โครงการผู้นำเยาวชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Youth Leadership Program) ประจำปี 2567
หมดเขตรับสมัคร: วันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 ภายในเวลา 12.00 น.
ขอเชิญนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย สมัครเข้าร่วมโครงการผู้นำเยาวชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Youth Leadership Program หรือ SEAYLP) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะคัดเลือกเยาวชนจำนวน 60 คน จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมโครงการ สำหรับประเทศไทย จะมีนักเรียน 5 คน ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการ
โครงการผู้นำเยาวชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้แนวทางการฝึกอบรมเชิงปฏิสัมพันธ์ ทั้งในรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมในชุมชน เช่น การเยี่ยมเยือนสถานที่ต่าง ๆ การพักอาศัยกับคนในชุมชน และทัศนศึกษา การร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมัธยมปลาย องค์กรชุมชน กลุ่มเยาวชน และผู้นำชุมชนของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายที่สหรัฐฯ และอาเซียนกำลังเผชิญในศตวรรษที่ 21
โครงการแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) การปฐมนิเทศที่กรุงเทพฯ ก่อนการเดินทางไปสหรัฐฯ 2) โครงการแลกเปลี่ยนระยะเวลา 3 สัปดาห์ ในสหรัฐฯ ที่ให้โอกาสนักเรียนได้เรียนรู้หลักการของการเป็นผู้นำและการทำกิจกรรมในชุมชน* และ 3) กิจกรรมหลังเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันทำกิจกรรมหรือโครงการในชุมชนบ้านเกิดของตน โครงการแลกเปลี่ยนนี้จะมีเนื้อหาเข้มข้น เป็นวิชาการ และมีการปฏิสัมพันธ์สูง โดยมองหาผู้สมัครที่มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความสามารถของตนในการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในโรงเรียนและชุมชนของตน
โครงการแลกเปลี่ยนนี้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเยาวชนและความเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังจะได้ศึกษาถึงความท้าทายที่สหรัฐฯ กับประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเผชิญร่วมกันผ่าน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง การสร้างทักษะทางเศรษฐกิจ (ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการต่าง ๆ) และความเป็นผู้นำด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม (ผ่านการลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง การประชุมเชิงปฏิบัติการ สัมมนา และทัศนศึกษา เพื่อส่งเสริมการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ) ภายหลังเข้าร่วมโครงการที่สหรัฐฯ และเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ผู้ร่วมโครงการจะต้องร่วมกันดำเนินโครงการที่สนองตอบความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของโรงเรียนหรือชุมชนของตนด้วย โครงการจะพิจารณาผู้สมัครที่ยังไม่เคยเดินทางไปสหรัฐฯ เป็นกรณีพิเศษ
* * * * * * *
โครงการผู้นำเยาวชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง และกิจกรรมภาคประชาชนในหมู่เยาวชนที่จะเป็นผู้นำของเราในอนาคต โครงการยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยและประชาสังคมในสหรัฐฯ และได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำในเวลาเดียวกัน
ตลอดการเข้าร่วมการแลกเปลี่ยน จะมีการมุ่งเน้นอัตลักษณ์ของอาเซียนโดยแบ่งผู้ร่วมโครงการเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกจากทุกประเทศ สำหรับกิจกรรมในสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ ห้องเรียนการทูตเสมือนจริง การเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำ และการสร้างสัมพันธ์ในกลุ่ม ผู้ร่วมโครงการยังจะได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้แก่ กิจกรรมอาสาสมัคร และการทัศนศึกษาองค์กรในชุมชน และจะได้อาศัยอยู่กับครอบครัวชาวอเมริกัน ตลอดจนเดินทางไปทัศนศึกษาที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกด้วย
ส่วนสำคัญของโครงการนี้ คือ การที่ผู้ร่วมจะต้องพัฒนาและดำเนินโครงการหลังจากเดินทางกลับประเทศของตน โดยโครงการเหล่านี้จะต้องสนองตอบความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของโรงเรียนหรือชุมชนของตน เช่น การสนับสนุนการจัดตั้งสภานักเรียนหรือวิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของโรงเรียน การจัดทำทัศนูปกรณ์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสังคม การจัดทำโครงการหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนหรือการไกล่เกลี่ยภายในกลุ่ม การร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อส่งเสริมการมีจิตอาสา หรือการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยให้สื่อมวลชนเสนอข่าวเกี่ยวกับเยาวชนมากขึ้น ผู้ร่วมโครงการทุกคนจะต้องดำเนินโครงการเหล่านี้จนเสร็จสิ้น
รายละเอียดอื่น ๆ ที่ควรทราบ
ค่าใช้จ่ายที่โครงการรับผิดชอบ: รัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัย Northern Illinois University (NIU) จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในสหรัฐฯ การเดินทางไปและกลับจากสหรัฐฯ กิจกรรมร่วมกับศิษย์เก่าโครงการ ที่พัก อาหาร ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของโครงที่จัดขึ้นในประเทศ (ซึ่งรวมถึงค่าเดินทางภายในประเทศเพื่อสัมภาษณ์ขอวีซ่า และ/หรือการปฐมนิเทศก่อนเริ่มเดินทาง) ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในประเทศ และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วย
ค่าใช้จ่ายที่ผู้เข้าร่วมรับผิดชอบ: ผู้ร่วมโครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสมัครเข้าร่วมโครงการ (ค่าถ่ายสำเนาเอกสาร ค่าไปรษณียากร ค่ารูปถ่าย ฯลฯ) ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง ค่าของที่ระลึก ค่าโทรศัพท์ และค่าซื้อของใช้ส่วนตัวระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ
วีซ่า: ผู้ร่วมโครงการจะได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทโครงการแลกเปลี่ยน เจ-1 ผู้ที่ได้รับวีซ่าประเภทนี้ต้องเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาและต้องพำนักอยู่ในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ก่อนที่จะมีสิทธิ์ขอวีซ่าถาวรหรือวีซ่าทำงานชั่วคราวในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับวีซ่า เจ-1 ยังมีสิทธิ์ขอวีซ่าประเภทอื่นได้ เช่น วีซ่านักเรียนเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้สมัครร่วมโครงการ
- มีสัญชาติไทย อาศัยและศึกษาอยู่ในประเทศไทยขณะยื่นใบสมัคร (ผู้สมัครที่ถือทั้งสัญชาติไทยและสหรัฐฯ จะไม่ได้รับการพิจารณา)
- เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2550 ถึง 1 เมษายน 2552
- กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทย และจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2568 หรือปีการศึกษาหลังจากนั้น
- มีทักษะภาษาอังกฤษดี
- ยังไม่เคยเดินทางไปสหรัฐฯ
- ได้รับอนุญาตจากทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนให้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดของโครงการ
เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ
- มีผลการเรียนและทักษะทางสังคมดี แสดงความเป็นผู้นำในโรงเรียนหรือชุมชน มีความสนใจหรือความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่จะอาสาและมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน
- มีความริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะสื่อสารที่ มีทัศนคติเชิงบวกและกระตือรือร้น
- สามารถทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่นได้ และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
ขั้นตอนการสมัคร
ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการต้องกรอกใบสมัครให้ครบถ้วน พร้อมแนบจดหมายแนะนำ 2 ฉบับ และสำเนาผลการเรียนล่าสุดที่ https://forms.gle/NQxQiTp8GhSP6cGC9 สำหรับจดหมายแนะนำ (letter of recommendation) จะต้องเป็นจดหมายจากอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ และจากอาจารย์ประจำวิชาหรือเจ้าที่หน้าที่ของโรงเรียนอีก 1 ฉบับ
ทางโครงการขอสงวนสิทธิ์รับเฉพาะใบสมัครซึ่งส่งมาภายในเวลา 12.00 น. ของวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 โดยระบบของแบบฟอร์ม Google จะบันทึกวันเวลาที่ส่งใบสมัคร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะใช้ระบุว่าผู้สมัครส่งใบสมัครเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ โดยจะไม่พิจารณาใบสมัครที่ส่งเข้ามาเกินกำหนดเวลา และไม่รับใบสมัครที่นำมายื่นด้วยตนเอง
ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรมจะติดต่อไปยังผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อสอบสัมภาษณ์เท่านั้น การสัมภาษณ์จะจัดขึ้นที่แผนกสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2566 โครงการจะแจ้งรายละเอียดการสัมภาษณ์ให้กับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาสัมภาษณ์ทราบล่วงหน้า โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวจะต้องเดินทางมาสัมภาษณ์ด้วยตนเองเท่านั้น โครงการจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและผู้ได้รับการคัดเลือกสำรองในเดือนมีนาคม 2567
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการ สามารถติดต่อเราได้ที่ HoontrakoonA@fan.gov พร้อมระบุหัวข้ออีเมล์ว่า “SEAYLP 2024_Questions”
ขั้นตอนหลังจากนั้น
นักเรียนที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์จะได้รับเอกสารการปฐมนิเทศเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนเริ่มโครงการเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเข้าร่วมโครงการและการเดินทางไปยังสหรัฐฯ
หนึ่งเดือนก่อนการเดินทาง จะมีการปฐมนิเทศและการฝึกอบรมสำหรับนักเรียนและอาจารย์ที่จะร่วมเดินทางไปด้วย ในโอกาสนี้ นักเรียนและครอบครัวจะมีโอกาสซักถามฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรมเกี่ยวกับโครงการ
หลังจากเดินทางกลับประเทศและในเวลาอีกหลายเดือนถัดมา นักเรียนมีหน้าที่จัดทำและดำเนินโครงการตามที่ระบุไว้ข้างต้นจนเสร็จสิ้น
ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจในโครงการนี้และขอให้โชคดี!