหมายมูลฐานของเรายังคงเดิม นั่นคือ โลกที่สงบสุข ประชาคมแห่งรัฐอิสระเสรี มีเสรีภาพที่จะเลือกอนาคตและระบบของตนเอง ตราบเท่าที่ไม่คุกคามเสรีภาพของผู้อื่น”
เมื่อพิจารณาสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเกือบ 70 ปีนับตั้งแต่ประธานาธิบดีเคนเนดีกล่าวถ้อยคำเหล่านั้น ช่างน่าทึ่งที่วิสัยทัศน์นั้นยังคงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกันนี้มากเพียงใด และเหตุผลที่ผมรู้สึกซาบซึ้งใจที่ได้มีโอกาสมาพูดเรื่องนี้ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พร้อมด้วยนักศึกษาและศิษย์เก่าจำนวนมากจากโครงการผู้นำเยาวชนของเรา นั่นเพราะพวกคุณคือผู้ซึ่งอยู่ ณ วันนี้ที่จะผลักดันวิสัยทัศน์นี้ต่อไป ในขณะที่คุณทำ ขอให้ทราบว่าคุณมีผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงสหรัฐฯ ที่มีความหวังและโชคชะตาผูกพันกับคุณ และจะเป็นหุ้นส่วนอันแน่วแน่ของคุณเพื่อสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแห่งนี้ที่เราอาศัยร่วมกันให้เปิดกว้างและเสรียิ่งขึ้น
ขอบคุณที่รับฟังครับ (เสียงปรบมือ)
*การแปลนี้จัดทำขึ้นโดยความอนุเคราะห์และเฉพาะต้นฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นที่ควรถือว่าเชื่อถือได้