นักวิจัยอเมริกันรับพระราชทานรางวัลที่ประเทศไทย

คำแถลง โดย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

1 กุมภาพันธ์ 2561

เราขอแสดงความยินดีกับคณะนักวิจัยอเมริกันที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้กับคณะนักวิจัยอเมริกัน 2 คณะในสาขาการแพทย์และสาขาการสาธารณสุข

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลประจำปีที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระพระมหิตลาธิเบศร อุดลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระพระมหิตลาธิเบศร อุดลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาการแพทย์และสาธารณสุขที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นับเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับความก้าวหน้าสูงสุดในวิทยาการทั้งสองสาขา

สำหรับรางวัลสาขาการแพทย์ สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลเชิดชูผลงานที่มีส่วนสำคัญในการปูทางความก้าวหน้าในองค์ความรู้เกี่ยวกับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ความพยายามในความร่วมมือดังกล่าว นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยจาก 20 สถาบัน ใน 6 ประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านการวิจัยทางการแพทย์ใหม่ๆที่มีความสำคัญตามมาหลายด้าน ดร.อีริค กรีน เป็นผู้แทนสถาบันเข้ารับพระราชทานรางวัล สำหรับรางวัลสาขาการสาธารณสุข คณะนักวิจัยอเมริกัน ได้แก่ ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ นายแพทย์จอห์น บี รอบ แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน และศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม ได้รับพระราชทานรางวัลจากผลงานชิ้นสำคัญในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก

ในปีนี้ สหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักรไทย ร่วมเฉลิมฉลอง 200 ปีแห่งมิตรภาพ ซึ่งเรามีการติดต่อกันเป็นครั้งแรกในระดับรัฐต่อรัฐ เมื่อปีพ.ศ. 2361 สหรัฐอเมริกา มีความภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 ได้เชิดชูคุณูปการและความสำเร็จของคณะบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขอเมริกัน ความร่วมมือมือด้านสุขภาพที่มีต่อเนื่องยาวนานระหว่างสองประเทศยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นเวลากว่า 60 ปีที่สหรัฐฯและไทย ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรกเพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆ   โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ชาวอเมริกัน และประชากรโลก

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับพระราชทานรางวัล และขอแสดงความชื่นชมหน่วยงานฝ่ายไทยที่มีวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพ เพื่อให้โลกใบนี้ปลอดจากโรคร้ายต่างๆ และขอแสดงความยกย่องต่อความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่สหรัฐฯและไทยมีร่วมกันเพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์