ไทย-สหรัฐฯ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการตรวจ รักษา และป้องกันเอชไอวี ในความร่วมมือเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในประเ

กรุงเทพฯ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558 – วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทย พร้อมด้วยหน่วยงานคู่ความร่วมมือของสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการตรวจและรักษาเอชไอวีในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) และสาวประเภทสอง (TG) ในประเทศไทย

แม้ว่าการระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยในกลุ่มประชากรอื่นๆ เช่น พนักงานบริการ จะมีจำนวนลดน้อยลง แต่ความพยายามในการลดการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้นโยบายการให้ยาต้านไวรัสฟรีแก่ผู้มีเชื้อเอชไอวีทุกรายทันทีหลังรู้ว่ามีเชื้อ โครงการตรวจเอชไอวีและรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีในชุมชนและสถานบริการสาธารณสุข และโครงการประเมินการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนการฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) รวมทั้ง USAID และ U.S. CDC จะช่วยให้ภาคีเครือข่ายในประเทศไทยสามารถดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวได้ในสถานที่ทำการวิจัยใน 7 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง

“การตรวจเอชไอวีและรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถช่วยชีวิตและป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ได้” นายดับเบิลยู. แพทริค เมอร์ฟี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าว “เราสามารถลดการแพร่เชื้อเอชไอวีในประเทศไทยได้หากมีผู้เข้ารับการตรวจมากขึ้น และผู้ที่ตรวจพบเชื้อได้รับยาต้านไวรัสในทันที สหรัฐฯ มีความยินดีที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในระดับโลก”

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ในปี 2558 ประมาณร้อยละ 43 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีแนวทางป้องกัน โดยชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายไม่ถึงหนึ่งในสาม (ร้อยละ 31) ได้รับผลการตรวจเอชไอวีในปีที่ผ่านมา และในจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจนั้น น้อยกว่าครึ่ง (ประมาณร้อยละ 44) ได้เริ่มยาต้านไวรัส ทาง USAID ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินงานในศูนย์สุขภาพของชุมชน และ U.S. CDC ซึ่งให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงพยาบาลต่างๆ ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยในความพยายามเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวี และพัฒนาการเข้าถึงและคุณภาพของการให้บริการ โดยหวังว่าจะทำให้เกิดแนวทางดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองในประเทศไทยที่เข้ารับการตรวจและรักษาเอชไอวี

“ยิ่งได้รับการตรวจเอชไอวีเร็วขึ้นเท่าไร ก็จะได้รับการรักษาและมีชีวิตปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น” นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าว “เมื่อทราบสถานะการติดเชื้อแล้ว เอชไอวีก็เป็นเหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาทุกวัน และผู้มีเชื้อสามารถมีสุขภาพที่ดีได้”