เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่า สหรัฐอเมริกาและอีก 30 ประเทศความร่วมมือซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยได้แสดงพันธสัญญาจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda) สหรัฐอเมริกาจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับสัญญาณ และดำเนินการตอบโต้การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ในอนาคต
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยยินดีที่ได้รับโอกาสนี้ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ยืนนานกับรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆ ตลอดจนผู้ให้การอุปถัมภ์โครงการในการป้องกันโรคระบาดที่ ป้องกันได้ การตรวจจับสัญญาณภัยคุกคามการระบาดแต่เนิ่นๆ และการดำเนินการตอบโต้ภัยคุกคามอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล
ในแต่ละปีทั่วโลก โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยในมนุษย์กว่าพันล้านรายและทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน โรคติดเชื้อในมนุษย์ที่เป็นที่รู้จักกันดีส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงจุลชีพก่อโรคเชื้อเอดส์ ซาร์ส อีโบลา ไข้หวัดนก และ MERS ล้วนเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic) คือ เชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์และข้ามขีดคั่นทางประเภทพันธุ์มาติดเชื้อในมนุษย์
ในปี 2557 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับประเทศคู่ความร่วมมือจากทั่วโลกในการเปิดโครงการวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda หรือ GHSA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มพหุภาคีและพหุภาคของกว่า 40 ประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนานาชาติในการรับมือกับภัยคุกคามด้านโรคติดต่อและเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์อันประเมินได้ตามมาตรฐานสากล
เพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการเสริมสร้างและสนับสนุนแผนกลยุทธ์ระยะเวลาห้าปีอันมีเป้าหมายเพื่อบ่งชี้การปฏิบัติการที่สำคัญ การดำเนินการขั้นต่อไป ตลอดจนโอกาสต่างๆ ในการบรรลุซึ่งขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจจับ และดำเนินการตอบโต้ภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ รวมถึงช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นระหว่างภาคส่วนต่างๆ และระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการ
นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ ในแง่เศรษฐกิจ และในแง่ประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นที่ชัดเจนว่า การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อเป็นภัยคุกคามระดับโลก ทั้งยังเป็นข้อกังวลอย่างยิ่งทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการพัฒนา สหรัฐอเมริกามีความยินดีที่จะได้ใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในด้านสาธารณสุข อันเป็นหนึ่งในเสาหลักของความสัมพันธ์ตลอดระยะเวลา 180 ปีของประเทศเราทั้งสองเพื่อพัฒนาการป้องกัน ตรวจจับสัญญาณ และดำเนินการตอบโต้ภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว”
รัฐบาลจะสหรัฐอเมริกาจะดำเนินการผ่านองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษยชน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขสำหรับมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) นอกจากความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ แล้ว ความร่วมมือนี้ยังจะดำเนินงานเพื่อลดการดื้อยาต้านจุลชีพ ปรับปรุงสมรรถนะห้องปฏิบัติการ และพัฒนาบุคลากรที่ครอบคลุมหลายภาคส่วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต บทบาทของรัฐบาลไทยที่เป็นผู้นำในแผนปฏิบัติการทั้งสามส่วนภายใต้วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกช่วยส่งเสริมความสามารถของกลุ่มในการจัดการกับภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่และบรรเทาผลของโรคเหล่านี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและในพื้นที่ใดก็ตาม
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเจตนาลงทุนสนับสนุนทรัพยากรมูลค่าสูงกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ให้สามารถป้องกัน ตรวจจับ และดำเนินการตอบโต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในอนาคต